ข้อเสียของวีไอ

เรามักได้ยินเกี่ยวกับ"ข้อดี"ของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investing อยู่เสมอๆ เช่น เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ หรือเป็นการลงทุนที่ทำผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ การลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่ใช่ว่าการลงทุนแบบนี้จะมีแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มี"ข้อเสีย"ด้วยกันหลายข้อดังต่อไปนี้


1) การลงทุนในรูปแบบที่ถือว่านักลงทุนเป็นเจ้าของบริษัท และถือหุ้นเฉพาะบริษัทที่เข้าใจในราคาไม่แพง โดยถือหุ้นนั้นเป็นระยะเวลานานๆนั้น ยิ่งนักลงทุนมีตระแกรงร่อนในการเลือกหุ้นมากเท่าไหร่ ตัวเลือกในการลงทุนก็น้อยลงไปเท่านั้น เช่น ถ้าเรายึดหลักว่าจะไม่ซื้อหุ้นที่ไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ซื้อหุ้นที่มีหนี้มากเกินไป หรือไม่ซื้อหุ้นที่ไม่เข้าใจในธุรกิจนั้น ทำให้นักลงทุนมีข้อจำกัดในการลงทุนในหลายๆบริษัทที่น่าสนใจ รวมทั้งทำให้ตัวเลือกในการลงทุนน้อยลงตามขอบเขตที่กำหนดไว้

2) โอกาสในการลงทุนแนวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก บางครั้งนักลงทุนปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะมีคำถามอะไรบางอย่างในบริษัทนั้น เช่นอาจสงสัยในงบการเงิน ในผู้บริหาร หรือ อะไรก็ตามที่นึกขึ้นได้ แต่แล้วมันก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว เพราะสิ่งที่นักลงทุนสงสัยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ผู้บริหารบริษัทอาจดูน่าสงสัยในเรื่องของการขายหุ้นบริษัทออกมาในตลาดเป็น จำนวนมาก นักลงทุนอาจคิดว่าบริษัทนั้นกำลังประสบกับปัญหา ทำให้ผู้บริหารที่รู้เรื่องก่อนขายหุ้นออกมา แต่ในความเป็นจริง ผู้บริหารอาจขายหุ้นออกมาเพื่อต้องการนำเงินไปใช้จ่ายตามปกติ นักลงทุนที่สงสัยในประเด็นดังกล่าวอาจพลาดโอกาสในการลงทุนบริษัทนั้นไป เมื่อทุกอย่างคลี่คลายหรือข้อมูลชัดเจนขึ้น ราคาหุ้นก็ขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงเกินไปเสียแล้ว

3) บางทีนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเห็นโอกาสในการลงทุนแต่คว้าไม่ได้เพราะ เงินที่มีนำไปลงทุนในหุ้นอื่นจนหมด บ่อยครั้งที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าลงทุนในหุ้นทั้งหมด 100% ของเงินลงทุนที่มีอยู่ ทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนในหุ้นบริษัทอื่นๆไป การที่จะขายบริษัทที่มีอนาคตดีที่ถืออยู่เพื่อเปลี่ยนไปซื้อบริษัทใหม่ นักลงทุนต้องมีความมั่นใจในบริษัทใหม่มากกว่าบริษัทเดิมที่ถืออยู่หลายเท่า เพราะการเปลี่ยนบริษัทคือความเสี่ยงในการลงทุนอย่างหนึ่ง

4) นักลงทุนต้องมีความอดทนมากกว่าปกติในการที่เราจะถือบริษัทนี้ไปตลอด เพราะนักลงทุนต้องทำใจที่เห็นราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงที่ตลาดผันผวนอย่างมาก เช่น ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นลดลงจากการเทขายของรายใหญ่อย่าง กองทุนเฮดฟันด์ต่างประเทศ ราคาหุ้นที่ถืออยู่อาจลดลงเป็นอย่างมาก โดยที่พื้นฐานของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลง นักลงทุนต้องสามารถวิเคาระห์ให้อออกว่าราคาหุ้นที่ลดลงเกิดจากอารมณ์ของตลาด หรือพื้นฐานของบริษัท

5) ข้อสุดท้าย นักลงทุนต้องมีความอดทนมากกว่าปกติ เวลาที่เห็นราคาหุ้นตัวอื่นๆพุ่งแซงหน้าหุ้นของบริษัทที่นักลงทุนถืออยู่
บางครั้งดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่หุ้นที่นักลงทุนถืออยู่ ราคากลับนิ่งอยู่กัับที่ไม่กระเตื้องไปไหน นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าต้องทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะหุ้นบางบริษัทไม่ได้ปรับตัวตามดัชนีตลาดหุ้น
ในกรณีนี้นักลงทุนอาจต้องอาศัยคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตที่บอกว่า ราคาหุ้นระยะสั้นไม่ได้เป็นตัวบอกมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ในระยะยาวราคาหุ้นจะเป็นไปตามผลประกอบการของบริษัท ดังนั้นในระยะสั้นราคาหุ้นอาจลดลง แต่ในระยะยาวถ้าผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นจะสามารถปรับตัวขึ้นได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘