ประวัติและปฏิปทา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ประวัติและปฏิปทา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

วัดป่าบ้านตาด
ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

พระ อาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หรือ "หลวงตามหาบัว" ถือกำเนิดในตระกูล "โลหิตดี" เมื่อวันที่ 12 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2457 ณ หมู่บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อนายทองดี มารดาชื่อ นางแพง มีพี่น้องรวมกัน 12 คน ครอบครัวมีอาชีพทำนา ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับชั้นสูงสุดในสมัยนั้น

ในตอนเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยพูดจริง ทำจริง รักคำสัตย์ หนักแน่นในเหตุผล อุปนิสัยอันนี้เองที่ช่วยให้การปฏิบัติธรรมของท่านเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา การดำรงชีวิตในเบื้องต้นท่านได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจในกิจการงานทั้งปวง จนบิดามารดาหวังฝากผีฝากไข้กับท่าน ตามประเพณีของไทยเรานั้นเมื่อลูกชายมีอายุครบบวชก็มักจะให้บวชเรียนเสียก่อน ก่อนที่จะมีครอบครัวครองเรือนต่อไป


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

เมื่อ นายบัว โลหิตดี มีอายุได้ 21 ปี บิดามารดาได้ขอร้องให้เขาได้บวชเรียน เพื่อเป็นการทดแทนบุญคุณตามประเพณี ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจบวช เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ณ วัดโยธานิมิตร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระราชเทวี (จูม พนฺธุโล ต่อมาเป็นพระธรรมเจดีย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ญาณสมฺปนฺโน" ท่านตั้งใจไว้ว่าจะบวชพอเป็นประเพณีเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจว่าจะบวชนานเท่านี้

ครั้นบวชแล้ว พระภิกษุบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็ได้ศึกษาพุทธประวัติและประวัติพระอรหันตสาวก จนเกิดความเลื่อมในศรัทธาในพระศาสนาอย่างจริงจัง ท่านจึงตั้งใจว่าจะศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเสียก่อน เพราะถ้าไม่ศึกษาแล้วจะไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติ โดยตั้งความหวังไว้ว่าจะเรียนปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี สำหรับแผนกบาลีนั้น ท่านตั้งใจว่าจะสอบให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรมสามประโยคก็พอ ทั้งนี้เพื่อเป็นกุญแจเปิดตู้พระไตรปิฎก และเป็นอุบายเข้าถึงการปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง แต่จะไม่ให้เกินเลยเปรียญธรรม 3 ประโยคไป เพราะจะทำให้เหลิงและลืมตัว

ใน ระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่นั้น พระภิกษุบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็ได้ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมก็สอบไล่ได้บ้าง ตกบ้าง แต่ในที่สุดความปรารถนาของพระภิกษุบัวก็เป็นจริง เมื่อท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก พร้อมกับเปรียญธรรม 3 ประโยคในปีเดียวกันนั้น รวมเวลาที่ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเป็นเวลา 7 ปี

ครั้นสอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ก็มุ่งออกปฏิบัติด้านเดียว จิตใจของท่านจึงมุ่งสู่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเด็ก จนกระทั่งท่านอุปสมบทแล้ว ชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นก็ยิ่งฟุ้งขจรไปไกล ในตอนที่พระมหาบัวจำพรรษาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบปะพูดคุยกับครูบาอาจารย์ที่เคยอยู่กับหลวงปู่มั่น มาเล่าให้ฟังถึงปฏิปทาและข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่มั่นไม่ใช่พระธรรมดา หากแต่เป็นพระอริยะผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เมื่อได้ฟังดังนั้น จิตใจของพระมหาบัวก็ยิ่งฝังลึกลงในการที่จะปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ และอยากจะฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ด้วยมั่นใจว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่

ในพรรษาต่อมา (คือพรรษาที่ 8) พระมหาบัวได้ไปจำพรรษาอยู่ที่อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา จนจิตเข้าถึงความสงบ ท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนักทั้งนั่งสมาธิทั้งเดินจงกรม ในเวลาต่อมาพระผู้ใหญ่จะให้พระมหาบัวเดินทางเข้าไปศึกษาต่อ ในกรุงเทพฯ ท่านเห็นว่าจะผิดกับปณิธาน และเสียคำสัตย์ที่เคยตั้งใจว่าจะเรียนให้ได้เพียงแค่เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านจึงหนีกกลับมาอยู่บ้านเดิมคือ บ้านตาด ณ ที่นี่แทนที่ท่านจะได้เจริญสมาธิภาวนาให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป กลับปรากฏว่าจิตใจไม่ค่อยสงบ เพราะมัวแต่ทำกลดไม่เสร็จสิ้น

พระมหา บัวคิดว่า ถ้าอยู่บ้านเกิดต่อไปคงไม่ดีแน่ มีแต่จะขาดทุน จึงเดินทางหนีจากบ้านตาด มุ่งหน้าไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งตอนนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี แต่ก็ไม่ได้พบหลวงปู่มั่น เพราะท่านได้รับนิมนต์ไปจังหวัดสกลนครเสียก่อน เมื่อตามไปไม่ทัน พระมหาบัวจึงไปพักอาศัยอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง จังหวัดหนองคาย เป็นเวลาสามเดือนกว่า พอถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485 ก็ออกเดินทางจากจังหวัดหนองคายไปจังหวัดสกลนคร ได้พบหลวงปู่มั่นที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พอไปถึงก็พบหลวงปู่มั่นกำลังเดินจงกรมอยู่ในเวลาโพล้เพล้

เมื่อได้ พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แล้วก็สมใจนึกทุกอย่าง เพราะได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก ก็เกิดศรัทธาปสาทะขึ้นมาทันที และดูเหมือนว่า หลวงปู่จะทราบเรื่องราวทุกอย่างของพระมหาบัวหมดแล้ว หลวงปู่ได้กล่าวหลักธรรมยืนยันว่า มรรคผลนิพพานเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอและให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติในปัจจุบันทันที จนพระมหาบัวหมดความสงสัย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้มอบตัวเป็นศิษย์และอยู่ศึกษาอบรมสมาธิภาวนาในสำนักของหลวงปู่มั่น เรื่อยมา ด้วยความจริงใจและเด็ดเดี่ยว พระมหาบัวได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานในป่าอันสงัด ห่างไกลจากบ้านเรือนของผู้คน โดยตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นก็เป็น จะตายก็ตาย จิตมุ่งอยู่แต่สมาธิภาวนาเท่านั้น

ขณะที่ศึกษาอบรมอยู่กับหลวงปู่ มั่นนั้น พระมหาบัวก็ได้เรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส ตลอดถึงจิตภาวนาที่หลวงปู่มั่นได้พาดำเนินไปด้วยความถูกต้องดีงาม ตามหลักพระธรรมวินัยซึ่งพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้สืบทอดข้อวัตรปฏิบัติเรื่อยมา และได้ใช้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกาในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุที่ท่านเคารพเทิดทูนหลวงปู่มั่นอย่าง สุดหัวใจ โดยเรียกหลวงปู่มั่นว่า "พ่อแม่ครูบาอาจารย์" เพราะหลวงปู่มั่นเปรียบเสมือนพ่อกับแม่ และเป็นครูเป็นอาจารย์ในองค์เดียวกันหมด ด้วยคารวธรรมอันสูงส่งนี้เอง จึงเป็นพลังใจให้พระอาจารย์มหาบัวได้เขียนหนังสือ "ประวัติหลวงปู่มั่น" เพื่อเผยแพร่ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนชื่อเสียงเกียรติคุณให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบเป็นคติ เป็นการบูชาคุณท่าน และยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาคปฏิบัติธรรมกรรมฐานอีกหลายเล่ม รวมทั้งการบันทึกเทปธรรมะเป็นการเผยแพร่อีกด้วย

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านโคกกับหลวงปู่มั่น เป็นเวลา 2 พรรษา แล้วติดตามหลวงปู่มั่นไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนค อีก 6 พรรษา รวมเวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่นทั้งหมด 8 ปี จวบจนหลวงปู่มั่นถึงแก่มรณภาพ ในปี พ.ศ. 2492

ครั้นเสด็จงานพระราช ทานเพลิงศพหลวงปู่มั่นแล้ว พระอาจารย์มหาบัวก็ได้หลีกเร้นเข้าป่าเขา เพื่อแสวงหาสถานที่อันสงัดวิเวกมุ่งบำเพ็ญภาวนาแต่เพียงรูปเดียว แต่หมู่คณะพระสงฆ์สามเณรก็ขอติดตามไปด้วยเพื่อหวังให้ท่านอาจารย์ได้ช่วย อบรมสั่งสอน ท่านอาจารย์ก็พยายามหลีกหนีจากหมู่คณะ เพื่อเร่งบำเพ็ญเพียรของตนเองให้บรรลุจุดหมายปลายทางที่ตั้งไว้ พระอาจารย์มหาบัวก็หวนมาพิจารณาสงสารหมู่คณะที่หวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์ เช่นเดียวกันกับท่านที่เคยหวังพึ่งพิงครูบาอาจารย์มาแล้ว ท่านอาจารย์จึงได้นำข้อวัตรปฏิบัติและธรรมอันวิเศษที่ได้รู้เห็นประจักษ์แก่ ใจมาสั่งสอนหมู่คณะ

ในครั้งแรกนับจำเดิมแต่หลวงปู่มั่นมรณภาพ ท่านอาจารย์มหาบัวได้จำพรรษา อยู่ที่วัดหนองผือนาใน ซึ่งท่านเคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น เนื่องจากเมื่อหลวงปู่มั่นล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว พระสงฆ์สามเณรที่เคยมีอยู่จำนวนมาก ก็แตกกระจัดกระจายหนีไปอยู่ที่อื่น เหลือแต่พระหลวงตาเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว ท่านอาจารย์รู้สึกสังเวช สลดใจในความเปลี่ยนแปลง จึงได้ย้อนกลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้หนึ่งพรรษา

ใน ปีถัดมา (พ.ศ. 2493) ท่านอาจารย์ได้ออกธุดงค์หาสถานที่อันสงัดวิเวก และได้พักจำพรรษาอยู่วัดบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร) อีก 4 พรรษา ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่นี่ ท่านอาจารย์ได้เข้มงวดกวดขันเอาจริงเอาจังกับการอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ทั้งในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติธุดงควัตร และเจริญสมาธิภาวนาจนทำให้พระสงฆ์สามเณรมีหลักยึดเหนี่ยวของจิตใจมากยิ่ง ขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ท่านอาจารย์มหาบัวก็ได้จาริกแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมผ่านไปทางจังหวัด จันทบุรี และได้สร้างวัดจำพรรษาอยู่ที่นั่น 1 พรรษา ระยะต่อมาได้ทราบข่าวว่าโยมมารดาของท่านป่วย ท่านอาจารย์จึงได้เดินทางกลับมาตุภูมิที่บ้านตาด เพื่อดูแลโยมมารดา ชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านไปพำนักในป่าบริเวณทางทิศใต้ของหมู่บ้าน พร้อมทั้งนิมนต์ท่านให้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งเสียที เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน โดยได้บริจาคที่ดินประมาณ 263 ไร่เพื่อสร้างวัด ท่านอาจารย์ได้พิจารณาเห็นว่าโยมมารดาของท่านแก่ชรามากแล้ว สมควรที่จะอยู่ช่วยดูแลเป็นการตอบแทนบุญคุณของมารดาด้วย ท่านอาจารย์จึงตกลงใจรับนิมนต์และเริ่มสร้างวัดนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ตั้งชื่อวัด "วัดป่าบ้านตาด" จนตราบเท่าทุกวันนี้

๏ ธรรมโอวาท

ธรรม โอวาทของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ซึ่งท่านได้แสดงไว้ในโอกาสและสถานที่ต่างๆ เป็นเวลาเกือบ 40 ปีมาแล้ว ก็พอจะประมวลได้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "พลธรรม 5" หมายถึงหลักพระธรรมที่เป็นกำลังสำคัญในการประพฤติปฏิบัติธรรม อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ท่านอาจารย์ได้ดำเนินชีวิตตามหลักพลธรรมนี้ตลอดมา โดยให้เหตุผลว่า "ผู้ไม่ห่างเหินจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุนและล่มจม เป็นผู้มีความหวังความเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ"

ความเพียรทำให้พ้นทุกข์ได้

การ ต่อสู้กับกิเลสให้ได้ผลนั้นต้องฝึกฝนทรมานตนเองอย่างหนัก ทำความเพียรให้มากๆ แต่ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ มักจะทนไม่ได้ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ปรากฏชื่อลือนาม เราได้กราบไหว้บูชากันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ฝึกทรมานตนมาแล้ว ผ่านการทดสอบจนเป็นที่แน่ใจ ทั้งเจ้าของผู้ฝึกฝนทรมานตนก็ไม่มีอะไรจะเสียหายเพราะการฝึกนั้น

รักต่อสู้ต้องฝืน

นัก ปฏิบัติจึงต้องค้นคว้า จึงต้องพินิจพิจารณา จึงต้องฝืน การต่อสู้กันต้องฝืน ไม่ฝืนไม่เรียกว่าการต่อสู้ อยู่เฉยๆ จะเรียกว่าต่อสู้ได้ยังไง การทำหน้าที่ต่อสู้กันนั้นต้องฝึกทั้งนั้นแหละ ลำบากก็ฝืน ทุกข์ก็ฝืน ขัดข้องขนาดไหนก็ฝืน โง่ก็ฝืน โง่ก็ฝืนความโง่ให้เป็นความฉลาด แก้ความโง่ด้วยความฝืน

อย่าลืมตัว

ผู้ ปฏิบัติธรรมจึงใคร่ครวญด้วยปัญญา อย่าละหลวมลืมตัว ไม่เหมือนผู้ไม่ปฏิบัติธรรมโดยทั่วๆ ไปเลย เวลาเกิดทุกข์ก็ต่างกัน ผู้ปฏิบัติธรรมพอมีทางหลบหลีก มีทางแยกแยะ มีทางผ่อนคลายด้วยอุบาย ถึงจะเป็นมากก็พอแบ่งเบาตัวได้ ไม่ได้ยกแบกหามกันทั้งหมด ไม่ได้แบกกันทั้งความทุกข์กายและความทุกข์ใจ

ราคะก่อกวน

ราคะ ตัณหาเป็นเครื่องเขย่าก่อกวนให้ดิ้นรนกวัดแกว่ง ดิ้นรนกระวนกระวาย นั่นละตัวมันดิ้นที่สุดคือตัวนี้ เมื่อฆ่าสาเหตุตัวมาให้ดิ้นเสียแล้ว อะไรจะมาดิ้น คนดิ้นมีความสุขไหม คนไม่ดิ้นต่างหากมีความสุข

มีทุกข์เหมือนติดคุก

เรา จะไปโลกไหน ถามเจ้าของซิ โลกไหนโลกวิเศษ ถ้าลงได้กิเลสบีบหัวใจอยู่แล้วมันก็เหมือนกับนักโทษ ย้ายจากเรือนจำนั้นสู่เรือนจำนี้ ก็คือนักโทษย้ายที่ย้ายฐานนั่นเอง มันมีความสุข ความเจริญ ความเลิศเลออยู่ตรงไหน พิจารณาเองซิ

กิเลสคือเสี้ยน

ที่ เป็นทุกข์ๆ ในหัวใจนี้ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะกิเลสเท่านั้น มีมากมีน้อยก็ตามเหมือนอย่างหนามอย่างเสี้ยนเรานี่ ละเอียดขนาดไหน มันก็ทุกข์ ถ้ายังมีอยู่ในร่างกายของเรานี้ ถอดถอนมันออกหมดเสียนั่นถึงจะสบาย จิตใจก็เหมือนกัน

งานของพระ

งาน ของพระก็คืองานเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้เห็นเรื่องของกิเลส ตัวมันสร้างความทุกข์ให้แก่สัตว์และแก่หัวใจเรา ธรรมะท่านให้ดูตรงนี้ ท่านไม่ให้ไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวายกับกิจนั้นการนี้ อันเป็นเรื่องของโลกเขา ปล่อยให้เขาทำไป

ปัญญาเห็นกิเลส

ถ้าเราไม่ได้ใช้ปัญญาแล้ว จะไม่เห็นความซึมซาบของกิเลสที่มีอยู่เต็มสรรพางค์ร่างกาย พูดง่ายๆ ทั้งขันธ์ 5 และจิตไม่มีช่องว่างตรงไหน พอจะเป็นเกาะเป็นดอนว่ากิเลสมองไม่เห็น กิเลสไม่ยึดไม่ถือ

ร่างกายคืออสุภะ

มี อวัยวะส่วนไหนที่ว่างาม ตามกิเลสเสกสรรปั้นยอ มันไม่มี มีแต่เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบเต็มไปหมดทั้งร่าง เข้าร่างเราตลอดสัตว์ทั้งหลาย

ทาน

เราไปที่ใด เกิดที่ใด ผลทานที่เราให้ไปนั่นแหละจะตามสนับสนุนเรา ให้เป็นคนมีความสุขความเจริญ นึกอะไรก็ไหลมาเทมา เพราะเราเคยให้มาแล้ว สิ่งที่ให้ไปนั้นคือมิตร คือสหาย สิ่งที่พึ่งเป็นพึ่งตายของเรา เมื่อเรานึกถึงผลทานย่อมไหลมาเทมา เมื่อนึกถึงบุญต้องมา เพราะเป็นของของเราที่เคยสร้างไว้แล้วให้ไปแล้ว ต้องกลับมาสนองตัวเราโดยไม่ต้องสงสัย

กิเลสคือไฟ

โลกนี้ เป็นโลกที่มีกิเลสตัณหา ต้องมีผัวเมียมีคู่ครอง เช่นเดียวกับไฟ จำเป็นต้องมีอยู่ในบ้าน เรายังไม่สิ้นกิเลสจำเป็นต้องมีคู่ครอง มีผัวมีเมีย แต่ต้องอยู่ในขอบเขตแห่งผัวแห่งเมีย ขอบเขตแห่งศีลธรรม อย่าให้เลยขอบเขต เช่นเดียวกับที่เรารักษาไฟเอาไว้ให้อยู่ในความปลอดภัย อย่าปล่อยให้ไฟนั้นไหม้บ้านไหม้เมืองของใครเข้าไป จะเกิดความฉิบหายทั้งเขาทั้งเรา อันนี้ก็เหมือนกัน กาเมสุ มิจฉาจาร ถ้าปล่อยให้ลุกลามไป จะกลายเป็นไฟไหม้บ้าน ไหม้เมือง เพราะฉะนั้น ศีลธรรมจึงช่วยระงับดับไว้ให้เป็นไปพอดิบพอดี เหมาะสมกับมนุษย์เราที่มีกิเลส แต่เป็นกัลยาณชน เป็นผู้รู้จักหนักจักเบา รู้จักดีจักชั่ว รู้จักของเขาของเรา

น้ำบ้า

ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าอยู่ในสถานที่ใดไปที่ใด ถ้าไม่มีสุราออกหน้าออกตาแล้ว สังคมนั้นรู้สึกว่ามันเหงาหงอย ราวกับบ้าไม่มีในสังคมนี้ ถ้าสังคมใดมีสุราออกโชว์นั้นโชว์นี้รู้สึกกว่าสง่าผ่าเผยรื่นเริงด้วยบ้า แม้สมาคมของพระก็ตามเถอะ ถ้าลองเอาน้ำบ้ามาวางนี้ ภาษาอีสานว่า คนนี้จอกหนึ่ง คนนี้จอกหนึ่ง คือคนนั้นแก้วหนึ่ง คนนี้แก้วหนึ่ง หลวงตาบัวแก้วหนึ่ง ฟาดลงไป พวกนี้ตีกันแหละล้มระเนระนาว หลวงตาบัวเก่งมากตีคนล้มระนาว เพราะน้ำบ้าทำให้กล้าหาญ ตีคนไม่เลือกหน้า ที่นี่มันเลยเป็นบ้าไปหมด กระทั่งหลวงตาบัว ขอให้อาจหาญอย่างมีเหตุผลดีกว่าคนเมาสุราเป็นไหนๆ ขอให้อาจหาญด้วยเหตุด้วยผล นั่นและดีกว่าอาจหาญด้วยการเมาสุรา

ธรรมะสำหรับตำรวจ

เมื่อ เราจับอย่างมีเหตุมีผล ปรับไหมใส่โทษด้วยความมีเหตุผลนี้ชาวบ้านเขาก็เห็นใจ เขาก็รับเขาก็ชอบ เขาก็รู้ว่าเราทำถูก ถ้าเราทำตรงกันข้ามไม่มีหลักมีเกณฑ์ อาศัยแต่อำนาจของความเป็นตำรวจ เอาอำนาจกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ทำสุ่มสี่สุ่มห้า แอบหน้าแอบหลังอย่างนั้น เขาก็รู้เพราะเหตุไร เพราะบ้านเมืองนั้นคือใคร ก็คือคนคนมีหัวใจ ตำรวจรู้เขาก็รู้ จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ตรง

การตัดสินโทษ

การฆ่าสัตว์ฆ่า คนฆ่าใครก็ตามล้วนเป็นบาป มีมากมีน้อยต่างกัน ตามแต่เจตนาและเหตุการณ์ที่ควรไม่ควร หนักเบามากน้อยเพียงใด เรามีชีวิตอยู่ไม่ตายก็เพราะชีวิตของเราทรงตัวไว้ เขาไม่ตายก็เพราะชีวิตของเขาทรงตัวไว้ จึงไม่ควรทำลายกัน


๏ ปัจฉิมบท


ท่าน อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้บำเพ็ญศาสนกิจเทศนาอบรมสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คำสั่งสอนของท่านมีการบันทึกเทปไว้ และมีบางส่วนถูกนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มใหญ่ได้จำนวน 23 เล่ม หลักธรรมคำสอนที่ท่านอาจารย์เทศนาประกาศเผยแผ่มักจะเน้นเรื่องของการปฏิบัติ เพื่อสลัดความมักมาก ความมักได้ ความขี้เกียจ และความโง่เขลา

ท่าน อาจารย์ได้ให้อุบายกำจัดความชั่วร้ายเหล่านี้ว่า จะต้องอาศัยกำลังภายในซึ่งเรียกว่า "กำลังใจ" อันได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อมั่น ความเลื่อมใสในแนวทางปฏิบัติ วิริยะ ความเพียรพยายาม ความเอาจริงเอาจัง ไม่ทอดทิ้งธุระของตน สติ ความระลึกได้ ความรอบคอบ รู้จักระมัดระวัง สมาธิ ความตั้งมั่นของจิต ความเป็นผู้มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ภายนอกและภายใน ประการสุดท้ายคือปัญญา ความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้ ความรู้จริง ความมีเหตุมีผล

ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ยังเป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล จัดได้ว่าท่านยังเป็นตัวแทนและเป็นแบบอย่างของพระสุปฏิปันโน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ต่อไปอีกนาน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘