กัณฑ์ที่ ๓๔ ขันธปริตร วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๓๔ ขันธปริตร วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ



วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ                 เมตฺตํ เอราปเถหิ เม
ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ             เมตฺตํ กณฺหาโคตมเกหิ จ   
อปาทเกหิ เม เมตฺตํ                เมตฺตํ ทิปาทเกหิ เม
จตุปฺปเทหิ เม เมตฺตํ                เมตฺตํ พหุปฺปเทหิ เม
มา มํ อปาทโก หึสิ                  มา มํ หึสิ ทิปาทโก   
มา มํ จตุปฺปโท หึสิ                 มา มํ หึสิ พหุปฺปโท 
สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา       สพฺเพ ภูตา จ เกวลา
สพฺเพ ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ            มา กิญฺฺจิ ปาปมาคมา   
อปฺปมาโณ พุทฺโธ อปฺปมาโณ ธมฺโม อปฺปมาโณ สงฺโฆ ปมาณวนฺตานิ สิรึสปานิ
อหิ วิจฺฉิกา สตปที อุณฺณานาภี สรพู มูสิกา กตา เม รกฺขา กตา เม ปริตฺตา
ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ โสหํ นโม ภควโต นโม สตฺตนฺนํ สมฺมาสมฺพุทฺธานนฺติ ฯ

ณ บัดนี้  อาตมภาพจะได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วย ขันธปริตร คำ ว่าปริตร แปลว่า ความรักษา ขันธปริตร แปลว่า ความรักษาขันธ์ ความคุ้มครองขันธ์ ความป้องกันขันธ์ เรียกว่าขันธปริตร ขันธปริตรนี้ เป็นวิชชาในพระพุทธศาสนา สัตว์ต่างๆ มีมากมายหลายประการ มนุษย์บางพวกไม่อาจจะสู้สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นได้ บางพวกอาจสู้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายเหล่านั้นได้ พวกที่สู้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้ ต้องใช้ความอ่อนน้อมเป็นสามัคคีน้ำหนึ่งใจเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน  ถ้าว่าอาจจะสู้สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นได้ ไม่ต้องอ่อนน้อม ไม่ต้องสามัคคีกับสัตว์เดรัจฉาน ปราบสัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นวอดวายไปหมด  ถ้าว่าไม่อาจจะสู้สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้นได้ ต้องใช้อ่อนน้อม เพราะฉะนั้น มนุษย์หญิงก็ดี ชายก็ดี คฤหัสถ์ บรรพชิต หญิงชายไม่ว่า  ถ้าอ่อนให้อ่อนละมุนละไม ใช้ได้ ถ้าแข็งให้แข็งเป็นเหล็กดี ใช้ได้ ใช้ในโลกได้อย่างดีแท้ ถ้าแข็ง แข็งอย่างเหล็ก ถ้าอ่อน อ่อนอย่างสำลี ใช้ได้ดีอย่างนี้ สำลีนะ ใช้ได้ดีนัก ทั้งสองอย่างนี้ดีที่สุด  อ่อน  อ่อนอย่างสำลีดีที่สุด แข็ง  แข็งอย่างเพชรดีที่สุด  เด็ดเดี่ยวทีเดียว สองอย่างนี้แหละ จำไว้เป็นตำรา  ถ้าจะเป็นคนอ่อน  อ่อนให้ใช้ได้ ถ้าจะเป็นคนแข็ง แข็งให้ใช้ได้เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าคนมีปัญญา  ทางพระพุทธศาสนาก็ใช้เช่นนัน ส่วนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใด แข็งจริงๆ ไม่ใช่แข็งพอดีพอร้าย สัตว์ใดจะมาปล้นพระองค์ เป็นไม่มีเด็ดขาด อย่าว่าแต่มนุษย์  แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น พญานันโทปนันทนาคราช มาแข็งกระด้างต่อพระองค์เข้า พระองค์ก็ปราบพญานันโทปนันทนาคราชเสีย หรืออาฬวกยักษ์  พระองค์ไม่สามารถจะลดหย่อนให้ผู้หนึ่งผู้ใด  แข็งเป็นเพชรทีเดียว  ปราบอาฬวกยักษ์เสียให้อยู่เป็นสาวกของพระองค์  ให้อยู่ในความปกครองของพระองค์เสีย นี่ท่านแข็งดีอย่างนี้ จึงเรียกว่าแข็งให้แข็งเป็นเพชร ถ้าอ่อนให้อ่อนเป็นสำลี อ่อนเป็นสำลีใช้เป็นผ้าห่มหนาวก็ได้  ใช้เป็นหมอนหนุนก็ได้ ใช้ปั่นเป็นผ้านุ่งทำห่มได้สำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์ นี้อ่อนเป็นสำลีอย่างนี้ใช้ได้ เพราะฉะนั้น เราท่านทั้งหลาย หญิงชายทุกถ้วนหน้า เมื่อจะฟังในขันธปริตร   ขันธปริตรนี้แปลว่า ความ คุ้มครองป้องกันขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์นี้ ไม่คุ้มครองป้องกันไม่ได้ อันตราย มากนัก อันตรายมากทีเดียว

สัตว์ในมนุษยโลก ถูกอสรพิษกัดในปีหนึ่งๆ หมดสิ้นเท่าไร ตั้งร้อย ไม่ใช่ร้อยสองร้อย ถูกงูเด็ดชีวิตเสีย ประหารเสีย นี่งูร้ายนัก งูเล็กๆ น้อยๆ ไม่ร้ายเท่าพญานาค  พญานาคตัวใหญ่ๆ ร้ายนัก พ่นพิษตายทีเดียว นี่อันตรายมากมายทีเดียว เพราะฉะนั้นอันตรายทั้งหลายเหล่านี้ เราจะสู้ด้วยวิธีใด ทางพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ในขันธปริตร แปลเป็นภาษาไทยว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ ให้ตั้งใจลงไปว่า ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลวิรูปักข์ด้วย เมตฺตํ เอราปเถหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลเอราบถด้วย ฉพฺยาปุตฺเตหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งหลาย สกุลฉัพยาบุตรด้วย เมตฺตํ กณฺหาโคตมเกหิ จ ความเป็นมิตรของเรา สัตว์ทั้งหลาย สกุลกัณหาโคตมกะด้วย อปาทเกหิ เม เมตฺตํ ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ที่ไม่มีเท้า เมตฺตํ ทิปาทเกหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีเท้าสองด้วย จตุปฺปเทหิ เม เมตฺตํ    ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีเท้าสี่ด้วย เมตฺตํ พหุปฺปเทหิ เม ความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย ที่มีเท้ามากด้วย มา มํ อปาทโก หึสิ ขอสัตว์ไม่มีเท้า อย่าเบียดเบียนเราเลย มา มํ หึสิ  ทิปาทโก ขอสัตว์มีเท้าสอง อย่าเบียดเบียนเราเลย มา มํ จตุปฺปโท หึสิ ขอสัตว์มีเท้าสี่ อย่าเบียดเบียนเราเลย มา มํ หึสิ พหุปฺปโท ขอสัตว์มีเท้ามาก อย่าเบียดเบียนเราเลย สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา จ เกวลา ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เกิดแล้วทั้งสิ้นทั้งหมด สพฺเพ ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ขอจงเห็นความเจริญทั้งหลายทั้งนั้นด้วย มา กิฺ จิ  ปาปมาคมา ขอความลามก อย่ามาถึงแก่สัตว์เหล่านั้นเลย อปฺปมาโณ พุทฺโธ พระพุทธเจ้าทรงพระคุณล้นพ้น อปฺปมาโณ ธมฺโม พระธรรมเจ้าทรงพระคุณล้นพ้น  อปฺ ปมาโณ สงฺโฆ พระสงฆ์เจ้าทรงพระคุณล้นพ้น   ปมาณวนฺตานิ สิรึ สปานิ อหิ วิจฺฉิกา สตปที อุณฺณานาภี สรพู มูสิกา ขอสัตว์ทั้งหลาย คืองู  แมงป่อง  ตะเข็บ  ตะขาบ แมงมุม และหนู ล้วนมีประมาณ กตา เม รกฺขา  กตา เม ปริตฺตา ปฏิกฺกมนฺตุ ภูตานิ โสหํ นโม ภควโต นโม สตฺตนฺนํ สมฺมาสมฺพุทฺธานํ อัน ความรักษาอันเรากระทำแล้ว  ความ คุ้มครองอันเรากระทำแล้ว ขอสัตว์ที่เกิดแล้ว จงหลีกไป ความนอบน้อม เรานั้นมักกระทำความนอบน้อมแก่พระพุทธเจ้าอยู่  ความนอบน้อมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งเจ็ดพระองค์ ด้วยประการดังนี้ นี้เนื้อความของพระบาลี  ชี้ความเป็นสยามภาษาได้ดังนี้

ในขันธปริตร ใจความของขันธปริตร ข้อเนื้อความย่อ ขนฺธ แปลว่า ขันธ์ ขันธ์ห้ามีมากไม่ใช่มีน้อย ปริตฺตํ แปลว่าความปกครองป้องกัน  ความคุ้มครองป้องกัน  เรียกว่าปริตร ขันธ์ห้ามีมาก ขันธ์ห้าของมนุษย์ ก็ต้องมีความคุ้มครองป้องกัน ของมนุษย์ละเอียดก็ต้องมีความคุ้มครองป้องกัน ขันธ์ห้าของทิพย์ ก็ต้องมีความคุ้มครองป้องกัน  ขันธ์ห้าของทิพย์ละเอียดก็ต้องมีความคุ้ม ครองป้องกัน  ขันธ์ของรูปพรหม รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ก็ต้องมีความคุ้มครองป้องกัน ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น ขันธ์ห้าของธรรม ธรรมขันธ์ ธรรมกายทั้งหยาบทั้งละเอียด โสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด สกทาคาทั้งหยาบ ทั้งละเอียด   อนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด อรหัตต์ทั้งหยาบทั้งละเอียด มีความคุ้มครองป้องกันทั้งนั้น

อันตรายเป็นข้อสำคัญ  เพราะเหตุนั้น สัตว์เดรัจฉานอย่าง วิรูปักข์ สกุลนาคชื่อว่า วิรูปักข์ สกุลนี้เป็นสกุลสำคัญ มีฤทธิ์ มีเดช เหาะเหินเดินอากาศได้  ถอดกายมาเป็นมนุษย์ ก็ได้พญานาคมีฤทธิ์ขนาดนี้ เมื่อครั้งพุทธกาล ใครๆ ก็กลัว บัดนี้ใครๆ ก็กลัวเหมือนกัน  พญานาคไม่ใช่ของพอดีพอร้าย ใครๆ ก็กลัวทั้งนั้น พญานาคชื่อว่า เอราบถ ตระกูลเอราบถก็แบบเดียวกัน มีฤทธิ์มีเดชมากมาย  ถอดกายเหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นพญา นาคก็ได้ มาปนอยู่ในมนุษย์ ไม่รู้จัก แผลงฤทธิ์แผลงเดชมาได้ เรียกว่า เอราบถ ตระกูลพญานาคมีอีก ฉั พยาบุตร ตระกูลใหญ่ๆ ทั้งนั้น ตระกูลพญานาคเหล่านี้ เป็นตระกูล สำคัญ แผลงฤทธิ์แผลงเดชได้ดุจเดียวกัน ตระกูลพญานาคที่สี่เรียกว่า กัณหาโคตมกะ ตระกูลพญานาค พวกนี้เหาะเหินเดินอากาศได้ จำแลง แปลงกายมาเป็นมนุษย์ก็ได้  เป็นภิกษุก็ได้ เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ได้ เป็นมนุษย์คนใดก็ได้ นั่งอยู่ในพวกนี้ ไม่มีใครรู้จัก พญานาคแปลงได้เช่นนั้น ถ้ามีธรรมกายจึงจะรู้จัก ถ้าไม่มีธรรมกายก็ไม่รู้จัก จะเด็ดชีวิตคนหนึ่งคนใดแล้วก็ไม่ยากนัก  มีฤทธิ์มีเดชขนาดนี้

สกุลเหล่านี้ ผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด  บุคคล ผู้อ่อนเห็นนี้มีฤทธิ์มีเดชขนาดนี้แล้ว จะทำอย่างไรกัน ก็ตั้งใจตีสนิทชิดชมกับเขา ประกาศตนลงไปว่า  ขอความเป็นมิตรของเรา จงมีแก่พญานาคทั้งสี่ตระกูลนั้นเถิด นี่อ้อนวอนเขานะ ขอความเป็นมิตรของเรา  จงมีแก่พญานาคทั้งสี่ตระกูลนั้นเถิด เราไม่อาจสามารถ จะสู้ได้ ตีสนิทเข้าไปเป็นมิตร เพื่อเขาจะได้ละชีวิตให้ ไม่ประสงค์อะไร เขาจะได้ละชีวิตให้ เพราะเกรงกลัวต่อเขา นี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ดุจสัตว์ไม่มีเท้า สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า สัตว์เท้ามาก แมงป่อง ตะเข็บ ตะขาบ เหล่านี้ แมงมุมอย่างนี้ สัตว์เท้ามากทั้งนั้น  นี่ก็ให้ร้ายเหมือนกัน ให้ ปวดร้ายเหมือนกัน มีฤทธิ์เหมือนกัน ไม่ใช่พอดีพอร้าย สัตว์สี่เท้า เสือ ราชสีห์ หมี เม่น เหล่านี้ สัตว์มีพิษร้ายทั้งนั้น นี่สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า มนุษย์ร้ายกว่าใครๆ ทั้งหมด ประเทศต่อประเทศรบกันทีเดียว นี่ร้ายนัก มนุษย์ร้ายกว่าใครๆ  ทั้งหมด  สัตว์ไม่มีเท้า พวกคืบคลานต่างๆ บริวารของพญานาคเหล่านั้น เป็นสัตว์ไม่มีเท้า เท้าเหี้ยน ในสัตว์จำพวกนี้แหละ เราก็ต้องเกรงเขาอยู่เหมือนกัน มนุษย์ตายเพราะสัตว์พวกนี้ไม่ใช่น้อยปีหนึ่งๆ ให้นึกดูเถอะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติตัวอ่อน ต้องยอมเป็นมิตรกับเขาเสีย กับพวกสัตว์เหล่านี้ ต้องยอมเป็นมิตรกับเขาเสีย ไม่ทำเขา  เขาจะได้ไม่ทำเราต่อไป ขอเป็นมิตรกันเสีย เป็นเพื่อนสหายกันเสีย เขาจะได้ไม่ทำลายชีวิตเรา นี่ผู้ประพฤติอ่อน  ประพฤติอย่างนี้อ่อนน้อมต่อเขา ขอเป็นมิตรต่อเขา จึงได้ขอในตอนท้ายว่า ขอสัตว์ไม่มีเท้า จงอย่าเบียดเบียนเราเลย  ขอสัตว์มีสองเท้า อย่าเบียดเบียนเราเลย ขอสัตว์มีเท้าสี่ อย่าเบียดเบียนเราเลย ขอสัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเราเลย สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา จ เกวลา สพฺเพ ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ ว่า สพฺเพ สตฺตา สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา จ เกวลา ขอสัตว์ทั้งสิ้นที่เกิดทั้งหมด สพฺเพ ภทฺรานี ปสฺสนฺตุ จงเห็นความเจริญทั้งสิ้นของเรา ความลามกอะไรๆ อย่ามาถูกต้องกระทบสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเลย

นี้บทก่อนแปลเมตตาในเมตตานิสังสกถาโน้น ในขันธปริตรนี้ก็เหมือนกับเมตตา แต่ว่าไม่เชิงนัก แต่ว่าแสดงความเป็นมิตร นั่นแสดง ความเมตตา นี่แสดงความเป็นมิตร ต่างกันเท่านั้น สัตว์ทั้งหลายมีมากน้อยเท่าใด พระพุทธเจ้า อปฺปมาโณ พุทฺโธ พระพุทธเจ้าทรงพระคุณไม่มี ประมาณ อปฺปมาโณ ธมฺโม พระธรรมทรงพระคุณไม่มีประมาณ อปฺปมาโณ สงฺโฆ พระสงฆ์ทรงพระคุณไม่มีประมาณ ปมาณวนฺตานิ สิรึสปานิ อหิ วิจฺฉิกา สตปที อุณฺณานาภี สรพู มูสิกา ขอสัตว์ทั้งหลาย คืองู แมงป่อง ตะเข็บ ตะขาบ และ แมงมุม และตุ๊กแก หมู่สัตว์เหล่านั้นมีประมาณเท่านั้น  พระรัตนตรัย พระพุทธเจ้า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ เหล่านี้ ทรงพระคุณไม่มีประมาณ สัตว์ที่เกิดแล้ว ทรงพระคุณไม่มีประมาณ  ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความ คุ้มครองอันเรากระทำแล้ว  สัตว์ที่เกิดแล้วทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่เกิดแล้วขอจงหลีกออกไป  เรานั้นเป็นผู้นอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่   การกระทำนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทั้งเจ็ดพระองค์เหล่านั้น อันนี้เป็นความนอบน้อมให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จะทำอันตรายอะไรไม่ได้

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระคุณไม่มีประมาณ ชักตัวอย่างเป็นประธาน ดังในห้องพุทธคุณ พระธรรมทรงพระคุณไม่มีประมาณ ชักตัวอย่างโดยย่อดังบาลีที่ปรากฏในห้องธรรมคุณ   พระสงฆ์ทรงพระคุณไม่มีประมาณ  ชักตัวอย่างดังในห้องสังฆคุณว่า อิติปิ แม้ดังนี้ โส ภควา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อรหํ ผู้ไกล ผู้ควร ผู้หักเสียซึ่งกรรมกงสงสารจักร สมฺมาสมฺพุทฺโธ    ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ วิชชาจรณสมฺปนฺโน บรรลุวิชชา ๓ วิชชา ๘ จรณะ ๑๕ สุคโต ดำเนินงามตามอริยมรรคทั้ง ๘ โลกวิทู รู้แจ้งโลก อนุตฺตโร หาผู้ใดผู้หนึ่งเสมอถึงมิได้ ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว ภควา เป็นผู้จำแนก ธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง นี่เป็นพระคุณโดยย่อ

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงดีแล้ว อันพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งดีแล้ว สนฺทิฏฐิโก ใครได้ ใครถึง ใครปฏิบัติก็ได้ด้วยตนเอง  อกาลิโก เป็นของไม่มีกาลเวลา เอหิปสฺสิโก เรียกบุคคลอื่นให้เข้าดูก็ได้ อย่างวิชชาที่ปฏิบัติกันที่วัดปากน้ำนี้ เรียกบุคคลให้เข้ามาดูก็ได้ ให้เรียกคนเข้าดูก็ได้ แสดงได้หลายประการ โอปนยิโก เป็นของน้อมใส่ใจได้ตามความปรารถนา ไม่ขัดข้อง   ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ  วิญฺญููหีติ   รู้ได้เฉพาะตนนี่เป็นเนมิตกนาม เป็นพระคุณของพระธรรม

สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุ ปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงๆ ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติออกจากภพ สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง รุดหน้าฝ่ายเดียว ไม่ถอยหลัง สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติชอบ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ จัดเป็นคู่สี่ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา จัดคู่แห่งบุรุษได้ ๘  อาหุเนยฺโย เป็น ผู้ควรแก่ของคำนับ ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน  บุคคลผู้ต้องการกุศลในโลก น้อมนำมาถวาย  อญฺฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลีกรรมนบนอบกราบไหว้  อนุตฺตรํ ปุญฺญกเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเขตบุญของโลก ไม่มีเขตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ดังนี้ นี้เป็นเนมิตตกนาม  เป็นคุณของพระสงฆ์ อปฺปมาโณ สงฺโฆ พระสงฆ์ทรงพระคุณไม่มีประมาณ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ บุคคลที่เข้าถึงแล้ว ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงพระพุทธเจ้า  ก็คือตัวธรรมกาย  ถึงธรรมกายก็เหมือนถึงพระพุทธเจ้า ถึงธรรมกายได้ธรรมกาย  ไปกับธรรมกายได้ ไปนรก ไปสวรรค์ ไปนิพพานได้ ผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ถึงพุทธรัตนะเช่นนี้ละก็ จะรู้จักคุณพุทธรัตนะว่า ให้ความสุขแก่ตัวแค่ไหน บุคคลผู้ใดเข้าถึงแล้ว ก็ปลาบปลื้มเอิบอิ่มตื้นเต็ม สบายอกสบายใจ เพราะพุทธรัตนะบันดาลสุขให้แล้ว ส่งความสุขให้แล้ว  ถึงว่าจะให้ความสุขสักเท่าไร  มากน้อยเท่าไรตามความปรารถนา สุขกายสบายใจ เรามีอายุยืนเจริญหนักเข้า มีอายุยืน ทำหนักเข้า ทำชำนาญหนักเข้า ในพุทธรัตนะมีคุณอเนก เวลาเจ็บก็ไม่อาดูรเดือดร้อนไปตามกาย เวลาจะตาย ก็นั่งยิ้มสบายอกสบายใจ เห็นแล้วว่าละจากกายนี้ มันจะไปอยู่โน้น เห็นที่อยู่ มีความปรารถนา นี่คุณของพุทธรัตนะ  พรรณนาไม่ไหว นี้เรียกว่าคุณพระพุทธเจ้า คือ ธรรมกาย

คุณของพระธรรม คือธรรมรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย นั่นอเนกอนันต์ทีเดียว เข้าอยู่ในกลางดวงนี้แล้วละก็ สุขก็ต้องอยู่กลางดวงนั่น  จะทำอะไรต้องอยู่กลางดวง ต้องหยุดอยู่กลางดวงนั่น ถ้าไม่มีดวงพระธรรมแล้ว พุทธรัตนะ ก็ไม่มีฤทธิ์เหมือนกัน  พุทธรัตนะมีฤทธิ์ ก็เพราะอาศัยดวงพระธรรมนั้น  ธรรมรัตนะนั้น  นี่นับประมาณไม่ไหวทีเดียว อเนกอนันต์ทีเดียว จะทำอะไรก็ได้ทุกสิ่งทุกประการ ไม่เหลือวิสัย ทำได้ทีเดียว เป็นชั้นๆ ขึ้นไป

สังฆรัตนะเล่า! สังฆรัตนะต้องรักษาธรรมรัตนะไว้ ถ้าสังฆรัตนะไม่รักษาธรรมรัตนะไว้แล้วพุทธรัตนะก็อยู่ไม่ได้ ธรรมรัตนะไม่มี ธรรมรัตนะไม่มีแล้ว สังฆรัตนะก็อยู่ไม่ได้  อญฺญมญฺญสมานา   อาศัยซึ่งกันและกัน พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี้ วัดปากน้ำเวลา นี้กำลังแจกพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ต่อสมถวิปัสสนาทุกวัน ทุกวันพฤหัสฯ ถ้าว่าจะแจกพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนี้นี่แหละ เพื่อจะแจก พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นี้แหละ อโห พุทฺโธ อโห ธมฺโม อโห สงฺโฆ ทีเดียว นี้เป็นข้อสำคัญ  วัดปากน้ำกำลังแจกอยู่ทีเดียว

พระพุทธศาสนามีแกนอยู่เท่านี้ ไม่มีอื่นกว่านี้ อื่นกว่านี้จะเลอะเทอะ ใช้ไม่ได้ นี่แหละมีแกนอยู่เท่านี้ ถ้าได้เท่านี้ละก็ เป็นโคตรภูบุคคลก่อน พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จะให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นโสดา มีคุณภาพสูงสุดหนักขึ้นไปอีก จะให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะของพระสกทาคา  มีคุณภาพสูงหนักขึ้นไปอีก จะให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ  สังฆรัตนะของพระอนาคามีคุณภาพสูงหนักขึ้นไป ไม่มีประมาณจะให้เข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะจนกระทั่งนับอสงไขยชั้นไม่ถ้วนนี้ วัดปากน้ำได้พยายามทำอยู่แล้ว ๒๒ ปี เดือน ๘ ข้างหน้านี้ กลางเดือน ๘ ครบ ๒๓ ปีเต็มเดือนเต็มวันทีเดียว นี้ต้องการพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะอย่างนี้หนา

เมื่อเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ อย่างนี้แล้วละก็ ไม่ต้องอ้อนวอนพวกสัตว์เดรัจฉาน พญานาค หรือสัตว์ต่างๆ ก็ช่าง จะทำอะไรก็ช่าง ไม่มีกลัวอะไร ไม่ครั่นคร้ามต่ออะไร  พญานาคมีเท่าไร ปราบหมด หรือเทวดามีฤทธิ์มีเดชเท่าไร ปราบหมด หรือรูปพรหม มีฤทธิ์มีเดชเท่าไร ปราบหมด หรือ อรูปพรหมมีฤทธิ์มีเดชเท่าไร เข้าถึงพระรัตนตรัยเสียแล้ว ปราบได้หมด ไม่ต้องกลัวอะไรสักอย่าง เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเก่งกาจขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อใครเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ได้ชื่อว่าเข้าถึงซึ่งแก้วสารพัดนึก  เพราะฉะนั้น ดูตัวอย่างตำราเป็นสำคัญ ที่วัดปากน้ำกำลังปรุงขึ้นอยู่นี้ เวลานี้มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้ง ๑๕๐ กว่าแล้วนะ ยังไม่ได้สำรวจอีก ร้อยห้าสิบกว่าแล้ว นี่แหละตัวจริงในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ตัวจริงอย่างนี้แล้ว  จะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นภิกษุสามเณรไม่ว่า มีฤทธิ์มีเดชเป็นมหัศจรรย์นัก ด้วยอานุภาพพระรัตนตรัย อปฺปมาโณ พุทฺโธ พระพุทธเจ้าทรงคุณไม่มีประมาณ อปฺปมาโณ ธมฺโม พระธรรมทรงคุณไม่มีประมาณ อปฺปมาโณ สงฺโฆ พระสงฆ์ทรงคุณไม่มีประมาณ ด้วยอานุภาพพระรัตนตรัย ซึ่งทรงคุณไม่มีประมาณนี้ จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์   อุบัติบังเกิดมีแก่ขันธ์แห่งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย  บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า ด้วยอำนาจสัจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนา ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมา พอสมควรแก่เวลา โดยอรรถนิยมความเพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘