ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ

วัดสังฆทาน
ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี



๏ อัตโนประวัติ

หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ มีนามเดิมว่า สนอง โพธิ์สุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๗ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ (๔ ฯ ๕) ปีวอก ณ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อ นายเอม โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า อริยวํโส) โยมมารดาชื่อ นางแม้น โพธิ์สุวรรณ (ต่อมาได้ถือศีลออกบวชเป็นแม่ชี) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ มีชื่อตามลำดับดังนี้

๑. นางจอง ศรีสำแดง
๒. นางลูกจันทร์ วงกต
๓. นางบรรจง ปานสุวรรณ
๔. นายบุญทรง โพธิ์สุวรรณ
๕. นางชะอม บุญประสม
๖. หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
๗. นายเสนาะ โพธิ์สุวรรณ
๘. พระพงษ์ศักดิ์ สีลเปโม


๏ การบรรพชา

ครั้นเมื่ออายุ ๑๓ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร แล้วมีโอกาสศึกษาบาลีนักธรรมอยู่ ๒ ปี จนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี

๏ การอุปสมบท

ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ณ พัทธสีมาวัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (หลวงพ่อมุ่ย พุทธรักขิโต) วัดดอนไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระบุญยก วัดดอนไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระบุญทรง วัดหนองไผ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านอุปสมบทได้เพียงพรรษาเดียว ก็เริ่มออกธุดงค์ไปทางภาคอีสาน


๏ ลำดับการจำพรรษา

พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗
วัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

หลัง จากที่อุปสมบทแล้ว หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ได้ปฏิบัติตามศีลอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะข้อ ๑๐ (ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี) คือ เจตนาเว้นจากการรับเงินทองหรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๗ เดือน ได้ข่าวโยมมารดามาบวชชี ณ วัดทุ่งสามัคคีธรรม ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี จึงรีบเดินทางมาพบโยมมารดาด้วยความปีติดีใจ และได้พบหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสังวาลย์ได้แนะนำให้หลวงพ่อสนองเข้าห้องกรรมฐานบ่มอินทรีย์ เจริญสติปัฏฐานสี่ ณ ป่าช้าวัดหนองไผ่ เช่นเดียวกับที่ท่านเคยปฏิบัติที่ป่าช้าวัดบ้านทึง โดยสมาทานไม่พูด ไม่เขียน (พูดเขียนได้แต่เฉพาะกับหลวงพ่อสังวาลย์รูปเดียวเท่านั้น) และได้สมาทานธุดงค์ ๗ ข้อคือ

๑. เตจีวริกังคะ ถือเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
๒. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉันเพียงอาสนะเดียวเป็นวัตร
๓. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร
ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่างคือบาตร
๔. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร
แม้อาหารที่ถวายภายหลังจะประณีตกว่า
๕. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
๖. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้เป็นวัตร
๗. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ
๗. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ
(เฉพาะธุดงควัตร ข้อ ๗ นี้ เริ่มปฏิบัติหลังจากอยู่ป่าช้าแล้ว ๓ เดือนแล้วถือมาตลอด
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อโยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้เลิกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย)

พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐
ป่าช้าวัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

การ ปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อสังวาลย์จะมาสอบอารมณ์กรรมฐานหลวงพ่อสนอง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ต่อครั้ง ผลการปฏิบัติในป่าช้าทำให้ท่านเชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง หลวงพ่อสังวาลย์กล่าวชมหลวงพ่อสนองว่าเป็นพระภิกษุสุวโจ คือเป็นคนที่ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่รั้น สอนอะไรก็ทำตามได้หมด

พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

หลัง จาก ๓ ปีผ่านไป หลวงพ่อสนองขออนุญาตหลวงพ่อสังวาลย์ออกจากห้องกรรมฐาน หลวงพ่อสังวาลย์เห็นสมควรแล้วจึงอนุญาต และได้พูดถึงความดีของพระสงฆ์ให้ฟัง หลวงพ่อสนองกราบลาหลวงพ่อสังวาลย์เพื่อออกธุดงค์หาที่วิเวกและเที่ยวชมวัด ร้าง โดยไม่คิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนใคร แต่หลวงพ่อสังวาลย์คิดว่าพระรูปนี้ต่อไปจะต้องสั่งสอนคนแน่นอน จึงมอบกลดของท่านที่หลวงพ่อเกลื่อนทำถวาย ซึ่งหลวงพ่อสังวาลย์ใช้เดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปีให้กับหลวงพ่อสนอง การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสนองจะเดินไปตลอด ไม่ยอมขึ้นรถ เมื่อพบคนไม่มีรองเท้าก็ถอดให้ ตัวท่านเองจะเดินเท้าเปล่า

ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ วัดร้างวัดแรกที่ท่านมาชมโดยมิได้ตั้งใจคือวัดสังฆทาน ร้างอยู่กลางสวน มีเพียงองค์หลวงพ่อโตกับศาลาไม้มุงสังกะสีเก่าๆ และฐานอิฐเก่าๆ บนที่ไร่เศษ สถานที่สงบเย็น ร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อสนองพิจารณาแล้วคิดสร้างวัดสังฆทานให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระ พุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐาน เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้แหล่งรวมของผู้มีปัญญาและกำลังซึ่งจะเป็นกำลัง ของพระศาสนาได้ดี

แต่ขณะนั้นตัวท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่ เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น การจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดี ให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงตั้งใจธุดงค์กลับไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพุข่อย จ.สุพรรณบุรี แต่มีเหตุให้ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางลบหายไปหมด ท่านจึงเดินย้อนมาอีกทางก็มาพบเขาถ้ำหมี จึงเปลี่ยนใจปฏิบัติธรรมที่เขาถ้ำหมี จ.สุพรรณบุรี และถ้ำกระเปาะ จ.ชุมพร อีกเป็นเวลา ๖ ปี โดยท่านได้ฝึกกสิณดินและกสิณไฟ ได้ดวงกสิณดินที่ถ้ำหมีนั่นเอง

พรรษาที่ ๗-๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕
ถ้ำกะเปาะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

หลวงพ่อ สนองเดินทางมาที่ถ้ำกะเปาะ พิจารณาแล้วว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของพระมาก แต่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ที่นี่หลวงพ่อได้มาฝึกกสิณน้ำ กสิณลม ส่วนกสิณไฟได้มาฝึกต่ออีกครั้งจนเกิดดวงกสิณ การเผยแผ่ธรรมในช่วงนี้จะมีเพียงเล็กน้อย มีโยมมาฝึกสมาธิบ้าง ที่ถ้ำกะเปาะมีเหตุการณ์ที่สนุกประทับใจหลายเรื่อง มีพระที่ตามไปปฏิบัติธรรมกับท่านคือ หลวงพ่อประทีป สมฺปุณฺโณ ต่อมาหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต้นตาลโตน ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ท่านมรณภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔

พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๖
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อ สนองเดินทางกลับมาที่ถ้ำหมีอีกครั้งเพื่อมาโปรดญาติโยมและสร้างโรงเรียน มีญาติโยมศรัทธามาปฏิบัติเป็นประจำ ในวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนยอดเขาและได้ก้าวพลาดตกลงมา หลังกระแทกกับหินทำให้กระดูกที่หลังแตก จากนั้นเป็นต้นมาท่านจะปวดหลังตลอดเวลา ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ปวดจนเป็นปกติ เวลานั่งสอนสมาธิก็จะเจ็บปวด ขาทั้งสองจะชามาก ท่านไม่ได้ให้หมอรักษา แต่ใช้ความอดทนข่มความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครทราบและเป็นห่วง โดยเฉพาะโยมมารดาซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสังฆทาน แต่หลังจากโยมมารดาถึงแก่กรรม (พ.ศ. ๒๕๓๒) ท่านจึงได้เล่าให้ญาติโยมฟังและไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช

พรรษาที่ ๑๑-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

หลัง จากที่ฝึกกสิณดิน กสิณน้ำ กสิณลม และกสิณไฟ เป็นเวลาทั้งหมด ๖ ปี หลวงพ่อสนองจึงเดินทางกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อจำพรรษา ร่วมกับพระสงฆ์อีก ๕ รูป ด้วยปฏิปทาตามหลักธุดงคกรรมฐาน ชาวบ้านบางคนตั้งข้อหาว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ ความเป็นอยู่จึงลำบาก ถูกข่มขู่ด้วยปืนและการปาระเบิด บิณฑบาตเกือบไม่ได้ เมื่อนำอาหารมาเทรวมกันก็มีจำนวนน้อยมาก ทุกรูปไม่ยอมตักอาหารใส่บาตร หลวงพ่อต้องเป็นผู้ตักใส่บาตรให้ น้ำดื่มต้องตักจากบ่อเก่ามาต้มฉัน ไม่มีน้ำปานะ ไม่มีไฟฟ้า หลังจากนั้นก็มีพระเณรตามมาอีกแต่ก็หนีกลับเพราะบิณฑบาตแล้วไม่พอฉัน

ช่วง นี้ท่านใช้การเผยแผ่ธรรมด้วยความสงบด้วยการปฏิบัติ ท่านเล่าว่ามีนิมิตเกิดขึ้นคือ หมีเดินเข้ามาหา ต่อมาหมีก็กลายเป็นหมู จากหมูก็กลายเป็นเณรมานั่งตักท่าน นโยบายของท่านเริ่มต้นด้วยการสร้างบุคลากรโดยมุ่งฝึกฝนพระที่มาบวช พระที่จะออกมาทำงานให้กับสังคมต้องเก็บตัวก่อนจนกว่าจะมีธรรมะและสามารถนำ ธรรมะมาใช้ได้ จึงจะให้ออกมาทำงาน

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้เดินทางไปกราบหลวงปู่สงฆ์ พรหมสโร ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ปรารภถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม พิจารณาเห็นว่าวัดร้างกลางสวนบริเวณ ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี มีพระพุทธรูปใหญ่เป็นพระประธาน (องค์หลวงพ่อโต) มีความเป็นสัปปายะอันหาได้ยาก ทั้งบริเวณตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวง จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์และขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ตั้งเป็นวัดสังฆทาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒

ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงพ่อสนองไปรับพระอาจารย์พลอย เตชพโล แห่งวัดเขาภูคา ต.หัวหวาย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มาช่วยเป็นหัวหน้าช่างในการบูรณะองค์หลวงพ่อโต พร้อมพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป รวมทั้งชาวบ้านญาติโยม การบูรณะที่แขนชำรุดมากต้องเอาแป๊บน้ำใส่แล้วโบกปูนทับ ส่วนที่ใดเนื้อปูนยุ่ยก็ขูดออกแล้วโบกปูนทับ นำปูนเก่ามาผสมปั้นเป็นหลวงพ่อสังกัจจายน์ (พระมหากัจจายนะ)

ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน ขึ้นเพื่อช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจะช่วยหมู่คณะได้ดีขึ้น มูลนิธิพุทธอเนกประสงค์จะเป็นตัวแทนของท่านในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่านได้ดำเนินไปในนามของมูลนิธิฯ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ด้วยความเมตตา

พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑
วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

หลวงพ่อ สนองได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยขณะนั้นมีพระสุรชัย อภิชโย (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพยายามฝึกฝนเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะใช้สอนสมาธิและอธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เพราะต่อไปเมืองไทยจะมีชาวต่างชาติมาศึกษาฝึกสมาธิกันเป็นจำนวนมาก และจะกลายเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวต่างชาติทั่วโลก ที่อังกฤษมีญาติโยมคนไทยมาฝึกสมาธิและทำบุญประมาณ ๕๐๐ ครอบครัว

พรรษาที่ ๒๖-๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

หลวงพ่อ สนองกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี หลังจากที่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐานที่ประเทศ อังกฤษแล้ว

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม่ชีแม้น โพธิ์สุวรรณ (มารดาของหลวงพ่อสนอง) ได้ถึงแก่กรรม

ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เอม อริยวํโส อายุ ๙๔ ปี พรรษา ๓๔ (บิดาของหลวงพ่อสนอง) ได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพ่อสนองสร้างสำนักสงฆ์ที่เขายายแสง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

พรรษาที่ ๓๕-๓๙ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕
วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

หลวงพ่อ สนองได้เปลี่ยนชื่อสำนักสงฆ์เขายายแสง เป็น “วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม” ท่านดำริให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุ พื้นที่โดยรอบเขาปลูกเป็นป่ากฤษณา มีพระอุโบสถเป็นถ้ำ พื้นที่ติดต่อกับ “บ้านสว่างใจ” ซึ่งเป็นสถานที่เข้าคอร์สฝึกสมาธิตามหลักสติปัฏฐาน ๔ สำหรับสาธุชนทั่วไป รวมทั้งชาวต่างชาติ สถานที่แห่งนี้สงบเงียบ มีอากาศหนาวเย็นสบาย พื้นที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

๏ ผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศของท่าน เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่สาธุชนทั่วไป โดยเฉพาะรายการวิทยุ “ธรรมะสว่างใจ” “ธรรมะก่อนนิทรา” ที่มีผู้ติดตามรับฟังเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่สาธุชนในเมืองหลวง ในชนบท จนกระทั่งชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่บนดอย ซึ่งต่อมาท่านได้จัดตั้งสถานีวิทยุสังฆทานธรรม เพื่อใช้เป็นสื่อในการสร้างปัญญาทางธรรมให้กับสาธุชนทั่วไป ได้รับฟังตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งภาคภาษาไทย คลื่น FM ๘๙.๒๕ Mhz. และภาคภาษาอังกฤษ คลื่น FM ๘๙.๗๕ Mhz. แต่ปัจจุบันภาคภาษาอังกฤษยังปิดอยู่ หลวงพ่อสนองแจ้งว่าถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็จะเปิดดำเนินการต่อ ปัจจุบันสถานีวิทยุสังฆทานธรรมยังได้ขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ ท่านเป็นผู้มีความจริงใจและจริงจังต่องานการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระบรม ศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสังฆทาน เลขที่ ๑๐๐/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ซึ่งวัดสังฆทานนี้ยังได้แยกสาขาออกไปเพื่อเผยแผ่ธรรมะตามจังหวัดต่างๆ ถึงกว่า ๓๘ แห่ง และตามถ้ำต่างๆ รวมแล้วประมาณ ๔๑-๔๓ แห่งทั่วประเทศ และในต่างประเทศอีก ๑ สาขา คือ วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

๏ ผลงานด้านอื่นๆ

ผลงานเพื่อพระศาสนาที่หลวงพ่อสนองได้ทำตลอดมา นั้น นอกจากจะประจักษ์แจ้งแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยแล้ว ชาวพุทธในต่างประเทศก็ยังยอมรับในผลงานของท่าน โดยสมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย และองค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก (World Buddhist Sangha Youth) ได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุ ๒ องค์ จากวัดมหินทะเลและวัดมหินทุ ประเทศศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถแก้ว วัดสังฆทาน เป็นการถาวรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้มีโอกาสสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลของ ชีวิต

นอกจากงานด้านพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังมีเมตตาธรรมสงเคราะห์ผู้ที่ได้รับทุกขเวทนาทางร่างกาย มีปัญหาด้านสุขภาพ และผู้ด้อยโอกาส โดยการจัดสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทย เพื่อรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์วิถีไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังสนับสนุนและส่งเสริมให้อุบาสก อุบาสิกา สาธุชนทั่วไป ได้ใช้วัดเป็นสถานที่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาธรรม ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และให้โอกาสทุกท่านที่สนใจบวชเนกขัมมะที่วัดสังฆทานได้ทุกวัน และมีการปฎิบัติธรรมตลอดรุ่งทุกวันเสาร์ และวันพระ โดยจะมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันมาสอนปฏิบัติธรรมกัมมฐาน กระทั่งจนถึงเวลาทำวัตรเช้า

ผลงานด้านอื่นๆ ของท่านยังมีอีกนานัปการ เช่น จัดทำวารสารรายสัปดาห์ชื่อว่า “สังฆทานนิวส์” ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วยสารพันความรู้ สอดแทรกหลักธรรมะให้กับผู้อ่านด้วย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของวัด นอกจากวารสารรายสัปดาห์แล้ว ท่านก็ยังรวบรวมหนังสือ-ซีดีเผยแผ่พระธรรมหลักคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันท่านยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ประเทศ ไทย และชาวโลกต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘