เคล็ดลับความสำเร็จของ Warren Buffett โดย Charles T. Munger

ถึงผู้ถือหุ้นบริษัท Berkshire Hathaway

ผมได้เฝ้าดูประวัติศาสตร์ความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาภายใต้การบริหารของ Warren Buffet อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และถึงตอนนี้ก็น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ผมจะขยายความเพิ่มเติม นอกจากข้อความฉลองความสำเร็จ 50 ปีของ Warren บ้าง ผมจะพยายามทำห้าอย่างในบทความนี้
1. อธิบายระบบบริหารจัดการและนโยบายที่ทำให้ธุรกิจโรงงานทอผ้าเล็กๆ ที่กำลังจะเจ๊งแปรเปลี่ยนไปเป็น Berkshire ในปัจจุบัน
2. อธิบายว่าระบบบริหารจัดการกลายมาเป็นระบบในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร
3. อธิบายให้ได้ในระดับหนึ่งว่า ทำไม่ Berkshire ถึงทำดีจนมาถึงจุดนี้ได้
4. คาดการณ์ว่าผลลัพธ์ที่ดีแบบนี้จะยังคงดีต่อไปไหมหลังจาก Buffett จากไป และ
5. ความคิดที่ว่าผลลัพธ์ที่สุดยอดของ Berkshire ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมานั้นมีหลักการใดแฝงอยู่ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับที่อื่นได้

ระบบบริหารจัดการและนโยบายของ Berkshire ภายใต้การบริหารของ Buffett นั้น (ในที่นี้ขอเรียกว่า “ระบบ Berkshire”) ได้ถูกทำการแก้ไขตั้งแต่ตอนแรกเริ่มและสามารถอธิบายได้ ดังนี้
1. Berkshire จะเป็นกลุ่มบริษัทที่กระจัดกระจาย ซึ่งจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
2. ที่บริษัทจะทำธุรกิจเกือบทั้งหมดผ่านบริษัทย่อยที่ CEO สามารถบริหารและมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด
3. ที่สำนักงานใหญ่จะไม่มีอะไรเลยนอกจาก ห้องเล็กๆ  ที่ประกอบไปด้วยตัวประธาน (Warren Buffett) CFO และผู้ช่วยไม่กี่คนที่ส่วนใหญ่มีหน้าที่ช่วย CFO ในการตรวจสอบ ควบคุมภายใน และอื่นๆ
4. บริษัทลูกของ Berkshire ที่สำคัญส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยบริษัทประกับภัย และบริษัทประกันเหล่านั้นถูกคาดหวังว่าในระยะยาวแล้วจะสร้าง underwriting gain (Note: ค่าเบี้ยประกันรับ มากกว่าคนมา claim ประกัน กล่าวคือจำนวนเงินที่คน claim น้อยกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิดกำไรขึ้น) ในขณะนี่จะสร้าง “float” (เบี้ยประกันที่ยังไม่ถูก claim) ไว้สำหรับการลงทุน
5. จะไม่มีระบบบริหารบุคคลของบริษัทแม่ ที่จะกำหนดสำหรับบริษัทย่อยต่างๆ ไม่มีระบบ stock option หรือระบบ incentive (ผลตอบแทน) อื่นๆ ระบบเกษียณอายุ หรืออะไรแบบนี้ เพราะบริษัทย่อยจะมีระบบเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และส่วนใหญ่จะแตกต่างกัน
6. ประธานบริหารของ Berkshire จะจำกัดกิจกรรมของตัวเองเพียงแค่บางอย่างเท่านั้น
    1. เขาจะเป็นผู้บริหารหลักทรัพย์เกือบทั้งหมด ซึ่งโดยปกติแล้วจะผ่าน บริษัทประกันของ Berkshire
    2. เขาจะเป็นผู้เลือก CEO ทั้งหมดของบริษัทลูก และเขาจะเป็นผู้กำหนดผลตอบแทน และจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้สืบทอดบริษัทย่อย ผ่านคำแนะนำส่วนตัว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเดิมแนะนำหรือคนในบริษัทนั้นๆ)
    3. เขาจะเป็นคงเอาเงินสดของบริษัทย่อย ซึ่งหลังจากได้ทำการเพิ่ม competitive advantage ของบริษัทย่อยแล้ว และได้ส่งให้บริษัทใหญ่ ไปลงทุน โดยการลงทุนในอุดมคติคือใช้เงินสดนั้นในการซื้อบริษัทอื่นต่อไป
    4. เขาจะทำตัวเองให้ว่างอยู่เสมอสำหรับการติดต่อจาก CEO ของบริษัทย่อย และเขาจะไม่มีการติดต่อใครอื่นอีก
    5. เขาจะเขียนจดหมายที่ยาว มีหลักการและมีประโยชน์เข้าไปในรายงานประจำปี โดยออกแบบว่าทำอย่างไรถ้าตัวเขาเองเป็น passive investor ในบริษัทเมื่ออ่านแล้วจะได้ข้อมูลที่ต้องการ และเขาจำทำตัวให้ว่างเพื่อตอบคำถามเป็นเวลาหลายชั่วโมงในที่ประชุมผู้ถือ หุ้น
    6. เขาจะพยายามทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีสำหรับ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ให้อยู่ได้เป็นเวลายาวนาน ทั้งก่อนและหลังจากเขาจากไปแล้ว
    7. สิ่งสำคัญอย่างแรกสุดของเขาคือ การกันเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านอย่างเงียบๆ และใช้ความคิด โดยเฉพาะการที่จะพัฒนาการเพื่อเรียนรู้ด้านต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเขาจะอายุมากแค่ไหน และ
    8. เขาจะใช้เวลาอย่างมากในการชื่นชมความสำเร็จของผู้อื่นอย่างกระตือรือร้น
7. บริษัทย่อยใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะต้องถูกซื้อด้วยเงินสด ไม่ใช่การออกหุ้นใหม่
8. Berkshire จะไม่จ่ายเงินปันผลถ้าหากยังสามารถสร้างเงินมากกว่า 1 dollar ในมูลค่าหุ้น ในขณะที่เก็บเงินไว้ 1 dollar (กล่าวคือการไม่จ่ายปันผล 1 dollar แต่มูลค่าหุ้นขึ้นไปสูงกว่า 1 dollar)
9. ในการซื้อบริษัทใหม่ๆ Berkshire จะพยายามค้นหาและจ่ายด้วยราคาที่เหมาะสม สำหรับธุรกิจที่ประธานบริหารสามารถเข้าใจได้อย่างดี Berkshire ยังอยากได้ CEO ที่ดีที่บริหารงานอยู่แล้ว ซึ่งเราคาดหวังว่าเขาจะยังคงทำงานต่อไปเป็นเวลายาวนาน และสามารถจะบริหารจัดการบริษัทโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากสำนักงานใหญ่
10. ในการเลือก CEO ของบริษัทลูก Berkshire พยายามที่จะเลือกคนที่น่าเชื่อถือ มีความสามารถ มีพลังในการทำงาน และรักในธุรกิจนั้น
11. แนวทางปฏิบัติของ Berkshire ที่เราอยากให้เป็นคือ เราจะไม่มีวันขายบริษัทลูกออกไป
12. Berkshire จะไม่มีวันย้าย CEO จากบริษัทลูกหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
13. Berkshire จะไม่บังคับให้ CEO เกษียณอายุเพียงเพราะอายุของเขาถึงเกณฑ์
14. Berkshire จะมีหนี้เพียงน้อยนิดเท่านั้น และจะพยายามที่จะคง (i) เครดิตที่สมบูรณ์แบบในทุกเงื่อนไข (ii) เงินสดและเครดิตเหลือมากพอที่จะลงทุนในยามที่มีโอกาสเกิดขึ้น
15. Berkshire จะเป็นผู้ซื้อที่ user-friendly กับผู้ขายธุรกิจขนาดใหญ่ การเสนอขายธุรกิจใดๆ จะถูกตอบด้วยความรวดเร็ว และข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นความลับ ซึ่งจะมีเพียงประธานบริหารหรืออีกสองสามคนเท่านั้นที่รู้ข้อเสนอเหล่านี้ถ้า มันไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น ซึ่งพวกเขาจะไม่บอกใครเกี่ยวกับมัน

ทั้งองค์ประกอบและขนาดองค์กรของ Berkshire นั้นนั้นค่อนข้างแปลกประหลาด ไม่มีองค์กรใหญ่ที่ไหนที่มีองค์ประกอบที่ผมว่ามาทั้งหมดถึงครึ่ง

Berkshire มีลักษณะองค์กรแบบนี้ที่ต่างจากองค์กรทั่วไปแบบนี้ได้อย่างไร?

ก็ Buffett เมื่ออายุเพียงแค่ 34 ปี ควบคุมหุ้น 45% ของ Berkshire และถูกไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนอื่นๆ เขาสามารถสร้างระบบบริหารแบบใดก็ได้ที่เขาต้องการ และเขาได้สร้างระบบ Berkshire ขึ้นมา

เกือบทุกองค์ประกอบที่ถูกเลือกขึ้นมานั้นเป็นเพราะ Buffett เชื่อว่า ภายใต้การบริหารของเขาจะช่วยเพิ่มขีดความสำเร็จของ Berkshire ได้สูงสุด เขาไม่พยายามที่จะสร้างระบบที่จะประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กรขึ้น (one-type-fits-all) กลับกันบริษัทลูกของ Berkshire ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบของ Berkshire ในการบริหารงานของพวกเขา ซึ่งบางบริษัทก็ประสบความสำเร็จด้วยระบบของตัวเอง

อะไรคือสิ่งที่ Buffett ตั้งเป้าไว้เมื่อตอนออกแบบระบบ Berkshire ขึ้นมา?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมวิเคราะห์แนวทางสำคัญได้หลายๆ อย่าง
1. เขาต้องการที่จะเพิ่มพูนความมีหลักเหตุผล ความสามารถ และความทุ่มเทให้สูงสุดกับคนที่สำคัญกับระบบ เริ่มต้นจากตัวเขาเองก่อน
2. เขาต้องการผลลัพธ์แบบ win/win ในทุกๆ ที่  ยกตัวอย่างเช่น การสร้างความจงรักภักดีโดยการให้ความจงรักภักดีต่อคนอื่นก่อน
3. เขาต้องการการตัดสินใจที่จะสร้างผลลัพธ์ระยะยาวให้มากที่สุด โดยการหาคนที่ตัดสินใจระยะยาวแบบเดียวกันที่สามารถยึดมั่นการตัดสินใจนั้น นานพอที่จะเห็นผลลัพธ์ (ระยะยาว)
4. เขาต้องการที่จะลดผลกระทบแย่ๆ ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่จะมาจากระบบบริหารที่อืดอาดยืดยาด ระบบการเมืองในสำนักงานใหญ่
5. เขาต้องการที่จะมอบความรู้ เหมือนอย่างศาสตราจารญ์ Ben Graham ที่จะมอบความรู้ที่เขาได้ไปในวงกว้าง

เมื่อ Buffet ได้พัฒนาระบบ Berkshire ขึ้นมา เขาได้คาดการ์ณอนาคตถึงผลดีต่างๆ ที่ตามมาแล้วหรือเปล่า? คำตอบคือไม่เลย Buffett นั้นก็ล้มลุกคลุกคลานจนมาเจอกับประโยชน์จากการทำสิ่งเหล่านี้ผ่านวิวัฒนาการ จากการปฏิบัติ ซึ่งเมื่อใดที่เขาเห็นผลดีจากสิ่งใด เข้าจะเน้นสิ่งนั้นเป็นพิเศษ

ทำไม Berkshire ภายใต้การบริหารของ Buffett ดำเนินการได้ดีนัก?

มีสี่ปัจจัยที่ผมมองเอง
1. ลักษณะที่แตกต่างที่ทำให้เกิดผลดีของ Buffett เอง
2. ลักษณะที่แตกต่างที่ทำให้เกิดผลดีของระบบ Berkshire
3. โชคดี และ
4. การติดตามอย่างเข้มข้นอย่างแปลกประหลาด และความทุ่มเทที่ส่งต่อถึงกันของ ผู้ถือหุ้น และผู้ชื่นชมในตัว Buffett รวมไปถึงสื่อต่างๆ

ผมเชื่อว่าสี่ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหลัก แต่ผมเชื่อว่าเพราะลักษณะที่แตกต่างของระบบ และตัว Buffett เองที่ทำให้มาถึงจุดนี้

โดยเฉพาะ การตัดสินใจของ Buffett ที่จำกัดการกระทำของตัวเอง ให้อยู่เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น และพุ่งความสนใจไปที่สิ่งเหล่านั้นอย่างเต็มที่ และทำอย่างนั้นมาตลอด 50 ปี ซึ่งน่าประทับใจมาก Buffett ประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลเดียวกับ Roger Federer เก่งเทนนิสนั่นเอง

Buffett นั้นใช้สูตรความสำเร็จแบบเดียวกับโค้ชบาสเก็ตบอลชื่อดัง John Wooden ซึ่งชนะเป็นประจำหลังจากที่เขาเรียนรู้ที่จะให้เวลาลงเล่นกับผู้เล่น 7 คนที่ดีที่สุดของเขา ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้คู่แข่งต้องเจอกับผู้เล่นที่ดีที่สุดตลอดเวลา แทนที่จะเจอตัวสำรองที่เก่งรองลงมา และด้วยการที่ได้ลงเล่นมากขึ้น ผู้เล่นที่ดีที่สุดก็พัฒนาไปเร็วกว่าธรรมดา

แต่ Buffett นั้นทำได้ดีกว่า Wooden เสียอีก เพราะว่าในกรณีของเขาเองนั้น เขาทำการฝึกทักษะทั้งหมดและรวบรวมอยู่ในตัวเพียงคนเดียว ไม่ใช่เจ็ดคน ซึ่งความสามารถของเขานั้นพัฒนาขึนวันแล้ววันเล่าตลอดเวลาที่เขาอายุมากขึ้น และตลอด 50 ปี แทนที่ความสามารถจะลดลงเหมือนเช่นนักกีฬาเมื่ออายุสูงขึ้น เขากลับเก่งขึ้นเรื่อยๆ

มากไปกว่านั้น เมื่อเขาพุ่งเน้นโดยการมอบอำนาจให้กับ CEO ที่ทำงานเป็นเวลานานของบริษัทลูกต่างๆ เขาได้สร้างปรากฎการณ์ Wooden ให้เกิดขึ้น (แบบเดียวกันที่ให้ผู้เล่นที่ดีที่สุดได้ลงเล่นตลอด) มันช่วยให้ CEO เหล่านั้นเก่งกาจขึ้น และความสำเร็จของบริษัทลูกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลังจากนั้นเมื่อระบบ Berkshire ได้มอบความอิสระในการบริหารงานให้กับบริษัทลูกและ CEO ของบริษัทแล้ว เมื่อ Berkshire ประสบความสำเร็จมันทำให้เป็นการดึงดูงธุรกิจที่ดีและ CEO ที่ดีให้อยากขายกิจการให้กับ Berkshire มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

และเมื่อบริษัทที่ดีขึ้น และ CEO ที่ดีขึ้นเข้ามา สำนักงานใหญ๋ก็ไม่ต้องเข้าไปดูแลอะไรพวกเขามากนัก ทำให้เกิดสิ่งที่เรามักจะเรียกว่า วงกลมแห่งความดีงามขึ้น (virtuous circle) (Note: เมื่อผู้บริหารดีๆ มีจริยธรรมก็ไม่จำเป็นต้องกำกับดูแล)

การเพิ่มบริษัทประกันภัยเป็นบริษัทลูกที่สำคัญของ Berkshire นั้น ทำงานดีอย่างไร?

ดีอย่างสุดยอด ซึ่งความทะเยอทะยานค่อนข้างที่จะมากอย่างไม่มีเหตุผลสักหน่อย แต่ Berkshire ก็ได้รับสิ่งที่ต้องการ

บริษัทประกันภัยมักจะลงทุนในหุ้นสามัญ เช่นเดียวกับบริษัทลูก Berkshire ซึ่ง S&P 500 Index นั้นให้ผลตอบแทนประมาณ 10% ก่อนหักภาษีตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ

และในช่วงทศวรรศแรกๆ ของ Buffett หุ้นสามัญบริษัทประกันของ Berkshire ถืออยู่นั้นให้ผลตอบแทนชนะ S&P index หลายขุม ตามที่ Buffett คาดหวังไว้ และหลังจากนั้นเมื่อขนาดของ Berkshire เพิ่มมากขึ้นจนผลตอบแทนที่ได้นั้นเริ่มทำให้ผลลัพธ์ที่ชนะ S&P index เริ่มลดความสำคัญลงจนแทบไม่ส่งผล (บางทีอาจจะไม่ตลอดไป) ความได้เปรียบอีกประการหนึ่งก็มาถึง นั่นคือ Ajit Jain สร้างธุรกิจรับประกับภัยต่อ เริ่มจากไม่มีอะไรเลยจนสร้าง “float” ขนาดมหึมาและ uderwriting gain จำนวนมหาศาล และหลังจากเข้าซื้อ GEICO ทั้งหมดมาเป็นของ Berkshire ส่วนแบ่งการตลาดของ GEICO ก็เพิ่มเป็นสี่เท่าจากเดิม และบริษัทประกันของ Berkshire ที่เหลือกิจการก็ปรับปรุงดีขึ้น สาเหตุเกิดมาจากชื่อเสียงของ Berkshire วินัยในการรับประกัน (คิดเบี้ยประกัน) และการค้นหาและอยู่กับตลาดที่เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการรับและรักษาคนที่ยอดเยี่ยม

และหลังจากนั้น เมื่อคุณลักษณะเฉพาะตัวของ Berkshire และขนาดที่ใหญ่ขึ้น ได้กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง บริษัทฯ ก็ได้โอกาสดีๆ ในการลงทุนหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ที่คนอื่นไม่สามารถลงทุนได้ ซึ่งหลักทรัพย์เหล่านี้สร้างผลตอบแทนอย่างดี

ผลลัพธ์อันสุดยอดของธุรกิจประกันของ Berkshire ไม่ใช่ผลงานตามธรรมชาติของธุรกิจประกันภัย โดยปกติแล้วตัวธุรกิจประกันภัยนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างแย่ แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการที่ดีก็ตาม ซึ่งผลลัพธ์ของ Berkshire นั่นดีมากอย่างน่าประทับใจจนผมเชื่อว่า Buffett นั้นต่อให้กลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้งแต่ยังคงความสามารถในปัจจุบันไม่สามารถจะ ทำแบบเดียวกันซ้ำได้อีก

Berkshire ประสบความลำบากจากการเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่กระจัดกระจายแบบนี้หรือไม่? ไม่ โอกาสของ Berkshire เพิ่มขึ้นจากการที่มีบริษัทหลายหลาก และผลกระทบที่ไม่ดี ซึ่งเกิดกับบริษัทขนาดใหญ่ส่วนมาได้ถูกป้องกันด้วยความสามารถของ Buffet

ทำไม Berkshire ถึงชอบที่จะซื้อบริษัทด้วยเงินสดมากกว่าหุ้น? (Note: บริษัทในอเมริกาส่วนมากจะออกหุ้นเพื่อซื้อกิจการ) นั่นก็เป็นเพราะว่ามันยากที่จะหาหุ้นของบริษัทไหนมาเทียบกับคุณค่าที่ได้จาก หุ้นของ Berkshire

ทำไมการซื้อกิจการนอกจากบริษัทประกันภัยของ Berkshire ถึงมีผลลัพธ์ที่ดีนัก ในเมื่อโดยทั่วไปแล้วผลลัพธ์ที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการไม่ดีเลย?

นั่นเป็นเพราะจากการออกแบบ (โดย Buffett) แล้วมีวิธีการที่ให้ความได้เปรียบมากกว่า ซึ่ง Berkshire ไม่มีแผนกซื้อกิจการ ที่ถูกกดดันให้ซื้อบริษัทใดๆ และ Berkshire จะไม่พึ่งพาคำแนะนำจาก “ผู้ช่วย” ภายนอก (Note: น่าจะหมายถึง consulting firm) ซึ่งผลประโยชน์ของผู้ช่วยเหล่านี้คือค่าธรรมเนียมของการซื้อขายแต่ละครั้ง ซึ่ง Buffett นั้นได้จำกัดความหลงตัวเองได้อย่างดีมาก โดยเขาพยายามถ่อมตัวเสมอมา แม้ว่าเขาจะมีความรู้มากกว่าผู้บริหารของบริษัทเองเสียอีกว่าสิ่งใดดีสิ่งใด ไม่ดีกับธุรกิจ ร่วมด้วยกับประสบการณ์อันยาวนานในการเป็น passive investor ของเขา และท้ายที่สุดคือ แม้ว่า Berkshire จะมีโอกาสดีๆ  กว่าที่อื่น Buffett ก็มีความอดกลั้นที่เหนือมนุษย์ และน้อยครั้งที่จะซื้อกิจการ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสิบปีแรกที่เขาควบคุม Berkshire Buffett ซื้อกิจการ 2 แห่ง ในขณะที่ (โรงทอผ้า) ตายไป 1 เท่ากับว่าเพิ่มมาแค่หนึ่งกิจการเท่านั้น

อะไรคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Berkshire ภายใต้การนำของ Buffett? แม้ว่าความผิดพลาดจากการทำอะไรบางอย่างเป็นเรื่องปกติ (เวลาพูดถึงความผิดพลาด) แต่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ส่วนมากเกิดจากการไม่ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ รวมไปถึงการไม่เข้าซื้อ หุ้น Walmart  เมื่อตอนนั้นเมื่อมันแน่นอนว่าจะส่งผลดีแน่นอน ความผิดพลาดจากการไม่ทำนั้นก็สำคัญเช่นกัน มูลค่าของ Berkshire นั้นอาจจะมากกว่านี้สัก 50 billion แล้วก็เป็นได้ ถ้าได้คว้าโอกาสการลงทุนหลายๆ ครั้ง ที่ไม่สามารถคิดได้ว่าเป็นสิ่งที่แน่นอน

งานรองสุดท้ายในรายการของผมคือ คาดการณ์ว่าผลลัพธ์ดีแบบผิดปกติแบบนี้จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่ ถ้าหาก Buffett จากไปในอนาคตอันใกล้นี้

คำตอบคือใช่ครับ Berkshire มีบริษัทลูกอยู่ในมือจำนวนมากที่มี โมเมนตัมบนพื้นฐานอันแข็งแกร่ง แต่ละบริษัทมี competitive advantage

มากไปกว่านั่น การลงทุนในรถไฟและบริษัทสาธารณูปโภค (โรงไฟฟ้า) ทำให้มีโอกาสที่จะลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากในทรัพย์สินถาวรเหล่านี้ และบริษัทลูกเหล่านี้ก็ได้เริ่มดำเนินการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องเป็น จำนวนมาก

โดยสมมติว่าระบบ Berkshire ยังคงอยู่ รวมไปกับโมเมนตัมของบริษัทลูก กับโอกาสการลงทุนดีๆ หลายอย่างจะทำให้ Berkshire จะยังคงเป็นบริษัทที่ดีกว่าบริษัททั่วไปเป็นเวลายาวนาน แม้ว่า (1) Buffett จะจากไปในวันพรุ่งนี้ (2) ผู้สืบทอดมีความสามารถแค่ปานกลาง (3) Berkshire จะไม่ลงทุนซื้อบริษัทใหญ่ๆ อีกเลย

แต่ ภายในสมมติฐานว่า Buffett ใกล้จะจากไปแล้ว ผู้สืบทอดของเขาจะไม่แค่เป็นคนที่มีความสามารถปานกลางเป็นแน่ ยกตัวอย่างเช่น Ajit Jain และ Greg Abel ซึ่งมีผลงานที่ใครก็ตามคงต้องบอกว่าคำว่า “ระดับโลก” เป็นคำชมที่น้อยไปอย่างแน่นอน เป็นระดับผู้นำของโลก คือคำอธิบายที่ผมจะใช้ชมพวกเขา และที่สำคัญคือ พวกเขาทั้งสองเป็นผู้บริหารงานธุรกิจที่เก่งกว่า Buffett แน่นอน

และผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็น Jain หรือ ​Abel พวกเขาทั้งสองจะไม่จาก Berkshire ไป ไม่ว่าเขาจะได้รับข้อเสนออะไรก็ตาม และ เขาคงไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบ Bershire อย่างที่เป็นอยู่

และผมก็ไม่เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจใหม่ๆ จะจบลงหลังจากการจากไปของ Buffett ด้วย Berkshire ในขณะนี้ที่ใหญ่โตมาก และยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึง ผมคิดว่าโอกาสในการเข้าซื้อกิจการจะมาถึง และเงินสดจำนวน 60 Billion dollars ที่มีอยู่จะต้องได้ใช้อย่างแน่นอน

งานสุดท้ายของผมคือการคิดว่าผลลัพธ์อันสุดยอดของ Berkshire ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมานั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ที่อื่นๆ ได้หรือไม่

คำตอบนั้นง่ายมาก คือใช่ครับ ในช่วงแรกเริ่มของ Buffett นั้น Berkshire มีงานใหญ่รออยู่ข้างหน้าคือการแปลงเงินจำนวนน้อยนิดให้มีมากขึ้น และแปรสภาพกลายเป็นบริษัทที่ดี และมันได้แก้ไขปัญหาส่วนมาก ด้วยการหลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองในที่ทำงาน และความอืดอาดในบริษัท และพึ่งพิงผู้นำที่มีความคิดอ่านเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะเมื่อเขานั้นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และนำพาผู้คนแบบเดียวกันเข้ามา

เปรียบเทียบสิ่งนี้กับบริษัทใหญ๋ทั่วๆ ไปแล้วที่มักจะมีปัญหาเรื่องลำดับชั้นบังคับบัญชา การเมืองในสำนักงานใหญ๋แล้ว และการที่ CEO มักจะได้รับตำแหน่งเมื่ออายุ 59 ปี ซึ่งมีเวลาน้อยนิดก่อนจะต้องเกษียณอายุตามตัวเลขบังคับ

ผมเชื่อว่าระบบของ Berkshire ควรได้รับความสนใจไปปรับใช้มากกว่านี้กับที่อื่นๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเมืองและความเชื่องช้าในการทำงานควรจะต้องถูกรักษา ประหนึ่งเป็นโรคมะเร็ง ที่เราจะต้องตัดทิ้งให้เร็วที่สุด ตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาลำดับชั้นในการทำงาน โดย George Marshall นั้นคือเมื่อตอนที่เขาช่วยให้ชนะสงครามโลกครั้งที่สองโดยได้รับอนุมัติจาก สภา Congress ให้ได้สิทธิ์มาในการเลือกนายพลโดยไม่สนใจลำดับอาวุโสได้

ขอแสดงความนับถือ
Charles T. Munger

=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*=*

Commentary by Translator:

สวัสดีครับมาอ่านบ้างด้วยข้อคิดดี ๆ จาก Charles T. Munger คือเบอร์สองของ Berkshire Hathaway คู่คิดของ Warren Buffett นั่นเอง ใครที่อยากอ่านต้นฉบับ ข้อความที่แปลนี้อยู่ใน Lettor to Shareholder ของ Berkshire Hathaway ปี 2014 ตาม link นี้ครับ
http://www.berkshirehathaway.com/letters/2014ltr.pdf

โดยขอ Note เรื่องกิจการประกันภัยก่อน อธิบายง่ายๆ  อย่างนี้ครับเวลา รับประกันบริษัทประกันก็จะเก็บเบี้ยประกันก่อน สมมติ 100 บาท เงินส่วนนี้หลังจากหักค่าดำเนินการต่างๆ  จะเรียกว่า float ครับ ซึ่งเวลาผ่านไปเมื่อมีการ claim ประกันเกิดขึ้น รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บริษัทประกันส่วนมากจะใช้รวม 107 - 108 บาท ดังนั้นบริษัทประกันจะเสียเงินตลอดเวลา เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นบริษัทประกันภัยจะต้องนำ float ไปลงทุนให้งอกเงย โดยฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตร หรือลงทุนในหุ้นครับ

Ajit Jain คือผู้สร้างแผนกรับประกันภัยต่อ โดยจะรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันในเคสที่ใหญ่มาก ๆ อย่างเช่นแผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติใหญ๋ๆ โดยตัวเขาเองมาสามารถสร้าง deal ที่มีมูลค่าหลายพันล้าน dollars เลยทีเดียวครับ

Greg Abel คือ CEO ของ Berkshire Hathaway Energy โดยดูแลกิจการเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมด โดย ณ ปัจจุบัน Berkshire Energy สร้างรายได้ให้กับ Berkshire ประมาณ 10% ครับ

สิ่งที่อ่านแล้วผมถึงกับขนลุกเลยก็คือการที่ Buffett จำกัดสิ่งที่ตัวเองทำแบบเคร่งครัดมาก ๆ โดยไม่ทำอะไรอื่นเลยนอกจากการศึกษาข้อมูล อ่านหนังสือเพื่อพัฒนาตนเองและลงทุน โดยจะเห็นว่ามีข้อหนึ่งที่ Munger บอกเอาไว้ พออ่านแล้วรู้สึกว่าปัจจุบันคนเราทำอะไรเยอะไปหมด จับจด การต้ังใจทำเพียงสิ่งเดียวให้ดีที่สุดกลับสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ มากกว่าเสียอีก

มีความสุขกับการลงทุนนะครับ
 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘