แล้วมันก็จะผ่านไป

เหตุการณ์ความรุนแรง ที่มีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้น หรือที่คนคิดว่ามีผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรง เกิดขึ้นเป็นประจำ พูดได้ว่าทุก 3-4 ปี หรือน้อยกว่านั้น ประเทศไทยหรือไม่ก็โลกจะต้องประสบกับ "วิกฤติ" บางอย่างที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย "อย่างแรง" ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น นักลงทุนก็มักจะรู้สึกว่าเหตุการณ์ "ครั้งนี้" รุนแรงมากกว่าที่เคยผ่านมา "ถ้าแก้ไขไม่ได้ บ้านเมืองและเศรษฐกิจอาจจะล่มสลาย" แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องที่ "วิกฤติร้ายแรง" ก็ผ่านพ้นไปโดยที่บ้านเมืองไม่ได้ล่มสลาย เศรษฐกิจก็เติบโตต่อไป
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ยังอยู่ และดัชนีหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น บางครั้งรุนแรง เพื่อที่จะตกกลับลงมาอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อวิกฤติคราวหน้ามาถึง ตลาดหุ้นก็เป็นเช่นนี้ ลองมาดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตลาดหุ้นไทยเผชิญมาและก็ผ่านมาได้ และเราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนนั้นเรา "กลัวแทบตาย"
ผมคงมองย้อนหลังไปถึงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อตลาดหุ้นไทยเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หน่อย และผมเริ่มเข้ามาทำงานในตลาดการเงินแล้ว นั่นก็คือ เหตุการณ์ Black Monday หรือวันจันทร์ทมิฬ
นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจะเรียกว่าเกิดจากปัญหา "ทางเทคนิค" เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก และกระทบมาถึงตลาดหุ้นไทย
เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดๆ และไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไร ที่จะทำให้ตลาดหุ้นตกอย่างหนักยกเว้นแต่ว่าอาจจะมีนักลงทุน หรือผู้ดูแลภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่กลัวว่า ตลาดจะอยู่ในภาวะ "ฟองสบู่" จึงพยายามที่จะลดความร้อนแรง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่ระมัดระวังกันอยู่แล้ว ก็มีการติดตั้งระบบการซื้อขายหุ้นแบบ "อัตโนมัติ" หรือที่เรียกว่า Program Trading ที่จะสั่งขายหุ้นได้ทันทีถ้าหุ้นตกถึงระดับหนึ่ง และเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงถึงจุดนั้น ระบบก็เริ่มทำงานและการขายหุ้นก็เกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้หุ้นตกลงมาเป็นประวัติการณ์ แต่ที่น่าแปลก ก็คือ ตลาดหุ้นไทยซึ่งยังไม่ได้เปิดเสรีให้กับนักลงทุนต่างประเทศและไม่ได้มี Program อะไรทั้งนั้น ก็ตกลงไปมหาศาลพอๆ กันด้วย นั่นคือเหตุการณ์ปี 2530
หลังจาก Black Monday ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเร็ว และแรงมากเป็นเวลา 3 ปี จนถึงปี 2533 ก็เกิดเหตุการณ์ สงครามอ่าวเปอร์เซียที่อิรักบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ "ช็อกโลก" เพราะนี่คือแหล่งน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก ตลาดหุ้น แน่นอน ตกลงมาอย่างหนัก แต่แล้วไม่กี่เดือนต่อมา สหรัฐอเมริกากับพันธมิตร ก็สามารถยึดคูเวตคืนมาได้หุ้นจึงปรับตัวขึ้นไปและเราก็ผ่าน "วิกฤติ" สงครามอ่าวมาได้ในเวลาอันสั้นเพื่อที่จะเผชิญกับ "สงคราม" ที่เกิดในประเทศไทยในอีก 2 ปีต่อมา
ในปี 2535 ผู้นำของกลุ่มทหารที่ทำการปฏิวัติที่เรียกว่า รสช. หรือถ้าผมจำไม่ผิดมาจากคำว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากมีการเลือกตั้ง เหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนและทหารได้เข้าปราบปรามจนเกิดการเสียเลือดเนื้อ และชีวิตจำนวนมากที่ต่อมาเรียกว่า "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ" แต่วิกฤติครั้งนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนไม่มากนัก และเกิดในเวลาอันสั้นจึงกระทบกับตลาดหุ้นไม่มากนัก
หลังจากที่เหตุการณ์ผ่านพ้นไป ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตสุดขีดโตปีละกว่า 10% ติดต่อกันหลายปี ทำให้ดัชนีสูงถึง 1753 จุด ก่อนที่จะประสบกับวิกฤติรอบใหม่ คิดแล้วช่วงเวลาระหว่างวิกฤติรอบนี้กินเวลา 3 ปี ก่อนที่จะเกิดวิกฤติรอบใหม่
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดจากการเงินของต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปี 2538 ซึ่งมีสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน เหตุการณ์แรกคือ เรื่องของการลดค่าเงินเปโซลงมาเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจเม็กซิโก แต่เหตุการณ์ที่ประทับใจรุนแรงกว่า ก็คือ การล้มของแบริงซีเคียวริตี้ ที่เป็นสถาบันการเงินเก่าแก่ที่เคยรับใช้ราชวงศ์ของอังกฤษมาก่อน
ทั้งสองเรื่องประกอบกับการที่ดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปสูงมาก เป็นฟองสบู่ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนัก และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต้องตั้งกองทุนเพื่อพยุงราคาหุ้นไม่ให้ตกต่ำลงไปมากกว่านั้น แต่หุ้นก็ไม่สามารถยืนราคาอยู่ได้ หลังจากที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปได้ไม่กี่เดือนมันก็เริ่มปรับตัวลงมาเรื่อยๆ เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2540
วิกฤติปี 2540 นั้น ผมได้เคยพูดไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากปี 40 เป็นเวลา 4 ปีเราไม่ได้เห็นวิกฤติเป็นเรื่องเป็นราว แต่ถ้าจะพูดไป ช่วงเวลานั้นอาจจะพูดว่าเรายังอยู่ในภาวะวิกฤติตลอดเวลา เพราะว่าเศรษฐกิจ สถาบันการเงินหลักๆ ของประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจำนวนมาก ต่างก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเอาตัวรอดจากภาวะเลวร้ายทางการเงินได้หรือไม่
จวบจนถึงปี 2544 เราหรือถ้าจะพูดให้ตรง ก็คือ โลกก็ต้อง "ช็อก" จากการถล่มตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์กของกลุ่มก่อการร้าย เหตุการณ์นี้ ทำให้เราต้องปิดตลาดหลักทรัพย์หนึ่งวัน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่านี่เป็นเรื่องของการเมืองอเมริกันล้วนๆ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงๆ โดยเฉพาะของประเทศไทยมีน้อย
ดังนั้น ผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นไทยจึงน้อยมาก และผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ และมาบูมสุดขีดในปี 2546 ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นไปถึง 117% ภายในปีเดียว ก่อนที่จะประสบกับวิกฤติอีกครั้งหนึ่งในปี 2547
หลังจากเวิลด์เทรด ต่อมาอีก 3 ปีคือในปี 2547 วิกฤติของประเทศไทยน่าจะเรียกว่าเกิดหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่โรคซาร์ส ไข้หวัดนก สึนามิ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนั้นว่าที่จริงก็ยังไม่อาจพูดได้ว่ามันผ่านไปแล้ว แต่เราก็ชินกับมันและดูเหมือนว่าจะไม่เป็นปัญหาเหมือนกับที่เกิดในช่วงแรก
อีก 2 ปีต่อมาในปี 2549 ประเทศไทยก็เกิดการปฏิวัติอีกแต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นวิกฤติเพราะไม่มีคนคัดค้านมากนัก และต่อมาอีก 2 ปี ก็คือ ในปีปัจจุบันที่เรากลับมาเจอวิกฤติอีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่งนับจากปี 2540 นั่นก็คือ เราเจอวิกฤติที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และเรายังเจอวิกฤติจากการที่มีการประท้วงปิดสนามบินหลักของประเทศ
นอกจากนั้น เรายังมีปัญหาความแตกแยกของคนในชาติที่รุนแรงที่ยังไม่จบลง แต่ในความคิดผมเองนั้น เหตุวิกฤติรุนแรงครั้งนี้ก็จะเป็นอย่างที่ เบน เกรแฮม เคยพูดไว้เป็นคำอมตะว่า "This Too, Shall Past" "นี่ก็จะต้องผ่านไปเหมือนกัน"

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘