อนิจจลักษณะได้ในสังขาร ๒

                  อนิจจลักษณะนี้ย่อมได้ทั้งในอุปาทินนกะ  คือ  สังขารมีใจครอง  ทั้งในอนุปาทินนกะ     คือ  สังขารไม่มีใจครอง

                  ทุกฺขตา      ความเป็นทุกข์แห่งสังขาร  ย่อมกำหนดเห็นด้วยทุกข์อย่างนี้
                  ๑.   สภาวทุกข์          ทุกข์ประจำสังขาร  คือ  ชาติ  ชรา  มรณะ
                  ๒.  ปกิณณกทุกข์    ทุกข์จร  คือ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกขะ  โทมนัส  อุปายาส
              ๓.   นิพัทธทุกข์         ทุกข์เนืองนิตย์  หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือน  ได้แก่  หนาว  ร้อน     หิว  ระหาย  ปวดอุจจาระ  ปวดปัสสาวะ
                  ๔.   พยาธิทุกข์         หรือทุกขเวทนา  มีประเภทต่าง ๆ  ตามสมุฏฐาน  คือ  อวัยวะอันเป็นเจ้าการ  ไม่ทำหน้าที่โดยปกติ
                  ๕.   สันตาปทุกข์       ทุกข์คือความร้อนรุ่ม  ได้แก่  ความกระวนกระวายเพราะถูกไฟ  คือ  กิเลส  ราคะ  โทสะ  โมหะ  เผา
                  ๖.   วิปากทุกข์     หรือผลกรรม  ได้แก่  วิปฏิสาร  คือ  ความร้อน  การเสวยกรรมกรณ์  คือ  การถูกลงอาชญา  ความฉิบหาย  ความตกยาก  และความตกอบาย
                  ๗.  สหคตทุกข์     ทุกข์ไปด้วยกัน  หรือ  ทุกข์กำกับกัน  ได้แก่  ลาภ  ยศ     สรรเสริญ  สุข  ความวิตกกังวลกับลาภเป็นต้นนั้น
                  ๘.  อาหารปริเยฎฐิทุกข์         คือ  ทุกข์ในการหากิน  ได้แก่  อาชีวทุกข์  ทุกข์เนื่องด้วยการเลี้ยงชีวิต
                  ๙.   วิวาทมูลกทุกข์     คือ  ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล  ได้แก่  ความไม่โปร่ง  ความกลัวแพ้  ความหวั่นหวาด  มีเนื่องมาจากทะเลาะกันก็ดี  สู้คดีกันก็ดี  รบกันก็ดี
                  ๑๐.   ทุกขขันธ์  หรือทุกข์รวบยอด  หมายเอาสังขาร  คือ  ประชุมเป็นปัญจขันธ์นั่นเอง
                  การพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์เต็มที่  อันจะนำไปสู่นิพพิทา  ความหน่ายในสังขาร  คือ  การเห็นทุกขขันธ์นี้  ส่วนทุกข์หมวดอื่นพอเป็นเครื่องกำหนดเห็นสังขารว่าเป็นทุกข์เท่านั้น
                  การรู้จักใช้ญาณกำหนดเห็นทุกข์อย่างละเอียด  (แม้)  ที่โลกเห็นว่าเป็นสุข  มีสหคตทุกข์เป็นนิทัศนะ  ได้ในบาลีว่า
            ทุกฺขเมว  หิ  สมฺโภติ          ทุกฺขํ  ติฏฐติ  เวติ 
              นาญฺญตฺร  ทุกฺขา               สมฺโภติ  นาญฺญตฺร  ทุกฺขา  นิรุชฺฌติ
                  ก็ทุกข์นั่นแลย่อมเกิดขึ้น  ทุกข์ย่อมตั้งอยู่  ย่อมเสื่อมสิ้นไปด้วย  จากทุกข์หาอะไรเกิดมิได้  นอกจากทุกข์หาอะไรดับมิได้
                  บาลีนี้  เพ่งทุกข์หมวด  ๑๐  นี้  ท่านจัดความเป็นสภาพถูกความเกิด  และความสิ้นบีบคั้นเป็นทุกขลักษณะ  เครื่องกำหนดว่า  เป็นทุกข์แห่งสังขาร
                  เมื่อเพ่งถึงสภาพที่ถูกความเกิด  และความสิ้นบีบคั้น  เป็นทุกขลักษณะ  ดังนั้น    ทุกขลักษณะจึงได้ในสังขารทั้ง    คือ  อุปาทินนกสังขาร  และอนุปาทินนกสังขาร
                  อนตฺตตา  ความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร  พึงกำหนดรู้ด้วยอาการ    เหล่านี้     คือ
                  ๑.   ด้วยไม่อยู่ในอำนาจ  หรือ  ฝืนความปรารถนา  ชีวิตไม่ได้อย่างใจหวังเสมอไป
                  ๒.  ด้วยแย้งต่ออัตตา  เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า  อัตตาที่ลัทธิอื่นบัญญัตินั้นไม่มี
                  ๓.  ด้วยความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้  ไม่มีใครมีสิทธิในอะไรที่แท้จริง
                  ๔.   ด้วยความเป็นสภาพสูญ  เป็นภาพลวงตา  เหมือนพยับแดด  หรือ  รถ  เรือน     เป็นต้น
                  ๕.   ด้วยความเป็นสภาวธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้างหรืออำนาจดลบันดาลใด ๆ  ทั้งสิ้น

                  อนัตตลักษณะ  เครื่องหมายของความเป็นอนัตตาแห่งสังขาร  มติค้านอัตตาของลัทธิอื่นที่เชื่อความเวียนเกิดว่า  ในรูปกายนี้มีอัตตาสิงอยู่  เป็นผู้คิด  เป็นผู้เสวยเวทนา  และสำเร็จอาการอย่างอื่นอีก
                  มติฝ่ายพระพุทธศาสนาแย้งว่า  ไม่มีอัตตาอย่างนั้น  เป็นแต่สภาวธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุ  สิ้นเพราะสิ้นเหตุ  ดังแสดงในบาลีว่า
                                    เย  ธมฺมา  เหตุปฺปภวา              เตสํ  เหตุ   ตถาคโต
                                    เตสญจ  โย  นิโรโธ               เอวํวาที  มหาสมโณ
                  ธรรมเหล่าใด  มีเหตุเป็นแดนเกิด  พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรม  และตรัสความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้
                  และมติฝ่ายพระพุทธศาสนา  แสดงความเกิดแห่งธรรมเนื่องกันเป็นสายดังแสดงความเกิดแห่งวิถีจิตว่า
                                    อาศัยอายตนะภายใน  มีจักษุ  เป็นต้น
                                    อาศัยอายตนะภายนอก  มีรูป  เป็นต้น
                  ทั้งสองฝ่ายประจวบกันเข้า  เกิดวิญญาณ  (เห็นรูป)  แต่นั้นเกิดสัมผัส  เวทนา  สัญญา  สัญเจตนา  ตัณหา  วิตก  วิจาร  โดยลำดับ  ดังแสดงเป็นบาลีว่า  ยงฺกิญฺจิ  สมุทยธมฺมํ   สพฺพนฺตํ  นิโรธธมฺมํ  สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นล้วนมีความดับเป็นธรรมดา     ความคิดอ่าน  ความเสวยเวทนา  และอาการอย่างอื่น  เป็นกิจ  (หน้าที่)  แห่งจิต  และเจตสิก     มิใช่แห่งอัตตา
                  พระพุทธศาสนารับว่ามีจุติจิต  จิตที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้าย  ด้วยคำว่า  จิตฺเต  สงฺกิสิฏเฐ  ทุคฺคติ  ปาฏิกงฺขา  เมื่อจิตเศร้าหมอง  จำหวังทุคติ

            จิตฺเต  อสงกิลิฏเฐ  สุคติ  ปาฏิกงขา  เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุคติย่อมหวังได้

              และรับรองปฏิสนธิจิต  (จิตที่ทำหน้าที่สืบต่อ)  ด้วยคำว่า  วิญญาณปจฺจยา  นามรูปํ     นามรูป  ย่อมเกิดมีเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
                  โดยนัยนี้  บทว่า  อนัตตา  มีความตามพยัญชนะว่า  มิใช่ตัว  มิใช่ตน  แย้งตรงต่ออุปาทาน  (ความถือผิดว่ามีผู้สร้าง  หรืออำนาจดลบันดาล)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘