วัดพระธรรมกาย มีคาถาคุ้มครองด้วย

ตามประสาคนวัยนี้ครับ ที่เขามักบอกว่า ชอบของขม นิยมของเก่า เล่าเรื่องอดีต ผมเองก็ไม่พ้นสัจธรรมนี้ ตอนนี้ ก็เลยอยากจะซุบซิบเมาส์มอยวัดพระธรรมกาย กับเขาบ้าง เพราะรู้สึกเป็นข่าวมาตลอดตั้งแต่ผมมาวัด จวบจนบัดนี้

ย้อนหลังไปเกือบสามสิบปีแล้ว ผมไม่ได้รู้จักหลวงพ่อธัมมชโย และวัดพระธรรมกายมาก่อนเลย  แต่ผมเริ่มมาวัดพระธรรมกาย ตามคำชักชวนของเพื่อนคนหนึ่ง ที่มาเล่าให้ฟังว่า มาวัด มาฝึกนั่งสมาธิแล้วจะเรียนเก่ง

คำว่าเรียนเก่งนี่ มันเป็นคนที่ถูกอกถูกใจนักเรียนนักศึกษาอยู่แล้วครับ มาแล้วจะเก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่เขาบอกว่า จะเรียนเก่ง งั้นก็ต้องมาไว้ก่อน อิอิ ผมก็เลยลองดู แต่ในขณะที่เตรียมจะตัดสินใจมา ก็เริ่มได้ยินข่าวคราวว่า วัดนี้เป็นคอมมิวนิสต์ นำนิสิตนักศึกษาไปล้างสมอง อีกใจหนึ่งก็เริ่มนึกกลัว ก่อนที่จะมา แต่ใจที่อยากเรียนเก่ง และความรู้สึกลึกๆ ที่ผูกพันอย่างประหลาดอยู่ในใจ มีพลังมากกว่า จึงตัดสินใจมาวัดพระธรรมกายเป็นครั้งแรก ในปี 2530

ในสมัยนั้น มีคนมาวัดพระธรรมกายในอาทิตย์ธรรมดาอยู่ราวๆ พันคน และเพิ่มเป็น 4-5 พันคนในวันอาทิตย์ต้นเดือน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครก็แบ่งเป็นแค่ 3-4 ฝ่าย เช่น บุญสถาน จราจร โรงครัว ธรรมโฆษก์ รัตนธรรม และรักษาระเบียบ ผมเองก็มาฝึกนั่งสมาธิเป็นหลัก ยังไม่ได้คิดที่จะเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครแผนกใดๆ แต่อย่างใด ตอนมาฟังหลวงพ่อธัมมชโยท่านสอนสมาธิ ก็รู้สึกว่า ท่านสอนดี แต่ไม่ได้ผูกพันอะไรเป็นพิเศษ อีกทั้งช่วงที่มาวัด ก็มักจะได้ยิน ข่าวคราวอีกด้านของวัดจากข้างนอกเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยังไม่ได้รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาใดๆ มากนัก แต่ผมก็ยังคงมาอย่างต่อเนื่อง



วันหนึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ท่านหนึ่ง รุ่นพี่ท่านนั้นได้พูดให้ฟังว่า "วัดพระธรรมกายนี้ต่อไปจะมีแต่เจริญไม่มีเสื่อม เพราะมีคาถาดี คุ้มครองวัด คาถานี้ตกทอดมาจากวัดปากน้ำเชียวนะ"
"เวทมนตร์คาถา รึเนี่ย" ผมนึกในใจ "ซ้ำออกจากปากรุ่นพี่ที่มาวัดนานแล้วเสียด้วย ชักไม่เข้าท่าเสียแล้ว" เพราะผมเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เรื่องเวทมนตร์คาถาจึงไม่เชื่อถือเลย แต่อีกใจหนึ่ง ก็อยากรู้เหมือนกันว่า คาถาดีที่ว่านั่น มีว่าอย่างไร

และแล้วก็เหมือนบุญบันดาล ไม่นานก็ได้อ่านพบบทเทศน์ของหลวงพ่อทัตตะ(รองเจ้าอาวาส) เกี่ยวกับคาถาคุ้มครองวัด บทนั้นมีว่า คาถาดีคุ้มครองวัด มีอยู่แค่ 3 ประการ คือ หนึ่ง ทำวัดให้สะอาด สอง ทำคนในวัดให้สะอาด สาม ขยันเทศน์ให้กำลังใจ
"มีแค่นี้เองหรึอ" ผมคิด แล้วก็อ่านรายละเอียดต่อ

วัดที่สะอาด นี่สำคัญเป็นอันดับแรกเลย มันแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ของสมาชิกของวัดต่อปัจจัย ข้าวของเครื่องใช้ ที่เจ้าภาพบริจาคมา เพราะเวลาเขาบริจาค เขาจบเหนือหัวมาทั้งนั้น ถ้าหากเราดูแลสถานที่ที่เขาบริจาคมาอย่างดี ข้าวของเครื่องใช้ที่เขาบริจาคเราก็รักษาอย่างดี ต่อไปเขามี เขาก็นำมาบริจาคเพิ่มเติมให้อีก ตรงข้าม หากเราไม่รักษาความสะอาด ปล่อยให้ขยะรกรุงรัง พอเขามาเห็นเช่นนั้น คราวหน้าไปบอกบุญ เขาก็ไม่มีทางบริจาคอีก

"อืม จริงของท่าน" ผมคิด

ต่อมา คนในวัดต้องสะอาด ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันให้สะอาด แค่นั้น แต่หมายถึง ต้องสุจริตกาย วาจา ใจ หากองค์กรใดก็ตาม ผู้นำองค์กรคดในข้องอในกระดูก สักวันก็ต้องพัง เพราะบรรดาสมาชิกที่ถูกเอาเปรียบย่อมยอมไม่ได้ แม้ตอนแรกอาจจะแกล้งกลบเกลื่อน โดยพูดจาใส่ร้ายผู้อื่นให้ผิดแทนตัว แต่พอนานๆ ต่อไป คนอื่นๆ ก็ต้องรู้มากๆ ขึ้นๆ แล้วก็ต้องถูกเชิญออกในที่สุด

แต่ถ้าองค์กรใด คนไม่ซื่อสัตย์ มีมากกว่าคนซื่อสัตย์ สุดท้ายก็ต้องล้มทั้งองค์กร เพราะไปขัดแข้งขัดขากันเองขึ้นมา

"อืม จริงของท่าน" ผมคิด

สุดท้ายคือ ต้องขยันเทศน์ เพราะผู้คนที่มาวัด แทบทั้งร้อย ล้วนมีปัญหาบางอย่างในใจ หากอยู่บ้านสบายๆ ไม่มีปัญหาอะไร เขาก็ไม่มาหรอก ทีนี้ถ้ามาแล้ว พระท่านเอาแต่นิ่งเงียบบอก โน่น ที่ว่าง โน่น โคนไม้ โยมไปนั่งสมาธิเอาเองนะ คราวต่อไป เขาก็ไม่มาอีก เพราะไม่ได้อะไร แต่ถ้ามาแล้ว หลวงพ่อหลวงพี่นำธรรมะมาเทศน์ให้เขานำไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ คราวๆ ต่อไป เขาก็จะมาอีก

ทั้ง 3 ข้อนี้ จึงเป็นคาถาดี คุ้มครองวัดอย่างแท้จริง แต่คาถานี้ ต้องทำนะ ไม่ใช่ท่องอย่างเดียว ถ้าเอาแต่ท่อง แต่ไม่ทำ คาถาจะไม่ศักดิ์สิทธิ์

เมื่ออ่านจบ ผมเข้าใจได้ทันทีว่า วัดเจริญขึ้นมาได้อย่างไร เพราะคาถาดีทั้ง 3 ข้อนี่เอง แต่จะมั่นใจได้เต็มร้อยหรือไม่นะ เพราะมีกระแสข่าวอีกด้านหนึ่งของวัด จากภายนอกอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน ดังนั้น ผมจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า วัดทำตามคาถาทั้งสาม จริงแท้หรือไม่อย่างใด และคาถาทั้งสาม มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า ผมจะต้องรู้ให้ได้ สักวัน ผมคิดในตอนนั้น และแล้วในเวลาต่อมา สิ่งที่เป็นคำถามอยู่ในใจ ก็มีข้อเฉลยให้ผมทุกอย่าง ติดตามได้ในวันต่อๆไปนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘