ปลากับน้ำ

ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงทาง การเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลาย ๆ คนมองว่าถ้าแก้ไม่ตก เราอาจจะกลายเป็น Failed State หรือ “รัฐที่ล้มเหลว” นั่นคือ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ประชาชนแตกแยกและต่อสู้ทำร้ายกันเองและไม่มีใครสามารถปกครองหรือรักษาความ สงบเรียบร้อยกันได้ และถ้าเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจก็จะพังทลาย มองมาที่หุ้นและตลาดหุ้น นักวิเคราะห์และคอมเม้นเตเตอร์จำนวนมากต่างก็พูดถึงเหตุการและสถานการณ์ทาง การเมืองที่ “รุนแรง” ที่เกิดขึ้นว่าจะทำให้ตลาดหุ้น “ตกอย่างหนัก” และแนะนำว่าควร “ลดพอร์ตลงทุน” หลีกเลี่ยงการถือหุ้นจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะ “ชัดเจนกว่านี้” แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่เคยชัดเจนและไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกัน ประเทศก็ไม่ได้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจก็ไม่ได้พังทลาย และเช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตกอย่างหนัก ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ดำเนินไปตามครรลองของมัน ยกเว้นแต่เรื่องของการเมืองที่ก็ยัง “ล้าหลัง” อยู่เหมือนเดิม

เรื่องของการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่าคนจะเชื่อกันว่ามันมีผลกระทบที่รุนแรง เราถูกสอนหรือถูกทำให้ฝังใจกันมานานว่า การเมืองคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดทุกอย่างในประเทศ ถ้าการเมืองมีปัญหาหรือมี “วิกฤติ” เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ และแน่นอน ตลาดหุ้นก็จะต้องตกอย่างรุนแรง ดังนั้น พอเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น คนก็มีแนวโน้มจะขายหุ้นทิ้ง ทำให้หุ้นตก แต่ถ้าปัญหาการเมืองนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือการดำเนินการ ของบริษัทจดทะเบียนโดยตรง เมื่อเวลาผ่านไปนักลงทุนก็เริ่มเห็นและกลับเข้ามาซื้อหุ้นใหม่ หุ้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น ผลก็คือ ในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน หุ้นนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากการเมืองหากการเมืองนั้นไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับ เศรษฐกิจหรือธุรกิจ หุ้นจะถูกกระทบก็ต่อเมื่อการเมืองนั้นมีผลโดยตรงต่อ “สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ” นั่นก็คือ การเมืองทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ยาก พูดให้ชัดเจนก็คือ การเมืองทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปในแบบ “ทุนนิยมเสรี” ซึ่งเป็นระบบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด

ตัวอย่างที่มีการยกขึ้นมาอ้างเสมอก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ “จรวดคิวบา” ที่โซเวียตเตรียมส่งหัวรบนิวเคลียร์ไป “จ่อคอหอย” อเมริกาในคิวบา และประธานาธิบดีเคนเนดี้ยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนตัวออกไปซึ่งทำให้เกิดวิกฤติ การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่ง เนื่องจากถ้ารัสเซียไม่ยอมก็อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ ในครั้งนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์คก็ตกลงมาบ้างแต่หลังจากนั้นก็ทะยานขึ้น ผลกระทบมีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้สั่งตรึงราคาเหล็กในประเทศ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดเสรีอย่างแรง ตลาดหุ้นก็ “ตกวินาศ”

ในเมืองไทยเอง ดูจากสถิติที่ผ่านมาก็จะพบว่า เรามีเหตุการณ์หรือวิกฤติทางการเมือง “รุนแรง” นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การประท้วงใหญ่โต ไปจนถึงวิกฤติในรัฐสภาหรือรัฐบาล ไปจนถึงการรัฐประหาร ทุกครั้งตลาดหุ้นก็จะตกลงมาบ้าง แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้น ผลกระทบในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน มีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่แบงค์ชาติประกาศกฏการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศซึ่งเป็น การ “ขัดขวาง” การไหลเข้าออกอย่างเสรีของเม็ดเงินจากต่างประเทศในปี 2549 ตลาดหุ้นไทยตกลงไปถึง 108 จุด และน่าจะเป็นการตกลงมาครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นภายในเวลาวันเดียว และถ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏในคืนวันนั้น ตลาดหุ้นของไทยคงจะตกต่ำไปอีกนาน นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นนั้น ตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบโดยตรงกับสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจและ เศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ อะไรที่ทำให้ระบบทุนนิยมเสรีเสื่อมลง ตลาดหุ้นก็จะแย่ อะไรที่ดูเหมือนจะรุนแรงทางการเมือง แต่ระบบทุนนิยมเสรีไม่ได้มีความเสี่ยงว่าจะถูกกระทบ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นก็จะน้อย

เหมาเจ๋อต๋งเคยกล่าวไว้ว่า ทหารเหมือนปลา ประชาชนเหมือนน้ำ ทหารกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอยู่ได้ก็ต้องอาศัยประชาชน ทั้งในด้านของเสบียงอาหารและข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น ถ้าประชาชนสนับสนุนก็เหมือนกับน้ำที่จะสนับสนุนการอยู่รอดของปลาซึ่งก็คือ ทหารที่ยังต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ในยุคนั้น ผมเองก็คิดว่าคติพจน์นี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยได้เหมือนกัน นั่นก็คือ ตลาดหุ้นนั้นเหมือนปลา ระบบทุนนิยมเสรีนั้นเหมือนน้ำ ตราบใดที่ระบบนี้ยังอยู่อย่างมั่นคง ตลาดหุ้นก็จะยังไปได้ ถ้าระบบนี้ถูกทำให้เสื่อมไปโดยการเมือง ก็เหมือนน้ำที่อาจจะถูกทำให้เน่าเสียหรือเป็นพิษที่จะทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ตลาดหุ้นก็ไปไม่รอด

ด้วยเหตุดังกล่าว เวลามีเรื่องของการเมืองเกิดขึ้น ผมจึงต้องคอยวิเคราะห์ว่ามันจะทำให้ “น้ำเน่าหรือกลายเป็นพิษ” หรือไม่ ซึ่งก็คือ ผมจะดูว่ามันอาจจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศ “ปิด” หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ผมก็ไม่ห่วง แต่ถ้าใช่ ผมก็ต้องระวัง โชคดีที่เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดก็ยังยึดนโยบายตลาดเสรีอยู่ และความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกปิดก็น่าจะยังต่ำ ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ยังน่าจะอยู่ได้แม้ว่าบางครั้ง “ออกซิเจนในน้ำจะลดลงบ้าง” แต่ “ปลาก็ยังไม่ตาย” ผมก็ได้แต่หวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป “น้ำ” หรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่ว่า “ปลา” ของเราจะ “เติบโต” ได้เร็วขึ้น นั่นก็คือ การลงทุนของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นและความเสี่ยงในการลงทุนจะน้อยลง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘