จารึกลานทองพระธรรมกาย

จารึกลานทองพระธรรมกายในพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษา ๕ รอบ

ขณะดำเนินบูรณะปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ และพระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขารประจำรัชกาลที่ ๓ อยู่นั้นเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลาประมาณ ๐๘.๑๕ น. ช่างที่กำลังสกัดผิวกระเบื้องเคลือบชั้นนอกขององค์พระมหาเจดีย์ทั้งสองพบว่า บริเวณใกล้คอระฆังด้านทิศเหนือ มีโพลงลึกเข้าไปในองค์พระมหาเจดีย์ พบมีห้องกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โบราณวัตถุล้ำค่าต่างๆ พระพุทธรูปและจารึกลานทองเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธ ศาสนาบรรจุอยู่ในหีบทองลงยา หนึ่งในนั้นก็คือจารึกลานทองเกี่ยวกับพระธรรมกาย จึงได้อัญเชิญเคลื่อนย้ายลงมา

แต่เนื่องจากวัตถุล้ำค่าในกรุพระมหาเจดีย์มีความสำคัญยิ่งเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ กรมศิลปากรจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อดำเนินการอันเหมาะสมต่อไป วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ กรมศิลปากรได้รับหนังสือจากราชเลขาธิการ อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวความว่า

๑. โบราณวัตถุทั้งปวงที่บรรจุอยู่ในพระมหาเจดีย์นั้น ควรรวบรวมรักษาไว้โดยจัดพระวิหารหลังใดหลังหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายในวัดพระ เชตุพนวิมลมังคลารามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มั่นคง แสดงสิ่งที่ขุดได้อย่างมีระเบียบเป็นหมวดหมู่สำหรับคนรุ่นนี้ และรุ่นหลังได้ศึกษา
๒. วัตถุใดแตกหักเสียหายมากไม่เป็นชิ้นดี จะบรรจุคืนเข้าในพระมหาเจดีย์ก็ควร
๓. ควรจัดทำจำลองวัตถุเดิมขึ้นใหม่โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทัพสัมภาระที่มีค่าสูงบรรจุในพระมหาเจดีย์ ให้พระมหาเจดีย์ที่บูรณะใหม่มีลักษณะเป็น ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ และบริโภคเจดีย์ ครบถ้วนตามลักษณะดั้งเดิม

จารึกจากกรุพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ มี ๔ รายการได้แก่
๑. จารึกฐานพระพุทธรูปบุเงิน อักษรไทย ภาษาไทย จำนวน ๑ ด้าน มีอักษร ๒ บรรทัด
๒. จารึกคัมภีร์ลานทอง (๑) อักษรขอม ภาษาบาลี-ไทย จำนวน ๙ ลาน มสายสนองร้อยรวมเป็นผูก จารึกอักษรด้วยเส้นจารมีเส้นชุบชาดถมเส้นจารจำนวน ๗ ลานๆละ ๒ ด้านๆละ ๕ บรรทัดรวม ๗๐ บรรทัดกับใบปกอีก ๒ ลานไม่มีอักษรจารึก เรื่องที่จารึกเป็นบทธรรมว่าด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ได้แก่ พระสังคิณี พระวิภังค์ พระธาตุกถา พระปุคคลบัญญัติ พระกถาวัตถุ พระยมกและพระมหาปัฏฐาน
๓. จารึกคัมภีร์ลานทอง (๒) อักษรขอม ภาษาบาลีจำนวน ๙ ลาน มีสายสนองร้อยรวมเป็นผูก จารึกอักษรด้วยเส้นจารมีเส้นชุบรักดำถมเส้นจารจำนวน ๗ ลานๆละ ๒ ด้านๆละ ๔ บรรทัด รวม ๗๐ บรรทัดกับใบปกอีก ๒ ลานไม่มีอักษรจารึก เรื่องที่จารึกว่าด้วยปัจยาการ อเนกชาติสังสารัง และพระธรรมกาย
๔. จารึกคัมภีร์ลานทอง (๓) อักษรขอมย่อ ภาษาบาลี-ไทย จำนวน ๙ ลาน มีสายสนองร้อยรวมเป็นผูกจารึกอักษรด้วยเส้นชุบรักดำ จำนวน ๗ ลานๆละ ๑ ด้านๆละ ๔ บรรทัด รวม ๒๘ บรรทัด กับใบปกอีก ๒ ลาน ไม่มีอักษรจารึก เรื่องที่จารึกว่าด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ได้แก่ พระสังคิณี พระวิภังค์ พระธาตุกถา พระปุคคลบัญญัติ พระกถาวัตถุ พระยมก และพระมหาปัฏฐาน ซึ่งท่านย่อความไว้พอดีกับแผ่นจารึก

คำแปลจารึกลานทองพระธรรมกาย

ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย

"เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดมีนามรูป เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอายตนะ ๖ เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย จึงเกิดมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสะ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั้น เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

อีกส่วนหนึ่งเพราะอวิชชาดับสนิทไม่เหลือ ปราศจากราคะ คือความกำหนัด สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับอายตนะ ๖ จึงดับ เพราะอายตนะ ๖ ดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปาสะจึงดับ เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลล้วนดับตามเหตุปัจจัยดังกล่าว

เราเที่ยวแสวงหานายช่างทำบ้านเรือน(ตัณหา) เมื่อไม่พบ จึงต้องท่องเที่ยวไปในสงสารหลายชาติไม่น้อย ชาติ(ความเกิด)บ่อยๆ นำทุกข์มาให้ นายช่างเอ๋ย(บัดนี้) เราได้พบท่านแล้ว ท่านจักสร้างบ้านเรือนต่อไปอีกไม่ได้ เพราะเราได้หักทำลายรื้อโครงและยอดบ้านเรือนของท่านกระจัดกระจายหมดสิ้นแล้ว จิตของเราหมดกิเลสเครื่องปรุงแต่งแล้ว เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว

พระเศียรหมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ พระเกศาหมายถึงอารมณ์พระนิพพาน พระลลาตหรือพระนลาฎหมายถึงจตุตถฌาณ พระอุนาโลมหมายถึงสมาบัติญาณเพชร พระภมู(พระขนง) ทั้งสองหมายถึงนีลกสิณ พระจักษุทั้งสองหมายถึงทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ พุทธจักษุและธรรมจักษุ พระโสตทั้งสองหมายถึงทิพพโสตญาณ พระฆานะหมายถึงโคตรภูญาณ พระปรางทั้งสองหมายถึงมรรคญาณผลญาณและวิมุติญาณ พระโอษฐ์(ริมพระโอษฐ์)ทั้งสองหมายถึง โลกิยฌาณและโลกุตรฌาณ พระทนต์หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ พระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ หมายถึงมรรคญาณ ๔ พระศอหมายถึงสัจจญาณ ๔ การเอี้ยวพระศอทอดพระเนตรดูหมายถึงพระไตรลักษณญาณ พระพาหาทั้งสองหมายถึง เวสารัชญาณ ๔ พระองคุลีทั้ง ๘ หมายถึงอนุสสติญาณ ๑๐ พระอุระหมายถึงสัมดภชฌงค์ ๗ พระถันทั้ง ๒ หมายถึงอาสยานุสยญาณ พระอวัยวะส่วนกลางหมายถึงพลญาณ ๑๐ พระนาภีหมายถึงปฏิจจสมุปปบาท พระชฆนะหมายถึงอินทรีย์ ๕ พละ ๕ พระอุระทั้ง ๒ หมายถึงสัมมัปปธาน ๔ พระชงฆ์ทั้ง ๒ หมายถึงกุศลกรรมบท ๑๐ พระบาททั้ง ๒ หมายถึงอิทธิบาท ๔ สังฆาฏิ (ผ้าสำหรับห่มซ้อน) หมายถึงศีลและสมาธิ จีจรสำหรับห่มปกปิดกล่าวคือผ้าบังสุกุลหมายถึงหิริและโอตตัปปะ ผ้าอันตรวาสก(ผ้าสำหรับนุ่ง) หมายถึงมรรค ๘ ประคตเอวหมายถึง สติปัฏฐาน ๔

เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระอวัยวะทุกส่วนสูงสุดประกอบด้วยสัพพัญญุตญาณ ที่รู้กันว่าพระธรรมกายไม่มีใครจะเป็นผู้นำโลกได้เท่า ทรงรุ่งโรจน์กว่าเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น (ดังนั้น)พระโยคาวจรผู้มีญาณแก่กล้าเมื่อปรารถนาจะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พึงระลึกถึงบ่อยๆซึ่งพุทธลักษณะคือ พระธรรมกาย ว่าพระพุทธเจ้า(พระองค์ใด) ทรงมีพระวรกายสูง ๑๒ ศอก มีพระมงกุฎ (เครื่องประดับศรีษะ) ที่มีแสงสว่างดุจเปลวไฟพุ่งสูงขึ้นไปตลอดกาลเป็นนิจถึง ๖ ศอก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจึงชื่อว่าสูงได้ ๑๘ ศอก"

นับเป็นบุญของแผ่นดินไทยโดยแท้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรีชาญาณ ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญจารึกลานทองเรื่องราวเกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอน ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อมหาชนได้ศึกษาเรียนรู้ จารึกลานทองพระธรรมกายจึงได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นเครื่องยืนยันว่า พระธรรมคำสั่งสอนที่เกี่ยวกับพระธรรมกายในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่จริง พระบูรพมหากษัตริย์ไทยทรงเห็นถึงความสำคัญยิ่ง ทรงเกรงว่าพระคัมภีร์ล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาจะสูญหายไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนลานทองเก็บรักษาไว้ในพระมหาเจดีย์ เมื่อถึงคราวมหามงคลสมัยในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอย่างพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เจริญพระชนพรรษา ๖๐ พรรษา ก็มีเหตุอัศจรรย์บังเกิดให้ได้ค้นพบจารึกลานทองพระธรรมกายภายในพระมหาเจดีย์ ศรีสรรเพชดาญาณ พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นศุภนิมิตหมายที่ดียิ่งประกาศถึงพระเกียรติคุณองค์มหาราชโดยธรรมพระองค์ นี้ว่า ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุดแห่งยุค จะเผยแผ่ขจรไกลไปทั่วโลก ชาวโลกทั้งหลายจักได้สัมผัสกระแสสันติสุขโดยถ้วนหน้า แผ่นดินไทยนี้จักได้ชื่อว่า แผ่นดินศรีวิไล ที่มนุษยชาติใฝ่ฝันมานาน สมดังคำพยากรณ์ของพระอรหันตเถระ ขอพระบรมราชจักรีวงศ์ดำรงอยู่คู่พระพุทธศาสนาตราบสิ้นกัลป์

จากวารสารกัลยาณมิตร ฉบับที่ ๑๖๐ เมษายน ๒๕๔๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘