หุ้น:ทำไม "หยุดขาดทุน" จึงสำคัญนัก

อย่าขาดทุน รักษาเงินต้นก่อน ค่อยทำกำไร
ประโยคเหล่านี้ มีประโยชน์และคุณค่ามาก


ประโยชน์ข้อแรกคือ รักษาชีวิตในตลาด
เพราะเงินทุน คือ สายน้ำแห่งชีวิตของนักลงทุน
หากเงินทุน "แห้งเหือด" จนหมด
ชีวิตนักลงทุนก็จบลงด้วย


ข้อสองคือ เมื่อ "ขาดทุน" หรือสูญเสียสิ่งที่มีอยู่
คุณต้องพยายามมากกว่าเดิม เพื่อให้ได้ "สิ่งที่เคยมีแล้ว" กลับคืนมา


โดยหากคุณมีเงิน 100 บาท
เมื่อขาดทุน 10% คือเหลือเงิน 90 บาท
ต้องนำเงินทุนที่เหลือ (90 บาท) ไปทำกำไร 11% จึงจะมีเงิน 100 บาทเท่าเดิม
เมื่อคุณขาดทุน 30% ต้องทำกำไร 43% จึงเท่าทุน
ซึ่งหากคุณขาดทุน 50% ต้องทำกำไรถึง 100% จึงเท่าทุน



ภาพประกอบจาก www.iammrmessenger.com



จะเห็นว่า ยิ่งขาดทุน มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องทำกำไรกลับเป็น % มากขึ้นเท่านั้น
เป็นการเสียเวลา เสียพลังงาน โดยเปล่าประโยชน์
ไม่มีอะไรงอกเงยเพิ่มขึ้นมาเลย


ซึ่งตัวอย่างประโยชน์จากการรักษาสิ่งที่มีอยู่
ก็มีให้เห็นอย่างมากมาย
เรารู้ดีว่า การรักษาลูกค้าเก่า ง่ายกว่าหาลูกค้าใหม่
การถนอมน้ำใจครอบครัว ง่ายกว่าการ "สมานรอยร้าว" เมื่อเกิดปัญหาแล้ว
ถนอมร่างกายและสุขภาพปัจจุบัน ง่ายกว่าและดีกว่า ทนทุกข์กับการรักษายามป่วยไข้

ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงควรรักษา "เงินทุน" ที่มีอยู่ ไม่ให้ขาดทุนมากเกินไป



ข้อสามคือ การคิดเรื่อง "รักษาเงินทุน" อยู่ทุกลมหายใจ
จะทำให้ประสิทธิภาพการลงทุนของเราดีขึ้น

เพราะเราจะหาข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนทุกครั้ง ก่อนลงทุน
เพื่อป้องกัน หรือ เสี่ยงขาดทุน ให้น้อยที่สุด
เลยเกิดเป็น "ปฎิกริยาสะท้อนกลับ"
ยิ่งรู้มาก โอกาสขาดทุนน้อยเท่าไหร่ ยิ่งกำไรมากเท่านั้น


เมื่อดู "หลักคิด" ของนักลงทุนระดับโลก ที่ทำกำไรมหาศาล
ต่างก็เน้นย้ำเรื่อง "อย่าขาดทุน" กันทั้งนั้น


วอเรน บัฟเฟต บอกว่า กฎในการลงทุนของเขามีแค่ 2 ข้อ
ข้อ 1 คือ อย่าขาดทุน ข้อ 2 คือ อย่าลืมข้อ1 เป็นอันขาด
พ่อมดการเงินอย่าง จอรจ์ โซรอส ก็มีกฎว่า "จงรักษาเงินต้นไว้เสมอ"
นักเก็งกำไรระดับโลก ก็มีกฎคล้ายกันว่า "จงขาดทุนให้น้อยที่สุด"


ซึ่งผมเห็นว่า การที่นักลงทุนผู้สำเร็จคิดถึง "อย่าขาดทุน" เป็นสิ่งแรก
ทำให้พวกเขาพิจารณาลึกซึ้งก่อนลงทุนทุกครั้ง
จนส่งผลให้ "ขาดทุนน้อยแต่กำไรมหาศาล"



สรุปคือ "อย่าขาดทุน" คือ กฎทองคำ ที่ทรงคุณค่า
หากทำได้ การลงทุนจะมีประสิทธิภาพมาก
จึงขอเชิญชวนทุกท่าน "หยุดขาดทุน"
เพราะหากไม่หยุด ชีวิตการลงทุนของเราอาจ "หยุด" แทนครับ

ขอบพระคุณครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘