ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants :DW)

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ Derivative Warrants (DW) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ที่เพิ่งเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเมื่อราวๆปี 2552 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์หลายๆแห่งเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดนโยบาย และแนวทางการดำเนินงานในการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์












  DW คืออะไร?


DW เป็นวอร์แรนต์ (Warrant : ใบสำคัญแสดงสิทธิ) ชนิดหนึ่ง ซื้อขายบนกระดานหลักในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแยกเป็นหมวดเฉพาะ คือ หมวดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ DW มีลักษณะคล้ายสัญญาอนุพันธ์ คือ เป็นสิทธิ ในการซื้อ (Call option) หรือ สิทธิในการขาย (Put option) หลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ตามราคา จำนวน วัน และเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามที่ผู้ออกกำหนด ทั้งนี้ ผู้ออก DW ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนผู้ออกหุ้นอ้างอิง

DW จะมีสัญลักษณ์ในการซื้อขายเฉพาะ (Ticker) ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดเกณฑ์ในการตั้งชื่อย่อของ DW ไว้ โดยให้มี 8 หลัก ได้แก่

UUUUIICA
UUUU หมายถึงชื่อหุ้นอ้างอิง
- กรณีที่หุ้นอ้างอิงมีชื่อสั้นกว่า 4 ตัวอักษร ใช้ชื่อนั้นได้เลย เช่น PTT
- กรณีที่หุ้นอ้างอิงมีชื่อยาวกว่า 4 ตัวอักษร ให้คงไว้เฉพาะอักษร 4 ตัวแรก
เช่น หุ้น KBANK จะใช้เพียง KBAN
II หมายถึงผู้ออก DW โดยใช้เลขรหัสสมาชิกของโบรกเกอร์ เช่น
บล.เอเซีย พลัส = 08
C
หมายถึงประเภทของ DW โดย
C หมายถึง Call DW 
P หมายถึง Put DW
A หมายถึงรุ่นที่ออก (Series) โดยใช้สัญลักษณ์ A-Z

DW มีอายุตั้งแต่ 2 เดือน - 2 ปี เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น เนื่องจากราคาของ DW ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) และมูลค่าเวลา (Time Value) เมื่อใกล้ครบกำหนดอายุ ส่วนที่เป็นมูลค่าเวลาจะค่อยๆลดน้อยลงไป เหลือแต่ส่วนที่เป็นมูลค่าที่แท้จริง

DW มี 2 ประเภท คือ

Call DW หรือ DW ที่ให้สิทธิในการซื้อหุ้นอ้างอิง นักลงทุนควรเลือกลงทุนใน Call DW เมื่อมีมุมมองเป็นบวกต่อราคาหุ้นอ้างอิง พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคิดว่าราคาหุ้นอ้างอิงจะขึ้น จึงจะซื้อ Call DW
ราคาของ Call DW = มูลค่าที่แท้จริง + มูลค่าเวลา 
                                  = [(ราคาหุ้นอ้างอิง – ราคาใช้สิทธิ) / อัตราใช้สิทธิ] + มูลค่าเวลา
ตัวอย่างเช่น
น้องเอ ซื้อ DW ที่อ้างอิงกับหุ้น ABC ออกโดย บล.เอเซีย พลัส รุ่นที่ 1 ซึ่งมีชื่อย่อเป็น ABC08CA อายุ 4 เดือน โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 100 บาท อัตราใช้สิทธิ 1 DW : 1หุ้นอ้างอิง ราคา DW 10 บาท

ในกรณีที่อายุคงเหลือเท่าเดิม แต่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงไปดังนี้
ราคาหุ้น ABC (บาท) ราคา DW *
มูลค่าที่แท้จริง (บาท) มูลค่าเวลา (บาท) ราคา DW (บาท)
100 0 5 5
103 3 5 8
105 5 5 10
108 8 5 13
115 10 5 15

กรณีที่อายุคงเหลือน้อยลง และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
สัปดาห์ที่ ราคาหุ้น ABC (บาท) ราคา DW *
มูลค่าที่แท้จริง (บาท) มูลค่าเวลา (บาท) ราคา DW (บาท)
1 105 5 10
2 103 3 4.5 7.5
3 107 7 4 11
4 110 10 3.5 13.5
5 115 15 2.5 17.5
* ราคา DW ที่นำมาแสดงนี้เป็นเพียงตัวอย่างสมมติ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจกลไกลการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ง่ายขึ้น

ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Call DW ณ วันครบกำหนดอายุ
ผลตอบแทนของ Call DW = (ราคาหุ้นอ้างอิง – ราคาใช้สิทธิ) / อัตราใช้สิทธิ
ดังนั้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงสูงขึ้น

Put DW หรือ DW ที่ให้สิทธิในการขายหุ้นอ้างอิง นักลงทุนควรเลือกลงทุนใน Put DW เมื่อมีมุมมองเป็นลบต่อราคาหุ้นอ้างอิง นั่นคือ ถ้าคิดว่าราคาหุ้นอ้างอิงจะลง จึงจะซื้อ Put DW
ราคาของ Put DW = มูลค่าที่แท้จริง + มูลค่าเวลา 
                                  = [(ราคาใช้สิทธิ – ราคาหุ้นอ้างอิง) / อัตราใช้สิทธิ] + มูลค่าเวลา
ตัวอย่างเช่น
น้องบี ซื้อ Put DW ที่อ้างอิงกับหุ้น ABC ออกโดย บล.เอเซีย พลัส รุ่นที่ 1 ซึ่งมีชื่อย่อเป็น ABC08PA อายุ 4 เดือน โดยมีราคาใช้สิทธิที่ 100 บาท อัตราใช้สิทธิ 1 DW : 1หุ้นอ้างอิง  ราคา DW 10 บาท

ในกรณีที่อายุคงเหลือเท่าเดิม แต่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงไปดังนี้
ราคาหุ้น ABC (บาท) ราคา DW *
มูลค่าที่แท้จริง (บาท) มูลค่าเวลา (บาท) ราคา DW (บาท)
102 -2  3
100 0 5 5
95 5 5 10
90 10 5 15
85 15 5 20

กรณีที่อายุคงเหลือน้อยลง และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป ราคา DW จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
สัปดาห์ที่ ราคาหุ้น ABC (บาท) ราคา DW *
มูลค่าที่แท้จริง (บาท) มูลค่าเวลา (บาท) ราคา DW (บาท)
1 95 5 5 10
2 100 0 4.5 4.5
3 90 10 4 14
4 85 15 3.5 18.5
5 80 20 2.5 22.5
* ราคา DW ที่นำมาแสดงนี้เป็นเพียงตัวอย่างสมมติ เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจกลไกลการเปลี่ยนแปลงของราคาได้ง่ายขึ้น
 ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Put DW ณ วันครบกำหนดอายุ
ผลตอบแทนของ Put DW = (ราคาใช้สิทธิ– ราคาหุ้นอ้างอิง) / อัตราใช้สิทธิ
ดังนั้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อราคาหุ้นอ้างอิงลดลง



  DW เหมือนหรือแตกต่างจากวอร์แรนต์ทั่วไปอย่างไร?

เมื่อเปรียบเทียบ DW กับวอร์แรนต์ทั่วไป จะเห็นความเหมือนและความแตกต่างดังนี้

  DW Warrant
เหมือน
  • สถานะเป็นหลักทรัพย์
  • ซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์
  • ความเสี่ยงขึ้นกับเครดิตผู้ออก DW
  • ค่าคอมมิชชั่น เหมือนกับการซื้อขายหลักทรัพย์
  • สถานะเป็นหลักทรัพย์
  • ซื้อขายในกระดานหลักทรัพย์
  • ความเสี่ยงขึ้นกับเครดิตผู้ออก DW
  • ค่าคอมมิชชั่น เหมือนกับการซื้อขายหลักทรัพย์
แตกต่าง
  • อายุตั้งแต่ 2 เดือน – 2 ปี
  • หุ้นอ้างอิงเป็นหุ้นใน SET50
  • ผู้ออกเป็นธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. และไม่ใช่ผู้ออกหุ้นอ้างอิง
  • มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 1 ราย
  • ไม่ต้องมีหุ้นเพิ่มทุนมารองรับการใช้สิทธิ ดังนั้น ไม่เกิด dilution effect ต่อหุ้นอ้างอิง
  • อายุน้อยกว่า 10 ปี
  • หุ้นอ้างอิงเป็นหุ้นของบริษัทนั้นๆ
  • ผู้ออกเป็นบริษัทผู้ออกหุ้นอ้างอิง
  • ไม่กำหนดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง
  • มีการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิ ดังนั้นจะมี dilution effect ต่อหุ้นอ้างอิง



 ผู้ออก DW เป็นใคร?


ผู้ออก DW เป็นธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีคุณสมบัติดังนี้
    -  เป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด (OTC License)
    -  มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และมีอัตราเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 7
    -  มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้ ( ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป)
    -  ไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
    -  ไม่เคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้จากการใช้สิทธิ DW
    -  ผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม ไม่อยู่ในรายชื่อควบคุมของสำนักงาน ก.ล.ต.

ดังนั้น นักลงทุนจึงมั่นใจได้ว่า DW ที่ออกมาสู่ตลาดทุนนั้น ผ่านการคัดกรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. มาแล้วระดับหนึ่ง ทั้งนี้ DW ที่อ้างอิงหุ้นตัวเดียวกัน มีเงื่อนไขอื่นๆเหมือนกัน นักลงทุนจึงต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ออกเป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย



 ผลตอบแทนจากการลงทุนใน DW เป็นอย่างไร?


ผลตอบแทนจากการลงทุนใน DW มี 2 แบบคือ

1.กำไร-ขาดทุนจากการซื้อขาย DW ในตลาดหลักทรัพย์ ฯ
กำไร-ขาดทุนจากการซื้อขาย DW ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเหมือนกับกำไร-ขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป และได้รับการยกเว้นภาษีบนกำไรที่ได้จากการซื้อขาย (Free tax on capital gain) ทั้งนี้ หากนักลงทุนขาย DW ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันซื้อขายวันสุดท้าย นักลงทุนจะขายได้ที่ราคาต่ำสุดเท่ากับมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของ DW นั้นๆ

2.กำไร-ขาดทุนจากการใช้สิทธิ
ในกรณีที่ DW อยู่ในสถานะ In the Money นักลงทุนจะมีกำไรจากการใช้สิทธิ ทั้งนี้ นักลงทุนมีภาระภาษีจากส่วนต่างเงินสดที่ได้รับจากการใช้สิทธิด้วย
ในทางกลับกัน นักลงทุนจะมีการจำกัดขาดทุนอยู่ที่ต้นทุนของ DW นั่นหมายความว่า ถ้านักลงทุนถือ DW ไว้จนถึงวันครบกำหนดอายุ โดยไม่ใช้สิทธิ มูลค่าของ DW ที่ถืออยู่จะกลายเป็นศูนย์ และถูกเพิกถอนออกจากกระดานหลักทรัพย์ในวันทำการถัดจากวันครบกำหนดอายุ



 DW ซื้อขายยังไง?


การซื้อขาย DW ทำได้ 2 วิธี ได้แก่

1.ซื้อในตลาดแรก คือการซื้อ DW ในช่วงเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป หรือ IPO การซื้อด้วยวิธีนี้ จะคล้ายกับการจองซื้อหน่วยลงทุน คือนักลงทุนจ่ายเงินเข้ามาเป็นเงินก้อนก่อนการคำนวณจำนวนหน่วยที่จะได้รับ
ข้อดี
    - ในกรณีที่จำนวนผู้จองซื้อน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขาย นักลงทุนจะได้รับ DW เต็มจำนวนที่จองซื้อนั้น
    - ไม่เสียค่าคอมมิชชั่น
ข้อเสีย
    - ราคาของ DW อาจสูงขึ้นหากราคาหุ้นอ้างอิงปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนวันกำหนดราคา DW
    - ความเสี่ยงด้านราคาหุ้นอ้างอิงที่เปลี่ยนแปลงในช่วงที่ DW ยังไม่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

2. ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คือ การซื้อขาย DW ในกระดานหลักทรัพย์ ซึ่ง DW จะถูกจัดไว้ในหมวดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
ข้อดี
    - สามารถกำหนดราคาที่ต้องการซื้อได้ทันที
    - ซื้อขายเหมือนหลักทรัพย์ทั่วไปซึ่งนักลงทุนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว
ข้อเสีย
    - เสียค่าคอมมิชชั่นในอัตราที่โบรกเกอร์กำหนด



 DW มีประโยชน์ยังไงบ้าง?


1. เป็นสินค้าที่ให้ Leverage แก่นักลงทุน คือ ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นอ้างอิง แต่ให้ผล (Exposure) เสมือนกับการลงทุนในหุ้นอ้างอิง
ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบจำนวนเงินลงทุนของหุ้น ABC และ ABC08CA เมื่อกำหนดให้ ABC ราคาหุ้นละ 100 บาท และ ABC08CA ราคาหน่วยละ 1 บาท และมีอัตราใช้สิทธิ 10 DW ต่อ 1 หุ้นอ้างอิง

หลักทรัพย์ ราคาต่อหน่วย (บาท) จำนวน (หุ้น/หน่วย) รวมจำนวนเงินลงทุน (บาท)
ABC 100 100 10,000
ABC08CA 1 10 x 100 = 1,000 1,000
Average 10 เท่า

2. DW ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในหุ้นอ้างอิง
 ตัวอย่างเช่น กำหนดให้ ABC ราคาหุ้นละ 100 บาท และ ABC08CA ราคาหน่วยละ 1 บาท ราคาใช้สิทธิ 100 บาท และมีอัตราใช้สิทธิ 10 DW ต่อ 1 หุ้นอ้างอิง

ตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้น ABC และ ABC08CA ณ วันครบกำหนดอายุ
ABC ABC08CA
ราคา ABC ผลตอบแทน กำไร/ขาดทุน ราคา ABC ผลตอบแทน กำไร/ขาดทุน
140 40 40% 140 40 – 10 = 30 300%
130 30 30% 130 30 – 10 = 20 200%
120 20 20% 120 20 – 10 = 10 100%
110 10 10% 110 10 – 10 = 0 0
100 0 0 100 0 – 10 = -10 -100%
90 -10 -10% 90 -10 -100%
80 -20 -20% 80 -10 -100%

3. เพิ่มทางเลือกในการลงทุน
DW เป็นตัวช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการลงทุน เนื่องจาก DW ส่วนใหญ่มักมีราคาไม่สูง ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทั้งยังซื้อง่าย ขายคล่อง เหมือนหลักทรัพย์ทั่วไป รวมทั้งยังใช้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มผลตอบแทนโดยการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ด้วย เช่น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นอ้างอิงอยู่แล้ว ต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน สามารถกระจายการลงทุน โดยการแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน ล่วนแรกลงทุนในหุ้นอ้างอิงเช่นเดิม แต่ส่วนที่สอง ลงทุนใน DW ของหุ้นอ้างอิงนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มอัตราผลตอบแทนในระยะสั้นๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘