กัณฑ์ที่ ๙ ภารสุตตคาถา ขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนัก ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๖

กัณฑ์ที่ ๙ ภารสุตตคาถา ขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนัก ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๖

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา                    ภารหาโร จ ปุคฺคโล
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก                       ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
นิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ                          อญฺญํ ภารํ อนาทิย
สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห                         นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ฯ

ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วย ขันธ์เป็นภาระอันหนัก ตามวาระพระบาลีและคลี่ความเป็นสยามภาษา เพราะว่าเราท่านทั้งหลาย เกิดมาหญิงชายทุกคนถ้วนหน้า ล้วนแต่แบกภาระขันธ์ ๕ ด้วยกันทั้งนั้น ขันธ์ ๕ เป็นของหนัก ไม่ใช่ของเบา หนักอย่างไร หนักตั้งแต่อุบัติตั้งแต่อยู่ในท้อง ตั้งแต่เกิดในท้องมารดาหนักเรื่อยมา นั่นบังคับให้มารดาผู้ทรงครรภ์นั้นหนักแล้ว ตัวเองก็หนักไปไหนไม่ค่อยไหว ติดอยู่ในอู่มดลูกนั่นเอง เจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับ ๆ ไป เมื่อคลอดก็หนักถึงกับตายได้ ถ้าว่าขันธ์ที่เกิดนั้นไม่ตาย ขันธ์ของมารดาที่ให้เกิดนั้นถึงกับตายลำบากยากแค้นนัก หนักด้วย ลำบากด้วย ฝืดเคืองด้วย คับแค้นด้วย คับแคบด้วย ลำบากทั้งนั้น ขันธ์ ๕ เป็นของหนักจริง ๆ ไม่ใช่ของเบา ไปไหนก็ไปเร็วไม่ได้อุ้ยอ้าย เมื่อเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับแล้ว ก็ไปได้ด้วยตนของตนเอง แต่ว่าเป็นกายหนัก เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้ ไปเร็วไม่ได้ ต้องไปตามกาลสมัยตามกาลของขันธ์นั้น ไม่ใช่หนักพอดีพอร้าย หนักกายต้องบริหารมากมาย ผู้เกิดมานั้นต้องบริหารขันธ์ ๕ นั้นด้วย ต้องดูแลรักษา ครั้นเจริญวัยวัฒนาตัวของตัว เมื่อหลุดจากมารดาบิดาบริหารรักษาแล้ว ตัวของตัวต้องรักษาตัวเองอีก ตัวของตัวเองรักษาตัวเองก็ไม่ค่อยไหว บางคนถึงกับให้คนอื่นเขารักษาให้ ต้องให้เขาใช้สอยไปต่าง ๆ นานา รักษาขันธ์ ๕ ของตัวไม่ได้ ต้องบากบั่นตรากตรำมากมายในการเล่าเรียนศึกษากว่าจะรักษาขันธ์ ๕ ของตนเองได้ จนกระทั่งรักษาขันธ์ ๕ ของตนได้ พอรักษาขันธ์ของตัวได้ขันธ์ ๕ ก็เก่าคร่ำคร่า หนักเข้าขันธ์ ๕ ของตัวเองก็พยุงตัวเองไม่ไหว พยุงตัวไม่ไหวต้องอยู่กับที่ ขยับได้บ้างไปโน่นมานี่ได้บ้าง แต่หนักเข้าก็ลุกไม่ขึ้น หนักเข้าก็หมดลมอัสสาสะปัสสาสะเข้าโลงไป  ๔ คนนั่นแหละต้องหาม ๔ คนก็เต็มอึดเชียวหนา มันหนักขนาดนี้ หนักอย่างโลก ๆ ไม่ใช่หนักอย่างธรรม ๆ หนักอย่างทางธรรมน่ะ นั่นลึกซึ้งแบบขันธ์ทั้ง ๕ นำขันธ์ทั้ง ๕ ไปมากมายนัก ในมนุษย์โลกนี้แบกขันธ์ทั้ง ๕ ไปมากมายนัก ภาระคือ ขันธ์ ๕ นี้หนัก ไม่ใช่หนักแต่ในมนุษย์โลกนี้ ไปเกิดเป็นเทวดาก็หนักอีก ไปเกิดเป็นพรหมก็หนักอีก ไปเกิดเป็นอรูปพรหมก็หนักอีก หนักทั้งนั้นไม่ใช่เบา ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์นรกหนักขึ้นไปกว่านั้นอีก ในสัญชีพ กาฬสูตต สังฆาต โรรุพน มหาโรรุพน ตาป มหาตาป อเวจี หนักขึ้นไปกว่านั้น หรือไปเกิดในบริวารนรก รวมนรก ๔๕๖ ขุม ขุมใดขุมหนึ่ง หรือไปเกิดเป็นเปรตก็หนักขึ้นอีกเหมือนกัน ไปเกิดเป็นอสุรกายก็หนักขึ้นอีกเหมือนกัน ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็หนักอีกเหมือนกัน เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เปรตอสุรกาย ก็หนักทั้งนั้น ขันธ์ ๕ นี่เป็นของหนัก ท่านจึงได้ยืนยันตามพระบาลีว่า ภารา หเว ปัญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก ภารหาโร จ ปุคฺคโล บุคคลผู้นำขันธ์ ๕ ที่หนักนั้นไป ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือมั่นในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ นั้นหนัก เป็นทุกข์ในโลก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ สละขันธ์ ๕ ปล่อยขันธ์ ๕ วางขันธ์ ๕ ทิ้งขันธ์ ๕ เสียได้เป็นสุข นิกฺขิปิตฺวา ครุ การทิ้งภาระที่หนักอันนั้นเสียได้แล้ว อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่ถือเอาของหนักอื่นอีกต่อไป สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห ชื่อว่าเป็นผู้ถอนตัณหาทั้งรากได้ นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต หมดกระหาย ไปนิพพานได้ หมดกระหาย หมดร้อน หมดกระวนกระวาย ไปนิพพานได้ ให้ทิ้งขันธ์ ๕ เสีย ทิ้งขันธ์ ๕ เสียได ้แ ล้ว ได้ชื่อว่าถอนตัณหาทั้งรากได้ นี้เป็นตัวสำคัญ ให้รู้จักดังนี้ เราจำเป็นอยู่แล้วจะต้องวางต้องทิ้งขันธ์ ๕ นี่ถึงไม่ทิ้งเราก็ต้องทิ้ง ใครล่ะจะไม่ทิ้งได้ ถ้าไม่ทิ้งแก่เข้า ๆ ถึงเวลาก็ตายจะเอาไปได้หรือขันธ์ ๕ น่ะ คนเดียวก็เอาไปไม่ได้ หมดทั้งสากลโลก ขันธ์ ๕ ของตัวเอาไปไม่ได้ ขันธ์ ๕ ของสามีภรรยากันล่ะ เอาไปไม่ได้ แต่ของตัวเอาไปไม่ได้แล้ว นี่จะเอาของคนอื่นไปอย่างไรล่ะ เอาของลูกไปบ้างไม่ได้หรือ ไม่ได้ แต่ของตัวก็ยังเอาไปไม่ได้ จะเอาของลูกไปได้อย่างไร พี่น้องวงศ์วานว่านเครือ จะเอาไปบ้างไม่ได้หรือ เอาไปไม่ได้ ต่างคนต่างมาต่างคนต่างไป ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างเกิด ตาย ๆ คนเดียว เกิด ๆ คนเดียว เราอยู่คนเดียวน่ะนี่น่ะ ไม่ได้อยู่หลายคนนะ อยู่กี่คนก็ชั่ง ตายไปด้วยกันไม่ได้ เกิดคนเดียวตายคนเดียวทั้งนั้น ก็แฝดกันมาไม่ใช่ด้วยกันดอกหรือ จะแฝดหรือจะติดอย่างไรก็ตามเถอะ คนละจิตคนละใจทั้งนั้น ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างเกิด เมื่อรู้ชัดดังนี้ วิธีจะละขันธ์ ๕ ถอดขันธ์ ๕ ทิ้ง วิธีจะถอดสละขันธ์ ๕ วางขันธ์ ๕ นั้น ต้อง เป็นผู้ตั้งอยู่ในสังวรกถา ที่จะตั้งอยู่ในสังวรกถาได้ ต้องอาศัยมีความรู้ ความเห็นแยบคาย เห็นแยบคายอย่างไร? รู้เห็นแยบคาย ความยินดีในรูปในอารมณ์นั้น ๆ ต้องปล่อยวาง ต้องละต้องทิ้งความยินดีในอารมณ์นั้น ๆ ถ้ายังยึดความยินดีในอารมณ์อยู่ปล่อยขันธ์ ๕ ไม่ได้ การยึดอารมณ์ยินดีในอารมณ์ ท่านยกเป็นตำรับตำราไว้ เป็นเนติแบบแผน เป็นภาษามคธว่า สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทริเยสุ อสํวุตํ โภชนมฺหิ  อมตฺตญฺญุ ํ กุสิตํ หีนวิริยํ ตํ เว ปสหติ มาโร วาโต รุกฺขํ ทุพฺพลํ แปลเป็นสยามภาษาว่าผู้ที่เห็นอารมณ์งาม สุภานุปสฺสึ ผู้ที่เห็นอารมณ์งาม รูปารมณ์ก็ดี สัทธารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ผู้เห็นอารมณ์งาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นั่นแหละ เรียกว่า สุภานุปสฺสึ ผู้เห็นอารมณ์งามอยู่ ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร มีความเกียจคร้าน กุ สีตํ จมอยู่ในอาการอันบัณฑิตพึงเกลียด หีนวิริยํ มีความเพียรเลวทราม ตํ เว ปสหติ มาโร มารย่อมประหารบุคคลผู้นั้นได้ วาโต รุกฺขํ ว ทุพฺพลํ เหมือนลมประหารต้นไม้อันมีกำลังทุพพลภาพได้ฉันนั้น นี้พระคาถาต้น คาถาสองรองลงไป อสุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทริเยสุ สํวุตํ โภชนมฺหิ จ มตฺตญฺญุ ํ สทฺธํ อารทฺธวิริยํ ตํ เว นปฺปสหติ มาโร วาโต เสลํ ว ปพฺพตํ ผู้ที่เห็นอารมณ์อันไม่งาม สำรวมดีในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร หรือโภชนาหาร มีความเชื่อ ปรารภความเพียรอยู่ มารย่อมประหารบุคคลผู้นั้นไม่ได้ เหมือนอย่างลมประหารภูเขาอันล้วนแล้วด้วยศิลาเขยื้อนไม่ได้ฉันนั้น จกฺขุ นา สํวโร สาธุ สาธุ โสเตน สํวโร ฆาเนน สํวโร สาธุ สาธุ ชิวฺหาย สํวโร กาเยน สํวโร สาธุ สาธุ วาจาย สํวโร มนสา สํวโร สาธุ สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร สพฺพตฺถ สํวุโต ภิกฺขุ สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ แปลเนื้อความว่าสำรวมตาได้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมหูได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมจมูกได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมลิ้นได้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมกายได้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมวาจาได้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมใจได้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำรวมในที่ทั้งหมด ปรากฎว่ายังประโยชน์ให้สำเร็จโดยแท้ ผู้ศึกษาธรรมวินัยเป็นผู้สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย ในอินทรีย์ทั้งสิ้น เมื่อสำรวมได้เช่นนี้ตัดสินว่า สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปด้วยประการดังนี้ นี่สังวรกถา แสดงการสำรวม

แต่ว่าที่กล่าวมานี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ถ้าจะอรรถาธิบายขยายความในการที่ปล่อยขันธ์ ๕ เป็นลำดับไป ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราแบ่งเป็นภาระหนักอยู่ในบัดนี้แล้วอวดดีด้วยนะ ภาระของตัวหนักพออยู่แล้ว ยังอวดดีไปแบกภาระของคนอื่นเขาเข้าอีกด้วย เอากันละตรงนี้ อวดดีแบกภาระของคนอื่นเขาเข้าด้วย ไม่ใช่แบกน้อยด้วย บางคนแบกหลาย ๆ ขันธ์ แอบไปแบกเข้า ๕ ขันธ์ อีกแล้วหญิงก็ดีชายก็ดีแอบไปแบกเข้าอีก ๕ ขันธ์ แล้วรวมของตัวเข้าเป็น ๑๐ ขันธ์แล้ว หนักเข้าก็หลุดออกมาเป็น ๕ ขันธ์ เป็น ๑๕ ขันธ์แล้วแบกเอาไป แบกเข้าไปเฮอะ เอ้าหนักเข้า ๆ หลุดออกมาอีก ๕ ขันธ์แล้ว เป็น ๒๐ ขันธ์แล้ว นาน ๆ หลาย ๆ ปีเข้าหลุดออกมาอีก ๕ ขันธ์แล้ว เป็น ๒๕ ขันธ์ นาน ๆ หลุดออกมาอีก ๕ ขันธ์แล้ว เอ้าเป็น ๓๐ ขันธ์ ดังนี้แหละ บางคนแบกถึง ๔๐-๕๐-๖๐-๗๐-๘๐-๙๐ บางคนถึง ๑๐๐ ขันธ์ สมภารแบกตั้งพันขันธ์เชียวนาไม่ใช่น้อย ๆ นั่นอวดดีละ ถ้าอวดดีอย่างนี้ต้องหนักมาก เขาจึงได้ชื่อว่าสมภาร สัมภาระ แปลว่า หนักพร้อม หนักรอบตัว พ่อบ้าน แม่บ้าน พ่อครัว แม่ครัวก็เหมือนกัน หนักใหญ่อีกเหมือนกัน หนักรอบอีกเหมือนกัน เพราะแบกขันธ์ทั้งนั้น ที่ทุกข์ยากลำบากกันหนักหนาทีเดียว เพราะแบกขันธ์เหล่านี้แหละ ต้องปลูกบ้านเป็นหย่อม ๆ เป็นหลังเป็นพืดไป นั่นเพราะอะไร บริหารขันธ์ แบกขันธ์ทั้งนั้น แบกภาระที่หนักทั้งนั้น ไม่ใช่เล็กน้อย ไม่ใช่พอดีพอร้าย เพราะเหตุดังนั้น การแบกภาระของหนักนี่และถ้าว่าปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ละก็เป็นทุกข์หนักทีเดียว บุคคลผู้แบกของหนักไป บุคคลผู้แบกขันธ์ ๕ ที่หนักไป ถ้าว่าปล่อยวางขันธ์ ๕ ไม่ได้ก็เป็นทุกข์แท้ ๆ ถ้าปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ ก็เป็นสุขแท้ ๆ เหมือนกัน ตรงกันข้ามอย่างนี้

แต่ว่า วิธีปล่อยขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นของปล่อยง่าย ถ้าปล่อยไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ปล่อยได้ก็เป็นสุข แต่ขันธ์ ๕ จริง ๆ เราก็ไม่รู้จักมันเสียแล้วนะ ปล่อยมันอย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณน่ะ เอาเถอะ แก่เฒ่าอยู่วัดอยู่วาไปตามกัน บวชแล้วก็ตาม ไม่บวชก็ตาม ถามจริง ๆ เถอะว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจริง ๆ น่ะคืออะไร เอาละอึกอักกันทีเดียว ไม่เข้าใจตัวของตัวแท้ ๆ ไม่เข้าใจ รูปน่ะคือร่างกายประกอบ ด้วยธาตุทั้ง ๔  ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกันอยู่นี้ ถ้าว่าแยกออกไปก็เป็น ๒๘ มหาภูต รูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ เป็นรูป ๒๘ ประการดังนี้ นี่แหละมีรูปเท่านี้ เป็นเบญจขันธ์นี้ รูป ๒๘ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นามขันธ์ ๔ โดยย่อ สังขาร ๓ วิญญาณ ๖ เวทนา ความรู้สึก สัญญาณ ความจำ สังขาร ความคิด วิญญาณ ความรู้ เป็นดวงสีต่าง ๆ กัน ส่วนเวทนาก็เป็นดวง ถ้าสุขเวทนาก็ใส ถ้าทุกขเวทนาก็ขุ่น ดังนี้ สัญญา ความจำก็เป็นดวงเหมือนกัน เป็นดวงต่างกัน ดีชั่วหยาบละเอียดเลวประณีต สังขาร ความคิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว นี่ก็เป็นอีกดวงเหมือนกัน วิญญาณ ความรู้ ความรู้ก็เป็นดวงอีกเหมือนกัน ต้องรู้จักพวกนี้ให้เห็นพวกนี้เสียก่อน ให้เห็นขันธ์ทั้ง ๕ เสียก่อน ให้เป็นปฏิบัติ ที่แสดงแล้วนั่นเป็นปริยัติ ถ้าปฏิบัติต้องเห็น เห็นขันธ์ทั้ง ๕ นั่น รูป เป็นดังนั้นโตเล็กเท่านั้น สัญฐานอย่างนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเห็นเบญจขันธ์ทั้ง ๕ แล้ว ก็ดูความจริงของมัน ขันธ์ ๕ เหล่านี้น่ะ ถ้าแม้ว่าขืนไปยึดถือมันเข้าไว้ละก็เป็นทุกข์ ท่านถึงกับวางตำรับตำราเอาไว้ว่า ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา ยึดถือมั่นในเบญจขันธ์ ๕ นั่นเป็นทุกข์ ถ้าหากว่าปล่อยเบญจขันธ์ ๕ เสียได้ก็เป็นสุข แต่ว่าปล่อยไม่ใช่ได้ง่าย ปล่อยไม่ได้ง่ายเหมือนอะไร ปล่อยไม่เป็น ถ้าปล่อยเป็นปล่อยได้ง่าย ปล่อยไม่เป็นปล่อยได้ยาก ปล่อยไม่เป็นเหมือนอะไร เหมือนเด็ก ๆ กำไฟเข้าไว้ ยิ่งร้อนหนักเข้ายิ่งกำหนักแน่นหนักเข้า ร้องใจหายใจคว่ำก็ร้องไป ปล่อยไม่เป็นคลาย มือไม่เป็น ถ่านก้อนที่กำเข้าไว้น่ะ เมื่อเด็กกำเอาเข้าไว้แล้ว กำเสียดับเลยทีเดียว กำเสียมิดทีเดียว มือก็ไหม้เข้าไปรูหนึ่งแล้ว นั่นเพราะอะไร เด็กมันปล่อยถ่านไฟไม่เป็น ปล่อยไม่เป็นหรือมันไม่ปล่อย ปล่อยไม่เป็นจริง ๆ ถ้าปล่อยเป็นมันก็ปล่อยเหมือนกัน เหมือนพวกเรานี่แหละ ยึดมั่นเอาเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เข้าไว้ปล่อยไม่เป็น ไม่รู้จะปล่อยท่าไหน วางท่าไหนก็ไม่รู้ วางไม่ออก ปล่อยไม่ออก ปล่อยไม่เป็น วางไม่เป็น หรือปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้? ไอ้ที่ปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้อีกพวกหนึ่ง ไอ้ที่ปล่อยไม่เป็นน่ะพวกหนึ่ง

ปล่อยไม่ได้วางไม่ได้น่ะ รู้แล้วว่าปล่อยเท่านั้นวางเท่านั้น ไม่ยอมปล่อย ไม่อยากปล่อยเพราะอะไร? เสียดายมัน นั่นอีกพวกหนึ่ง ไม่อยากปล่อยขันธ์ ๕ อยากจะได้ขันธ์ ๕ ให้มากขึ้น นั่นพวกหนึ่ง

ไอ้ที่ปล่อยไม่เป็นน่ะพวกหนึ่ง ไม่ได้เล่าเรียนศึกษา ไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ฝึกฝนใจในธรรมของพระพุทธเจ้า ไอ้พวกนั้นปล่อยไม่เป็น

ไอ้พวกที่ได้ฟังแล้วจะปล่อยก็เป็น แต่ว่าเสียดายไม่ยอมปล่อย อีกพวกหนึ่งตั้งใจปล่อยจริง ๆ แต่ปล่อยไม่ได้ ไอ้ที่ไม่อยากปล่อยน่ะ เหมือนอะไรล่ะ? เหมือนพรานวางเบ็ดเมื่อปลาติดเบ็ดแล้ว ถ้าปลาตัวเล็ก ๆ พอจะปลดปล่อยได้ ถ้าปลาถึงขนาดเข้าปล่อยไม่ได้ เสียดาย ต้องใส่เรือของตัวไป ไอ้อยากปล่อย แต่ปล่อยไม่ได้น่ะเหมือนอะไร? เหมือนนกติดแร้ว อยากปล่อย แต่เครื่องติดมันมี มันมีเหมือนอะไรล่ะ นี่แหละเหมือนอย่างเราครองเรือนอย่างนี้แหละ อยากจะปล่อยมัน แต่ว่าเครื่องติดมันมีเลยปล่อยไม่ได้ เสียดายมันปล่อยไม่ได้ มันติดอยู่ ดังนั้นแหละ ปล่อยไม่ถนัด เพราะเหตุฉะนี้แหละ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ต้องถอดกัน ไม่ถอดปล่อยไม่ได้

วิธีถอดเบญจขันธ์เบื้องต้นต้องสำรวม ที่จะสำรวมน่ะ ต้องพิจารณาเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เสียก่อน ว่าเป็นของไม่ดีไม่งาม เป็นของไม่ดีไม่งามนะ เป็นของหนักจริง ๆ นะ รู้ว่าเป็นของหนักแล้ว เริ่มต้นทีเดียว เมื่อเห็นว่าหนักละก็เริ่มต้นสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลยทีเดียว สำรวม ระวังไว้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์มากระทบ คอยระวังไว้สำรวมไว้ให้ดี เมื่อระวังให้ดีแล้ว สละความยินดียินร้ายไม่ให้มากระทบ ไม่ให้ความชอบความไม่ชอบซึ่งเป็นกิเลสหยาบเข้ามากระทบได้ สละเสีย เมื่อสละเช่นนั้นถ้าว่าเกียจคร้านไม่ได้นะ ต้องหมั่นขยันทีเดียวต้องมีความเชื่อมั่นว่าปล่อยได้จริง แล้วขยันหมั่นเพียรจริง ๆ นั่นแหละจึงจะปล่อยได้ ถ้าไม่สำรวมระวังปล่อยพลั้งเผลอละก็ เหมือนดังคนเกียจคร้านมีปัญญาเลวทราม ก็ต้องรัดรึงตรึงตราอยู่ในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ก็บุคคลมีศรัทธา มีความเพียรดี มีความเพียรหมั่นขยันกลั่นกล้านั้นแหละ อาจปล่อยขันธ์ ๕ ได้ละ แต่ว่าวิธีจะปล่อย ท่านชี้แจงแสดงย่อยออกไปเป็นตำรับตำรา ออกไปเป็นส่วน ๆ ให้เป็นตำรับตำราออกไปว่า จกฺขุนา สํวโร สาธุ สำรวมตาได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ยังประโยชน์ให้สำเร็จอย่างไร ความติดมั่นในรูปารมณ์ก็ไม่มี สำรวมหูได้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ สำเร็จอย่างไร ความติดมั่นในสัททารมณ์ก็ไม่มี หยุดไปได้ สำรวมจมูกได้ ความติดมั่นถือมั่นในกลิ่นก็ไม่มี หลุดไปได้ สำรวมในลิ้นได้ ก็ไม่ติดในรส สำรวมในกายได้ ความสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็หลุด ยังประโยชน์ให้สำเร็จดังนี้ เมื่อสำรวมกายได้ สัมผัสก็หลุดไป สำรวมวาจาได้ ที่จะมีโทษทางวาจาก็ไม่มี หลุดไป สำรวมใจได้ โทษทางใจก็ไม่มี ยังประโยชน์ให้สำเร็จเป็นชั้น ๆ ไปดังนี้ ความสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละ ทั้ง ๖ อย่างสำรวมได้แล้วก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ทั้งหมด ปรากฎว่าผู้ศึกษาพระธรรมวินัยต้องเป็นผู้มีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้ เมื่อมีหลักมีเกณฑ์อย่างนี้แล้ว ได้ชื่อว่าสำรวมดีในสิ่งทั้ง ๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำรวมใจดีแล้วหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้จริง ๆ นะ

เขาทำกันอย่างไร? ต้องทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางกายมนุษย์ที่เคยแสดงอยู่เสมอ ๆ เข้าสิบเข้าศูนย์ให้ดี ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ พอหยุดนิ่งก็เข้ากลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เป็นลำดับไป เมื่อเข้ากลางของกลางเป็นลำดับจนกระทั่งถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์หยาบหลุด หยุดอยู่ศูนย์กลางของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ถูกส่วนเข้า เข้ากลางของกลาง หยุดเรื่อยไปถูกส่วนเข้าก็ถึงดวง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียดก็หลุด เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด กายทิพย์หยาบก็หลุดไป เข้าถึงกายรูปพรหม กายทิพย์ละเอียดหลุดไป เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด กายรูปพรหมหยาบหลุดไป เข้าถึงกายอรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียดหลุดไป เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบหลุดไป เข้าถึงกายธรรม กายอรูปพรหมละเอียดหลุดไป นี่หลุดไป ๘ กายแล้ว

เข้าถึงกายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบก็หลุดไป เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียดหลุดไป เข้าถึงกายธรรมพระโสดาละเอียด กายพระโสดาหยาบก็หลุดไป, เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาหยาบ กายพระโสดาละเอียดก็หลุดไป, เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาละเอียด กายพระสกทาคาหยาบก็หลุดไป, เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาหยาบ กายพระสกทาคาละเอียดก็หลุดไป, เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาละเอียด กายพระอนาคาหยาบก็หลุดไป เข้าถึงกายพระอรหัตต์หยาบหรือพระอรหัตตมรรค กายพระอนาคาละเอียดก็หลุดไป, เข้าถึงกายพระอรหัตต์ละเอียดหรืออรหัตตผล  กายพระอรหัตต์หยาบ หรือ  อรหัตต์มรรค ก็หลุดไป พอเข้าถึง อรหัตตผล เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ เรียกว่าเข้าถึง วิราคธาตุ วิราคธรรมจริง ๆ หลุดจากธรรมที่ปะปนด้วยกิเลส สราคธาตุสราคธรรมหลุดหมด เบญจขันธ์ทั้ง ๕

ขันธ์ ๕ ของมนุษย์ ขันธ์ ๕ ของกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเข้าถึงกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดแล้ว ก็หลุด, ขันธ์ ๕ ของกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดเมื่อเข้ากายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด ก็หลุด, ขันธ์ ๕ ของกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียดเข้าถึงอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ก็หลุด, หลุดหมด หลุดเป็นชั้น ๆ ไป

ขันธ์ ๕ ของกายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ถึงกายธรรมเสียแล้วก็หลุด, ถึงกายธรรมพระโสดา ขันธ์ ๕ ของกายธรรมโคตรภูหยาบ โคตรภูละเอียดหลุด, เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาแล้ว กายธรรมของโสดา โสดาละเอียดหลุด, เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาแล้ว กายธรรมของโสดา โสดาละเอียดหลุด, เข้าถึงกายธรรมของพระอนาคาหยาบ อนาคาละเอียดแล้ว กายธรรมของพระสกทาคาหยาบ สกทาคาละเอียดหลุดออกไปเช่นนี้ เป็นชั้น ๆ เช่นนี้เรียกว่ารู้จักสำรวมถูกส่วนเข้าแล้วหลุดเป็นชั้น ๆ ไปดังนี้ เมื่อหลุดออกไปได้แล้วเห็นว่าหลุดจริง ๆ ไม่ใช่หลุดเล่น ๆ ถ้าว่าโดยย่อแล้วละก็พอถึงกายธรรมหยาบละเอียดเท่านั้น ไปนิพพานได้แล้ว แต่ว่า หลุด ดังนี้เป็น ตทังควิมุตติ ประเดี๋ยวก็กลับมาอีก พอหลุดแค่พระโสดา นั่นเป็นโลกุตตระ ข้ามขึ้นจากโลกได้แล้ว เป็นอริยบุคคลแล้ว แต่ว่า ไม่พ้นจากไตรวัฏฏ์ไป ต้องอาศัยไตรวัฏฏ์ เพราะ ยังไปนิพพานไม่ได้ ต้องอาศัยกามภพรูปภพอยู่ แต่ว่าอาศัยอยู่แต่เปลือกนอก ข้างในล่อนจากเปลือกนอกเสียแล้ว อย่าง นั้นก็พอใช้ได้ แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด ต้องถึงที่สุดคือพระอรหัตตผลนั่นแหละจึงจะพ้นขาดเด็ดเป็นวิราคธาตุ วิราคธรรมจริง ๆ หลุดได้จริง ๆ เช่นนี้ อย่างนี้เอาตัวรอดได้ อย่างนี้เมื่อรู้จักหลักความหลุดพ้นเช่นนี้แล้วก็ตั้งใจให้แน่วแน่ ต้องมีความสำรวมเบื้องต้น ที่ท่านได้ชี้แจงแสดงไว้ในอารมณ์ที่ไม่งาม และสำรวมระวังให้ดี รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร มีความเพียร มีศรัทธา กล้าหาญไม่ย่อท้อ นั่นแหละคงจะไปถึงที่สุดได้ ทว่าย่อท้อเสียแล้ว ถึงที่สุดไม่ได้ง่าย ให้เข้าใจหลักอันนี้ หลักที่แสดงแล้ว ที่แสดงในทางขันธ์ ๕ เป็นของหนักแล้ว คิดสละขันธ์ ๕ นั่นได้ด้วยความระมัดระวัง นี้เป็นทางปริยัติเป็นลำดับไป จนเข้าถึงถอดกายเป็นชั้น ๆ ออกไป แล้วจนกระทั่งถึงพระอรหัตต์ถึงวิราคธาตุวิราคธรรม กายพระอรหัตต์หยาบ พระอรหัตต์ละเอียดนั้น ในแนวนั้นเป็น ทางปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็เป็นชั้น ๆ เคยแสดงแล้ว

กายมนุษย์ เมื่อปฏิบัติถูกส่วนเข้าแล้วเห็นกายมนุษย์ละเอียด นั่นเป็นนิโรธ เป็นปฏิเวธ รู้แจ้งแทงตลอดของกายมนุษย์ เมื่อกายมนุษย์ละเอียดเข้าถึงกายทิพย์ ก็เป็นปฏิเวธของกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์เมื่อเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด ก็เป็นปฏิเวธของกายทิพย์ รู้จักกายทิพย์ละเอียดแล้ว เมื่อกายทิพย์ละเอียดเข้าถึงกายรูปพรหม ก็เป็นปฏิเวธของกายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหมเข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด ก็เป็นปฏิเวธของกายรูปพรหม, กายรูปพรหมละเอียดเข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เป็นปฏิเวธของกายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหมหยาบเห็นกายอรูปพรหมละเอียด ก็เป็นปฏิเวธของกายอรูปพรหมละเอียด, กายธรรมเห็นกายธรรมละเอียด ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมหยาบ, กายธรรมละเอียดเห็นกายธรรมพระโสดา ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมละเอียด, กายธรรมพระโสดาเห็นกายธรรมพระโสดาละเอียด ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมพระโสดาหยาบ, เมื่อกายธรรมของพระโสดาละเอียด เห็นกายธรรมของพระสกทาคา ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมพระโสดาละเอียด, กายธรรมพระสกทาคาเห็นกายธรรมละเอียดของพระสกทาคาเอง ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมพระสกทาคา, กายธรรมละเอียดของพระสกทาคาเห็นกายธรรมพระอนาคาหยาบ ก็เป็นปฏิเวธของของกายธรรมพระสกทาคาละเอียดม กายธรรมพระอนาคาเห็นกายธรรมละเอียดของพระอนาคาเอง ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมพระอนาคาม กายธรรมของพระอนาคาละเอียดเห็นกายธรรมของพระอรหัตต์ ก็เป็นปฏิเวธของกายธรรมพระอนาคาละเอียดม กายธรรมของพระอรหัตต์หยาบ หรือ อรหัตต์มรรคเข้าถึงกายธรรมของพระอรหัตต์ละเอียดหรือพระอรหัตต์ผลก็เป็น ปฏิเวธของกายธรรมพระอรหัตต์ นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นมาลำดับอย่างนี้ เมื่อรู้จักหลักดังนี้ละก็ การเล่าเรียนในทางพุทธศาสนา การแสดงก็ดี การสดับตรับฟังก็ดี ให้รู้จักทางปริยัติ ทางปฏิบัติ ทางปฏิเวธ จึงจะเอาตัวรอดได้ ถ้า รู้จักแต่เพียงทางปริยัติ  ยังข้องขัดอยู่ในทางปฏิบัติ ต้องให้เข้าถึงทางปฏิบัติ ยังข้องขัดอยู่ในปฏิเวธ ให้เข้าถึงทางปฏิเวธ นั่นแหละจึงจะเอาตัวรอดได้ ด้วยประการดังนี้

ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดแก่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วน หน้า อาตภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘