ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย


“พระ ญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์” หรือ “ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม” แห่งวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา มีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๒ เวลา ๐๕.๑๐ นาฬิกา ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน)

โยมบิดาชื่อ เพียอัครวงศ์ (อ้วน บุญโท) (เพียอัครวงศ์ เป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน เมืองเวียงจันทน์ มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา) โยมมารดาชื่อ นางหล้า บุญโท มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นบุตรคนที่ ๕ อายุห่างจากท่าน ๓ ปี การศึกษาในสมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านได้ศึกษาจนเป็นครูสอนวิชาสามัญได้ดีผู้หนึ่ง


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ท่าน ได้บรรพชาเป็นสามเณรฝ่ายมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ.2446 ในสำนักพระอุปัชฌาย์ “ป้อง” ณ วัดบ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่ออายุได้ 15 ปี

และบรรพชาอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นสามเณรธรรมยุต ในสำนักพระครูสมุห์โฉม เจ้าอาวาสวัดสุทัศนาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2449

ครั้นเมื่อ อายุครบบวช ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 เวลา 14.12 นาฬิกา โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงปู่สิงห์นับว่าเป็นสิทธิวิหาริก อันดับ 2 ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้นามฉายาว่า “ขนฺตยาคโม”

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้ปฏิบัติและเจริญรอยตามพระโอวาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานไว้โดยย่อว่า รุกขมูลเสนาสนะ เป็นต้น ท่านได้มุ่งสู่ราวป่าและปฏิบัติตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เคยปฏิบัติ มา ด้วยความวิริยะอุตสาห์พยายาม ด้วยวิสัยพุทธบุตรพระผู้เป็น “สุปฏิปันนสาวก” พระอาจารย์สิงห์สามารถรอบรู้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายของกิเลสตัณหาได้อย่างแยบยล ด้วยสติปัญญาและกุศโลบายอันยอดเยี่ยมเข้าพิชิตติตตามฆ่าเสียซึ่งอาสวกิเลส ต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าจิตใจของท่านได้อย่างภาคภูมิ จนสามารถรอบรู้ คณะพระกรรมฐานแห่งยุคนั้นออกเที่ยวอบรมสั่งสอนคณะศรัทธาญาติโยมและประชาชน ผู้โง่เขลาเบาปัญญา ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในพระไตรสรณคมน์ น้อมจิตให้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม

พระอาจารย์สิงห์ ได้เข้าถวายตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนากรรมฐานอยู่กับหลวงปู่มั่น จนมีกำลังอันแก่กล้าแล้ว และเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นอย่างมาก หลวงปู่มั่นจึงได้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชน พระอาจารย์สิงห์ ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สามารถให้อุบายธรรมแก่บรรดาลูกศิษย์ โดยไม่ว่าผู้ใดติดขัดปัญหาธรรมแล้ว ท่านจะแนะนำอุบายให้พิจารณาจนกระจ่างแจ่มใสเลยทีเดียว ด้วยอำนาจญานวิเศษสามารถหยั่งรู้วาระจิตของศิษย์เป็นเยี่ยม เป็นบางเวลาที่ศิษย์กลับเข้ามาหาท่านเพื่อขออุบายธรรมและขอให้ท่านช่วยแก้ไข ฉะนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ จึงต้องรับภาระหน้าที่แทนหลวงปู่มั่น นับได้ว่าหนักหนาพอสมควรทีเดียว

พระอาจารย์สิงห์มักจะฝึกให้คณะศิษย์ทั้งหลายได้อสุภกรรมฐาน จากซากศพที่ชาวบ้านเขานำเอามาฝังบ้าง เผาบ้าง หรือไม่ก็ใส่โลงไม้อย่างง่ายๆ เก็บเอาไว้รอวันเผา บางครั้งท่านจะนำพาคณะศิษย์ไปเปิดโลงศพหรือขุดขึ้นมาดูเพื่อฝึกพระลูกศิษย์ ของท่าน ดังที่พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) แห่งวัดถ้ำผาปล่อง ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านไว้ และเมื่อท่านเห็นว่าคณะศิษย์องค์ใดพอฝึกสมาธิภาวนาแก่กล้าตามวาระความสามารถ แล้ว ท่านจะแยกให้ไปอบรมธรรมเป็นแห่งๆ โดยลำพัง ท่านได้เคยพาคณะศิษย์ของท่านไปปักกลดโดยยึดเอาสถานที่อันเป็นป่าช้าเก่าแก่ เรียกว่า ป่าช้าบ้านเหล่างา ซึ่งในกาลต่อมาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าวิเวกธรรม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

อุปมาเป็นกองบัญชาการฝ่ายประพฤติ ปฏิบัติธรรม ส่งเสริมสานุศิษย์ทั้งมวลออกเผยแผ่ธรรมไปตามอำเภอต่างๆ จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกาลต่อมา พระลูกศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์ อีกองค์หนึ่งซึ่งในกาลต่อมาท่านได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดท่านหนึ่งคือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเคยออกเดินธุดงค์ในคณะหรือกองทัพธรรมที่มีพระอาจารย์สิงห์ เป็นพระหัวหน้าคณะ

ต่อมาหลวงชาญนิคม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเลื่อมใสในพระธุดงค์กรรมฐานเป็นอย่างมาก มีประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์รวมของพระ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวัน เพื่อเป็นวัดป่าตัวอย่างของฝ่ายวิปัสสนาธุระ ซึ่งพระอาจารย์สิงห์ก็รับนิมนต์ตามคำขอร้องของหลวงชาญนิคม ก่อร่างสร้าง “วัดป่าสาลวัน” จนเป็นที่เรียบร้อย เดิมบริเวณวัดป่าสาลวันนั้นเป็นป่ารกและมีต้นไม้ที่เป็นมงคลอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือ ต้นสาละ ภายหลังสร้างวัดป่าสาลวันเสร็จสิ้นแล้ว บรรดาลูกศิษย์ที่เป็นยอดขุนพลทางธรรมทั้งหลายได้เดินทางมาอยู่จำพรรษากับ ท่าน

ต่อมาท่านได้นำพาคณะออกเดินธุดงค์ ภายหลังจากออกพรรษาผ่านป่าเขาผ่านไปในที่ต่างๆ จนมาถึง อำเภอจตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ท่านได้พักปักกลดลง ณ บริเวณป่าช้ารกร้างว่างเปล่า ท่านพระอาจารย์สิงห์ และบรรดาพระลูกศิษย์ต่างก็ออกไปยังหมู่บ้านต่างๆ นำธรรมะของพระศาสดาเจ้ามาสู่ประตูบ้าน ให้ชาวบ้านที่ยังติดขัดในความประพฤติยึดถือในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ต่างๆ หันมารับพระไตรสรณคมน์ พระอาจารย์สิงห์ท่านได้ตั้งใจว่าจะพยายามสร้างวัดป่าขึ้นที่นี่เพื่อเป็นปู ชนียสถานสำหรับผู้มีความสนใจในการประพฤติิปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ได้ถูกชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านอย่างรุนแรง และข่มขู่ท่านว่า “ถ้าหากมีการสร้างวัดป่าขึ้นพวกเราจะฆ่าท่าน”

ท่านมาพินิจพิจารณา ด้วยสติปัญญาอันแยบคายรอบคอบ โดยไม่เกรงกลัวต่อคำขู่ ไม่เกรงว่าจะต้องตายด้วยน้ำมือของชาวบ้าน ชีวิตนี้พระอาจารย์สิงห์ได้มอบกายถวายชีวิตไว้กับพระพุทธเจ้าแล้ว และด้วยกระแสแห่งพรหมวิหารธรรมของท่าน ซึ่งมีพลังอำนาจได้แผ่ไปยังบุคคลที่ประสงค์ร้ายต่อท่าน จึงสามารถเปลี่ยนใจเขาเหล่านั้นให้รับฟังธรรมะที่ท่านแสดงยกเหตุผลอันสุขุม อ่อนโยนป้อนเข้าสู่จิตใจ จนระลึกถึงความผิดของตนที่คิดชั่วร้ายต่อพระภิกษุสงฆ์ ผู้มีความบริสุทธิ์ด้วยศีลธรรม และในที่สุดนอกจากยอมรับธรรมะอันวิเศษแล้ว ยังช่วยกันสร้างสำนักสงฆ์เพื่อถวายแด่พระอาจารย์สิงห์ และคณะด้วยจนสำเร็จ

พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้มีโอกาสพบกับพระผู้สหาย ซึ่งต่อมาเป็นพระเถระผู้ใหญ่แห่งวัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ นั่นคือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ดูลย์เองสมัยนั้นท่านก็ยังอยู่ในญัตติฝ่ายมหานิกาย ยังไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตติกนิกาย ดังนั้น พระอาจารย์สิงห์เมื่อได้พบพระผู้สหายคือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แล้ว ท่านเกิดชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดูลย์ และได้เห็นปฏิปทาในการศึกษา ประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาอย่างจริงจัง มีความตั้งใจจริง ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้จัดการช่วยเหลือพระผู้สหาย คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ให้ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุตติกนิกายเป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2461

พระ อาจารย์สิงห์ ท่านมีพระน้องชายที่สนใจทางด้านพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบได้เป็นมหา นั่นคือ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล แต่ท่านพระอาจารย์สิงห์มีความประสงค์ให้พระผู้น้องได้ประพฤติในทางปฏิบัติ ธรรม ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนี้กับหลวงปู่ดูลย์ และได้เชิญหลวงปู่ดูลย์ให้ช่วยทรมานและชักนำพระอาจารย์มหาปิ่นให้มาสนใจใน ทางธุดงคกรรมฐาน การทรมานมิได้ใช้วิธีอื่นที่เรียกว่า รุนแรง แต่เป็นการทรมานให้เห็นความสำคัญและปฏิปทาในการปฏิบัติ ในที่สุดพระอาจารย์สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ ท่านก็ค่อยสามารถทรมานโน้มน้าวความคิดจิตใจของท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ให้เลื่อมใสในกิจธุดงค์ได้จนหมดสิ้น

ต่อมา พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และบรรดาพระอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติต่างๆ หลายท่าน เดินธุดงค์ผ่านมาถึงจังหวัดปราจีนบุรี ท่านได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแห่งหนึ่ง ซึ่งบริเวณนั้นเป็นป่าช้าหรือเรียกว่า ป่ามะม่วง การมาอยู่จำพรรษาที่นี่ท่านได้นำธรรมะปฏิบัติสอนให้บรรดาชาวบ้านโดยทั่วไป ประพฤติปฎิบัติจนปรากฎว่าชื่อเสียงในการสั่งสอนและแสดงพระธรรมเทศนาของท่าน ลึกซึ้งจับใจ ฟังแล้วเข้าใจง่าย คนที่ได้สดับรับฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดสติปัญญารอบรู้ แต่ด้วยเหตุนี้เองทำให้สร้างความไม่พอใจแก่คนเลวบางคนเป็นยิ่งนัก ถึงขนาดจ้างมือปืนมาฆ่าท่าน แต่ก็เกิดปาฏิหารย์ขึ้นในขณะที่มือปืนเล็งปืนขึ้นหมายยิงท่านนั้น ต้นไม้ทุกต้นในบริเวณป่าช้าแกว่งไกวเหมือนถูกลมพัดอย่างรุนแรงขนาดต้นไม้โตๆ ล้มระเนระนาดหมด ทำให้มือปืนใจชั่วตกใจเหลือกำลังจะวิ่งหนีแต่ขาก้าวไม่ออก ปืนที่หมายจะยิงพระอริยเจ้าผู้ปฎิบัติชอบได้ตกหล่นอยู่บนพื้นดิน มือปืนจึงก้มลงกราบพร้อมกับกล่าวคำสารภาพผิด

พระอาจารย์สิงห์ได้ อบรมจิตใจของมือปืนรับจ้างด้วยความเมตตา และปล่อยตัวไป ซึ่งต่อมาผู้มีอิทธิพลซึ่งจ้างมือปืนฆ่าพระอาจารย์สิงห์ได้สำนึก และได้รับฟังธรรมะโอวาทจากพระอาจารย์สิงห์ เกิดปิติในธรรมะอย่างล้นพ้นเลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จึงพร้อมใจกันฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์สิงห์ และได้ชักชวนกันสร้างสำนักสงฆ์อันถาวรถวายพระอาจารย์สิงห์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงคุณของท่านที่ได้เปิดตาเปิดใจพวกเขาให้ได้รับแสง สว่างในธรรมะ และได้ตั้งชื่อไว้ว่า “วัดป่ามะม่วง” หรือวัดป่าทรงคุณแห่งจังหวัดปราจีนบุรีในปัจจุบันน

ปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์สิงห์ ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านมาพักจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านนาสีดา (วัดป่าจันทรังสี) ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นๆ คนหนึ่ง มีความเคารพนับถือพระอาจารย์สิงห์มากเป็นพิเศษเข้ามารับใช้อุปัฏฐากทุกสิ่ง อย่าง เด็กรุ่นหนุ่มคนนั้นคือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ซึ่งก็คือ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) นี้เอง ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 16 ปี

พระอาจารย์สิงห์ได้มองเห็น บุญญาธิการของหลวงปู่เทสก์ตั้งแต่แรกพบ เมื่อคณะธุดงค์ของท่านจะออกจากวัดบ้านนาสีดา (วัดป่าจันทรังสี) หลวงปู่เทสก์ (ในขณะนั้นคือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง) ได้ขอติดตามพระอาจารย์ไปด้วย พระอาจารย์สิงห์จึงได้ให้ไปขออนุญาตบิดามารดาเสียก่อน และก็ได้เป็นไปตามสภาพกุศลเกื้อกูลทุกประการ ท่านได้พาคณะธุดงค์เดินตัดตรงไปทาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ได้พักจำพรรษาโดยปักกลดในบริเวณป่าช้าแห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็น แหล่งปฏิบัติสมาธิภาวนาธรรมชื่อว่า “วัดป่าอรัญญวาสี” อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ท่านได้พร่ำสอนลูกศิษย์รัก คือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ให้รู้จักเจริญพรหมวิหารธรรม ต่อมาท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์ลุยเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาสามเณรเทสก์ขึ้น ณ วัดบ้านเค็งใหม่ จ.อุบลราชธานี

ในการทดแทนพระคุณอันสูงล้ำของ บิดามารดานั้น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินทางไปโปรดโยมบิดา-โยมมารดาจนมีจิตใจแจ่มใสเบิกบานในธรรม ท่านได้ให้โยมบิดา-โยมมารดาเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยการแนะนำไปทีละน้อยๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุตรพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง

พระอาจารย์สิงห์ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2500 และเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2504 เวลา 10.20 นาฬิกา ท่านได้ละสังขารจากไปเพราะอาพาธด้วยโรคมะเร็งเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ณ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา สิริอายุรวมได้ 72 พรรษา 52

๏ โอวาทธรรม

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เรียบเรียงแบบวิธีปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ กับแบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ตามที่คุณหา บุญมาไชย์ ปลัดขวาอำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้เรียบเรียงไว้เมื่อ ปี พ.ศ.2474 ดังนี้

คำปรารภของพระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์
ในการพิมพ์หนังสือพระไตรสรณคมน์และสมาธิวิธี

หนังสือ พระไตรสรณคมน์นี้ เป็นวิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะด้วย ทั้งได้ใช้เป็นวิธีไหว้พระทุกวันด้วย ตามระเบียบธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา ในครั้งพุทธกาลก็มีพระบาลีแสดงให้ปรากฎอยู่แล้วว่า บรรดาประชาชนทั้งหลายผู้มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ได้ตั้งตนเป็นพุทธบริษัทมาแล้ว ล้วนแต่ได้ประกาศปฏิญานตนถึงพระไตรสรณาคมน์ทั้งนั้น

อุทาหรณ์ข้อ นี้พึงเห็นมารดาบิดาแห่งยสกุลบุตร แลสิงคาลกมาณพเป็นตัวอย่าง วิธีปฏิญาณตนถึงสรณะนี้ ดูเหมือนขาดคราว ไม่ได้ใช้ทำกันมานาน จนพวกอุบาสกอุบาสิกากลายเป็นมิจฉาทิฎฐิถือผิดเป็นชอบคือ นับถือภูตผีปีศาจนับถือเทวดาอารักษ์หลักคุณกันไปหมด ผู้ที่จะตั้งใจนับถือพระไตรสรณาคมน์จริงๆ ไม่ใคร่มีเลยถึงแม้มีก็น้อยที่สุด จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าปรารภถึงพระพุทธศาสนาบ่อยๆ แลได้ช่วยแนะนำสั่งสอนให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลายได้ประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตร สรณาคมน์แสดงตนเป็นพุทธมามกะก็มากมายหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีหนังสือแจกจึงได้พิมพ์หนังสือ “พระไตรสรณาคมน์” นี้ขึ้น

อีก ประการหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาแสดงว่าบุญกับบาปสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้บุคคลที่ได้ทำบาปทำอ กุศาลไว้แล้วจะทำบุญแก้บาปก็แก้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่จะละบาปบำเพ็ญบุญนั้น จะต้องทำอย่างไรกัน ก็ต้องตอบได้ง่ายๆ ว่า ไม่มีวิธีอย่างอื่น นอกจากวิธีแก้จิตเพราะเหตุว่าวิธีแก้จิตเป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา แลเป็นหัวใจแห่งสมถะและวิปัสนากัมมัฎฐาน มีในพระบาลีก็แสดงให้รู้แจ้งรู้แล้วว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าก็ดี ล้วนแต่ได้ทรงแก้จิตมาแล้วทั้งนั้นจึงสำเร็จพระโพธิญาณแลสาวกบารมีญาณพันจาก ทุข์ในวัฎฎสงสารไปได้ เมื่อบุคคลมาแก้ไขซึ่งจิตของตนให้บริสุทธิ์เรียบร้อยแล้ว บาปอกุศลที่ตนทำไว้ทั้งหลายก็หลุดหายไปเอง อุทาหรณ์ข้อนี้ถึงเห็นองคุลีมาลเป็นตัวอย่าง

วิธีแก้จิตก็คือวิธี นั่งสมาธินี้เอง แต่ก็เป็นของที่ขาดคราวมานาน จนผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาเข้าใจผิดไปหมดว่าหมดคราวหมดสมัย หมดเขตมรรคผลธรรมวิเศษเสียแล้ว จึงทำตนให้เป็นคนจนท้อแท้อปราชัย ไม่สามารถหาอุบายแก้ไขซึ่งจิตของตนต่อไปได้ มีข้อเหล่านี้แลเป็นเหตุทำให้ข้าพเจ้าได้รับความสังเวชมามาก จึงปรารภถึงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น คุณหา บุญมาชัย ปลัดขวา อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น อาราธนาให้ข้าพเจ้าเรียบเรียบวิธีแก้จิตคือสมาธินี้ขึ้น เชื่อว่าคงเป็นประโยชน์แก่เหล่าพุทธบริษัทผู้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งอยู่ใน พระไตรสรณาคมน์ได้ปฏิบัติสืบไป อุบาสก อุบาสิกา มีศรัทธาบริจาคทรัพย์พิมพ์ไว้ในพระพุทธศาสนา

พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม
วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา

พระไตรสรณคมน์
วิธีปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ เป็นพุทธมามกะ
คือ เป็นอุบาสก อุบาสิกาในพระพุทธศาสนาตลอดชีพ

คำปฏิญาณตนถึงสรณะ เมื่อน้อมตนเข้ามานั่งเฉพาะหน้าพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วถวายเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น

(กราบ ๓ หน) นั่งคุกเข่าประณมมือ เปล่งวาจาว่า

อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ ภควา, พุทธํ ภควนตํ อภิวาเทมิ. (กราบ ๓ หน)

สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, ธมฺมํ นมสฺสามิ. (กราบ ๓ หน)

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สงฺฆํ นมามิ. (กราบ ๓ หน)

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (๓ จบ)

ว่าองค์พระไตรสรณาคมน์

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ทติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ทติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. ทติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ. ตติยมฺป ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ. ตติยมฺป สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ.

ปฏิญาณตนว่า

เอสาหํ ภนฺต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

ทุติยมฺปาหํ ภนเต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

ตติยมฺปาหํ ภนฺเต, สุจิรปรินพฺพุตมฺปิ, ตํ ภควนฺตํ สรณํ คจฺฉามิ, ธมฺมญฺจ ภิกฺขุฆญฺจ.

อุปาสกํ (อุปาสิกํ) มํ สงฺโฆ ธาเรตุ อชฺชตคฺเค ปาณุเปตํ สรณํ คตํ.

แปลว่า

ข้าพเจ้า ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปริพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ที่นับถือของข้าพเจ้า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าสิ้นชีวิตของพระสงฆ์ทั้งปวงจงทรงจำไว้ ซึ่งข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก (อุบาสิกา) ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตแห่งข้าพเจ้านี้แลฯ

เจริญพุทธคุณ

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู, อนุตตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว พุทฺเธ

(เงยขึ้น)

เจริญธรรมคุณ

สวากฺขาโต ภควตา ธมโม, สนฺทิฎฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก, โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว ธมฺเม.

(เงยขึ้น)

เจริญสังฆคุณ

สุ ปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สวกสงฺโฆ, ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, ยทิทํ จตฺตาริ ปริสยุคานิ อฎฺฐปุริสปุคฺคลา, เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย, อนุตฺตรธ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ

(กราบลง หมอบอยู่ว่า)

กาเยน วาจาย ว เจตสา วา, พุทฺเธ กุกมฺมํ ปกตํ มยา ยํ, พุทฺโธ ปฏิคฺคณฺหตุ อจฺจยนต์, กาลนตเร สํวริตุ ว สงเฆ.

(เงยขึ้น กราบ ๓ หน)

นั่งพับเพียบ ประณมมือ ฟังคำสั่งสอนในระเบียบวิธีรักษาและปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ต่อไป

ผู้ ที่ได้ปฏิญาณตนถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ชายเป็นอุบาสก หญิงเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

วิธีรักษาพระไตรสรณคมน์ไม่ให้ขาดและไม่ให้เศร้าหมอง ดังนี้คือ

๑. เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเคารพ ๖ ประการ คือ เคารพในพระพุทธเจ้า ๑ เคารพในพระธรรม ๑ เคารพในพระอริยสงฆ์สาวก ๑ เคารพในความไม่ประมาท ๑ เคารพในไตรสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ๑ เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ ๑ ต้องเป็นผู้มีความเชื่อ ความเลื่อมใส นับถือพระรัตนาตรัยเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกของตนจริงๆ ถ้าประมาทเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๒. เว้นจากการนับถือพระภูมิต่างๆ คือ ไม่นับถือภูตผีปีศาจ พระภูมิเจ้าที่ เทวบุตร เทวดา มนต์ คาถา วิชาต่างๆ ต่อไป ถ้านับถือเมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๓. ไม่เข้ารีตเดียรถีย์ นิครณฐ์ คือไม่นับถือลัทธิ วิธี ศาสนาอื่น ภายนอกพระพุทธศาสนามาเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลีกของตนสืบต่อไป ถ้านับถือเข้ารีตเดียรถีย์เมื่อไรก็ขาดจากคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๔. ไม่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ คือไม่ดูไม้ดูหมอ แต่งแก้แต่งบูชา เสียเคราะห์เสียขวัญ เป็นต้น ถ้านับถือเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่อนั้น

๕. เป็นผู้เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เช่น เชื่อว่า ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดีเป็นต้น ตลอดจนเชื่อความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่สุด ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ข้อนี้ต้องเป็นผู้มีสมาธิเสมอ ถ้าขาดสมาธิเมื่อไรก็ขาดศรัทธาความเชื่อมั่นนั้น ถ้าขาดศรัทธาความเชื่อเมื่อไรก็เศร้าหมองในคุณพระรัตนตรัยเมื่องนั้น


วิธีปฏิบัติพระไตรสรณคมน์

ท่านสอนให้ปฏิบัติใจ ของตนเอง เพราะคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ทั้งสามนี้สำเร็จด้วยใจ ล้วนเป็นคุณสมบัติของใจทั้งนั้น ท่านจึงสอนให้ปฏิบัติใจของตนเองให้เป็นคนหมั่น คนขยัน ไหว้พระทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน

ปฐมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธติ

เวลาก่อนเข้านอน ตอนหัวค่ำให้เดินจงกรม แล้วทำพิธีไหว้พระ เจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนา ทำจิตสงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อนเข้านอน

อฑฺฒรตฺตํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธต

เวลา เที่ยงคืน นอนตื่นข้นเป็นเวลาที่สงบสงัดดี ให้เดินจงกรม ทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหารนั่งสมาธิภาวนา ทำจิตใจให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ จึงนอนต่อไปอีก

ปจฺฉิมํ ยามํ จงฺกามาย นิสชฺชํ อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ จิตฺตํ ปริโสเธตฯ

เวลา ปัจจุสมัย จวนใกล้รุ่ง ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ล้างหน้า เช็ดหน้าเรียบร้อยแล้วทำพิธีไหว้พระเจริญพรหมวิหาร นั่งสมาธิภาวนาทำจิตให้สงบและตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่แล้วเดินจงกรมต่อไป อีกจนแจ้ง เป็นวันใหม่ จึงประกอบการงานต่อไป

สมาธิวิธี
พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์
(พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม)

๑. วิธีนั่งสมาธิ


ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาวางทับขาซ้าย เอามือขวาวางทับมือซ้าย

อุชุ กายํ ปณิธาย ตั้งกายให้ตรง คือ ไม่ให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และอย่าก้มนักเช่นอย่างหอยนาหน้าต่ำ อย่าเงยนักเช่นอย่างนกกระแต้ (นกกระต้อยตีวิด) นอนหงายถึงดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง อุชุ จิตฺตํ ปณธาย ตั้งจิตให้ตรงคืออย่าส่งใจไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และอย่าส่งใจไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างหวา พึงกำหนดรวมเข้าไว้ในจิตฯ

๒. วิธีสำรวมจิตในสมาธิ

มน สา สํวโร สาธุ สำรวมจิตให้ดี คือ ให้นึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ นึกอยู่อย่างนี้จนใจตกลงเห็นว่า อยู่ที่ใจจริงๆ แล้วทอดธุระเครื่องกังวลลงได้ว่า ไม่ต้องกังวลอะไรอื่นอีก จะกำหนดเฉพาะที่ใจแห่งเดียวเท่านั้น จึงตั้งสติกำหนดใจนั้นไว้ นึกคำบริกรรมรวมใจเข้าฯ

๓. วิธีนึกคำบริกรรม

ให้ ตรวจดูจิตเสียก่อน ว่าจิตคิดอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็นอารมณ์ที่น่ารัก หรือน่าชัง เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความรัก เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่าชัง พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความชัง ไม่ตั้งเที่ยง พึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้นให้เป็นคู่กันเข้าไว้ที่ตรงหน้าซ้ายขวา แล้วตั้งสติกำหนดใจตั้งไว้ในระหว่างกลาง

ทำความรู้เท่าส่วนทั้งสอง เปรียบอย่างถนนสามแยกออกจากจิตตรงหน้าอก ระวังไม่ให้จิตแวะไปตามทางเส้นซ้าย เส้นขวา ให้เดินตรงตามเส้นกลาง แต่ระวังไม่ให้ไปข้างหน้า ให้กำหนดเฉพาะจิตอยู่กับที่นั่นก่อน แล้วนึกคำบริกรรมที่เลือกไว้จำเพาะพอเหมาะกับใจคำใดคำหนึ่ง เป็นต้นว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ๓ จบ แล้วรวมลงเอาคำเดียวว่า “พุทโธๆๆ” เป็นอารมณ์เพ่งจำเพาะจิต จนกว่าจิตนั้นจะวางความรักความชังได้ขาด ตั้งลงเป็นกลางจริงๆ แล้วจึงกำหนดรวมทวนกระแสประชุมลงในภวังค์ ตั้งสติตามกำหนดจิตในภวังค์นั้นให้เห็นแจ่มแจ้ง ไม่ให้เผลอฯ

๔. วิธีสังเกตจิตเข้าสู่ภวังค์

พึง สังเกตจิตใจเวลากำลังนึกคำบริกรรมอยู่นั้น ครั้งเมื่อจิตตั้งลงเป็นกลาง วางความรัก ความชังทั้งสองนั้นได้แล้ว จิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ (คือจิตเดิม) มีอาการต่างๆ กัน บางคนรวมผับลง บางคนรวมปึบลง บางคนรวมวับแวมเข้าไปแล้วสว่างขึ้นลืมคำบริกรรมไป บางคนก็ไม่ลืม แต่รู้สึกว่าเบาในกายเบาในใจที่เรียกว่า กายลหุตา จิตฺตลหุตา กายก็เบา จิตก็เบา กายมุทุตา จิตฺตมุทุตา กายก็อ่อน จิตก็อ่อน กายปสฺสทฺธิ จิตฺตปสฺสทฺธิ กายก็สงบ จิตก็สงบ กายุชุกตา จิตฺตชุกตา กายก็ตรง จิตก็ตรง กายกมฺมญํญตา จิตฺตกมฺมญฺญตา กายก็ควรแก่การทำสมาธิ จิตก็ควรแก่การทำสมาธิ กายปาคุญฺญตา จิตฺตปาคุญฺญตา กายก็คล่องแคล่ว จิตก็คล่องแคล่ว หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเมื่อย หายหิว หายปวดหลังปวดเอว ก็รู้สึกว่าสบายในใจมาก ถึงเข้าใจว่าจิตเข้าสู่ภวังค์แล้วให้หยุดคำบริกรรมเสีย และวางสัญญาภายนอกให้หมด ค่อยๆ ตั้งสติตามกำหนดจิตจนกว่าจิตนั้นจะหยุด และตั้งมั่นลงเป็นหนึ่งอยู่กับที่ เมื่อจิตประชุมเป็นหนึ่งก็อย่าเผลอสติ ให้พึงกำหนดอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะนั่งเหนื่อย นี้แลเรียกว่าภาวนาอย่างละเอียดฯ

๕. วิธีออกจากสมาธิ

เมื่อ จะออกจากที่นั่งสมาธิภาวนา ในเวลาที่รู้สึกเหนื่อยแล้วนั้น ให้พึงกำหนดจิตไว้ให้ดี แล้วเพ่งเล็งพิจารณาเบื้องบนเบื้องปลายให้รู้แจ้งเสียก่อนว่า เบื้องต้นได้ตั้งสติกำหนดจิตอย่างไร พิจารณาอย่างไร นึกคำบริกรรมอะไร ใจจึงสงบมาตั้งอยู่อย่างนี้ ครั้นเมื่อใจสงบแล้ว ได้ตั้งสติอย่างไร กำหนดจิตอย่างไร ใจจึงไม่ถอนจากสมาธิ พึงทำในใจไว้ว่า ออกจากที่นั่งนี้แล้ว นอนลงก็จะกำหนดอยู่อย่างนี้จนกว่าจะนอนหลับ แม้ตื่นขึ้นมาก็จะกำหนดอย่างนี้ตลอดวันและคืน ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อทำในใจเช่นนี้แล้วจึงออกจากที่นั่งสมาธิ เช่นนั้นอีกก็ถึงทำพิธีอย่างที่ทำมาแล้วฯ

๖. มรรคสมังคี


มรรค มีองค์อวัยวะ ๘ ประการ ประชุมลงเป็นเอกมรรค คือ ทั้ง ๗ เป็นอาการ องค์ที่ ๘ เป็นหัวหน้า อธิบายว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือจิตเป็นผู้เห็น สัมมาสังกับโป ความดำริชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ดำริ สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ ก็คือจิตเป็นผู้นึกแล้วกล่าว สัมมากัมมันโต การงานชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดทำการงาน สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือจิตเป็นผู้คิดหาเลี้ยงชีวิต สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ก็คือจิตเป็นผู้มีเพียรมีหมั่น สัมมาสติ ความระลึกชอบ ก็คือจิตเป็นผู้ระลึก ทั้ง ๗ นี้แหละเป็นอาการ ประชุมอาการทั้ง ๗ นี้ลงเป็นองค์สัมมาสมาธิ แปลว่าตั้งจิตไว้ชอบ ก็คือความประกอบการกำหนดจิตให้เข้าสู่ภวังค์ได้แล้ว ตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้เป็นเอกัคคตาอยู่ในความเป็นหนึ่ง ไม่มีไป ไม่มีมา ไม่มีออก ไม่มีเข้า เรียกว่า มรรคสมังคี ประชุมมรรคทั้ง ๘ ลงเป็นหนึ่ง หรือเอกมรรคก็เรียก มรรคสมังคีนี้ประชุมถึง ๔ ครั้ง จึงเรียกว่า มรรค ๔ ดังแสดงมาฉะนี้ฯ

๗. นิมิตสมาธิ


ในเวลา จิตเข้าสู่ภวังค์และตั้งลงเป็นองค์มรรคสมังคีแล้วนั้น ย่อมมีนิมิตต่างๆ มาปรากฏในขณะจิตอันนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงตั้งสติกำหนดใจไว้ให้ดี อย่าตกใจประหม่ากระดากและอย่าทำความกลัวจนเสียสติและอารมณ์ ทำใจให้ฟุ้งซ่านรั้งใจไม่อยู่ จะเสียสมาธิ นิมิตทั้งหลายไม่ใช่เป็นของเที่ยง เพียงสักว่าเป็นเงาๆ พอให้เห็นปรากฏแล้วก็หายไปเท่านั้นเองฯ

นิมิตที่ปรากฏนั้น คือ อุคคหนิมิต ๑ ปฏิภาคนิมิต ๑

นิมิต ที่ปรากฏเห็นดวงหทัยของตนใสสว่างเหมือนกับดวงแก้ว แล้วยึดหน่วงเหนี่ยวรั้ง ให้ตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดี เรียกว่า อุคคหนิมิต ไม่เป็นของน่ากลัวฯ

นิมิต ที่ปรากฏเห็นคนตาย สัตว์ตาย ผู้ไม่มีสติย่อมกลัว แต่ผู้มีสติแล้วย่อมไม่กลัว ยิ่งเป็นอุบายให้พิจารณาเห็นเป็นอสุภะ แยกส่วนแบ่งส่วนของกายนั้นออกดูได้ดีทีเดียว และน้อมเข้ามาพิจารณาภายในกายของตนให้เห็นแจ่มแจ้ง จนเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายสังเวชสลดใจ ยังใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิมีกำลังยิ่งขึ้น เรียกว่า ปฏิภาคนิมิตฯ

๘. วิธีเดินจงกรม

พึงตั้ง กำหนดหนทางสั้นยาวแล้วแต่ต้องการ ยืนที่ต้นทาง ยกมือประนม ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วตั้งความสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้ใจของข้าพเจ้าสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาดรู้แจ้งแทงตลอดในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเทอญ

แล้ว วางมือลง เอามือขวาจับมือซ้ายไว้ข้างหนึ่ง เจริญพรหมวิหาร ๔ ทอดตาลงเบื้องต่ำ ตั้งสติกำหนดจิตนึกคำบริกรรมเดินกลับไปกลับมา จนกว่าจิตจะสงบรวมลงเป็นองค์สมาธิ ในขณะที่จิตกำลังรวมอยู่นั้น จะหยุดยืนกำหนดจิตให้รวมสนิทเป็นสมาธิก่อนจึงเดินต่อไปอีกก็ได้ ในวิธีเดินจงกรมนี้กำหนดจิตอย่างเดียวกันกับนั่งสมาธิ แปลกแต่ใช้อิริยาบถเดินเท่านั้นฯ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฝึกหัดใหม่ทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า การทำความเพียรคือฝึกหัดจิตในสมาธิวิธีนี้ มีวิธีที่จะต้องฝึกหัดในอิริยาบททั้ง ๔ จึงต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดจิตบ้าง นอนสีหไสยาสน์บ้าง เพื่อให้ชำนาญคล่องแคล่ว และเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอฯ

๙. วิธีแก้นิมิต

มีวิธีที่จะแก้นิมิตได้เป็น ๓ อย่างคือ

วิธีที่ ๑ ทำความนิ่งเฉย

คือ พึงตั้งสติกำหนดจิตนั้นไว้ให้มั่นคง ทำความสงบนิ่งแน่วเฉยอยู่ในสมาธิ แม้มีนิมิตอะไรๆ มาปรากฏ หรือรู้เห็นเป็นจริงในจิตอย่างไรไม่ต้องหวั่นไหวไปตาม คือ ไม่ต้องส่งจิตคิดไป จะเป็นความคิดผิดที่เรียกว่า จิตวิปลาส แปลว่า ความคิดเคลื่อนคลาด แปลกประหลาดจากความจริง นิ่งอยู่ในสมาธิไม่ได้ ให้บังเกิดเป็นสัญญา ความสำคัญผิดที่เรียกว่า สัญญาวิปลาส แปลว่า หมายมั่นไปตามนิมิตเคลื่อนคลาดจากจิตผู้เป็นจริงทั้งนั้น จนบังเกิดถือทิฎฐิมานะขึ้นที่เรียกว่า ทิฎฐิวิปลาส แปลว่า ความเป็นเคลื่อนคลาดจากความเป็นจริง คือเห็นไปหน้าเดียว ไม่แลเหลียวดูให้รู้เท่าส่วนในส่วนนอก ชื่อว่าไม่รอบคอบ เป็นจิตลำเอียง ไม่เที่ยงตรง

เมื่อรู้เช่นนี้จึงไม่ควรส่งจิตไปตาม เมื่อไม่ส่งจิตไปตามนิมิตเช่นนั้นแล้ว ก็ให้คอยระวังไม่ให้จิตเป็นตัณหาเกิดขึ้นคือ ไม่ให้จิตดิ้นรนยินดีอยากเห็นนิมิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นก็ดี หรือยินร้ายอยากให้นิมิตนั้นหายไปก็ดี หรือแม้ไม่อยากพบไม่อยากเห็นซึ่งนิมิตที่น่ากลัวก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ เรียกว่า ตัณหา

ถ้าเกิดมีในจิตแต่อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็ให้รีบระงับดับเสีย คือถอนความอยากและความไม่อยากนั้นออกเสีย เมื่อนิมิตมีมาก็อย่ายินดี เมื่อนิมิตหายไปก็อย่ายินร้าย หรือเมื่อนิมิตที่น่ากลัวมีมาก็อย่าทำความกลัว และอย่าทำความคดโกง อยากให้หายไปก็ไม่ว่า ไม่อยากให้หายไปก็ไม่ว่า อยากเห็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเห็นก็ไม่ว่า ให้เป็นสันทิฏฐิโกคือ เห็นเอง อยากรู้ก็ไม่ว่า ไม่อยากรู้ก็ไม่ว่า ให้เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะกับจิต ตั้งจิตไว้เป็นกลางๆ แล้วพึงทำความรู้เท่าอยู่ว่าอันนี้เป็นส่วนจิต อันนั้นเป็นส่วนนิมิต แยกส่วนแบ่งส่วนตั้งไว้เป็นคนละอัน รักษาเอาแต่จิตกำหนดให้ตั้งอยู่ เป็นฐีติธรรมเที่ยงแน่ว ทำความรู้เท่าจิตและนิมิตทั้งสองเงื่อน รักษาไม่ให้สติเคลื่อนคลาดจากจิต ทั้งไม่ให้เผลอสติได้เป็นดี

สติ มาชื่อว่าเป็นผู้มีสติ วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ถอนอภชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้แล้ว ก็เป็นผู้ตั้งอยู่ในวินัย เมื่อประกอบข้อปฏิบัติอันนี้อยู่อย่างนี้ สติก็ตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่นประชุมกันเป็นสมาธิดังนี้ เรียกว่า ญาตปริญญา แปลว่า รู้เท่าอารมณ์ฯ

วิธีที่ ๒ ตรวจค้นปฏิภาคนิมิต

คือ เมื่อเห็นว่าจิตมีกำลังประชุมกันอยู่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาดีแล้ว พึงฝึกหัดปฏิภาคนิมิตให้ชำนาญ คือ เมื่อเห็นรูปนิมิตมาปรากฏในตาในจิต เห็นเป็นรูปคน เด็กเล็ก หญิงชาย หนุ่มน้อย บ่าวสาว หรือแก่เฒ่าชรา ประการใดประการหนึ่งก็ตาม แสดงอาการแลบลิ้นปลิ้นตา หน้าบิดตาเบือน อาการใดอาการหนึ่งก็ตาม ให้รีบพลิกจิตเข้ามากลับตั้งสติ

ผูกปัญหา หรือทำในใจก็ได้ว่า รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง จะแก่เฒ่าชราต่อไปหรือไม่ เมื่อนึกในใจกระนี้แล้วถึงหยุดและวางคำที่นึกนั้นเสีย กำหนดจิตพิจารณานิ่งเฉยอยู่ จนกว่าจะตกลงและแลเห็นในใจว่า เฒ่าแก่ชราได้เป็นแท้ จึงรีบพิจารณาให้เห็นแก่เฒ่าชราหลังขดหลังโขสั่นทดๆ ไปในขณะปัจจุบันทันใจนั้นแล้ว

ผูกปัญหาถามดูทีว่า “ตายเป็นไหมเล่า” หยุดนิ่งพิจารณาอยู่อีกจนกว่าจะตกลงเห็นในใจได้ว่า ตายแน่ตายแท้ไม่แปรผัน จึงรีบพิจารณาให้เห็นตายลงไปอีกเล่า ในขณะปัจจุบันทันใจนั้น “เมื่อตายแล้วจะเปื่อยเน่าตายทำลายไปหรือไม่” หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก “จนกว่าจิตของเราจะตกลงเป็นว่าเปื่อยเน่าแตกทำลายไปหรือไม่” หยุดนิ่งพิจารณาเฉยอยู่อีก จนกว่าจิตของเราจะตกลงเห็นว่าเปื่อยเน่าแตกทำลายไปได้แท้แน่ในใจฉะนี้แล้ว ก็ให้รีบพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าแตกทำลายจนละลายหายสูญลงไป เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ไปตามธรรมดา ธรรมธาตุธรรมฐีติ ธรรมนิยามะ แล้วพลิกเอาจิตของเรากลับทวนเข้ามาพิจารณากายในกายของเราเอง ให้เห็นลงไปได้อย่างเดียวกัน จนกว่าจะตกลงและตัดสินใจได้ว่าร่างกายของเรานี้ ก็แก่เฒ่าชรา ทุพพลภาพแตกตาย ทำลาย เปื่อยเน่าไปเป็นเหมือนกัน

แล้วรีบตั้งสติ พิจารณาเห็นเป็นแก่เฒ่าชราดูทันที และพิจารณาให้เห็นตายลงไปในขณะปัจจุบัน แยกส่วนแบ่งส่วนออกดูให้เห็นแจ้งว่า หนังเป็นอย่างไร เนื้อเป็นอย่างไร กระดูกเป็นอย่างไร ตับไตไส้พุงเครื่องในเป็นอย่างไร เป็นของงามหรือไม่งาม ตรวจดูให้ดีพิจารณาให้ละเอียดจนกว่าจะถอนความยินดียินร้ายเสียได้ แล้วพิจารณาให้เห็นเปื่อยเน่าผุพังลงถมแผ่นดินไป

ภายหลังกลับ พิจารณาให้เห็นเป็นคืนมาอีก แล้วฝึกหัดทำอยู่อย่างนี้จนกว่าจะชำนาญหรือยิ่งเป็นผู้มีสติได้พิจารณาให้ เนื้อ หนัง เส้น เอ็น และเครื่องในทั้งหลาย มีตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น เปื่อยเน่าผุพังลงไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า จึงกำหนดเอาร่างกระดูกนั้นเป็นอารมณ์ทำไว้ในใจ ใคร่ครวญให้เห็นแจ้งอยู่เป็นนิจ จนกว่าจะนับได้ทุกกระดูกก็ยิ่งดี เพียงเท่านี้ก็เป็นอันแก้นิมิตได้ดีทีเดียวฯ

คราวนี้ถึงทำพิธี พิจารณาเป็นอนุโลม ถอยขึ้นถอยลง คือตั้งสติกำหนดจิตไว้ให้ดีแล้ว เพ่งพิจารณาให้เห็นผมอยู่บนศีรษะมีสีดำ สัญฐานยาว ก็จะหงอกขาวลงถมแผ่นดินทั้งนั้น และพิจารณาให้เห็นขนซึ่งเกิดตามชุมชนตลอดทั่วทั้งกายนอกจากฝ่ามือฝ่าเท้า ก็จะลงถมแผ่นดินเหมือนกัน พิจารณาเล็บที่อยู่ปลายนิ้วเท้านิ้วมือ ให้เห็นเป็นของที่จะต้องลงถมแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น พิจารณาฟันซึ่งอยู่ในปากข้างบนข้างล่างให้เห็นแจ้งว่าได้ใช้เคี้ยวอาหารการ กินอยู่เป็นนิจ แต่ก็จะต้องลงถมแผ่นดินเหมือนกัน

คราวนี้พิจารณา หนังเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหลังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ยังชีวิตนี้ให้ตั้งอยู่ได้แล้วเป็นไป ถ้าถลกหนังนี้ออกหมดแล้วก็ต้องตาย ตายแล้วต้องถมแผ่นดิน พิจารณาเห็นความจริงฉะนี้แล้วเลิกหนังออกวางลงไว้ที่พื้นดิน พิจารณาเส้นเอ็นให้เห็นแจ้งว่า เส้นเอ็นทั้งหลายรัดรึงกระดูกไว้ให้ติดกันอยู่ เมื่อเลิกเส้นเอ็นนี้ออกหมดแล้วกระดูกก็จะหลุดจากกันผุพังลงถมแผ่นดิน ทั้งสิ้น แล้วกำหนดเลิกเส้นเอ็นนี้ออกเสียกองไว้ที่พื้นดิน พิจารณาร่างกระดูกให้เห็นแจ้งว่า กระดูกในร่างกายนี้มีเป็นท่อนๆ เบื้องต่ำแต่กระดูกกระโหลกศีรษะลงไป เบื้องบนแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นมา เห็นได้กระจ่างสมควร

แล้วเพ่งเล็งพิจารณาดูเครื่องในทั้งหลายให้ เห็นว่า ปอดอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน ดวงหฤทัยอยู่ที่ไหน ใหญ่น้อยเท่าไร เห็นตับไต ไส้พุง อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร มีสีสันวรรณะเป็นไฉน เครื่องในทั้งแวงนี้ เป็นที่ประชุมแห่งชีวิตก็จริง แต่ก็จะต้องลงถมแผ่นดิน เมื่อพิจารณาเห็นฉะนี้แล้วจึงกำหนดให้ขาดตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน ยังเหลือแต่ร่างกระดูก จึงพิจารณาดูกระดูกกระโหลกศีรษะเป็นลำดับลงมา กระดูกคอ กระดูกแขน กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกเอว กระดูกตะโพก กระดูกต้นขา กระดูกแข้ง กระดูกพื้นเท้า พิจารณาอย่างนี้เรียกว่า อนุโลมฯ

คราวนี้พึงพิจารณาเป็นปฏิโลม คือพิจารณาถอยกลับขึ้นเบื้องบนตั้งแต่กระดูกพื้นเท้าขึ้นไปตลอดถึงกระดู กกระโหลกศีรษะ พิจารณาทบทวนกลับจากศีรษะถอยลงมาตรงหน้าอกนั้นให้มั่นคงทำในใจว่า ร่างกายทั้งหมดนี้มีจิตเป็นใหญ่ประชุมอยู่ที่จิต จึงกำหนดรวมจิตเข้าให้สงบ แลตั้งอยู่เป็นเอกัคคตา วิธีที่ ๒ นี้เรียกว่า ตีรปริญญา แปลว่า ใคร่ครวญอารมณ์ฯ

ขอเตือนสติไว้ว่า ในระหว่างกำลังพิจารณาอยู่นั้น ห้ามไม่ให้จิตเคลื่อนจากที่คิด ระวังไม่ให้ส่งจิตไปตามอาการ จิตจะถอนจากสมาธิ ถ้าจิตถอนจากสมาธิเป็นใช้ไม่ได้ ข้อสำคัญให้เอาจิตเป็นหลัก ไม่ให้ปล่อยจิต ให้มีสติเพ่งเล็งให้รอบจิต พิจารณาให้รอบกายรักษาใจไม่ให้ฟุ้ง จึงไม่ยุ่งในการพิจารณาฯ

วิธีที่ ๓ เจริญวิปัสสนา

คือ เมื่อผู้ปฏิบัติทั้งหลายได้ฝึกหัดจิตมาถึงขั้นนี้ มีกำลังพอพิจารณาปฏิภาคนิมิตได้ชำนาญคล่องแคล่วเป็นประจักขสิทธิ ดังที่อธิบายมาแล้ว และกำหนดจิตรวมเข้าไว้ในขณะจิตอันเดียว ณ ที่หน้าอก ตั้งสติพิจารณาดูให้รู้รอบจิต เพ่งพินิจให้สว่างแลเห็นร่างกระดูกทั่วทั้งกาย ยกคำบริกรรมวิปัสสนาวิโมกขปริวัตร ขึ้นบริกรรมจำเพาะจิตว่า

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สพฺเพ ธมฺมา อนิจฺจา สพฺเพ ธมฺมา ทุกฺขา

ให้ เห็นร่างกระดูกทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรถือเอา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ กำหนดให้เห็นกระดูกทั้งหลายหลุดจากกันหมด ตกลงไปกองไว้ที่พื้นดิน

คราวนี้ตั้งสติให้ดี รักษาไว้ซึ่งจิต อย่าให้เผลอ ยกคำบริกรรมวิปัสสนานั้นอีก เพ่งพิจารณาจำเพาะจิตให้เห็นเครื่องอวัยวะที่กระจัดกระจายกองไว้ที่พื้นดิน นั้น ละลายกลายเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ลงถมแผ่นดินไปหมด

กำหนด จำเพาะจิตผู้รู้ เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดินกว้างใหญ่ เป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งโลก ก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนี้เสียให้เห็นเป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น รวบรวมเอาแต่จิตคือผู้รู้ ตั้งไว้ให้เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่ และวางลงเป็นอุเบกขาเฉยอยู่กับที่ คราวนี้จะแลเห็นจิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้าวล่วงจากนิมิตได้ดี มีกำลังให้แลเห็นอำนาจอานิสงส์ของจิตที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในของตนในการที่จะกระทำความเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป

วิธีที่ ๓ นี้ เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้แล้ว


๏ ปัจฉิมบท

ท่าน พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม นับเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่สำคัญยิ่งและมีบารมีธรรมมากองค์หนึ่ง ที่ให้การอบรมพระภิกษุ สามเณร ญาติโยม โดยสืบต่อจากหลวงปู่มั่น ผู้พระอาจารย์ ถือหลักธรรมสีบทอดมาเป็นลำดับจนถึงสมัยปัจจุบัน พระอาจารย์ได้ทำคุณประโยชน์แก่ปวงชนอย่างกว้างขวาง ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ ท่านสามารถใช้สติปัญญาแยกแยะอุบายธรรม แนะนำศิษย์รุ่นน้องให้ได้รับการภาวนาอย่างได้ผล โน้มน้าวจิตใจของบุคคลที่เคยยึดถือนับถือภูตผีต่างๆ ให้หันกลับมายึดถือพระไตรสรณคมณ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ธรรมะของท่าน มีทั้งอ่อนน้อมละมุนละไม และเข้มแข็งกระด้างในบางเวลา พระอาจารย์สิงห์ได้พาคณะออกธุดงค์ไปโปรดเทศนาธรรมอบรมญาติโยมไปตามถิ่นต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับและในที่สุดทุกพื้นที่โคมทองแห่งพระศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ ได้แจ่มจำรัสจนทั่วทุกหนแห่ง ด้วยความสามารถอำนาจบุญบารมีของพระปรมาจารย์หลวงปู่มั่น พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ผู้น้องชาย ก็ได้สามารถปั้นยอดขุนพลแห่งกองทัพธรรมได้อีกเป็นจำนวนมาก นับว่าพระอาจารย์สิงห์ เป็นลูกศิษย์ผู้เป็นคู่บารมีของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยแท้จริง

ท่านสาธุชนทั้งหลายที่เดินทางผ่านจังหวัด นครราชสีมา สามารถแวะเข้าไปกราบระลึกถึงพระคุณท่านได้ ที่ วัดป่าสาลวัน ณ ที่นี้มีรูปเหมือนของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้สร้างไว้เพื่อให้สาธุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสมากราบไหว้บูชา และระลึกถึงพระคุณของพระอาจารย์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘