ทำน้อยได้มาก

หนทางสู่ความสำเร็จ ความร่ำรวย และความสุข โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือดิ้นรนมากเกินไปนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การรู้จักเลือกทำอะไรที่มีคุณค่ามากซึ่งทำแล้วจะได้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำน้อยได้มาก” และหนทางที่ทำให้เราเหนื่อยยากและทำแล้วก็ไม่ได้มรรคผลเท่าที่ควรก็คือการ ทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลน้อยกว่าแรงงานที่ใส่ลงไป เราทำมันโดยที่ไม่ได้คิดไตร่ตรอง ทำมันตามที่คนอื่นบังคับให้เราทำ ทำเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน หรือทำเพราะความเคยชิน เป็นต้น

หลักของการ “ทำน้อยได้มาก” นั้น มาจากหลักการ 80/20 ซึ่งค้นพบโดย Vilfredo Pareto นักเศรษศาสตร์ชาวอิตาลี หลักการนี้พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สาเหตุและผล สิ่งที่ใส่เข้าไปกับสิ่งที่ได้ออกมา และงานที่ทำกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยที่ความไม่เท่าเทียมนั้นโดยคร่าว ๆ ก็คือ ประมาณ 80 ต่อ 20 ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาคนที่ดื่มเหล้าหนักที่สุด 20% ของคนดื่มเหล้าทั้งหมดมานับรวมกันดูก็จะพบว่าพวกเขาดื่มเหล้าคิดเป็นประมาณ 80% ของการบริโภคเหล้าทั้งหมด หรือเอาปัญหาทางการผลิตที่สำคัญเพียง 20% มาแก้ไขปรับปรุงก็จะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น 80% หรือมากกว่า ว่าที่จริงกฏ 80/20 นั้น เริ่มจากการพบสิ่งที่ไม่สมดุลของรายได้และความมั่งคั่งของประชากร โดยที่พาเรโตพบว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมากคือ คนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% มีรายได้รวมกันถึงประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นั่นคือเรื่องที่เป็นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นอยู่หรือเป็นมากขึ้นด้วยซ้ำ

หลักการ 80/20 หรือหลักของความไม่สมดุลนี้ เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจ และแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าความไม่สมดุลในแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่ 80/20 พอดี อาจจะเป็น 75/25 หรือ 70/30 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าเราค้นพบ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มาก เช่นนักการตลาดทำโปรแกรมโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นผู้ บริโภคหนักที่สุด 20% แรก ซึ่งเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 80% พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบริษัทประกันภัย GEICO หรือ Government Employee Insurance Company ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ขายประกันโดยเฉพาะประกันรถยนต์ให้กับพนักงานของรัฐโดยไม่ผ่านนายหน้า นี่ก็เป็นวิธีคิดแบบ 80/20 เหมือนกัน เพราะพนักงานของรัฐนั้น โดยสถิติพบว่าเป็นนักขับรถที่ดีเยี่ยมประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น มาก ดังนั้น GEICO จึงสามารถขายประกันให้ในราคาเบี้ยประกันที่ต่ำ นอกจากนั้น ยังสามารถลดต้นทุนด้านการขายซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยไม่ผ่านนายหน้าด้วย

ในฐานะของ VI นั้น ผมคิดว่าเราน่าจะต้องเป็นคนที่คำนึงถึงเรื่องหลัก 80/20 มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะความสามารถของเราหรือสิ่งที่เราค้นหาตลอดเวลาก็คือ เราต้องการหาการลงทุนที่เราใช้เงินน้อยแต่ในที่สุดมันจะให้ผลตอบแทนที่ มากกว่าปกติ เราไม่ต้องการอะไรที่เป็นแบบ 50/50 หรือลงทุน 10 บาทแล้วในที่สุดก็ได้ผลตอบแทนประมาณ 1 บาทต่อปีหรือ 10% หรือลงไปแล้วขาดทุน นั่นคือปรัชญาสำคัญของ VI แต่ VI นั้นไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของการลงทุนทางการเงินเท่านั้น VI ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งชีวิต ดังนั้น เวลาเราพูดถึงหลัก 80/20 VI ก็จะมองหาว่ามีอะไรในชีวิตที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากหลักการนี้ได้

ผมคงไม่สามารถบอกได้ทุกเรื่องว่าเรื่องไหนมีช่องที่เราจะสามารถนำหลักการ 80/20 มาใช้สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องคิดเอง แต่อยากจะลองยกตัวอย่างเพื่อให้นำไปคิดต่อเช่น ในการเรียนหนังสือนั้น มีคนบอกว่าวิธีที่จะทำให้สามารถ “ทำน้อยได้มาก” ก็คือ เวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบนั้น ให้อ่านคำนำกับบทสรุปหลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญก่อน ส่วนเนื้อหาก็ให้เน้นอ่านเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนรายละเอียดหรือเรื่องที่ไม่ได้เน้นไว้ในบทสรุปก็ให้อ่านผ่าน ๆ ไปหรือไม่ต้องอ่าน เหตุผลก็เพราะว่า ข้อสอบนั้น 80% หรือมากกว่านั้น จะออกเฉพาะในเรื่องที่สำคัญที่อยู่ในบทสรุป

ในเรื่องของการทำงานนั้น ว่ากันว่า คนที่มีคุณค่ามากในบริษัทเพียง 20% เท่านั้นที่ทำกำไรให้กับบริษัท ส่วนคนส่วนใหญ่นั้นสร้างคุณค่าน้อยและอาจจะไม่คุ้มค่าด้วยซ้ำ งานจำนวนมากในบริษัทนั้นไม่ก่อให้เกิดคุณค่าจริง ๆ ดังนั้นบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธี Outsource หรือจ้างคนอื่นทำงานทั่ว ๆ ไป ตัวเองทำเฉพาะงานสำคัญที่ตนเองมีความสามารถจริง ๆ เช่นเดียวกัน ในแง่ของส่วนบุคคล เราก็ควรต้องเน้นทำเฉพาะงานที่เป็นความเชี่ยวชาญของเราจริง ๆ และลดงานที่ไม่ถนัดลงถ้าเราจะสามารถ “ทำน้อยได้มาก” และประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยยากเกินไป

ในเรื่องของการลงทุนนั้น ความชัดเจนประการแรกก็คือ หุ้นนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรา “ทำน้อยได้มาก” เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินอื่นมาก สมมุติว่าเรามีเงิน 1 ล้านบาทและอายุ 30 ปี ถ้าเราลงทุนในหุ้นไปเรื่อย ๆ โดยซื้อกองทุนรวมหุ้นที่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเกษียณที่ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 17.4 ล้านโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นประมาณปีละ 10% แต่ถ้าเราฝากไว้ในธนาคารแบบฝากประจำเราน่าจะมีเงินเพียง 2.4 ล้านบาทเพราะเงินฝากน่าจะให้ผลตอบแทนเพียง 3 % ต่อปี และถ้าเราลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาล เงินที่เราจะมีในวันเกษียณก็อาจจะเป็นเพียง 4.3 ล้านบาทเพราะพันธบัตรน่าจะให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 5% ความแตกต่างของเม็ดเงินระหว่างหุ้นกับเงินฝากหรือพันธบัตรก็ประมาณ 80 ต่อ 20

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหลักการและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการจุด ประกายให้เห็นถึงความสำคัญของกฏ “ทำน้อยได้มาก” VI ที่จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงจริง ๆ นั้นจะต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริง ๆ นั่นคือ หาอะไรที่ทำหรือลงทุนแค่ 20% แล้วให้ผล 80% ซึ่งด้วยวิธีนี้เขาสามารถทำงาน 40% ของพลกำลังแล้วได้ผลตอบแทน 160% เปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่งที่ทำงาน 120% แล้วได้ผลตอบแทน 120% แล้ว ผมคิดว่าคนแรกนั้นน่าจะมีความสุขและร่ำรวยกว่ามาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘