Augmented Reality (AR) ความจริงต้องขยาย Virtual Reality (VR) ความจริงเสมือน

เราอาจจะคุ้นเคยกับรายการประเภท “เรียลลิตี้” ทั้งหลาย แต่ในโลกดิจิตอลมีคำสองคำที่เกี่ยวกับเรื่อง “เรียลลิตี้” ก็คือ “Virtual Reality” และ ”Augmented Reality“ ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง  แต่บางครั้งความหมายก็ยังสับสนไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่? และมีความหมายต่างกันอย่างไร? มีประโยชน์ในการใช้งานอย่างไรบ้าง? ในท่ามกลางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งจนบางครั้งเราก็ตามไม่ค่อยจะ ทัน   เราลองมาทำความรู้จักกับมันสักหน่อย แล้วจะเห็นว่ายังมีโอกาสใหม่ๆ เปิดกว้างให้เรา อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

VR ต่างกับ AR อย่างไร?

Virtual Reality (VR)

คือ “ความจริงเสมือน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการจำลองสภาพแวดล้อมให้ปรากฏเหมือนสภาพแวดล้อมในโลก จริง หรือสภาพแวดล้อมโลกในจินตนาการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นสภาพแวดล้อมด้านภาพและเสียง ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นที่หน้าจอแบบพิเศษ ที่ทำให้ดูเหมือนจริง นอกจากนี้อาจมีข้อมูลอื่นๆ นำเสนอด้วย เช่น ข้อมูลทางยุทธการ สำหรับระบบการรบจำลอง เป็นต้น โดยระบบ VR ที่ซับซ้อนจะมีอุปกรณ์ที่ออกแบบเฉพาะเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ถุงมือควบคุม (wired glove) หรือ หมวกและแว่นแบบพิเศษ เป็นต้น

 Augmented Reality (AR) 

ถ้าแปลให้ตรงตัวแบบสไตล์ผู้เขียน ก็คือ “ความจริงส่วนขยาย” หมายถึงเทคโนโลยี ในการเพิ่มข้อมูลที่มีความหมายให้กับสิ่งของ หรือสถานที่จริงๆ โดยเริ่มด้วยการเปิดรับข้อมูลอ้างอิงทางด้านภาพ เสียง หรือการบอกตำแหน่งด้วยระบบ GPS และอื่นๆ จากที่นั้น แล้วระบบก็จะทำการสร้างข้อมูลเพิ่มเติมให้วัตถุจริงที่มีอยู่เดิม ทั้งในรูปแบบภาพ เสียง และข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ใช้มีข้อมูลเชิงลึกเพิ่มขึ้น หรือสามารถตอบโต้ได้   ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์และมีการรับรู้เพิ่มเติมจากสิ่งของหรือสภาพแวดล้อม จริงๆ ที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง

“โดยสรุปง่ายๆ ก็คือว่า VR ทำโลกตรงหน้า จากไม่มีอะไร ให้เหมือนมีจริงขึ้นมา แต่ว่า  AR จะทำของจริงตรงหน้าให้มีข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมานั่นเอง”

ความเป็นมาของ  AR

เทคโนโลยีนี้ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 จัดเป็น แขนงหนึ่งของงานวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ว่าด้วยการเพิ่มภาพเสมือนของโมเดลสามมิติที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ลงไปในภาพ ที่ ถ่ายมาจากกล้องวิดีโอ เว็บแคม หรือกล้องในโทรศัพท์มือถือ แบบเฟรมต่อเฟรม ด้วยเทคนิคทางด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจึงมีการใช้ไม่แพร่หลายเท่าไหร่  แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมือถือ และการสื่อสารข้อมูลไร้สาย รวมทั้งการประมวลต่างๆ มีความรวดเร็วขึ้นและมีราคาถูก จึงทำให้อุปกรณ์สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ทำให้เทคโนโลยีที่อยู่แต่ในห้องทดลอง กลับกลายมาเป็นแอพที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานกันง่ายๆ ไปแล้ว  โดยในช่วง 2-3 ปีมานี้ AR เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงอยู่เป็นระยะ แม้จะไม่ฮอตฮิตเหมือนแอพตัวอื่นๆ ก็ตาม  แต่อนาคตยังไปได้อีกไกล  ทั้ง VR และ AR สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้กว้างขวางหลากหลาย ทั้งด้าน อุตสาหกรรม การทหาร การแพทย์ การตลาด การบันเทิง การสื่อสาร และ การศึกษา

หลักการทำงานของระบบ  AR

เป็นการนำเทคโนโลยีมาผสานระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและความเสมือนจริง เข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆเช่นเว็บแคมคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องโดยองค์ประกอบของระบบ AR มีดังนี้
1. ตัว Marker (หรือMarkup) ซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ หรือรูปภาพที่กำหนดไว้เป็นตัวเปรียบเทียบ กับสิ่งที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล (Marker Database)
2. กล้องวิดีโอ กล้องเว็บแคม กล้องโทรศัพท์มือถือ หรือตัวจับ Sensor อื่นๆ เพื่อทำการการวิเคราะห์ภาพ
(Image Analysis) และวิเคราะห์จาก marker ประเภทอื่นๆ ที่กำหนดไว้  โดยระบบจะทำการคำนวณค่าตำแหน่งเชิง 3 มิติ (Pose Estimation) ของ Marker เทียบกับกล้อง
3. ส่วนแสดงผล อาจเป็นจอภาพคอมพิวเตอร์ หรือจอภาพโทรศัพท์มือถือ หรืออื่นๆ
4. ซอฟต์แวร์หรือส่วนประมวลผลเพื่อสร้างภาพหรือวัตถุแบบสามมิติ กระบวนการสร้างภาพสองมิติจากโมเดล 3 มิติ
(3D Rendering) เป็นการเพิ่มข้อมูลเข้าไปในภาพโดยใช้ค่าตำแหน่งเชิง 3 มิติที่คำนวณได้จนได้ภาพหรือข้อมูลซ้อนทับไปบนภาพจริง

ตัวอย่างแอพ  AR ในการใช้งานจริง

ผู้เชี่ยวชาญทันใจ

แอพชื่อว่า Aurasma  (http://www.aurasma.com/) พัฒนาโดยบริษัท  Autonomy  ผู้คิดค้นแพลตฟอร์ม AR ซึ่งเพิ่งถูกซื้อโดยบริษัท HP ด้วยมูลค่า 7 พันล้านเหรียญ  โดยแอพนี้ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น การแสดงคำแนะนำการติดตั้ง TV แบบติดผนัง แบบเรียลไทม์สดๆ กันเลย

Pic01

อีกต้วอย่างของผู้เชี่ยวชาญทันใจก็คือ Metaio ซึ่งเป็นแอพ  AR อีกตัวที่ช่วยแนะนำการเปลี่ยนตลับหมึก โดยเพียงแค่เปิดกล้องส่องไปที่เครื่องพริ้นเตอร์เป้าหมายเท่านั้น

Pic02

ปลุกชีวิตตำราอาหาร

ซอสมะเขือเทศ Heinz ได้ทำหนังสือสอนทำอาหารที่เรียกว่า “augmented reality recipe book” โดยใช้เทคโนโลยีของ Bippar  (www.blippar.com) โดยผู้ใช้ซึ่งลงแอพไว้แล้ว เปิดกล้องของมือส่องไปที่ขวดของซอสมะเขือเทศ Heinz อันโด่งดัง สักแป๊บหนึ่งก็จะมีสูตรอาหารโผล่มาให้เลือกดูที่หน้าจอมือถือทันที

Pic03

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ Jamie Oliver เชฟอิสระ และนักจัดรายการเกี่ยวกับการทำอาหารชื่อดังชาวอังกฤษ  อ้างว่าตัวเองเป็นเชฟรายแรกในโลกที่ใช้เทคโนโลยี  AR ในการเสริมหนังสือตำราปรุงอาหารธรรมดา  ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับผู้ที่ต้องการเรียนปรุงอาหาร จากหนังสือของเขา โดยผู้ซื้อและผู้อ่านตำราปรุงอาหารของเขา สามารถดาวน์โหลดแอพฟรีโดยใช้เทคโนโลยี AR ของ  Arasma ที่ทำมาคู่กับหนังสือ ซึ่งเมื่อคนอ่านเอามือถือโดยการสแกนไปยังรูปอาหารในหนังสือแล้ว  มันก็เปิดวีดิโอรายการทีวี และคอนเท้นท์ออนไลน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้นมาให้ดูทันที  และยังสามารถเปิดโพยสูตรอาหารนั้นที่หน้าจอเพื่อนำไปซื้อวัตถุดิบการปรุง อาหารได้อ่างถูกต้องได้จากร้านซูเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย

 Pic04

ซูเปอร์ไกด์ฉบับมือถือ

Pic05

แอพที่ชื่อว่า World Browser ของ  Wikitude (www.wikitude.com) เป็น AR ที่สร้างสรรค์และสนุก โดนมันจะทำให้คุณค้นพบโลกใหม่รอบๆ ตัวคุณ เพียงแต่ส่องกล้องของเครื่องมือถือคุณไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ รอบตัวคุณ มันก็จะแสดงข้อมูลอธิบายเพิ่มเติมออกมา และสามารถตอบโต้กับมันได้อย่างสนุกสนาน

Pic06

แอพ NewYork Nearest Place ของ Acrossair (www.acrossair.com) ทำให้ลืมแผนที่แบบ 2D อันน่าเบื่อของรถไฟใต้ดินของนิวยอร์คไปเลย  แอพตัวนี้ช่วยให้นักท่องเที่ยวและชาวนิวยอร์ค เดินทางไปยังสถานีรถไฟใต้ดินที่ใกล้ที่สุดได้อย่างสะดวกง่ายดายโดยไม่ต้อง กางแผนที่เลย

Pic07

นอกจานี้ Acrossair จะรวบรวมทุกฐานข้อมูลที่คุณจะต้องใช้สำหรับ AR เมื่อคุณไปถึงสถานต่างๆ ในนิวยอร์ค เช่น แนะนำร้านอาหาร ร้านกาแฟ และบาร์ รวมทั้งประวัติของสถานที่สำคัญต่างๆ เป็นต้น เอาไว้ในหน้าจอเดียวกัน

Pic08

และที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือแอพ Layar (www.layar.com) ซึ่งเป็นหนึ่งใน  AR แพลตฟอร์มที่โด่งดังและยอดนิยมที่สุด ทั้งบน iPhone และ Android ซึ่งเป็น open platform ที่จะช่วยให้สร้างเลเยอร์คอนเท้นท์ได้หลายชั้นบน  ระบบนี้ถูกพัฒนาเริ่มต้นจากโปรแกรมหาร้านฮอตดอก ในมหาวิทยาลัย จนเดี๋ยวนี้โด่งดังไปทั่วโลก

Pic09

AR เพื่อการศึกษา
แอพนี้เป็น  AR เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับระบบกายวิภาค (anatomy) โดยจะให้ภาพและข้อมูลเกี่ยวกับโครงกระดูกในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทับลงไปยังภาพอวัยวะจริงๆ ของคน  พูดง่ายๆ คือมันช่วยให้คุณ “มองทะลุ” เข้าไปในร่างกายคนได้เลยทีเดียว

Pic10

ตัวอย่างระบบ AR สำหรับการศึกษาดาราศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนจับดาวมาเล่นกันได้อย่างสนุกสนาน

Pic11

ตัวอย่างการใช้ AR มาช่วยสอนนักเรียนในการซ่อมบำรุงรถยนต์ ซึ่งก็ประมีประโยชน์ในแง่อุปกรณ์ตัวอย่างมีจำกัดและการฝึกจริงต้องใช้เวลา นาน  แต่นักเรียนมีจำนวนมาก ก็สามารถทำให้ประหยัดงบประมาณและเวลาในการฝึกอบรมไปได้มาก

ปลุกชีวิตให้นิตยสาร

Pic12
Pic13

Blippar ซึ่งเป็นบริษัทผู้ทำแอพด้าน AR รายใหญ่อีกเจ้าหนึ่ง ได้การร่วมมือกับ Total Film Magazine ในการทำให้คอนเท้นท์ในนิตยสารแสดงข้อมูลแบบ AR ออกมาได้ในจุดที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้อ่านนิตยสาร เปิดมาถึงหน้ารีวิวหนังใหม่ ก็สามารถเปิดดูวีดิโอคลิปตัวอย่างหนัง (trailer) หรือเบื้องหลังการถ่ายทำ (behide the scene) ได้ หรือถ้าถูกใจหนังเก่าเรื่องไหนก็สามารถใช้ระบบ m-commerce สั่งซื้อ DVD มาดูได้ทันที นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ร่วมสนุกชิงตั๋วหนังฟรี หรือสมัครสมาชิกได้ลดราคา เป็นต้น

ช่วยสร้างแคมเปญการตลาด

Pic14

มีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AR ที่น่าสนใจขององค์กรการกุศลที่ชื่อว่า CoppaFeel! (www.coppafeel.org) ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้คุณผู้หญิงสาวรุ่นใหม่ของอังกฤษ ให้ ทำการคลำหน้าอก (นม นั้นและครับ) ของตนเอง เพื่อตรวจหาการเกิดมะเร็งเต้านมเสียแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาทัน   ได้ทำป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ บนถนนที่มีการจราจรหนาแน่น  โดยในบิลบอร์ดจะมีรูปหน้าออกสาวใส่บรา แล้วมีคำว่า “Hello Boobs” (Boobs เป็นคำสแลงที่หมายถึง “ หน้าอก” นั่นแหละครับ) โดยผู้เล่นจะถ่ายรูปภาพหน้าอกจากบิลบอร์ด โดยสมาร์ทโฟนที่ลงแอพของ Blippar ไว้ (ภาพในรูปซ้าย) สักครู่หนึ่งแอพก็จะแปลงภาพหน้าอกธรรมดาๆ ให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติ พุ่งนูนขึ้นมา (ดังภาพในรูปขวา) โดยคุณสามารถตั้งชื่อหน้าอกนี้ แล้วแชร์รูปพร้อมชื่อไปทาง facebook และ twitter  ให้เพื่อนๆ  ได้ นอกจากนี้คุณก็สามารถคลิกไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมของ coppafeel  ได้ ซึ่งก็จะชักชวนให้คุณ คลำหน้าอกตัวเองเพื่อตรวจสอบมะเร็งเต้านมนั่นเอง

ลองเฟอร์นิเจอร์ใหม่ด้วยกระดาษแผ่นเดียว

Pic16

บริษัท AR มาแรงจากฝั่งแสกนดิเนเวีย ชื่อแปลกว่า Sayduck (www.sayduck.com) ได้คิดค้นเทคโนโลยีให้กับผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ รายใหญ่อย่าง IKEA โดยให้ลูกค้าสามารถ ทดลองเลือกวางชิ้นเฟอร์นิเจอร์ลงบนตำแหน่งที่จริงได้ โดยใช้กระดาษตัว marker วางไว้ที่พื้นในตำแหน่งที่ต้องการวางเฟอร์นิเจอร์  ซึ่งตัวแอพสยังสามารถสร้างแสงเงาได้กลมกลืมตามสภาพแวดล้อมจริงได้อีกด้วย

แนวโน้มอนาคต

ในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้ เทคโนโลยี “การค้นหาด้วยภาพ (visual search)” จะเป็นสิ่งที่จะมาพลิกโฉมของการที่มนุษย์จะติดต่อและใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟน โดยการใช้ เทคโนโลยีการจดจำภาพ (image recognition) ก็จะทำให้โปรแกรมสามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่มันมองเห็นอยู่เป็นวัตถุหรือรูปภาพ อะไร  ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการซื้อของออนไลน์ให้ง่ายขึ้นมาก จนคุณแทบไม่ต้องออกแรงใดๆ เลย เรียกว่าขั้นตอน “POINT-KNOW-BUY” โดยคุณสามารถสแกนรูปภาพหรือวัตถุที่เป็นสินค้าเป้าหมาย ระบบก็จะแสดงข้อมูลเชิงลึกของสินค้านั้น เมื่อคุณพอใจก็สามารถสั่งซื้อของชิ้นนั้นได้ทันที  ซึ่งตอนนี้แม้ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Google ก็กำลังบุกเบิกเรื่องนี้อยู่อย่างขะมักเขม้น เรียกว่า เทคโนโลยี Google Goggle หรือ Layer Vision

เมืองไทยทำ AR อะไรกันดี?

ดูเหมือนว่าการใช้งาน AR ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันเท่าไหร่ อาจจะด้วยสาเหตุที่ว่ายังไม่มีใครทำแอพดีๆ มาให้ใช้งานกันก็เป็นได้  ซึ่งผมมีไอเดียหลายอย่างที่คิดว่าน่าจะทำ เช่น การให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวแบบ AR ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์  อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา และสุโขทัย ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงจุดสำคัญ แทนที่อ่านแค่ป้ายหรือฟังไกด์อธิบายธรรมดา  แต่สามารถเปิดภาพและเสียงที่บอกเล่าและจำลองภาพสถานการณ์ในยุคอดีตได้     อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการใช้ AR ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ซึ่งมีอยู่มากมายในกรุงเทพ และเมืองท่องเที่ยว อย่างพัทยา และภูเก็ต  โดยเมื่อคุณเข้าไปในห้าง ก็แค่สแกนไปที่ป้ายแผนผังของห้างตรงจุดที่กำหนด คุณก็จะเห็นคูปองลดแลกแจกแถมโผล่ออกมา ให้คุณเลือก save และนำไปใช้ที่ร้านค้าผู้แจกคูปอง โดยแสดงเส้นทางการเดินไปร้านให้เสร็จสรรพ  ไอเดียนี้ใครจะเอาไปทำก็ได้นะครับ ไม่สงวนลิขสิทธิ์  นี่เป็นแค่ตัวอย่าง คุณเองล่ะลองมองไปรอบๆ ตัวซิว่า  มันน่าจะทำ AR อะไรได้บ้าง  เรามาช่วยกันพัฒนาแอพด้าน  AR ของไทยให้คึกคักกันนะครับ
โดย ภาสกร ใหลสกุล (จากต้นฉบับนิตยสาร DMA)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘