Money101 วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน

สมัยตอนที่เรากำลังเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลาย เคยตั้งคำถามกันไหมครับ ว่าไอ้สิ่งที่เรากำลังเรียนกันอยู่ อย่างการหาพื้นที่เส้นรอบวง พื้นที่ใต้กราฟ ตรีโกนมิติ บัญญัติไตรยางค์ (รู้สึกจะมีแต่วิชาคณิตฯ) อะไรพวกเนี่ย เราจะเรียนกันไปทำไม? มันมีเหตุผลอะไรที่เราควรจะต้องไปท่องจำหรือพยายามเข้าใจมัน? คำถามเหล่านี้เคยวนเวียนอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่ยังเด็ก

และนี่เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้ผมการเรียนวิชาคณิตฯ ของผม ไม่ค่อยจะเอาอ่าวมากนัก
ซึ่งผมก็แก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายๆ อย่างการหลีกเลี่ยงการเรียนวิชาเลขแทบจะทุกหน่วยกิต หลีกเลี่ยงวิชาที่ไม่ได้ชอบ มุ่งไปสู่เส้นทางที่ไร้ซึ่งตัวเลขเป็นหลัก และมันก็ทำให้ผมสามารถใช้ชีวิต เดินหน้าต่อไปได้อย่างในปัจจุบัน
แต่นั่นแหละครับคือประเด็น! ประเด็นที่ผมพึ่งจะทราบหลังจากที่ผมจบมาหลายปีแล้ว ว่าสิ่งหนึ่งที่เด็กทุกคน ไม่สิ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะเรียนรู้อย่างยิ่งยวด เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดในการใช้ชีวิตได้อย่างจริงๆ นั้น มันไม่มีการสอนมาในโรงเรียน ในที่เรียนพิเศษ หรือแม้แต่ในมหาลัยเลยด้วยซ้ำ
นั่นก็คือ “วิชาหาเงิน ออมเงิน และจัดการเงิน” ครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ยิ่งเรียนเร็วยิ่งดี ก็เพราะ “เวลา” นั้นมีค่ามากเหลือเกิน

วิชาออมเงิน สิ่งที่เด็กทุกคนควรทำตั้งแต่อนุบาล!

มีเท่าไหร่ => ใช้ให้น้อย = ที่เหลือคือ “เงินออม”
บรรทัดบนก็คือสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล บางโรงเรียนก็ก้าวหน้า ถึงขั้นบังคับให้นักเรียนจดบัญชีรายรับรายจ่ายด้วยซ้ำไป อย่างโรงเรียนผมถึงขั้นต้องทำเป็นการบ้านมาส่งครูเลยทีเดียว  แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ทำแล้วมันไม่ค่อยมีแรงจูงใจครับ
child-money
เพราะ เด็กอย่างเราๆ ค่าขนมก็ได้วันละไม่กี่บาท สมัยผมอยู่มอต้นได้วันละ 40.- เอามาซื้อข้าวกินเองตอนไม่ชอบมื้อเที่ยง รร. หรือเอามาซื้อขนมอีกหน่อยก็ตังค์หมดแล้ว หรือถ้าอยากได้การ์ตูนที่สมัยนั้นยังเล่มละ 30.- ก็ต้องยอมอดขนมเอาทั้งวัน นอกจากเงินค่าขนมแล้วก็ไม่มีรายได้อื่นๆ อีก แถมยังคิดหาทางเพิ่มรายได้ไม่เป็นด้วย ผลลัพธ์ก็คือ เราเก็บเงินไม่ได้เลย มีรายได้เข้ามาก็ต้องจ่ายออกตลอด
ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะสำหรับเด็ก หรือสำหรับเด็กโข่งอายุเกิน 20 ก็ตาม ไอ้ภาวะที่เราไม่มีรายได้มากเท่าไหร่นี่แหละ เป็นภาวะที่เหมาะสมในการปลูกฝังเรื่อง “การออม” ให้กับเด็กอย่างเต็มที่ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการข้างต้นเป็น
มีเท่าไหร่ => “แบ่งออมเลย” = เหลือไว้ใช้
ถ้าเราทำได้แบบนี้ ไม่ว่าเราจะมีรายได้มากหรือน้อย เราก็ยังสามารถหยุดเงินไว้ที่ตัวเราได้ ถ้ามีรายได้วันละ 40.- เด็กอาจจะเลือกออมเงินไว้ 10.- ต่อวัน (25% ของรายได้แล้วนะนั่น) และที่สำคัญก็คือ เราควรหัดให้ทุกคนออมเงินอย่าง “มีวินัย” เพราะนั่นแหละคือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เงินออมนั้นงอกเงยขึ้นมา
ส่วนใครจะเลือกออมได้มาก หรือออมได้น้อย ก็แล้วแต่ประสิทธิภาพของแต่ละคนนะครับ บางคนมีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ยังกัน “เงินออม” ไว้ได้ในสัดส่วน (%) ที่น้อยกว่าคนรายได้ไม่กี่หมื่นด้วยซ้ำ เพราะคนมีรายได้มาก ก็พยายามหาทางใช้จ่ายไปกับชีวิตของตนเองมากขึ้นๆ เป็นไปตามกลไกของหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า คนเรามีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้นเราควรจะสอนให้เด็กของเรา รู้จักกันเงินออม เพื่อฝึกวินัย ทั้งทางด้านการเงินและการใช้ชีวิตไปพร้อมกัน เป็นขั้นแรกสู่ความมั่งคั่งครับ

วิชาหาเงิน เด็กทุกคนควรรู้ตั้งแต่ ม.ต้น!

อันที่จริงจั่วหัวไปก็ค่อนข้างแรงอยู่ เหมือนจะไปสั่งสอนเด็กทุกคนให้ใช้ชีวิตอยู่เพื่อเงินไปเสียฉิบ แต่ยอมรับเถอะครับว่า โลกเราทุกวันนี้มันหมุนไปได้ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มี “เงิน” เป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงให้เดินหน้าต่อไปได้
ย้อนกลับไปที่ผมเคยบ่นไปข้างต้น ว่าทำไมเราต้องมานั่งเรียนวิชาอะไรที่เราไม่ได้ชอบ ที่เราไม่ได้รู้สึกเลยว่ามันจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้ เพราะถึงเราจะยังเด็ก แต่เราก็พอจะรู้ว่า การที่ชีวิตจะดีขึ้นได้นั้น สิ่งสำคัญหลักๆ เลยก็คือเราจำเป็นต้องมี “เงิน” เอาไว้เลี้ยงชีพ (ยกเว้นการทำเกษตรพึ่งตนเอง กับการบวชพระไปนะ) การที่เราจะมีความสุขได้นั้น เราก็จะต้องมีเงินเอาไว้ดูแลคนที่เรารัก
shutterstock_73460956
เคย ได้ยินคำถามนี้กันไหมครับ? “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” เราซึ่งยังเป็นเด็กไร้เดียงสา ที่รู้จักการทำมาหากินอยู่ไม่กี่อาชีพ ก็มักจะตอบว่า ครู ทหาร ตำรวจ หมอ พยาบาล วิศวะ ฯลฯ ทั้งที่เราไม่เคยรู้เลยว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง? เป็นหมอต้องเจอเลือดเจอเชื้อโรค เจอคนหลากหลาย  และต้องตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะตาย ได้พักผ่อนน้อยและไม่ค่อยมีเวลาส่วนตัว เป็นทหารและตำรวจต้องฝึกหนักเสี่ยงชีวิต ต้องยิงปืน ต้องตัดสินใจที่จะจับหรือสังหารคน เป็นวิศวกรโยธาต้องรับผิดชอบการสร้างตึกสูงที่รองรับชีวิตคนนับร้อย ต้องทำงานในไซต์ก่อสร้าง ฯลฯ
เป็นไปได้ไหม ว่านี่คือสิ่งที่เราควรจะให้เด็กควรจะต้องทราบก่อน ตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง? ดังนั้นเราควรจะเปลี่ยนมาถามเด็กๆ ว่า “หนูอยากจะหาเงินเพื่อใช้ชีวติด้วยการทำอะไร?” จะดีกว่าไหม
จากนั้นเด็กๆ ก็ควรที่จะได้รับรู้ว่า วิชาต่างๆ ที่เรากำลังเรียนอยู่ในหนังสือ หรือสิ่งที่เรากำลังท่องกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั่นน่ะ มันจะช่วยให้เราไปถึงสิ่งที่เราอยากเป็น และหาเงินเลี้ยงชีพได้ยังไง? เราควรจะได้รู้ตั้งแต่เด็ก ว่าวิชาคณิตศาสตร์การเทียบบัญญัติไตรยางค์ จะเป็นพื้นฐานของการมองหาการเติบโตของธุรกิจ วิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูง จะเป็นรากฐานในการคำนวนการรับน้ำหนักและความแข็งแรงคงทนของการก่อสร้างตึก เราต้องท่องจำธาตุเคมี เพื่อที่เราจะได้เอาไปผสมเป็นสูตรสำหรับทำเครื่องสำอางค์หรือยารักษาสิว ฯลฯ
ถ้าเราสอนให้รู้กันตั้งแต่เด็ก ในเส้นทางของอาชีพที่เรารู้แล้วว่ามีวิถีชีวิตที่ควรเป็นยังไง และเด็กตัดสินใจแล้วว่าอยากจะดำรงชีพด้วยอาชีพแบบนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะมันจะช่วยหาเงินไปเลี้ยงชีพตัวเองและคนที่เรารัก ไม่ว่าจะต้องการทำ เพราะคิดว่าทำแล้วจะมีความสุข หรือจะทำด้วยอุดมการณ์อันสูงส่งที่จะให้อะไรแก่สังคม
การตัดสินใจนั้นก็จะกลายเป็นเส้นทางที่แจ่มชัด เป็นสิ่งที่เด็กควรจะมุ่งหน้าไปได้โดยไม่หลงทาง หรือไม่เกิดความคิดที่ว่า
“แล้วตรูจะเรียนไอ้เนี่ยไปเพื่ออะไร?” อย่างที่ผมเคยเป็น
ส่วนอีกวิชาที่ผมอยากจะพูดถึง หลังจากที่ควรจะรู้เรื่องการออมเงิน และการหาเงินแล้ว ก็คือวิชาการ “จัดการเงิน” นั้น
ขอยกยอดเอาไว้ต่อบทความหน้าก็แล้วกันนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘