กัณฑ์ที่ ๒๘ ภัตตานุโมทนากถา วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๒๘ ภัตตานุโมทนากถา วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

โภชนํ  ภิกฺขเว  ททมาโน  ทายโก  ปฏิคาหกานํ  ปญฺจ  ฐานานิ  เทติ กตมานิ ปญฺจ  อายุง เทติ  วณฺณํ เทติ   สุขํ เทติ   พลํ เทติ    ปฏิภาณํ  เทติ อายุง โข ทตฺวา อายุสฺส ภาคี  โหติ  ทิพฺพสฺส  วา  มนุสฺสสฺส  วา  วณฺณํ  ทตฺวา วณฺณสฺส ภาคี โหติ  ทิพฺพสฺส วา  มนุสฺสสฺส วา  สุขํ ทตฺวา  สุขสฺส  ภาคี  โหติ ทิพฺพสฺส วา  มนุสฺสสฺส วา พลํ ทตฺวา พลสฺส ภาคี โหติ ทิพฺพสฺส วา มนุสฺสสฺส วา  ปฏิภาณํ  ทตฺวา  ปฏิภาณสฺส  ภาคี  โหติ   ทิพฺพสฺส  วา  มนุสฺสสฺส  วา โภชนํ  ภิกฺขเว  ททมาโน  ทายโก  ปฏิคาหกานํ  ปญฺจ  ฐานานิ เทตีติ ฯ

ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาว่าด้วย ภัตตานุโมทนากถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของท่านทานบดี  พร้อมด้วยวงศาคณาญาติเนื่องด้วยสายโลหิต  และเนื่องด้วยความคุ้นเคย

ญาติ  สาโลหิตา   ญาติ เนื่องด้วยสายโลหิต  และเนื่องด้วยความคุ้นเคย  ญาติมี ๒ อย่าง
เนื่องด้วยสายโลหิตเรียกว่า  สาโลหิตา
เนื่องด้วยความคุ้นเคยเรียกว่า วิสฺสาสา ปรมา ญาติ ญาติที่เนื่องด้วยความคุ้นเคยกัน  พระองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง

วันนี้ เจ้าภาพพร้อมด้วยบุตรภรรยาวงศาคณาญาติพากันมาบริจาคทานแก่พระภิกษุสามเณร  ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกา
ตอนเช้า  ได้ถวายข้าวยาคู คือ ข้าวต้ม
เวลาเพล  ได้ถวายโภชนาหาร  พร้อมทั้งสูปพยัญชนะอันสมควร
เวลาบ่ายนี้  ให้มีพระธรรมเทศนา น้อมนำปัจจัยไทยธรรมบูชาพระสัทธรรมเห็นสภาวะปานฉะนี้  ได้ชื่อว่า ถวายทานแด่พระธรรม

เป็นอันว่าเจ้าภาพได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า มีรูปพระปฏิมากรเป็นประธาน  มีพระสงฆ์เป็นบริวาร และได้ชื่อว่าถวายทานแด่พระธรรม และได้ชื่อว่าถวายทานแด่พระสงฆ์
ทั้ง ๓ นี้เป็นเนมิตกนาม  พุทฺโธ เป็นเนมิตกนามเกิดจากพุทธรัตนะ
ธมฺโม เป็นเนมิตกนามเกิดจากธรรมรัตนะ
และสงฺโฆ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นจากสังฆรัตนะ
พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ นี้ เป็นตัวแก่นสารของพระพุทธศาสนา

พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ นี้ อยู่ที่ไหน? อยู่ในตัวของเรานี่เอง  อยู่ในตัวตรงไหน? 
ในตอนศีรษะ หรือว่าอยู่ในตอนเท้า หรือว่าอยู่ในท่อนตัว เอาคอออกเสีย  เอาขาออกเสียเหลือแต่ท่อนตัว  จะอยู่ตอนขา  ตอนหัว หรือว่าอยู่ตอนตัว

พระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลางกาย เรามีกลางมีศูนย์ ตรงสะดือนั่นเป็นศูนย์นั่นเรียกว่า กลางกาย  สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย เหมือนเราขึงด้ายเส้นหนึ่งให้ตึง ตรงกลางที่ด้ายจดกันนั่นแหละเรียกว่า กลางกั๊ก
ตรงกลางกั๊กเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้ว พระพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น ตรงกลางกั๊กนั้น  ให้เอาใจไปหยุดนิ่งอยู่ตรงกลางกั๊กนั้น
พระพุทธเจ้าอยู่นอกใจหรือในใจ? ให้เอาใจไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น  พอใจหยุดนิ่งก็เข้ากลางของใจที่หยุดนิ่งนั้นทีเดียว ที่เขาว่าสวรรค์ในอก นรกในใจ  พระก็อยู่ในใจ

พอใจหยุดนิ่งก็เข้ากลางของใจที่หยุดนิ่ง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง ซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน นอก ใน ไม่ไปทีเดียว กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง หนักเข้า พอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นจะเห็นทางที่จะเข้าไปถึงกายละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไป

จนถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เราต้องรู้  ถ้าไม่รู้เราจะระลึกถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ไม่ถูก

ถ้ารู้จักเสียแล้วจะระลึกถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ได้ถูกต้อง   เมื่อเอาใจไปหยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดนิ่งหนักเข้า ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนิ่ง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง

พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น  ก็เห็นธรรมอีกดวงหนึ่งเท่าดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์ดุจกระจกคันฉ่องส่องดูเงาหน้า ใสแจ๋วทีเดียว

ใจก็หยุดนิ่งอยู่ตรงกลางดวงที่ใสนั้น  ตรงกลางดวงที่ใสนั่นแหละมี ดวงศีล พอเข้าไปถึงกลางดวงกำเนิด ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เข้าถึงดวงศีล ดวงเท่ากัน
หยุดอยู่กลางดวงศีลนั้น กลางดวงกำเนิดดวงศีลนั้นมี ดวงสมาธิ เข้าไปถึงถูกส่วนเข้าก็เข้าถึง ดวงสมาธิ
หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง  หนักเข้าจะเข้าถึงดวงปัญญา  อยู่กลางดวงสมาธิ
หยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง  หนักเข้าจะเข้าถึงดวงวิมุตติ  อยู่กลางดวงปัญญา
หยุดอยู่กลางดวงวิมุตตินั้น พอถูกส่วนหนักเข้า กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง หนักเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น พอถูกส่วนเข้า กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง หนักเข้าจะเข้าไปถึง กายมนุษย์ละเอียด
พอเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียดเท่านั้น จะตกใจทีเดียวว่า เจ้านี้ข้าไม่เคยเห็นเลย  เจ้าอยู่ที่นี่  เวลาเจ้าฝันออกไป เวลาตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นเจ้า ไม่รู้ว่าหายไปอยู่ที่ไหน  ข้าไม่รู้จักที่ของเจ้าว่าอยู่ที่ไหน?
บัดนี้ข้ามาพบเจ้าเข้าแล้ว อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่เอง กายมนุษย์ละเอียดที่ฝันออกไป

เมื่อพบเจ้าเวลานี้ก็ดีแล้ว ไหนเจ้าลองฝันให้ข้าดูซิ  ฝันไปเมืองเพชร ไปในเขาวัง  เอาเรื่องในเขาวังนั้นมาเล่าให้ฟังหน่อย สักนาทีเดียวเท่านั้น กายละเอียดฝันไปเอาเรื่องในเขาวังมาเล่าให้กายมนุษย์หยาบฟังแล้ว

และเจ้าลองฝันไปเอาเรื่องทางอรัญประเทศบ้าง พระธาตุพนมบ้างมาเล่าให้ฟังบ้าง สักนาทีเดียวเช่นกัน  กายมนุษย์ละเอียดก็ฝันไปเอาเรื่องพระธาตุพนมมาเล่าให้ฟังอีก  และไหนลองฝันไปเมืองเชียงใหม่   ไปเอาเรื่องดอยสุเทพมาเล่าให้ฟังอีก  ไปเมืองนครศรีธรรมราชฝันไปเอาเรื่องพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุมาเล่าให้ข้า ฟังอีกเช่นกัน

นี่ฝันได้อย่างนี้ ฝันทั้งๆ ที่ตื่นๆ ไม่ใช่ฝันหลับๆ ฝันอย่างนี้ประเดี๋ยวเดียวได้เรื่องหลายเรื่อง  ถ้าหลับฝันนานนักกว่าจะได้สักเรื่องหนึ่ง หลายคืนจึงจะได้สักเรื่องหนึ่งบ้าง  บางทีไม่ฝันเสียเลย  บางทีก็ฝันบ่อยครั้ง  เอาแน่นอนไม่ได้  ให้รู้จักกายมนุษย์ละเอียดดังนี้  ถ้าเราเป็นเช่นนี้เราจะสนุกไม่น้อย

ถ้าเราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด  เราก็จะฉลาดกว่าคนชั้นหนึ่ง เพราะมนุษย์รู้เรื่องหยาบๆ เราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เราจึงรู้เรื่องได้ละเอียดกว่า เรื่องลี้ลับอะไรเรารู้หมด เราไปตรวจดูได้หมดทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนไปตรวจดูได้ เอากายมนุษย์ละเอียดนี้ไปตรวจดู ฝันไปเรื่อยตรวจดูทุกๆ คน  ถ้าฝันตื่นๆ ได้อย่างนี้ก็สนุกแน่  นี่ชั้นหนึ่งก่อน

นี่กายมนุษย์ละเอียด ไม่ใช่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ต้องเข้าไปอีก ๙ กายจึงจะถึงกายพุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
นี่พึงรู้ว่า กายมนุษย์ละเอียดอยู่ตรงกลางกายเราทีเดียว

ทีนี้เอาใจมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด  ลึกเข้าไปอีก กลางของกลางลึกเข้าไปอีก พอถูกส่วนเข้าก็เห็น  ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายทิพย์เลยกายมนุษย์ละเอียดไป นี่คือ กายฝันในฝัน อีกกายหนึ่ง ซึ่งละเอียดกว่ากายมนุษย์ละเอียด  เรียกว่า กายทิพย์

ใจกายทิพย์ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า  ก็เห็น กายทิพย์ละเอียด
ต้องหยุดนิ่งทีเดียว ไม่ไปทางอื่น หยุดนิ่งที่เดียวเท่านั้น
หากเราไม่รู้จักฝันก็ไม่ถึง  คิดก็ไม่ถึง  คาดคะเนไม่ถูก กายทิพย์ละเอียด คือกายที่ ๔

ใจกายทิพย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด   หยุดนิ่งถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้า ก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะถูกส่วนเข้าก็เห็น กายรูปพรหม
นี่หรือคือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ไม่ใช่ นี่เป็นกายรูปพรหม  กายที่ ๕

ใจกายรูปพรหม หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม   ถูกส่วนเข้าเห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายรูปพรหมละเอียด
นี่กายที่ ๖ ยังไม่ใช่ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นกายในภพ ยังเป็นกายในรูปภพอยู่

ใจกายรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด   ถูกส่วนเข้าเห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลาง   ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ   ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายอรูปพรหม
นี่ก็ยังไม่ใช่ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นเพียงกายอรูปพรหม กายในอรูปภพเท่านั้น  กายที่ ๗

ใจกายอรูปพรหม หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกาย  อรูปพรหม   ถูกส่วนเข้าเห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็ถึง กาย   อรูปพรหมละเอียด
นี่ก็ยังไม่ใช่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะอีกเช่นกัน เป็นกายอรูปพรหมละเอียด  เป็นกายที่ ๘ กายนี้ยังเป็นกายอยู่ในภพเหมือนกัน

กายมนุษย์ กายทิพย์ ๒ กายนี้อยู่ ๗ ชั้นคือ มนุษย์ชั้นหนึ่ง สวรรค์ ๖ ชั้น  เป็น ๗ ชั้นด้วยกัน
กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด  ๔ กายนี้อยู่ในกามภพ   อีก ๒ กายคือ  กายรูปพรหม  กายรูปพรหมละเอียด อยู่ในรูปภพ ๑๖ ชั้นสูงขึ้นไปกว่ากามภพ
กายอรูปพรหมและกายอรูปพรหมละเอียดอยู่สูงไปกว่ารูปภพอีก ๔ ชั้น คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ   อากิญจัญญายตนะ   เนวสัญญานาสัญญายตนะ นี่ กายอรูปพรหมละเอียดอยู่ในชั้นนี้

ใจกายอรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงศีลนั้น  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงสมาธิ  ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงปัญญา
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงวิมุตติ
หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
หยุดอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าเท่านั้น ก็เห็น กายธรรม  รูปเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องดูเงาหน้า  งดงามจริงๆ  หน้าตักไม่ถึง ๕ วา หย่อนกว่า ๕ วา ถ้ามีบารมีแรงกล้าแล้วเกือบถึง ๕ วาทีเดียว

นี่เรียกว่า กายธรรม เป็นโคตรภู ไม่ใช่เป็น พระโสดา พระสกทาคา พระอนาคา และพระอรหัต เป็นโคตรภูบุคคล เป็นกายธรรมเท่านั้น
กายธรรมนี่แหละคือ พุทธรัตนะ เป็นกายที่ ๙

กายที่ ๙ นี้คือ พุทธรัตนะ ที่สร้างรูปพระปฏิมากรในพระอุโบสถวิหารศาลาการเปรียญต่างๆ นั้น สร้างรูปกายที่ ๙ นี้ คือพุทธรัตนะนี้

ที่เราไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้ รูปมีเกตุตูมบ้าง เรียบบ้าง แหลมบ้าง  มีเกตุอย่างนี้  ไม่ใช่เหมือนคนอย่างนี้ คนเราไม่มีอย่างนั้น พระสิทธัตถราชกุมารก็ไม่มีอย่างนี้   เหมือนมนุษย์เรานี่เอง พระสิทธัตถราชกุมาร

เมื่อครั้งโกมารภัจจ์ แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปในสำนักของพระบรมศาสดา  ครั้งนั้น  พระองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป  อยู่ในอัมพ-ติกาวาส  สวนมะม่วงของหมอโกมารภัจจ์

เวลาค่ำของวันกลางเดือนที่แสงดวงจันทร์สว่าง ถือประทีปเสด็จไปด้วยพลช้าง  พลม้า ครึกครื้นมากมาย  ครั้นไปถึงก็ลงจากหลังพระราชพาหนะ  เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา

พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จเข้าไปใกล้พระบรมศาสดา  แสงก็สว่างไปรอบ  จึงได้ถามโกมารภัจจ์ว่า พระศาสดาองค์ไหน?
ถ้าหากพระศาสดามีเกตุแหลมๆ  ตูมๆ  อย่างนี้  พระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์เป็นกษัตริย์จะต้องไปถามโกมารภัจจ์ทำไม  นี่พระองค์ไม่รู้จักเหมือนกัน  พระองค์จึงได้ตรัสถามอย่างนั้น

โกมารภัจจ์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าค่ะ ผู้ประทับนั่งพิงเสากลาง ผิน พระพักตร์ไปทางบูรพาทิศ  พระปฤษฎางค์จดอยู่ที่เสากลางนั้น พระองค์นั้นแหละคือพระบรมศาสดา

พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงหมอบเข้าไปเฝ้าใกล้พระบรมศาสดา พระเสโทไหลเต็มพระพักตร์และทั่วพระวรกาย  ตรัสอะไรมิออก  ทรงสะทกสะท้านต่อพระบรมศาสดา  เพราะพระองค์ได้กระทำปิตุฆาต  ฆ่าบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสาร  ผู้เป็นบิดาของพระองค์เองไว้

พระองค์ไม่สบายพระทัย ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงทักทายปราศรัยก่อนแล้ว  พระเจ้าอชาตศัตรูผู้กำลังพระหฤทัยจะแตกทีเดียว

พระองค์จึงทรงทักทายปราศรัย กระทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสบายพระหฤทัยขึ้นแล้ว

พระองค์ทรงรับสั่งกับพระเจ้าอชาตศัตรูด้วยประการต่างๆ พระเจ้าอชาตศัตรูจะประสงค์อย่างไร  ก็ทรงตรัสอย่างนั้น

พระเจ้าอชาตศัตรูจะทรงถามอย่างไร
พระองค์ก็ทรงแก้ไขด้วยความถี่ถ้วนทุกประการ
ที่พระเจ้าอชาตศัตรูไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็เพื่อให้ทรงรู้จัก เพราะพระพุทธเจ้าก็เหมือนกับพระสงฆ์ธรรมดาสามัญทั้งหลาย

พระสิทธัตถราชกุมาร กายมนุษย์เป็นบุตรของพระเจ้าสุทโทธนะ
พระนางมายารูปพรรณสัณฐานก็เป็นมนุษย์ธรรมดาอย่างเรานี้เอง
มีพระกัจจายนะองค์เดียวเท่านั้น  ที่มีรูปร่างเหมือนพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็คล้ายคลึง  เพราะเป็นพระอนุชา ผู้ที่เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เข้าไปหาพระกัจจายนะนั้นเสียก็มี เข้าไปหาพระอานนท์เสียก็มีมิใช่น้อย

ดังนั้นพระกัจจายนะจึงได้นิมิตกายของท่าน ให้เป็นคนท้องโตมีพุงพลุ้ยเสีย  ด้วยฤทธิ์พระอรหัต เพื่อให้แปลกไปจากพระบรมศาสดา คนที่ไปเฝ้าพระบรมศาสดาจะได้จำไม่ผิด  พระมหากัจจายนะนี้มีบารมีมาก  เคยปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน  แต่ว่าไม่ได้ทันตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  ได้เป็นพระอรหันต์เสียก่อนในศาสนาของพระโคดมบรมครูนี้

กายมนุษย์จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้  จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องเป็นธรรมกาย   ธรรมกายเท่านั้นเป็นพระพุทธเจ้าได้

พระองค์ทรงรับสั่งด้วยพระองค์เองว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราตถาคตคือธรรมกาย  ธรรมกายนั้นเป็นพระพุทธเจ้า  เป็นพระตถาคตแท้ๆ ไม่ใช่อื่น

อีกนัยหนึ่งในพระสุตตันตปิฎกแท้ๆ วางตำราไว้ว่า
เอตํ โข วาเสฏฺฐา ธมฺมกาโยติ  ตถาคตสฺส อธิวจนํ
ดูก่อนวาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย  ธรรมกายนั้นเป็นตถาคตโดยแท้  ทรงรับสั่งอย่างนี้ ธรรมกายนั้นเอง คือพระตถาคตเจ้า
ธรรมกายนั่นเอง คือ พุทธรัตนะ เป็นกายที่ ๙ ของมนุษย์นี้ กายที่ ๙ ของมนุษย์  นี้เป็น พุทธรัตนะ แล้ว

ดวงธรรมรัตนะก็อยู่ศูนย์กลางกายพุทธรัตนะนั้น สะดือทะลุหลังขวาทะลุซ้าย  กลางกั๊กทีเดียว ข้างในวัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว ใสเกินกว่าใส ใสเป็นแก้ว  จึงได้ชื่อว่าธรรมรัตนะ ธรรมเป็นแก้วหรือแก้วธรรม  ดวงนั้นคือธรรมรัตนะ

ธรรมกายละเอียด อยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะนั้น เหมือนพุทธรัตนะแบบเดียวกัน แต่ว่าหน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ใสหนักขึ้นไปอีกนั่นเรียกว่า สังฆรัตนะ

รัตนะทั้ง ๓ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี้คือ พระพุทธศาสนาที่เรานับถือกราบไหว้บูชาอยู่
พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นกายที่ ๑๐ เป็น กายนอกภพ ออกจากภพไป

นอกจากนั้น กายพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ   ทั้ง ๓ นี้มีชั้นโคตรภู  เข้าไปถึงพระโสดาอีก  หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา  เกตุดอกบัวตูม

ธรรมกายสังฆรัตนะในพระโสดาละเอียดนั้น หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา เกตุดอกบัวตูม ก็มีพุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เหมือนกัน

ในกายพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา ในกายพระสกทาคาละเอียด หน้าตัก ๑๕ วา ก็มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เช่นเดียวกัน

ในกายพระอนาคา หน้าตัก ๑๕ วา กายพระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แบบเดียวกัน

ในกายพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา กายพระอรหัตละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย เหมือนกัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว ก็มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แบบเดียวกัน

เราเป็นพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นเราต้องรู้จัก พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ  เหล่านี้ไว้ให้มั่นในขันธสันดาน  ถ้ารู้จักพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เหล่านี้ไว้แน่นอนแก่ใจแล้ว  ต่อจากนั้นเราพึงกระทำกิจอื่นต่อไป

เจ้าภาพผู้บริจาคทานวันนี้  ได้ชื่อว่าเป็นวัตรกิริยาของพุทธศาสนิกทั้งหลาย คือ ตามรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคงถาวรสืบไป

เพราะเจ้าภาพได้บริจาคทานครั้งนี้  ด้วยกำลังทรัพย์ของตนที่อุตส่าห์เก็บรักษาไว้  ด้วยกำลังกาย กำลังวาจา และกำลังใจ จนสุดความสามารถของตน ซ่อนเร้นด้วยความยากลำบากถึงจะอาบเหงื่อต่างน้ำ เหงื่อไหลไคลย้อย กว่าจะหาทรัพย์ได้มาบริจาคเท่าวันนี้  ก็ยอมกระทำเพราะความเคารพเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาทั่วประเทศไทยหมดทั้งสากลพุทธศาสนา ถ้าแม้แต่คนเดียวก็ไม่บริจาคทาน ทุกคนปิดประตูบ้านประตูเรือนและปิดหม้อข้าวเสีย ไม่บริจาคกันเลย  เพียงเดือนเดียวเท่านั้น พระเถรานุเถระจะประสงค์หาสักองค์หนึ่งก็แสนยาก  หาไม่พบกันเลย  เพราะทุกองค์ต้องสึกหมดอยู่ไม่ได้  ข้าวปลาอาหาร  ไม่มีฉัน

พระภิกษุสามเณรจะอยู่ได้ก็เพราะอาหาร เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง
เจ้าภาพผู้ถวายทานครั้งนี้ได้ชื่อว่า เป็นศาสนูปถัมภ์ ได้ชื่อว่าเป็นกำลังของพระพุทธศาสนา  ได้ชื่อว่าทำพระศาสนาของพระศาสดาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

เพราะตลอดวันตลอดคืนนี้พระภิกษุสามเณรฉันอาหารอิ่มเดียวนี้เท่านั้นมีอายุยืนไปได้ ๗ วัน
วรรณะผิวพรรณร่างกายก็เป็นไปได้ ๗ วัน
ความสุขเป็นไปได้ ๗ วัน
กำลังเป็นไปได้ ๗ วัน
และความเฉลียวฉลาดก็เป็นไปได้ ๗ วัน ด้วยอำนาจข้าวอิ่มเดียวนี้

ทานของเจ้าภาพผู้ได้บริจาคแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสกและอุบาสิกาครั้งนี้   ไม่ใช่เป็นทานธรรมดา เป็นทานอันเลิศประเสริฐยิ่ง เพราะได้ถวายทานถูกทักขิไณยบุคคลนั่นเอง

ทักขิไณยบุคคลไม่ใช่มีน้อยๆ ในวัดปากน้ำนี้มีกว่า ๑๕๐ คน ทักขิไณยบุคคล ๑๕๐ กว่านี้มีธรรมกาย

ทักขิไณยบุคคลนั้นมี ๙ จำพวก คือ
พระอรหัตตผล    จำพวกที่ ๑ เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นสูงสุด
พระอรหัตตมรรค     เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๒ รองลำดับลงมา
พระอนาคามิผล     เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๓
พระอนาคามิมรรค   เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๔
พระสกทาคามิผล  เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๕
พระสกทาคามิมรรค  เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๖
พระโสดาปัตติผล  เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๗
พระโสดาปัตติมรรค  เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๘
โคตรภูบุคคล     เป็นทักขิไณยบุคคลจำพวกที่ ๙
ทักขิไณยบุคคล ๙ จำพวกนี้เป็นพระอริยบุคคล

ผู้ใดได้บริจาคทานถวายแก่พระอริยบุคคลนี้แล้ว บุญกุศลย่อมยิ่งใหญ่ ไพศาลเหลือจะนับจะประมาณ เพราะพระอริยบุคคลผู้ควรซึ่งทานสมบัติเป็นเครื่องเจริญผล  มี ๙ จำพวกดังกล่าวแล้วนั้น

วันนี้ท่านเจ้าภาพได้บริจาคทาน ถูกทักขิไณยบุคคลผู้มีธรรมกายมากด้วยกัน   บุญกุศลจึงยิ่งใหญ่ไพศาลไหลมาสู่สันดานของเจ้าภาพ ติดอยู่ท่ามกลางศูนย์กลางที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใส บริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่อยู่ในกลางดวงนั้น

กลางดวงกายมนุษย์ก็ติดกันกลางดวงกายมนุษย์ละเอียดก็ติดกันอีกดวงหนึ่ง  เป็นบุญอีกดวงหนึ่ง
กลางดวงกายทิพย์กายทิพย์ละเอียดก็ติดกันทั้งนั้น
กายรูปพรหม  กายรูปพรหมละเอียดก็ติดกัน
กายอรูปพรหม  กายอรูปพรหมละเอียดก็ติดกัน
กายธรรม  กายธรรมละเอียดก็ติดกัน
กายโสดา  กายโสดาละเอียดก็ติดอีกเหมือนกัน
กายสกทาคา  กายสกทาคาละเอียดก็ติดกัน
กายอนาคา  กายอนาคาละเอียดก็ติดกัน
กายพระอรหัต กายพระอรหัตละเอียดก็ติดกันอีก นับอสงไขยกายไม่ถ้วน

บุญบริจาคเพียงครั้งเดียวนี้ ติดเป็นดวงๆ ไปขนาด ๑,๐๐๐ วา พระนิพพาน  เมื่อเจ้าภาพได้ถวายทานขาดจากใจ  เป็นสิทธิ์ของผู้รับ  ผู้รับจะใช้ อย่างไรก็ใช้ได้  เพราะเป็นสิทธิ์ของตนแล้วขณะใด  ขณะนั้น ปุณฺญาภิสนฺทา บุญไหลมาติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ของเจ้าภาพ ใสบริสุทธิ์ปราศจากมลทินทีเดียว  เหมือนสวิตส์ไฟฟ้าวูบเดียว  ไฟก็ติด ฉะนั้น

ถ้าบุคคลทำบุญได้อย่างนี้แล้ว ให้เอาใจไปจดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กนั้น ให้เอาใจจดให้ถูกต้องตรงกลางดวงนั้น

เมื่อต้องทุกข์ภัยอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ระลึกนึกถึงดวงบุญ ที่ตนได้กระทำไว้  อย่าไประลึกนึกถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ดวงบุญของตน

พระสิทธัตถราชกุมาร เมื่อครั้งทรงกระทำทุกรกิริยาใกล้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พญามารรู้ก็ลุกขึ้นผจญพระพุทธเจ้า ที่ใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์

พระองค์ทรงมองดูหมู่เทวดาที่ตามพิทักษ์รักษา  เพราะแต่ก่อนพระปัญจวัคคีย์คอยเฝ้าพิทักษ์รักษาพระองค์อยู่  แต่ได้ละพระองค์ไปเสียแล้ว เหลือแต่หมู่เทวดาผู้ยังตามพิทักษ์รักษาเท่านั้น ทรงดูเทวดาไปพบอยู่ที่ขอบจักรวาลโน้น  เพราะเกรงกลัวพญามาร  เหลือพระองค์แต่ผู้เดียวในขณะนี้

พระองค์จึงทรงระลึกนึกถึงแต่ในพระทัยว่าเราได้สร้างบารมี มาก็นับชาตินับภพไม่ถ้วน   ขอเอาบารมีเหล่านั้นต่อสู้ผจญกับพญามารนี้  จึงได้ทรงเปล่งอุทานว่า

อธิโภนฺโต ทาน สีล เนกฺขมฺม ปญฺญา วิริย ขนฺติ สจฺจ อธิฏฺฐาน เมตฺตาอุเปกฺขา อทานนฺติ

ทรงรับสั่งดังนี้  พอขาดพระโอษฐ์เท่านั้น นางพระธรณีก็ผุดขึ้นมากล่าวกับพระองค์ว่า  ขอพระองค์อย่าพรั่นพรึงต่อพญามาร อย่าหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อพญามารเลย ศึกพญามารครั้งนี้ หม่อมฉันขอปราบเอง ปราบด้วยบารมีของพระองค์ที่ได้สร้างสมอบรมไว้  ได้หลั่งอุทกวารีให้ตกลงเหนือพื้นปฐพี

หม่อมฉันได้รองรับไว้ด้วยมวยเกศ  จะได้หายไปแห่งหนึ่งแห่งใดก็หาไม่  ทุกหยดหยาดคงอยู่ในมวยเกศของหม่อมฉันนี้  นี่แหละจะเป็นเครื่องมือปราบพญามารในครั้งนี้

ครั้นนางพระธรณีกล่าวบังคมทูลพระสิทธัตถราชกุมารดังนั้น แล้ว ก็รูดน้ำในมวยผม ปราดเดียว กลายเป็นทะเลท่วมทับพญามารให้อันตรธานไป ศัสตราวุธกลายเป็นธูปเทียน  บูชาพระบรมศาสดาไปได้ปรากฏอัศจรรย์ ดังนี้

เมื่อเราบริจาคทานและตามระลึกถึงบุญอย่างนี้แล้ว ภัยอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดทำอะไรไม่ได้  จะประกอบกิจการงานอย่างใด ก็เกิดลาภและสักการะยิ่งใหญ่ไพศาล ก็เพราะนึกถึงบุญนั้น บุญย่อมนำผลสมบัติมาให้ในปัจจุบันนี้เทียว

ท่านยืนยันรับรองไว้ในพระบาลีว่า การให้โภชนาหารอิ่มเดียว  ได้ชื่อว่า  ให้ฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหก
กตมานิ ปญฺจฐานานิ ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน?
อายุง เทติ ชื่อว่าให้อายุประการหนึ่ง คือให้อายุแก่ปฏิคาหกผู้รับทาน
วณฺณํ เทติ ชื่อว่าให้วรรณะความสวยงามความสดชื่นแห่งร่างกายประการหนึ่ง
สุขํ เทติ   ชื่อว่าให้ความสุขแก่ปฏิคาหกประการหนึ่ง
พลํ เทติ  ชื่อว่าให้กำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ แก่ปฏิคาหก ประการหนึ่ง
ปฏิภาณํ เทติ   ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดแก่ปฏิคาหกประการหนึ่ง
ทั้ง ๕ ประการนี้ มีบาลีรับรองในตอนท้ายอีกว่า
อายุง โข ทตฺวา อายุสฺส ภาคี โหติ
ผู้ให้อายุย่อมมีอายุเป็นส่วนตอบสนอง
วณฺณํ ทตฺวา วณฺณสฺส ภาคี โหติ
ผู้ให้วรรณะย่อมมีวรรณะเป็นส่วนตอบแทน
สุขํ ทตฺวา สุขสฺส ภาคี โหติ
ผู้ให้ความสุข ย่อมมีความสุขเป็นส่วนตอบแทน
พลํ ทตฺวา พลสฺส ภาค โหติ
ผู้ให้กำลังย่อมมีกำลังเป็นส่วนตอบแทน
ภาณํ ทตฺวา ปฏิภาณสฺส ภาคี โหติ
ผู้ให้ความเฉลียวฉลาด  ย่อมมีความเฉลียวฉลาดเป็นส่วนตอบแทน
คุณสมบัติ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นที่ปรารถนาของมหาชนหมดทั่วสากลโลก
เพราะอายุใครๆ ก็ปรารถนาอยากจะให้มีอายุยืนอยู่ชั่วกาลนาน

วรรณผิวพรรณผ่องใสสดชื่น ก็เป็นที่ดึงดูดนัยนาของหมู่สัตว์โลกให้มารวมอยู่ที่ผิวพรรณเหมือนกัน ใครๆ ก็ปรารถนาอยากได้เช่นกัน ความสุขกายสบายใจในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกทิวาราตรีก็เป็นที่ปรารถนาอยากได้ของชนทุกถ้วนหน้า
ความเจริญด้วยกำลังกาย กำลังวาจา และกำลังใจ สามารถในกิจการงานทุกสิ่งทุกอย่างตามหน้าที่ของตน ก็เป็นที่ปรารถนาของคนทุกๆ
คนปฏิภาณ ความเฉลียวฉลาดในกิจการทั้งปวงใครๆ ก็ต้องการปรารถนา
แต่ถ้าไม่ได้ทำไว้แล้ว  ต้องไม่ได้คุณสมบัติทั้ง ๕ ประการนี้ ทุกคนต้องทำด้วยตนของตนเอง  จึงจะประสบและได้สมบัติเหล่านี้

คุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ถ้าสำเร็จด้วยผลทานการให้ ดังแสดงไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร  แก้ถึงทาน การให้เป็นปาฏิปุคคลิกทาน ซึ่งไม่ใช่สังฆทาน เจ้าภาพผู้ถวายให้เป็นสังฆทานวันนี้

ในปฏิปุคคลิกทาน แสดงหลักไว้ว่า บุคคลผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานเพียงอิ่มเดียว สมบัติ บริบูรณ์ด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ คอยตามสนองไปทุกภพทุกชาติ  ไม่ได้ขาดสาย

ถ้าให้แก่คนเลวทราม  มนุษย์พรานเบ็ด หรือพรานแห  ผู้มีมือชุ่มไปด้วยโลหิตใจอำมหิต  บาปหยาบช้า  ให้อาหารเพียงอิ่มเดียว เจ้าของทานผู้ให้อาหารแก่คนเช่นนั้นย่อมได้รับอานิสงส์ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ ตามสนองไปทุกภพทุกชาติ  ยิ่งใหญ่ไพศาลกว่าให้แก่พวกสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ในภพในชาติเหล่านั้น ย่อมไม่ประสบความตายในปฐมวัยเสียก่อน จะมีอายุขัย  อยู่จนแก่เฒ่า  ตามวิบากสมบัติของตน นี่เรียกว่าอายุ

ความมีผิวพรรณไม่แก่เฒ่าชรา ยิ่งแก่เฒ่ายิ่งสวยงาม หน้าตาไม่แก่น่าเกลียดเทอะทะ  ไม่แก่แบบเป็นที่อิดหนาระอาใจของบุตรหลาน เป็นคนแก่ แต่ใครๆ ก็อยากเข้าใกล้ ใครๆ ก็ปรารถนาอยากพูดด้วย  ใครๆ ก็อยากลูบเนื้อคลำตัว  คนแก่เฒ่าชราสวยงามแบบนี้เรียกว่า วรรณะ

ความสุขกายสบายใจในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกทิวาราตรี  ไม่มีทุกข์ภัยเข้ามาเบียดเบียน นี่เรียกว่า สุขะ
ความมีกำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ ตลอดอายุขัยเช่นเดียวกันนี่เรียกว่า พละ
ความมีปรีชา เฉลียวฉลาด  เด็กเล็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ มีความเฉลียวฉลาดปานใด  เราแก่เฒ่าก็มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น  ไม่ถอยหลังลงมา นี้ได้ชื่อว่า ปฏิภาณะ
หากสามารถให้ทานยิ่งขึ้นไปกว่านี้ คือให้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีล เพียง อิ่มเดียวเท่านั้น  ไม่ต้องมากกว่านั้น  ได้บุญอานิสงส์มากมายยิ่งนัก ก็หรือให้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโคศีลธาตุ

บุคคลผู้ตั้งอยู่ในโคศีลธาตุ  คือผู้มีศีลเหมือนโค เหมือนกระบือ
วัว ควาย เมื่อเจ้าของเปิดคอกออกจากคอกของมันแล้ว มันก็ไปตามทางของมัน  พอถึงที่ทำเลเหมาะมีหญ้า มันก็กินหญ้านั้นจนอิ่ม แล้วมันก็เดินกลับมาคอกของมัน  มันเดินไปเดินมา  ตรงทางไม่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม  มายาสาไถยอย่างหนึ่งอย่างใด  นั่นเขาเรียกว่า โคกระบือมีศีลเป็นเช่นนั้น

เด็กๆ ไม่รู้เดียงสา บาปกรรม ชั่วร้ายมิได้กระทำ  นี่ก็มีศีลเป็นโคศีลธาตุเช่นกัน  โคศีลธาตุนั้นวางก้าม  ไม่เอาเดียงสาต่อทางโลก  จึงมีศีลอยู่

ทีนี้ คนแก่วางก้ามนั้น แก่อย่างไร?
คือไม่เดียงสาต่อเหตุการณ์ทางโลก คนอยู่ทางโลกเขามีความต้องการอะไร  คนแก่วางก้ามไม่รู้เข้าใจและเดียงสาในสิ่งเหล่านั้น มุ่งแต่จะกระทำความดีอย่างเดียว
คนอย่างนี้หายากนัก เพราะคนแก่ที่ยังไม่วางก้ามนั้น ถึงจะเป่าเถ้าไม่ฟุ้ง  ก็ยังยุ่งอยู่เสมอ  คนแก่อย่างนี้ไม่ใช่เรียกว่าแก่วางก้าม
คนแก่แล้ววางก้ามนั้น ไม่ยุ่งอะไร เหมือนอย่างเด็กๆ ไม่เดียงสาต่อสิ่งอะไร  ฉะนั้นนี่เรียกว่า แก่แล้ววางก้าม  คนแก่วางก้ามนี้ได้ชื่อว่า โคศีลธาตุ ด้วยสามารถวางศรัทธาเลื่อมใส ให้อาหารแก่เด็กๆ ชนิดนี้ ให้อาหารแก่คนแก่ชนิดนั้น  อิ่มเดียวเท่านั้น ได้ผลานิสงส์มากมายเหลือจะประมาณ  ย่อมถึงพร้อมด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ ทุกภพทุกชาติ ตลอดแสนโกฏิชาติติดๆ กันไม่คลาดเคลื่อน

ถ้าให้ทานแก่ผู้ที่ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ สูงยิ่งขึ้นไปกว่านี้
บุคคลผู้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์นั้น คือผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธ พระธรรม  และพระสงฆ์
คนที่เห็น พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
คนที่เป็น พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
คนที่ถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ
และคนที่ได้ พุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ  สังฆรัตนะ  อยู่ในตัว แจ่มเสมอนั่นเรียกว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์
บุคคลชนิดนั้นย่อมไม่กระทำบาปกรรม เพราะกลัวบาปกรรมเป็นที่สุด
บุคคลผู้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์เช่นนี้ เราให้อาหารอิ่มเดียวเท่านั้น บุญอานิสงส์คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณะ ย่อมตามสนองมากยิ่งขึ้นไปเป็นทวีคูณตลอดทุกภพทุกชาติเทียว  อสงฺขยํ อปฺปมาณํ นับชาติไม่ถ้วน
ถ้าให้ทานแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์   มีศีล ๕  เป็น  อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงขึ้นไป
ให้ทานแก่ผู้มีศีล ๘ เป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงหนักขึ้นไป
ให้แก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรเป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงหนักขึ้นไป
ถ้ามีศีล ๒๒๗ คือพระภิกษุก็เป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงหนักขึ้นไปอีก
ถ้าให้แก่ผู้ตั้งอยู่ในโคตรภูบุคคล ให้ทานแก่ผู้ตั้งอยู่ในพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรค  มีอานิสงส์  เป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ หนักขึ้นไป
ถวายทานแก่ท่านผู้เป็นพระโสดาปัตติผล ก็เป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงขึ้นไป
ถวายทานแก่พระสกทาคามิมรรค  สกทาคามิผล พระอนาคามิมรรคพระอนาคามิผล  พระอรหัตมรรค  และพระอรหัตผล ก็เป็น อสงฺขยํ อปฺปมาณํ สูงหนักขึ้นไปเป็นลำดับ

แต่ถ้าถวายทานแก่พระพุทธเจ้า ก็มีอานิสงส์มากหนักขึ้นไปเป็นพิเศษ
นี่ทานใน ทักขิณาวิภังคสูตร แสดงหลักไว้ดังนี้

วันนี้ท่านเจ้าภาพได้บริจาคทาน ถูกทักขิไณยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์  มีธรรมกาย ๑๕๐ เศษในวัดปากน้ำนี้ เจ้าภาพย่อมได้บุญกุศลใหญ่มหาศาล  ส่วนบุคคลที่น้อมนำปัจจัยไทยธรรมมาช่วยมากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม  ก็ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ไพศาลเช่นเดียวกัน

เจ้าภาพได้ให้โภชนาหารอย่างเดียวก็หาไม่ ยังให้เสียงอีก คือให้เสียงอังกะลุง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๕ อย่างนี้  ที่เขาติดกันอยู่ทั่วทั้งโลกคือ ติดด้วยรูปบ้าง ด้วยเสียงบ้าง ด้วยกลิ่นบ้าง ด้วยรสบ้าง ด้วยสัมผัสบ้าง หลบหลีกไม่พ้น ติดอยู่ในสภาวธรรมเหล่านี้กัน  อย่างยากที่จะถอนได้

สำหรับผู้ที่ติดอยู่ในเสียง เราให้เสียงอันไพเราะนี้เป็นทาน ก็ย่อมเป็นที่ชอบใจ พระภิกษุ สามเณรซึ่งกำลังขบฉันอาหาร เมื่อได้ฟังเสียงอังกะลุงที่เจ้าภาพให้เป็นทาน  ก็ขบฉันอาหารได้มากขึ้น เพราะเพลิดเพลินในเสียงอังกะลุงนั้นไปด้วย  ฉันอาหารไปด้วย

เสียงที่ให้เป็นทานนั้น จะเป็นผลแก่เจ้าภาพอย่างไร?
ประโยชน์ที่จะได้รับ ก็คือเมื่อเจ้าภาพไปเกิดในชาติใดภพใด ย่อมได้ประสบบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมอบรมในวันนี้ จะไปเป็นอะไรก็ช่างเถิด เครื่องประโคมเครื่องบรรเลงเป็นไม่ขาดสาย มีติดตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะไปเกิดในชาติใด ตระกูลใด
เหมือนพระสิวลีให้เสียงอย่างนี้เป็นทาน ท่านเป็นผู้มีเครื่องดนตรีตามประโคมเสมอไป  ผู้ที่มีเครื่องดนตรีตามประโคมนี้ต้องเป็นคนชั้นสูง คนชั้นต่ำๆ ไม่มีเครื่องดนตรีตามประโคมไปเลย  จะต้องเป็นคนชั้นสูง  เป็นกษัตริย์ เสนาบดี เศรษฐี ธนบดี จึงจะมีเครื่องดนตรีบรรเลงตามประโคมอยู่เสมอ

เพราะเหตุนี้ บุญกุศลของบุคคลนั้น ย่อมแตกต่างกันไปหาเหมือนกันไม่   สุดแต่บุญทานที่ตนกระทำไว้ในอดีตชาติ
ท่านได้จัดหลักแห่งทานไว้ คือ
ในพระสูตร ๑๐
ในพระวินัย  ๔
ในพระปรมัตถ์  ๖
ทานในพระสูตร ๑๐ คือ
อณฺณํ   ให้ข้าว                                                      ปานํ   ให้น้ำ
วตฺถํ  ให้ผ้าผ่อนท่อนสะไบ                               ยานํ  ให้อุปกรณ์แก่การไปมา
มาลา  ให้ระเบียบดอกไม้                                   คนฺธํ  ให้ของหอม
วิเลปนํ  ให้เครื่องลูบไล้ละลายทากระแจะจันทน์
ธารณํ  ให้เครื่องประดับทัดทรงตบแต่ง
เสยฺยา ว สตฺถํ ให้อาสนะที่นั่งที่นอนที่พักพาอาศัย
ปทีเปยฺยํ  ตามประทีปไว้ในที่มืด

๑๐ ประการนี้ เรียกว่าทานในพระสูตรเป็นบุญเป็นกุศลดังกล่าวแล้วทุกประการ
ทานในพระวินัย ๔ คือ
ให้จีวรเครื่องสำหรับนุ่งห่มแก่พระภิกษุสามเณร ประการหนึ่ง
ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร ประการหนึ่ง
ถวายเสนาสนะสำหรับพักอาศัยแก่พระภิกษุสามเณร ประการหนึ่ง
และถวายคิลานเภสัชยารักษาไข้แก่พระภิกษุสามเณร อีกประการหนึ่ง
ท่านเจ้าภาพได้ถวายอาหารบิณฑบาตครั้งนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นทานในพระวินัย
ทานในพระปรมัตถ์ ๖ คือ

มีอายตนะ ๖ คือ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถอนความยินดีในอารมณ์เหล่านี้ออกเสียได้  สละความยินดีในอารมณ์เหล่านี้เสียได้
ก่อนเราเกิดมาเขาก็ยินดีกันอยู่อย่างนี้ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
กำลังที่เราเกิดมาเขาก็ยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  เหล่านี้
ครั้นเราจะตายเขาก็ยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างนี้เหมือนกัน
ความยินดีเหล่านี้  หากถอนอารมณ์ออกเสียได้ ไม่ให้เสียดแทงเราได้ พิจารณาว่านี้เป็นอารมณ์ของชาวโลก  ไม่ใช่อารมณ์ของธรรม ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย  ไม่ยึดมั่นถือมั่น  ไม่ให้เข้าไปเสียดแทงใจ  ทำใจให้หยุดให้นิ่ง
นี่เขาเรียกว่า ให้ธรรมารมณ์เป็นทาน ย่อมมีกุศลใหญ่ เป็นทางไปแห่งพระนิพพานโดยแท้  และเป็นทานอันยิ่งใหญ่ทางปรมัตถ์
เจ้าภาพผู้ถวายทานวันนี้ได้ชื่อว่า ได้ถวายทานครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการ  คือ ถวายทานในพระสูตร  ถวายทานในพระวินัย และถวายทานในพระปรมัตถ์
เพราะท่านเจ้าภาพได้ถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีตแก่พระภิกษุ สามเณรในวัดปากน้ำ  ผู้มีธรรมกายมากด้วยกัน ให้อิ่มหนำสำราญแล้วชื่อว่า ได้ถวายทานในพระสูตรและพระวินัยแหละ
ที่สละทรัพย์สมบัติของหวงแหนรักษายินดีปรีดา มีเงินทอง ข้าวของเหล่านั้น สละความรักใคร่ ความหวงแหน ความรักษา อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ความเหนียวแน่นในทรัพย์สมบัตินั้น สละออกมาเป็นก้อนใหญ่หาน้อยไม่  ได้สละออกมาให้ขาดออกไปจากใจ นี่แหละเป็นทานในพระปรมัตถ์แท้ๆ ไม่ใช่ทานในพระสูตร หรือพระวินัย
ความสละขาดออกไปจากใจเช่นนั้นเรียกว่า จาคเจตนามัย เป็นทางไปแห่งมรรคผล และพระนิพพาน
มีบาลีเป็นหลักฐานว่า จาโค ปฏินิสฺสคฺโค วิมุตฺติ อนาลโย จาโค แปลว่าความสละทรัพย์สมบัติ และไม่ค่อยระวังรักษา หรือรักใคร่อีกต่อไป ละขาดออกให้แก่พระภิกษุ สามเณร
นี่เป็นปรมัตถทานโดยแท้  พึงจำไว้ว่าให้ติดใจ จะได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งพระนิพพาน ในภพนี้และภพต่อไปภายหน้า
ทานในพระสูตร ๑๐ ทานในพระวินัย ๔ ทานในพระปรมัตถ์ ๖ และทานในทักขิณาวิภังคสูตร  เป็นทานอันยอดเยี่ยม จะหาทานในที่ไหนๆ เปรียบเทียบไม่ได้
ถ้าว่าเรามาประสบพบพระพุทธศาสนาได้บริจาคทานในพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ และทานในทักขิณาวิภังคสูตร ดังได้แสดงมานี้ ย่อมได้รับผลสมบัติอันยิ่งใหญ่ไพศาลสุดจะนับจะประมาณได้ทีเดียว

ครั้งพุทธกาล นายอินทร์ชาวนาได้ถวายทานแก่พระอนุรุทธเถระ ด้วยอาหารเพียงอิ่มเดียว  ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  มีหมู่นางเทพอัปสรแวดล้อม  เสวยวิบากสมบัติยิ่งใหญ่ไพศาล
ส่วนอังกุระเทพบุตร  เมื่อเป็นมนุษย์ชื่อว่าอังกุระ เป็นมหาเศรษฐีได้บริจาคทานในมนุษย์โลก  เป็นเวลานานหลายชั่วตระกูล  บริจาคทานในมนุษย์โลกนี้ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี หมดทรัพย์สมบัติไปจะนับจะประมาณหาได้ไม่ ๒๐,๐๐๐ ปีมนุษย์โลก ปราศจากการไถ การหว่าน ก่อระเบียบเตาไฟ ยาว ๑๒ โยชน์ ระยะหนทางเดิน ๕ วัน  ก่อเตาใหญ่ๆ ติดกันเป็นแถวไป
เรือบรรทุกข้าวสารมา ใส่ข้าวในกระทะขึ้นมาทางหลังเตานั้น ทางน้ำข้าวที่เทไหลไปนั้น  เป็นทางเรือเดินได้  เขาได้บริจาคทานอยู่ในมนุษย์โลกนี้ ๒๐,๐๐๐ ปี ครั้นตายจากมนุษย์โลกแล้ว  ได้ไปเกิดในดาวดึงส์เทวโลก  แต่สมบัติของอังกุระเทพบุตรสู้ของอินทกเทพบุตรไม่ได้  สมบัติของอินทกเทพบุตรยิ่งใหญ่ไพศาลกว่า
เพราะอินทกเทพบุตร เมื่อเป็นชาวนา ได้ถวายทานแก่พระภิกษุในพระพุทธศาสนา  ส่วนอังกุระเทพบุตร ได้ถวายทานนอกพระพุทธศาสนา คนผู้มีศีลในทานของตนไม่ได้มีแม้แต่เพียงคนเดียว   วิบากสมบัติจึงสู้ของอินทกเทพบุตรไม่ได้  เห็นปานฉะนี้

วันนี้เจ้าภาพได้บริจาคทานในพระพุทธศาสนา มีทักขิไณยบุคคลผู้มีธรรมกายถึง ๑๕๐ เศษ ผลทานนี้ย่อมให้วิบากสมบัติอันยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นอเนกอนันต์หาประมาณมิได้

เมื่อเราได้ประสบพบพระพุทธศาสนาเช่นนี้แล้ว ก็เป็นบุญใหญ่ลาภใหญ่  และเมื่อได้มาบริจาคทานสมเจตนาอย่างนี้แล้ว จะเป็นคนอนาถายากแค้นต่อไปในภพหน้านั้น  เป็นอันไม่ต้องหวัง

แต่ถ้าบุญวาสนาที่อบรมสั่งสมไว้ดี  ได้พบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเข้า ก็จะได้เป็นศาสนูปถัมภ์ของพระบรมศาสดา  พระองค์ก็จะได้ทรงโปรดให้ได้สำเร็จมรรคผลสมความปรารถนา

ประเทศไทยมีชาติ ศาสนา ๒ อย่างนี้เป็นหลักสำคัญ ชาติตนก็ได้เกิดเป็นชาวไทยชาติไทยอยู่แล้ว  ศาสนาตนก็เป็นชาวพุทธ นับถือศาสนาพุทธอยู่แล้ว  เมื่อตนทำมาหาเลี้ยงชีพ และครอบครัวของตน จนได้ผลมาเลี้ยงสม ความมุ่งมาดปรารถนา และอุตส่าห์เหลือเพื่อนำออกมาเลี้ยงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีก

นี่ก็ได้ชื่อว่า เป็นประโยชน์แก่ชาติ เป็นประโยชน์แก่ศาสนาโดยแท้  และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ทำตนของตนให้มีราคาในชาติในศาสนาเช่นนี้

ที่เจ้าภาพได้ถวายโภชนาหารเป็นสังฆทานในวันนี้ ชื่อว่าได้ทำบุญใหญ่กุศลใหญ่ยิ่ง  พึงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตนทุกถ้วนหน้า ให้เอาใจจดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์  ก็ถูกดวงบุญพอดี  ให้หยุดอยู่ตรงนั้น จะได้เกิดกุศลอันไพศาลจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยสมความมุ่งมาดปรารถนาทุก ประการ

ตามที่ได้ชี้แจงแสดงมาเป็นภัตตานุโมทนากถา ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา  ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา

เอเตน  สจฺจวชฺเชน  ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้

สทาโสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพ และสาธุชนทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า

สิทฺธมตฺถุ   สิทฺธมตฺถุ   สิทฺธมตฺถุ   อิทํ   ผลํ   เอตสฺมึ   รตฺนตฺตยสฺมึ   มนสาว  เจตโส  ขอจิตอันเลื่อมใสและจิตอันผ่องใสในพระรัตนตรัยนี้ จงเป็นผลสำเร็จ  จงเป็นผลสำเร็จ  จงเป็นผลสำเร็จ แก่ท่านผู้เป็นเจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลายทุกถ้วนหน้า

อาตมภาพชี้แจงแสดงมา พอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมสมควรเพียงเท่านี้

เอวํ  ก็มีด้วยประการฉะนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘