คำชี้แจง ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)


หลวงพ่อวัดปากน้ำได้กล่าวถึงวิชชาธรรมกายในหนังสือทางมรรคผล ว่า
 

          “ วิชชาธรรมกาย ซึ่งดำเนินตามแนวทางการเสด็จไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ ทางนี้ทางเดียวไม่มีสองทาง อันถูกต้องร่องรอยความประสงค์ในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง 

          มีผู้ศึกษาและปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต อุบาสกอุบาสิกาแพร่หลายแทบทั่วประเทศไทย ซึ่งได้รับผลของการปฏิบัติยืนยันได้ด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งเรียกว่า สัทิฏฐิโก อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ส่วนการที่จะทำเป็นหรือไม่เป็นนั้น เกี่ยวกับผู้ปฏิบัติจริงหรือไม่จริง ถ้าปฏิบัติจริงแล้วต้องเป็นทุกคน เพราะมนุษย์เราทั้งชายและหญิง มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นดวงใจบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่ที่ศูนย์กลางกายทุกๆ คน 

          ถ้ามนุษย์คนใดเอาใจไปหยุดนิ่งแน่นที่ศูนย์กลางกายให้เป็นสมาธิ ไม่นึกคิดไปในสิ่งต่างๆ เอาใจหยุดอยู่ที่ดวงธรรมนั้นให้มากที่สุดหรือนานที่สุด ต้องเป็นทุกคน ที่ไม่เกิดไม่เป็นนั้น เพราะเหตุว่าใจไม่หยุด ตัวหยุดนี้แลเป็นตัวสำเร็จ 

          ส่วนการที่ใจไม่หยุดนั้น เพราะมีอุปกิเลส ๑๑ ข้อ ประจำอยู่ อันเป็นเครื่องสำคัญในเรื่องที่จะเป็นหรือไม่เป็นหรือไม่ได้บรรลุมรรคผล มีดังนี้ คือ
๑. วิจิกิจฉา ความลังเลหรือความสงสัย
๒. อะมะนะสิการะ ความไม่สนใจไว้ให้ดี
๓. ถีนะมิทธะ ความท้อและความเคลิบเคลิ้มง่วงนอน
๔. ฉัมภิตัตตะ ความสะดุ้งหวาดกลัว
๕. อุพพิละ ความตื่นเต้นด้วยความยินดี
๖. ทุฏฐุลละ ความไม่สงบกาย
๗. อัจจารัทธวิริยะ ความเพียรจัดเกินไป
๘. อะติลีนะวิริยะ ความเพียรย่อหย่อนเกินไป
๙. อะภิชัปปา ความอยาก
๑๐. นานัตตะสัญญา ความนึกไปในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยผ่านมาหรือจดจำไว้มาผุดขึ้นในขณะทำสมาธิ
๑๑. อตินิชฌายิตัตถะ รูปานัง ความเพ่งต่อรูปหรือเพ่งนิมิตจากนั้นจนเกินไป


          เมื่ออุปกิเลสเหล่านี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่เราแล้ว สมาธิของเราก็เคลื่อนไป เพราะอุปกิเลสเหล่านี้เป็นต้นเหตุ 

          ฉะนั้น ในการบำเพ็ญภาวนา เราต้องใช้ความเพียรความอดทน ทั้ง ๒ ข้อนี้เป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง และคอยประคองคุมสติไว้ไม่ให้เผลอ ใช้ปัญญาสอดส่องดูว่า วิธีใดที่จะทำให้อุปกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็จะทำใจไว้โดยวิธีนั้น 

          จงวางใจของเราไว้ให้เป็นกลางๆ คือมัชฌิมาปฏิปทา ให้เป็นอุเบกขา อย่ายินดียินร้าย ให้พยายามละจากความโลภ ความโกรธ ความหลง จงทำใจของเราให้ใสเป็นแก้ว ให้เยือกเย็น ให้แช่มชื่น ให้ถูกส่วนเป็นสมาธิแน่แน่ว เอาใจจดอยู่ที่ดวงนิมิตที่ศูนย์กลางกายนั้นให้มากที่สุด ต้องทำเสมอ ทำเนืองๆ ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน ทำเรื่อยไปอย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่งไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง 

          อนึ่ง ในการเจริญภาวนานี้ ขอให้ท่านจงประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก เพราะเป็นมหัคคตกุศลหรือมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นทางมรรคผลนิพพาน ถึงแม้ไม่ได้เห็นอะไร ก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในปรภพเบื้องหน้า ขอท่านทั้งหลายจงอุตส่าห์ มานะ วิริยะ บำเพ็ญเพียร ให้บังเกิดมรรคแลผล เพราะเป็นวิชาที่ช่วยและเป็นที่พึ่งของตนเองได้อันเที่ยงแท้”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘