เจอคดีหนัก 2 ข้อหา! พระธัมมชโย ฟอกเงิน-รับของโจร จริงหรือ???

       ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวออกมาแทบทุกสำนักสื่อ เกี่ยวกับมีการกล่าวหาว่า “...หลวงพ่อธัมมชโย และพระในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย ฐานรับของโจรและฟอกเงิน หลังพบรับเช็คบริจาคกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งการบริจาคให้วัดผ่านทางบัญชีของ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาส จากอดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น...”
       วันนี้ขอมาตั้งข้อสังเกตและนำเสนอประเด็นดังกล่าว เผื่อที่คนเข้ามาเสพข่าวเรื่องนี้แล้ว อาจยังไม่ทราบความหมายที่ชัดเจนและครอบคลุมของคำว่า ฟอกเงิน รับของโจร นั้นเป็นอย่างไร บางท่านหรือหลายท่านอาจพลาดพลั้งปักใจเชื่อ คล้อยตามที่สื่อนำเสนอก็เป็นไปได้ วันนี้เรามาถกกันเพื่อหาความรู้ที่ถูกต้อง เถอะค่ะ ว่าเรื่องลักษณะการกระทำอย่างไร “เป็นความผิดรับของโจร” ? และลักษณะอย่างไร “เป็นความผิดฟอกเงิน” ?
      บทความนี้จริงๆ ต้องการนำเสนอแบบกระชับประหยัดเวลา แต่เพื่อความสมบูรณ์และความเข้าใจถูกชัด ชัด ในประเด็นที่ฮอต เลยยาวแต่คุ้มค่ากับการสละเวลาอ่าน เพื่อเป็นทนายแก้ต่างให้กับผู้ที่ไม่ผิดและพระพุทธศาสนาค่ะ

ความหมายของการฟอกเงิน
       การฟอกเงิน (Money Laundering) คือการนำทรัพย์ที่ได้จากอาชญากรรมไปผ่านกระบวนการ เพื่ออำพรางที่มา ที่ผิดกฎหมาย หรือหมายถึง การปรับเปลี่ยนเงินทองหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด ค้าอาวุธเถื่อน ค้าสินค้าหนี้ภาษี การพนัน การละเมิดลิขสิทธิ์ การปลอมแปลงเงินตรา ล่อลวงค้าหญิงและโสเภณีเด็ก หลอกหลวง ต้มตุ๋น ลักทรัพย์ จี้ปล้น เรียกค่าไถ่ ส่วย คอร์รัปชั่น โดยนำเอาเงินทองหรือทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย เรียกว่า "เงินสกปรก" (Dirty Money)  เข้า ไปลงทุนหรือไปฟอกในธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เมื่อได้ผลตอบแทน ก็นำเงินที่ได้ไปลงทุน หรือฟอกอีกครั้งในกิจการที่น่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น ไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจกองทุน เพื่อลวงให้สาธารณชนเชื่อว่า เงินทองทรัพย์สินที่ได้มาเป็น เงินสะอาด (Clean Money)


การกระทำอย่างไร? เป็นความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินตามกฎหมาย

          พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 ได้กำหนดลักษณะความผิดฐานฟอกเงินไว้ กล่าวคือ
          1.  การโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่า ก่อน ขณะ หรือ หลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
          2.  การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิด หรือ อำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

 นอกจากนี้ ในมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 ยังได้กำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้
ผู้กระทำต้องรับโทษเช่นเดียวกับตัวการ กล่าวคือ
          1.  การสนับสนุนการกระทำความผิด หรือ ช่วยเหลือผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ไม่ว่าก่อน หรือขณะกระทำความผิด
          2.  การจัดหา หรือ ให้เงิน หรือ ทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือ วัตถุใดๆ หรือ กระทำการใด ๆ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินหลบหนี หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินถูกลงโทษ หรือ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในการกระทำความผิด
          3.  การพยายามกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
          4.  การสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน




       ส่วนวิธีการฟอกเงิน คือการนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สุจริตนั้นเข้า ไปในมือบุคคลที่ 3 หรือสถาบันการเงินหรือองค์กรต่างๆ ซึ่งเรียกว่า โรงฟอกเงิน ยกตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้ สมมติว่านาย ก. ค้ายาบ้ามีรายได้เยอะ นาย ก.จึงทำทีเปิดธุรกิจร้านขนมปังบังหน้า เพื่อแสดงให้เห็นว่า ที่ตนมีรายได้มากมายนั้นมาจากการเปิดร้านขนมปัง เป็นต้น

ความหมายของการรับของโจร
     
       มาตรา 357 ผู้ ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์  วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์  ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร  

ลักษณะการกระทำอย่างไร? เป็นความผิดฐานรับของโจร พอสรุปได้ดังนี้
       1. ความผิดฐานรับของโจร การรับทรัพย์ไว้จะต้องกระทำภายหลัง ที่ได้กระทำอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้นมาสำเร็จแล้ว มิฉะนั้นอาจเป็นการร่วมกันหรือสนับสนุนในความผิดนั้น
       2. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่ได้กระทำผิดโดยตรง โดยตัวทรัพย์นั้นยังไม่ถูกแปรสภาพ ถ้าตัวทรัพย์นั้นถูกแปรสภาพเสียแล้วหรือรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายของอัน ได้มาโดยการกระทำผิด ผู้ที่รับไว้ย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร แม้จะรู้ก็ตาม
       3. ทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดนั้น ต้องเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยตรง ไม่ใช่เพราะไม่ได้รับอนุญาต และเฉพาะความผิด 8 อย่างนั้นเท่านั้น
       4. ความผิดฐานรับของโจร ผู้ที่กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์นั้นมา เช่น ผู้ทำการลักทรัพย์ แม้ภายหลังจะรับทรัพย์ที่ถูกลักมานั้นไว้อีก ก็ไม่ผิดฐานรับของโจร
       5. ความผิดรับของโจร อาจมีการส่งมอบทรัพย์นั้นต่อไปหลายๆ คนก็ได้ ถ้าผู้รับไว้รู้ว่าเป็นของที่ได้มาโดยการกระทำผิดดังกล่าวก็ผิดฐานรับของโจร
       6. ความผิดรับของโจร ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย ในขณะที่รับทรัพย์นั้นไว้ ถ้ารู้ภายหลังจากที่ได้รับของไว้แล้วไม่ผิด แต่ไม่จำเป็นต้องถึงกับต้องรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมายใด มาตราใด
       7. เจตนาเป็นเรื่องภายในของผู้กระทำ จึงต้องถือหลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา คือต้องดูการกระทำของผู้รับของโจรและข้อเท็จจริงอื่นประกอบ เช่น ให้การไม่อยู่กับร่องกับรอยกลับไปกลับมา ซุกซ่อนปกปิดทรัพย์ แสดงกิริยาพิรุธวิ่งหนี รับซื้อไว้ในเวลากลางคืน ซื้อโดยราคาถูกกว่าปกติมาก ซื้อจากเด็กหรือคนขอทานหรือบุคคลที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะขายของชนิดนั้นๆให้ ได้ เป็นต้น ส่วนการซื้อขายโดยเปิดเผยหรือมีหนังสือสัญญาเป็นหลักฐานหรือนำออกมาใช้โดยเปิดเผย แสดงว่าผู้รับไว้ ไม่ทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของคนร้าย ไม่ผิดฐานรับของโจร
       8. ความผิดฐานรับของโจร ต้องนำสืบให้ได้ความว่า
- ทรัพย์นั้นได้ถูกเอาไป โดยการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดใน 8 อย่างนั้น
- ของกลางที่จับได้จากจำเลยนั้น เป็นของเจ้าของทรัพย์ที่ได้ไป ตามข้อแรก
- โดยจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิด

       สรุปให้เข้าใจง่ายๆ การรับของโจร คือการที่ผู้กระทำผิดได้ช่วยซ่อนเร้น (การทำให้ทรัพย์นั้นหายากขึ้น) จำหน่าย  พาเอาไป ซื้อไว้ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยกระทำผิด แต่ถ้าสืบความแล้วพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบว่า ของเป็นของใคร หรือทรัพย์ที่ได้มาผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีความผิด
       จบเรื่องภาษากฎหมายแล้วค่ะ ต่อมาขอนำความรู้เรื่องฟอกเงินและรับของโจร มาตั้งข้อสังเกตและพิจารณาต่อกรณีที่หลวงพ่อธัมมชโย  วัดพระธรรมกาย ที่กำลังถูกตั้งข้อกล่าวหาฟอกเงินและรับของโจร เรามาพิจารณาว่า ท่านผิดหรือไม่? ไม่ผิดเพราะอะไร ?



ขอนำเรียนเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ค่ะ



     
       ประเด็นแรก คือเรื่องที่มาของเงิน อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ ท่านชี้แจงผ่านสื่อมวลชนอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาว่าท่านนำเงินก้อนหนึ่งมาถวายหลวงพ่อธัมมชโย  เงินก้อนนี้เป็นเงินยืม ที่มีการคืนให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเงินจำนวนนี้ปรากฏอยู่ในบัญชีของสหกรณ์ มีหลักฐานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกรมบัญชีสหกรณ์ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมก็ทราบเกี่ยวกับประเด็นนี้  สามารถสืบค้นได้ มีหลักฐานชัดเจน
      ประการที่สอง คือที่ไปของเงินบริจาค ก็เป็นไปเพื่อการสร้างศาสนสถาน หลวง พ่อธัมมชโยท่านได้ทุ่มเทชีวิตของท่านมาตลอดชีวิตเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก ตั้งแต่บวชวันแรกจนกระทั่งปัจจุบัน ศาสนสถานสร้างขึ้นเพื่อ สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนดีที่โลกต้องการโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินสักบาทเดียว (ถ้าเกิดว่าท่านฟอกเงิน รับของโจรจริง ท่านคงไม่เอาเงินมาสร้างศาสนสถานที่สามารถตามตรวจสอบได้ง่ายดายแบบนี้ค่ะ)


       ประการที่สาม คือขั้นตอนการรับ ขั้นตอนนี้สำคัญ การบริจาคเงินจำนวนนี้ไม่ได้ทำในที่ลับ เป็นการรับแต่ไม่ได้ทำในที่ลับ ทำผ่านสักขีพยานจำนวนมาก ท่านใดที่เคยมาวัดพระธรรมกายก็คงจะรับทราบ ท่านใดที่ไม่เคยมาก็ขอนำเรียน กิจกรรมประจำวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันบุญประจำอาทิตย์ นอกจากจะทำทาน รักษาศีล และนั่งสมาธิแล้ว  พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยเมื่อนำปฏิบัติธรรมเสร็จ ท่านยังเมตตาเป็นเนื้อนาบุญเพื่อรับถวายปัจจัย เพื่อนำไปใช้ในโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสานาไปทั่วโลก ดังนั้นจะมีศรัทธาสาธุชน ผู้มีศรัทธานำปัจจัยมาร่วมบุญในโครงการต่างๆ มากมาย ซึ่งหลวงพ่อธัมมชโยทำมาอย่างตลอดต่อเนื่อง


       ข้อสังเกต เราจะเห็นว่าเป็นการรับถวายแบบเปิดเผยและมีสักขีพยานจำนวนมาก สื่อมวลชนหรือในโลกโซเชี่ยลบางสำนัก ชี้นำว่าเป็นการยักยอก เมื่อพิจารณาแล้วไม่ได้เป็นการยักยอกเลย ถ้ายักยอกหรือฟอกเงินก็ต้องแอบทำ แต่นี้ท่านเปิดเผยหมด รับรู้หมด ทุกคนเปล่งอนุโมทนา
       ตรงนี้ขอความเป็นธรรมให้หลวงพ่อธัมมชโย รวมถึงคณะสงฆ์และองค์กรการกุศลต่างๆ เวลาจะมีคนมาบริจาคทรัพย์หรือแม้แต่ตัวเราเอง ถ้าเราจะทำกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคม เกิดมีสปอนเซอร์จะมาให้การสนับสนุน มีงบประมาณเข้ามา ท่านจะถามเขาไหมว่าเงินมาจากไหน? หรือแม้กระทั่งกรมสรรพากรที่เก็บภาษีจากประชาชน ถามประชาชนไหมว่า โกงเขามาหรือเปล่า? นี้เราว่ากันตามความเป็นจริง
       ประการที่สี่ ในห้วงเวลาเดียวกัน อดีต ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ มีการเบิกจ่ายเงิน แล้วบริจาคให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ มากมาย นำเงินไปลงทุน หรือโอนเงินให้กับบริษัทต่างๆ มากมาย แต่ทำไม? มาเลือกปฏิบัติต่อกรณีหลวงพ่อธัมมชโย วัดพระธรรมกายเท่านั้น ถ้าท่านไปดูข้อมูลความเป็นจริงจำนวนเงินทั้งหมดถ้าเปรียบให้เห็นภาพที่ไปสู่องค์กรการกุศลอื่นๆ ไปสู่บริษัทอื่นๆ จำนวนมาก เปรียบเหมือนกับกองแบงก์พัน แต่มาวัดพระธรรมกาย มาบริจาคให้หลวงพ่อธัมมชโย เหมือนกองแบงก์ยี่สิบ แล้วทำไมดีเอสไอ? ถึงมาไล่บี้เอาผิดที่กองแบงก์ยี่สิบกองนี้


       มีอะไรที่แปลกๆ หรือเปล่า? วันนี้นำข้อมูลมานำเสนอทุกท่านเพื่อให้อยู่ในขั้นของกระบวนการไตร่ตรอง ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นต่างๆ หากไม่มีอคติกับหลวงพ่อธัมมชโยแล้ว สิ่งเดียวที่หลวงพ่อธัมมชโยทำ คือท่านเป็นเนื้อนาบุญรับเงินบริจาคจากศรัทธาสาธุชนเท่านั้น
       ขอเรียกร้องและขอความเป็นธรรมให้ กับหลวงพ่อธัมมชโยด้วย ขณะเดียวกันก็ขอความเป็นธรรมให้กับคณะสงฆ์หรือผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม และแผ่นดินนี้ ไม่ใช่ว่าพอรับเงินบริจาคที่เกิดจากคุณความดี ความบริสุทธิ์ของตัวท่านเอง เมื่อมีคนไม่ปรารถนาดี มุ่งร้าย ทำลายกันก็มาตั้งข้อกล่าวหา ยักยอกทรัพย์ ฟอกเงิน มายัดให้ นี่หรือ คือความยุติธรรม?   ความยุติธรรมแทรกแผ่นดินไทยหนีหายไปไหน?



อ้างอิงข้อมูล:
1. การดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, http://goo.gl/JsDo37. เข้าถึงเมื่อ 12 เม.ย. 2559
2.หนังสือพิมพ์ข่าวสด, http://www.dek-d.com/board/view/930863/. เข้าถึงเมื่อ 12 เม.ย. 2559
3. การฟอกเงิน. http://goo.gl/n0kdqz. เข้าถึงเมื่อ 12 เม.ย. 2559
4. พ.ต.ท.ศักกพล สุขปาน, "ความผิดฐานรับของโจร" :http://www.lawyerthai.com/articles/law/020.php เข้าถึงเมื่อ 13 เม.ย. 2559
5. http://www.police.go.th. เข้าถึงเมื่อ 13 เม.ย. 2559
6. ข้อแท้จริงต่อกรณีหลวงพ่อธัมมชโย-สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น https://www.youtube.com/watch?v=ymk . เข้าถึงเมื่อ 13 เม.ย. 2559
7. http://hilight.kapook.com/view/116962/1?view=full

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘