ผลตอบแทน VS ความเสี่ยง

นักลงทุนผู้มุ่งมั่นนั้น จำเป็นที่จะต้องประเมินผลงานการลงทุนของตนเองอยู่ตลอดเวลา เหตุผลก็คือ ข้อแรก จะได้รู้ว่าผลตอบแทนที่ทำได้นั้นดีและน่าพอใจแค่ไหน ข้อสอง รู้ว่าเรามีความเสี่ยง หรือได้เข้าไปรับความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และข้อสาม เพื่อให้รู้ว่าผลตอบแทนที่ได้นั้น เกิดจากฝีมือหรือความบังเอิญ และมันคุ้มค่าไหมที่จะรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
การประเมินเรื่องผลตอบแทนการลงทุน ดูเหมือนจะง่ายที่สุด เพราะเราเพียงแต่คำนวณว่า เราได้กำไรเท่าไรรวมถึงเงินปันผลแล้ว ก็นำมาตั้งหารด้วยเงินลงทุนตอนต้นงวด หรือต้นปีก็จะได้ว่าเราได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ต่องวดหรือต่อปี แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าเราลงทุนระยะยาวหลายๆ ปี อย่างที่เราทำอยู่ การคิดผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีนั้น ต้องคิดผลตอบแทนทบต้น ไม่ใช่ผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดา ซึ่งจะทำให้ตัวเลขของผลตอบแทนนั้นลดลง เช่น ถ้าผลตอบแทนเฉลี่ยธรรมดาอาจจะได้ 15% ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอาจจะได้เพียง 12% ต่อปีเท่านั้น
ผลตอบแทนการลงทุนที่เราได้มาแต่ละปี จะบอกว่าดีหรือไม่จะต้องดูข้อมูลอย่างน้อยสองตัวนั่น ก็คือ ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถคำนวณได้ โดยการนำดัชนีตลาดตอนปลายปี ลบด้วยดัชนีตอนต้นปีแล้วหารด้วยดัชนีตอนต้นปี จะได้กำไรจากการที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เสร็จแล้ว จะต้องบวกด้วยผลตอบแทนจากปันผล หรือ Dividend Yield ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% จะได้ผลตอบแทนรวมของตลาดต่อปี
การที่จะบอกว่าผลตอบแทนของเราดีหรือไม่ ก็ดูว่าผลตอบแทนของเราดีกว่า หรือแย่กว่าตลาด วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในช่วงที่เริ่มลงทุนใหม่ๆ นั้น เขาตั้งเป้าว่า ผลตอบแทนของเขาควรจะดีกว่าตลาดประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งปรากฏว่าเขาทำได้ในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมาและน่าจะเป็นสถิติที่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง
การที่ผลตอบแทนดีกว่าตลาดนั้น ในความเห็นของผมก็ยังไม่พอจะต้องมีข้อสอง นั่นก็คือ เราจะต้องไม่ขาดทุน การที่ผลงานการลงทุนของเราดีกว่าตลาดแต่ขาดทุนนั้น ถ้าดูแล้วก็ไม่มีประโยชน์และความมั่งคั่งของเราจะลดลง อย่าลืมว่า ตลาดหุ้นนั้นโดยเฉลี่ย 10 ปี จะขาดทุนประมาณ 4 ปี และกำไร 6 ปี ถ้าตลาดขาดทุนแล้ว เราทำได้ดีกว่าตลาด แต่ก็ขาดทุนเหมือนกัน
แบบนี้โอกาสที่พอร์ตของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวก็น้อยลงไปมาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มีความโดดเด่นมากนั้น ส่วนสำคัญที่คนอาจจะลืมไป ก็คือ ในช่วง เกือบ 50 ปี ที่ลงทุนเขาน่าจะเคยขาดทุนไม่เกิน 3-4 ปี ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นผลงานที่ยิ่งกว่าเรื่องของผลตอบแทนที่เขาทำได้
เรื่องของความเสี่ยงในการลงทุน มองโดยภาพรวมจะบอกว่า เรารับความเสี่ยงสูงหรือไม่นั้น สามารถมองได้สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ เรากู้เงินหรือใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้นหรือไม่ ถ้าใช่และใช้มากด้วย นี่ก็เป็นการบอกว่าเราเสี่ยงสูง ถ้าไม่ใช้เลยแปลว่า ความเสี่ยงเราต่ำหรือเราไม่เสี่ยง
อีกจุดหนึ่งที่พอจะมองได้ ก็คือ ผลตอบแทนของพอร์ตของเราในอดีตที่ผ่านมา ถ้าผลตอบแทนที่ได้ปีต่อปีของเรานั้น มีการผันผวนสูงและเคยมีการ "ขาดทุนร้ายแรง เป็นครั้งคราว แบบนี้อาจจะมองได้ว่าที่เราทำมานั้น เรามีความเสี่ยงสูงถึงแม้ว่าโดยรวมเรายังมีผลตอบแทนที่ดี แต่ความเสี่ยงนั้นแปลว่า อาจจะมีวันในอนาคต ที่เราจะประสบกับความเสียหายหนัก หรือหายนะที่อันตรายได้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นั้นใช้เงินกู้น้อยมาก แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะเขามีเงินที่ "ไม่มีดอกเบี้ย" จากเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยของเขามาใช้ลงทุนมากมาย
มองความเสี่ยงในภาพเล็กลงมาเรา อาจจะมองจากจำนวนและขนาดของหุ้นแต่ละตัว ที่เราถือหรือเคยถืออยู่ ถ้าเรามักถือหุ้นจำนวนน้อยมากเช่น ถือเพียงตัวเดียวหรือสองตัว หรือถือหลายตัวแต่ตัวที่ถือหนักๆ มีเพียงตัวเดียว หรือสองตัว แบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเรารับความเสี่ยงมากกว่า การที่จะถือหุ้นถึง 4-5 ตัวกระจายกันไปโดยไม่มีตัวที่มากขนาดเป็น 50% ของพอร์ต
บางคนอาจจะบอกว่าตนเอง "ไม่เสี่ยง" เพราะได้พิจารณาและวิเคราะห์เป็นอย่างดี ความเสี่ยงสำหรับเขา ก็คือ "ความไม่รู้ ถ้ารู้ก็ไม่เสี่ยง" นี่อาจจะเป็นเรื่องของความมั่นใจในความสามารถของตนเอง แต่คนเรานั้นย่อมไม่สามารถรู้อะไรทั้งหมด และหุ้นนั้นเป็นอะไร ที่จะถูกผลกระทบจากปัจจัยภายนอกได้มากมาย
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การถือหุ้นน้อยตัวเกินไป หรือหนักเกินไปในบางตัวนั้น เป็นความเสี่ยงเสมอ เช่นเดียวกับการถือหุ้นมากตัวเกินไปที่มีความเสี่ยงที่เกิดจากการที่เรา "ไม่รู้" เพราะศึกษาไม่ดีพอ บัฟเฟตต์ เองนั้น แม้จะเป็นคนที่ถือหุ้นน้อยตัว แต่แทบไม่เคยที่เขาจะลงทุนในหุ้นตัวเดียวถึง 50% ของพอร์ต ยกเว้นในช่วงสั้นๆ ที่เขาเคยถือหุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรสที่กำลังเกิดปัญหารุนแรงและราคาหุ้นถูกอย่างเหลือเชื่อ
ความเสี่ยงนั้น บางทีก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างที่พูดว่า "ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือจะได้ลูกเสืออย่างไร" ดังนั้น Value Investor หลายๆ คนจึงยอมเสี่ยงมากกว่าปกติ เช่น ใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น ซื้อหุ้นลงทุนในแต่ละช่วงเพียงตัวเดียว หรือสองตัว หลายคนมีผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างกับนักเก็งกำไร ผลที่ออกมา หลายคนอาจจะน่าประทับใจมาก จนกลายเป็น Role Model หรือตัวอย่างให้คนทำตาม แต่หลายคนก็อาจจะขาดทุนผิดหวัง และเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียวอย่างที่เรียกว่า "คนตายไม่ได้พูด"
ถ้าเช่นนั้น ในฐานะของ Value Investor เราควรรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ พูดอีกอย่าง มันคุ้มไหมที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น คำตอบของผมก็คือ มันขึ้นอยู่กับแต่ละคน ถ้าเงินที่เราลงทุนในหุ้นเป็นเงินจำนวนไม่มากในแง่ของเรา หรือมันอาจจะมาก แต่เรายังมีทางหามาใหม่ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ถ้าหากว่ามันหมดหรือลดลงไปมาก ในลักษณะแบบนี้ เราสามารถที่จะเสี่ยงได้มาก แต่ถ้าเม็ดเงินที่มีอยู่มีจำนวนมาก และเราพอใจที่จะมีความมั่งคั่งในระดับนั้นมากอยู่แล้ว การเสี่ยงเพื่อให้พอร์ตโตเร็วขึ้นอีกก็อาจจะไม่คุ้ม
เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีความเสี่ยงแค่ไหน และโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนเพิ่ม จะมีมากน้อยแค่ไหน บ่อยครั้งที่เราลงทุน เราอาจจะคิดว่าความเสี่ยงมีน้อยทั้งที่มันอาจจะมาก การที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงต่ำ เพียงแต่ว่าผลร้ายมันยังไม่เกิด ความสำเร็จที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งอาจทำให้เราชะล่าใจคิดว่าเราเก่งเราเข้าใจดี แต่อาจจะมีวันที่เราทุ่มลงทุนอย่างหนักด้วยความมั่นใจสูง แต่ผลอาจจะเป็นทางตรงกันข้ามและนั่นอาจจะหมายถึงหายนะ
พูดถึงเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงกรณีบริษัทเงินทุน Fin One ของคุณปิ่น จักกะพาก ซึ่งครั้งหนึ่งประสบความสำเร็จสูงมาก จากการเติบโตอย่างรวดเร็ว ในตอนนั้น คุณปิ่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า Fin One ทำงานอย่างอนุรักษนิยมมาก และเน้นความปลอดภัยสูงสุด Fin One ไม่ "Take Risk" หรือรับความเสี่ยงสูง แต่แล้วก็อย่างที่ทราบกัน Fin One ล่มสลายในยามที่มันโตสุดขีด
บทเรียนเรื่องนี้สอนให้ผมตระหนักว่า หายนะอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมันมักจะเกิดตอนที่เรามั่นใจสุดขีด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘