ชาติกถา กัณฑ์ที่ ๑

คำปรารภ

                  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยสัมปทาคุณ  ๓  ประการ  คือ  เหตุสัมปทา  ๑  ผลสัมปทา  ๑  สัตตูปการสัมปทา  ๑

                        เหตุสัมปทา  ได้แก่  การที่ทรงบำเพ็ญโพธิญาณ  พุทธการกบารมีธรรมสิ้นกาลนาน  นับประมาณเป็นโกฎิกัปตั้งแต่ได้รับพยากรณ์จากสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมา

                  ผลสัมปทา  ได้แก่  การที่ทรงได้รับความสำเร็จจากพุทธการกบารมีธรรมที่ทรงบำเพ็ญ  มี  ๔  ประการ  คือ
                  .   รูปกายสัมปทา  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงมีรูปกาย  ประกอบด้วย  มหาปุริสลักษณะ  ๓๒  และอนุพยัญชนะ  ๘๐  ประการ
                  ปหานสัมปทา  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงสามารถละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้
                  ญาณสัมปทา  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยญาณทั้งหลาย  มีทศพลญาณ  เป็นต้น
                  .   อานุภาวสัมปทา  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงมีอำนาจในการที่จะทำสิ่งที่ทรงประสงค์ให้สำเร็จตามปรารถนาได้

              สัตตูปการสัมปทา  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาคุณในการช่วยเหลือเวไนยสัตว์ด้วยคุณสมบัติประจำพระองค์  ๒  ประการ  คือ
              ๑.  อาสยะ  ได้แก่  การรอคอย  หมายถึง  ทรงรู้จักรอคอยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์  (สัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา)  แห่งบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด
             ๒.  ปโยคะ  ได้แก่  การที่พระองค์ทรงมีความเพียรพยายามในการที่จะทรงสั่งสอนผู้อื่น  ด้วยน้ำพระทัยที่ประกอบด้วยความกรุณา  โดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้นั้น  และไม่ทรงหวาดกลัวภัยอันตรายใด ๆ  ทั้งสิ้น
                  พระพุทธองค์เสด็จอุบัติในโลกเพื่อเป็นพระศาสดาสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ดำเนินตามข้อปฏิบัติคือ  หนทางแห่งประโยชน์ทั้ง  ๓  คือ  ประโยชน์ชาตินี้  ๑  ประโยชน์ชาติหน้า  ๑  ปรมัตถประโยชน์  คือ  พระนิพพาน  ๑
                  ทรงแสดงธรรมและทรงบัญญัติพระวินัยเพื่อให้สัทธรรมทั้ง  ๓  คือ  ปริยัติ  ปฏิบัติ  และปฏิเวธ  เป็นไปในโลกโดยชอบ
                  ทรงประกาศมรรคาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ  อันเป็นหนทางแห่งความสุขในสุคติภพ  และสุขคือพระนิพพานให้เป็นวิสัยแห่งปัญญาญาณของเวไนยสัตว์  เกิดมีบริษัท  ๔  คือ  ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  ประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในโลกแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน  เปรียบเหมือนดวงประทีปที่ชัชวาลเต็มที่แล้วมอดดับไป  คงเหลือแต่พระธรรมวินัย  คือ  พระพุทธศาสนาไว้ในโลก
                  แม้กาลเวลาที่พระองค์ทรงประสูติ  ตรัสรู้  ประกาศพระพุทธศาสนา และเสด็จดับขันธปรินิพพานจะผ่านมานานแล้วก็ตาม  แต่เมื่อพุทธมามกบริษัทผู้ศรัทธาเลื่อมใส  ตั้งใจศึกษาพระประวัติของพระองค์ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า  เวลานั้นไม่ได้ผ่านไปไกลเลย  ยังเหมือนกับพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  ความเลื่อมใสที่มีคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่ออิฏฐวิบุลผลทางสุคติสวรรค์  และพระนิพพานอันเป็นวิบากสมบัติที่มนุษย์ทุกรูปทุกนามต่างปรารถนา

ความเกิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีได้ยาก
มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘