ประวัติและปฏิปทา พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ)

ประวัติและปฏิปทา
พระราชอุดมมงคล
(หลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรัมโภ)

วัดวังก์วิเวการาม
ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี



๏ อัตโนประวัติ

“พระ ราชอุดมมงคล” หรือ “พระมหาอุตตมรัมโภ ภิกขุ” หรือ “อุตตมรัมโภภิกขุ” หรือที่สาธุชนรู้จักกันทั่วไปในนามของ “หลวงพ่ออุตตมะ” พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งยังเป็นพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญ (ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า) ผู้มีบทบาทเป็นผู้นำคนสำคัญของชาวมอญพลัดถิ่นที่อำเภอสังขละบุรี จนได้สมญานามว่าเป็น “เทพเจ้าของชาวมอญ”

หลวงพ่ออุตตมะ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ จุลศักราช 1272 (พุทธศักราช 2453) ณ หมู่บ้านโมกกะเนียง ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง เมืองมอญ ประเทศพม่า โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายโง และนางทองสุข ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา-ทำไร่ และยาสมุนไพรแผนโบราณที่มีชื่อเสียง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 12 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนโต เนื่องจากเป็นทารกเพศชายเกิดในวันอาทิตย์ โยมบิดา-โยมมารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “เอหม่อง”


๏ ชีวิตปฐมวัยและการศึกษาเบื้องต้น

ปี พ.ศ. 2462 ขณะเด็กชายเอหม่องมีอายุได้ 9 ขวบ เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน บิดามารดาจึงพาเด็กชายเอหม่องไปฝากกับพระอาจารย์นันสาโร แห่งวัดโมกกะเนียงผู้เป็นลุง เพื่อให้ปรนนิบัติรับใช้และศึกษาพระธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองจากโรคภัย เด็กชายเอหม่องเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาอย่างยิ่ง จนสามารถสอบได้ชนะเด็กในวัยเดียวกันเป็นประจำทุกๆ ปี

ปี พ.ศ. 2467 เด็กชายเอหม่องอายุได้ 14 ปี เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ต้องสูญเสียน้องชายถึง 5 คน เด็กชายเอหม่องจึงขอออกจากวัดโนกกะเนียงเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านด้วยความ ขยันขันแข็ง จนกระทั่งอายุ 18 ปี เจ้าอาวาสวัดเกลาสะได้ไปขอกับบิดามารดาให้เด็กชายเอหม่องไปบรรพชาเป็นสามเณร


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

หลวงพ่ออุตตมะ บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเกลาสะ ตำบลเกลาสะ อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง เมื่อจุลศักราช 1291 (พ.ศ. 2472) โดยมีพระเกตุมาลา เป็นพระอุปัชฌาย์ ปีนั้นเอง หลวงพ่อศึกษาภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี อีกปีหนึ่งต่อมาสอบได้นักธรรมโท แต่ไม่นาน หลวงพ่อก็ตัดสินใจสึกออกมาเพราะเห็นว่าไม่มีใครช่วยบิดามารดาทำนา

จนกระทั่ง หม่องเอ ซึ่งเป็นลูกของพี่สาวของบิดา ได้มาอาศัยอยู่ด้วย หลังจากที่บิดามารดาของหม่องเอเสียชีวิตจนหมดสิ้น ซึ่งเท่ากับว่ามีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระในการทำนา และมีญาติซึ่งไว้วางใจได้มาคอยดูแลบิดามารดา หลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเกลาสะ โดยมีพระเกตุมาลา วัดเกลาสะ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระนันทสาโร วัดโมกกะเนียง เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระวิสารทะ วัดเจ้าคะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้รับฉายาว่า “อุตตมรัมโภ” แปลว่า “ผู้มีความพากเพียรอันสูงสุด” โดยหลวงพ่ออุตตมะได้ตั้งเจตจำนงที่จะบวชไม่สึกจนตลอดชีวิต

ด้วย ความพากเพียรและใฝ่ใจในการศึกษาพระธรรม ในปี พ.ศ. 2474 หลวงพ่ออุตตมะสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ณ สำนักเรียนวัดปราสาททอง อำเภอเย จังหวัดมะละแหม่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสุขการี อำเภอสะเทิม จังหวัดสะเทิม ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ในประเทศพม่า ขณะนั้นบ้านเมืองกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องอพยพหนีสงคราม หลวงพ่อจึงเดินทางกลับวัดเกลาสะ และได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีแก่ภิกษุสามเณร

ต่อมา ท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์ เดินทางไปศึกษาวิปัสนากรรมฐานที่วัดตองจอย จังหวัดมะละแหม่ง และวัดป่าเลไลย์ จังหวัดมัณฑะเลย์ จนมีความรู้ความสามารถในเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ตลอดจน วิชาไสยศาสตร์ กฤตยาคม และพุทธาคมเป็นอย่างดี ปี พ.ศ. 2486 หลวงพ่อจึงเริ่มออกเดินธุดงค์เพื่อหาประสบการณ์

๏ เดินทางเข้ามาประเทศไทย

หลวงพ่อ อุตตมะออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ในประเทศพม่า และเข้ามาประเทศไทยครั้งแรกทางจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างนั้นได้พบกับพระธุดงค์หลายรูป อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร ฯลฯ ต่อมาทราบข่าวว่าพระเกตุมาลา พระอุปัชฌาย์กำลังอาพาธ จึงรีบเดินทางกลับพม่า จนกระทั่งพระเกตุมาลามรณภาพ ท่านก็ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ หลวงพ่อเดินทางเข้ามาทางตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2492

และใน ปี พ.ศ. 2492 อันเป็นพรรษาที่ 16 ของพระมหาอุตตมะรัมโภ พายุไต้ฝุ่นพัดจากทะเลอันดามัน สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะบ้านโมกกะเนียง และเกลาสะ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยคน บ้านเรือนเหลือเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ชาวบ้านลำบากยากแค้นแสนสาหัส ข้าวของอาหารการกินขาดแคลนกันทั่วหน้า

นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ชาวบ้านยังต้องประสบเคราะห์กรรมจากปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองอีกด้วย เนื่องจากการปะทะและต่อสู้ระหว่างกองทหารของรัฐบาลพม่า กับกองกำลังติดอาวุธกู้ชาติของมอญ กะเหรี่ยง ยะไข่ และไทยใหญ่ อีกทั้ง กองกำลังกู้ชาติบางกลุ่มแปรตัวเองไปเป็นโจรปล้นสดมภ์ชาวบ้าน

ด้วย ความเบื่อหน่ายเรื่องการรบราฆ่าฟันกันระหว่างชนเผ่า หลวงพ่ออุตตมะจึงตัดสินใจจากบ้านเกิด มุ่งหน้าสู่ดินแดนประเทศไทย เป้าหมายที่แท้จริงของท่านในเวลานั้นคือเขาพระวิหาร ปรากฏว่าเมื่อชาวบ้านรู้ข่าวต่างเสียใจ ไม่อยากให้ท่านจากไป พากันร้องไห้ระงมด้วยความอาลัย ซึ่งท่านได้ชี้แจงการออกเดินทางไปธุดงค์ของท่านว่า “การไปของเราจะเป็นปรหิต เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น”

หลวงพ่อเดินทาง เข้าเมืองไทยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2492-2493 ทางหมู่บ้านอีต่อง ตำบลปิล็อก ชายแดนเขตจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยสองคน ซึ่งมีเชื้อสายมอญพระประแดงที่มาทำเหมืองแร่ที่บ้านอีต่อง ทั้งคู่ได้จัดบ้านพักหลังหนึ่งให้เป็นกุฏิชั่วคราวของหลวงพ่อ มีชาวเหมืองจำนวนมากมาทำบุญกับหลวงพ่อ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีวัดและพระสงฆ์เลย

๏ เป็นพระในสังกัดศาสนจักรของไทย

เดิม ทีนั้น คนไทยเชื้อสายมอญพระประแดงทั้งสอง ต้องการสร้างกุฏิถวายหลวงพ่ออุตตมะให้จำพรรษาอยู่ที่บ้านอีต่อง แต่หลวงพ่อไม่รับ เนื่องจากเกรงว่าจะกลายเป็นพระเถื่อนเข้าเมืองไทย ท่านจึงต้องการไปขออนุญาตจากพระผู้ใหญ่ที่ปกครองเขตปิล็อกเสียก่อน ทั้งสองจึงพาหลวงพ่ออุตตมะ มาจำพรรษาที่วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กับหลวงพ่อไตแนม ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงและอุปสมบทที่วัดเกลาสะเช่นเเดียวกับหลวงพ่ออุตตมะ จึงเป็นก้าวแรกที่หลวงพ่ออุตตมะได้เป็นพระในสังกัดศาสนจักรของไทยอย่าง ถูกต้อง

ปี พ.ศ. 2494 ขณะจำพรรษาที่วัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่ออุตตมะมีโอกาสไปสักการะพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ทำให้หลวงพ่อได้พบชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่มาจากเมืองต่างๆ เช่น แม่กลอง สมุทรสาคร มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นิมนต์หลวงพ่อ ไปจำพรรษาที่วัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

หลัง จากเดินทางกลับจากวัดบางปลา มาจำพรรษาที่วัดท่าขนุน หลวงพ่อไตแนมขอให้หลวงพ่ออุตตมะ ไปจำพรรษาที่วัดปรังกาสีซึ่งเป็นวัดร้าง บริเวณวัดปรังกาสีมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และบริเวณนั้นไม่มีพระหรือวัดอื่นเลย หลวงพ่อร่วมกับกำนันชาวกะเหรี่ยงนิมนต์พระกะเหรี่ยง จากตลอดแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยได้ 42 รูป มาอยู่ปริวาสที่วัดปรังกาสี 9 วัน 9 คืน หลังจากนั้นก็สร้างกุฏิและเจดีย์ขึ้น หลวงพ่ออุตตมะนิมนต์พระกะเหรี่ยงมาจำพรรษาที่วัด 3 รูป ท่านสอนภาษามอญแก่พระทั้ง 3 รูปนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการสอนธรรมะต่อไป

หลวงพ่อ อุตตมะจำพรรษาอยู่วัดปรังกาสีหนึ่งพรรษา ต่อมาผู้ใหญ่ทุม จากท่าขนุนมานิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยมหลวงปู่แสง ที่วัดเกาะ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเคยไปจำพรรษาที่วัดโมกกะเนียง เกลาสะ และมะละแหม่งมาก่อน และในพรรษานั้น หลวงพ่ออุตตมะได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ ตามคำนิมนต์ของหลวงปู่แสง

ปี พ.ศ. 2494 ขณะที่หลวงพ่อจำพรรษาอยู่ที่วัดเกาะ มีคนมาแจ้งข่าวแก่หลวงพ่อว่า ที่กิ่งอำเภอสังขละบุรีมีชาวมอญจากบ้านเดิมของหลวงพ่ออพยพเข้าเมืองไทย ทางทางบีคลี่เป็นจำนวนมาก และต้องการนิมนต์หลวงพ่อไปเยี่ยม เมื่อหลวงพ่ออุตตมะออกจากจำพรรษา แล้วเดินทางกลับไปยังอำเภอทองผาภูมิ และไปยังอำเภอสังขละบุรี และพบกับคนมอญทั้งหมดที่มาจากโมกกะเนียง เจ้าคะเล และมะละแหม่ง บ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อจึงพาชาวมอญเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านวังกะล่าง นับเป็นจุดกำเนิดแรกเริ่มของชุมชนชาวมอญในสังขละบุรี

๏ เทพเจ้าของชาวมอญ

หลวงพ่อ อุตตมะย้ำกับทุกคนที่มาหาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทหารไทย พม่า กะเหรี่ยง หรือว่ามอญ จะไม่มีการพูดถึงการเมือง “เราคิดอย่างเดียว จะทำอย่างไรให้วัดเป็นศูนย์กลางของศาสนา ดึงคนให้เข้าใจธรรม สนใจพุทธศาสนาให้มากๆ เพราะวัดเป็นของกลางของทุกคนทุกศาสนา”

จาก ที่ช่วยเหลือทุกสิ่งให้ทุกคน จนเป็นที่รู้กันว่าหากใครมีปัญหาเรื่องใด เมื่อบอกกับหลวงพ่ออุตตมะแล้ว ทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงโดยดี คล้ายกับหลวงพ่อสามารถบันดาลทุกสิ่งได้ดั่งองค์เทพเจ้า กระทั่งมีบรรดาชาวมอญอพยพข้ามแดนมาอาศัยอยู่กับหลวงพ่อเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 คน ในปัจจุบัน “หลวงพ่ออุตตมะ” เทพเจ้าแห่งชาวมอญคือสิ่งที่ทุกคนระลึกถึง

และอีกสิ่งหนึ่งที่ หลวงพ่อทิ้งไว้ให้กับบรรดาลูกศิษย์ชาวมอญ คือการได้สัญชาติไทยของชาวมอญพลัดถิ่น ด้วยบารมีของหลวงพ่อ บรรดาลูกศิษย์ตามกระทรวงต่างๆ ช่วยดำเนินการกระทั่งมีชาวมอญชุดแรกได้สัญชาติไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 2,378 คน ทุกคนได้รับนามสกุลที่หลวงพ่อตั้งให้กว่า 200 นามสกุล

นามสกุล ส่วนมากขึ้นต้นด้วยชื่อของหลวงพ่อเอง เช่น อุตตมะบุญคุณ อุตตมะอำไพ อุตตมะไพศาล หรือนามสกุลที่มีคำว่าหงษ์ หรือหงสา เพื่อระลึกถึงเมืองหงสาวดี นครหลวงของชาวมอญ เช่น สุทธิหงสา สิทธิหงสา ปุณณะหงสา

หลวงพ่ออุตตมะ เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทย มอญ พม่า รวมทั้งชาวกะเหรี่ยง เป็นพระนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง ยึดถือแนวทางปฏิบัติโดยการฉันอาหารวันละ 1 มื้อ เพียงวันละ 32 คำ ตามสังขารของร่างกาย หลวงพ่ออุตตมะฉันเพื่อให้อยู่ ไม่แตะต้องเงินทองหรือปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วท่านยังได้รับความเลื่อมใสจากพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงศรัทธาหลวงพ่ออุตตมะมาก และจะทรงนิมนต์หลวงพ่ออุตตมะ ไปประกอบพิธีต่างๆ บ่อยครั้ง

๏ การสร้างวัตถุมงคล

วัตถุ มงคลของหลวงพ่ออุตตมะ ที่ประชาชนที่นิยมนำไปบูชาคือ เหรียญหลวงพ่ออุตตมะ และลูกประคำ ใครที่ได้สร้อยลูกประคำของท่านมาแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักในด้านของความอยู่ยงคงกระพัน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงฟันแทงไม่เข้า แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่จะคอยปกป้องคุ้มภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่ตัวผู้สวมใส่หรือครอบครอง

๏ กำเนิดวัดหลวงพ่ออุตตมะ

ใน ปี พ.ศ. 2499 หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญได้พร้อมใจกันสร้างศาลาวัดขึ้น และสร้างเสร็จในเดือน 6 ของปีนั้นเอง แต่เนื่องจากยังมิได้มีการขออนุญาตจากกรมการศาสนา วัดที่สร้างเสร็จจึงมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า “วัดหลวงพ่ออุตตมะ” ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า “สามประสบ” เพราะมีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี

ในปี พ.ศ. 2505 เมื่อได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาเป็นที่เรียบร้อย หลวงพ่ออุตตมะจึงได้ตั้งชื่อสำนักสงฆ์ตามชื่ออำเภอเก่า (อำเภอวังกะ) ว่า “วัดวังก์วิเวการาม”

ในปี พ.ศ. 2513 หลวงพ่อเริ่มสร้างพระอุโบสถวัดวังก์วิเวการามโดยปั้นอิฐเอง

ใน ปี พ.ศ. 2518 หลวงพ่อได้เริ่มสร้างเจดีย์จำลองแบบจากเจดีย์พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย และสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2529 เจดีย์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็น กระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร ในการนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเปิดเจดีย์พุทธคยา ณ วัดวังก์วิเวการาม

หลวงพ่อ ยังริเริ่มสร้างสะพานมอญ เรียกอีกชื่อว่า สะพานอุตตมานุสรณ์ เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ มีความยาวถึง 850 เมตร สร้างข้ามลำน้ำซองกาเลีย ใช้แรงงานคนประมาณ 1,000 คน ในการก่อสร้าง ใช้เวลาถึง 10 ปี โดยสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2531 ถือเป็นความอุตสาหะอย่างมากในการก่อสร้าง

สะพานนี้เกิดขึ้นมาจาก แรงบันดาลใจของหลวงพ่อที่ต้องการให้พี่น้องชาวไทยและรามัญติดต่อกันได้ เหมือนเดิม ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณเมื่อ 30 ปีที่แล้ว บริเวณแห่งนี้จึงเป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงามมากที่สุด

และ ยังทำให้อำเภอสังขละบุรีที่มีมาแต่อดีต กลายเป็นเมืองบาดาลจมอยู่ใต้น้ำมากว่า 30 ปี บัดนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของที่นี่ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือหางยาวไปชม ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็จะถึงเมืองบาดาล

๏ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์และสมณศักดิ์

ปี พ.ศ. 2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม

ปี พ.ศ. 2505 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุวรรณาราม

ปี พ.ศ. 2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจาจารย์

ปี พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอุดมสิทธาจารย์ ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลชั้นโท

ปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นเอก

ปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมสังวรเถร

ปี พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชอุดมมงคล พหลนราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี


๏ พระธรรมเทศนา

“..... ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงไปแล้วมาตาม ไม่ควรหวังสิ่งซึ่งยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดล่วงพ้นไปแล้ว สิ่งนั้นอันเราละเสียแล้ว อนึ่ง สิ่งใดซึ่งไม่มาถึงเล่าสิ่งนั้นก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญา จึงไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงไปแล้วมาตาม ไม่ควรหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ผู้มีปัญญาได้มาเห็นธรรมเป็นปัจจุบันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าแจ้งชัดอยู่ในที่ นั้นๆ ใครจะพึงรู้ว่า ความตายจักไม่มีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าสู้ความหน่วงเหนี่ยว ความผูกพันด้วยมฤตยู ความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้นมิได้เลย ฉะนั้น ความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน อันผู้มีปัญญาควรทำเสียในวันนี้เลยทีเดียว ไม่มีความเกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างนี้ ผู้นั้นแลเป็นผู้มีราตรีเดียวเจริญ ดังนี้.....”

๏ การมรณภาพ

หลวงพ่อ อุตตมะ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 เวลา 11.44 น. ในฐานะคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วยอาการป่วยเป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคปอด อาการของเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง ท่านไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถลืมตาเองได้เป็นเวลากว่า 1 ปี

จนกระทั่ง เกิดอาการติดเชื้ออย่างรุนแรง และได้มรณภาพลงจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตจากภาวะปอดอักเสบ ที่ห้องไอซียู หออภิบาลผู้ป่วย ตึกอัษฎางค์ ชั้น 3 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 07.22 น. ของวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ถือเป็นการสูญเสียปูชนียสงฆ์รูปสำคัญครั้งใหญ่ของเมืองไทย สิริอายุรวม 97 พรรษา 74

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘