กัณฑ์ที่ ๔๓ สติปัฏฐานสูตร ๓ ตุลาคม ๒๔๙๗

กัณฑ์ที่ ๔๓ สติปัฏฐานสูตร ๓ ตุลาคม ๒๔๙๗

นโม  ตสฺส  ถควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม  ตสฺส  ถควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม  ตสฺส  ถควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ.  
อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ.
อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก  อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ.
อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย   โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ
ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ.
อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ

ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยเรื่อง  ธรรม  ที่ทำให้เป็น ธรรมกาย เป็นธรรมที่แน่แท้ในพระพุทธศาสนา  จะแสดงตามคลองธรรมของ สติปัฏฐานสูตร ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เป็นหลักเป็นประธานมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น เป็นโพธิปักขิยธรรม  เป็นไปในเรื่องฝ่ายเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เหมือนกันหมด ปรากฏดังนี้ เหตุนั้นตามวาระพระบาลีแห่งมหาสติปัฏฐานสูตรที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า  อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ กาเย กายา นุปส ฺสี วิห รติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย  โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ

ว่าดูกรภิกษุทั้งหลายผู้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ กาเย กายานุปสฺสี เห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่   อาตาปี มีความเพียรเป็นเครื่องเผายัง กิเลสให้เร่าร้อน สมฺปชาโน รู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ สติมา มีสติไม่เผลอ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา-โทมนสฺสํ พึงกำจัดความดีใจเสียใจในโลกเสียให้พินาศ  เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนนสฺสํ  เห็น เวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงจำกัด อภิชฌาโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌา  โทมนสฺสํ เห็น จิตในจิตเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผายังกิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ  มีสติไม่เผลอ พึงกำจัด อภิชฌาโทมนัส ในโลกเสียให้พินาศ  ธมฺเมสุ ธมฺมานฺปสฺสี วิหรติ อาตาปี สมฺปชาโน สติมา วิเนยฺยํ โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน มีความรู้สึกตัวพร้อมอยู่เสมอ มีสติไม่เผลอ พึงกำจัดความเพ่งอยากได้ ความเสียใจในโลกเสีย นี้เป็นเนื้อความของวาระพระบาลีในมหาสติปัฏฐานสูตร แสดงหลักไว้ตามจริงดังนี้รับรองหมดทั้งประเทศไทยว่าเป็นข้อที่ถูกต้องแน่นอน แล้ว ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป

พิจารณาจะแสดง ธรรม ที่ทำให้เป็น ธรรมกาย นี้ เป็นข้อที่ลึกซึ้งของยาก ได้ไม่ยากแต่ว่าไม่ง่าย ไม่ยากแก่บุคคลที่ทำได้ ไม่ง่ายสำหรับบุคคลที่ทำไม่ได้ ตำราได้กล่าวไว้ว่าเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่เห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ ๔ ข้อ

เห็นกายในกาย น่ะเห็นอย่างไร บัดนี้กายมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ นั่งเทศน์อยู่นี่ นั่งฟังอยู่นี่ นี่กายมนุษย์แท้ๆ แต่ว่ากายมนุษย์นี่แหละเวลานอนหลับฝันไปก็ได้ พอฝันออกไปอีกกายหนึ่ง เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด นี่รู้จักกันทุกคนเชียวกายนี้ เพราะเคยนอนฝันทุกคน รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร เป็นเหมือนมนุษย์คนนี้แหละ คนที่ฝันนี่แหละ นุ่งห่มอย่างไร อากัปกิริยาเป็นอย่างไร สูงต่ำอย่างไร ข้าวของเป็นอย่างไร ก็ปรากฏเป็นอย่างนั้น ก็ปรากฏเป็นคนนี้แหละแบบเดียวกันทีเดียว คนเดียวกันก็ว่าได้ แต่ว่าเป็นคนละคน เขาเรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด เวลานอนหลับสนิทถูกส่วนเข้าแล้ว ก็ฝันออกไป ออกไปอีกคนหนึ่งก็เป็นกายมนุษย์คนนี้แหละ  รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างนี้แหละ ถึงได้ชื่อว่าเป็นกายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์คนที่ฝันออกไปนั่นแหละเขาเรียกว่า กายมนุษย์ในกายมนุษย์ นี่แหละ กายในกาย หละ เห็นจริงๆ อย่างนี้ ไม่ใช่เห็นตามเหลวไหลเห็นอย่างนี้ก็เป็นหลักเป็นพยานได้ทุกคน เพราะเคยนอนฝันทุกคน นี่เห็นในกายเห็นอย่างนี่นะ เมื่อเห็นกายในกายอย่างนี้แล้ว

เห็นเวทนาในเวทนา ล่ะ ก็ตัวมนุษย์คนนี้มีเวทนาอย่างไรบ้าง สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนาเป็นอย่างนั้นมิใช่หรือ ก็ส่วนกายที่ฝันออกไปนั้นก็มีสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เหมือนกันแบบเดียวกันกันกายมนุษย์คนนี้แหละ ไม่ต่างอะไรกันเลย

จิตล่ะ เห็นจิตในจิต ก็แบบเดียวกันกับเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิตนี่ ต้องกล่าว “เห็น”นะ ไม่ใช่กล่าว “รู้” นะ เห็นจิตในจิต ดวงจิตของมนุษย์นี้เท่าดวงตาดำข้างนอก อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ตำรับตำรากล่าวไว้ว่า หทยคูหา จิตฺตํ สรีร จิตฺตํ เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย เนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ แล้วก็กล่าวไว้อีกหลายนัย ปกติมโน ใจเป็นปกติ ภวงฺคจิตฺตํ ใจเป็นภวังคจิต ตํ ภวงฺคจิตฺตํ อันว่าภวังคจิตนั้น ปสนฺนํ อุทกํ วิย จิตเป็นดังว่าน้ำ จิตนั่นแหละเป็นภวังคจิต เลวาตกภวังค์แล้วใสเหมือนกับน้ำที่ใส จิตดวงนั้นแหละเป็นจิตของมนุษย์ ที่ต้องมีปรากฏว่า จิตในจิตนั่นแหละอีกดวงหนึ่งคือ  จิตของกายมนุษย์ละเอียด ที่ฝันออกไปนั้นเรียกว่า จิตในจิต

ธรรมในธรรม เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ เป็นฉไนเล่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ มีอยู่ในศูนย์กลางกายมนุษย์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ในกลางกายมนุษย์ นี่เห็นธรรมในธรรมหละ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดมีอยู่ ไม่เท่าฟองไข่แดงของไก่ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนี้แหละ สองเท่าฟองไข่แดงของไก่ นั่นเป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด นั่นอีกดวงหนึ่ง นั่นเห็นอย่างนี้ เห็น หรือรู้ ล่ะ รู้กับเห็นมันต่างกันนะ เห็นอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง นะ ไม่ใช่เอารู้กับเห็นมาปนกัน ไม่ได้

กาเย กายานุปสฺสี เห็นกายในกาย เห็นเหมือนอะไร เห็นเหมือนนอนฝันอย่างนั้นซี เห็นจริงๆ อย่างนั้น ตากายมนุษย์นี่เห็นหรือ ตากายฝันมันก็เห็นละซี จะไปเอาตากายมนุษย์นี่เห็นได้อย่างไรล่ะ ตากายมนุษย์นี่มันหยาบนี่อ้ายที่เห็นได้นั่นมันตากายมนุษย์ละเอียดนี่  มันก็เห็นกายโด่ ๆ อย่างนั้น

เห็นเวทนาในเวทนา เล่า ถ้าว่าเมื่อทำถูกส่วนเข้าเช่นนั้นละก็ เห็นเวทนาจริงๆ สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เวทนา ๓ หรือ เวทนา ๕ เห็นจริงๆ เป็นดวง เป็นดวงใส เวทนา เวทนาแท้ๆ สุขก็ดวงใส ทุกข์ก็ดวงข้น ดวงขุ่นไม่สุข ไม่ทุกข์ ก็ดวงปานกลาง เห็น ชัดๆ เป็นดวงขนาดไหน ถ้าเต็มส่วนมันเข้าก็เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น ดวงเวทนาขนาดนั้น ถ้าลดส่วนลงไปก็โตได้เล็กได้ นั่นเห็นเวทนาในเวทนา เห็นอย่างนั้นเชียว เห็นเหมือนนอนฝัน กายละเอียดทีเดียว เห็นเวทนาเป็นดวงทีเดียว แต่ว่าสุขก็อยู่ในสุขของมนุษย์นี่ ทุกข์ก็อยู่ในทุกข์ของมนุษย์นี่ไม่สุขไม่ทุกข์กอยู่ก็อยู่ในไม่สุขไม่ทุกข์ ของมนุษย์นี่ ดีใจก็อยู่ในดีใจของมนุษย์นี่ เสียใจก็อยู่ในเสียใจของมนุษย์นี่ เขาเรียกว่า เวทนาในเวทนา เป็นดวงพอๆกัน เท่าๆ กัน

เห็นจิตในจิต ล่ะ ดวงจิตตามส่วนของมันก็เท่าดวงตาดำข้างนอก ถ้าไปเห็นเข้ารูปนั้นมันขยายส่วน วัดเท่าดวงจันทร์ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ดวงจิตก็ขนาดเดียวกัน ไปเห็นจริงๆ เข้าเช่นนั้น ขยายส่วนเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ในดวงจิตกายมนุษย์หยาบนี่แหละ แต่ว่าเป็นดวงจิตของกายมนุษย์ละเอียด อยู่ในกายมนุษย์ละเอียดโน่น แต่ว่าล้อมอยู่ข้างในนี่แหละ

เห็นธรรมในธรรม ล่ะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ เมื่อไปเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดเข้าแล้วดวงธรรมที่ทำให้ เป็นกายมนุษย์ก็ขยายส่วนได้ โตได้ขนาดดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน ขนาดๆเดียวกัน ขยายส่วนออกไป นั้นได้ชื่อว่า เห็นธรรมในธรรม คือในกายมนุษย์นั้นเอง ในกายมนุษย์ละเอีย ดนั้นนี่รู้จักชั้นหนึ่งล่ะนะ

เมื่อเห็นเข้าเช่นนี้เราจะทำอย่างไร ตำรากล่าวไว่ว่า อาตาปี เพียรให้กลั่นกล้าๆ หายทีเดียว เพียรไม่ย่อท้อไม่ถอยทีเดียว เอาเป็นเอาตายทีเดียว  เรียนกันจริงต้องใช้ความเพียรประกอบด้วยองค์สี่ทีเดียว องค์สี่นั้นอะไรบ้าง เนื้อเลือด กระดูก หนัง หนังเนื้อเลือด จะแห้งเหือดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูกหนังช่างมันไม่ลดละ ใจต้องจรดอยู่ทีเดียว ในกาย เวทนา จิต ธรรมนั้น ไม่เคลื่อนหละ จรด อยู่ในกาย จะต้องจรดอยู่ทีเดียว ไม่ไปอื่นกันหละ ฝันไม่กลับกันละ ฝันกันเรื่อยไป แม้จะกลับมาก็เล็กน้อย ฝันไปอีก ฝันไม่เลื่อนกันหละ ให้ชำนาญทีเดียว ฝันในฝัน นั่งก็ฝันได้ เดินก็ฝันได้ ยืนก็ฝันได้ ขี้เยี่ยวก็ฝันได้ทีเดียวนี่เขาเรียกว่า  อาตาปี เพียรเข้าเร่งเร้าเข้าอย่างนี้ สมฺปชาโน สติมา รู้อยู่เสมอไม่เผลอ เผลอไม่ได้ เผลอก็จะหายเสียเท่านั้น ถ้าได้ใหม่ เป็นใหม่ๆ เผลอไม่ได้ เป็นหายทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องไม่เผลอกันทีเดียว ไม่วางธุระ ให้เอาใจใส่ ไม่เอาใจใส่ไปจรดที่อื่น ให้จรดอยู่ที่กาย เวทนา จิต ธรรม ในกายนั้นแหละ

จรดอยู่ใน กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม สี่อย่างนั้นจรดได้ หรือ จรดที่ไหนละ ที่จรดเขามี ที่ตั้งของใจเขามี ที่จรดเขามีแต่ว่า สี่อย่างนั้นจะดูเวลาไรก็เห็นเวลานั้น  เหมือน กายมนุษย์นี้ ถ้าว่าทำเป็นละก็จะเห็นปรากฏ ที่นี้ไม่มีความเห็น มีแต่ความรู้ กายของตัวเห็นอยู่เสมอ เวทนาของตัวก็รู้สึกอยู่เสมอ จิตของตัวก็รู้สึกอยู่ เสมือนให้รู้สึกอยู่เสมอ ธรรมของตัวก็รู้สึกอยู่เสมอ ความดีของตัวไม่มีชั่วเข้ามาเจือปน รุ้อยู่อย่างนี้ ส่วนกายมนุษย์ละเอียดเห็นปรากฏ เมื่อเห็นปรากฏดังนี้ละก็ นี่แหละหลักจริงในพระพุทธศาสนา รู้จักเท่านี้แล้ว อย่ารู้จักแต่เพียงว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพียงเท่านั้นนะ ยังมีอีกหลายชั้น นับชั้นไม่ถ้วน นี่ชั้นหนึ่งละนะ เข้าไปอีกชั้นหนึ่ง กายในกาย นั้น เขาเรียกว่า ฝันในฝัน อย่างไรละ ฝันในฝัน กายที่ฝันไป  ทำงานเหนื่อยเข้าก็จะแสดงฝันเต็มเกมของการฝันเข้า  เหนื่อยเข้าไปนอนหลับ นอนหลับฝันเข้าอีกแหละ กายฝันๆเข้าอีกนี่ เขาเรียกว่า ฝันในฝัน ฝันในฝันเป็นอย่างไรล่ะ รุดออกไปอีกกายละซิ ออกไปอีกกายก็เป็นกายทิพย์ ที่นี้เป็นกายทิพย์เข้าไปอีกกาย เป็นกายทิพย์ กายทิพย์ก็เห็นโด่อีกนั้นแหละ เหมือนกับกายมนุษย์ที่ฝันนั่นแหละ แบบเดียวกันไม่เปลี่ยนไม่แปลงอะไรกันมากนัก เหมือนกระจกคันฉ่องมาส่องเงาหน้า เอามาเทียบกันดู จำได้ทีเดียว นี้คนเดียวกันไม่ใช่แยกกัน นี่กายคนเดียวกัน เมื่อรู้จักเช่นนั้นแล้ว เห็นกายในกายที่สามเข้าไปแล้ว ไม่ใช่ที่สองแล้วเวทนาก็แบบเดียวกัน เห็นอย่างเดียวกัน เวทนาตั้งอยู่ตรงไหน จะว่าเวทนาตั้งอยู่ตรงไหน อยู่กลางกาย กายที่ฝันในฝันนั่นแหละ กายที่สามนั่นแหละ อยู่กลางกายนั่นแหละ เวทนาในเวทนา จิตในจิตก็อยู่ในกลางวเวทนานั่นแหละ ธรรมในธรรมก็อยู่กลางจิตนั่นแหละ ธรรมในธรรมนั่นไม่ใช่อยู่ที่ไหนหรอก เป็นดวงเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ปริสุทธิ์สนิทเท่าๆ กัน นี่เหมือนฝันในฝันตัวจริงอย่างนี้ ไม่ใช่คลาดเคลื่อน ที่วัดปากน้ำ ดำเนินปฏิบัติ ไม่ได้เอาเรื่องอื่นมาเหลวไหล ค้นเข้าไปถึงตัวจริงอย่างนี้ นี่ ก็เป็นสามกายละนะ เข้าไปสามกายแล้ว ฝันในฝันนั่นได้เท่านี้ก็พอแล้ว ได้เท่านี้ก็พอเอาเป็นตัวอย่าง ได้เท่านี้ก็เดินในแนวนี้ เป็นตำราอย่าถอยหลังก็แล้วกัน มันจะมีกี่ร้อยกายพันกายก็ไปเถอะ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้าไปอย่างนี้แหละ ไม่คลาดเคลื่อนทีเดียว แต่ว่าที่จะเข้ารูปนี้นะ แสดงไว้เมื่อวันพระที่แล้ว แสดงไว้แล้วตั้งแต่ เอกายนมรรค โน้นยังค้างอยู่กายในกาย ยังไม่กว้างออกไป ที่นี้จะแสดงให้กว้างออกไปว่า ได้ความอย่างนี้ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อย่างนี้แหละ นี่เป็นกายที่สาม

กายที่สี่ กายทิพย์ละเอียดอีก ฝัน ในฝันเข้าไปอีก เป็นสี่ชั้น สี่ฝันแล้วแบบเดียวกัน เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม แบบเดียวกัน แล้วกายทิพย์ละเอียดฝันเข้าไปในฝันเข้าอีก เป็นสี่ฝันสี่ชั้นเข้าไป ก็เห็น กาย เวทนา จิต ธรรม อีก ก็ต้องมีความเพียนอีก เผลอไม่ได้นะ เพียรให้มีสติไว้เสมอ ไม่เผลอ นำอภิชฌาโทมนัสในโลกออกเสีย อย่าให้ความดีใจเสียใจแลบเข้าไปได้นะ ถ้าความดีใจเสียใจแลบเข้าไปได้ เดี๋ยวไม่ฝันอีกละ ต้องตื่นหละเพราะต้องกลับออกมาแล้วไม่ได้เสียแล้ว ความดีใจแลบเข้าไป แลบเข้าไปอย่างไรละ แลบเข้าไปลึกซึ้ง เข้าไปฝันๆ อย่างนั้นแหละ ความดีใจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เข้าไปแต่งหละ เสียใจหละ ไม่สมเจตนาก็เสียใจหละ ดีใจเสียใจแลบเข้าไปแล้วเป็นขุ่นมัวทีเดียวประเดี๋ยวก็ต้องถอยออกมา ที่นี้ก็ฝันไม่ได้ ก็ต้องเลิกกันเ เพราะฉะนั้นความดีใจเสียใจนี้ร้ายนัก ไม่ใช่ร้ายแต่เมื่อเวลาปฏิบัติธรรม เห็นธรรมอย่างนี้น่ะ ถึงเวลาเราดีๆอยู่ อ้ายความดีใจเสียใจนี่แหละที่ทำให้ต้องกระโดดน้ำตาย กินยาตาย ผูกคอตาย ดีใจเสียใจนี้แหละมันเต็มขีด เต็มส่วนของมัน บังคับอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความดีใจเสียใจ เป็นมารร้ายทีเดียว ถ้าว่าใครให้เข้าไปอยู่ในใจบ่อยเข้าก็หน้าดำคร่ำเครียด ร่างกายไม่สดชื่นละซิ เศร้าหมองไม่ผ่องใสหรอก เพราะอะไร เพราะดีใจเสียบังคับมัน ทำให้เดือดร้อ่น หน้าดำคร่ำเครียดทีเดียว บางคนไม่อ้วนผอมเป็นเกลียวทีเดียว เพราะความดีใจเสียใจทั้งหมดอยู่ที่มันไม่ปล่อยมันไป ถ้าว่าทำให้สบายสดชื่นให้ชื่นใจ เย็นอกเย็นใจ สบายใจ จะมั่งมีดีจนอย่างไรก็ช่างทำใจให้เบิกบานไว้ ร่างกายมันก็ชุ่มชื่นสบาย นี่อ้ายดีใจเสียใจมันฆ่ากายมนุษย์อยู่อย่างนี้ กายมนุษย์ละเอียดก็ฆ่า  กายทิพย์ก็ฆ่า กายทิพย์ละเอียดก็ฆ่า ฆ่าทั้งนั้นทุกกาย ความดีใจเสียใจต้องคอยระวังไว้ให้ดี ท่านจึงได้สอนนักว่า ให้ทำความดีใจและเสียใจในโลกเสียให้พินาศ

ดีใจเสียใจในโลกนะ ดีใจเสียใจในอัตตภาพร่างกายโลกนั้นคือขันธ์ ๕ นี้แหละ ร่างกาย อันนี้แหละเป็นตัวโลกสำคัญนัก เขาเรียกว่า สัตว์โลก โอกาสโลก ขันธ์โลก สัตว์โลก โอกาสโลก ก็ ว่าง ที่ว่างๆ เหล่านี้ ที่ว่างๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม ที่ว่างๆ เหล่านี้เขาเรียกว่าโอกาสโลก ขันธ์โลก ก็เป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเดียว สัตว์โลก ที่อาศัยขันธ์นั่นแหละ ที่ไปเกิดมาเกิดเป็นกายๆ นี้แหละ เข้าไปในกายข้างในนี่เป็นสัตว์ทั้งนั้น เป็น ชั้นๆ ๆ เข้าไป สัตว์โลกเป็นชั้นๆ เข้าไป สัตว์โลกทั้งนั้น เมื่อเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมใรนธรรมของกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดแล้ว กายทิพย์ละเอียดนั้นแหละ ฝันในฝัน เป็นข้อสี่ออกไปอีก

กายในกายเป็นกายที่ห้าก็คือ กายรูปพรหม กายรูปพรหมก็มี กาย เวทนา จิต ธรรมเหมือนกับปรากฏดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องอธิบาย เวลาจะไม่พอ ย่นย่อพอควรแก่กาลเวลา กายรูปพรหมนั้นแหละ ฝันในฝันเข้าไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกาย เป็น รูปพรหมละเอียด ก็เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม อีกแบบเดียวกัน กายรูปพรหมละเอียด ฝันในฝันเข้าไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกาย เรียกว่า  กายอรูปพรหม ใน กาย เวทนา จิต ธรรม แบบเดียวกัน กายอรูปพรหมฝันออกไปอีกได้เหมือนกัน ออกไปอีกกายเรียกว่า กายอรูปพรหมละเอียด มีกาย เวทนา จิต ธรรม แบบเดียวกัน กายอรูปพรหมละเอียดนั่นแหละ ฝันในฝันเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่ง เรียก กายธรรม

กายธรรมก็มี กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน กาย ก็คือ ธรรมกาย เวทนา ก็คือ เวทนาของธรรมกายนั่นแหละ จิต ก็จิ ตของธรรมกายนั่นแหละ ธรรมก็เป็นธรรมดาของธรรมกายนั่นแหละ ขยายส่วนขึ้น ดวงใหญ่วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย ธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมนั่น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายเท่าหน้าตักธรรมกาย ธรรมกายนั่นแหละฝันได้อีกเหมือนกัน ออกไปอีก กายเรียกว่า กายธรรมละเอียด ใหญ่ออกไปหน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูมใสหนักเข้าไป มี กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน

ธรรมกายละเอียดนั่นแหละฝันออกไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่ง มีกายพระโสดา เป็น กายพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา เกตุดอกบัวตูมใสหนักขึ้นไป กายพระโสดานั่นแหละพอทำถูกส่วนเข้า ออกไปอีกกายหนึ่งแบบฝันนั่นแหละ ออกไปอีกกายหนึ่ง เป็น กายโสดาละเอียด หน้าตักกว้าง ๑๐ วา สูง ๑๐ วา มี กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน

ธรรมกายละเอียดของพระโสดานั่นแหละ ฝันเข้าไปอีกเหมือนกันออกไปอีกกายหนึ่ง เรียกธรรมกาย พระสกทาคา หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วาขึ้นไป พระสกทาคาก็ฝันเข้าไปอีก ออกไปอีกกายหนึ่ง เป็นกาย พระสกทาคาละเอียด หน้าตัก๑๕ วา สูง ๑๕ วา มีกาย เวทนา จิต ธรรม แบบเดียวกัน กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม แบบเดียวกัน

กายพระสกทาคาละเอียดฝันไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่งเป็น กายพระอนาคา หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕วา ธรรมกายพระอนาคาฝันไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่ง เรียกว่า พระอนาคาละเอียด หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

ธรรมกายพระอนาคาละเอียดนั้นแหละฝันไปได้อีกเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่งเรียกว่ากาย พระอรหัตต์ หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูมใสหนักขึ้นไป กายพระอรหัตต์นั้นแหละฝันไปอีกเหมือนกัน ออกไปอีกกายหนึ่งเรียกว่า พระอรหัตต์ละเอียดใหญ่ หนักขึ้นไป มี เวทนา จิต ธรรม แบบเดียวกันฝันออกไปอย่างนี้แหละ มีธรรมกายพระอรหัตต์ในพระอรหัตต์ เป็นพระอรหัตต์ละเอียดๆๆต่อๆไปนับอสงไขยไม่ถ้วน

ฝันออกไปอย่างนี้แหละ หมดกายพระอรหัตต์ มีกายพระพุทธเจ้าก็ได้ กายในกาย กายในๆๆๆๆ มันก็อย่างนี้แหละ ผู้เทศน์นี้ได้ทำวิชานี้ ๒๓ ปี ออกพรรษานี้ก็ ๓ เดือน เต็มหละ ยังไม่หมดกายละเอียดเหล่านี้เลย ไม่ได้ถอยกลับเลย  ยังไม่หมดกายละเอียดเหล่านี้เลย ยังไมถึงที่สุด ไป ทูลถามพระพุทธเจ้าองค์เก่าแก่ที่เข้านิโรธเข้านิพพานไปแล้ว ถอยเข้าไปหากายละเอียดนี้นะ ไปถึงแล้วหรือยัง แล้วไม่มีใครรู้เลยว่าไปถึงหรือยัง  เอาละซิคราวนี้นี่ศาสนาตัวจริงของกายมนุษย์เป็นอย่างนี้ พวก เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องไปตรวจของตัว เข้านิพพานแล้วต้องไปตรวจของตัว เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นแล้วเข้านิพพาน ก็ต้องไปตรวจกายของตัวอย่างนี้แหละ ว่าที่สุดอยู่ที่ไหน ต้องไปถึงที่สุดให้ได้ ต้องไปบอกที่สุดให้ได้ นี่ เป็นความจริงเป็นอย่างนี้นะ รู้จักความจริงอย่างนี้แล้วละก็อย่าเพลินล่ะ อย่าเลอะเทอะที่อื่น ไม่ใช่ของตัว ให้เอาใจจรดจี้ตัวของตัว กลับให้เข้าไปถึงกายทิพย์ให้ได้ ว่ากายที่สุดของตนอยู่ที่ไหน เมื่อไปถึงที่สุดของตัวได้ละก็ รักษาตัวได้เป็นอิสระ ไม่มีใครมาบังคับบัญชา ถ้ายังไม่ถึงที่สุดของตัวแล้วก็หวานเลย เขาจะต้องบังคับบัญชาแกท่าเดียวเท่านั้นแหละ แกจะต้องเป็นบ่าวเป็นทาสเขา เวลามีพญามารมาบังคับใช้สอยเป็นบ่าวเป็นทาส เขาจะใช้ทำอะไรทำได้ ให้ด่า ให้ตี ให้ชก ให้ฆ่า ให้ฟันแกงก็ได้ ธรรมกายมาร บังคับ มันบังคับได้อย่างนี้เชียวนะ ให้เป็นบ่าวเป็นทาสเขา ให้เลวทรามต่ำช้า ให้เป็นคนจน อนาถาติดขัดทุกสิ่งทุกอย่าง เครื่องกินเครื่องใช้ขาดตกบกพร่อง เครื่องกินเครื่องให้ไม้สอยไม่มี มารเขาทำได้ บังคับได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวไม่ยินดีสละในตัว เพราะตัวไม่เป็นใหญ่ในตัว เพราะตัวไม่รู้จักที่สุดของตัว นี่ที่สุดของตัวนี่ มนุษย์ทั่วไปเป็นอย่างนี้ เห็นไหมล่ะ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น พระ พุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านก็ไปถึงที่สุดเหมือนกัน ถ้าใครไปยังไม่ถึงที่สุดก็ยังไม่ฉลาดเต็มที่ ต่อเมื่อไปให้ถึงที่สุดกายของตัวต่อไปแล้วละก็ฉลาดเต็มที่แน่ ตัวของตัวเองมีชีวิตพึ่งแก่ตัวเองได้แล้ว นี้เป็นข้อสำคัญที่สุดนะ มาเจอพุทธศาสนานี่แล้วเห็นไหม จะไปทำเรื่องอื่น จะไปหลงเลอะเทอะ เอ้า! มีครอบครัวแล้วได้อะไรบ้าง ได้ลูกคนหนึ่ง แล้วเอาไปทำไมล่ะ เอามาเลี้ยง ๑๐ คน เอาไว้เลี้ยงอย่างไงก็เลี้ยงไป บ่นโอ๊กแล้ว เอ้าได้ห้าสิบคน เอ้า! เอาไว้เพียงเท่านี้ เอ้า! เปะปะไปซี ยากได้ลูกอีกไหมละ ไม่จริง เหลว โกงตัวเอง โกงตัวเอง พาให้เลอะเลือน ไม่เข้าไปค้นกายของตัวให้ถึงที่สุด ไม่ให้เข้าไปค้นตัวให้ถึงที่สุด เป็นมนุษย์กับเขาทั้งที เพราะเชื่อกิเลสเหลวไหลเหล่านี้แหละจึงได้เลอะเลือนจะครองเรือนไปสักกี่ร้อยปีก็ครองไปเถิด มันงานเรื่อง ของ คนอื่นเขาทั้งนั้นเรื่องของพญามารทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องของตัว ไม่ใช่งานของตัว ไปทำงานให้พญามาร เขาทั้งวันทั้งคืน เอาเรื่องอะไรไม่ได้

เพราะอะไรล่ะ เพราะไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เกิดมาพบอย่างไงก็ไปอย่างนั้นแหละ เพราะไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันตต์ นี่ไม่ได้ฝึกใจในธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ไม่ได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ ไม่ได้ฝึกใจในธรรมของสัตตบุรุษ ความเห็นก็เลอะเลือนไปเช่นนี้ เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้ว นี่แหละ เป็นความจริงทางพระพุทธศาสนาตัวจริง   ทีเดียวนี้เป็นข้อที่ลึกซึ้ง

ให้หนึ่งไว้ในใจว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะต้องเข้าให้ถึงที่สุด เข้าไปในกายที่สุดของเราให้ได้ เป็นกายๆ ออกไป เมื่อเป็นกายๆเข้าไปแล้ว ถ้า ทำเป็นแล้ว ไม่ใช่เดินท่านี้ เดินในไส้ทั้งนั้น ในไส้เห็น ไส้จำ ไส้คิด ไส้รู้ ในกำเนิดดวงธรรมที่ทำให้เป็นสุดหยาบสุดละเอียด เดินในใส้ ไม่ใช่เดินทางอื่น เดินในกลางดวงปฐมมรรค มรรคจิต มรรปัญญา เดินไปในกลางดวงศลี ดวงสมาธิ ปัญญา ดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นั้นเป็นทางเดินของพระพุทธเจ้า พระอรหันตต์ เดินไปในไส้ ไม่ใช่เดินไปในไส้เพียงเท่านั้น ในกลางว่างของดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ของดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ว่างในว่างเข้าไป ในเหตุว่างในเหตุว่าง เหตุเปล่าในเหตุเปล่า เหตุดับในเหตุดับ เหตุลับในเหตุลับ เหตุหายในเหตุหาย เหตุสูญในเหตุสูญ เหตุสิ้นเชื้อในเหตุสิ้นเชื้อ เหตุไม่เหลือเศษในเหตุไม่เหลือเศษ...ฯลฯ ในเหตุว่างเข้าไป เหตุสุดในเหตุสุด หนักเข้าไปอีกไม่ถอยกลับ นับอสงไขยไม่ถ้วน นับชาติอายุไม่ถ้วน ไม่มีถอยกลับกัน เดินเข้าไปอย่างนี้นะ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ไม่ใช่เดินโลเลเหลวไหล ที่เรากราบที่เราไหว้เรานับถือนะ ท่านวิเศษวิโสอย่างนี้นี่แหละเป็นผู้วิเศษแท้ๆ นี่แหละเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกแท้ๆ ถ้าเป็น ผู้รู้จริง เห็นจริง  ได้จริง เราจึงเอาเป็นตำรับตำราได้ เมื่อ รู้จักหลักธรรมอันนี้แล้ว อย่าเข้าใจว่าได้ฟังง่ายๆ นะ ตั้งแต่เราเกิดมาเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกานะ อย่างนี้ไม่เคยได้ฟังเลยๆม่ใช่หรือ เมื่อได้ฟังแล้วก็จงเพียรพยายามทำให้เป็นอย่างที่แสดงให้ฟังทุกสิ่งทุก ประการ จะได้ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้  ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺ-เชน ด้วยอำนาจสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทาโสตถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วน หน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมมิกถา โดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการะฉะนี้ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘