อนุพันธ์: โทษมหันต์ หรือ คุณอนันต์

ผมขับรถเก่าๆ ขับรถก็ไม่เก่ง เงินก็ไม่มี ยังต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนอีก ….. ในแต่ละเดือน ผมกันเงินไว้ ให้คุณแม่ เหลือเก็บนิดหน่อย ยังต้องไปจ่ายเบี้ยประกันชีวิต ….. สัปดาห์หน้า ผมจะย้ายไปเข้าสำนักงานสาทร ไกลบ้านเหลือเกิน อพาร์ตเม้นท์ก็มีห้องว่าง เพียงห้องเดียว ยังต้องมาจ่ายเงิน มัดจำประกันการเช่าห้องอีก ผมจะจ่ายประกันภัยรถต่อดีไหมครับ รถไม่เห็นชนสักที ผมจะจ่ายเบี้ยประกันชีวิตต่อ ดีไหมครับ ไม่เห็นตายสักที สัปดาห์หน้า ผมจะย้ายเข้า มาอยู่อพาร์ตเม้นท์ที่เล็งไว้เลย ดีไหมครับ ทำไมต้องไปจ่ายเงินมัดจำห้องด้วย

ฝรั่งมันว่า “ความเสี่ยงที่สุดในชีวิต คือ การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย” จริงสิ ถ้าผมไม่จ่ายเบี้ยประกัน ไม่จ่ายเงินมัดจำห้อง ก็เท่ากับผมกำลังพนัน กับชีวิตตัวเอง และ กำลังเล่นอยู่กับความเสี่ยง อย่างเต็มประตู …. หากผมขับพลาดท่า ไปชน Benz คันงามอย่างจัง โดนเรียกค่าเสียหาย 200,000 บาท จะทำไงดี งั้น โอนความเสี่ยงของผม ไปให้คนอื่น ที่ยินดีจะรับความเสี่ยงแทน น่าจะดีกว่า

ทำไมบางท่านถึงมองว่า ตราสารอนุพันธ์มันเสี่ยง มันเป็นการพนัน หากคุณถือหุ้นอยู่ โดยไม่มีธุรกรรมอนุพันธ์ นั่นก็เป็นความเสี่ยง และ เป็นการพนันว่า ทุกอย่างจะปกติสุข …. ท่านที่ถือหุ้นบลูชิพชั้นดี ในต้นทุนที่ต่ำกว่าชาวบ้าน แต่มิได้ทำการโอนความเสี่ยง ไปให้ผู้ที่พร้อมจะรับความเสี่ยง ไว้บ้าง หลับสบาย อุ่นใจ ไร้กังวล หรือเปล่าครับ ในวันที่แบ็งค์ชาติ ออกมาตรการแบบรีบๆ ในวันที่ 19 ธ.ค. และส่งผลให้วันนั้น หุ้นลงระเนระนาด กว่าร้อยจุด ในชั่วพริบตา ถ้าท่านยัง อุ่นใจ ไร้กังวล ก็แสดงว่า ท่านเป็น Value Investor ที่พนันว่า ทุกอย่างจะกลับมาปกติได้ ในเร็ววัน

บาง ท่านแย้งว่า ตราสารอนุพันธ์มันเสี่ยงมาก คำถามคือ ท่านทำธุรกรรมอนุพันธ์ ในฐานะผู้ต้องการโยกย้ายความเสี่ยง ด้วยการโอนความเสี่ยงออกไป (Hedger) หรือ ท่านทำธุรกรรม ในฐานะเป็นผู้ยินดีรับความเสี่ยงนั้นไว้เอง (Risk Taker, Speculator)

หากท่านเป็น Speculator ด้วยการรับโอนความเสี่ยงมาจาก Hedger ท่านย่อมมีโอกาสได้ “รับ” เงินมหาศาล หากท่านคาดการณ์ถูก ขณะที่ Hedger จะต้อง “จ่าย” เงินเล็กน้อยเพื่อป้องกันความเสี่ยง และ จะได้รับการปกป้องสินทรัพย์ หากเกิดอันตรายขึ้นจริง

Hedger ที่มีหุ้นบลูชิพมูลค่า 1 ล้านบาท ใช้เงิน 100,000 บาท (margin) เพื่อ “short Index Futures” 2 สัญญา (สมมุติ short ที่ระดับราคา 500) หาก SET50 ขึ้น 10% เขาจะได้ผลตอบแทนจากหุ้น 100,000 บาท (10%ของพอร์ต 1 ล้าน) แต่มีผลขาดทุนจากการ “short” จำนวน 100,000 บาท (2 สัญญาๆละ 50 จุดๆละ 1,000 บาท) ซึ่งในความเป็นจริง Hedger สามารถ limit loss ได้โดยไว เมื่อ short แล้ว ปรากฏว่า หุ้นเดินหน้า ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ….. ขณะที่ Speculator เก็งว่าหุ้นจะขึ้นแน่ๆ เขาจึงวางเงิน margin 100,000 บาท เข้ารับความเสี่ยงของ Hedger ด้วยการ “long Index Futures” 2 สัญญา และเมื่อตลาดขึ้นไป ตามที่เก็งไว้ Speculator ผู้นี้จะได้กำไรจากการ “long” จำนวน 100,000 บาท (2 สัญญาๆละ 50 จุดๆละ 1,000 บาท) หรือเรียกง่ายๆว่า Speculator เก็งถูก ทำกำไรได้ 100% จากเงิน margin

ในทางตรงข้าม หลังจาก Hedger “short” แล้ว ตลาดปรับลง 10% มูลค่าพอร์ตของ Hedger ก็หดหายไปด้วย 10% เช่นกัน แต่ได้กำไรจาก “short position” จำนวน 100,000 บาท (2 สัญญาๆละ 50 จุดๆละ 1,000 บาท) ในทางปฏิบัติ หากเป็นการปรับตัวลงชั่วคราว หุ้นในพอร์ต ยังมีโอกาสฟื้น คืนมาทำกำไรได้อีก ในวันข้างหน้า ….. ขณะที่ Speculator เก็งว่าหุ้นจะขึ้นแน่ๆ เขาจึงวางเงิน margin 100,000 บาท เพื่อรับความเสี่ยงของ Hedger ด้วยการ “long Index Futures” 2 สัญญา และเมื่อเก็งผิดพลาด ตลาดปรับตัวลง Speculator ผู้นี้จะขาดทุนจากการ “long” จำนวน 100,000 บาท (2 สัญญาๆละ 50 จุดๆละ 1,000 บาท) หรือเรียกง่ายๆว่า Speculator เก็งผิด ขาดทุนทันที 100% จากเงิน margin ซึ่งในความเป็นจริง Speculator สามารถ limit loss ได้โดยไว เมื่อ long แล้ว ปรากฏว่า หุ้นปรับลงหัวทิ่มอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความที่กำไร 50%-100% และขาดทุน 50%-100% สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าหุ้นมาก …..

โทษ มหันต์ หรือ คุณอนันต์ ของตราสารอนุพันธ์ จึงน่าจะเป็น ที่พฤติกรรมของผู้เล่น มากกว่า เพราะโดยตัวของมันเองแล้ว อนุพันธ์เป็นเพียง เครื่องมือในการโอนความเสี่ยงออก และ รับความเสี่ยงเข้า ระหว่าง Hedger และ Risk Taker เท่านั้นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘