กัณฑ์ที่ ๔๗ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๔๗ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๗

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส ฯ

เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา          เตสํ เหตฺ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ            เอวํ วาที มหาสมโณ
อวิชฺชาทีหิ สมฺภูตา             รูปญฺจ เวทนา ตถา
อโถ สญฺญา จ สงฺขารา        วิญฺญาณญฺจาติ ปญฺจิเม
อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺชนฺติ          เอวํ หุตฺวา อภาวโต
เอวํ ธมฺมา อนิจฺจาถ            ตาวกาลิกตาทิโต  
เอตฺตกานมฺปิ ปาฐานํ           อตฺถํ อญฺญาย สาธุกํ
ปฏิปชฺเชถ เมธาวี               อโมฆํ ชีวิตํ ยถาติ ฯ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา เริ่มต้นแต่ความย่อย่นธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา พระองค์ได้รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ไม่มีเหตุแล้ว ธรรมก็เกิดไม่ได้ นั้นเป็นข้อใหญ่ใจความทางพระพุทธศาสนา ผู้มีปัญญาจะพึงได้สดับในบัดนี้ ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า เย ธมฺมา เหตุปพฺภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับเหตุของธรรมเหล่านั้น พระมหสมณเจ้าทรงตรัสอย่างนี้

นี่เนื้อความของพระบาลีแห่งพุทธภาษิต คลี่ความเป็นสยามภาษาอรรถาธิบายว่า คำว่าเหตุนั้น ในสังคหะแสดงไว้ ฝ่ายชั่วมีสาม ฝ่ายดีมีสาม ดังพระบาลีว่า โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ มีเหตุสามดังนี้ เพราะท่านแสดงหลักไว้ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้นะ ท่านแสดงหลักยกเบญจขันธ์ทั้ง ๕ มี อวิชชาเป็นปัจจัย วางหลักไว้ดังนี้ อวิชฺชาทีหิ สมฺภูตา รูปญฺจ เวทนา ตถา อโถ สญฺญา จ เวทนา วิญฺญาณญฺจาติ ปญฺจิเม เบญจขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดพร้อมแต่ปัจจัยทั้งหลาย มี อวิชชา เป็นต้น เกิดอย่างไร เกิดแต่เหตุ เกิดพร้อมแต่ปัจจัยทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นต้นดังในวาระพระบาลีที่ท่านวางเนติแบบแผนไว้ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนั้นเป็นต้น อวิชชาความรู้ไม่จริง มันก็กระวนกระวายนิ่งอยู่ไม่ได้ ความรนหาความรู้จริงนั่นแหละ มันก็เกิดเป็นสังขารขึ้น รู้ดี รู้ชั่ว รู้ไม่ดีไม่ชั่วเข้าไปว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ความรู้ เมื่อมีความรู้ขึ้นแล้ว วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป มันก็ไปยึดเอานามรูปเข้า นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ มีนามรูปแล้วก็มีอายตนะเข้าประกอบ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เมื่อมีอายตนะ เข้าแล้วก็รับผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความอยากได้ดิ้นรน กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหามีขึ้นแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ความยึดถือ อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ ก็ยึดถือภพต่อไป กามภพ รูปภพ อรูปภพ ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เมื่อได้ภพแล้ว ก็เกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี ที่กำเนิดเกิดด้วยอัณฑชะ เกิดจากสังเสทชะ อุปปาติกะ เกิดด้วยชลาพุชะ สังเสทชะ เหงื่อไคล อัณฑชะเกิดเป็นฟองไข่ ชลาพุชะเกิดด้วยน้ำพวกมนุษย์ อุปปาติกะลอยขึ้นบังเกิดอย่างพวกเทวดา สัตว์นรกนี่อุปปาติกะ นี้ที่เกิดขึ้นได้เช่นนี้ ก็เพราะอวิชชานั่นเอง ไม่ใช่อื่น ถ้าอวิชชาไม่มีแล้ว เกิดไม่ได้ อวิชชา นะ เป็นเหตุด้วยแล้วเป็นปัจจัยด้วย นี่เราท่านทั้งหลายเป็นหญิงเป็นชายเป็นคฤหัสถ์บรรพชิตเกิดมาได้อย่างนี้

ความเกิดอันนี้แหละเกิดแต่เหตุ ไม่ได้เกิดแต่อื่น ไม่ว่าอันใดทั้งสิ้นต้องมีเหตุเป็นแดนเกิดทั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุเกิดไม่ได้ นี่พระองค์ทรงรับรองไว้ตามวารระพระบาลีในเบื้องต้นนั้น

เมื่อเป็นเหตุเกิดขึ้นเช่นนี้ ท่านวางหลักไว้อีกว่า อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ มีดับ มีเกิดับ เกิดดับนี่เป็นตัวสำคัญ ไม่ใช่เกิดฝ่ายเดียว มีเกิดแล้วมีดับด้วย ความดับนั้น อวิชชาไม่ดับ สังขารก็ดับไม่ได้ สังขารไม่ดับ วิญญาณก็ดับไม่ได้ วิญญาณไม่ดับ นามรูปก็ดับไม่ได้ นามรูปไม่ดับ อายตนะก็ดับไม่ได้ อายตนะไม่ดับ ผัสสะก็ดับไม่ได้ ผัสสะไม่ดับ เวทนาก็ดับไม่ได้ เวทนาไม่ดับ ตัณหาก็ดับไม่ได้เหมือนกัน ตัณหาไม่ดับ อุปาทานก็ดับไม่ได้ อุปาานไม่ดับ ภพก็ดับไม่ได้ ภพไม่ดับ ชาติก็ดับไม่ได้ ชาติเป็นตัวสำคัญ ไม่หมดชาติหมดภพ นี่เขาต้องดับกันอย่างนี้ เมื่อดับก็ดับเป็นลำดับไปอย่างนี้ ได้วางตำราไว้ว่า อวิชฺชายเตฺว อเสสวิราคนิโรโธ สงฺขารนิโรธา สังขารดับ วิญญาณดับกันเรื่อยไป จนกระทั่งถึงชาติโน่น ดับกันหมด ท่านจึงได้ยกบาลีว่า อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฌนฺติ ย่อมเกิด ย่อมดับดังนี้ อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ เกิดดับ หมดทั้งสากลโลก เกิดดับเรื่องนี้ พระปัญจวัคคีย์รับว่า ได้ฟังพระปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตตนสูตรของพระบรมศาสดา รับรองทีเดียวตามวาระพระบาลีว่า อายสฺมโต โกณฺฑญฺญสฺส วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขํ อุทปาทิ ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺตํ ว่า วิรชํ วิตมลํ ธมฺมจกฺขํ ความเห็นธรรม ธมฺมจกฺขํ  ความเห็นอันปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้มีอายุชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เห็นอะไร เห็นเกิดดับนั่นเอง ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเสมอ ดับไปเสมอ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นดับไป สพฺพนฺต นิโรธธมฺมํ ดับไป ถ้าย่นลงไปแล้วก็มีเกิดดับ นี่ตรงกับ อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ เกิดดับอยู่อย่างนี้ เมื่อเกิดดับดังนี้แล้ว เอวํ หุตฺวา อภาวโต เอเต ธมฺมา อนิจฺจาถ ตาวกาลิกตาทิโต เมื่อเป็นอย่างนี้ความเกิดและดับ ความดับ หุตฺวา อภาวโต เอเต ธมฺมาร อนิจฺจาถ รูปธรรมนามธรรมเหล่านั้น ไม่เที่ยง เพราะความเกิดขึ้นแล้ว เพราะความมีแล้วหามีไม่ รูปธรรมนามธรรมเหล่านั้น ไม่เที่ยง  เพราะความมีแล้วหามีไม่ เพราะความเป็นเหมือนดังของขอยืม เหมือนเราท่านทั้งหลายบัดนี้ มีเกิดมีดับเรื่อยไป รูปธรรมนามธรรมที่ได้มานี้ มีแล้วหามีไม่ เพราะความเป็นดังของขอยืมเหมือนกันทุกคนต้องขอยืมทั้งนั้น ผู้เทศน์นี่ก็ต้องคืนให้เขา เราๆ  ทุกคนก็ต้องคืนทั้งนั้น ขอยืมเขามาใช้ ไม่ใช่ของตัวเลย ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้

เมื่อรู้ความของมันเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านจึงได้รับสั่งในคาถาเป็นลำดับไปว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ  ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทธิยา เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา นี่เป็นหนทางหมดจดวิเศษ ให้ปัญญาจรดลงตรงนี้นะว่า สังขารเราทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ถ้าจริงไม่เที่ยงอยู่แล้วละก็ ยึดด้วยความไม่เที่ยงนั้นไว้ อย่าให้หายไปตรึกไว้เรื่อย สังขารทั้งปวงน่ะ ถ้ามันอยากจะโลดโผนละก็ สังขารของตัว ปุญญาภิสังขาร สังขารที่เป็นบุญ อปุญญษภิสังขาร สังขารที่เป็นบาป  อเนญชาภิสังขาร สังขารที่ไม่หวั่นไหว กายสังขาร ลมหายใจเข้าออกปรนปรือกายให้เป็นอยู่ วจีสังขาร ความตรึกตรองที่จะพูด จิตสังขาร ความรู้สึกอยู่ในใจ เป็นจิตสังขาร สังขารทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงจริงๆ แล้วเอาจรดอยู่ที่ความไม่เที่ยง ตัวก็เป็นสังขารดุจเดียวกัน แบบเดียวกันหมด ปรากฏหมดทั้งสากลโลก ล้วนแต่อาศัยสังขารทั้งนั้น เห็นจริงเช่นนี้แล้ว ก็จะเหนื่อยหน่ายในทุกข์ทีเดียว พอเหนื่อยหน่ายในทุกข์ ก็รักษาความเหนื่อยหน่ายนั้นไว้ ไม่ให้หายไป ช่องนั้นแหละ ทางนั้นแหละหมดจดวิเศษ ระงับความทุกข์ได้แท้ๆ

แล้วคาถาตามลำดับ ไป รับ รองว่า ปุนปฺปุนํ ปฬิตตฺตา อุปฺปาเทน วเยน จ เต ทุกฺขาว อนิจฺจา เย อตฺถสนฺตตฺตาทิโต สังเขตธรรมทั้งหลายเหล่าใดไม่เที่ยง เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว สังขารธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นทุกข์แท้ เพราะความที่ไม่เป็นไปตามอำนาจใครเลย อันความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป มีเบียดเบียนอยู่ร่ำไป และเป็นสภาพเร่าร้อน เป็นต้น ไม่เยือกเย็น เป็นสภาพที่เร่าร้อน พระคาถาหลังรับสมอ้างอีกว่า สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่าสังขารเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี่เป็นวิสุทธิมรรค หนทางหมดจดวิเศษ นี่ให้เห็นว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ อ้ายสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นแหละ เป็นทุกข์แท้ๆ ไม่ใช่เป็นสุข ถ้าว่าเป็นสุขแล้วมันก็ต้องเที่ยง นี่มันไม่เป็นสุขมันจึงไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยงแล้ว มันเป็นสุขได้อย่างไร  มันก็เป็นทุกข์เท่านั้น

เมื่อรู้จักชัดเช่นนี้แล้ว วเส อวตฺตนาเยว อตฺตวิปกฺขภาวโต สุญฺญตฺตสฺสามิกตฺตา จ เต อนตฺตาติ ญายเร สังขารธรรมทั้งหลายเหล่านั้น บัณฑิตรู้ว่าไม่ใช่ตัว  ว่าเป็นอนัตตา เพราะความเป็นสภาพไม่เป็นไปตามอำนาจเลยและเป็นปฏิปักษ์แก่ตัวเสียด้วย อตฺตวิปกฺขภาวโต เพราะเป็นปฏิปักษ์แก่ตน สุญฺญตฺตสฺสามิกตฺตา จ เป็นสภาพว่างเปล่าหมดทั้งสากลโลก เราก็ว่างเปล่า เขาว่างเปล่า ว่างเปล่าหมดทั้งนั้น เอาอะไรมิได้ หาอะไรมิได้เลย โบราณต้นตระกูลเป็นอย่างไรหายไปหมด ว่างเปล่าไปหมด หาแต่คนเดียวก็ไม่ได้ ว่างเปล่าอย่างนั้ไม่มีเจ้าของ เอ้า! ใครล่ะมาเป็นเจ้าของเบญจขันธ์ คนไหนเล่าเป็นเจ้าของเบญจขันธ์ ด้วยกันทั้งนั้น เป็นเจ้าของไม่ได้เลย ของตัวก็ต้องทิ้ง เอาไปไหนไม่ได้ ทิ้งทั้งนั้น ยืนยันว่าเหมือนของขอยืมเขาใช้ทั้งนั้น แล้วก็ต้องส่งคืนทั้งนั้น เอาไม่ได้ เอาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เมื่อรู้จักหลักจริงดังนี้ ให้ตรึกไว้ในใจ ท่านจึงได้ยืนยันเป็นตำรับตำราไว้ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ

เมื่อกี้พูดถึงขันธ์นะ พูดถึงสังขาร นี่มาพูดถึงธรรมเสียแล้ว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายมิใช่ตัว เอ้า มาเรื่องธรรมเสียแล้ว เมื่อกี้พูดสังขารอยู่ ธรรมทั้งหลายมิใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี้เป็นมรรคาวิสุทธิ์ หรือวิสุทธิมรรค หนทางหมดจดวิเศษ

นี่ธรรมละ ธรรมทั้งหลายมิใช่ตัวละ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ธรรมทั้งปวงมิใช่ตัวนี่มันอื่นจากสังขารไป มันสังขารคนละอย่าง สังขารอันหนึ่ง ธรรมอันหนึ่ง ไม่ใช่อันเดียวกัน ธรรมทั้งหลายมิใช่ตัว ธรรมที่ทำให้เป็นตัวนะ ที่จะเป็นมนุษย์นี่ก็ต้องอาศัยมนุษยธรรม ที่จะเป็นกายมนุษย์ละเอียดนี่ก็อาศัยมนุษยธรรม ธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ธรรมที่เป้นกายทิพย์อาศัยทิพยธรรม เป็นกายทิพย์ละเอียดอาศัยทิพยธรรม ที่เป็นกายรูปพรหมก็อาศัยพรหมธรรม  ที่เป็นกายรูปพรหมละเอียดก็อาศัยธรรมละเอียดธรรมที่ทำให้เป็นพรหม ที่เป็นอรูปพรหมก็อาศัยธรรมของอรูปพรหม คือ อรูปฌาน ถึงละเอียดก็เช่นเดียวกัน ธรรมนะ เป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร ต่างกันหรือ ต่างกัน ไม่เหมือนกัน คนละอัน เขาเรียกว่า สังขารธรรมอย่างไรละ นั่นอนุโลม ความจริง คือ ธรรมน่ะไม่ใช่ตัว ธรรมนะไม่ใช่ตัว เราจะค้นเข้าไปเท่าไรในตัวเรานี่แนะ ค้นเท่าไรๆ ก็ไปพบดวงธรรม

ดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่กลางกายมนุษย์ใสนักทีเดียว ธรรมดวงนั้นแหละ เราได้มาด้วยกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ ถ้าว่าไม่บริสุทธิ์แล้ว ไม่ได้ธรรมดวงนั้น ธรรมดวงนั้นเราเรียกว่าธรรมแท้

ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ละเอียด ก็ได้แบบเดียวกัน บริสุทธิ์ของมนุษย์ ธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ละเอียด ดวงโตขึ้นไปกว่าธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์เท่าตัว ๒ เท่าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมโตกว่าอีกเท่าหนึ่ง ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นรูปพรหมละเอียด ก็โตขึ้นไปอีกเท่าหนึ่ง อย่างเดียวกัน เป็นดวงใส อย่างเดียวกัน ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม โตขึ้นไปอีก ๗ เท่ าฟองไข่แดงของไก่
ธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด โตขึ้นไปอีก ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่

นั่นดวงนั้นเป็นธรรม พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ที่ได้สำเร็จ ท่านเดินในกลางดวงธรรมนี้ทั้งนั้น เดินด้วยศีล  สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในกลางดวงธรรมนี่ทั้งนั้น ไม่เดินในกลางดวงธรรมนี้ สำเร็จไม่ได้ ไปถึงกายเป็นลำดับไปไม่ได้ ดวงธรรมนี้เป็นธรรมสำคัญ ท่านจึงได้ยืนยันว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่ตัว แต่ธรรมถึงไม่ใช่ตัว ก็ธรรมนั่นแหละทำให้เป็นตัว ตัวอยู่อาศัยธรรมนั่นแหละ ตัวก็ต้องอาศัยดวงธรรมนั้นแหละ จึงจะมาเกิดได้ ถ้าไม่อาศัยดวงธรรมนั้น มาเกิดไม่ได้ กายมนุษย์ ดวงธรรมนั้นได้ด้วยบริสุทธิ์ กาย วาจา ตลอดถึงใจ เป็นอัพโพหาริกไปด้วย บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ ได้ธรรมดวงนั้น ธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ต้องเติม ทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ไปในความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ อีก มันก็ได้ธรรมที่ทำให้เป็นกายเทวดาเป็นลำดับไป ทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมที่ทำให้เป็นพรหมละ ได้ด้วยรูปฌาณทั้ง ๔ ได้ สำเร็จรูปฌานแล้ว ให้สำเร็จธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ธรรมเป็นอรูปพรหมเล่า ทั้งหยาบทั้งละเอียด ก็ได้ด้วย อรูปฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั่นแหละสำหรับเติมลงไป ในธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ในธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมอีก จึงจะได้ธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมขึ้น ทั้งหยาบทั้งละเอียดดังนี้

นี่แหละว่า ธรรมทั้งหลายมิใช่ตัว ไม่ใช่ตัวจริงๆ ตัวอยู่ที่ไหนละ เออ! ธรรมทั้งหลายนี่ไม่ใช่ตัว แล้วตัวไปอยู่ที่ไหนละ ตัวก็ง่ายๆ กายมนุษย์นี่แหละเป็นตัว กายมนุษย์ละเอียดก็เป็นตัว แต่เป็นตัวฝันออกไป กายทิพย์ก็เป็นตัว กายทิพย์ละเอียด ที่กายทิพย์นอนฝันไปก็เป็นตัว กายรูปพรหมก็เป็นตัว กายรูปพรหมละเอียดก็เป็นตัว กายอรูปพรหมก็เป็นตัว แต่ว่าตัวสมมุติ ไม่ใช่ตัววิมุตติ ตัวสมมุติกันขึ้น เป็นตัวเข้าถึงกายธรรม กายธรรมก็เป็นตัว เข้าถึงกายธรรมละเอียด กายธรรมละเอียดก็เป็นตัวอีกนั่นแหละ เป็นชั้นๆ ขึ้นไปนั่นเข้าถึงกายธรรม กายธรรมละเอียดก็เอาตัวที่เป็นโคตรภู เข้าถึงกายธรรมพระโสดา พระโสดาละเอียด นั่นเป็นตัวแท้ๆ ตัวเป็นอริยะ เรียกว่า อริยบุคคล พระองค์ทรงรับรอง แค่กายธรรมโคตรภูนี่ ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสาวกของพระตถาคตของพระผู้มีพระภาค กายธรรมที่เป็นโสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัตต์ อรหัตต์ละเอียด ทั้งมรรคทั้งผล นั่นเรียกว่า อริยบุคคล ๘ จำพวก นั้นเรียกว่า อริยบุคคล

นี่แหละ ภควโต สาวกสงฺโฆ สาวกของเราตถาคต ท่านปรากฏในโลก แล้วท่านทั้งแสวงหาพวกนี้ ถ้าได้แล้วก็ต้องจัดเป็นพวกของท่านทีเดียว ถ้ายังไม่ถึงกระนั้นท่านลดลงมา ถ้าบุคคลผู้ใดได้ถึงกายธรรม กายธรรมละเอียดนั่นก็ ภควโต สาวกสงฺโฆ เหมือนกัน เรียกว่า พระพุทธชินสาวก ไม่ใช่อริยสาวก เป็นพระพุทธชินสาวก หรือปุถุชน ลดลงตามส่วนลงมาตามนั้น ประพฤติดี ถูกต้องร่องรอยที่จะเข้าถึงธรรมกาย ธรรมกายละเอียดขึ้นไป ไม่ได้เคลื่อนเลยทีเดียว ทางนั้นไม่คลาดเคลื่อน ท่านก็อนุโลมเข้าเป็นพุทธชินสาวกด้วยเหมือนกัน หรือจะผลักเสียเลยไม่ได้ ถ้าผลักเสียเลยละก็ ที่จะเป็นโคตรภู ธรรมกายละเอียดก็ไม่มีเหมือนกัน อาศัยความบริสุทธิ์ของพวกเราที่เป็นคฤหัสถ์บรรพชิต บริสุทธิ์จริงๆ นั่นเป็นปถุชนสาวกของพระบรมศาสดา นี่เป็นตำรับตำรา

บัดนี้ เราจะเป็นพระสาวกของพระศาสดาบ้าง ก็ต้องขาดจากใจนะ พิรุธจากกาย พิรุธจากวาจา ไม่ให้มีทีเดียว ให้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ จริงๆ ด้วยใจของตน จะค้นลงไปสักเท่าไร ตัวเองจะค้นตัวเองลงไปเท่าไร หาความผิดทางกาย วาจา ใจไม่ได้คนพิจารณาด้วยปัญญาสักเท่าหนึ่งเท่าใด ก็หาความผิดทางกาย วาจาไม่ได้ หรือท่านมี ปุริสวิชชา รู้วาระจิตของบุคคลผู้อื่น ให้พินิจพิจารณาค้นความพิรุธทางกาย วาจา ใจ ของบุคคลผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นไม่ได้ นั้นเรียกว่า ปุถุชนสาวก ถ้าว่าเข้าธรรมกายแล้ว เป็นโคตรภูทีเดียว ไม่ใช่ปุถุชน ไม่ใช่อริยะ ที่จะถึงอริยะต้องอาศัยโคตรภู แต่ว่ายังกลับเป็นปุถุชนได้ ยังกลับเป็นโลกีย์ชนได้ จึงได้ชื่อว่าโคตรภู ระหว่างปุถุชนกับพระอริยะต่อกันก็เข้าถึงโคตรภูแล้ว ที่จะเป็นโสดาก็เป็นไป ที่จะกลับมาเป็นปุถุชนก็กลับกลาย ที่จะเป็นโสดาก็ถึงนั้นก่อน จึงจะเป็นไปได้

เมื่อรู้จักหลักอันนี้นี่แหละ ท่านจึงได้วางบาลีว่า ผู้ใดเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เหมือนธรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ ไม่ใช่ตัวแล้วจะไปเพลินอะไรกับมันเล่า มันของยืมเขามาหลอกๆ ลวงๆ อยู่อย่างนี้ เพลินไม่สนุก ปล่อยมัน อ้ายที่ปล่อยไม่ได้ ก็เข้าใจว่าตัวเป็นของตัว จงปล่อยมัน เมื่อปล่อยแล้วนั่นแหละ หนทางหมดจดวิเศษ หนทางบริสุทธิ์ทีเดียว นั้นเป็นหนทางบริสุทธิ์แท้ๆ วิสุทฺธิ สพฺพเกฺลเสหิวิสุทฺธิ อตฺถํ อญฺญายสาธุกํ ปฏิปชฺเชถ ทุกฺเข นิพฺพุติ เจตโส โหติ สาสนนฺติ นิพฺพานมีติ วุจฺจเร ความหมดจดความปลอดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ย่อมดับจากทุกข์ทั้งหลายเสียได้ ทุกข์เหล่านั้นดับไปแล้ว จิตก็สงบ หลุดไปจากทุกข์ทั้งหมด นิพฺพานมีติ วุจฺจเร นักปราชญ์กล่าวว่า เป็นความดับ คือ นิพพาน แต่ว่าความสงบนี้เป็นต้นของมรรคผลนิพพานทีเดียว ถ้าเข้าความหยุดความสงบไม่ได้ บรรลุมรรคผลไม่ได้ ความหยุด ความสงบเป็นเบื้องต้นมรรคผลนิพพานทีเดียว จะไปนิพพานได้ต้องไปทางนี้ มีทางเดียว ทางสงบอันเดียวกันนี้แหละ ท่านจึงได้ยืนยันต่อไปว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ  สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี หยุดนิ่งกันให้หมดทั้งสากลโลก ไม่เอาธุระ นั่นเป็นทางบริสุทธิ์ นั่นเป็นทางไปสู่มรรคผลนิพพานแท้ๆ รู้แน่เช่นนี้แล้ว ย่อสั้นลงไป ท่านจึงได้ยืนยันว่า เย จ โข สมฺมทกฺขาเต ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน เต ชนา ปารเมสฺสนฺต มจฺจุเธยฺยั สุทุตฺตรํ กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหายสุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต ก็ชนเหล่าใดประพฤติธรรม ในธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวแล้ว ชนทั้งหลายเหล่านั้นจักถึงฝั่ง คือนิพพาน อันเป็นที่ตั้งอันล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ อันเป็นที่ตั้งของมัจจุ ฝั่งที่ล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ อันเป็นที่ตั้งของมัจจุสุดจะข้ามได้ คือ นิพพาน นั่นเอง ชนทั้งหลายเหล่านั้น จักถึงซึ้งฝั่งอันล่วงเสีย ซึ่งวัฏฏะ อันเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ สุทุตฺตรํ แสนยากที่จะข้ามได้ ในสากลโลกที่จะข้ามไปถึงฝั่งนิพพานนะ แสนยาก ไม่ใช่เป็นของง่ายเลย

พระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมี ๔ อสงขัยแสนกัลป์ ๘ อสงขัยแสนกัลป์ ๑๖ อสงขัยแสนกัลป์ จึงจะข้ามวัฏฏสงสารได้ ถ้าคนข้ามได้บ้าง ก็แสนยากที่ข้ามได้ ท่านจึงได้วางตำราไว้เป็นเนติแบบแผนไปเป็นลำดับๆ ไปว่า สทฺธาย จ สิเลน จ ยา ปวตฺตติ ปญฺญาย จาเคน สุเตน จูภยํ สาตาทิ สีสี ลภตี อุปฺปาติกา อาทิยติ สารมิเทว อตฺตโน แต่ว่าในท้ายพระคาถาบัณฑิตผู้มีปัญญาละธรรมดำเสีย ไม่ประพฤติเลยทีเดียว ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น เด็ดขาดลงไป เหมือนภิกษุ สามเณร อุบาสกอุบาสิกา พอบวชเป็นพระเป็นเณร ขาดจากใจความชั่วไม่ทำเลย ถ้าว่าชีวิตตายเป็นตายกัน ชีวิตจะดับไปดับไป ทำความดีร่ำไป นี่พวกละธรรมดำประพฤติธรรมขาวแท้ๆ

อุบาสกอุบาสิกาละ เมื่อจะเป็นอุบาสกอุบาสิกาดีๆ แท้ๆ นะ พอเริ่มเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ขาดจากใจ ความชั่วกายวาจาใจละเด็ดขาด ไม่ทำชีวิตดับๆ ไป เอาความบริสุทธิ์ใส่ลงไป เอาความบริสุทธิ์ใส่ได้ไปสวรรค์ ไม่ต้องทุกข์กับใคร แน่นอนใจทีเดียว นี้อย่างชนิดนี้ละธรรมดำเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น

นี่พระโพธิสัตว์เจ้าสร้างบารมีเป็นสองชาติดังนี้ ละธรรมดำจริงๆ เจริญธรรมขาวจริงๆ ไม่ยักเยื้องแปรผันไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ตามวาระพระบาลีว่า คาถาข้างหลังรับรองไว้ สทฺธาย จ สีเลน จ ยา ปวตฺติ ปญฺญาย จาเคน สุเตน จูภยํ สาตาทิ สีสี ลภตี อาทิยติ สารมิเทว อตฺตโน หญิงชายต้องแปลเป็น เอาเสส  หญิง ชายเหล่าใด เจริญด้วยศรัทธาความเชื่อมั่นในขันธสันดานละชั่วขาดแล้ว ไม่กลับกลอกแล้ว เหลือแต่ดีแล้วฝ่ายเดียวแล้ว เจริญด้วยศีลเจริญด้วยสุตตะ นี่ก็เป็นฝ่ายดี เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยปัญญา หญิงชายเหล่าใดที่เจริญในทางจิตด้วยศีล ด้วยจาคะ ด้วยสุตตะ ด้วยปัญญาแล้ว สาตา สีสี ลภตี อุปฺปาติกา หญิงชายเช่นนั้น ชื่อว่าประพฤติเป็นปกติ หญิงชายเหล่านั้น ชื่อว่าประพฤติเป็นระเบียบเรียบร้อยดี มั่นในพระรัตนตรัยแท้ มั่นในพระรัตนตรัย อาทิยติ สารมิเทว อตฺตโน ได้ชื่อว่า ยึดแก่นสารของตนไว้ได้

ตรงนี้หลักต้องจำไว้ ยึดไว้ให้มั่นเชียว ไม่ให้คลาดเคลื่อนได้ ชีรนฺติ เวยา ธนตฺถา สุจิติ วา อโถ สรีรญฺปิ สรํ อุปฺโปติ ปปญฺจธมฺโม สครํ อุเปติ ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ ราชรถอันงดงามย่อมถึงซึ่งความเสื่อมทรามไปแม้สรีระร่างของเราท่านทั้งหลาย นี้ละ สรีระร่างกายก็ย่อมเข้าถึงความทรุดโทรม ไม่ยักเยื้องแปรผันไปข้างไหน ทรุดโทรมหมดเหมือนกัน หมดเป็นลำดับๆไป ย่อมเข้าถึงซึ่งความทรุดโทรม ธรรมของสัตตบุรุษ ย่อมหาเข้าถึงซึ่งความทรุดโทรมไม่ดำรงคงที่อยู่ดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นธรรมของสัตตบุรุษ ไม่ถึงซึ่งความทรุดโทรมไม่สลาย ไม่เสียหาย ไม่เข้าถึงซึ่งความทรุดโทรม

เมื่อรู้ชัดเช่นนี้ ควรกระทำเถิดซึ่งบุญ ปุญฺญานิ กยิราถ ควรกระทำเถิดซึ่งบุญทั้งหลาย   สุขาวหานิ อันนำความสุขมาให้ เมื่อทำบุญทั้งหลายแล้ว นำความสุขมาให้ อจฺเจนฺติ กาลา กาลย่อมผ่านไป ตริยนฺติ รตฺติโย ราตรีย่อมล่วงไป วันก็ผ่านไป วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ กาลผ่านไป ราตรีย่อมล่วงไป ชั้นของวัยย่อมละลำดับไป ชั้นของวัยเป็นไฉน เด็กเล็กๆ ละลำดับเด็กเรื่อยมา เป็นคนโตๆ เป็นลำดับมา หนุ่มสาวละเป็นลำดับมา แก่เฒ่าละเป็นลำดับมา อีกหน่อยก็หมด ละลำดับอย่างนี้มาเรื่อย เหมือนอย่างกาลเวลาล่วงไปไม่กลับมา กาลเวลานะ อดีตกาลปีที่ล่วงไปแล้ว ปัจจุบันกาลปีที่เป็นปัจจุบันนี้ อนาคตกาลปีที่จะมีมาข้างหน้าผ่านไปหมด นี่แหละกาลผ่านไป วันเวลา วันนี้ผ่านไปบ้างแล้ว ผ่านไปแล้วเป็นอดีตที่กำลังปรากฏ ฟังเทศน์อยู่นี้เป็นปัจจุบัน วันที่จะมีมาข้างหน้าเป็นอนาคต นั่นแหละเรียกว่ากาลเวลาผ่านไปๆ ราตรีล่วงไปวันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไปไม่ถอยกลับมาเลย ชั้นของวัยเด็กเล็กๆ เป็นหนุ่มสาว เป็นแก่เป็นเฒ่า ก็ละลำดับเรื่อยไป ไม่ได้หยุดอยู่เลยสักนิด ไม่รอใครเลย เอ็งจะรออย่างไรก็ตามเถิด ข้าไม่รอเจ้า ความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องละลำดับไป เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน ผู้มีปัญญาเห็นเหตุนั้น เป็นภัยในความตายทีเดียว ไอ้กาลเวลาผ่านไป ราตรีล่วงไป ชั้นของวัยละลำดับไป นั้นเป็นภัยในความตายเทียวนะ ตัวตายทีเดียวไม่ใช่ตัวอื่นละ เมื่อรู้ชัดเช่นนี้ เมื่อรู้ชัดจริงลงไปเช่นนี้แล้ว อย่างมุ่งอื่น มุ่งแต่บำเพ็ญการกุศลไป ที่จะนำความสุขมาให้แท้ๆ ไม่ต้องไปสงสัย เอตฺตกานมฺปิ ปาฐานํ อตฺถํ อญฺญาย สาธุกํ ปฏิปชฺเชถ เมธาวี อโมฆํ ชีวิตํ ยถาติ ผู้มีปัญญาได้รู้เนื้อความของบาลีแม้เพียงเท่านี้ก็ดีแล้ว สาธุกํ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ผู้มีปัญญารู้ความของบาลีเพียงเท่านี้ก็ดีแล้ว พึงปฏิบัติชีวิตของตนไม่ให้ไร้ประโยชน์พึงปฏิบัติตามเป็นอยู่ของตน ในวันหนึ่งๆ ให้มีประโยชน์อยู่ร่ำไป ไม่ให้ไร้ประโยชน์ ถ้าปล่อยความเป็นอยู่ของตนให้ไร้ประโยชน์ละก็ เป็นลูกศิษย์พญามาร เป็นบ่าวของพญามาร ไม่ใช่เป็นลูกศิษย์พระ บ่าวพระ เป็นลูกพญามารเป็นบ่าวพญามาร พึงปฏิบัติชีวิตของตน อโมฆํ ไม่ให้ไร้ประโยชน์ ไม่ให้เปล่าประโยชน์ จากประโยชน์ทีเดียว ให้มีประโยชน์อยู่เสมอ ในความบริสุทธิ์ในธรรมที่ขาวอยู่เสมอไป ไม่ให้คลาดเคลื่อน นี่พระองค์ได้เตือนเราท่านทั้งหลาย แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วตั้งนาน ก็ยังเตือนเราทานทั้งหลายอยู่ชัดๆ อย่างนี้ เราพึงปฏิบัติตามเถิด สมกับพบพระบรมศาสดา

ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่อ้างธรรมปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติยุติธรรมิกถาเพียงแค่เท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘