อะไรที่ทำให้คนที่...วัดพระธรรมกายต้องเปลี่ยนใจ ตอนที่ 05

วัดพระธรรมกายที่ผมรู้จัก


รศ. ดร. สมภาร พรมทา
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อะไรที่ทำให้ต้องเปลี่ยนใจ
       ผมเข้ามาในวัดพระธรรมกายเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว  อันเป็นช่วงเวลาที่วัดกำลังเป็นข่าวทางสื่อมวลชน การเข้ามานั้นก็ด้วยกิจทางการศึกษา คือมาถวายความรู้แด่พระคุณเจ้าในทางวิชาการ เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า  วัดได้ดำเนินการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่าแบบมหาวิทยาลัย เพื่อให้พระคุณเจ้าในวัดได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ในเชิงวิชาการ อย่างที่นิยมกระทำกันอยู่ทั่วโลกในสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย การเรียนพระพุทธศาสนาแบบนี้ต่างจากการเรียนตามจารีตที่เรากระทำกันอยู่ ตรงที่มีวิชาที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้เรียนรู้ด้วย เพื่อให้การวิเคราะห์วิจารณ์หลักธรรมในพระพุทธศาสนาดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ละเอียดลออ ทั้งนี้ก็เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไป ได้


        นอกจากการศึกษาในแผนนี้ วัดพระธรรมกายยังดำเนินการศึกษาด้านพระบาลีและนักธรรมอย่างเข้มข้นจนเวลานี้ ทางวัดถือได้ว่า เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมสายบาลี ที่มีสถิติผู้เรียนและผู้สอบผ่านสนามหลวงมากที่สุด โดยน่าจะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เมื่อรวมสองแผนกนี้เข้าด้วยกัน เราจึงอาจกล่าวได้ว่า วัด พระธรรมกายเป็นวัดไทยที่น่าจะมีระบบการศึกษาที่เข้มแข็งมากที่สุดในระดับ ต้นๆ ของประเทศ ผมเข้าใจว่าข้อมูลด้านการศึกษาของวัดนี้ คนข้างนอกส่วนใหญ่คงไม่ค่อยรู้จัก  คนมักจะรู้จักวัดผ่านกิจกรรม อันเนื่องด้วยการบุญเสียมากกว่า ซึ่งกิจกรรมส่วนนี้เองที่มีทั้งคนมองอย่างเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งตามความเห็นของผม ทั้งสองฝ่ายนี้ไม่มีใครผิดใครถูก เพียงแต่เรามองเรื่องการทำบุญด้วยกรอบความคิดที่ต่างกันเท่านั้นเอง


       เมื่อผมได้มาภายในวัด แม้จะไม่ใช่คนใน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ได้มารู้จักวัดนั้น ทำให้ผมเข้าใจอะไรไปมาก ทีเดียว วัดพระธรรมกายนั้นเป็นวัดใหญ่ เป็นองค์กรที่ซับซ้อนเพราะมีบุคลากรและระบบการบริหารงานหลายอย่างหลายขั้น ตอน ถือว่าเป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาสมัยใหม่ที่น่าศึกษา น่าทำความเข้าใจมากแห่งหนึ่งในโลก เมื่อทางวัดให้เกียรติด้วยการเชิญมาถวายความรู้พระ ผมก็รับด้วยความเต็มใจ เพราะนอกจากเห็นว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง ก็ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผมจะได้เรียนรู้และเข้าใจวัด ซึ่งเป็นที่จับตามองของมหาชนอยู่เวลานี้ด้วย


        เนื่องจากผมรู้จักวัดพระธรรมกายทางด้านการศึกษาเท่านั้น จึงจะขอพูดเพียงด้านนี้ ผมนั้นเคยบวชเรียนมาก่อน รู้ว่าการเป็นสามเณรบ้านนอก กว่าจะเข้ามาอาศัยวัดในกรุงเทพฯ ได้ เป็นเรื่องยากลำบากเพียงใดผมอยู่วัดมหาธาตุฯ แถวท่าพระจันทร์ เมื่อแรกที่มาอยู่ใหม่ๆ เคยออกบิณฑบาตอยู่ ราวเดือนหนึ่ง ที่สุดก็ต้องเลิก เพราะต้องเดินกลับวัดพร้อมบาตรที่ว่างเปล่าทุกวัน โชคดีที่คณะที่ผมอยู่มีญาติโยมมาถวายอาหารเพลพระอยู่เป็นประจำ จึงได้อาศัยฉันเพลกับทางคณะ  ซึ่งบางวันก็ไม่พอที่จะอิ่ม การเรียนหนังสือภายใต้ภาวะที่อดอยากเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ทรมาน แต่ที่สุดผมก็กัดฟันเรียนมาจนจบมหาวิทยาลัยสงฆ์และเปรียญธรรม 8 ประโยค ผมมาเห็นวัดพระธรรมกายดูแลสามเณรบ้านนอกจำนวนหลายร้อย ไม่ให้ต้องอดอยากอย่างที่ผมเคยประสบ แล้วก็อดดีใจแทนท่านเหล่านั้นไม่ได้ ผมทราบจากเจ้าหน้าที่ในวัดเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อเจ้า อาวาสท่านเป็นห่วงสามเณรเหล่านี้มาก กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลให้ดี คือ ให้ท่านเหล่านี้หมดห่วงเรื่องทางกาย ให้เรียนหนังสือและเจริญจิตภาวนาอย่างเดียว ผมยังนึกด้วยซ้ำว่าถ้าผมได้มาอยู่ที่วัดพระธรรมกาย ได้เรียนหนังสืออย่างที่อยากจะเรียน ไม่ต้องเรียนไปอดไปอย่างที่ประสบ ความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับชีวิตสามเณรของผมคงดีกว่านี้


         คนจำนวนมากอาจไม่ชอบวัดพระธรรมกาย เรื่องนี้สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องดี ที่คนเหล่านั้นไม่ชอบ ทางวัดเองก็น่าจะทราบ โดยสังเกตจากสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่ออินเทอร์เน็ต ในเว็บบอร์ดที่มีชื่อเสียง เช่น PANTIP นั้น เราจะหาอ่านข้อความที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับทางวัดได้มาก และบางความคิดผมคิดว่า ทางวัดน่าจะได้ประโยชน์ในแง่ที่จะเรียนรู้ว่า คนอื่นที่เขาวิจารย์วัดอย่างมีเหตุผลนั้น เขาคิดอย่างไร แต่ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า เมื่อข้อมูลเรื่องวัดได้จัดการศึกษาอย่างแข็งขันเริ่มเป็นที่รับรู้ของผู้คน  ภาพพจน์ของวัดน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แม้จะยังมีผู้คลางแคลงใจว่า ที่วัดจัดการศึกษาให้แก่พระเณรเช่นนั้น  จัดอย่างบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม


         ผม เรียนปรัชญา ทราบว่าการเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก และคนที่เปลี่ยนความคิดยากที่สุดพวกหนึ่งเท่าที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ก็คือ นักวิทยาศาสตร์  เมื่อมีการเสนอความคิดใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ความคิดนั้นมักไม่เป็นที่ยอมรับ ของพวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าๆ ต้องรอให้คนรุ่นนี้ตายหมด  ความคิดใหม่จึงจะเป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างนี้ผมคิดว่าวัดพระธรรมกายอาจใช้เป็นอนุสติ โดยบอกว่า อาจต้องใช้เวลามากพอสมควรที่จะให้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัดเป็นไปในทางบวก  แต่การรอเวลาอย่างเดียวก็คงไม่เกิดผล  ความคิดดีๆ  ในทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น  ส่วนหนึ่งเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นต่อมา  เพราะความคิดนั้นได้รับการพิสูจน์มาพอสมควรว่าเป็นความคิดที่ดี  มีประโยชน์  และมีเหตุมีผล


          การเรียนหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมหรือแบบใหม่นั้น สำหรับผมคือหัวใจของการรักษาพระพุทธศาสนา เรื่องนี้ไม่มีใครอาจปฎิเสธได้  ถ้าเราตั้งต้นที่จุดนี้แล้วพิจารณาว่า เวลานี้วัดพระธรรมกายคือสำนักเรียนที่แข็งขันในอันดับต้นๆ ของประเทศ  (ซึ่งก็คือของโลกนั่นเอง เพราะการเรียนคำสอนพระพุทธศาสนาแบบนี้ มีอยู่อย่างแข็งขันก็เฉพาะในไทย สำหรับพม่าและลังกานั้น สมัยก่อนเคยทัดเทียมเรา แต่เวลานี้ก็อ่อนลงไปมากแล้ว )  ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ วัดพระธรรมกาย เราคงไม่อาจปฎิเสธได้ว่า สิ่งที่วัดกำลังทำอยู่เวลานี้ เป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์ในระดับที่สำคัญยิ่งยวดด้วย
         ผมทราบมาว่า เวลานี้วัดกำลังจัดทำโครงการที่จะขยายการศึกษาของวัดให้แผ่ออกไปอย่างกว้าง ขวางและเป็นระบบ กำลังมีการจัดสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัด โดยจะให้ที่นั่นเป็นศูนย์กลางการศึกษาของวัดอย่างเต็มที่และเต็มรูปแบบ ซึ่งก็แปลว่า ต่อไปพระเณรในวัดอื่นๆ ก็จะมีโอกาสได้เข้ามาเรียนด้วย มีคนวิจารณ์ว่า วัดพระธรรมกายชอบคิดใหญ่ ทำใหญ่  ผมคิดว่าการคิดใหญ่ทำใหญ่ทางการศึกษา เช่นนี้ แทบจะหาข้อตำหนิไม่ได้เลย
มหาวิทยาลัยนาลันทา
 
มหาวิทยาลัยนาลันทในปัจจุบัน
 
         ในอดีตเราเคยมีมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุด มีพระภิกษุและสามเณรอยู่ประจำ จำนวนเป็นหมื่นๆ สถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้ ผมคิดว่าสมัยนี้น่าจะมีวัดพระธรรมกายนี่แหละ ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เวลานี้เรามีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง  คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นเสาหลักให้  ต่อไปก็คงมีวัดพระธรรมกาย ที่จะช่วยเป็นเสาที่ 3 ในการค้ำยันพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลกต่อไป 

      ผม ยังคิดด้วยว่า ในอนาคตหาก 3 สถาบันนี้ร่วมมือร่วมใจกัน อะไรจะเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านน่าจะจินตนาการออกอาจเป็นไปได้ที่เราจะทำคุณประโยชน์ต่อโลก ได้มากกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาที่เลื่องลือนั้น ที่กล่าวมานี้ไม่ได้แปลว่า ผมคิดว่า วัดพระธรรมกาย ดีกว่าวัดอื่น  ผมเพียงแต่บอกว่า เราควรมองไปที่ใด ในวัดพระธรรมกาย ความร้อนรุ่มที่อยู่ในใจเพราะไม่ชอบวัดจะลดลงได้บ้าง ผมนั้น ไปทุกวัด เช่น วัดสวนแก้วของ ท่านเจ้าคุณพยอม สำนักสันติอโศก ของท่านสมณะโพธิรักษ์  ท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ ( ประยุทธ์ ปยุตฺโต ) ที่แต่งหนังสือ  " กรณีธรรมกาย "  และ  " กรณีสันติอโศก "  แม้ผมไม่เคยไปกราบท่านถึงวัด  แต่ก็เป็นผู้ที่ผมเคารพนับถือมากที่สุดท่านหนึ่ง


          การเป็นชาวพุทธสำหรับผมนั้น  น่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ เข้าวัดไหนก็ได้ แล้วมองแต่สิ่งที่ดีมาใช้   ถ้าคิดอย่างนี้ได้ คนที่ไม่เคยมาวัดพระธรรมกายก็น่าจะลองมาดูบ้าง  หรือผู้ที่มาอยู่แล้วก็น่าจะลองหาโอกาสไปวัดอื่นๆ บ้าง  หากไปทางกายไม่ได้  ก็อาจไปทางใจ  คือมองสำนักที่ต่างไปจากสำนักอาจารย์ตน อย่างมีเมตตา อย่างพยายามที่จะเข้าใจ  และฟังอะไรอย่างฟังหูไว้หู  ไม่วู่วามไปตามกระแสของสื่อ  หรือของคนหมู่มาก ทำได้อย่างนี้ เราชาวพุทธคงจะเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขสงบใจมากกว่าใครในโลก
           มี สิ่งหนึ่งที่ผมอยากกล่าวเป็นการปิดท้ายข้อเขียนนี้คือ  ผมสังเกตเห็นว่า  วัดพระธรรมกาย มีอะไรบางอย่างที่ผมไม่ค่อยพบที่อื่น สิ่งนี้คือความน่ารักของเจ้าหน้าที่ประจำ ที่ทำงานเต็มเวลาให้แก่วัดโดยได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก เจ้าหน้าที่เหล่านี้ที่ผมรู้จักมักจะเป็นอุบาสิกาที่กิริยามารยาทงดงาม  ไม่ถือตัว อ่อนน้อม  และเวลาได้พูดคุยด้วยเราจะรู้สึกเป็นสุข ผมถือว่าท่านเหล่านี้น่ารักอย่างนั้นก็ต้องเพราะวัดอบรมมาดี  บางท่านที่ไม่ชอบวัดเป็นทุนอาจแย้งผมว่า  คนเหล่านี้กำลังจัดฉากอยู่หรือเปล่า  ผมไม่เชื่อว่าใครจะจัดฉาก ได้ยาวนานและแนบเนียนอะไรปานนั้น  คนเราหากได้อยู่ใกล้ชิดกัน ได้คุยกัน  ดวงตาจะบอกได้ว่าเขาเสแสร้ง
หรือไม่


       สำหรับพระคุณเจ้าที่นี่ในส่วนที่ผมรู้จักนั้น  เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชน ก่อนที่จะมาบวช (ผมหมายความว่าท่านเคยเป็นนิสิตนักศึกษามาก่อน บางท่านอาจมาบวชทั้งที่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ  เพราะเห็นว่าทางธรรมประเสริฐกว่าทางโลก) ส่วนใหญ่จึงฉลาด พระที่ฉลาดเช่นนี้ต่อไปคงเป็นอนาคตของพระศาสนาได้มาก คนหนุ่มๆ ที่เอาชีวิตในวัยหนุ่มมาอุทิศให้พระศาสนานั้น ย่อมเป็นผู้ที่เราเคารพได้ในเบื้องต้นว่า ช่างมีใจที่เด็ดเดี่ยวอะไรเช่นนั้น ต่อไปเมื่อท่านเหล่านี้ ผ่านการเจียระไนโดยระบบการศึกษาและจิตภาวนาที่เหมาะสม  ก็จะเป็นเพรชในทางปัญญาแก่สังคมไทยซึ่งไม่ใช่เพียงเม็ดสองเม็ด แต่เป็นร้อย เป็นพัน หรือหมื่น


       วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งของชาววัดพระธรรมกาย คือความให้เกียรติกัน อุบาสิกาที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลงานด้านต่างๆ  ของวัดนั้น ผมเห็นว่าได้รับการปฎิบัติโดยพระภิกษุภายในวัดอย่างให้เกียรติ จริงว่าโดยเพศ  อุบาสิกาต้องถือว่ามีสถานะที่ต่ำกว่าพระเณร แต่เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการให้เกียรติ ผมเห็นพระที่อ่อนวัยกว่า  เรียกอุบาสิกาที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่วัยมากกว่า ว่า   " โยมพี่ "  คำนี้สำหรับผมเป็นคำที่ไพเราะเหลือเกินเป็นการเรียกอย่างคนในครอบครัว  อย่างให้เกียรติ  ถ้าผมมีพี่สาวที่ดี  แม้ผมบวชแล้วผมก็คงนับถือพี่สาวของผมต่อไปได้ พระพุทธศาสนาเถรวาทเรานั้นมีคนวิจารณ์ ว่าไม่ค่อยให้เกียรติผู้หญิง  บวชชีแล้วก็ต้องมาเป็นคนรับใช้พระ ข้อวิจารณ์นี้คงใช้ไม่ได้กับ วัดพระธรรมกาย เพราะเป็นที่ทราบว่า บุคคลหนึ่งที่ทางวัดนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคลก็คือ  ท่านคุณยายจันทร์  ขนนกยูง  ซึ่งเป็นเพียงอุบาสิกาเท่านั้น


       ที่กล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรมของชาววัดพระธรรมกายก็เพราะ ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบพุทธที่เคยมีมาแต่สมัยพุทธกาลแล้วอุบาสิกา อย่างนางวิสาขานั้ เป็นผู้ที่พระเณรให้เกียรติ พระวินัยหลายข้อเกิดขึ้นเพราะอุบาสิกาท่านนี้เป็นห่วงเป็นใยพระสงฆ์  ถ้าเรามีวัฒนธรรมในการให้เกียรติกันเช่นนี้  พระพุทธศาสนาในบ้านเราคงจะไปได้กว้างไกลมากกว่านี้ เวลาที่ชาวต่างชาติมาเยี่ยมชมวัดเราแล้วเห็นหลวงพี่หลวงตาจิกเรียกอุบาสก อุบาสิกา หรือเด็กวัดอย่างเต็มไปด้วยทิฎฐิมานะ  เขาก็คงไม่สู้จะประทับใจในพระพุทธศาสนาเท่าใดนักกระมัง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘