วิธีนั่งสมาธิ

วิธีนั่ง
...........................

          คู้บัลลังก์ขัดสมาธิ เท้าขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย เว้นหัวแม่มือทั้งสองให้ห่างกันสององคุลี คือหัวแม่มือซ้ายจดกับปลายนิ้วชี้ขวา แล้วตั้งกายให้ตรง คือวัดตั้งแต่ปลายนิ้วชี้ขวา แล้วตั้งกายให้ตรง คือวัดตั้งแต่ปลายนิ้วชี้ของเท้าขวาถึงกลางลูกสะบ้าของหัวเข่าขวานั้น แล้วเอาเครื่องวัดนั้นจดลงที่ตรงบนตาตุ่มขาขวาแล้วเอาเครื่องวัดอีกข้างหนึ่งจดเข้าที่ใต้ลูกคางนี้เป็นส่วนของกายตรงเรียก 
อุชํ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง


          
ปริมุขํ สตึ อุปฏฺฐเปตฺวา เข้าไปตั้งสติไว้ให้มีหน้ารอบ คือเข้าไปตั้งสติไว้ไม่ให้เผลอ (ตรงกับพระขีณาสพ ผู้เป็นสติวินัย มีสติทุกเมื่อ) นี่เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ สติไม่เผลอจากบริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิต ให้ติดกันไม่แยกแตกจากกัน นี้แลเป็นของสำคัญในเรื่องที่จะเป็น หรือไม่เป็น สติไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง บริกรรมว่า “สัมมาอะระหัง” นี้เรียกว่า บริกรรมภาวนา 

         กำหนดเครื่องหมายให้ใสเหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา ประมาณเท่าวงของตาดำใสขาวเหมือนกระจกที่ส่องเงาหน้า สัณฐานกลมรอบตัวไม่มีตำหนิ เรียบรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ นี้เรียกว่า บริกรรมนิมิต 


          บริกรรมทั้งสองนี้พรากจากกันไม่ได้ ต้องให้ติดกันอยู่เสมอในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เผลอ ให้มีสติอยู่เสมอไม่ให้ขาด เมื่อเห็นดวงนิมิตเกิดเป็นดวงใสขึ้นแล้ว ให้หยุดบริกรรมภาวนาเพ่งอยู่ที่กลางดวงนั้น แล้วทำใจให้หยุดในหยุด ที่กลางดวงนั้นมีจุดเป็นเครื่องหมาย ให้ใสหนักขึ้นทุกที จนเป็นรัศมีคือแสงสว่าง ถ้าไม่หยุดให้บริกรรมภาวนาไว้ว่า 
“สัมมาอะระหัง” ร้อยครั้งพันครั้ง หยุดอยู่ที่เดียว ดังจะอธิบายข้างหน้าเป็นลำดับไป 
วิธีทำสมาธิ 
          วิธีทำสมถวิปัสสนาต้องมี บริกรรมภาวนา กับ บริกรรมนิมิต เป็นคู่กัน 
          
บริกรรมนิมิต ให้กำหนดเครื่องหมายเข้า ดวงใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไน แล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูกซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้าปากช่องจมูกขวา อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม ใจของเราที่ยึดไปยึดมา แวบไป แวบมา ให้เอาใจไปอยู่เสียในบริกรรมนิมิตปากช่องจมูกหญิงซ้ายชายขวา ข้างนอกดวงโตเท่าแก้วตา ข้างในดวงโตเท่าเมล็ดพุทธรักษาใสขาวเหมือนกระจกส่องเงาหน้า หญิงกำหนดปากช่องจมูกซ้าย ชายกำหนดปากช่องจมูกขวา 

กำหนดฐานทั้ง ๗ 

          
ให้บริกรรมภาวนา ประคองบริกรรมนิมิตนั้นไว้ว่า “สัมมาอะระหัง” ตรึกถึงดวงที่ใส ใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส“สัมมาอะระหัง” ตรึกถึงดวงที่ใส ใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส “สัมมาอะระหัง” ตรึกถึงดวงที่ใส ใจหยุดอยู่กลางดวงที่ใส นิ่งอยู่ที่นั่น นี่ฐานที่ ๑ 

          
ฐานที่ ๒ เลื่อนไปที่เพลาตา หญิงอยู่ซีกข้างซ้าย ชายอยู่ซีกข้างขวา ตรงหัวตา ที่มูลตาออกมา ตามช่องลมหายใจเข้าออกข้างใน แล้วให้บริกรรมประคองเครื่องหมายที่เพลาตานั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ๓ ครั้ง แบบเดียวกัน 

          แล้วเลื่อนเครื่องหมาย ตรงลำดับเพลาตา เข้าไปที่กลางกั๊กศีรษะข้างใน ไม่ให้ค่อนซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนกลางกั๊กพอดี ที่นี่เรียกว่า 
ฐานที่ ๓ แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายที่กลางกั๊กศีรษะข้างใน ว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ๓ ครั้ง 

          ตรงนี้มีลัทธิพิธี ต้องกลับตาไปข้างหลัง ให้ตาค้างเหมือนคนชักจะตาย เราหลับตาอยู่ช้อนขึ้นข้างบน เหลือกขึ้นข้างบน เหลือกไปๆ จนค้างแน่น ให้ความเห็นกลับไปข้างหลังแล้ว ค่อยๆ ให้เห็นกลับเข้าข้างใน 

          พอตากลับเข้าข้างใน ก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่ ๓ นี้ไปเป็น
ฐานที่ ๔ ที่ปากช่องเพดาน ที่รับประทานอาหารสำลัก อย่าให้ล้ำให้เหลื่อม พอดี แล้วบริกรรมประคองเครื่องหมายในฐานที่ ๔ นั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ๓ ครั้ง 

           แล้วก็เลื่อนเครื่องหมายจากฐานที่ ๔ ไป
ฐานที่ ๕ ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก เหมือนกลางกั๊กปากถ้วยแก้ว ตั้งไว้ปากช่องคอ บริกรรมประคองเครื่องหมายที่ปากช่องคอนั้นว่า “สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ๓ ครั้ง 

          แล้วเลื่อนเครื่องหมายลงไป
ฐานที่ ๖ กลางตัว สูดลมหายใจเข้าออก สะดือทะทุหลัง ขวาทะทุซ้าย กลางกั๊กข้างใน ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่ใจหยุดนั่นทีเดียว ตั้งตรงนั้น เอาใจของเราจรดเข้าที่ดวงใสนั้น แล้วบริกรรมภาวนาว่า“สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง” ๓ ครั้ง 

          แล้วถอยหลังจากฐานที่ ๖ มาที่เหนือกลางตัวเรานี้ขึ้นมา ๒ นิ้ว ฐานนั้นเรียกว่า 
ฐานที่ ๗ 

          
ฐานที่ ๗ นั้นมีศูนย์ ๕ ศูนย์ ๑.ศูนย์กลาง ๒.ศูนย์ข้างหน้า ๓.ศูนย์ข้างขวา ๔.ศูนย์ข้างหลัง ๕.ศูนย์ข้างซ้าย ศูนย์กลางคืออากาศธาตุ ศูนย์ข้างหน้า ธาตุน้ำ ศูนย์ข้างขวา ธาตุดิน ศูนย์ข้างซ้าย ธาตุลม ศูนย์ข้างหลัง ธาตุไฟ เครื่องหมายใสสะอาด คือ ช่องอากาศ ตรงนั้นเรียกว่า “ศูนย์” 


          ทำไมถึงเรียกว่า “ศูนย์” ตรงนั้น เวลาสัตว์ไปเกิดมาเกิดแล้วก็มาอยู่ในที่สิบ อยู่ในกลางดวงนั้น กายละเอียดอยู่ในกลางดวงนั้น เมื่อพ่อแม่ประกอบธาตุธรรมถูกส่วนเข้าแล้วก็ตกศูนย์ทีเดียว พอตกศูนย์ก็ลอยขึ้นมา ลอยขึ้นมาเหนือกลางตัว ๒ นิ้ว โตเท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่ใสเป็นกระจกส่องเงาหน้า นี่มันจะเกิดละ ตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์ 

          ศูนย์นั้นเป็นสำคัญนัก จะเกิดมาในมนุษย์โลกก็ต้องเกิดด้วยศูนย์นั้น จะไปนิพพาน ก็ต้องเข้าศูนย์นั้นไปเหมือนกัน จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็เข้าศูนย์นั้นเหมือนกัน แบบเดียวกัน 

          จะตายจะเกิดเดินตรงกันข้าม ถ้าว่าจะเกิดก็ต้องเดินนอกออกไป ถ้าว่าจะไม่เกิด ก็ต้องเดินเข้าไป กลางเข้าไว้ หยุดเข้าไว้ ไม่คลาดเคลื่อน 
ข้อแนะนำ

          ทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหน ให้พอใจแค่นั้น อันจะเป็นเครื่องสกัดกั้นมิให้เกิดความอยากมากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการปฏิบัติบังเกิดผลแล้ว ให้หมั่น ตรึกระลึก นึกถึงอยู่เสมอ จนกระทั่งดวงปฐมมรรคกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว กับลมหายใจ หรือนึกเมื่อใดเป็นเห็นได้ทุกที อย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุข ความสำเร็จและความไม่ประมาทได้ตลอดไป ทั้งยังจะทำให้สมาธิละเอียดอ่อนก้าวหน้า ไปเรื่อยๆ ได้อีกด้วย 
ข้อควรระวัง

๑. อย่าใช้กำลัง คือไม่ใช้กำลังใดๆ ทั้งสิ้น เช่นไม่บีบ กล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่เกร็งตัว เพราะการใช้กำลังตรงส่วนไหนของร่างกายก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจาก ศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น 

๒. อย่าอยากเห็น คือทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติ มิให้ เผลอจากบริกรรมภาวนาและบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิต เมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การ บังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตก ของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่งเวลาได้ 

๓. อย่ากังวล ถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการ ฝึกสมาธิเจริญภาวนาวิชชาธรรมกาย อาศัยการน้อมนึก อาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่างเป็นบาทเบื้องต้น เมื่อ เกิดนิมิตเป็นดวงสว่าง แล้วค่อยเจริญวิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดลมหายใจเข้าออก แต่ประการใด 

๔. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์ กลางกายที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืนก็ดี เดินก็ดี นอนก็ดี หรือนั่งก็ดี อย่าย้าย ฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจ บริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้ว ใสควบ คู่กันตลอดไป 

๕. นิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ ศูนย์กลางกายทั้งหมด ถ้านิมิตที่เกิดขึ้นแล้วหายไป ก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นใหม่อีก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘