ธัมมิกสังคมนิยมกับเศรษฐกิจการเมือง

หลายคนอาจจะเห็นว่า ผมเพ้อฝันที่มาเขียนเรื่อง ธัมมิกสังคมนิยม ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของทุนนิยมสุดโต่ง และสังคมนับถือเงินและศีลธรรมเสื่อมถอย
ธัมมิกสังคมนิยมเป็นแนวคิดที่เกิดจากผลึกความคิดในการมองเศรษฐกิจ การเมือง สังคมด้วยหลักศาสนธรรม เป็นแนวคิดที่พัฒนาจากกระบวนการ "สิกขา" อันยาวนานของท่านพุทธทาสภิกขุ การศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งพร้อมกับศาสนธรรมอื่นๆ รวมทั้งวิทยาการความรู้ด้านต่างๆ เมื่อผสมผสานกับประสบการณ์ในการเข้าถึงหลักธรรมจากการปฏิบัติ สัมผัสกับชุมชนอย่างใกล้ชิด จึงได้ "ธัมมิกสังคมนิยม" มาอธิบายการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อย่างแหลมคม และแตกต่างจากแนวคิดลัทธิการเมืองเศรษฐกิจแนวโลกียวิสัย (Secularization)
พุทธทาสชี้ชัดว่า การเมืองคือศีลธรรม และนักการเมืองต้องมีธรรมะ ผมขอเติมอีกหน่อยว่า ต้องมีระดับคุณธรรมสูงกว่าประชาชนโดยทั่วไปด้วยประเทศจึงเจริญก้าวหน้า
พระสันติกโรภิกขุ สรุปแนวคิด ธัมมิกสังคมนิยม ของท่านพุทธทาสภิกขุเรียบเรียงออกมาเป็นสี่หมวด ได้แก่
หมวดที่หนึ่งว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติทางการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย การเมืองตามแนวศาสนา การเมืองต้องไปตามกฎธรรมชาติ ความหมายของศีลธรรม
หมวดที่สอง ธัมมิกสังคมนิยมและเจตนารมณ์สังคมนิยมในพุทธศาสนา ซึ่งประกอบไปด้วย เจตนารมณ์ของสังคมนิยมในพุทธศาสนา ส่วนเกินและระบบสังคมนิยมแบบธรรมราชา ธรรมสัจจะของธรรมชาติ
หมวดที่สาม สังคมนิยม ความหมายและรากฐาน ประกอบด้วย สังคมนิยมตามหลักแห่งศาสนา จุดตั้งต้นของอุดมการณ์ และการพิจารณาสังคมนิยมของคาร์ล มากซ์
หมวดที่สี่ แนวทางสู่ธัมมิกสังคมนิยม ประกอบด้วย ธัมมิกสังคมนิยมแบบธรรมชาติต้องกลับมา และการแก้ไขปัญหาสันติภาพสองระดับ (บุคคลและสังคม)
แนวคิดทางด้านเศรษฐกิจการเมือง และจัดการธุรกิจในบางยุคบางสมัยยึดโยงและใช้ปรัชญาพื้นฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ทฤษฎีนี้กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติบนหลักการผู้ที่อยู่รอดคือผู้ที่แข็งแรงที่สุดและปรับตัวได้ดีที่สุด เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมมนุษย์ เรียกว่า ลัทธิโซเชียลดาร์วิน (Social Darwinism)
การอธิบายโลกและอธิบายสังคมเช่นนี้สอดคล้องกับลัทธิทุนนิยม และส่งเสริมการแข่งขันดิ้นรนต่อสู้กันในระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ ใครแข็งแรงที่สุด ใครมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้นั้นคือผู้อยู่รอด ผมถือว่ายังเป็นการอธิบายโลกที่คับแคบ การแข่งขันกลายเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตทางธุรกิจ
ระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือความคิดนี้เป็นความคิดหลัก จะทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมแสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่สนใจต่อหลักศีลธรรมและไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่การบริหารกิจการควรทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว สำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกคน
ธัมมิกสังคมนิยมนั้นเข้าใจความเป็นจริงของลัทธิดาร์วินที่เป็นปรัชญาพื้นฐานของทุนนิยมดั้งเดิมเป็นอย่างดีลุ่มลึกและลึกซึ้งกว่า เพราะสอดคล้องกับธรรมชาติมากกว่า ไม่ฝืนธรรมชาติ
พุทธทาส บรรยายถึงหลักธรรมที่ใช้อธิบายระบบเศรษฐกิจการเมืองได้เป็นอย่างดีว่า "ตัวแท้จริงของธรรมชาตินั้นก็เป็นสังคมนิยม คือว่ามันไม่มีอะไรที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ มันต้องอาศัยกันและกัน ไม่มีแผ่นดิน ต้นไม้จะอยู่ได้อย่างไร ไม่มีต้นไม้ แผ่นดินจะอยู่ได้อย่างไร"
ธัมมิกสังคมนิยมสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ใหม่ สอดคล้องกับหลักคิดเรื่องธรรมาภิบาลของระบบทุนนิยม วิทยาศาสตร์ใหม่มองโลกแตกต่างไปจากแนวคิดวิทยาศาสตร์ แนวคิดเศรษฐกิจการเมืองแบบดั้งเดิม
แนวคิดใหม่มองว่า โลกอยู่ได้ด้วยสายใยแห่งสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกัน ทุกชีวิตในโลกใบนี้จึงเชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เสือล่ากวาง ก็เพียงให้อยู่รอด เราไม่เห็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก เสือล่ากวางด้วยความละโมบโลภมาก ไม่ได้สะสมเป็นสมบัติส่วนตัว ล่าให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การล่าจึงไม่ถึงขั้นทำให้เกิดทำลายล้างอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง แตกต่างจากความคิดเก่าของสังคมมนุษย์
เราสามารถนำพุทธธรรมมาประยุกต์กับเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน อย่างที่กำลังเห่อตามฝรั่งเรื่อง Good Governance นั้น เศรษฐศาสตร์แนวพุทธให้คำตอบเรื่องนี้เป็นอย่างดี เราสามารถสร้างความพอใจสูงสุดทั้งในระดับปัจเจกบุคคล กิจการและสังคมได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับศานติสุขได้
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธเป็นเศรษฐศาสตร์มัชฌิมา ยึดถือทางสายกลาง มุ่งไปที่คุณภาพชีวิตและความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ เศรษฐศาสตร์นั้นสอนให้ตระหนักถึง "ความจำกัด" ของสรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และเงินทองทรัพย์สิน
ดังนั้น ต้องใช้สรรพสิ่งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณค่ามากที่สุดด้วยความต้องการที่ไม่จำกัดของผู้คน ความจำกัดของทรัพยากรก็เลยเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ แต่ต้องไม่ใช่วิถีแห่งสงครามแย่งชิงทรัพยากรเหมือนที่ทำกันอยู่ การบริโภค การลงทุน การแสวงหาความมั่งคั่งอย่างไม่มีขอบเขต นำมาสู่แย่งชิงและสงคราม สุดจากกระบวนการต่อสู้แข่งขันเพื่อความอยู่รอด
สิ่งเหล่านี้ ทำให้สังคมไม่สงบ การเมืองวุ่นวาย เศรษฐกิจผันผวน และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะมากขึ้น สังคมดีและสงบสุขต้องเป็นสังคมที่ไม่ทิ้งธรรมะ ไม่ทิ้งพระพุทธเจ้า ไม่ทิ้งพระเจ้า ไม่ทิ้งศาสนธรรม ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘