เส้นหุ้นบวก / ลบสะสม ADVANCE / DECLINE LINE (A/D LINE)

ความหมายและการคำนวณ


A/D LINE เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคอีกชนิดหนึ่ง ใช้มองแนวโน้มระยะกลางและระยะยาว ของทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มหุ้น ซึ่งหาได้จากผลต่างสะสมของจำนวนหุ้นบวก (หุ้นที่ราคาปิดสูงขึ้นจากวันก่อนหน้า) กับจำนวนหุ้นลบ (หุ้นที่ราคาปิดต่ำลงจากวันก่อนหน้า) โดยใช้สูตรการคำนวณดังนี้
A/D   =   (A-D) + A/D ของวันก่อนหน้า

A          =   จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเป็นบวก
D          =   จำนวนหุ้นที่มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเป็นลบ
หมายเหตุ    A/D LINE จะไม่นำ VOLUME ในการซื่อขายเข้ามาคำนวณด้วยเลย

ตัวอย่างการคำนวณ A/D LINE

ตัวเลขสมมุติที่จุดเริ่มต้นสำหรับ A/D LINE วันแรก อาจจะเป็นตัวเลขจำนวนหนึ่ง เช่น 1,000 10,000 หรือ 20,000 โดยขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้วิเคราะห์แต่ละคนไป
สมมุติ  A/D LINE วันแรกเท่ากับ 1,000 การหาค่า A/D LINE จะเป็นดังนี้

วันที่
จำนวนหุ้นปิดบวก
จำนวนหุ้นปิดลบ
ผลต่าง
A/D
1



1000
2
46
162
-116
884
3
31
177
-146
738
4
67
109
-42
696
5
100
57
43
739
6
30
181
-151
588

ความสัมพันธ์ระหว่าง A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ

ความสัมพันธ์มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1.  CONVERGENCE หมายถึงการที่ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนว่า ดัชนีตลาดฯ จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้นต่อไป

*   BEARISH CONVERGENCE ถ้าดัชนีตลาดฯ มีจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิม และ A/D LINE ก็มีจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่าจุดต่ำสุดเดิมเช่นกัน เป็นการบอกแนวโน้มว่าดัชนีตลาดฯ จะลดลงต่อไปอีก

*    BULLISH CONVERGENCE ในทิศทางตรงกันข้ามถ้าดัชนีตลาดฯ มีจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดเดิม และ A/D LINE ก็มีจุดสูงสุดใหม่ที่สูงกว่าจุดสูงสุดเดิมเช่นกัน จะบอกถึงแนวโน้มดัชนีตลาดฯ ว่าจะขึ้นไปต่อ

ตัวอย่าง  BEARISH CONVERGENCE


2.  DIVERGENCE หมายถึงการที่ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ เคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกัน ซึ่งแยกเป็น 2 ลักษณะคือ

*    BEARISH DIVERGENCE คือ การแยกตัวออกจากกันของ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ โดยที่ดัชนีตลาดยังคงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับตัว A/D LINE กลับต่ำลงเรื่อย ๆ

ลักษณะเช่นนี้เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ลงทุนระวังว่า ตัวดัชนีตลาดฯ อาจมีแนวโน้มที่จะตดลงมาซึ่งสัญญาณเตือนนั้นอาจใช้ระยะเวลาเป็นเดือน หรือหลายเดือนกว่าที่ดัชนีตลาดฯ จะตกลงมาจริง แต่ยิ่ง A/D LINE และดัชนีตลาดฯ แยกตัวออกจากกันนานเท่าไหร่ ดัชนีตลาดฯ ยิ่งมีโอกาสจะตกลงมามากเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดสัญญาณเตือนในลักษณะนี้ขึ้นมา ผู้ลงทุนจึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกจากตลาดทันที แต่ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

      *           ลดขนาดของการลงทุน
      *           การลงทุนควรที่จะเป็นการลงทุนระยะสั้น (เข้าไวออกไว)
      *           เลือกลงทุนในหุ้นที่นิยมเล่นกันในขณะนั้น

*    BULLISH DIVERGENCE คือ การแยกตัวออกจากกันของ A/D LINE กับดัชนีตลาดฯ ในลักษณะที่ดัชนีตลาดฯ อยู่ในช่วงลดลง ขณะที่ A/D LINE กลับเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มสูงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้เป็นการบอกเราว่า ดัชนีตลาดฯ มีแนวโน้มที่จะดีดตัวกลับ เนื่องจากหุ้นส่วนใหญ่เริ่มที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นแล้ว

ตัวอย่าง  BEARISH DIVERGENCE


การประยุกต์ใช้ A/D LINE โดยการนำเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (MOVING AVERAGE) มาใช้ประกอบการวิเคราะห์

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ A/D LINE สามารถใช้บอกแนวรับ (SUPPORT) และแนวต้าน (RESISTANCE) ได้เช่นเดียวกับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของดัชนีตลาดฯ และในบางครั้ง จะให้สัญญาณเตือนที่เร็วกว่าด้วย

ตัวอย่าง  การหา SUPPORT และ RESISTANCE


เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ ที่จะใช้ขึ้นอยู่กับนักวิเคราะห์แต่ละท่าน แต่ที่นิยมใช้ในตลาดหุ้นไทย คือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 วัน 25 วัน 75 วัน และ 200 วัน ของ A/D LINE ซึ่งมีลักษณะเหมือนเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของดัชนีตลาดฯ

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ถือเป็นแนวรับและแนวต้านสำหรับเส้น A/D LINE โดยกรณีที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งอยู่เหนือ A/D LINE ณ ระดับนั้นถือเป็นแนวต้าน และถ้าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดอยู่ใต้ A/D LINE ณ ระดับนั้นก็ถือเป็นแนวรับ

ส่วนกรณีสัญญาณที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น สัญญาณในทางบวก (POSITIVE) โดยเกิดเมื่อ A/D LINE เคลื่อนที่ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งขึ้นไป และสัญญาณในทางลบ (NEGATIVE) ที่เกิดจาก A/D LINE เคลื่อนที่ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่เส้นใดเส้นหนึ่งลงมา

หมายเหตุ  สัญญาณบวกหรือลบที่เกิดมาจาก A/D LINE นี้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าสัญญาณซื้อและขายของดัชนีตลาดฯ และสัญญาณเหล่านี้เมื่อเกิดจะถือเป็นตัวสนับสนุนการขึ้นหรือลงของดัชนีฯ (กรณี A/D LINE มีทิศทางเดียวกับดัชนีฯ) หรือถ่วงการขึ้นหรือลงของดัชนีฯ (กรณี A/D LINE มีทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีฯ)

ความหมายเมื่อ A/D LINE ตัดเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ขึ้นหรือลง

กรณี                                         สัญญาณ
            A/D LINE  ตัด SMA 10 ลง                      ระยะสั้นเริ่มไม่ดี
            A/D LINE  ตัด SMA 25 ลง                      ระยะสั้นถึงกลางเริ่มไม่ดี
            A/D LINE  ตัด SMA 75 ลง                      ระยะกลางเริ่มไม่ดี
            A/D LINE  ตัด SMA 200 ลง                    ระยะยาวเริ่มไม่ดี
            A/D LINE  ตัด SMA 10 ขึ้น                      ระยะสั้นเริ่มดี
            A/D LINE  ตัด SMA 25 ขึ้น                      ระยะสั้นถึงกลางเริ่มดี
            A/D LINE  ตัด SMA 75 ขึ้น                      ระยะกลางเริ่มดี
            A/D LINE  ตัด SMA 200 ขึ้น                    ระยะยาวเริ่มดี
 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘