ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

ประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘

ภิกษุสามเณรเมื่อบวชเข้ามาในพระธรรมวินัยของพระศาสดาแล้ว ควรประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เรียกว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน แปลว่าประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรม เมื่อประพฤติสมควรแล้วต้องประพฤติขยับให้ยิ่งขึ้นไป อย่าให้หันหลังกลับได้ชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน ประพฤติดียิ่งขึ้นไป ไม่ถอยหลังกลังกลับ อย่าให้เคลื่อนจากธรรมตามธรรมไว้เสมอ นี่เรียกว่า อนุธมฺมจารี ประพฤติตามธรรม ภิกษุสามเณรเช่นนั้นได้ชื่อว่า สักการะ ได้ชื่อว่าเคารพ ได้ชื่อว่านับถือ ได้ชื่อว่าบูชาตถาคต ซึ่งเราผู้ตถาคต ปรมาย ปฏิปคฺติปูชาย ด้วยปฏิบัติบูชาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อประพฤติตามให้สมควรเป็นเช่นนี้แล้วตั้งใจให้แน่วแน่

ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นเป็นไฉน ?
ภิกษุสามเณร สามเณรรักษาศีล๑๐ ไป ตั้งอยู่ในร่องของศีล๑๐ อย่าให้เคลื่อนร่องของศีล ๑๐ ไปให้อยู่ในรอยของศีล๑๐ ให้อยู่ในเนื้อหนังของศีล๑๐ ให้บริสุทธิ์สะอาดตามปกติ  ตามความเป็นจริงของศีล๑๐ ส่วนภิกษุล่ะ ต้องประพฤติอยู่ในศีลเหมือนกัน ในศีลที่มีตนมีอยู่เป็นจำนวนเท่าไร ให้อยู่ในกรอบของศีล ไม่พ้นศีลไป ให้อยู่ในรอยของศีล ให้อยู่ในร่องของศีล ไม่พ้นร่องรอยของศีลไป ประพฤติปฏิบัติดังนี้ ได้ชื่อว่าถูกต้องร่องรอยทางของศีล ตรงกับบาลียืนยันว่า สพฺพาปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เป็นอัพโพหาริกอยู่ด้วย

ให้ถูกต้องร่องรอยของสมาธิอีกต่อไป สมาธิเป็นตัวทำใจให้สงบ สละเสียจากอารมณ์ ไม่ให้เกี่ยวด้วยอารมณ์ ไม่ให้ติดด้วยอารมณ์ ปล่อยอารมณ์เหล่านั้นเสีย จนกระทั่งใจหยุดเป็นเอกัคคตาเรียก ว่า จิตฺตสฺเสกคฺคตํ ถึงซึ่งความเป็นเอกัคคตาจิต เมื่อบริสุทธิ์ดังนี้แล้ว ก็อุตส่าห์พยายาม ให้ถูกร่องรอยของธรรมขึ้นไปอีก ไปอีกให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จนกระทั่งเกิดปฐมฌาน ใจสงัดจากกาม จากอกุศลทั้งหลายแล้ว เป็นไปกับด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ขึ้นสู่ปฐมฌาน เป็นดวงใสวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒ วา กลมเป็นวงเวียน หนาคืบหนึ่ง ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า แน่นอยู่กับฌาน ใจติดอยู่กับสิ่งนั้น แล้วก็ทำเป็นลำดับขึ้นไป เมื่อพบฌานดวงแรกเรียกว่า ปฐมฌาน ดังนี้แล้ว ให้เข้าถึง ทุติยฌาน ตติตยฌาน จตุตถฌาน ต่อไป อุตส่าห์ประพฤติไปดังนี้ เมื่อบรรลุฌานได้ขนาดนี้แล้วเป็นสมาธิขั้นสูง ศีล สมาธิ นี้เป็นตัวสำคัญอยู่

ไม่ใช่พอแต่เท่านั้น ต้องใช้ปัญญาเข้าพินิจพิจารณา เมื่อเข้าถึงฌานแล้ว ก็พินิจพิจารณากายมนุษย์นี้แหละ กายมนุษย์ในภพทั้ง ๓ กามภพ รูปภพ อรูปภพ พิจารณากายมนุษย์ทั้ง ๘ กาย กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด พิจารณาทั้ง ๔ ฐานนี้เป็นเป็นหลักของมรรคผล หลักของมรรคผลพิจารณา ทั้ง ๔ ฐานนี้ แต่ว่าขึ้นสู่ปฐมฌานแล้ว พิจารณาหลักสูงอย่างนี้ละก็เต็มเหยียดเชียว ชักจะไม่ไหว ขยับสมาธิให้สูงขึ้นไปกว่านี้ ให้สูงเป็นชั้นๆ ไป คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาน่ะจะต้องรู้จักความจริงของเบญจขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นเป็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว อย่างนี้ เรียกว่า ปัญญา

เมื่อเราเข้าถึงร่องรอยของธรรมเช่นนั้นละก็ ตั้งอยู่ในธรรมให้มั่นคง รักษาธรรมให้มั่นคง ดำรงอยู่ในดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเทียว ยังเข้าถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะทีเดียว แล้วจะเข้าถึง กายมนุษย์ละเอียด

เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้วเข้าถึงดวงธัมมานุปัส สนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในกายมนุษย์ละเอียด จะเข้าถึง กายทิพย์

เมื่อเข้าถึงกายทิพย์แล้วเข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติ ปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ในกายทิพย์อีกจะเข้าถึง กายทิพย์ละเอียด

เข้าถึงกายทิพย์ละเอียดแล้ว เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ จะเข้าถึงกายรูปพรหม

เมื่อเข้าถึงกายรูปพรหมแล้วก็แล้ว เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะในกายรูปพรหมแล้ว จะเข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด

เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ  ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะในกายรูปพรหมละเอียดแล้ว จะเข้าถึงกายอรูปพรหม

เมื่อเข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะในกายอรูปพรหม จะเข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียด

เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะในกายอรูปพรหมละเอียดแล้ว จะเข้าถึงกายธรรม

เมื่อเข้าถึงกายธรรมแล้ว ตาธรรมกายก็เห็น กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ทั้ง ๘ กายนี้ ทั้งเห็นทั้งรู้ เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ด้วยญาณของธรรมกาย ญาณมีแค่นี้

แต่กายมนุษย์ ไม่มีญาณ มีแต่ดวงวิญญาณ
กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด ไม่มีญาณ มีแต่ดวงวิญญาณ
ในกายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ก็ไม่มีญาณ มีแต่ดวงวิญญาณทั้งนั้น
พอเข้าถึงกายธรรม กายธรรมละเอียด ก็มีญาณ

ที่เรียกว่า ญาณก็แปลว่ารู้ ดวงวิญญาณก็แปลว่ารู้ ต่างกันโดยประการไฉน ?
ธรรมที่เรียกว่า ดวงวิญญาณนั่นแหละเล็กเท่าดวงตาดำข้างใน ใสเกินใส อยู่ในกลางดวงจิต บริสุทธิ์สนิทอยู่กลางดวงจิตนั้น ดวงจิตอยู่ที่ไหน หทยคูหาสยจิตฺตํ จิตมีถ้ำคือเนื้อหัวใจเป็นที่อยู่ อยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ ดวงจิตอยู่ที่นั่น ดวงจิตอยู่ที่ไหน ? ดวงวิญญาณอยู่ที่นั่น

ในกลางดวงจิตนั้น รู้อะไรก็รู้ตลอด        ตามากระทบรูปก็รู้      ดวงวิญญาณมันรู้
หูกระทบเสียง                         ดวงวิญญาณมันรู้
กลิ่นกระทบจมูก                      ดวงวิญญาณมันรู้
รสกระทบลิ้น                          ดวงวิญญาณมันรู้
กายกระทบสัมผัส                    ดวงวิญญาณมันรู้
ใจกระทบอารมณ์                    ดวงวิญญาณมันรู้

นั่นรู้อย่างหน้าที่ของดวงของดวงวิญญาณ รู้เพราะมีอายตนะ รู้ตามอายตนะ เหนืออายตนะไปนั่นรู้ไม่ได้ คนตาบอดรู้จักที่ปัสสาวะ ที่อุจจาระ ที่นอนที่กินของมันละก็ ไม่ต้องไปจูงมันดอก มันคลำของมันไปได้ อย่างคนตาบอดนั่นแหละฉันใด ความรู้ของดวงวิญญาณก็รู้อย่างคนตาบอดนั้น ตาเขาทำให้แล้ว หู เขาทำให้แล้ว จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาทำให้แล้ว ดวงวิญญาณก็ตรวจอายตนะทั้ง ๖ นี้เท่านั้น ไม่มีหู ตา อะไรก็ไม่รู้ อ้ายผิดถูกมันก็ไม่รู้ อ้ายดวงวิญญาณเหมือนกัน มันเปื่อยของมันไปอย่างนั้นแหละ รู้ผิดเป็นถูก รู้ถูกเป็นผิดของมันไปตามเรื่อง ดวงวิญญาณเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา

รู้ด้วยปัญญารู้จริงรู้ชัด แต่รู้ด้วยญาณละ ก็อีกเรื่องหนึ่ง รู้ด้วยญาณนั้นน่ะรู้ด้วยธรรมกาย ญาณของธรรมกายเป็นอย่างไร โอผิดกันกับดวงวิญญาณ

ใจของธรรมกายเป็นอย่างไร ใจของธรรมกายมีอย่างเดียวกัน เห็น จำ คิด รู้ ๔ อย่างเป็นใจ มีเห็น มีจำ มีคิด มีรู้ รู้นั้นก็ตรงกับดวงวิญญาณ อ้ายคิดนั้นก็ตรงกับดวงจิต อ้ายจำนั้นก็ตรงกับดวงใจ อ้ายเห็นนั้นก็ตรงกับดวงกาย เห็น จำ คิด รู้ หยุดเป็นจุดเดียวกันก็มีความรู้ นี้มันผิดกันตรงไหน มันเห็นเหมือนกัน จำเหมือนกัน คิดเหมือนกัน  รู้เหมือนกัน ผิดกันตรงนี้

พอถึงธรรมกายแล้ว ดวงเห็นขยายส่วนออกไป หน้าตักธรรมกายโตเท่าไหน ดวงเห็นขยายออกไปวัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่านั้น กลมรอบตัว เมื่อดวงเห็นแผ่ออกไปเท่าใดแล้ว ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ก็แผ่ออกไปเท่ากัน ดวงใจออกไปเท่าใด ดวงคิดก็แผ่ออกไปเท่ากันดวงคิดแผ่ออกไปเท่าใดดวงรู้ที่ เรียกว่า ดวงวิญญาณ ตรงกับ ดวงวิญญาณ ของมนุษย์ก็แผ่ออกไปเท่ากัน เท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัวสี่ชั้นซ้อนกันอยู่ ชั้นนอกคือดวงเห็น ชั้นในเข้าไปคือดวงจำ ชั้นในเข้าไปคือดวงคิด ชั้นในเข้าไปคือดวงรู้ รู้นั้นต้องรู้ตรงนั้นแหละ เมื่อขยายส่วนเท่านั้นละก็ เขาเรียกว่า ญาณ ถ้ายังไม่ขยายส่วนละก็เขาเรียกว่าดวงวิญญาณ ถ้าขยายส่วนออกไปรูปนั้นละก็เรียกว่า ญาณ ตั้งแต่มีธรรมกายก็มีญาณทีเดียว นี่ญาณกับดวงวิญญาณผิดกันดังนี้ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ไม่ใช่อันเดียวกัน คนละอันทีเดียว

รู้อย่างเดียว รู้ด้วยวิญญาณกับรู้ด้วยญาณนั้นต่างกันอย่างไร ? ต่างกันไกล
รู้ด้วยดวงวิญญาณ รู้เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา
รู้ด้วยญาณนั่นรู้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ว่ามนุษย์มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กายมนุษย์ละเอียด ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กายทิพย์                                ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กายทิพย์ละเอียด                      ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กาย รูปพรหม                          ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กายรูปพรหมละเอียด                 ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กายอรูปพรหมละเอียด               ก็มีขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ที่รู้ด้วยญาณนั้นน่ะรู้ได้อย่างไร ?
รู้ด้วยญาณ รู้ว่ากายมนุษย์ทั้งหยาบทั้งละเอียดเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นอนิจจังเป็นไฉน ? ไม่คงทนอยู่ที่เปลี่ยนแปรผันไป
เป็นทุกข์นั้นเป็นไฉน ถึงซึ่งความลำบากไม่สบาย  เบญจขันธ์ทั้ง ๕ มีอยู่ตราบใดไม่มีความสบาย มีเย็น มีร้อนเป็นต้น เดือดร้อนอยู่เสมอ ด้วยความเบียดเบียน ๖ อย่างนี้ เย็น ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่มีสุข เบียดเบียนอยู่เสมอ รู้ว่าเบญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ เราจะบังคับได้ไหมล่ะ ให้เป็นสุข ไม่ให้เป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร ที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครนั้นเรียกว่า ไม่ใช่ตัว เรียกว่าอนัตตา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่เช่นนี้ รู้ด้วยญาณ เห็นด้วยตาธรรมกาย

เมื่อเห็นด้วยตาธรรมกายว่ากายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียดเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็อะไรเล่าเป็นแก่นสาร ถ้าเห็นว่าอ้ายเกิดนี่มันตัวทุกข์แท้ๆ เป็นทุกข์ทีเดียว อ้ายเกิดนี่มันตัวทุกข์แท้ๆ ไม่เพลินเสีย อ้ายเรื่องเกิดเป็นทุกข์ทีเดียว อ้ายเกิดไม่ใช่ลำพังเกิด เหตุให้เกิดมีอยู่คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาตัณหา เป็นเหตุให้เกิด เมื่อไปเห็นเหตุที่เกิดแล้ว มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีดับ ที่ว่าเกิดไม่มีดับแลยน่ะเป็นอันไม่มี มีดับ ดับเป็นนิโรธ จะเข้าถึงซึ่งความดับไม่มี นี่เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ชัดด้วยญาณของธรรมกาย ถ้าว่าถูกส่วนเข้าถึงขนาดเช่นนี้ละก็ ธรรมกายโคตรภูจะกลับเป็นโสดา

เมื่อตาธรรมกายพระโสดา ญาณธรรมกายของพระโสดาเห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เห็นไม่เที่ยงเป็นทุกข์ในกายทิพย์ เห็นทุกข์ เห็นเหตุเกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในกายทิพย์ละเอียดเข้าแล้ว ถึงขนาดเข้า จะกลับจากพระโสดาเป็นพระสกทาคา

ตาธรรมกายพระสกทาคา ทั้งหยาบทั้งละเอียดรู้นัยน์ตาธรรมกายพระสกทาคา เห็นทุกข์ เ หตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด ตามความเป็นจริงถูกลักษณะเข้า กลับเป็นพระอนาคา

เมื่อตาของพระอนาคา ญาณของพระอนาคาเห็นรู้ ทุกข์สัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มัคคสัจ ในกายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียดหนักเข้า เห็นตามความจริงเข้าถูกหลักถูกส่วนเข้าจริงๆ ถึงขนาด ก็จะกลับจากพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด เป็นพระอรหัต

เมื่อถึงพระอรหัตละเอียดแล้ว สีติภูโต เป็นผู้เย็นแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว กิจที่จะต้องทำไม่ต้องทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘