บทเรียน 3 ข้อของชาร์ลี

Value Investor จำนวนมาก หรือน่าจะเป็นส่วนใหญ่ ชอบที่จะซื้อหุ้นที่มีราคาถูกมาก โดยที่คุณภาพของธุรกิจเป็นตัวรอง การลงทุนแบบนี้คือ การลงทุนในสไตล์แบบเกรแฮม หรือที่บัฟเฟตต์เรียกว่าลงทุนแบบ "หุ้นก้นบุหรี่" แนวคิดก็คือ ถ้าหุ้นมีราคาถูกมาก โอกาสที่หุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นมากก็เป็นไปได้ง่าย และเมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นไปแล้ว เราก็สามารถขายทำกำไรและนำเงินไปลงทุนในหุ้นก้นบุหรี่ตัวต่อไป
การลงทุนแบบนี้บางทีเราก็รู้สึกว่า สามารถทำกำไรได้มากและเร็วกว่าการลงทุนในสไตล์แบบบัฟเฟตต์ ที่เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดี และถือไว้ให้นานที่สุด เหตุผลก็คือ เราคิดว่าเราสามารถ "เล่นรอบ" กับหุ้นก้นบุหรี่ได้ ในขณะที่หุ้นที่มีคุณภาพทางธุรกิจดีมากนั้น ราคาก็มักจะแพงหรือไม่ถูกมาก การปรับตัวของราคาหุ้นก็มักจะไปอย่างช้าๆ หรือถ้าเร็วเราก็มักจะกลัวและต้องขายหุ้นทิ้งไปเสียก่อน สรุปแล้ว เรารู้สึกว่า ประเด็นของคุณภาพของกิจการไม่ใช่เรื่องใหญ่ ราคาหุ้นต่างหากที่เป็นตัวตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา
ประเด็นว่าเราควรซื้อหุ้นแบบไหน หรือการลงทุนสไตล์ไหนดีกว่ากันนี้ ชาร์ลี มังเกอร์ หุ้นส่วนและเพื่อนซี้ของบัฟเฟตต์ ได้ให้กฎการลงทุนที่เป็นเหมือนบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ 3 ข้อ สำหรับการลงทุน และบทเรียนนี้ ว่าที่จริง เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์ ได้เรียนรู้จากชาร์ลีและนำมาใช้ปฏิบัติในการลงทุนของตนเองมาจนถึงปัจจุบัน จนคนทั่วไปรับรู้กันว่านี่คือสไตล์การลงทุนแบบบัฟเฟตต์ บทเรียน 3 ข้อของชาร์ลีก็คือ
1.ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในราคาปานกลางนั้น เหนือกว่าธุรกิจปานกลางในราคาที่ยิ่งใหญ่
2.ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในราคาปานกลางนั้น เหนือกว่าธุรกิจปานกลางในราคาที่ยิ่งใหญ่
3.ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในราคาปานกลางนั้น เหนือกว่าธุรกิจปานกลางในราคาที่ยิ่งใหญ่
ความหมาย ก็คือ สำหรับชาร์ลีแล้ว เขาคิดว่า คุณภาพของธุรกิจสำคัญกว่าเรื่องของราคา
แน่นอน ราคานั้นต้องไม่แพงแต่ไม่จำเป็นต้องถูก เพราะบางทีกิจการที่ดีมากนั้น โอกาสที่จะได้หุ้นราคาถูกอาจจะไม่มีหรือถ้ามีก็มักจะเกิดขึ้นชั่วคราวในช่วงที่บริษัทมีปัญหาร้ายแรงบางอย่าง ซึ่งถ้าปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้ นั่นก็จะเป็นโอกาสทองที่เราจะได้ซื้อหุ้นของกิจการที่ยิ่งใหญ่ในราคาถูก และนี่ก็คือสิ่งที่บัฟเฟตต์ทำตลอดมาเมื่อมีโอกาส
ชาร์ลีเชื่อว่า การซื้อหุ้นของกิจการที่ยิ่งใหญ่ในราคาที่เหมาะสมนั้น ดีกว่าการซื้อหุ้นของกิจการพื้นๆ ในราคาที่ถูกมาก เพราะหุ้นประเภทหลังนั้น ถึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ แต่ก็มักจะไปไม่ได้มาก เพราะศักยภาพของธุรกิจมักมีจำกัด ยิ่งถือไว้นานก็ยิ่งเสียโอกาสที่เงินจะเติบโตขึ้น แม้ว่าหุ้นจะราคาถูก แต่มันก็อาจจะถูกอยู่นั่นเอง
ในประเด็นเดียวกันนี้ บัฟเฟตต์เองก็เคยพูดไว้ว่า "เป้าหมายของคุณในฐานะของนักลงทุนก็คือ คุณควรซื้อหุ้น ในราคาที่สมเหตุผล เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจที่เข้าใจได้ง่าย ที่มีกำไรและผลกำไรจะต้องเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนและอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5, 10 และ 20 ปีจากวันนี้"
คำพูดของบัฟเฟตต์สอดคล้องกับบทเรียนของชาร์ลีที่ว่า เราควรซื้อหุ้นของกิจการที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในความหมายของบัฟเฟตต์ก็คือ ควรเป็นกิจการที่เข้าใจได้ง่าย กำไรต้องเติบโต อย่างแน่นอน และเติบโตต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนราคาหุ้นนั้น จะต้องมีราคาที่เหมาะสม
จากการติดตามธุรกิจที่บัฟเฟตต์และชาร์ลีลงทุนนั้น เราพบว่า กิจการที่ "ยิ่งใหญ่" ในความเห็นของทั้งสองคนนั้น มักจะมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นมาอีก 3-4 ข้อ ที่ชัดเจนก็คือ ธุรกิจจะมีสิ่งที่เรียกว่า "ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน" เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งมักจะมาจากการที่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่โดดเด่นระดับโลก ต้องมีผู้บริหารที่ดี ถ้ามองที่ตัวเลขงบการเงิน เราก็มักจะพบว่า กิจการที่เขาลงทุนมักจะมีผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ ผลกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ค่อนข้างสูง อย่างน้อยน่าจะ 15% ขึ้นไป ธุรกิจมักจะไม่ค่อยต้องลงทุนมากนักเวลายอดขายเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ ธุรกิจต้องไม่เพิ่มทุน ว่าที่จริงกิจการที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะ "คืนทุน" คือ บริษัทมักจะซื้อหุ้นคืนทำให้จำนวนหุ้นน้อยลงและกำไรต่อหุ้นสูงขึ้น
ทั้งหมดนั้น ก็คือ บทเรียนของชาร์ลี มังเกอร์ ซึ่งไม่ใช่นัก "นักคิด-นักลงทุน" อย่าง เบน เกรแฮม หรือฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ ที่บัฟเฟตต์ยอมรับนับถือเป็นอาจารย์ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาร์ลี มังเกอร์ คือ อีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดในการลงทุนของบัฟเฟตต์อย่างลึกซึ้ง และอาจจะพูดได้ว่า เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุด ในการปรับสไตล์การลงทุนของบัฟเฟตต์ จากแนวทางของเกรแฮมมาเป็นแนวของบัฟเฟตต์ดังที่เป็นอยู่ในวันนี้
ส่วน Value Investor ในเมืองไทยนั้น วิวัฒนาการการลงทุนแบบเน้นคุณค่าของเรายังเป็นเรื่องใหม่ คงจะยังไม่ได้สามารถบอกได้ว่าสไตล์การลงทุนแบบไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด นักลงทุนแต่ละคนคงจะต้องเลือกกันเองและเรียนรู้เองว่าตนเองทำได้ดีในสไตล์ไหน
ที่สำคัญก็คือ เราควรจะต้องตรวจสอบตลอดเวลาว่า สถานการณ์การลงทุนในบ้านเราเป็นอย่างไร เราจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้...อย่างช้าๆ และนั่นคือ แนวทางที่ถูกต้องของ Value Investor แม้ในระดับโลก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘