กัณฑ์ที่ ๕๔ พุทธอุทานคาถา ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๕๔ พุทธอุทานคาถา ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ขยํ ปจฺจายานํ อเวทิ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ
สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติฯ

ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้แสดงพุทธอุทานคาถา วาจาเครื่องกล่าว ความเปล่งขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่ลึกลับ ผู้แสดงก็ยากที่จะแสดง ผู้ฟังก็ยากที่จะฟัง เพราะเป็นธรรมอันลุ่มลึกสุขุมนัก เพราะเป็นอุทานคาถาของพระองค์เอง ไม่ใช่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งไปทูลถามแต่อย่างหนึ่งอย่างใด พระองค์เมื่อเบิกบานพระฤหทัยโดยประการใด ก็เปล่งโดยประการนั้น ก็เปล่งอุทานคาถาขึ้นเป็นของลึกลับอย่างนี้ เหตุนี้เราเป็นผู้ได้ฟังอุทานคาถาในวันนี้ เป็นบุญลาภอันประเสริฐล้ำเลิศ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปคาถาว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ เพราะมารู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ นี่พระคาถาหนึ่ง ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย  นี้เป็นคาถาที่ ๒ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรอยู่ วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนาเสียได้ หยุดอยู่ สูโรว โภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ ดุจดังดวงอาทิตยุ์ทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น นี้เป็นคาถาที่ ๓ สามพระคาถาด้วยกันดังนี้เพียงเท่านี้ ธรรมะเท่านี้เหมือนฟังแขกฟังฝรั่งพูด ฟังจีนพูด เราไม่รู้จักภาษา ถ้ารู้จักภาษาแขก ภาษาฝรั่ง เราก็รู้ นี่ก็ฉันนั้นแหละ คล้ายกันอย่างนั้น ฟังแล้วเหมือนไม่ฟัง มันลึกซึ้งอย่างนี้ จะอรรถาธิบายขยายเนื้อความคำในพระคาถาสืบไป

คำว่า ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ นี่เราก็รู้คำว่า ธรรม ทั้งหลายนะคืออะไร รูปก็เป็นธรรม นามก็เป็นธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นรูป เป็นนาม ก็เป็นธรรมเหมือนกัน ธรรมทั้งหลายนั่นคือ กุสลา ธมฺมา ธรรมผ่ายดี มีเท่าใดหมดพระไตรปิฎก ไม่มีชั่วเข้าไปเจือปนระคนเลย เรียกว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมที่ชั่วคือตรงกับบาลีว่า อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายนี้ชั่ว ไม่มีดีเข้าไปเจือปนเลย ชั่วทั้งสิ้นทีเดียว นี้เรียกว่า อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่ชั่ว ธรรมทั้งหลายที่ไม่ดีไม่ชั่ว ดีไม่เข้าไปเจือปน ชั่วก็ไม่เข้าไปเจือปน ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นกลางๆ อยู่ดังนี้ นั้นเรียกว่า อพฺยากตา ธมฺมา นี่เป็นมาติกาแม่บททั้งสามนี้หมดทั้งสากลพุทธศาสนา ธรรมมีเท่านี้ กว้างนักจบพระไตรปิฎกมากมายนัก พระพุทธเจ้าจะมาตรัสเทศนาเท่าใด ในอดีตมีมากน้อยเท่าใดๆ เมื่อรวมธรรมแล้วก็ได้เท่านี้ พระพุทธเจ้ามาตรัสในปัจจุบันนี้ ถ้ารวมธรรมได้เท่านี้ พระพุทธเจ้าจะมาตรัสในอนาคตภายเบื้องหน้าก็รวมธรรมได้เท่านี้ ย่อลงไปว่า ดี ชั่ว ไม่ดีไม่ชั่ว สามอย่างนี้เท่ากัน ดีเป็นธรรมฝ่ายดี ชั่วเป็นธรรมฝ่ายชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีไม่ชั่ว

นี่คำว่าธรรมทั้งหลาย เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ประสงค์ธรรมอะไรตรงนี้ ประสงค์ธรรมขาว เมื่อผู้ที่เพียรเพ่งอยู่ก็คล้ายกับคนนอนหลับ นอนหลับถูกส่วนเข้าแล้วละก็ฝัน เรื่องฝันทีเดียวคราวนี้ ไม่ใช่เรื่องของมนุษย์เท่านี้ เรื่องของกายมนุษย์ละเอียดฝัน นอนหลับแล้วก็ฝัน ว่าฝันเรื่องมันสนุกสนานเหมือนกัน กายมนุษย์นี้มีสิทธิทำได้เท่าใด พูดได้เท่าใด คิดได้เท่าใด อ้ายกายที่ฝันนั้น ก็มีสิทธิ์ทำได้เท่านั้น พูดได้เท่านั้น คิดได้เท่านั้น ไม่แปลกกว่ากันเลย แต่ว่าคนละเรื่อง นี่คนละชั้น อย่างนี้นะ นี่คนละชั้นเสียแล้ว เรื่องฝันนี่ เพราะกายมนุษย์ฝัน ไอ้กายที่มนุษย์ฝันนั่นแหละเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด นั่นเขาก็สว่างไสวเหมือนกายมนุษย์นี้แบบเดียวกัน กายฝันนะทำได้เท่ามนุษย์นี้เหมือนกัน ไอ้กายมนุษย์ที่ฝันไปนั่นแหละ ฝันไปทำงานทำการเพลินไปอีกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปนอนหลับฝันไปอีก ฝันในฝัน เข้าไปอีกชั้นแบบเดียวกันออกไปเป็น กายทิพย์ ว่องไวอีกเหมือนกัน กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียดที่ฝันชั้นที่หนึ่งนั้น ทำหน้าที่ได้เท่าใด ทำหน้าที่ด้วยกายได้เท่าใด ทำหน้าที่ด้วยวาจาได้เท่าใด  ทำหน้าที่ด้วยใจได้เท่าใด กายทิพย์ที่ฝันในฝันออกไปนั้นก็ทำหน้าที่ได้เท่านั้นเหมือนกัน ทำกายได้เท่านั้น ทำวาจาได้เท่านั้น ทำใจได้เท่านั้นเหมือนกันแบบเดียวกัน นี้คนละเรื่อง อีกเรื่องหนึ่งถ้าฝันในฝันแล้วก็เรารวนทันที ถ้าฝันแล้วฝันเฉยๆ แล้วก็ไม่รวนเข้ามาใกล้กายมนุษย์ นี่คนละเรื่องอย่างนี้

นี่ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่เป็นอย่างไร นี่พวกเรารู้กันอยู่บ้างแล้ว พวกงั่งมีอยู่ พวกเป็นมีอยู่ กล้าพูดได้ทีเดียว เพราะพราหมณ์นั้นมีความเพียรเพ่งอยู่แล้วนั่นแหละ ความเพ่งมันเป็นอย่างนี้แหละ มันมืดตื้อ มืดตื้อมันก็สงสัย ไอ้มืดนั่นแหละมันทำให้สงสัย มันไม่เห็นอะไร มันมัวหมองไปหมด ดำคล้ำไปหมด รัวไปหมด ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว หนักเข้าๆ รำคาญหนักเข้าๆ ก็ลืมเสียที มันมืดนัก ไม่ได้เรื่องอย่างนั้น อย่างนั้นธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ ถ้าจะมาว่าคนฉลาดเพ่งธรรมละก็ เมื่อนั่งมืดอยู่ละก็ อ้อ! นี่อธรรมนี่อกุสลา ธมฺมา ไม่ใช่ธรรมที่สว่าง นั่งไปๆ ถูกส่วนเข้า สว่างวูบเข้าไปเหมือนฝันทีเดียว สว่างวูบเข้าไป ปรากฏทีเดียวเหมือนลืมตา บางคนตกใจนะ นี่หลับตาหรือลืมตานะ มันสว่างอย่างนี้ ก็ลืมตาดูเสียที อ้าว สว่างนั่นหายไปเสียแล้ว นั่นมีสว่างได้อย่างนั้น มีมืดอย่างนั้น นั่งหลับตาปุบแล้วกัน ก็มืดตื้อ เมื่อมืดเช่นนั้นเป็นอธรรม เมื่อสว่างขึ้น ปรากฏชัดขึ้น เหมือนกลางวันนั่น เป็นธรรม ไม่สว่างไม่มืด รัวๆ อยู่ นั่นก็เป็นธรรมเหมือนกัน เป็นอัพยากตาธรรม

ธรรมมีสามอย่างนี้ มืดเป็นอกุสลาธรรม สว่างเป็นกุสลาธรรม ไม่มืดไม่สว่างเป็นอัพยากตาธรรม นี่ ธรรมเป็นชั้นๆ กันไปนะ มืด สว่าง ไม่มืดไม่สว่าง ทั้งมืดทั้งสว่าง ทั้งไม่มืดไม่สว่าง นั่นหรือเป็นธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่นั้น ซึ่งยิ่งกว่านั้นๆ ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่นั้น ปรากฏชัดๆ เมื่อนั่งลงไปแล้วปรากฏแน่แน่วทีเดียว พอนั่งถูกส่วนเข้า ทำใจให้หยุด พอนั่งถูกส่วนเข้าก็ใจหยุดทีเดียว เมื่อใจหยุดนี่ตรงกับบาลีว่า ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ เพราะมารู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ

ธรรมที่เกิดแต่เหตุ  นั่นธรรมอะไร เหตุมี ๖ โลภะเหตุ โทสะเหตุ โมหะเหตุ โลภะเหตุ เป็นฝ่ายชั่ว โทสะเหตุเป็นฝ่ายชั่ว โมหะเหตุก็เป็นฝ่ายชั่ว ฝ่ายดีล่ะ ท่านวางไว้เป็น อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ

อโลโภ ทานเหตุ ความไม่โลภเป็นเหตุ ให้บริจาคทาน อโทโส สีลเหตุ ความไม่โกรธเป็นเหตุให้รักษาศีล อโมโห ภาวนาเหตุ ความไม่หลงเป็นเหตุให้เจริญภาวนา พอรู้ชัดว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ อ้อ การที่เราให้ทานนี้เกิดแต่เหตุคือความไม่โลภ การที่มารักษาได้นี้ เกิดจากเหตุคือความไม่โลภ การที่มารักษาศีลได้นี้ เกิดจากเหตุคือความไม่โกรธ การที่เรามาเจริญภาวนาได้นี้ เกิดจากเหตุคือ ความไม่หลง ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  เป็นเหตุให้รักษาศีล ให้เจริญภาวนา ที่เราจะให้ทานขึ้นได้นี้ เรียกว่า อโลภะเหตุ เราจะบริจาคทานนี้ก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เรามารักษาศีลก็เป็นธรรมอันหนึ่ง มาเจริญภาวนาก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เพราะมาแต่ความไม่โลภ มาจากความไม่โกรธ มาจากความไม่หลง เรื่องให้ทานก็เป็นอเนกประการ เรื่องรักษาศีลก็เป็นอเนกประการ เรื่องเจริญภาวนาก็เป็นอเนกประการ

นี่หรือธรรมอันนี้หรือ ที่ปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ความสงสัยของพราหมณ์นั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไปเพราะมารู้จักว่า ธรรมเกิดแต่เหตุ ดังนี้หรือ ไม่ใช่กระนั้น ยิ่งกว่านั้นลงไป ยิ่งกว่านั้น ลงไป เมื่อพราหมณ์นั้นมานั่งเพ่งถูกส่วนเข้าแล้วๆ ใจก็หยุดทีเดียว หยุดศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดนี่งพอใจหยุดได้เท่านั้น พอใจหยุดนี่งเท่านั้น สูโรว โอภาสยมนฺติลิกฺขนฺติ ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างไสว อย่างนี้ นี่เป็นกลางวันอย่างนี้ ดวงอาทิตย์ก็เห็นโร่อย่างนั้น อย่างนี้เห็นอย่างนี้ เห็นอย่างนี้เป็นดวงเท่าดวงจันทร์ ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ติดกลางกายมนุษย์นั่นนะ ดวงเท่าดวงอาทิตย์นะ ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ จะ มองอะไรเห็นตลอดหมด เหมือนกับกลางวันอย่างนี้แหละ จะดูอะไรก็ดูไป เมื่อธรรมปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์ดังนี้ ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นก็สิ้นไป หมดไปเพราะได้รู้ความสิ้น ของปัจจัยทั้งหลาย ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย สว่างขึ้นแล้วเมื่อเห็นความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย

อะไรเล่าเป็น ปัจจัยที่สิ้นไปน่ะ อะไรเล่าเป็นปัจจัย อ้ายปัจจัยนี่ก็ยากไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ปัจจัยน่ะคือดังนี้ คำที่เรียกว่าปัจจัยน่ะ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร แน่ ความโง่ความไม่รู้จริงเป็นปัจจัยแล้ว สังขารความปรุงให้ดีให้งามตกแต่งอยู่ร่ำไป ต้องตกแต่งอยู่ร่ำไป ปรนเปรออยู่ร่ำไป สังขารนั้นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ รู้ดีรู้ชั่วอยู่ร่ำไป วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปมีเกิดดับอยู่เป็นธรรมดา นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ความกระทบทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะเมื่อกระทบเข้าแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ชอบ ไม่ชอบ เฉยอยู่ เวทนาปรากฏเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาปรากฏขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานปรากฏขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดภพก่อน ปัจจัยกันเป็นชั้นๆ อย่างนี้ เมื่อมีกามภพ รูปภาพ อรูปภพ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อชาติมีขึ้นแล้ว ชาตินั้นคืออะไรนะ ชาติ คือ กำเนิด นั้นแหละ อัณฑชะ สังเสทชะ อุปปาติกะ ชาติน่ะคือกำเนิดนั้นแหละ ที่ เกิด นั้นเขาเรียก ชาติ ออกจากกำเนิดนั้นแหละ ชาติมีขึ้นแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดชรา  มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นลำดับไป เป็นทุกข์ นี่เป็นปัจจัยอย่างนี้ เป็นปัจจัยกันอย่างนี้ รู้จักความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย

เมื่อสิ้นไปอย่างไร ความโง่ไม่มี หายไปหมด ดับไปหมด เมื่อ อวิชชาความไม่รู้จริงดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ สฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ เวทนาดับ  ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ อุปาทานดับ ภพก็ดับ ภพดับ ชาติก็ดับ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็ต้องดับ ไม่เหลือเลย นี้ความสิ้นไป เมื่อรู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้แล้ว พราหมณ์นั้น วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ พราหมณ์นั้นก็กำจัดมารและทั้งเสนาให้ได้แล้ว หยุดอยู่ได้ คือใจหยุด นั้นเอง ไม่ ใช่อื่น ใจหยุด พอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นเอง สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ ความสว่างเกิดขึ้นดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างก็ดังนี้ เราก็มองเห็นดวงดังนั้น ที่ปรากฏดังนั้น เมื่อปรากฏขึ้น ดังนั้นแล้ว พราหมณ์นั้นก็รักษาดวงนั้นไว้ไม่ให้หายไป ที่วัดปากน้ำเขาเป็นแล้ว ของลึกก็จริง แต่ว่าวัดปากน้ำพบแล้ว

แต่ว่าผู้พบก็ไม่รู้ว่าลึกซึ้งแค่ไหน ได้แต่ลึกซึ้งอย่างนี้ จริงอย่างนั้นแล้วก็ไปทำเหลวไหลเสีย ให้ดับเสียบ้าง ให้หายเสียบ้าง ไปกังวลอื่นเสีย ไม่กังวลของลึกซึ้งอย่างนี้นี่มีมากทีเดียว

ในวัดปากน้ำนี้ ทั้งสว่างทำได้ขนาดนี้นะยิ่งกว่านี้ไปอีก เดี๋ยวจะเล่าเรื่องวัดปากน้ำที่ทำสว่างขึ้นได้แค่ไหน ตรงกับพุทธอุทานนี้แล้ว เมื่อสว่างขึ้นได้ดังนั้นแล้วก็ได้เป็นลำดับไป นั่นสว่างดวงนั้นเขาเรียกว่า ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใจของผู้กระทำนั้น ก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงสว่างนั้น พอถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงศีล ดวงเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล พอถูกส่วนเข้าก็เห็น ดวงสมาธิ ดวงเท่ากัน หยุดนิ่งอยุ่กลางดวงสมาธิ พอถูกส่วนเข้าถึง ดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา พอถูกส่วนเข้าถึง ดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ พอถูกส่วนเข้าถึง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอถูกส่วนเข้า หยุดท่าเดียว หยุดอยู่ท่าเดียว กำจัดมารให้หยุดทีเดียว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้า เห็น กายที่ฝันทีเดียว ตั้งแต่กายมนุษย์ขึ้นไป เห็นกายที่ฝัน อ้อ อ้าย กายฝันอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เราไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อฝันแล้วมันก็รัวไป

ใจกายที่ฝัน ใจกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ละเอียดอีก เห็นดวงธรรมานุปัศศนาสติปัฏฐาน เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์อย่างนั้น หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าเห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางวิมุตติ ถูกส่วนเข้าเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าเห็นกายฝันในฝัน ก็คือ กายทิพย์

ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมานุปัสสาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าเห็นดวงศีล หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยุ่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าเห็น กายทิพย์ละเอียด

ใจกายทิพย์ละเอียดหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ดังนี้ ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล หยุดนิ่งอยุ่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญาหยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็ เห็นกายรูปพรหม

ใจกายรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ถูกส่วนเข้าก็เห็นแบบเดียวกัน ก็เข้าถึง กายรูปพรหมละเอียด

ใจกายรูปพรหมละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายอรูปพรหม แบบเดียวกัน

ใจกายอรูปพรหมก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ถูกส่วนเข้าก็ถึง กายอรูปพรหมละเอียด

ใจกายอรูปพรหมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ถูกส่วนเข้า เห็น กายธรรม หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วา สูง ๕ วา นั้นเรียกว่า กายธรรม กายธรรมนั่นเอง เป็นพระพุทธเจ้า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราตถาคตคือธรรมกาย นั่นแหละ พระพุทธเจ้า หละ

ใจกายธรรมก็หยุดนิ่งอยู่กลางใจดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม แบบเดียวกัน ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงเท่ากันกับดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย เท่าหน้าตักธรรมกายกลมรอบตัว หยุดนิ่งอยุ่กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นดวงศีลเท่ากัน หยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงสมาธิ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงปัญญา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายธรรมละเอียด หน้าตัก ๕วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป

ใจกายธรรมละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ใสทีเดียวยิ่งกว่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ บริสุทธิ์สนิททีเดียว สว่างไสว หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล ดวงเท่ากัน แล้วต่อไปก็ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นลำดับไป หยุดนิ่งอยุ่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าเห็น กายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ า สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป

ใจกายพระโสดาหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เห็น กายพระโสดาละเอียด หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา

ใจกายพระโสดาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายพระโสดาละเอียด ถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะแบบเดียวกัน เข้าถึง กายพระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคา ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบบเดียวกัน เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็น พระสกทาคาละเอียด หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป

ใจพระสกทาคาละเอียดหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคา ละเอียด ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ถูกส่วนเข้าก็เห็น กายพระอนาคา

ใจกายพระอนาคาก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคา ถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เข้าถึง กายพระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูมใสหนักขึ้นไป

ใจของพระอนาคาละเอียดทำถูกส่วนเข้าเห็นดวงธรรมานุปัสสนา สติปัฏิฐาน วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา กลมรอบตัว เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะเท่าๆ กัน ก็เห็น กายอรหัตต์ หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป

ใจกายพระอรหัตต์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัตต์ ถูกส่วนเข้า เห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ๒๐ วา เท่ากันหมด ปรากฏเห็นกายพระอรหัตต์ละเอียด ใสหนักขึ้นไป

ตำราวัดปากน้ำเขาสอนกันได้อย่างนี้ แต่ว่าที่จะเป็นพระโสดา พระสกทาคา พระอนาคา อรหัตต์นั้นไม่ติด ไม่หลุดซะ แต่ว่าทำได้ตลอดเลยไปจากนี้อีก ทำไปมากกว่านี้ ถึงกายพระอรหัตต์ พระอรหัตต์ละเอียดๆๆ ต่อๆ ไป นับอสงไขยก็ไม่ถ้วน ผู้เทศน์นี้สอน เป็นคนสอนเอง ๒๓ ปี ๕ เดือนนี้ ได้ทำไปอย่างนี้แหละ ไม่ถอยหลังเลย ยังไม่สุดกายของตัวเอง เมื่อยังไม่สุดกายของตัวเองแล้ว ตัวเองก็ปกครองตัวเองยังไม่ได้ ยังมีคนอื่นเป็นผู้ปกครองลับๆ เพราะไม่ไป ถ้าไปถึงที่สุดแค่ไหน เขาก็ปกครองได้แค่นั้น นี่ผู้เทศน์ยังแนะนำสั่งสอนให้ไป ถึงที่สุดสายธาตุสายธรรมของตัวเอง เมื่อถึงที่สุดสายธาตุสายธรรมของตัวเองละก็ เป็นกายๆ ไปดังนี้ ตัวเองก็จะปกครองตัวเองได้ ไม่มีใครปกครองต่อไป ตัวเองก็เป็นใหญ่ในตัวเอง ตัวเองก็จะบันดาลความสุขให้ตัวเองได้ กำจัดความทุกข์ได้ ไม่ให้เข้ายุ่งได้

นี่คนอื่นเขายังบันดาลอยู่ คนอื่นเขายังให้อยู่ เหมือนความแก่ดังนี้เราไม่ปรารถนาเลย เขาก็ส่งความแก่มาให้ เราก็ต้องรบอ้ายความแก่นั้นแหละ ความเจ็บล่ะ เราไม่ปรารถนาความเจ็บ เขาก็ส่งความเจ็บมาให้ ความตายละ เราไม่ปรารถนาเลย เขาก็ส่งความตายมาให้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าตัวเองไม่เป็นใหญ่ด้วยตัวของตัวเอง คนอื่นเขามาปกครอง ผู้อื่นเขาปกครองเสีย เขาให้เขาส่งมาให้ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตัวมีความรู้ไม่พอก็ต้องรบเหมือนดังนี้ เราอยู่ปกครองประเทศไทย ประเทศไทยเขาต้องการอย่างไร ผู้ปกครองเขาต้องการอย่างไร เราก็ต้องไปตามเขา ไม่ตามเขาไม่ได้ ต้องอยู่ในบังคับบัญชาเขา

ถ้าจะอยู่นอกปกครองเขา ต้องไปให้ถึงที่สุดสายธาตุสายธรรมของตัว ไปถึงที่สุดสายธาตุสายธรรมของตัวละก็ ในที่สุดนั้นไม่มีใครปกครองเลย เราปกครองของเราเอง เราก็ไม่ต้องรับความแก่ ความเจ็บ ความตายก็ได้ เพราะเรามีอำนาจพอแล้ว เราไม่อยู่ในปกครองก็ได้ตามความปรารถนา แต่ว่าต้องไปให้สุดสายธาตุสายธรรมของตัว ถ้าให้สุดสายธาตุสายธรรมของตัวไม่ได้ละก็ เลี้ยงเอาตัวรอดไม่ได้ บัดนี้เราเป็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาในพระพุทธศาสนา เมื่อมาฟังอุทานคาถา รู้ว่าธรรมของพระศาสดาลึกซึ้งอย่างนี้ ขนาดนี้ละก็อุตส่าห์ อย่าประมาท อย่าเลินเล่อ อย่าเผลอตัว อย่างคนมีปัญญา อย่างคนรู้ดี รู้ชั่ว อย่าเล่นเอาอย่างเด็ก ถ้าเมื่อเล่นอย่างเด็กแล้วก็ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นฝุ่นเล่นทรายอยู่ละก็ ชีวิตจะไม่พอใช้ เพราะเขาเล่นละครกันเป็นบ้านๆ โรงๆ กัน ในโลกนี้เขาเรียกว่า ละครโรงใหญ่ เล่นฝุ่น เล่นทราย เล่นแปลกๆ ไปตามหน้าที่ เอาจริงๆ แท้ๆ ไม่ได้สักคนหนึ่งขึ้นไป แล้วก็ตายกันหมด เอาจริงเอาแท้เหลือสักคนหนึ่งก็ไม่มี เพราะเหตุอะไรเล่า เพราะเหตุว่าเลินเล่อเผลอตัวไป เลินเล่อเผลอตัวไป มนุษย์โลกนี้ เราผ่านไปผ่านมา เข้าใจว่าเป็นบ้านของเราเมืองของเราเสียใหญ่โตมโหฬารทีเดียว เข้าใจเสียอย่างนั้นก็เข้าใจผิดไปนี่แหละละคร กายเรานี่นะโตกว่าบ้านเมืองเหล่านี้มากนัก ให้ไปชมดูเถิด แต่ว่า ต้องไปให้ถึงที่สุดนี้ให้ได้นะ ไปที่สุดของกายเหล่านี้ได้ก็จะเอาตัวรอดได้เป็นแท้ เหตุนี้แหละ

ที่ได้ชี้แจงแสดงมา ในอุทานคาถา ตามวาระพระบาลี คลี่  ความเป็น สยามภาษาในมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจ ความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘