วิหารทองคำ ศาสนสถานล้ำค่าของชาวซิกข์

ชาวซิกข์และนักท่องเที่ยวหลายพันคน เดินทางมาที่เมือง อมฤตสาร์ ซึ่งเป็นเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบ เพื่อเยี่ยมชมวิหารทองคำ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญมากที่สุดของศาสนาซิกข์

วิหารทองคำแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี คริสตศักราช 1570 เพื่อให้ชาวซิกข์ใช้เป็นสถานที่ในการร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียง และก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1601 โดยสถาปัตยากรรมที่ใช้ในการก่อสร้างวิหารทองคำแห่งนี้ก็มีความโดดเด่น ซึ่งแทนที่จะถูกสร้างบนรากฐานที่มีระดับสูง ตามลักษณะเหมือนสถาปัตยากรรมการสร้างวิหารของฮินดู วิหารทองคำแห่งนี้กลับถูกสร้างบนรากฐานที่ต่ำกว่าระดับราบของพื้นที่รอบข้าง รวมถึงมีการสร้างประตูทางเข้าออกทั้งสี่ทิศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และชาติตระกูลแต่อย่างใด

ตัววิหารนั้น ชั้นแรกสร้างจากหินอ่อน ผนังภายในแกะสลักเป็นรูปดอกไม้สวยงาม ส่วนชั้นสองขึ้นไปจนถึงยอดโดมเคลือบด้วยทองคำ ด้านในเป็นที่เก็บรักษาพระมหาคำภีร์ อันเป็นหลักธรรมสูงสุดจากองค์พระศาสดาของชาวซิกข์ โดยจะมีหัวหน้านักบวชทำหน้าที่อ่านคำสอนผ่านเครื่องกระจายเสียงทุกวัน

วิหารทองคำแห่งนี้ ตั้งตระหง่านอยู่กลางบ่อน้ำโซราวอร์ อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวซิกข์ทุกคนปรารถนาที่จะได้ลงไปอาบน้ำในสระแห่งนี้ เพื่อเป็นการชำระล้างจิตวิญญาณ บ่อน้ำนี้กว้าง 150 เมตร ล้อมรอบวิหารทั้งสี่ด้าน ซึ่งภาพของวิหารทองคำที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสระน้ำที่ล้อมรอบนั้น เป็นภาพที่ดูสง่างามประทับใจผู้มาเยือนทุกคน  

ปัจจุบัน นอกจากนักแสวงบุญชาวซิกข์แล้ว เมืองอัมริตสาร์ยังเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งใน อินเดียและต่างประเทศ ที่มาเยือนเมืองอัมริตสาร์และวิหารทองคำมากกว่า 100,000 คนต่อสัปดาห์

เมืองอมฤตสาร์ มีสนามบินนานาชาติและจุดเชื่อมต่อรถไฟที่ครอบคลุมเมืองสำคัญอื่นๆทั่ว อินเดีย และเนื่องจากเป็นเมืองยอดนิยมแห่งหนึ่ง จึงมีการจราจรที่ติดขัด ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ คือใช้บริการรถสามล้อ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการมาเยือนคือ ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม ซึ่งมีอากาศเย็นสบาย และแจ่มใส

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘