สุดยอดฮ่องเต้ จักรพรรดิผู้เก่งกาจในประวัติศาสตร์จีน

ประวัติศาสตร์จีน 4,000 กว่าปีไม่ได้มีการจัดอันดับ "มหาจักรพรรดิ" อย่างเป็นทางการ (แต่ดันมีจัดอันดับสาวงาม จัดอันดับเมืองหลวงซะงั้น) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์จีน (และนิยายจีน) ก็คงพอทราบว่ามีจักรพรรดิบางองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "มหาราช" หรือจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย

เท่าที่ผู้เขียนลองสังเกตดู จักรพรรดิที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง มักต้องมีคุณสมบัติว่าเป็นจักรพรรดิในยุคที่แผ่นดินเป็นปึกแผ่น ไม่ได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนในแง่ผลงานมักแยกได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ปฐมกษัตริย์ หรือ founding father ผู้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ ส่วนกลุ่มที่สองคือกษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ตามปกติ แต่มีความเก่งกาจในแง่การปกครอง

ขอไล่ชื่อจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่พบได้บ่อยๆ ในนิยายจีน ตามลำดับราชวงศ์ ดังนี้ (ภาพประกอบจาก Wikipedia)

ราชวงศ์ฉิน (Qin)

จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang ฉินซื่อหวง) หรือ อิ๋งเจิ้ง

ครองราชย์: 247 BC – 220 BC
ถ้ามีการจัดลำดับจักรพรรดิจีน จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้รวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่นได้เป็นคนแรก มักถูกจัดอยู่ลำดับแรกเสมอ ในแง่ฝีมือการรวมประเทศคงไม่มีข้อกังขา แต่น่าเสียดายว่าราชวงศ์ฉินของพระองค์ อยู่ได้เพียง 2 รัชกาลเท่านั้น

นิยายที่เขียนถึงจิ๋นซีฮ่องเต้มีมากมาย ที่ดังๆ คือ เจาะเวลาหาจิ๋นซี, ภาพยนตร์คือ Hero เวอร์ชันจางอี้โหมว, การ์ตูนก็เรื่อง Kingdom เป็นต้น

ราชวงศ์ฮั่น (Han)

ราชวงศ์ฮั่น มีกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องอยู่บ่อยๆ 2 พระองค์

ฮั่นเกาจู่ (Han Gaozu) หรือรู้จักกันในชื่อจริงว่า หลิวปัง (Liu Bang) 

ครองราชย์: 202 BC - 195 BC

หลิวปัง เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ซึ่งสืบทอดความยิ่งใหญ่ต่อจากราชวงศ์ฉิน (พูดง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่ราชวงศ์ฉินควรจะเป็น) ตำนานการตีชิงแผ่นดินระหว่างหลิวปัง กับ เซี่ยงอวี่ ถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกในสารพัดสื่อ เช่น นิยายเรื่อง อวสานจิ๋นซี, ภาพยนตร์ White Vengeance และ Farewell My Concubine ส่วนวลี "งานเลี้ยงหงเหมิน" ก็กลายเป็นคำเปรียบเปรยอันหนึ่งของจีน

ฮั่นอู่ตี้ (Han Wudi) 

ครองราชย์: 141 BC – 87 BC

ฮั่นอู่ตี้ (หลิวเช่อ) เป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 ของราชวงศ์ฮั่น และในแง่การปกครองก็ยิ่งใหญ่เหนือกว่าฮั่นเกาจู่ด้วยซ้ำ ฮั่นอู่ตี้ครองราชย์นานถึง 54 ปี (ตั้งแต่อายุ 16 จนถึง 69) ถือเป็นแชมป์กษัตริย์ครองราชย์นานที่สุดของจีน จนถูกทำลายสถิติในอีก 1,800 ปีให้หลังในยุคของจักรพรรดิคังซีโน่น

ฮั่นอู่ตี้ไม่ใช่กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ แต่ก็มีผลงานโดดเด่นในแง่การขยายดินแดนของจักรวรรดิฮั่น ภาคตะวันตกไปถึงคีร์กิซสถาน, ภาคตะวันออกถึงเกาหลี, ภาคใต้ถึงเวียดนาม นอกจากนี้ก็ยังทำรัฐบาลให้เป็นปึกแผ่น ส่งเสริมศาสนา วัฒนธรรม ศิลปะ ฯลฯ

ถ้ามีการจัดอันดับกันแล้ว เท่าที่เห็นคนส่วนใหญ่จะยกให้ ฮั่นอู่ตี้ เหนือกว่าฮั่นเกาจู่ (เพียงแต่เรื่องของฮั่นเกาจู่ ดราม่ากว่ามาก เลยถูกดัดแปลงเป็นนิยาย-ละครเยอะกว่า)

ราชวงศ์ถัง (Tang)

หลังจากราชวงศ์ฮั่นล่มสลาย จีนก็เข้าสู่ยุคแตกแยกมาตลอด ตั้งแต่ยุคสามก๊ก, ราชวงศ์จิ้น (สุมา), ราชวงศ์เหนือ-ใต้ จนมารวมเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งในยุคราชวงศ์สุย (Sui) แต่ก็อยู่ได้เพียง 2 รัชกาลก็แตกอีก กว่าจะเป็นหนึ่งอีกครั้ง ต้องรอถึงราชวงศ์ถัง

ถังไท่จง (Tang Taizong) หรือ หลี่ซื่อหมิน

ครองราชย์: 626–649
ถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) ถือเป็นฮ่องเต้องค์ที่สองของราชวงศ์ถัง แต่ก็เป็นฮ่องเต้ที่รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น หลังจากที่ผลักดันพระบิดา หลี่เอียน ขึ้นเป็นกษัตริย์ช่วงชิงแผ่นดินหลังราชวงศ์สุยล่มสลาย

ถังไท่จง มีฝีมือด้านการทหารเป็นเยี่ยม ถึงแม้จะมีประวัติด่างพร้อยในช่วงแรกๆ ที่รัฐประหารฆ่าพี่ชาย-น้องชาย และบีบพระบิดาสละราชบัลลังก์ แต่ผลงานหลังจากนั้นก็นำพาราชวงศ์ถังเข้าสู่ยุคทอง (และอาจถือเป็นยุคทองที่สุดของจีนเลยก็ว่าได้) ยุคทองนี้ส่งผลข้ามมาถึงพระโอรสคือ ถังเกาจง (Tang Gaozong) ที่ครองราชย์นานอีก 40 กว่าปีด้วย

ถังไท่จง น่าจะเป็นฮ่องเต้องค์แรกที่ครบเครื่องทั้งบุ๋นและบู๊ ถ้ามีการจัดอันดับท็อปฮ่องเต้ ก็มักมีชื่อติดอยู่ร่วมกับจิ๋นซีฮ่องเต้อยู่บ่อยครั้ง

นิยายที่กล่าวถึงประวัติช่วงปลายราชวงศ์สุย-ต้นราชวงศ์ถัง มีมากมาย ที่ดังๆ ก็คือ มังกรคู่สู้สิบทิศ และไตรภาคสุยถังของจิ่วถู 2 เล่มแรกคือ ยุทธการล่าบัลลังก์ และ ขุนโจรคู่บัลลังก์

บูเช็กเทียน (Wu Zetian) หรือ อู่เจ้า (Wu Zhao)

ครองราชย์: 690-705

บูเช็กเทียน จักรพรรดินีเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์จีน ในทางทฤษฎีแล้ว บูเช็กเทียนตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อราชวงศ์โจว (Zhou) ซึ่งมีกษัตริย์พระองค์เดียวคือตัวเอง แต่ในทางปฏิบัติ บูเช็กเทียนก็ถือเป็น continuity ของราชวงศ์ถัง โดยเริ่มจากเป็นเมียของถังเกาจงฮ่องเต้ จากนั้นเป็นไทเฮา ปกครองแผ่นดินอยู่เบื้องหลังพระโอรส ก่อนจะยึดอำนาจมาเป็นผู้ปกครองสูงสุดเพียงองค์เดียว

เรามักได้ยินชื่อบูเช็กเทียน ในแง่ความงามที่ทำให้กษัตริย์หลงใหล และความโหดเหี้ยมในการปราบโค่นศัตรู และไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นจักรพรรดินี แต่ในแง่การปกครอง พระองค์ก็ถือว่าเป็นเลิศ ขยายแผ่นดินไปมาก และขุนนางเก่งๆ หลายคน (ที่โด่งดังหน่อยคือ ตี้เหรินเจี๋ย Di Renjie) ก็อยู่ในยุคนี้

ภาพยนตร์และนิยายในยุคบูเช็กเทียน มีเยอะมาก ถ้าเป็นนิยายก็มีทั้งชุดตี้เหรินเจี๋ยทั้งหลาย และ ไตรภาคเหยี่ยวมาร ของหวงอี้ ละครทีวีมีล่าสุดคือ The Empress of China ที่ฟ่านปิงปิง มารับบทบูเช็กเทียน

ถังเสวียนจง (Tang Xuanzong)

ครองราชย์: 712-756

ถังเสวียนจง หรือ หลี่หรงจี (Li Longji) มีศักดิ์เป็นหลานของบูเช็กเทียน และฮ่องเต้องค์ที่เจ็ดของราชวงศ์ถัง พระองค์เป็นคนแก้ปัญหาทางการเมืองในยุคชิงอำนาจหลังบูเช็กเทียนให้กลับสู่ เสถียรภาพ และครองราชย์นานถึง 43 ปี (ยาวที่สุดในราชวงศ์ถัง)

ครึ่งแรกของรัชสมัย พระองค์เป็นฮ่องเต้ที่ปรีชา และนำพาราชวงศ์ถังเข้าสู่ยุคทองอีกครั้ง ในรัชสมัยไคหยวน ประเทศมีเสถียรภาพ เติบโตทั้งเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

แต่ช่วงปลายรัชกาล ยุคทองของพระองค์กลับจบลงอย่างน่าเศร้า เพราะเกิดเหตุการณ์กบฎอันลู่ซาน จนราชวงศ์ถังแทบจะล่มสลาย พระองค์ต้องหนีหัวซุกหัวซุน (พร้อมกับพระสนมหยางกุ้ยเฟย หนึ่งในสี่สุดยอดสาวงามของจีน) ก่อนจะโดนพระโอรสยึดอำนาจ ใช้ชีวิตบั้นปลายในฐานะอดีตจักรพรรดิ (ถ้าตอนจบ พระองค์จบสวยไม่มีเหตุการณ์กบฎ คงได้เป็นอีกสุดยอดจักรพรรดิจีน)

นิยายที่กล่าวถึงช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคถังเสวียนจงคือ เหยี่ยวมารสยบสิบทิศ ส่วนนิยายที่พูดถึงเหตุการณ์ช่วงปลายรัชกาลคือ เทพบุตรกู้บัลลังก์ ของจิ่วถู

ราชวงศ์ซ้อง (Song)

ซ่งไท่จู (Song Taizu) หรือ เจ้าควงอิ้น (Zhao Kuangyin)

เจ้าควงอิ้น ผู้สถาปนาราชวงศ์ซ่ง อาจไม่มีชีวิตที่โลดโผนมากนักเมื่อเทียบกับปฐมกษัตริย์พระองค์อื่นๆ เพราะช่วงหลังราชวงศ์ถังล่มสลาย แผ่นดินจีนก็เข้าสู่ยุค 5 ราชวงศ์ทางเหนือ และ 10 อาณาจักรทางใต้ โดยกินเวลาประมาณ 50 ปี ฝั่งทางเหนือ เหล่าขุนศึกก็ผลัดกันตั้งตัวเป็นกษัตริย์ รวมกันได้ถึง 5 ราชวงศ์

เจ้าควงอิ้น เป็นแม่ทัพในราชวงศ์สุดท้ายคือราชวงศ์โจวยุคหลัง (Later Zhou) หลังจากกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์โจวตายลง ตั้งฮ่องเต้เด็กสืบทอดสมบัติ เจ้าควงอิ้นก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ยึดอำนาจได้แบบไม่เสียเลือดเนื้อ ตั้งราชวงศ์ซ้อง และค่อยๆ ไล่ปราบขุนศึกรายอื่น จนรวมจีนได้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

ราชวงศ์หยวน (Yuan)

กุบไลข่าน (Kublai Khan) หรือ หยวนซื่อจู (Yuan Shizu)

ครองราชย์ 1260-1294

กุบไลข่าน ถือเป็นข่านองค์ที่ห้าของจักรวรรดิมองโกล เป็นหลานของเจงกิสข่าน และเป็นกษัตริย์ที่เอาชนะประเทศจีนยุคราชวงศ์ซ้องได้สำเร็จ (เจงกิสข่านทำไม่สำเร็จ) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์หยวน หรือราชวงศ์มองโกล และเป็นจักรพรรดิองค์แรกของประเทศจีนที่ไม่ใช่คนเชื้อชาติจีนด้วย

กุบไลข่านถือเป็นข่านที่เก่งพอๆ (หรือเก่งกว่า) เจงกีสข่าน แต่กลับไม่ถูกยกย่องในฐานะจักรพรรดิจีนมากนัก (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนับเป็นจักรพรรดิของมองโกล มากกว่าจีน) ผลงานของพระองค์นอกจากยึดแผ่นดินจีนแล้ว ก็ยังมียึดเกาหลี บุกเวียดนาม บุกพม่า สานสัมพันธ์ยุโรป แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเอเชียกลาง

ราชวงศ์หมิง (Ming)

หมิงหงอู่ (Ming Hongwu) หรือ จูหยวนจาง (Zhū Yuánzhāg)

ครองราชย์: 1368–1398

จูหยวนจาง หรือหงอู่ฮ่องเต้ ถือเป็นฮ่องเต้ยอดนิยมอีกพระองค์หนึ่งที่นิยายหรือภาพยนตร์นำเรื่องมาเล่า กันบ่อยๆ เหตุเพราะชีวิตของพระองค์ดราม่ามาก กำเนิดจากสามัญชนคนธรรมดา ชีวิตช่วงหนึ่งต้องเป็นขอทานและบวชเป็นหลวงจีนเพื่อเอาตัวรอด แต่สุดท้ายก็สามารถขึ้นมาเป็นกษัตริย์ที่ "กู้ชาติ" ยึดแผ่นดินจีนกลับมาจากเผ่ามองโกลได้สำเร็จ (ถือเป็นกษัตริย์กู้ชาติ องค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน)

หลังจากกู้ชาติ ขับไล่มองโกล และเอาชนะขุนศึกรายอื่นๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ในช่วงไล่เลี่ยกันได้แล้ว รัชสมัยของจูหยวนจางก็ยังนำเสถียรภาพกลับคืนสู่แผ่นดินจีน มีการปฏิรูปที่ดิน กฎหมาย ฯลฯ

หงอู่ฮ่องเต้ ถือเป็นหนึ่งในมหาราชที่มักติดอันดับบ่อยๆ พอกับจิ๋นซีและถังไท่จง

นิยายที่พูดถึงจูหยวนจางมีเยอะมาก ที่ดังหน่อยก็คือ ดาบมังกรหยก (กิมย้ง), เทพมารสะท้านภพ (หวงอี้) พยัคฆราชซ่อนเล็บ

หมิงหย่งเล่อ (Ming Yongle) หรือ จูตี้ (Zhu Di) 

หย่งเล่อฮ่องเต้ เป็นฮ่องเต้องค์ที่สามของราชวงศ์หมิง และเป็นพระโอรสของจูหยวนจาง ช่วงต้นรัชกาลมีดราม่า การชิงแผ่นดินระหว่างจูตี้ในฐานะพระโอรส กับ จูหวินเหวิน ฮ่องเต้องค์ที่สอง (หลานปู่ของจูหยวนจาง และหลานอาของจูตี้) ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของจูตี้ และถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่อ๋องผู้ครองหัวเมืองสามารถรัฐประหารโค่น จักรพรรดิในเมืองหลวงได้

นอกจากชัยชนะในแง่การทหารแล้ว จูตี้ยังปรีชาสามารถในแง่การปกครอง (ทักษะสองด้านน่าจะระดับเดียวกับหลี่ซื่อหมิน) ทั้งการขยายดินแดน สร้างเสถียรภาพทางการปกครอง ปรับปรุงเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และที่ขึ้นชื่อคือการสำรวจทางทะเลของ เจิ้งเหอ (ซำปอกง) ก็เกิดขึ้นในยุคของหย่งเล่อนี้ด้วย ผลงานโดยรวมแทบไม่แพ้พระบิดาเลย

นิยายที่พูดถึงรัชสมัยของหย่งเล่อคือ พยัคฆราชซ่อนเล็บ

ราชวงศ์ชิง (Qing)

ราชวงศ์ชิง จะคล้ายกับราชวงศ์หมิง คือมีจักรพรรดิผู้ปรีชาสามารถ ครองราชย์เกือบต่อกัน 2 พระองค์

คังซีฮ่องเต้ (Qing Kangxi)

ครองราชย์: 1661-1722

คังซี เป็นฮ่องเต้องค์ที่สี่ของราชวงศ์ชิง และเป็นฮ่องเต้ที่สร้างความปึกแผ่นให้ราชวงศ์ชิง สามารถยึดแผ่นดินจีนให้เบ็ดเสร็จได้ หลังจากบรรพบุรุษ (ปู่ทวดไล่ลงมา) พยายามบุกรุกยึดแผ่นดินจีนเรื่อยมา

คังซีฮ่องเต้ ครองราชย์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และมีรัชสมัยที่ยาวนานถึง 61 ปี ถือเป็นฮ่องเต้ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน รัชสมัยของคังซี นำจักรวรรดิชิงเป็นปึกแผ่น และขยายตัวทั้งดินแดน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม

ปกติแล้วฮ่องเต้ที่พ่อตาย ได้ครองราชย์แต่เด็กๆ มักอ่อนแอ โดนชี้นำโดยไทเฮา ขุนนาง ขันที แต่กรณีของคังซีถือเป็นข้อยกเว้น

นิยายที่พูดถึงคังซีที่ดังที่สุดคือ อุ้ยเสี่ยวป้อ ของกิมย้ง ที่แต่งให้อุ้ยเสี่ยวป้อเป็นเพื่อนคู่คิดของคังซี

เฉียนหลงฮ่องเต้ (Qianlong)

ครองราชย์: 1735 – 1796

เฉียนหลงฮ่องเต้ เป็นหลานของคังซี และเป็นฮ่องเต้ระดับมหาราชองค์สุดท้ายของจีน (เพราะหลังจากนั้น ราชวงศ์ชิงก็อ่อนแอลง จนถูกโค่นล้มและเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐในที่สุด) รัชสมัยของพระองค์ยาวนานถึง 60 ปี ซึ่งจริงๆ ยาวกว่านั้นได้ แต่เฉียนหลงเลือกสละราชบัลลังก์ก่อนเพราะไม่อยากล้ำหน้าเสด็จปู่ (แต่ถ้าเอาระยะเวลาที่เฉียนหลงมีอำนาจก็จะยาวนานกว่า คือ 64 ปี)

เฉียนหลงประสบความสำเร็จทั้งในแง่การทหาร การปกครอง และวัฒนธรรม นอกจากนี้พระองค์ยังชอบปลอมตัวเป็นสามัญชน ไปท่องเที่ยวดูอาณาจักรของตัวเองอีกด้วย ตำนานการปลอมตัวของเฉียนหลงก็ถูกนำไปทำเป็นเรื่องเล่า นิทาน และนิยายอยู่เรื่อยๆ

สรุป

ถ้าให้ผู้เขียนเลือก 5 อันดับฮ่องเต้ในจีน จะได้ดังนี้ (เรียงตามลำดับเวลา)

  • จิ๋นซีฮ่องเต้
  • ฮั่นอู่ตี้
  • ถังไท่จง
  • หมิงหงอู่
  • คังซี
นอกจากบรรดาฮ่องเต้ทั้งหลายแล้ว ถ้านับถึงผู้นำในยุคสาธารณรัฐด้วย ก็มักมีคนยกเอา ซุนยัตเซ็น กับ เหมาเจ๋อตง มาติดทำเนียบผู้นำจีนด้วยครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘