กุสินารา : สถานที่ปรินิพพาน

รูปภาพ
จากซ้าย : “มหาปรินิพพานวิหาร” และ “มหาปรินิพพานสถูป”
ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย



กุสินารา : สถานที่ปรินิพพาน

กุสินารา (ฮินดี : कुशीनगर, อูรดู : کُشی نگر, อังกฤษ : Kusinaga, Kushinagar) พุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร จังหวัดเดวเย หรือเทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ใน ครั้งสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราเป็นเมืองเอก ๑ ใน ๒ ของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา เป็นสถานที่ตั้งของ “สาลวโนทยาน” หรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และ “มกุฏพันธนเจดีย์” สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า กุสินารา มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฏ ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

:b44: ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน อยู่ในแคว้นมัลละ ๑ ใน ๑๖ แคว้นซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือ มีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “โกสินารกา” และฝ่ายใต้ มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “ปาเวยยมัลลกะ” ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง ๑๒ กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่นๆ ในสมัยพุทธกาลจัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ

สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ภายในสาลวโนทยาน ซึ่งแปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น หลัง การปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว เหล่ามัลลกษัตริย์ก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินารา เป็นเวลากว่า ๗ วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์

เหตุที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมือง เล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญคือทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่างๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็กๆ เช่น เมืองกุสินารา ฯลฯ ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิด สงคราม

:b44: กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการบูชาสักการะของพุทธ ศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบๆ สถูปใหญ่ คือ มหาปรินิพพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาปรินิพพานสถูปแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่นๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

ต่อ มาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๓๑๐ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เพื่อเป็นค่าก่อสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลาจารึก

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ราชวงศ์สกลจุรี ได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพระพุทธศาสนาได้หมดจากประเทศอินเดียไปในปี พ.ศ. ๑๗๔๓ ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ กระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินารา และเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า “มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา”

:b49: :b49: ปัจจุบัน กุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญได้แก่

(๑)
มหาปรินิพพานสถูป ตั้งอยู่ด้านหลังของมหาปรินิพพานวิหาร เป็น สถูปแบบทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้างและได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เชื่อกันว่าเป็นที่บรรทมครั้งสุดท้ายและเป็นสถานที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน ณ ใต้ต้นสาละคู่ ภายหลังได้สร้างสถูปครอบไว้ดังจะเห็นได้ในปัจจุบัน สถูปมีความสูง ๖.๑๐ เมตรเหนือระดับพื้นดิน ด้านบนของสถูปเป็นฉัตร ๓ ชั้น

(๒)
มหาปรินิพพานวิหาร หรือวิหารพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหน้าบนฐานเดียวกันกับมหาปรินิพพานสถูป มีบันไดอิฐสูงขึ้นไปบนเนิน ภายในประดิษฐาน “พระพุทธรูปปางปรินิพพาน” อยู่ บนพระแท่นทำด้วยหินทรายแดงหรือเรียกว่า จุณศิลา องค์พระพุทธรูปยาว ๒๓ ฟุต ๙ นิ้ว (ราว ๗ เมตร) กว้าง ๕ ฟุต ๖ นิ้ว สูง ๒ ฟุต ๑ นิ้ว ศิลปะมถุรา มีอายุมากกว่า ๑,๕๐๐ ปี ที่พระแท่นมีรูปสลักของสุภัททปริพาชกกำลังเข้าไปขอบวช และมีรูปสลักพระอนุรุทธะและพระอานนท์อยู่ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่กำลังเสด็จดับขัน ธปรินิพพาน ประทับนอนบรรทมตะแคงขวา โดยหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก และมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย ในจารึกระบุผู้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ คือ หริพละสวามี นายช่างผู้แกะสลักชื่อ ธรรมทินนา เป็นชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมา สักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลใน โลกทั้งปวง

หลวงจีนถังซัมจั๋ง (หลวงจีนเฮียงจัง, Xuanzang) ผู้เดินทางมาถึงสถานที่พุทธปรินิพพาน (พ.ศ. ๑๑๖๓-๑๑๘๗) ได้พรรณนาไว้ตอนหนึ่งว่า “กุ สินาราเมืองหลวงของมัลลกษัตริย์ อยู่ในสภาพซากปรักหักพัง มองเห็นเมืองและหมู่บ้านเป็นสถานที่ร้าง จะมีคนอยู่อาศัยภายในกำแพงเมืองเก่าเพียงเล็กน้อย”

“บริเวณ ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำหิรัญวดีเป็นอุทยานสาลวัน มีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้สาละเปลือกเป็นสีขาวบ้างสีเขียวบ้าง ใบสาละสะอาดเป็นเงา ไม่ขรุขระ ในป่ามีไม้สาละใหญ่ ๔ ต้น บริเวณนี้มีวิหารใหญ่ก่ออิฐปูนหลังหนึ่ง ภายในวิหารมีพระพุทธรูปแบบสีหไสยาสน์ คือในลักษณะประทับนิพพาน หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนกำลังบรรทมหลับ ข้างๆ วิหารใหญ่มีสถูปใหญ่อีกแห่งหนึ่งซึ่งจารึกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง แม้ลักษณะจะทรุดโทรมหักพังไปเป็นอันมากแล้ว แต่ก็ยังมีความสูงเหลืออยู่ถึง ๒๐๐ ฟุต ข้างหน้าพระสถูปมีหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกว่า ที่นี้เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต

(๓) มกุฏพันธนเจดีย์ ตั้งอยู่ห่างจาก มหาปรินิพพานสถูป ไปทางทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร คนท้องถิ่นเรียกว่า “รามภาร์-กา-ดีลา” หรือ รัม ภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า เดิมทีเป็นเชิงตะกอนไม้จันทร์หอม หลังจากที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วก็ได้สร้างพระสถูปครอบลง ต่อมาก็ได้ถูกรุกรานทำลายเหลือแต่ซากปรักหักพัง ภาย หลังได้ถูกขุดค้นพบเป็นซากกองอิฐพระสถูปขนาดใหญ่ดังที่เห็นในปัจจุบัน พระสถูปนี้วัดโดยรอบฐานได้ ๔๖.๑๔ เมตร และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๗.๑๘ เมตร ทั้งนี้ ตามหลักฐานก็เป็นที่ชัดเจนว่านั่นคือสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหรือ มกุฏพันธนเจดีย์ตามที่ชาวพุทธเรียกชื่อกัน ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี


ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ (๖ เอเคอร์) ตั้งอยู่บริเวณกุสินารา ห่างจากสาลวโนทยานไปประมาณ ๕๐๐ เมตร ปัจจุบันมี พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เป็นประธานสงฆ์


(มีต่อ)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘