กัณฑ์ที่ ๒ รตนตฺตยคมนปณามคาถา ๖ มีนาคม ๒๔๙๒

กัณฑ์ที่ ๒ รตนตฺตยคมนปณามคาถา ๖ มีนาคม ๒๔๙๒


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

อิจฺเจตํ  รตนตฺตยํ พุทโธ  ธมฺโม สงฺโฆ จาติ
นานาโหนฺตมฺปิ วตฺถุโต อญฺญมญฺญาวิโยคา ว เอกิภูตมฺปนตฺถโต
พุทฺโธ ธมฺมสฺส โพเธตา ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต
สงฺโฆ จ สาวโก พุทฺธสฺส อิจฺเจกาพุทฺธเมวิทนฺติ ฯ

อาตมาขอโอกาสแก่ท่านมหาชนทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตบรรดามีศาสนาเป็นภารกิจ หวังปฏิบัติให้ถูกสนิทตามศาสนาของตน ๆ จึงได้อุตสาห์พากันทรมานร่างกายในเวลาทำกิจทางศาสนา ทุก ๆ ศาสนา ทุก ๆ ศาสนาล้วนแต่สอนให้ละความชั่วประพฤติความดีทั้งสิ้นด้วยกันทุกชาติทุกภาษา

ส่วนในทางพระพุทธศาสนา เวลาเช้าเวลาเย็นไหว้พระบูชาพระและสวดสังเวคกถา ตามกาลเวลาเสร็จแล้ว ที่มีกิจเรียนคันถธุระก็เรียนไป ที่มีกิจเรียนวิปัสสนาธุระก็เรียนไป ฝ่ายพระเถรานุเถระก็เอาใจใส่ตักเตือนซึ่งกันและกันตามหน้าที่ เพื่อจะได้รักษาเนติแบบแผนอันดีของสาธุชนในพุทธศาสนาไว้ให้เป็นตำรับตำราสืบ สายพระศาสนาไป

บัดนี้ขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย ฟังปณามคาถา ความนอบน้อม พระรัตนตรัย ในอดีต อนาคต ปัจจุบัน และถึงเป็นที่พึ่งโดยย่อ

ความนอบน้อมมาจาก นโม นโมแปลว่านอบน้อม เป็นบุคลาธิษฐานคือ นอบน้อมด้วยกาย นอบน้อมด้วยวาจา นอบน้อมด้วยใจ นอบน้อม ในพระผู้มีพระภาคเมื่อพระองค์มีพระชนมายุอยู่ อุบาสกอุบาสิกาเข้าไปสู่ที่เฝ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ คือกราบพร้อมด้วยองค์ ๕ เข่าและศอกทั้ง ๒ ต่อกัน ฝ่ามือทั้ง ๒ วางลงให้เสมอกันก้มศีรษะลงให้หน้าจรดพิ้น ในระหว่างมือทั้ง ๒ นั้น
หรือในระหว่างที่เฝ้าพระผู้มีกระภาคเจ้าอยู่นั้นคอยฟังพระโอวาทานุสา สนีพระองค์ไม่ส่งใจในที่อื่นไม่เปล่งวาจาออกในระหว่างที่พระองค์ทรงรับสั่ง อยู่ เป็นการรบกวนพระองค์ด้วยวาจาให้เป็นที่ระแคะระคายพระทัย

อนึ่งเมื่อเข้าไปสู่ที่เฝ้า ไม่นั่งให้ไกลนัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ด้วยต้องการออกพระกำลังเสียงในเวลารับสั่ง ไม่นั่งใกล้นัก จะเป็นการเบียดเบียนพระองค์ด้วยกายอันเป็นปฏิกูล จะเป็นที่รำคาญพระนาสิก ในเวลากลิ่นกายฟุ้งไป ไม่นั่งในที่เหนือลม ด้วยเคารพพระองค์ กลัวลมพัดเอากลิ่นกายที่ฟุ้งออกไปมากระทบพระนาสิกของพระองค์ ไม่นั่งในที่ตรงพระพักตร์นักกลัวจะเป็นที่รำคาญพระเนตรทั้งสองของพระองค์ ไม่นั่งในที่เบี้องหลังนัก เกรงว่าพระองค์จะต้องหันพระพักตร์มากไปในเวลาจะทรงรับสั่ง ต้องนั่งในที่สมควร นอกจากที่ ๆ แสดงมาแล้วในเวลาอยู่ในที่เฝ้า ไม่ส่งใจไปในที่อื่น ไม่เปล่งวาจาให้เป็นที่รำคาญพระทัยแด่พระองค์ ดังนี้แล นอบน้อมด้วยกายในพระองค์ 

ในเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ยังเหลือแต่เจดีย์ ๔ เหล่า คือ บริโภคเจดีย์ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ พุทธศาสนิกชนไปถึงที่เช่นนั้นเข้าแล้ว ในเมื่อกั้นร่มควรลดร่มลง ห่มผ้าปิด ๒ บ่า ควรลดออกเสียบ่าหนึ่ง ในเมื่อสวมรองเท้าเข้าไป ควรถอดรองเท้าเสีย และเข้าไปในที่นั้นไม่ควรแสดงอึงคะนึง และไม่เคารพแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องแสดงเคารพอย่างจริงใจ ไม่ทิ้งของที่สกปรกลงไว้ เช่นก้นบุหรี่หรือชานหมาก น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระปัสสาวะ ในที่บริเวณนั้น เมื่อเข้าไปในที่นั้น เห็นรกปัดกวาดเสีย ถากถางเสีย เห็นไม่สะอาดทำให้สะอาด เห็นผุพังควรแก้ใขซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ได้ก็ยิ่งดี ดังนี้เป็นความนอบน้อมพระผู้มีพระภาคด้วยกายโดยบุคลาธิษฐาน

อนึ่งนำเรื่องของพระรัตนตรัยไปสรรเสริญในที่นั้น แก่บุคคลนั้นอยู่เนือง  ๆ ดังนี้ ก็ชื่อว่านอบน้อมด้วยวาจา

และคิดถึงพระรัตนตรัยอยู่เนือง  ๆ ไม่ยอมให้ใจไปจรดอยู่กับอารมณ์สิ่งอื่นมากนัก คอยบังคับให้จดอยู่กับพระรัตนตรัยเนือง  ๆ ดังนี้ชื่อว่า นอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยใจ

ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมี แด่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นองค์อรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ต้องว่าดังนี้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ทั้งหลาย ในเวลาทำศาสนกิจทุกครั้ง เช่นพระเถรานุเถระ กระทำสังฆกรรม และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายจะมาสมาทานศีล ก็ต้องว่า “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” ถึง ๓ หน จะว่าแต่เพียงหนหนึ่งหรือสองไม่ได้ หรือได้เหมือนกันแต่ว่าไม่เต็มรัตนตรัย ทั้ง ๓ กาล จะให้เต็มหรือถูกรัตนตรัยทั้ง ๓ กาลแล้ว ต้องว่าให้เต็ม ๓ หน หนที่ ๑ นอบน้อมพระรัตนนตรัยในอดีตหนที่ ๒ นอบน้อมพระรัตนตรัยในปัจจุบัน หนที่ ๓ นอบน้อมพระรัตนตรัยในอนาคต ทั้งหมดต้องว่า ๓ หนจึงครบถ้วนถูกพระรัตนตรัยทั้ง ๓ กาล

รัตนตรัย แบ่งออกเป็น ๒ คือ รัตนะ ๑ ตรัย ๑ แปลว่าแก้ว ตรัยแปลว่า ๓ รัตนตรัยรวมกันเข้า แปลว่า แก้ว ๓ พุทธรัตนะ แก้วคือพระพุทธ  ธรรมรัตนะ แก้วคือพระธรรม  สังฆรัตนะ แก้วคือพระสงฆ์  ทำไม จึงต้องเอา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเปรียบเทียบด้วยแก้ว ที่ต้องเปรียบด้วยแก้วนั้น เพราะแก้วเป็นวัตถุทำความยินดีให้บังเกิดแก่เจ้าของผู้ปกครองรักษา ถ้าผู้ใดมีแก้วมีเพชรไว้ในบ้านในเรือนมากผู้นั้นก็อิ่มใจ ดีใจ ด้วยคิดว่าเราไม่ใช่คนจน ปลื้มใจของตนด้วยความมั่งมีแม้คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเล่าเห็นแก้ว เห็นเพชรเข้าแล้ว ที่จะไม่ยินดีไม่ชอบนั้นเป็นอันไม่มี ต้องยินดีต้องชอบด้วยกันทั้งนั้น ฉันใดรัตนตรัยแก้ว ๓ ดวงคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะทั้ง ๓ นี้ก็เป็นที่ยินดีปลื้มใจของเทวดาแลมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น

พระรัตนตรัยเป็นแก้วจริง  ๆ หรือเปรียบด้วยแก้ว ถ้าเป็นทางปริยัติเข้าใจตามอักขระแล้วเป็นอันเปรียบด้วยแก้วถ้าเป็นทาง ปฏิบัติ เข้าใจตามปฏิบัติแล้ว เป็นแก้วจริง  ๆ ซึ่งนับว่าประเสริฐเลิศกว่าวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะ ซึ่งมีในไตรภพลบรัตนะในไตรภพทั้งหมดสิ้น

จะกล่าวถึงรัตนะในทางปฏิบัติ “ ปฏิปตฺติ” แปลว่า ถึงเฉพาะผู้ปฏิบัติถึงเฉพาะซึ่งพระรัตนตรัย การถึงรัตนตรัยของผู้ปฏิบัติในยุคนี้ต่าง ๆ กัน ผู้ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาก็ถึงรูปพระปฏิมากรในโบสถ์วิหารการเปรียญ ถึงพระธรรมในตู้ในใบลาน ถึงพระสงฆ์สมมุติทุกวันนี้ ผู้ได้เล่าเรียนศึกษารู้พุทธประวัติ ก็ถึงพระสีธาตุราชกุมารที่ได้ตรัสรู้ ใต้ควงไม้ศรีมกาโพธิ์ที่ได้มาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ถึงพระธรรมก็คือปฐมเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตร กับธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ให้ได้บรรลุมรรคผลทั้งสิ้น ถึงพระสงฆ์ก็คือพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนถึงสุภัททภิกษุซึ่งเป็นปัจฉิมสาวกเวไนย

ผู้มีสติปัญญา เป็นผู้เฒ่าเหล่าเมธาเล่าเรียนศึกษามาก การถึงรัตนตรัยของท่านลึกล้ำท่านคิดว่า “พุทธ”ก็แปลกันว่า ตรัสรู้ ตรัสรู้เป็นภาษาเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าท่านเป็นเจ้าจึงแปลว่า ตรัสรู้ ภาษาสามัญก็แปลว่ารู้เท่านั้น ท่านก็ทำขึ้นในใจของท่านว่ารู้นั่นเอง เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ถึงความรู้ของท่านที่ถูกดี ถึงธรรมของท่านความดีไม่มีผิด ถึงสงฆ์ของท่านสงฺเฆน ธาริโต พระสงฆ์ทรงไว้ ตัวของเรานี้เองที่รักษาความรู้ถูกรู้ดีไม่ให้หายไปเป็นสงฆ์

การถึงพระรัตนตรัยดังแสดงมาแล้ว นี้ก็ถูก เหมือนต้นไม้เอานิ้วไปจรดเข้าที่กะเทาะก็ถูกต้นไม้ เอานิ้วไปจรดเข้าที่เปลือกก็ถูกต้นไม้ เอานิ้วไปจรดเข้าที่กระพี้ก็ถูกต้นไม้ ถูกแต่กะเทาะเปลือก กระพี้ เท่านั้น หาถูกแก่นของต้นไม้ไม่

การถึงพระรัตนตรัย ต้องเอากายวาจาใจของเราที่ละเอียดจรดเข้าไปให้ถึงแก่นพระรัตนตรัยจริง ๆ รัตนตรัยซึ่งแปลว่าแก้ว ๓ แก้วคือพระพุทธ ๑ แก้วคือพระธรรม๑ แก้วคือพระสงฆ์ ๑ ได้ในบทว่า สกฺกตฺ วา พุทฺธรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือพุทธ สกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือธรรม สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้วคือสงฆ์

การเข้าถึงพระรัตนตรัย ต้องใช้กายวาจาใจที่ละเอียด ที่หยาบเข้าไม่ถึง กายที่ละเอียดซึ่งได้กับกายสังขาร วาจาที่ละเอียดซึ่งได้กับวจีสังขาร ใจ ที่ละเอียดซึ่งได้กับจิตสังขาร กายสังขารคือลมหายใจเข้าออกซึ่งปรนเปรอกายให้เป็นอยู่ วจีสังขารคือความตรึกตรองที่จะพูด จิตสังขารคือความปรุงของจิตสำหรับใช้ทางใจ กายสังขารหยุด วจีสังขารก็หยุด จิตสังขารก็หยุด เป็นจุดเดียวกัน อยู่ที่ตรงศูนย์กลางของกายมนุษย์ มีธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เป็นดวงใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสดังกระจกส่องเงาหน้า กายวาจาใจที่ละเอียดจรดลงที่ศูนย์กลางของธรรมนั้น ก็หยุดพร้อมทั้งกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารนับว่าหยุดเป็นจุดเดียวกัน ได้ชื่อว่าสังขารสงบ การสงบสังขารชนิดนี้เด็กในท้องมารดาก็สงบจึงอยู่ในที่แคบได้ เทวดาใน ๖ ชั้นทำได้ รูปพรหม และอรูปพรหมทำได้ เด็กในท้องก็นับว่าสังขารสงบ เทวดาก็นับว่าสังขารสงบได้รูปพรหม และอรูปพรหมก็นับว่าสังขารสงบได้ การสงบสังขารเสียเป็นสุข สมด้วยคาถา ๔ บาท ในบาทเบื้องปลายว่า”เตสํ วูปสโม”สงบสังขารทั้งหลายเสียได้ นำมาซึ่งความสุข นี้สงบสังขารได้ตามสมควร เป็นทางทำตนให้เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ชั้นหนึ่ง

กายสังขารสงบ คือลมหายใจหยุด วจีสังขารสงบ คือความตรึกตรองหยุด จิตสังขารสงบคือใจหยุด อยู่ที่ศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ชื่อว่าสันติ ลมหยุดลงไปในที่เดียวกันชื่อว่า อานาปาน ซึ่งแปลว่าลมหยุดนิ่งหรือไม่มี เมื่อสังขารทั้ง ๓ หยุดถูกส่วนเข้าแล้ว เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อสังขารสงบมีความสุขเกิดขึ้นเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตคิดว่าเป็นสุขเรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใน เมื่อสติปัฏฐานทั้ง ๓ถูกส่วนพร้อมกันเข้า เกิดเป็นดวงใสขึ้น เท่าฟองไข่แดงหรือเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์สนิทเหมือนกระจกส่องเงาหน้านั่นแหละ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงนี้บางท่านเรียกว่า พระธรรมดวงแก้ว โบราณ ท่านใช้แปลในมูลกัจจายว่า “ปฐมมรรค” ในกลางธรรมดวงนี้แหละคือ ดวงศีลเพราะ อยู่ในเหตุว่างของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ไม่มีราคี ตาของกายทิพย์เห็นต้องเอาใจของตนจรดลงที่ตรงกลางดวงศีลนั้น ทำใจให้หยุดนิ่งแต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงศีล ดวงศีลก็ว่างออกไปเห็น ดวงสมาธิ เอาใจหยุดนิ่งลงไปที่กลางดวงสมาธิแต่พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงสมาธิ ดวงสมาธิก็ว่างออกไป ตาของกายทิพย์ก็เห็นดวงปัญญา ที่อยู่ในกลางดวงสมาธินั้น แล้วเอาใจของตนจรดเข้าที่ศูนย์กลางดวงปัญญา ดวงปัญญาก็ว่างออกไป ตาของกายทิพย์ก็เห็นดวงวิมุตติที่ อยู่ในกลางดวงปัญญานั้น แล้วเอาใจของตนจรดเข้าที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ ทำให้ใจหยุดนิ่งแต่พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติก็ว่างออกไป ตาของกายทิพย์ก็เห็น ดวงวิมุตติญาณทัสสนะที่ อยู่ในกลางดวงวิมุตตินั้น แล้วเอาใจของตนจรดเข้าที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะทำใจให้หยุดนิ่งแต่พอ ถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงวิมุตติญาณทัสสะก็ว่างออกไป ตาของกายทิพย์ก็เห็นตนของตนเองอยู่ในศูนย์กลางของดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น เหมือนตาของกายมนุษย์เห็นตัวของกายมนุษย์ฉะนั้นที่ได้แสดงมาแล้วนี้ ก็เป็นวิธีทำตัวให้เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ชั้นหนึ่ง

ทำต่อไปทำใจให้หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ แต่พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล ให้ใจหยุดนิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงศีล ดวงศีลก็ว่างออกไปเห็นดวงสมาธิ อยู่ในกลางดวงศีลให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงสมาธิ แต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงสมาธิ ดวงสมาธิก็ว่างออกไป เห็นดวงปัญญา อยู่ในกลางดวงสมาธิ ให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงปัญญาแต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวง ปัญญา ดวงปัญญาก็ว่างออกไป เห็นดวงวิมุตติอยู่ในกลางดวงปัญญา ให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ แต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียด ยิ่งกว่าดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติก็ว่างออกไปเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ให้ใจหยุดอยู่ที่ ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสะดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ก็ว่างออกไป ตาของกายรูปพรหมก็เห็นตนของตนเองอยู่ในศูนย์กลางของดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น เหมือนตาของกาย ทิพย์ เห็นตนของกายทิพย์เองฉะนั้น ที่ได้แสดงมานี้ก็เป็นวิธีทำตัวให้เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ชั้นหนึ่ง

ทำต่อไป ทำใจให้หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม แต่พอถูกส่วนเข้าห็เห็นดวงศีล ให้ใจหยุดอยู่นิ่งอยู่กลางดวงศีล ถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงศีล ดวงศีลก็ว่างออกไป เห็นดวงสมาธิ อยู่ในกลางดวงศีลให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงสมาธิแต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ ละเอียดยิ่งกว่าดวงสมาธิ ดวงสมาธิก็ว่างออกไปเห็นดวงปัญญาอยู่ในกลางดวงสมาธิ ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงปัญญาแต่พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงปัญญาดวงปัญญาก็ว่างออกไป เห็นดวงวิมุตติอยู่ในกลางดวงปัญญา ให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติแต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่า ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติก็ว่างออกไปเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ให้ใจหยุดอยู่ในศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะแต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียด ยิ่งกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็ว่างออกไป ตาของกายอรูปพรหมก็เห็นตนของตนอยู่ในศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น เหมือนตาของกายรูปพรหมเห็นตนของกายรูปพรหมเองฉะนั้น ที่แสดงมานี้ก็เป็นวิธีทำตัวให้เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะชั้นหนึ่ง

ทำต่อไป ทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม แต่พอถูกส่วนเข้าก็เห็นดวงศีล ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงศีลถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงศีล ดวงศีลก็ว่างออกไป เห็นดวงสมาธิอยู่ในกลางดวงศีล ให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงสมาธิแต่พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงสมาธิ ดวงสมาธิก็ว่างออกไปเห็นดวงปัญญาอยู่กลางดวงสมาธิ ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงปัญญา แต่พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงปัญญาดวงปัญญาก็ว่างออกไป เห็นดวงวิมุตติอยู่ในกลางดวงปัญญา ให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติ แต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติก็ว่างออกไป เห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะอยู่ในกลางดวงวิมุตติ ให้ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แต่พอถูกส่วนเข้าใจก็ละเอียดยิ่งกว่าดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็ว่างออกไปตาของกายธรรมก็เห็นตนของตนเอง อยู่ที่ศูนย์กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้นเหมือนตาของกายอรูปพรหม เห็นตนของกายอรูปพรหมเองฉะนั้น ที่ได้แสดงมานี้ เป็นวิธีที่ทำตัวให้เป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ชั้นหนึ่ง

เมื่อทำมาถึงกายธรรมหรือธรรมกายดังนี้แล้ว ก็รู้จักตัวตน ชัดเจนโดยไม่ต้องสงสัย เพราะ กายทั้ง ๕ บอกตัวของตัวเอง กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้ง ๔ กายนี้ บอกตัวเองอยู่ว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเป็นแต่สมมุติเท่านั้น รู้ได้เองว่ากายมนุษย์มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ชั่วคราวตามอายุขัยและวัย สิ้นปัจจัยคือบุญและบาปแล้ว ก็แตกสลายไป รู้ได้จริง ๆ อย่างนี้ ไม่ใช่แต่รู้ เห็นด้วยตาของตนทุก ๆ คนด้วยกันทั้งนั้น

ส่วนกายทิพย์ หรือรูปพรหม อรูปพรหม สิ้นอำนาจของบุญกรรมและรูปฌาน อรูปฌานแล้ว ก็แปรไปเหมือนกายมนุษย์ ต่างกันแต่ข้าและเร็วเท่านั้น

ส่วนกายธรรมหรือธรรมกายเป็นตัวยืนบอกความจริงว่าเที่ยงเป็นสุขเป็นตัว ส่วนกายทั้ง ๔ เป็นตัวยืนบอกเท็จว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว เท็จต่อความจริงอย่างนี้ เมื่อไม่รู้เห็นจริง จะรู้เห็นเท็จได้อย่างไร ต้องรู้จริงเห็นจริงเสียก่อนจึงย้อนมารู้จักเท็จได้ดังนี้

ธรรมกายนี้เองเป็นพุทธรัตนะ  ซึ่ง แปลว่าแก้วคือพุทธะ เมื่อรู้จักพุทธรัตนะแล้วก็ควรรู้จักธรรมรัตนะเสียที่เดียว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหม เป็นธรรมรัตนะ แต่เป็นส่วนโลกีย์ ส่วนธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมกายนั้น เป็นโคตรภู ต่อเมื่อใด ธรรมกายเลื่อนขึ้นไปเป็นพระโสดาแล้ว ธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดานั้นเองเป็น โลกุตระ

ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ที่อยู่ในศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม แลกายอรูปพรหมเป็นโลกียมรรค เพราะกายทั้ง ๔ นั้นเป็น โลกีย์ ธรรมจึงเป็นโลกีย์ไปตามกาย ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะที่อยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายในโลกุตระ ธรรมจึงเป็นธรรมกายในโลกุตระ เพราะธรรมกายของพระโสดา เป็นโลกุตระ ธรรมจึงเป็นโลกุตระไปตามกาย ธรรมที่ทำให้เป็นกายต่าง ๆ นี้ เองเป็นธรรมรัตนะซี่ งแปลว่า แก้วคือธรรม เมื่อรู้จักธรรมรัตนะแล้วก็ควรรู้จัก สังฆรัตนะเสียทีเดียว ธรรมกายหรือกายธรรมหมดทั้งสิ้น ยกธรรมกายของพระสัพพัญญู และธรรมกายของพระปัจเจกพุทธเจ้าออกเสีย นอกจากนั้นเป็นธรรมกายสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้นมีมากน้อยเท่าใดเป็นสังฆรัตนะ แก้วคือสงฆ์

การที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัย ที่ถูกแท้นั้น ต้องเอาใจของตนจรดลงที่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นดวงใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ตั้งอยู่ศูนย์กลางของกายมนุษย์  มีเหมือนกันหมดทุกคน จำเดิมแต่อยู่ในท้องมารดา ใจของกุมารกุมารีจรดจี้หยุดนิ่งอยู่ตรงศูนย์กลางของดวงธรรมนั้นทุกคนตรง ศูนย์กลางดวงธรรมมีวางอยู่ประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์หรือเมล็ดไทร ใจของกุมารหรือกุมารีก็จรดอยู่ศูนย์กลางนั้น

ผู้ที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัย ต้องเอสใจของตนไปจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของตนนั้น แล้วทำใจให้หยุด หยุดในหยุด หนักเข้าไปทุกทีไม่ให้คลายออก ทำไปจนใจไม่คลายออก ใจนั้นหยุดหนักเข้าไปทุกที นี้เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ไม่ใช่ทางไปของปุถุชน ทางไปของปุถุชนไม่หยุด ออกนอกจากหยุด นอกจากทางไป ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์อยู่เสมอ จึงได้เจอะเจอพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ยากนัก ขอผู้จงรักภักดีต่อตนของตนที่แท้แล้ว จงตั้งใจแน่แน่วให้ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เถิดประเสริฐนัก พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ในอดีตอนาคต ปัจจุบันไปทางเดียวเหมือนกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้นพวกเราที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัย จึงต้องทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ตรงต่อทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ จึงจะถูกหลักฐานในพุทธศาสนา ทั้งถูกตำราของสัตว์ผู้ไปเกิดมาเกิดด้วย สัตว์ผู้ไปเกิดมาเกิดเข้าสิบไม่ถูกก็ไม่ตกศูนย์เมื่อไม่ตกศูนย์ก็ไปเกิดมา เกิดไม่ได้ ธรรมดาของเกิดแลตาย ต้องมีสิบศูนย์เป็นเครื่องหมายเหมือนกันทั้งหมด ทั้งในภพและนอกภพ การที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยก็เหมือนกัน ต้องเข้าสิบศูนย์เป็น ชั้น ๆ ไปจึงจะเข้าถึงพระรัตนตรัยได้ ดังแสดงมาตั้งแต่ต้นเป็นชั้น ๆ มาแล้วทุกประการ

รัตนะทั้ง ๓ นี้เป็นแก้วจริง ๆจัง ๆ แก้ว ที่ มีในไตรภพนี้มีคุณภาพไม่เทียมทัน ส่วนแก้วในไตรภพที่มนุษย์ใช้อยู่บัดนี้ เพชรเป็นสูงกว่า หรือแก้วที่มีรัศมีเป็นของหายากไม่มีใครจะใช้กันนัก แก้วชนิดอย่างนั้น มีสีต่าง ๆ ถ้าสีนั้นเขียวใส่ลงไปในน้ำ ๆ ก็เขียวไปตามสีแก้วนั้น ถ้าสีเหลืองน้ำก็เหลืองไปตาม ถ้าแดงน้ำก็แดงไปตามสีแก้ว ตกว่าแก้วสีอะไร น้ำก็เป็นไปตามสีแก้วนั้น ๆ นี้เป็นรัตนะที่สูงในโลก สูงยิ่งกว่านี้ขึ้นไปก็ต้องเป็นของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดิ์มีแก้ว ๗ ประการคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว ปรินายกแก้ว แก้ว ๗ ประการนี้เกิดขึ้นในโลกกาลใด มนุษย์ในโลกได้รับความสุขปราศจากการไถและหว่าน สำเร็จความเป็นอยู่อาศัยแก้ว ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิให้เป็นอยู่ได้โดยตลอดชีวิต ไม่ต้องทำกิจการใด ๆ ทั้งสิ้น พระเจ้าจักรพรรดิสอนให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ กรรมบท ๑๐ ครั้นสิ้นชีพแล้ว ไปบังเกิดในสุคติโดยส่วนเดียว ไม่มีตกไปอยู่ในทุคติเลย

แก้วทั้งหลายในโลก พิเศษถึงเพียงนี้แล้วยังไม่มีพิเศษเท่าแก้ว คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แก้วคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนั้นถ้าผู้ใดเข้าไปได้เข้าไปถึงแล้ว ลืมแก้วลืมสวรรค์ลิบ ๆ ในโลกหมดทั้งสิ้น

ผู้ที่จะเข้าไปได้ถึง แก้วทั้ง ๓ นี้ต้องดำเนินไปตามต้น กายวาจาใจ คือกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารดังแสดงมาแล้วในเบื้องต้น จนถึงธรรมกาย คือให้ดำเนินตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ตั้งต้นแต่ กาย เวทนา จิต ธรรมไป แต่พอถึงธัมมานุปัสสนาก็เห็นเป็นดวงใส ที่เรียกว่าดวงศีล ต่อแต่นั้นก็ถึง สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ซี่งนับว่าเป็นที่รวมพระไตรปิฎก ๆ รวมอยู่ในศูนย์กลางของดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้ทั้งสิ้น เมื่อจับที่รวมของกายมนุษย์ได้แล้ว กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมก็เหมือนกันดังแสดงมาแล้ว

ที่ได้แสดงมาแล้วนาเป็นวิธีให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ มีอาการต่าง ๆ กัน ในเมื่อจับหลักยังไม่ได้ ต่อเมื่อจับหลักคือธรรมกายเสียได้แล้ว จะเห็นว่าไม่ต่างกัน เนื่องเป็นอันเดียวกัน เนื่องเป็นอันเดียวกันแท้ ๆ

สมด้วยกระแสบาลีในเบื้องต้นว่า “หมวดสามของรัตนะนี้คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ”แม้ต่างกันโดยวัสดุแต่เนื้อความเป็นอันเดียวกันเป็นของเนื่องซึ่ง กันและกัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเนื่องเป็นอันเดียวกันเป็นบรรทัดฐานดังแสดง ทุกประการพอสมควรแก่เวลาด้วยประการฉะนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘