กัณฑ์ที่ ๕๙ ภัตตานุโมทนาคาถา วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

กัณฑ์ที่ ๕๙ ภัตตานุโมทนาคาถา วันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๘

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธฺธสฺส (๓ หน)

โภชนํ  ภิกฺขเว  ททมาโน  ทายโก  ปฏิคฺคาหกานํ  ปญฺจ ฐานานิ เทติ กตมานิ ปญฺจ อายุ เทติ วณฺณํ เทติ สุขํ เทติ  พลํ  เทติ  อายุ โข ทตฺวา อายุสฺสวิภาคินี  โหติ  ปญฺจ ฐานานิ เทตีติ ฯ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงธรรมิกถา เพราะว่าเราท่านทั้งหลายหญิงชายทุกถ้วนหน้าเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ก็มีการบริจาคทานกันอยู่เป็นธรรมดา เพราะทานนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพุทธศาสนาไว้

ถ้าปราศจากทานการให้แล้ว ศาสนาก็ไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยง ทรงอยู่ไม่ได้  ต้องแตกสลายไป ดับไป หายไป ทานนี่แหละหล่อเลี้ยงพุทธศาสนาไว้ ภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา ในพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยทานการให้

ภิกษุสามเณรไม่ได้ทำไร่ทำนา ซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเป็นเพศที่ออกจากคนผู้ครอบครองเหย้าเรือนเป็นนักบวช เป็นผู้ปล่อยธุระการงานจนหมด  ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระศาสดา อาศัยอุบาสกอุบาสิกาพิทักษ์รักษา เลี้ยงดูพระภิกษุสามเณรให้ดำรงพระพุทธศาสนาไว้

เหตุนี้ การหล่อเลี้ยงภิกษุ สามเณรให้ดำรงในพระพุทธศาสนาไว้ได้เช่นนี้ ได้ชื่อว่า อุบาสก อุบาสิกานั่นเองเป็นผู้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้บริจาคทานเป็นเบื้อง หน้า

ทาน การให้นี้แหละเป็นข้อสำคัญนัก  โลกจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ก็เพราะอาศัยทาน การให้

ถ้าปราศจากทานการให้แล้วโลกก็เดือนร้อน ภิกษุสามเณรเดือดร้อนทีเดียว เพราะทานแปลว่าให้ความสุขซึ่งกันและกัน

ลักษณะการให้ความสุขซึ่งกันและกันน่ะ จำเดิมแต่มารดาบิดาให้ความสุขแก่บุตรและธิดา บุตรและธิดาเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับไป

เมื่อมารดาบิดาแก่ชราทุพพลภาพเกินไป บุตรและธิดาก็ต้องให้อาหารและรางวัลแก่มารดา บิดาเหมือนกัน มารดาบิดาให้แก่บุตรและธิดาไว้แล้ว บุตรธิดาเป็นหนี้บิดามารดา ติดอยู่มากนัก เมื่อมารดาบิดาแก่เฒ่าทุพพลภาพเต็มที่ บุตรและธิดาต้องใช้หนี้ ต้องให้มารดาบิดาตอบบ้าง

การให้กันเช่นนี้แหละโลกถือกันเป็นประเพณีสืบกันมาได้
ส่วนการครอบครองเหย้าเรือนเคหา ก็ต้องให้ซึ่งกันและกัน ภิกษุสามเณรออกจากการครอบครองเหย้าเรือนเคหา ตัดกิจกังวล การที่จะประกอบการเลี้ยงชีพอย่างฆราวาสนั้นน่ะหามีไม่

ประกอบการเลี้ยงชีพอย่างเพศสมณะ มีบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
อุบาสกอุบาสิกา ผู้อยู่ครอบครองเหย้าเรือนเคหา ก็ต้องสงเคราะห์ภิกษุสามเณร ให้อาหาร และรางวัล ตามที่จะสงเคราะห์ได้

เหตุนั้น การให้ซึ่งกันและกันดังนี้เป็นประเพณีสืบมา ในทางพระพุทธศาสนา  ท่านจึงได้วางเป็นตำรับตำราไว้ว่า
โภชนํ ภิกฺขเว ททมาโน ทายโก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายทายกผู้ให้ซึ่งโภชนาหาร
ปฏิคฺคาหกานํ ปญฺจ ฐานานิ เทติ เรียกว่าให้สถานะ ๕ ประการ แก่ปฏิคาหก
กตมานิ ปญฺจ     ๕ ประการเป็นไฉน
กตมานิ ฐานานิ  ฐานะ ๕ ประการนั้นเป็นไฉน
อายุ เทติ                 ชื่อว่าให้อายุประการหนึ่ง
วณฺณํ เทติ               ชื่อว่าให้วรรณะประการหนึ่ง
สุขํ เทติ                  ชื่อว่าให้สุขประการหนึ่ง   
พลํ เทติ                  ชื่อว่าให้พลังประการหนึ่ง
ปฏิภาณํ เทติ            ชื่อว่าให้ปฏิภาณประการหนึ่ง
อายุ โข ทตฺวา อายุสฺสภาคี โหติ 
ผู้ให้อายุย่อมมีอายุเป็นส่วนสอง
ผู้ให้วรรณะย่อมมีวรรณะเป็นส่วนสอง
ผู้ให้ความสุขย่อมมีความสุขเป็นส่วนสอง
ผู้ให้กำลังย่อมมีกำลังเป็นส่วนสอง
ผู้ให้ปฏิภาณความเฉลียวฉลาด ย่อมมีความเฉลียวฉลาดเป็นส่วนสอง
โภชนํ ภิกฺขเว ททมาโน ทายโก ปฏิคฺคกหกานํ ปญฺจ ฐานานิ เทติ
ทายกผู้ให้โภชนาหาร ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหกด้วยประการนี้ นี่ให้ฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหก

ภิกษุ สามเณรได้บริโภคอาหารอิ่มแล้ว  มีอายุยืนได้ ๗ วัน และร่างกายไม่ซูบซีดเศร้าหมอง ผ่องใส อิ่มแล้วร่างกายสดชื่นผ่องใสขึ้น

นี้ได้ชื่อว่าเจ้าของทานให้อายุ ให้วรรณะ
เมื่อร่างกายสดชื่นแล้วก็เป็นสุข ได้ชื่อว่าเจ้าของทานให้ความสุข
สุขแล้วมีกำลัง ได้ชื่อว่าเจ้าของทานให้กำลัง
เมื่อมีกำลังแล้วมีปัญญา ได้ชื่อว่าเจ้าของทานให้ปัญญา

นี้ให้อายุ  ให้วรรณะ  ให้ความสุข  ให้กำลัง ให้ปฏิภาณนี้เจ้าของทานให้  เมื่อเจ้าของทานให้ภิกษุสามเณรได้อายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ ปฏิภาณ เมื่อภิกษุสามเณรได้เช่นนี้ ฝ่ายเจ้าของทานมีสุขตอบ ก็ได้อายุ วรรณะ สุขะพละ  ปฏิภาณนั้น
ในชาตินี้เป็นเหตุให้อายุยืน
ให้มีผิวพรรณผุดผ่อง
ให้มีความสุข
ให้มีกำลัง
ให้มีความเฉลียวฉลาด
เพราะการให้นั้นส่งผลให้
ถ้าต่อไป ได้อายุ ไม่ตายในปฐมวัย ถ้วนอายุขัยจึงตาย
ผิวพรรณนั้นตั้งแต่เกิดมาแล้ว  จนตลอดแตกทำลาย ไม่มีเศร้าหมองขุ่นมัว  ผ่องใส
ความสุข ก็สบายกาย สบายใจ ในอิริยาบถทั้งสี่ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
และกำลังนั้น  ก็ไม่ขาดตกบกพร่อง ตั้งแต่เกิดจนถึงตายเหมือนกัน
ความเฉลียวฉลาดนั้น ก็ไม่ขาดตกบกพร่อง ตั้งแต่เกิดจนถึงตายเหมือนกัน  เพราะตัวได้สั่งสมอบรมของตนไว้
เมื่อทายกทำเช่นนี้แล้ว  จึงได้รับทาน  รับทานแล้วก็ให้พร   ทำภัตตา-นุโมทนา  ยถา  ให้พร แก่ผู้ที่รับทาน  ยถา วาริวหา ฯลฯ  มณิ โชติรโส ยถา
แปลเป็นใจความเป็นสยามภาษาว่า
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ            ขออันตรายทั้งปวงจงบำราศไป
สพฺพโรโค วินสฺสตุ             ขอโรคทั้งปวงจงหาย
มา เต ภวตฺวนฺตราโย        ขออันตรายอย่ามีแก่ท่านเลย
สุขี ฑีฆายุโก ภว               ขอท่านจงเป็นผู้อยู่เป็นสุขเถิด ขอท่านมีอายุยืน เป็นสุขเถิด  นี่แปล สพฺพี  แปล
ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนติ สาครํ
ห้วงแห่งน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยมได้หรือให้บริบูรณ์ได้ ทานของท่านให้แล้วแต่มนุษย์โลกนี้ จงสำเร็จแก่ท่านผู้ไปสู่ปรโลกโดยพลันเถิด
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมหํ ขิปฺเมว สมิชฺฌตุ
ความปรารถนาของท่านตั้งไว้แล้วอย่างใด และความตั้งใจของท่านตั้งไว้แล้วอย่างไร ขอจงสำเร็จแก่ท่านโดยพลันเถิด ความดำริทั้งปวงของท่าน จงสำเร็จโดยพลันเถิด เหมือนดังแก้วมณี เหมือนดังพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ หรือมิฉะนั้นเหมือนดังแก้วมณีโชติรสอันสว่างไสวเป็นอันดี  ด้วยประการดังนี้
นี้ เมื่อท่านฉันแล้วท่านก็ให้พร อย่างนี้ ให้พร อย่างนี้แล้วก็ว่า
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ   ขอมงคลทั้งปวงจงมีแก่ท่านเถิด
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา            ขอเทพเจ้าทั้งปวงจงรักษาท่านเถิด
สพฺพพุทฺธานุภาเวน            ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต           ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านเถิด
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ                 ขอมงคลทั้งปวงจงมีแก่ท่านเถิด
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา            ขอบรรดาเทพเจ้าทั้งปวงจงรักษาท่านเถิด
สพฺพธมฺมานุภาเวน             ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต           ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านเถิด
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ                 ขอมงคลทั้งปวงจงมีแก่ท่านเถิด
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา            ขอเทพเจ้าทั้งปวงจงพิทักษ์รักษาท่านเถิด
สพฺพสงฺฆานุภาเวน             ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต           ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทั้งหลายด้วยประการดังนี้

นี่เป็นหน้าที่ของผู้ให้พร ภิกษุสามเณรให้พร อุบาสกอุบาสิกา เมื่อไม่ได้คิดไปตามดังนี้   คิดเรื่องอะไรและต่อมิอะไร ไม่ได้ ตั้งอกตั้งใจตามแนวนี้ พระภิกษุสามเณรมีการเรียนคันถธุระก็ดี  วิปัสสนาธุระก็ดี  ได้บรรลุถึงขีดหน้าที่ไล่ตามชั้นของรัฐบาลได้ หรือได้เรียนสมถวิปัสสนา ได้ตามกำหนดขอครูบาอาจารย์สั่งสอน

ถ้าตั้งใจให้ตรงต่อพร อันนี้แล้ว พร อันนี้ก็จะสำเร็จต่อผู้บริจาคทานได้หาน้อยไม่  ให้ตั้งใจอย่างใด  ให้ตั้งใจว่าตัวมีความงามอย่างไร  ในทางคันถ-ธุระก็ดี  วิปัสสนาธุระก็ดี ความดีงามอันนั้นเป็นตัวยืน ด้วยอำนาจความดีความบริสุทธิ์ของตนนั้น ขออำนาจพระพุทธเจ้า

ดังท่านวางตำราให้พรไว้ ยถา  ดังที่ได้แสดงไว้แล้วนั้น ห้วงแห่งน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้สมบูรณ์ได้ ห้วงน้ำเต็มเหมือนกับน้ำหน้าเดือน ๑๐ ในประเทศไทยนี้  เดือน ๑๑ ในประเทศไทยนี้ เดือน ๑๒ น้ำเต็มหมด เต็มทุ่งเต็มท่าเต็มบ้านเต็มช่องเต็มประเทศไป

เต็มแล้วไปทางไหน ไหลลงไปในเบื้องต่ำ  ไหลลงไปเป็นแม่น้ำน้อยใหญ่  ลงไปจนกระทั่งถึงมหาสมุทร เมื่อถึงมหาสมุทรแล้วเบื้องบนก็แห้งลงไป นั่นฉันใดก็ดี   น้ำที่จะไหลขึ้นไปที่ดอนๆ ไม่มี ไหลลงไปสู่ข้างล่างทั้งนั้น ไหลไปสู่ท่ามกลางมหาสมุทรทั้งสิ้น ไม่เหลือเลยแต่หยาดหยดหนึ่งนั้นฉันใด

ทานที่ท่านทั้งหลายได้ให้อุทิศ ให้แล้วแก่ท่านผู้ไปสู่ปรโลก ได้บริจาคไว้กับภิกษุ สามเณร ให้กับพระภิกษุสามเณร ทานที่ให้ที่บริจาคกับพระภิกษุสามเณรแล้วก็อุทิศผลไปให้แก่เปรตชนที่ละโลก นี้แล้ว ไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า ประสงค์จะให้ผลทานอันนั้นไปถึงแก่ผู้ละโลกนี้แล้ว ไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า

การที่จะได้รับทานของท่านทายกอุบาสกอุบาสิกาที่ให้แก่ มนุษย์โลกนี้น่ะ ไม่ได้เป็นของง่าย เป็นของยากอยู่ ที่ท่านอุทิศให้จริง ไหลไปจริง

มนุษย์ที่ตายไปจากมนุษย์เสียแล้ว ไปตกนรกเสียได้รับทุกขเวทนา ไม่มีโอกาสที่จะมารับส่วนบุญได้

ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเสีย มีอาหารหยาบชนิดหนึ่ง ไม่อาจจะมารับส่วนบุญได้
ไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี หรือสัตว์ต่างๆ ไม่มีโอกาสที่จะมารับส่วนบุญได้
หรือไปเกิดเป็นเทวดาเสีย  พอจะมาได้  แต่ก็ไม่มีโอกาสที่ญาติอุทิศให้ ไม่มีใครไปบอกให้  เมื่อไม่รู้ส่วนบุญอันนี้  ก็ไม่ได้รับเหมือนกัน

เว้นไว้แต่ปรทัตตูปชีวิเปรต เปรตนอกนี้ทุกขเวทนาหนัก ไม่ได้มารับส่วนบุญ พวกที่ได้รับส่วนบุญก็ได้แก่ ปรทัตตูปชีวิเปรต นั่นมาแสวงหาส่วนบุญที่ญาติอุทิศส่งให้

เหมือนภิกษุสามเณรไปแสวงหาอาหารบิณฑบาตตามปากตรอกบ้าน โน้น หรือบ้านร้านตลาดทั้งหลาย เมื่อเขามีศรัทธา เขาก็นำเอาอาหารมาถวาย ภิกษุก็ได้รับอาหารบิณฑบาต

เมื่อเขานำเอาอาหารบิณฑบาตนั้น คนขอทานก็ดี คนแก่ก็ดี คนเฒ่า คนสาว คนหนุ่มก็ดี เดินออกถัดกันไป แต่ว่าไม่ได้รับบิณฑบาต  ไม่ใช่หน้าที่ของตัวจะไปวุ่นไปรับบาตร เขาใส่เฉพาะภิกษุสามเณร

ภิกษุสามเณรเห็นเขานำบิณฑบาตมา ก็พอเหมาะกับตัวที่แสวงหาอาหารบิณฑบาต เขาก็นำเอาอาหารบิณฑบาตมา ก็รับอาหารบิณฑบาตนั้นมาฉันสมความปรารถนา ฉันใดก็ดี

ปรทัตตูปชีวิเปรต เป็นอยู่อย่างนั้นเพราะจน  เป็นอยู่ด้วย อาศัยบุคคลผู้อื่นเขาให้  ถ้าเขาอุทิศส่วนบุญให้  เขาไม่ได้ขีดคั่น ให้ทั่วไป ตนก็มารับได้

อย่างภิกษุสามเณรรับอาหารบิณฑบาตอย่างนั้นแหละ แต่ว่าไม่ใช่ว่าภิกษุสามเณรจะมารับบิณฑบาตไม่ได้  และเหมือนกันอย่างพวกเปรตนั้นจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน  หรือมนุษย์  หรือเทวดา หรือรูปพรหม อรูปพรหมใดๆ ก็ไม่ใช่หน้าที่โอกาสที่จะไปกระทำเช่นนั้น

ก็แม้อาหารนั้นใครก็ชอบ ใครก็ปรารถนา ก็ให้ทั่วไป เทพยดาก็ได้เหมือนกัน  ให้อนุโมทนาก็ได้เหมือนกัน  ถ้าแม้ว่าไม่ได้อนุโมทนาส่วนกุศลนั้นก็ไม่ได้  ได้แต่พวกเปรต  ปรทัตตูปชีวิเปรต เท่านั้น

เรื่องนี้ปรากฏยืนยันในครั้งพุทธกาล ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้รับทานอันนี้แหละ ได้รับส่วนบุญอันนี้แหละ ได้เสวยความสุขสมมาดปรารถนา ญาติของพระเจ้าพิมพิสารที่ทำบุญกุศล  ส่งอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า  ได้รับส่วนบุญจากญาติอย่างนี้ไม่ใช่ของง่าย

ถ้าว่ามีธรรมกาย ง่ายเต็มที ทำบุญเท่าไรได้หมด เพราะเหตุว่า ธรรมกายนำไปบอกว่าให้อนุโมทนา ก็ได้สำเร็จสมความปรารถนา

แม้จะไปตกนรก ธรรมกายนำส่วนกุศลที่ญาติอุทิศส่งไปให้ไปถึงนรก ก็ได้รับส่วนกุศลสมมาดปรารถนา พ้นจากนรกทีเดียว

ถ้าว่าเป็นเทวดาบุญหนักศักดิ์ใหญ่  ได้ส่งขึ้นไป
ถ้าได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ได้ ไปให้แก่กายละเอียด
ถ้ากายมนุษย์ไม่รู้เรื่อง  ให้กายมนุษย์ละเอียดที่ฝันออกไป
กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดได้  แต่ว่ากายมนุษย์ไม่รู้เรื่อง
การให้ส่วนบุญไม่ใช่ของง่าย แต่บุญที่ทำลงไปแล้วนั้นไหลเหมือนน้ำ น้ำไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ ให้อยู่เสมอไป แต่ว่าเมื่อไม่รับก็ไม่ได้สมความปรารถนาเหมือนกัน
เหตุนั้น อิจฺฉิตํ ความปรารถนาที่ท่านปรารถนาแล้ว
ปตฺถิตํ ความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้ว
ตุมฺหํ ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ  ขอจงสำเร็จ จงสำเร็จแก่ท่านโดยพลันเถิด
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา ความดำริทั้งปวงของท่านจงเต็มเปี่ยม
จนฺโท ปณฺณรโส ยถา  เหมือนพระจันทร์ในวันปัณรสี
มณิโชติ รโส ยถา ไม่ฉะนั้นก็เหมือนแก้วมณีโชติรส อันสว่างไสวดี นี่ผลได้สำเร็จสมความปรารถนา พระให้พรอย่างนี้
เมื่อให้พร แล้ว ภิกษุเป็นอันดับรองลงมาก็รับเป็นที่ ๒ ว่า
สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ  นี่ก็เป็นพรของภิกษุ
ภิกษุก็ให้อีก สพฺพีติโย วิวชฺชนฺตุ   ขอความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป
สพฺพโรโค  วินสฺสตุ             ขอโรคทั้งปวงจงหาย
มา เต ภวตฺวนฺตราโย        ขออันตรายอย่าเกิดแก่ท่าน
สุขี ทีฆายุโก ภว                ขอท่านจงเป็นผู้มีอายุยืนเป็นสุขเถิด แล้ว
ก็ว่าสัพพีไปดังนี้แหละ ๓ ครั้งเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต อย่างนี้ ข้างท้ายเป็นสามัญญานุโมทนา ท่านก็ให้พร ว่า
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ   สรรพมงคลจงบังเกิดมี
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา          ขอสรรพเทพยดาจงรักษาท่าน
สพฺพพุทฺธานุภาเวน           ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต         ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ   ขอสรรพมงคลจงบังเกิดมี
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา          ขอเทพเจ้าทั้งปวงจงรักษาท่าน
สพฺพธมฺมานุภาเวน           ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต         ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
ภวตุ สพฺพมงฺคลํ   ขอสรรพมงคลจงบังเกิดมี
รกฺขนฺตุ สพฺพเทวตา          ขอเทพเจ้าทั้งหลายจงรักษาท่าน
สพฺพสงฺฆานุภาเวน           ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง
สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต         ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
นี่สามัญญานุโมทนา ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพพระธรรม ด้วยอานุภาพพระสงฆ์นั้นเป็นไฉน
เขาเรียกว่าพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ นี่เราต้องการนัก ไหว้กราบนัก เพื่อจะให้ท่านช่วยเรา  ขออานุภาพพระพุทธเจ้า ขออานุภาพพระธรรม ขออานุภาพพระสงฆ์

อานุภาพพระพุทธเจ้านั้นอเนกอนันต์ พระเทวทัตประทุษร้ายพระพุทธเจ้าข่มเหงพระพุทธเจ้า  จนกระทั่งแยกย้ายพระสงฆ์เป็นสังฆเภท เหตุกรรมอันลามกของพระเทวทัตเกิดเจ็บไข้ขึ้น  จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า ไม่เห็นเราผู้ตถาคตหรอก มาก็ไหว้ไม่ถึง เต็มทีอยู่แล้ว  ใกล้จะเห็นอยู่แล้ว

พอใกล้จะเห็นเท่านั้นด้วยพุทธานุภาพที่รับสั่งไว้ ไม่เห็นเราตถาคต นั้นแหละ พุทธานุภาพที่รับสั่งไว้นั้นแหละ แผ่นดินแยกสูบพระเทวทัตไปเข้าอเวจี  ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก นี้พุทธานุภาพเป็นอย่างนี้

ธรรมานุภาพน่ะเป็นอย่างไร นี่แหละที่เราเป็นอยู่ทุกวันๆ เป็นหญิงก็ดี เป็นชายก็ดี  ที่เป็นอยู่เป็นสุข  นี้แหละเรียกว่าธรรมานุภาพ    นี่แหละธรรมา-นุภาพ
ที่เป็นอยู่เป็นทุกข์พวกอธรรม  นี้ธรรมานุภาพเหมือนกัน
อยู่เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ต่างๆ เหล่านี้เป็นอธรรมานุภาพ
ที่เป็นมนุษย์อยู่นี้  เป็นเทวดาอยู่นี้  เป็นพรหมอยู่นี้ เป็นอรูปพรหมอยู่นี้  เป็นอยู่ได้ไม่แตกไม่สลายไป นั่นแหละธรรมานุภาพละ

สังฆานุภาพนะเป็นอย่างไร สังฆานุภาพน่ะอานุภาพของพระสงฆ์ พระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองดำรงอยู่ได้จนกระทั่งเราได้ยินได้ฟัง ได้บวชเป็นภิกษุสามเณรอยู่บัดนี้ ที่ทรงมาได้จนกระทั่งถึงบัดนี้นั้น ใครจะทรงเอามาได้

ใครจะทรงเอาพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้ามาได้ นอกจากสังฆา-นุภาพน่ะ  ไม่ได้   สังฆานุภาพทรงเอาไว้รักษาเอาไว้

สังฆานุภาพนั้นเรียกว่าจิต  มันจะอคติอวดดีไปก็ไม่ได้  ทายกอุบาสกอุบาสิกาเลิกให้ทานเสียหมด สังฆานุภาพดับอีกเหมือนกัน อยู่ด้วยทายกอุบาสกอุบาสิกา ทานของท่านทายกอุบาสกอุบาสิกา ท่านเลี้ยงดูไว้

นี่แหละ สังฆานุภาพยังได้ปรากฏอยู่
พุทธานุภาพก็ดี ธรรมานุภาพก็ดี สังฆานุภาพก็ดี ที่จะมาปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะอาศัยทานนั่นเอง เหมือนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้น กว่าจะมีอานุภาพเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นได้

ทว่าไม่ฉันข้าวของนางสุชาดา ๔๙ ก้อนนั้น ก็ไม่ได้พุทธานุภาพเสียแล้ว แตกสลายเสียแล้ว  นั้นก็เพราะอาศัยข้าวมธุปายาส ๔๙ ก้อน ฉันแล้วได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นั่นแน่ ด้วยอำนาจทานของทายก ใหญ่โตเห็นไหมล่ะ

ทานนั่นแหละ  เป็นตัวสำคัญทีเดียว รักษาพุทธานุภาพ  รักษาธรรมา-นุภาพ   รักษาสังฆานุภาพ

เราก็ตั้งใจ ถ้าจะให้ทานนั้นก็ด้วยอาหารของข้าพเจ้านี้ หญิงก็ดี ชายก็ดี ของหม่อมฉันนี้จะถวายเป็นทาน ให้รักษาพุทธานุภาพ รักษาธรรมานุภาพ

รักษาสังฆานุภาพไว้ จะได้ป้องกันให้มนุษย์อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
มนุษย์ที่จะพ้นจากภัยอันตรายด้วยพุทธานุภาพ ด้วยธรรมานุภาพ ด้วยสังฆานุภาพ มนุษย์ถ้ายังอยู่ในพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพแล้ว สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมาทำให้เป็นอันตรายนั้นไม่ได้

พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ต้องรักษาไว้
เพราะฉะนั้นภิกษุสามเณรเวลาจะให้พร แก่ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายที่เขาให้ทาน  ได้รับทานแล้วให้นึกถึงว่า  ถ้าไม่ได้อาหารอิ่มแล้ว
พุทธานุภาพที่เราจะเคารพนบน้อมต่อพระองค์ รักษาให้พระองค์มีอานุภาพอยู่ ทำไม่ได้
ธรรมานุภาพที่จะให้กระทำมีอานุภาพ ให้ปรากฏอยู่ ก็ทำไม่ได้
สังฆานุภาพก็จะรักษาไว้ไม่ได้

ที่เรารักษา พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ไว้ได้นี้ ขออานุภาพพระพุทธทั้งปวง ขออานุภาพพระธรรมทั้งปวง ขออานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง จงพิทักษ์รักษาท่านทายกทายิกา อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้อยู่เจริญรุ่งเรืองเถิด

เมื่อทายกทายิกาทั้งหลายเจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ก่อนเคยใส่บาตรแก่ภิกษุ ข้าวกับเกลือ หรือมิฉะนั้นก็มีกระเทียมดอง หรือมิฉะนั้นมีอะไรก็เถอะทำตามกำลังวังชาท่าน เมื่อท่านรุ่มรวยยกใหญ่ เป็นเศรษฐีคหบดีขึ้นแล้ว ภิกษุสามเณรก็จะได้อาหารประณีตขึ้นไปเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นได้ด้วยกัน เสียด้วยกัน ทายกอุบาสก อุบาสิการุ่มรวยกันเท่าใด ภิกษุสามเณรก็รุ่มรวยกันเท่านั้น ให้พร แก่ตัวเอง ภิกษุสามเณรที่ฉลาดต้องตั้งอกตั้งใจให้พรทีเดียว

ถ้าภิกษุ สามเณรโง่ ไม่ฉลาด ประพฤติเลวทรามต่ำช้า ให้ผิดธรรมผิดวินัย จนกระทั่งทายกทายิกาทั้งหลายเบื่อ ไม่ใส่บาตรให้

นี่ภิกษุสามเณรฆ่าภิกษุสามเณรเอง ทำลายกันเองอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจะถล่มทลายด้วยประการใด ก็เพราะภิกษุสามเณรนั่นแหละ จะรุ่งเรืองด้วยประการใด  ก็เพราะภิกษุสามเณรนั่นแหละ เป็นข้อสำคัญนัก

ให้อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจประพฤติดี ประพฤติเป็นนักเรียนจริงๆ เรียนให้รู้ธรรมจริงๆ ปฏิบัติให้สมความรู้จริงๆ ได้ชื่อว่าเป็นสง่าราศีแก่พระพุทธศาสนา สังฆมชฺเฌโสภณ  เมื่อประพฤติให้เช่นนั้นในท่ามกลางพระสงฆ์

เมื่อย่อลงไปแล้วก็ได้ความว่า พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองอยู่ได้ เพราะอุบาสกอุบาสิกาไม่ละในการบริจาคทานให้พระภิกษุสามเณรตลอดสาย

ภิกษุสามเณรได้อาหารและบิณฑบาตนั้นแล้ว เข้าไปอยู่ในท้องอิ่มแล้ว ไม่ให้อาหารอิ่มนั้นเสียไปเปล่าๆ อุตส่าห์เล่าเรียนคันถธุระและวิปัสสนา มีหน้าที่ตามศรัทธาของตน ไม่ซุกซนด้วยประการใดประการหนึ่ง

ให้นึกดังนี้ นี่แหละได้ชื่อว่าเป็นอายุพระศาสดา เพราะอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุสามเณร ประพฤติตรงต่อกันด้วยประการดังนี้

ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้เป็น ภัตตานุโมทนาคาถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของท่านทานิสราธิบดีทั้งหลาย    บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี ชี้แจงเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายตามสมควรแก่เวลา

เอเตน สจฺจวชฺเชน               ด้วยอำนาจความสัตย์ เอ่ยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนอวสานนี้
สทา โสตฺถี ภวนฺตุเต            ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลายทุกถ้วนหน้า
สพฺพพุทฺธานุภาเวน              ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้าทั้งปวง
สพฺพธมฺมานุภาเวน              ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง
สพฺพสงฺฆานุภาเวน              ด้วยอานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง
พุทฺธรตนํ ธมฺมรตนํ สงฺฆรตนํ ติณฺณํ รตฺนานํ อานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระรัตนะทั้งสาม คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จตุราสีติส-หสฺสธมฺ  มกฺขนฺธานุภาเวน   ด้วยอานุภาพพระธรรมขันธ์  ทั้ง๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ปิฏกตฺตยานุภาเวน              ด้วยอานุภาพปิฎกทั้งสามคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระปรมัตถปิฎก
ชินสาวกานุภาเวน               ด้วยอานุภาพชินสาวกผู้ชนะมาร จงดลบันดาลความสุขสวัสดีเป็นปรากฏแก่ท่านทั้งหลายทั้งหมดที่มาสโมสร ณ สถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า

อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติยุติธรรมิกถาด้วยอรรถนิยมความลงเพียงเท่านี้

เอวํ   ก็มีด้วยประการฉะนี้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘