อดีตนายช่างสู่ "เซียนเทคนิค""โอฬาร ภัทรกอบกิตติ์" (ตอน 1)

จาก“ช่างโยธา” สู่นักเขียนหนังสือ สุดท้ายชีวิต “โอฬาร ภัทรกอบกิตติ์” แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์ 2548 พลิกผันเป็น “นักเทคนิค” ปัจจุบันกูรูฟิวเจอร์ส

ความเก่งของ “บ๊อบ-โอฬาร ภัทรกอบกิตติ์” ถูกการันตีด้วยตำแหน่ง “แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย 2548 รายการ แฟนพันธุ์แท้”

ความกระตือรืนร้นพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ทำให้คนในแวดวงตลาดหุ้นหลายคนยกย่องให้เขาเป็น “กูรูด้านการลงทุน”

ไม่เว้นแม้แต่รุ่นน้องแชมป์สุดยอดแฟนพันธ์แท้ตลาดหุ้นไทยปี 2556 รายการแฟนพันธุ์แท้ “ซัน-กระทรวง จารุศิวะ”

“คุณต้องไปคุยกับพี่ชายผมคนนี้เก่งมาก” “หนุ่มซัน”เคยพูดเชื้อเชิญให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz Week” ไปทำความรู้จัก “บ๊อบ”

ระหว่างที่บิสวีคยังไม่ติดต่อขอสัมภาษณ์ “ซัน” มักโทรศัพท์หา “บ๊อบ” เพื่อกล่อมให้รับนัดแต่โดยดี

“บ๊อบ-โอฬาร” ย้อนความหลังให้ฟังว่า คุณพ่อ-แม่ ยึดอาชีพค้าขายย่านวังหลัง เพื่อเลี้ยงดูเรา 3 คนพี่น้องมาตั้งแต่เด็กๆ

ผมเป็นพี่ชายคนโตมีหน้าที่ช่วยครอบครัวขายของ อาชีพค้าขายมีมาตั้งแต่รุ่นปู่-ย่า-ตา-ยาย ท่านเป็นคนจีนเมื่ออพยพมาอยู่เมืองไทย ก็เปิดร้านขายของเป็นอาชีพแรก

ผมไม่เคยอายที่ครอบครัวเป็นคนค้าขาย ในขณะที่เด็กคนอื่นๆอาจไม่กล้าขายของ เราขายมาทุกอย่างแล้วตั้งแต่ทุเรียนยันมะพร้าว

สินค้าอะไรใหม่ๆเราขายหมด เมื่อก่อนขนมปังกรอบอบเนย “ฮิต” มาก ครอบครัวเราถือเป็นเจ้าแรกๆ ในย่านวังหลังที่ทำออกมาขาย จากนั้นก็พัฒนามาขายปลีก

“ขนมปัง-คุกกี้ ขนมเค้ก” ก่อนเปลี่ยนมาขายส่งย่านบางแค ตอนนั้นเราปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่หมด หลังลูกค้าประจำเริ่มมารับขนมมากขึ้น

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เราไปสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนเก่งมาก

เมื่อเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 2 เกิดความรู้สึกแย่ๆ กับการเรียนหนังสือ มีคำถามเกิดขึ้นในหัวว่า ทำไมต้องเรียนหนังสือ (หัวเราะ)

ทั้งๆ ที่สมัยก่อนก็ไม่ได้เรียนแยะเหมือนเด็กสมัยนี้ นั่นเป็นความคิดของเด็กคนหนึ่งตอนอายุ 12 ปี แต่ไม่มีใครมาอธิบายให้ฟังได้ว่า ทำไมต้องเรียนหนังสือ?

ตอนนั้นรู้สึกเหมือนว่า ผู้ใหญ่บอกให้ทำอะไรก็ทำๆ ไปเถอะ จุดหมายปลายทางของการเรียนหนังสือคืออะไร? กว่าจะเข้าใจก็ตอนโตนี่แหละว่า

ระบบการศึกษามีหน้าทีสร้างแรงงานเข้ามาให้ระบบ ก็คือระบบการศึกษาผลิตคนออกมาเป็นลูกจ้างนั่นเอง

กระทั่งเรียนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 3 คราวนี้เกิดความรู้สึก “เคว้งคว้าง” เริ่มไม่แน่ใจกับชีวิตหลังเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นว่า

ชีวิตควรเดินไปทางไหนต่อ ตัดสินใจเดินเข้าไปปรึกษาคุณครูแนะแนว ครูจับเรามาวัด “ไอคิว” ผลปรากฎว่า IQ ค่อนข้างสูง ครูบอกว่า IQ

ระดับนี้ต้องเลือกเรียนสายวิทย์ที่จะไปเรียนเป็นหมอ หรือ วิศวะ

หลังคุณครูแนะนำเช่นนั้น ผมตัดสินใจเลือกเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4 สายวิทย์-คณิต แต่เรียนได้สักพักเราได้เห็นเพื่อนสมัย ม. ต้น

ที่เรียนอยู่ห้องศิลป์-คำนวณ ครานี้เกิดความรู้สึกอีกครั้งว่า เราเลือกเรียนสายผิดหรือเปล่า ครั้งหนึ่งเคยเดินไปขอครูย้ายไปเรียนสายศิลป์-คำนวณ

แต่ครูไม่ยอม ด้วยเหตุผลที่ว่า เรียนเก่งขนาดนี้จะไปเรียนสายศิลป์คำนวณทำไม

เมื่อครูบอกแบบนั้น เราจึงทำตัวเองให้เรียนหนังสือไม่เก่ง (หัวเราะ) เพื่อที่ครูจะได้อนุญาตให้ย้ายห้อง นั่นเป็นวิธีคิดของเด็กคนหนึ่ง ผลปรากฎว่า

ตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4 เกรดเฉลี่ยออกมาแค่ 2 นิดๆ

ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4 ชีวิตผกผัน มีโอกาสไปเรียนวิชาเขียนแบบ รู้สึกชอบมาก ด้วยความเป็นรุ่นบุกเบิกของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี

ทำให้ต้องทำทุกอย่างเอง แม้กระทั่งโต๊ะเขียนแบบยังต้องต่อเอง คราวนี้เราเริ่มคิดว่า

หากจบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วจะไปเรียนต่อที่ไหนที่มีการเรียนการสอนวิชาเขียนแบบดีที่สุด

ตอนนั้นมีคนบอกว่า ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย (อุเทนถวาย)

ที่นี่มีชื่อเสียงเรื่องการเขียนแบบ สุดท้ายเราตัดสินใจไปสอบ ซึ่งติดคะแนนอันดับ 2 ของรุ่นปวช.คณะเทคนิคสถาปัตย์ ตอนนั้นชีวิตลั้นลามาก ใช้เวลาเรียนปวช.3 ปี

ด้วยความที่เราวาดรูปไม่สวย ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มาถูกทางหรือเปล่า ในเมื่อเราเก่งเรื่องคณิตศาสตร์ควรย้ายสายดีมั้ย

สุดท้ายตัดสินใจไปสอบปวส. วิศวโยธา (การทาง) ด้วยความที่ชอบเรียนวิชาก่อสร้างถนน

ระหว่างที่เรียน ปวส.มีโอกาสได้ไปจับคอมพิวเตอร์ ยี่ห้อ Apple 2 ตัว ของ “ปรเมศวร์ มินศิริ” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Sanook.com

เขาเป็นทั้งเพื่อนและครู สมัยก่อนทุกเย็นจะต้องไปนั่งเล่นเกมส์ที่บ้านเขาประจำ เล่นคอมพิวเตอร์ของเขาไปมาเริ่มชอบคอมพิวเตอร์

จึงตัดสินใจลงเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาคอมพิวเตอร์ แต่เรียนได้แค่ 2 ปี เพราะอยากเรียนเพื่อให้รู้เท่านั้น

เขา เล่าต่อว่า เมื่อชีวิตวัยเรียนผ่านมาถึงปี 2531 ฐานะการเงินของครอบครัวเกิดวิกฤต การเงินเริ่มฝืดเคือง ทำให้คิดว่า

เราควรเรียนต่อให้จบปริญญาตรีหรือไม่ แต่เราโชคดีตอนนั้นใกล้เรียนจบปวส.มีบริษัท สถาปนิแห่งหนึ่ง เขาต้องการพนักงานที่เป็นลูกครึ่งผสม

คือ จบสถาปัตย์ ปวช. และมาเรียนต่อปวส. สายโยธา ช่วงนั้นมีอยู่ 2 คน ที่ตรงตามสเป๊คที่บริษัทต้องการ นั่นคือ เรากับเพื่อน

บริษัทเขาเรียกเราสองคนไปสัมภาษณ์ เขาบอกกับเราว่า วันแรกที่เรียนจบให้มาทำงานกับบริษัทเลย พูดง่ายๆได้งานทำตั้งแต่ยังไม่เรียนจบ

แต่ก่อนไปทำงานที่บริษัทสถาปนิกแห่งนี้ บังเอิญตอนเรียนอยู่ ปวส. เราต้องไปฝึกงานต่างจังหวัด ทำให้ค้นพบนิสัยของตนเองว่า

งานก่อสร้างที่เราไปทำอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการในชีวิต ตอนนั้นไปสร้างถังเก็บน้ำประปา จังหวัดชัยภูมิ วิถีชีวิต

คือ ต้องตื่นมาทำงานตั้งแต่ 8 โมง 5 โมงเย็นเลิกงาน ตั้งวงกินเหล้า ทำแบบนี้ทุกวันตลอดระยะเวลา 2 เดือน ด้วยความที่เราไม่กินเหล้า ทำให้เริ่มรู้ตัวแล้วว่า

ไม่ใช่ เราเดินมาผิดสายชัวร์ แต่โชคดีที่ได้งานในบริษัทสถาปนิก

เริ่มทำงานปีแรก ด้วยการเขียนแบบสนุกมาก เงินเดือนเริ่มต้น 3,200 บาท ถือว่า เป็นรายได้ดีมากเงินเดือนปรับขึ้นตลอด ได้โบนัสปีนั้น 6 เดือน

ตอนโน้นมีเงินเหลือกินเหลือใช้ ทำงานเขียนแบบอยู่ 1 ปี บริษัทต้องการคนไปคุมงานก่อสร้างผมรีบอาสาทันที

ช่วงนั้นอยากทำงานใหม่ๆ รู้สึกว่า อยู่ในออฟฟิตทุกวันน่าเบื่อ ตอนนั้นรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิศวกรในไซต์งาน รายได้ดีมากได้ค่าโอที 2 เท่าของเงินเดือน

เงินเหลือเยอะมาก แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน ต้องอยู่ไซต์งานตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานอยู่ในไซต์งาน 5-6 เดือน เราค้นพบตัวเองอีกครั้งว่า “ไม่ใช่ชีวิตอย่างที่ต้องการ”

ผมตัดสินใจยื่นใบลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่า อยากไปเรียนต่อให้จบปริญญาตรี แต่บริษัทบอกว่า ไม่ต้องลาออกให้เวลาไปอ่านหนังสือสอบ 3 เดือน

ซึ่งบริษัทยังคงจ่ายเงินเดือนเหมือนเดิม สุดท้ายสอบไม่ติด คราวนี้ไปคุยกับทางบริษัทว่า ขอลาออกจริงๆ เพราะเริ่มรู้แล้วว่า

ชีวิตเราคงไม่ได้อยู่ในสายอาชีพก่อสร้าง เพราะว่าตอนนั้นเริ่มหลงรักคอมพิวเตอร์ ผมนำเงินที่ได้จากการทำงานไปซื้อคอมพิวเตอร์

สมัยนั้นคอมพิงเตอร์ยังใช้ Dos อยู่เลย พึ่งจะมี Windows 3.1 ออกมา

ชีวิตพลิกผันเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือจากการไปช่วย “ปรเมศวร์” จัดหน้าหนังสือช่วงนั้นหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขายดีมาก

ก็เลยมาทำหนังสือถ่านทอดสิ่งที่คลุกคลีอยู่ทุกวัน เล่มแรกขายดี แต่เก็บเงินไม่ได้ เพราะร้านหนังสือ (ตอนนั่น)

หมุนเงินผิดวิธีด้วยความที่เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆ จัดส่งกันเอง โดนชักดาบไปเยอะพอควร

บทเรียนครั้งนั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ให้มืออาชีพเขาทำสิ่งที่เขาเก่งดีกว่า เราสองคนตัดสินใจไปคุยกะสายส่ง

สมัยนั้นสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวกับหนังสือคอมพิวเตอร์มีแค่ 2 สำนักพิมพ์ ในใจเลือกซีเอ็ดไว้แล้ว แต่ไปสำนักพิมพ์แรกก่อน

เชื่อมั้ย!!เขาไม่เปิดหนังสือเราดูแม้แต่นิดเดียว แถมบอกว่า หนังสือขายไม่ได้หรอก แต่พอเราจะกลับเขาดันบอกวา

พี่จะช่วยน้อง โดยพี่จะซื้อสิทธิขาดหนังสือเล่มนี้ในราคาา 30,000 บาท แค่ฟังราคาผมก็เดินออกแล้ว

ตอนบ่ายก็นำหนังสือมาเสนอที่สำนักพิมพ์ซีเอ็ด“พจนี นิราศรพ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานผลิตหนังสือ

สำนักพิมพ์ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ท่านเดินมาหาเราสองคน หลังแอบฟังเราคุยกับผู้จัดการ ท่านหยิบต้นฉบับมาดู

ก่อนจะถามว่า ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เราตอบไปว่า ต้องใช้เงิน 70,000 บาท ท่านบอกว่า โอเคถ้าอย่างนั้นจะให้เงินไป 100,000 บาท

ขายได้เท่าไหร่ค่อยหักเงินจากยอดขาย หลังจากนั้นไม่กี่นาทีเช็คเงินสดก็มาอยู่ในมือ

ผมพิมพ์หนังสือ “กลเม็ดเคล็ดลับวินโดว์ 3.11” ด้วยเงินลงทุนที่ได้จากซีเอ็ด หนังสือขายดีมาติดอันดับ 2 หนังสือขายดีอย่างต่อเนื่อง

จนหลายคนตั้งคำถามว่า “โอฬาร” เป็นใครมาจากไหน ทำหนังสือแบบนี้ได้อย่างไร ตอนนั้นไม่ค่อยมีใครนึกถึงว่าจะทำให้ Windows ที่ยังใช้ไม่ค่อยดี ใช้งานได้ดีขึ้นได้อย่างไร

“ผมชอบทำเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะนี่คือ เสน่ห์ของผม” หนังสือเล่มนี้มียอดขายเข้ามาเยอะมาก จับเงินหลัก “ล้านบาท” ได้ก็เพราะหนังสือเล่มนี้แหละ

“โอฬาร” บอกว่า เมื่อชีวิตการทำงานเริ่มประสบความสำเร็จ เราตั้งเป้าว่า ภายใน 1 ปี จะเขียนหนังสือขายดี 1 เล่ม และจะทำหนังสือเนื้อหาดีอีก 1 เล่ม

โดยไม่สนใจว่าเล่มนี้จะกำไรหรือขาดทุน ยอดขายเล่มที่ขายดีก็มาช่วยอุ้มหนังสือดีๆ แต่โชคดีที่หนังสือทุกเล่มที่ทำออกมาขายได้กำไรทุกเล่ม

ผ่านมาถึงปี 2540 เมืองไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ยอดขายหนังสือลดลงจากตัวเลข 6 หลัก เหลือเพียง 4 หลัก “พี่พจนี” บอกเราว่า

ให้ระวังเรื่องการหนังสือเพิ่ม เศรษฐกิจแบบนี้ยอดขายหนังสือไม่ดีแน่ ตอนนั้นเกิดคำถามในใจว่า “เราทำอะไรผิด เราทำมาหากินสุจริต

ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับทุกคนแล้วทำไมหนังสือของเราจะขายไม่ได้”

ตอนนั้นไม่เข้าใจว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีมีผลกระทบต่อคนทั่วไปอย่างไร คนส่วนใหญ่ต้องตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ซึ่งขณะนั้นคนส่วนใหญ่มองว่า

ความรู้ คือ สิ่งที่ยังไม่จำเป็น ระหว่างหนังสือคอมพิวเตอร์กับข้าวที่ต้องกินทุกวัน ทุกคนก็ต้องเลือกกินข้าวก่อน

สุดท้ายเราระบายหนังสือเก่าออกจนหมด และไม่พิมพ์เพิ่ม

ตอนนั้นกลับมานั่งคิดว่า เกิดอะไรขึ้น ผมเริ่มหันมาสนใจหาสาเหตุว่า “วิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร” ทำไมถึงกระทบต่อธุรกิจของเรามากขนาดนี้

ภาวะเงินเฟ้อ เงินฝืด คืออะไร ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์ต่างๆ กับประเทศไทย ถือว่า เป็นที่มาของการหันมาสนใจเรื่อง “การเงินการลงทุน”

ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงเริ่มหาหนังสือต่างๆมาอ่าน ตอนนั้นพี่พจนีแนะนำให้เราอ่านหนังสือเรื่อง “พ่อรวยสอนลูก”

ของ “โรเบิร์ต คิโยซากิ” ปกติเวลาท่านอยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มไหนท่านจะให้เลขาไปหยิบหนังสือมาให้ แต่เล่มนี้ท่านไม่ให้

แต่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ต้องอ่านให้ได้ ผมตัดสินใจไปหาซื้อหนังสือและใช้เวลาอ่านเพียง 1-2 วัน

เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมโทรไปหา “ปรเมศวร์ มินศิริ” แนะนำให้เขาหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน เขาใช้เวลาอ่านเพียง 1 วัน อ่านจบเขามาบอกว่า

เราต้องทำตาม เพราะว่าในหนังสือพูดถึงเรื่อง “เกมส์กระแสเงินสด” ตอนนั้นเราโทรหาพี่พจนีว่า อยากแปลหนังสือเกมส์กระแสเงินสดเป็นภาษาไทย

โดยจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ เขาก็ส่งต้นแบบเกมส์มาให้แปลทันที

แต่ตอนนั้น “ปรเมศวร์” ใจร้อนมาก เขาโทรสั่งซื้อเกมส์กระแสเงินสดทางออนไลน์ ไม่ถึงสัปดาห์เขาก็ได้เกมส์มาครอบครอง

ผมมีโอกาสไปนั่งเล่นเกมส์กับเขา เล่นได้สักพักเรามองหน้ากัน ก่อนที่ “ปรเมศวร์”จะพูดว่า คงต้องหาใครสักคนมาแปลคำศัพท์ภาษาอังกฤษ

ผมจึงรับอาสาแปลทันที แต่แปลไปสักระยะรู้สึกเหนื่อยจึงไปชวนรุ่นน้อง 3 คน มานั่งเล่นเกมส์ เพื่อแปลคำศัพท์กันสดๆ จากการเปิดการ์ดแต่ละใบ

ตอนนั้นเราไม่เข้าใจคำศัพท์ที่ว่า “Preferred Stock” ซึ่งแปลออกมาเป็นคำว่า “หุ้นบุริมสิทธิ” ช่วงนั้นไม่รู้จะไปหาคำแปลที่ไหน

เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเว็บไซต์ Google ทำให้ต้องไปค้นหาจากเว็บไซต์ Set.or.th และนั่นคือ “จุดเริ่มต้น” ที่ทำให้รู้เรื่องเกี่ยวกับหุ้นทั้งหมด

จากที่ชีวิตไม่เคยสนใจเรื่องหุ้นเลย เพราะรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรเข้าใกล้ เรามองเป็นเรื่องไกลตัว สุดท้ายกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก

ตอนนั้นรู้สึกว่า ที่ผ่านมาคิดผิดมาตลอด และเสียดายโอกาสที่มารู้จักตลาดหุ้นช้าเกินไป

จากการ์ดใบเดียวที่เขียนว่า “Preferred Stock” ทำให้วิถีชีวิตของผมเปลี่ยนไป เราเริ่มหันมาสนใจเรื่องตลาดหุ้นมากขึ้น

ด้วยการหันมาอ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ จากเดิมที่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยมอง ไม่เคยคิดจะทำความรู้จักด้วยซ้ำ

เมื่อก่อนเรามักได้ยินเสมอว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างรุนแรง ยิ่งประโยคที่ว่า “การเล่นหุ้น” คือ “การเล่นหวย”

ตอนนั้นเรามองว่า การเล่นหวยเป็นการเล่นการพนัน ดังนั้นการเล่นหุ้นก็คงเป็นการเล่นการพนันเหมือนกัน

“บ๊อบ” บอกว่า จังหวะเข้าหุ้นตัวแรกเกิดขึ้นในปี 2546 หลังจากใช้เวลาศึกษามา 2-3 ปี ตอนนั้นเปิดพอร์ตกับบล.ซิมิโก้ ด้วยทุนตั้งต้น

“หลักแสนบาท” ผมซื้อ หุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH เป็นตัวแรก สมัยนั้นตระกูลชินวัตรเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากครั้งแรก

ซึ่งเรามองว่า ธุรกิจตระกูลเขาต้องเจริญเติบโตแน่นอน

เชื่อหรือไม่!! ซื้อหุ้น INTUCH มาตอน 11 โมงเช้า ผ่านมา 15 นาที ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 6 ช่อง “ตกใจ” ขายหมดเลย

จริงๆตั้งใจจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นด้วยแนววีไอ เพราะว่าก่อนจะซื้อเราวิเคราะห์พื้นฐานหุ้นมาดีมาก แต่พอหุ้นขึ้นมากๆ มีกำไรดีเกินกว่าที่วิเคราะห์ไว้

เรียกว่า โกยกำไร 6 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 1 วัน ทำให้จำเป็นต้องขายออก

ส่วนหุ้นตัวที่ 2 ผมใช้เงินแบงก์ซื้อหุ้นแบงก์ นั่นคือ หุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เขาขยายความเหตุผลที่ช้อนหุ้นตัวนี้ว่า

เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมีโอกาสได้ซื้อบ้านในราคาที่ถูกมากๆ ซึ่งเราก็ผ่อนกับธนาคารไทยพาณิชย์ตามปกติ ผ่านมา 1 ปี

ธนาคารไทยส่งจดหมายมาบอกว่า เราเป็นลูกค้าชั้นดี ธนาคารยินดีที่จะให้วงเงินกู้เพิ่มเติมเท่ากับวงเงินที่ผ่อนชำระไปแล้ว

เพียงแค่เราเซ็นชื่อและส่งกลับมาหาแบงก์เราจะได้วงเงินกู้ภายใน 2-3 วัน “มีหรือที่ผมจะไม่เอารีบจับปากกามาเซ็นชื่อทันที”

ตอนนั้นมีคติประจำใจว่า จะไม่นำเงินของตัวเองไปลงทุน ฉะนั้นเงินก้อนแรกที่นำไปลงทุน คือ “เงินกู้”

จริงๆผมคิดเรื่องการกู้เงินไปไกลกว่านั้น ตอนนั้นเราเริ่มรู้ว่า เศรษฐกิจเมืองไทยกำลังจะเริ่มฟื้นตัว แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า

จะมีธนาคารใดจ่ายเงินปันผลได้บ้าง ช่วงนั้นผมฟันธงว่า หุ้น ไทยพาณิชย์ ต้องจ่ายเงินปันผลได้แน่นอน และก็จ่ายเงินปันผมจริง

พอแบงก์โอนเงินเข้าบัญชี ผมรีบนำเงินไปซื้อหุ้น SCB ทันที ในวงเงิน 240,000 บาท ถือหุ้นอยู่ไม่กี่สัปดาห์

ผมขายออกเมื่อได้กำไรเกินกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เท่ากับว่า ผมได้เงินกู้ลงทุนโดยปลอดดอกเบี้ย และก็ใช้เงินส่วนนั้นในการเล่นหุ้นต่อ

“ชายวัย 45 ปี” บอกว่า ตั้งแต่ตกใจขาย หุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น ทำให้เปลี่ยนวิถีการลงทุนจาก “แนวเน้นคุณค่า”

มาเป็น “แนวเทคนิค” จากนั้นเริ่มศึกษาการลงทุนด้านเทคนิคมาเรื่อยๆจนเกิดความรู้สึกชอบมากขึ้น ทุกวัน ยิ่งช่วงตลาดหุ้นไทยเปิดซื้อขายตลาดอนุพันธ์ ยิ่งเกิดความสนุก

ตอนนั้นศึกษาการลงทุนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ฟิวเจอร์ส” (futures) หรือ “ออปชั่น” (Options)

ปัจจุบันผมไม่ได้เทรดหุ้นไทยแล้ว ในพอร์ตจะมีหุ้นหลากหลายตัว แต่จะซื้อไว้บริษัทละ 1 หุ้นเท่านั้น

เพื่อไว้ดูรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของแต่ละบริษัท พอร์ตลงทุนที่ผ่านมาพอมีกำไร แต่ไม่ได้มาก

ทุกวันนี้เน้นลงทุนใน “ตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศ” เป็นหลัก ติดตามความสำเร็จการลงทุนของ “โอฬาร ภัทรกอบกิตติ์” ได้ในสัปดาห์หน้า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘