กลยุทธ์ป้องกัน "การเทคโอเวอร์"

วันนี้จะขอกล่าวถึงกลยุทธ์ร่วมสมัยที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้ ครับ นั่นคือการเข้าซื้อกิจการหรือการเทกโอเวอร์ โดยเฉพาะเป็นการเทกโอเวอร์ที่ทางฝ่ายกิจการที่จะถูกซื้อไม่เต็มใจ จึงมีการต่อสู้กันมาก เพื่อที่จะให้กิจการของตนอยู่รอดปลอดภัยจากการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่าการเทกโอเวอร์แบบปรปักษ์ (hostile takeover)



การต่อสู้จึงมีการใช้กลยุทธ์ที่เข้าต่อต้านการเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร ซึ่งจำแนกได้ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในเชิงการ "ป้องกัน" มิให้กิจการของตนตกเป็นเป้าหมายของการเทกโอเวอร์อย่างง่ายดายนัก ส่วนกลุ่มที่สองคือกลยุทธ์ที่ใช้ในการ "ตอบโต้" กับการรุกรานจากผู้ที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการ เพื่อมิให้กิจการต้องมีการเปลี่ยนมือเจ้าของไป



กลยุทธ์ในกลุ่มของการป้องกันการเข้าเทกโอเวอร์ที่นิยมกันมาก ประการแรกคือ การวางยาพิษในกิจการ (poison pills) ซึ่งหมายความว่าเป็นการวางกับดักบางอย่างเอาไว้ในกิจการ โดยหากผู้ที่เข้ามารุกรานสามารถซื้อกิจการได้สำเร็จ และกุมอำนาจการควบคุมส่วนใหญ่ไว้แล้ว จะต้องประสบกับความยุ่งยากภายหลังจากเงื่อนไขที่กิจการได้วางเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสัญญาณเตือนแก่ผู้ที่จะมาเทกโอเวอร์ให้ลดความน่าสนใจใน กิจการลงนั่นเอง



โดยเทคนิคนี้จะมีการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นปัจจุบันของกิจการ ว่าหากบริษัทของเราถูกนักลงทุนหรือบริษัทอื่นเข้าซื้อหุ้น จนกระทั่งถึงสัดส่วนที่กำหนดไว้ (ซึ่งมักจะเป็นสัดส่วนที่ใหญ่พอสมควรที่จะเข้าควบคุมบริษัทได้) ก็จะให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิมในการซื้อหุ้นใหม่ของกิจการได้ในราคาที่ต่ำกว่า ราคาตลาดมากๆ เพื่อที่จะให้แรงจูงใจในการใช้สิทธินั้น และก็จะเป็นภาระของผู้ที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการต่อไปในการที่จะต้องไล่ เก็บหุ้นที่มีอยู่ในตลาดมากขึ้น ก็จะทำให้การเทกโอเวอร์ทำได้ยากขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นและระยะเวลาก็อาจจะยาวนานขึ้นเช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปนั้น มักจะให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิมเป็น 1 ต่อ 1 หมายความว่าหุ้นเดิม 1 หุ้นสามารถที่จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นใหม่ได้อีก 1 หุ้นเช่นกัน และจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไว้ด้วย ซึ่งปกติก็จะกำหนดกันไว้เป็นเวลา 10 ปีครับ



หรือในบางกรณีเทคนิคการวางยาพิษนี้ ก็อาจจะมีการให้สิทธิผู้ถือหุ้นซื้อหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทได้ในราคาที่ถูก มากเช่นกัน เมื่อบริษัทถูกซื้อจนถึงสัดส่วนที่กำหนด ก็จะทำให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ที่เข้ามาซื้อกิจการได้ เนื่องจากหุ้นบุริมสิทธินั้นต้องมีการจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นเป็นจำนวน เงินที่คงที่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับผู้เป็นเจ้าของใหม่ ถือเป็นการลดความน่าดึงดูดใจของกิจการอีกประการหนึ่งด้วยครับ



อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการ "ป้องกัน" นั่นคือ การกระโดดร่ม (golden parachute) ซึ่งเทคนิคนี้เปรียบเทียบกับการกระโดดร่ม เพื่อหนีอันตรายจากการถูกครอบครองกิจการนั่นเอง โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลให้แก่ผู้บริหารของกิจการ ในกรณีที่บริษัทถูกเทกโอเวอร์ และต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ในการบริหารเสียใหม่ จนทำให้ผู้บริหารเดิมอาจจะต้องหลุดจากตำแหน่งไป จึงมีการกำหนดผลประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวให้ เพื่อที่จะกลายเป็นภาระของผู้ที่เข้ามาเป็นเจ้าของใหม่ ในการที่จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้บริหาร ที่พ้นจากตำแหน่งเหล่านั้น ถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเทกโอเวอร์และลดความน่าดึงดูดใจในกิจการ



เช่น จะมีการกำหนดผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริหาร หากกิจการถูกเข้าซื้อจนถึงสัดส่วนที่กำหนด โดยทั่วไปคือประมาณ 30% ซึ่งผลประโยชน์ที่ให้ก็อาจจะเป็นเงินสดจำนวนมาก สิทธิในการซื้อหุ้นในราคาที่ถูกมาก เครื่องบินส่วนตัว ตึกอาคารหรือทรัพย์สินอื่นๆ แล้วแต่มีการตกลงกัน เช่นกรณีหนึ่งในบริษัทของสหรัฐ ได้มีการกำหนดผลประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารท่านหนึ่ง เป็นเงินสดถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ สิทธิในการซื้อหุ้นถึง 162,000 หุ้น และเงินช่วยเหลือในการจ่ายภาษีในการนี้อีกถึง 22.5 ล้านเหรียญอีกด้วย ซึ่งนับเป็นมูลค่ามหาศาลในการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ทีเดียว



นอกจากกลยุทธ์ในเชิง "ป้องกัน" แล้ว ยังมีกลยุทธ์ในเชิง "ตอบโต้" การเข้าเทกโอเวอร์อีกด้วย ประกอบด้วยเทคนิคแรกคือ การใช้ข้อตอบโต้ทางกฎหมาย คือเป็นการพยายามหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมายับยั้งการเข้าซื้อกิจการดัง กล่าว โดยจะทำให้การเทกโอเวอร์นั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายบางอย่าง เช่น กฎหมายต่อต้านการผูกขาด ที่ต้องมีการพยายามหาหลักฐานมายืนยันให้ได้ว่าการเทกโอเวอร์ครั้งนี้จะทำให้ เกิดการผูกขาดขึ้นมาในอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพของกิจการอื่นๆ ซึ่งหากพิสูจน์ได้และนำไปร้องขอต่อศาล ก็อาจจะทำให้การเทกโอเวอร์นั้นยุติได้



หรือหากไม่สามารถหาช่องว่างทางกฎหมายเข้ามายับยั้งได้ ก็อาจจะอ้างอิงถึงหลักศีลธรรมจรรยาอันดีหรือบรรทัดฐานของสังคม เพื่อให้สังคมเข้ามามีบทบาทในการยับยั้งด้วย กรณีนี้จะทำให้กิจการที่เข้าเทกโอเวอร์นั้น เสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์อย่างมาก จนกระทั่งเลิกล้มความตั้งใจในการเข้าครอบครองกิจการนั้น ดังกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นต้น



ถัดมาคือการใช้กลยุทธ์ greenmail ซึ่งเป็นการที่กิจการมีการส่งข่าวสารไปยังผู้ถือหุ้นรายต่างๆ เพื่อขอซื้อหุ้นกลับคืนมาอยู่ในการควบคุมของกิจการ โดยมักจะมีราคาขอซื้อที่สูงกว่าราคาตลาดปกติ และมักจะมีราคาสูงกว่าราคาเสนอซื้อของกิจการที่เข้ามาเทกโอเวอร์ด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ถือหุ้นต่างๆ ขายหุ้นกลับมายังกิจการนั่นเอง ซึ่งเทคนิคนี้มักจะต้องมีการใช้เงินทุนเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยทั่วไปกิจการจะต้องหาพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้เข้ามา ช่วยเป็นแหล่งเงินทุนในกรณีนี้ด้วย



โดยเทคนิคกรีนเมล์นี้ อาจจะใช้ควบคู่กับการทำสัญญาไม่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม (standstill agreement) คือการที่ให้กิจการหรือนักลงทุนรายอื่นๆ เซ็นสัญญาตกลงว่าจะไม่เข้าไล่ซื้อหุ้นของกิจการภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมอำนาจความเป็นเจ้าของของกิจการได้ ซึ่งหากใช้ร่วมกันกับเทคนิคกรีนเมล์แล้ว มักจะมีการตกลงว่าหากกิจการมีการซื้อหุ้นกลับคืนมาแล้ว ผู้ถือหุ้นรายดังกล่าวสัญญาว่าจะไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นของกิจการอีก เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกครอบครองกิจการในอนาคต ตัวอย่างกิจการที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว คือ บริษัทเอทีแอนด์ที บรอดแบนด์ ที่ให้บริษัทคอมแคสทำสัญญาว่าจะไม่มีการเข้าซื้อหุ้น หรือร่วมกับบุคคลอื่นในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเอทีแอนด์ทีอีกในอนาคต โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขผลประโยชน์บางประการ เนื่องจากคอมแคสเคยมีความพยายามที่จะเข้าเทกโอเวอร์เอทีแอนด์ทีมาก่อนนั่น เอง



นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้เทคนิคการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินทุนของกิจการ เพื่อให้ลดความน่าดึงดูดใจในการถูกเทกโอเวอร์ลง เนื่องจากบ่อยครั้งที่กิจการที่เป็นเป้าหมายของการถูกซื้อนั้น มักมีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ ซึ่งอาจจะมาจากทรัพย์สินบางอย่างที่ซ่อนมูลค่า เช่น ที่ดิน ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ ฯลฯ หรือมีเงินสดเก็บไว้ในกิจการสูงมาก หรือมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมาก เป็นต้น



ดังนั้นการลดความน่าดึงดูดใจทางการเงินนี้ อาจจะมีการทำตั้งแต่การขายทรัพย์สินที่น่าดึงดูดใจออกไป การจัดหาเงินทุนโดยการก่อหนี้มากขึ้นเพื่อความเสี่ยงและภาระทางการเงินใน อนาคต รวมถึงอาจจะมีการนำเงินสดจำนวนมากไปจ่ายปันผลพิเศษ หรือนำไปซื้อหุ้นคืนกลับมา เพื่อลดจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด เป็นต้น



นอกจากนี้ยังอาจจะมีการออกหุ้นใหม่ให้กับพนักงาน เพื่อให้จำนวนหุ้นไปกระจายอยู่ในกลุ่มพนักงาน ที่จงรักภักดีต่อกิจการมากขึ้น การที่จะเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของกิจการได้ในคราวเดียวก็จะทำได้ยากขึ้นเช่น กัน ทั้งนี้การกระทำทั้งหมดดังกล่าวก็เพื่อเพิ่มความยากลำบากในการเทกโอเวอร์ และลดความน่าดึงดูดใจของกิจการ ที่เป็นเป้าหมายลงนั่นเอง



กลยุทธ์ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อให้อีกแนวคิดหนึ่งสำหรับกิจการในไทยที่อาจจะกำลังเผชิญกับกระแสการเท กโอเวอร์อยู่ และอาจจะเป็นข้อมูลส่วนเพิ่มในการนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันตนเองครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘