In Search of Super Stock

Value Investor ในเมืองไทยส่วนใหญ่นั้นนับถือและยกย่อง วอเร็น บัฟเฟตต์ แต่น้อยคนที่จะทำตามวิธีการลงทุนของเขาที่เน้นการลงทุนในหุ้นของกิจการที่ดี สุดยอดในราคาที่ยุติธรรมหรือที่เรียกกันว่า Super Stock เหตุผลคงเป็นว่า ข้อแรก Value Investor ในตลาดหุ้นไทยนั้นค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของ “ราคา” ซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของการลงทุนแบบ Value Investment ที่เสนอโดย เบน เกรแฮม ในขณะที่ “คุณภาพ” ของกิจการนั้น นักลงทุนคิดว่าเป็น “ตัวประกอบ” พูดง่าย ๆ ถ้าราคาหุ้น “ไม่ผ่าน” ก็ไม่ต้องดูว่าคุณภาพเป็นอย่างไร ข้อสอง เหตุที่นักลงทุนไม่ชอบลงทุนในหุ้น Super Stock นั้น เพราะไม่รู้ว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยม ถ้าจะว่าไป หลายคนก็ยังสงสัยว่าในเมืองไทยนั้นมีหุ้นที่เรียกได้ว่าเป็น Super Stock แบบในสหรัฐอเมริกาจริง ๆ หรือเปล่า และสุดท้ายก็คือ Value Investor อาจจะคิดว่า การหาหุ้นถูกซื้อแล้วขายทำกำไรเมื่อราคาหุ้นขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปหาหุ้นถูก ตัวใหม่น่าจะสร้างผลตอบแทนดีกว่าการซื้อหุ้น Super Stock แล้วถือยาวแบบ บัฟเฟตต์

ผมคงไม่ถกเถียงว่าการลงแนวไหนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากัน แต่จะพยายามตอบคำถามว่าจะมองหาหุ้นที่เรียกว่า Super Stock อย่างไร และต่อไปนี้คือคุณสมบัติที่ Super Stock มักจะเป็นหรือมีอยู่

ข้อแรก Super Stock จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Durable Competitive Advantage (DCA) หรือการได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน และความได้เปรียบนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยแหล่งของความได้เปรียบใหญ่ ๆ อยู่ที่เรื่องของชื่อยี่ห้อที่โดดเด่น และเรื่องของต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าเนื่องจากกิจการมีขนาดที่เหมาะสมหรือมี ขนาดที่ใหญ่กว่าคู่แข่งมากโดยที่คู่แข่งไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะเพิ่ม ขนาดของกิจการเพื่อให้มีต้นทุนเท่าเทียมได้ เรื่องของ DCA นี้ บ่อยครั้ง นักลงทุนอาจจะวิเคราะห์ผิด เอา “ความได้เปรียบชั่วคราว” มาเป็นความได้เปรียบที่ “ยั่งยืน”

ข้อสอง หุ้นสุดยอดนั้น จะต้องอยู่ในช่วงของ Virtuous Circle หรือ “วงจรแห่งความรุ่งเรือง” นั่นก็คือ ในกระบวนการเติบโตของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่งมากขึ้นไปอีก เช่นต้นทุนลดลงไปอีก ในเวลาเดียวกัน สินค้าและบริการกลับดีขึ้นและช่วยเร่งการเติบโตของยอดขายของบริษัทเพิ่ม ขึ้น เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ

ข้อสาม Super Stock นั้นจะต้องมีศักยภาพสูงมาก นั่นคือ ตลาดของสินค้าหรือบริการจะต้องใหญ่มาก และบริษัทอยู่ในสถานะที่จะ “ยึดครอง” ตลาดนั้นได้ พูดง่าย ๆ เราสามารถมองคร่าว ๆ ได้ว่าในอนาคตระยะยาว บริษัทน่าจะสามารถมียอดขายได้ค่อนข้างสูงกว่าปัจจุบันมาก และยอดขายนั้นจะทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ข้อสี่ การเติบโตของบริษัทที่ผ่านมานั้นน่าประทับใจเป็นเลขสองหลัก คือมากกว่า 10% เกือบทุกปี โดยที่ยอดขายไม่เคยลดลงเลยแม้ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาหรือเกิดวิกฤติ เช่นเดียวกัน กำไรของบริษัทก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราใกล้เคียงกับยอดขายหรือดีกว่า

ข้อห้า บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานดีมาก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงในหลักเกิน 15-20% ต่อปี โดยที่ไม่ได้ก่อหนี้กับสถาบันการเงินมากนัก หนี้ที่มีอยู่สามารถชดใช้ได้ด้วยกำไรจากการดำเนินงานไม่เกิน 5 ปี

ข้อหก บริษัทมี Cash From Operation หรือเงินสดที่ได้จากการทำธุรกิจดีมาก และเมื่อบริษัทจะขยายงานก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากนักเทียบกับยอดขายหรือกำไร ที่จะได้รับจากการลงทุนใหม่นั้น

ข้อเจ็ด ผู้บริหารมักจะ “เก่ง” และได้รับการกล่าวขวัญถึงมาก พนักงานของบริษัทมักจะ “ดี” และมี “ความสุข” เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นทั่ว ๆ ไป

ข้อแปด หุ้น Super Stock นั้น มักจะไม่เคยมีราคา “ถูก” ยกเว้นในบางช่วงบางตอนที่บริษัทอาจประสบปัญหาบางอย่างที่ร้ายแรงหรือในช่วง ที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ ค่า PE ของ Super Stock ในระดับ 20 เท่า นั้นเป็นเรื่องธรรมดาและไม่ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับศักยภาพของกิจการในอนาคต และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ Value Investor จำนวนมากหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นสุดยอด เพราะเขาเคยชินกับการลงทุนในหุ้นที่มี PE ไม่เกิน 10 เท่า

ทั้งหมดนั้นก็เป็นคุณสมบัติหลัก ๆ ของ Super Stock แน่นอนใน Super Stock เองก็มี“ดีกรี” ที่ไม่เท่ากัน บางบริษัทอาจจะดีกว่าอีกบริษัทหนึ่ง และที่ชัดเจนก็คือ บริษัทในประเทศไทยนั้นไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้กับ Super Stock ในอเมริกาซึ่งมีศักยภาพคลุมไปทั้งโลก อย่างไรก็ตาม มูลค่าของกิจการหรือ Market Cap. ของบริษัทในอเมริกาก็ใหญ่จนเทียบไม่ได้กับบริษัทไทย ดังนั้น เวลาพูดถึง Super Stock ในตลาดหุ้นไทยเราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นบริษัทระดับไหน

Value Investor หลายคนอาจจะไม่สนใจที่จะลงทุนในหุ้น Super Stock แต่การเรียนรู้เรื่องของ “คุณสมบัติ” ของบริษัทนั้นก็เป็นประโยชน์ไม่น้อยในการที่จะช่วยเป็น “ตัวประกอบ” ในการเลือกหุ้นลงทุน นั่นก็คือ หลังจากพบหุ้นที่ “ราคาถูก” เข้าเกณฑ์ที่จะซื้อแล้ว ก็ควรดูถึงคุณสมบัติว่าบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไหน ถ้าทำได้แบบนี้ ราคาก็จะไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะซื้อ สิ่งที่ถูกต้องมากกว่าอาจจะเป็นว่า ไม่ได้ซื้อหุ้นที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นราคาถูกมากเมื่อเทียบกับคุณสมบัติของบริษัท

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘