ปีทอง

ชีวิตของคนเรานั้นมีช่วงที่ดี แย่ แย่มาก และดีมาก อาชีพของคนบางประเภทมักจะมีช่วงที่ดีและแย่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น นักแสดงนักร้องและนักกีฬาอาชีพนั้น ช่วงที่ดีมากของนักแสดงก็คือช่วงที่มีงานแสดงเข้ามามาก มีหนังหรือละครที่เป็นที่นิยมคนดูติดกันงอมแงม และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยงานการถ่ายแบบโฆษณาซึ่งทำรายได้มากมหาศาล ถ้าเป็นนักร้องหรือนักกีฬาก็เป็นช่วงที่เพลงติดชาร์ทหรือเป็นช่วงที่แข่งชนะ ในรายการสำคัญ ๆ ซึ่งมักจะตามมาด้วยชื่อเสียงและสุดท้ายก็คือโฆษณาซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญมาก นอกจากเรื่องของเงินและชื่อเสียงแล้ว ความรู้สึกที่ดีในการเป็นคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็มักทำให้เจ้า ตัวมีความสุขด้วย ช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ดังกล่าวนั้น ถ้าจะให้เรียกอย่างที่พูดแล้วเข้าใจได้ทันทีก็คือ เป็น “ปีทอง”

ชีวิตนักลงทุนเองก็เป็นชีวิตที่มีขึ้นมีลงคล้ายกับชีวิตของพวกนักแสดงเหมือน กันนั่นก็คือ ช่วงที่ขึ้นอาจจะดีมาก ในขณะที่ช่วงตกต่ำก็ย่ำแย่มากได้เช่นเดียวกัน ความแตกต่างอาจจะมีบ้างที่นักลงทุนนั้นมีชีวิตที่ยาวกว่านักแสดงหรือนักกีฬา นอกจากนั้น นักลงทุนไม่ได้ถูกกำหนดโดย “ช่วงเวลาทอง” หรือช่วงเวลาที่ชีวิตมีศักยภาพสูงสุดในการสร้างความสำเร็จอย่างนักแสดงหรือ นักกีฬา พูดง่าย ๆ นักลงทุนอาจจะมี “ปีทอง” ไปได้เรื่อยจนกว่าชีวิตจะหมดสมรรถภาพ ในขณะที่นักแสดงและนักกีฬามักจะมีโอกาสทำได้ดีในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวเท่า นั้น มาดูกันว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว อะไรเป็นตัวที่กำหนดว่าปีไหนเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนหรือของชีวิตของเขา

ในความเห็นของผม เงื่อนไขของการที่จะเป็น “ปีทอง” ของนักลงทุนนั้น ข้อแรก ปีนั้นเขาควรจะได้ผลตอบแทนสูงมาก ตัวเลขของแต่ละคนอาจจะต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องขนาดของพอร์ตโฟลิโอ การกระจายการถือครองหุ้นหรือทรัพย์สิน เป็นต้น แต่โดยทั่วไปผมคิดว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นควรได้ผลตอบแทนรวมของการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% และนี่อาจจะเป็นข้อจำกัดในระดับหนึ่งเหมือนกันว่า “ปีทองของนักลงทุน” คนหนึ่งนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เป็น “ปีทองของตลาดหุ้น” เพราะว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นดีมาก โอกาสก็สูงที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีมากเช่นเดียวกัน แต่นี่ก็ไม่เสมอไป บางทีเราอาจจะทำได้ดีในช่วงที่ตลาดไม่ดีก็ได้ หรือในช่วงที่ตลาดดี เราก็อาจจะทำได้ไม่ใคร่ดีก็ได้

เงื่อนไขข้อสอง ซึ่งที่จริงก็ต่อมาจากข้อแรกก็คือ ปีทองควรเป็นปีที่เราทำได้ดีมากและเราต้องพอใจกับผลงานการลงทุนของเราด้วย ดังนั้น เราควรสร้างผลตอบแทนรวมได้สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ในปีนั้น และคำว่าผลตอบแทนรวมของเรานั้น ผมหมายถึงผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องทั้งหมดของเราซึ่ง รวมถึงเงินฝากและพันธบัตรหรือหน่วยลงทุนต่าง ๆ ของเราด้วย ดังนั้น ปีทองของการลงทุนของเราแทบจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเงินส่วนใหญ่ของเราถูกฝากอยู่ ในธนาคารที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก

เงื่อนไขข้อสาม พอร์ตทรัพย์สินสภาพคล่องของเราควรจะอยู่ที่จุดสูงสุดหรือ “All Time High” นั่นก็คือ เป็นช่วงเวลาที่ความ “มั่งคั่ง” ของเราสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เงื่อนไขข้อนี้มีขึ้นเพื่อที่จะตัดความลำเอียงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ปีที่ ผ่านมาพอร์ตเราอาจจะตกลงไปเยอะมากและผลตอบแทนในปีปัจจุบันอาจจะดีขึ้นมากแต่ ก็ยังไม่สามารถ “ชดเชย” การขาดทุนในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ ลักษณะเช่นนี้ เรายังไม่ควรเรียกว่าเป็นปีทอง เพราะคำว่าปีทองนั้นควรเป็นปีที่เรา “ร่ำรวยที่สุด” เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

เงื่อนไขข้อสี่ ความมั่งคั่งโดยรวมของพอร์ตการลงทุนของเราควรจะเพิ่มขึ้นมากพอที่จะเรียกว่า มาก จำนวนเท่าไรคงบอกไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนบอกว่าได้กำไรปีนี้หนึ่งล้านบาทก็เป็นปีทองได้แล้วในขณะที่บางคนต้อง เป็นสิบหรือร้อยล้านบาทถึงจะเรียกว่าปีทอง และนี่นำไปสู่เงื่อนไขข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ

เงื่อนไขข้อห้า มันเป็นปีที่เราบรรลุถึง “หลักไมล์สำคัญ” เช่น เรามีเงินจากการลงทุนมากพอที่จะทำให้เรา มี “อิสรภาพทางการเงิน” ในระดับหนึ่ง หรือระดับสองหรือสาม หรือเรามีเงินครบล้านบาท หรือสิบล้านหรือร้อยล้านบาทตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้ก่อนหน้า นี้

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญ การกำหนดหรือคิดว่าเป็น “ปีทอง” ของแต่ละคนนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน หลักสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปีทองก็คือต้องเป็นปีที่ดีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับผลงานในอดีตของเราเอง ด้วย

ก่อนจะจบบทความนี้ และด้วยภาวะตลาดหุ้นที่สดใสมากนับถึงวันนี้ประมาณครึ่งปีที่ตลาดหุ้นให้ให้ ผลตอบแทนกว่า 30% แล้ว ผมหวังว่า Value Investor รุ่นเก่าหลายคนจะได้พบกับ “ปีทอง” ของตนเองอีกปีหนึ่ง และสำหรับ VI รุ่นใหม่จำนวนที่มากกว่ามากที่ยังไม่เคยพบกับ “ปีทอง” เลยนั้น ผมหวังว่า เมื่อสิ้นปีนี้ ถ้าทุกอย่างยังดีอยู่ เราอาจจะได้จารึกและจดจำว่า นี่คือ “ปีทองของการลงทุน” ที่เรามีความรู้สึกที่ดีและมีความสุขมากจากการลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘