การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ( Stem Cell )

เซลล์ต้นกำเนิดโลหิต คืออะไร? เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) คืออะไร

    เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) เป็นเซลล์ตัวอ่อนของโลหิต โดยจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดโลหิตแดง (ทำหน้าที่นำอ๊อกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย) เม็ดโลหิตขาว(ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค) และเกล็ดโลหิต (เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้โลหิตแข็งตัว) ซึ่งนอกจากจะเจริญเติบโตเป็นเม็ดโลหิตหลายชนิดแล้ว สเต็มเซลล์ยังสามารถให้กำเนิดตัวเองได้ตลอดเวลา ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ทำให้สเต็มเซลล์ไม่มีวันหมดไปจากร่างกาย เราจึงสามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้กับผู้ป่วยโดยที่สเต็มเซลล์ของผู้บริจาค สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

โรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่าย Stem Cell

    โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (เป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น)
    โลหิตจางชนิดไขกระดูกฝ่อ
    มะเร็งเม็ดโลหิตขาวเฉียบพลัน / เรื้อรัง
    มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    มะเร็งกระดูก Myeloma
    มะเร็งเต้านม
    มะเร็งรังไข่
    มะเร็งปอด

แสดงความจำนงบริจาค

    การแสดงความจำนงเป็นผู้บริจาค Stem cell 

    1. คุณสมบัติผู้ที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต

    - อายุ 18-50 ปี
    - มีสุขภาพแข็งแรง
    - ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อร้ายแรง และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง

    2. ขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาค Stem Cell 

    2.1 สำหรับผู้ที่บริจาคโลหิตอยู่แล้ว

    - แจ้งความจำนงลงทะเบียนพร้อมกับการบริจาคโลหิตปกติ ตรวจวัดความดัน ความเข้มข้นโลหิต และรับหมายเลขถุงบรรจุโลหิตที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียน (ขั้นตอนหมายเลข 3)
    อย่าลืม!!! ย้ำกับเจ้าหน้าที่อีกครั้งว่าขอลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต
    - กรอกรายละเอียดเพื่อแสดงความยินยอมเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์

    2.2 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยบริจาคโลหิต

    - แจ้งความจำนงลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธก่อนที่จะไปห้องเก็บตัวอย่างโลหิต

    3. การเก็บโลหิตตัวอย่าง

    - ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะเก็บโลหิตตัวอย่างประมาณ 20 ml. (c.c.) เพื่อนำไปตรวจลักษณะเนื้อเยื่อ (HLA หรือ Tissue typing) และเก็บเป็นฐานข้อมูล (database) ไว้ เมื่ออาสาสมัครฯ มีลักษณะเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยแล้ว ทางศูนย์ฯ จะเชิญอาสาสมัครมาบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) ในภายหลัง ซึ่งโอกาสที่ลักษณะเนื้อเยื่อของผู้ป่วยและอาสาสมัครฯ จะตรงกันมีเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้น

วิธีการบริจาค Stem Cell

    1. การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทางหลอดโลหิตดำ (Peripheral Blood Stem Cell Donation) 

    วิธีการนี้ใช้เวลาทั้งหมด 6-7 วัน ซึ่งต้องมาต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจาก

    ขั้นแรก ฉีดยา G-CSF 4 วัน เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) ออกจากไขกระดูก (Bone Marrow) มากระจายตัวในกระแสโลหิตให้มากพอ ที่ต้องฉีดยาชนิดนี้ก่อน เพราะว่า โดยปกติในกระแสโลหิตจะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cell) อยู่น้อยมาก จึงต้องมีการเตรียมตัวก่อนเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากผู้บริจาค

    ขั้นต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ซึ่งใช้เวลา 2-3 วัน และแต่ละวันใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยแทงเข็มที่หลอดโลหิตดำบริเวณข้อพับแขน (Vein) ให้โลหิตไหลเข้าสู่เครื่อง Automated Blood Cell Separator เพื่อแยกเก็บเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต กระบวนการนี้คล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดโลหิต (platelet) หรือน้ำเหลือง (Plasma) ซึ่งจะเก็บปริมาณเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย

    2. การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตทางไขกระดูก (Bone Marrow Donation) 

    เป็นกระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากโพรงไขกระดูก โดยใช้เข็มพิเศษเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง โดยผู้บริจาคจะได้รับการดมยาสลบ กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวด เร็ว ผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น และควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5 - 7 วัน

    ผู้บริจาคจะได้บริจาควิธีการแบบใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เฉพาะทาง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริจาคด้วย

ปฏิทินเวลารับบริจาคโลหิต

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘