มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ - ทางมาแห่งปัญญาบารมี



มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ
ทางมาแห่งปัญญาบารมี

พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่ยังไม่มาถึงก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่าใดผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายในปัจจุบันนี้ ก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นเป็นผู้ทรงเคารพพระสัทธรรมแล้ว ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่ และจักทรงเคารพ พระสัทธรรม นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ดังนั้น ผู้รักตน จำนงความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระ สัทธรรมเถิด

การเจริญสมาธิภาวนาเป็นทางมาแห่งมหากุศล และเป็นทางลัดของการสร้างบารมี เพื่อมุ่งตรงสู่ที่สุดแห่งธรรม ทุกครั้งที่เราได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา นำใจกลับมาหยุดนิ่ง ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ในตัวของเรา จะถูกกลั่นให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์จะเป็นทางมาแห่งความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติต่างปรารถนา เพราะเสรีกว้างขวางไร้ขอบเขต ไม่มีใครมาพรากเอาความสุขจากเราไปได้ อีกทั้งยังเป็นเหตุให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต เข้าถึงพระธรรมกายภายในที่อยู่ในกลางกายของพวกเราทุกๆ คน

มีธรรมภาษิตที่ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวไว้ใน อุรุเวลาสูตร ว่า

พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่ล่วงไปแล้วก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่าใดที่ยังไม่มาถึงก็ดี พระพุทธเจ้าเหล่าใดผู้ยังความโศกของชนเป็นอันมากให้เสื่อมหายในปัจจุบันนี้ ก็ดี พระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้นเป็นผู้ทรงเคารพพระสัทธรรมแล้ว ทรงเคารพพระสัทธรรมอยู่ และจักทรงเคารพ พระสัทธรรม นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนั้น ผู้รักตน จำนงความเป็นใหญ่ ระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงเคารพพระสัทธรรมเถิดŽ

ความเคารพเป็นทางมาแห่งปัญญา ความ เคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงในสิ่งนั้นหรือบุคคลนั้น เป็นการยอมรับนับถือด้วยใจจริง และแสดงความนับถือต่อผู้นั้น ด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง สิ่งของทั้งหลายในโลกนี้ต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของมัน หากเรารู้ถึงคุณสมบัติเหล่านั้น ตามความเป็นจริง ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ในทำนอง เดียวกัน คนทั้งหลายในโลกต่างมีคุณความดีในตัวต่างๆ กันไป มากบ้าง น้อยบ้างไม่เท่ากัน หากเราตระหนักถึงคุณความดี ของบุคคลทั้งหลายได้ตามความเป็นจริง ก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้มีโอกาสรองรับคุณความดีนั้นๆ จากผู้อื่นมาสู่ตัวเราเอง

การที่จะรู้เห็นถึงคุณความดีของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการ รู้คุณสมบัติของวัตถุต่างๆ เพราะเรื่องของคนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คนส่วนใหญ่ยังมีกิเลสมาบังใจ เช่น มีความคิดลบหลู่คุณท่านบ้าง ความไม่ใส่ใจบ้าง ความทะนงตนบ้าง ทำให้มองไม่เห็นคุณความดีของคนอื่น เหมือนมีม่านบังตา เมื่อมองไม่เห็นคุณความดีของคนอื่น ก็ไม่สนใจที่จะถ่ายทอดคุณความดีของเขาเข้ามาสู่ตน

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ทรงได้เลือกเฟ้นพุทธการกธรรม คือธรรมที่จะทำให้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ซึ่งก็คือ บารมี ๑๐ ทัศนั่นเอง พระองค์ได้ไต่สวนทางมาแห่งปัญญาบารมีว่า หากปรารถนาที่จะบรรลุโพธิญาณ ไม่ว่าจะเดินทางไปขอความรู้จากใคร ไม่เลือกว่าท่านผู้นั้น จะเป็นคนตระกูลสูง ปานกลาง หรือต่ำ จงตั้งใจศึกษาแสวงหาความรู้ ด้วยความเคารพในฐานะศิษย์ที่เคารพต่อครู เหมือนภิกษุที่ออกบิณฑบาตตามตรอกซอย ไม่เลือกว่า จะเป็นตระกูลที่ยากจน มีฐานะปานกลางหรือร่ำรวย รับมาแล้วก็ฉัน เพื่อเป็นเรี่ยวแรงในการบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อไต่ถามชนผู้รู้ตลอดกาลทุกเมื่อเช่นนี้ ก็จะถึงความเป็นผู้มีปัญญาบารมีจักบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้

เมื่อท่านปฏิญญาตนเช่นนั้นแล้ว ก็ตั้งใจเข้าไปสอบถาม แสวงหาความรู้จากครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ ด้วยความนอบน้อม ไม่ถือเนื้อถือตัวใดๆ ทำให้พระองค์เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม บางภพบางชาติเกิดมาก็มีสติปัญญาเป็นเลิศ ร่ำเรียนเขียนอ่านจากอาจารย์เพียงไม่กี่วัน ก็รู้แจ้งแทงตลอดทะลุปรุโปร่งในคำสอนของครูบาอาจารย์ แม้ภพชาติจะมาตัดช่วง ทำให้หลงลืมไปบ้างเพราะได้รูปกายใหม่ แต่สติปัญญา และความรู้ทั้งหลายที่เคยร่ำเรียนไว้นั้น ก็ยังติดตามตัวข้ามภพข้ามชาติ เมื่อเกิดมาได้มาเรียนวิชาเดิมๆ จึงรู้สึกว่าง่าย ไม่ลำบากในการศึกษาจดจำ สามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว มาในภพชาติปัจจุบัน พระองค์ก็เรียนจบศาสตร์ทั้ง ๑๘ สาขาในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น พระองค์ทรงเคารพครูอาจารย์เสมอต้นเสมอปลาย ไม่เคยลบหลู่ดูหมิ่น มีแต่ให้เกียรติยกย่องเสมอ

ครั้นถึงภพชาติสุดท้ายที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเสด็จออกผนวช ได้เข้าไปศึกษาจากสำนักของอาจารย์อาฬารดาบส และอุทกดาบสซึ่งเป็นนักพรตผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น พระองค์เรียนอยู่เพียงแค่ ๗ วัน ก็แทงตลอดในความรู้ ของท่านอาจารย์เหล่านั้น จนอาจารย์ต้องเอ่ยปากให้พระองค์ช่วยเป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหาในสำนักแทน แต่พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ความรู้ที่มีนั้นไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏได้ จึงทรงปฏิเสธในข้อเสนอของอาจารย์ และตัดสินพระทัยแสวงโมกขธรรมด้วยพระองค์เอง

*เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ในวันที่ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ทรงเกิดปริวิตกว่า คนที่ไม่มีที่เคารพไม่มีที่ยำเกรงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ควรที่จะสักการะ เคารพ พึ่งพิงสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ใดหนอ พระองค์ทรงตรองเห็นว่า การที่ต้องไปสักการะเคารพพึ่งพิงสมณะ หรือพราหมณ์ผู้ทรงคุณธรรม ก็เพื่อทำสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ แต่พระองค์ไม่เห็นสมณะ หรือพราหมณ์เหล่าอื่น ที่ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะกว่าพระองค์ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก และพรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งเทวดา และมนุษย์ ทั้งสมณพราหมณ์ ที่พระองค์จะพึงสักการะเคารพพึ่งพิงได้ พระองค์ทรงรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ธรรมใดที่ได้ตรัสรู้ พึงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมนั้นอยู่เถิด
ขณะนั้นเอง ท้าวสหัมบดีพรหมรู้ความปริวิตกของพระ ผู้มีพระภาคเจ้า จึงเสด็จจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธองค์ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดออกฉะนั้น สหัมบดีพรหมทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวา ประคองอัญชลีต่อพระพุทธองค์ พลางกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ข้อที่พระองค์ทรงตกลงพระหฤทัยนั้น ข้าพระองค์เห็นด้วย เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ที่มีมาแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้น ก็ทรงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมอยู่เหมือนกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่าใดที่จักมีในอนาคตกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เหล่านั้น ก็จักทรงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมนั่นแล แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลบัดนี้ ก็ทรงสักการะเคารพพึ่งพิงธรรมนั้นอยู่Ž จากนั้นสหัมบดีพรหมก็ถวายบังคมลาพระพุทธองค์ หายวับไปจากมนุษยโลกไปปรากฏอยู่บนพรหมโลกตามเดิม

จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ขนาด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาเอกของโลก ก็ยังทรงเคารพพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เพราะความเคารพในธรรมเป็นทางมาแห่งความเจริญรุ่งเรือง ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม ในพระไตรปิฎกมีหลายสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสเรื่องความเคารพไว้ ทรงสั่งสอนทั้งแก่ภิกษุภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา และเหล่าเทวดา ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในพระศาสดา เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ เคารพในการศึกษา เคารพในสมาธิ เคารพในความไม่ประมาท และเคารพในการปฏิสันถาร

เราจะสังเกตเห็นว่า คนในโลกนี้มีหลายพันล้านคน วัตถุสิ่งของในโลกนี้มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เรามีความเคารพอ่อนน้อมอย่างแรงกล้าใน ๗ อย่าง ได้แก่ เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา การทำสมาธิ ความไม่ประมาท และปฏิสันถาร เพราะสิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นหลัก เป็นประธานของทางมาแห่งคุณธรรม เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่งนี้ ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของคนอื่น และสิ่งอื่นได้ชัดเจน ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราย่อมจะกลายเป็นผู้รู้จริง และทำได้จริง

ดังนั้น ให้เราทุกคนหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ให้เป็นผู้มากด้วยความเคารพ มองแต่คุณงามความดีของผู้อื่นและตนเอง ต่อไปความชั่วทั้งหลายเราก็จะนึกไม่ออก นึกออกแต่ความดี และวิธีการทำความดีเท่านั้น ตัวเราก็จะกลายเป็นที่รวมแห่งคุณความดีทั้งหลาย ฉันใด เหมือนมหาสมุทรเป็นที่รวมของแม่น้ำทุกสาย ที่ไหลมาจากทั่วสารทิศฉันนั้น
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. ปฐมอุรุเวลสูตร เล่ˆม ๓๕ หน้‰า ๕๒

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘