มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 11

การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพ

• เป็นการวิเคราะห์ตามหลักของการดำเนินธุรกิจ การวิเคราะห์ส่วนมากจะเป็นลักษณะตัวอักษร ไม่มีถูกหรือผิดที่ชัดเจน ไม่มีตัวเลขยุบๆยับๆให้มาคำนวณ เช่นการวิเคราะห์ในเรื่อง.....

• -ศิลปะในการบริหารจัดการ

• -การวางแผนในเชิงกลยุทธ์และแนวทางปฎิบัติงาน 

• -การสังเกตดูวัฒนธรรมองค์กร 

• -การวิเคราะห์ฝีมือCEOและทีมบริหาร 

• -การศึกษารูปแบบโมเดลธุรกิจ 

• -พูดถึงการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของธุรกิจ(SWOT)
• 1.จุดแข็งของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง
• 2.จุดอ่อนของธุรกิจเรามีอะไรบ้าง
• 3.โอกาสและความพร้อมในโอกาสมีมากน้อยเพียงใด
• 4.ความเสี่ยงในตัวธุรกิจเราคืออะไร อันตรายแค่ไหน

• -วิเคราะห์แวลู่ เชน และ ซัพพลาย เชน(value chain & supply chain)

• ***การวิเคราะห์ที่ผมกล่าวไปข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ภายในขององค์กร การวิเคราะห์เรียนรู้ภายในองค์กร เพื่อที่จะนำมาประมวลผลเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม*** 

• -การวิเคราะห์ภาพรวมของกลุ่มอุตสาหกรรม แยกประเภทธุรกิจ6กลุ่ม ตามหลักของปีเตอร์ ลินซ์
• 1.หุ้นโตช้า
• 2.แข็งแกร่ง
• 3.หุ้นโตเร็ว
• 4.หุ้นวัฎจักร
• 5.หุ้นฟื้นตัว
• 6.หุ้นทรัพย์สินมาก

• -การวิเคราะห์พลังทั้งห้าของ porter
• 1.การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร
• 2.โอกาสการเข้ามาของรายใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ยากง่ายเพียงใด
• 3.สินค้าทดแทนของบริษัทเรามีไหม/ทดแทนได้มากน้อยเพียงใด
• 4.อำนาจการต่อรองกับลูกค้าเป็นอย่างไร
• 5.อำนาจการต่อรองกับผู้ผลิต(ผู้ป้อนวัตถุดิบ)เป็นอย่างไร

• ***การวิเคราะห์ภาพรวมของอุตสาหกรรม และภาพใหญ่ๆของธรรมชาติของธุรกิจ จะได้เพื่อจะรู้ว่าธรรมชาติของธุรกิจนี้เป็นอย่างไร***

• จะเห็นได้ว่าการประเมินกิจการที่ผมกล่าวไปนั้น ไม่มีตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่ทุกๆอย่างที่กล่าวมุ่งไปสู่EPSบรรทัดสุดท้ายเหมือนๆกัน......บริษัทที่ดีนั้น จะมีการวางโมเดลธุรกิจ,รูปแบบกลยุทธ์ในแต่ละข้อให้มีความสัมพันธ์กันเพื่อที่......
• -ปิดจุดอ่อนของตนเอง และมีความระมัดระวังในจุดอ่อนนั้นๆ 
• -สร้างความพร้อมให้กับองค์กรเมื่อโอกาสมาถึง
• การเติบโตของรายได้และผลกำไรจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากสำหรับบริษัทที่ดี.......

• การวิเคราะห์เชิงคุณภาพนี้ ไม่มีวิธีที่ลัดไปกว่า เราต้องหมั่นอ่านหนังสือการบริหารการจัดการทางด้านธุรกิจให้มากๆ หมั่นสังเกตบริษัทต่างๆที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมว่าเขามีจุดแข็งในด้านใด?........ ธรรมชาติของธุรกิจเป็นเช่นไร?......... 
• เขาวางจุดยืนในตัวธุรกิจเขาอย่างไร?........... จึงสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ การฝึกวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง และองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้บ่อยๆครั้ง จะทำให้เราสามารถมองทะลุธุรกิจที่เราจะลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

• บริษัทที่สุดยอดจะมีการวางแผนกลยุทธ์ไว้หลายชั้น มีรั้วหนาม กำแพง ร่องน้ำ กับดัก ป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้าเจาะฐานที่มั่นได้ง่ายๆ โอกาสที่จะรายได้จะหาย กำไรจะถดถอยในกลุ่มบริษัทนี้จึงค่อนข้างจะยาก……การที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำได้นั้นยากนัก แต่การที่จะรักษาความเป็นผู้นำได้นั้นยากยิ่งกว่า คำกล่าวนี้คงไม่เกินความเป็นจริงสักเท่าใด เราเป็นนักลงทุน หน้าที่ของเราคือรักษาผลประโยชน์ของเงินเราไม่ให้สูญหาย เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเลือกลงทุนในกิจการที่มีขอบข่ายคูเมืองที่แข็งแกร่ง หรือธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน โอกาสที่เงินเราจะทวีคูณในอนาคตก็ไม่ยากจนเกินไป 


• ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน

• วอเรนมักจะกล่าวบ่อยๆว่า “ให้เลือกธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน”......คำๆนี้ถูกตีความไปได้ในหลายๆทาง วันนี้ผมขอตีความ เปรียบเทียบในมุมมองของการทำธุรกิจนะครับ ซึ่งคำๆนี้ ถ้าตีความในมุมมองของคนที่ประกอบธุรกิจ เช่นผม ผมว่ามันคล้ายๆกับกลุ่มคำเหล่านี้รวมๆกันคือ

• +ยุทธศาสตร์บริษัท+

• +อำนาจการต่อรอง+

• +ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า+

• +ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ+

• +วัฒนธรรมองค์กร+

• +ข้อได้เปรียบพิเศษ+



• ยุทธศาสตร์ของบริษัท 

• หมายความว่า เมื่อบริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะไปคว้ามา การวางยุทธศาสตร์คือ การวางแนวทางเพื่อกระทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแนบเนียน ในการที่จะไปนำเป้าหมายนั้นมาให้จงได้ ยุทธศาสตร์ยังมีแบ่งย่อยเป็นหลายกลยุทธ์ตามลักษณะของธุรกิจหรือตามหน่วยงาน แต่ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทั้งหมดจะต้องวางให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน ผมขอยกตัวอย่างบริษัท7ที่เราๆท่านๆเห็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ได้ง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพกันอย่างชัดเจน

• “ยุทธศาสตร์ที่7ได้วางไว้ในตามส่วนงานต่างๆจะมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายคือ7เป็นแหล่งอิ่มสะดวกใกล้บ้าน(สื่อสารภายนอก)และ จะเก็บเกี่ยวกำไรจากการกระจายสินค้าจากผู้ผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด(สื่อสารภายในองค์กร)เพราะฉะนั้น”

• -ฝ่ายการตลาดก็ต้องเน้นย้ำโฆษณาที่อิ่มสะดวกใกล้บ้าน24ชม.(สื่อสารภายนอก)โดยที่7จะของบโฆษณาประชาสัมพันธ์จากผู้ออกโฆษณาร่วม หรือให้บริษัทต่างๆโฆษณา7แฝงจากการบ่งบอกที่จัดจำหน่าย(บริหารต้นทุนโฆษณา)

• -ฝ่ายขายก็ต้องเน้นบริการให้รวดเร็ว และวางตำแหน่งสินค้าให้เหมาะสม(เพื่อให้ลูกค้าสะดวกหยิบจับให้ง่ายที่สุด)บริหารยอดขายต่อเนื้อที่ให้ได้สูงสุด และมีการระบุตำแหน่งการดูแลสินค้าให้สูญเสียและสูญหายน้อยที่สุดจากการให้พนักงานในแต่ละคนรับผิดชอบสินค้าในแต่ละช่วง(บริหารต้นทุนความสูญเสียให้น้อยที่สุด)

• -ฝ่ายขยายสาขาก็ต้องหาจุดทำเลที่เหมาะสมที่ยึดหัวหาดทำเลที่ดีและตอบสนองความพึงพอใจในการพบเจอ7(ตามสโลแกนที่สื่อให้ผู้บริโภครับรู้)โดยพยายามหาผู้มาลงทุนแทนให้มากที่สุด เพื่อลดเงินลงทุนของบริษัท(ประหยัดการลงทุน)

• -ฝ่ายจัดซื้อก็ต้องหาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ มาจัดจำหน่ายและมีการเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าเมื่อสินค้าเดิมไม่เป็นที่นิยม เพื่อความสดใหม่ของ7และตอบสนองผู้บริโภคให้พึงพอใจ ส่วนหลังบ้านก็ต้องเน้นหาต่อรองค่าการตลาด ค่าหัวชั้น และจัดรายการ กระตุ้นยอดขาย เพื่อผลกำไรสูงสุดของทาง7เองเช่นกัน

• -สินค้าเองก็ต้องมีความสอดคล้องตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสินค้าประเภท first 7 หรือ only 7 ที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นผู้นำและจุดแข็งของ7

• -ฝ่ายบุคคลากรก็ต้องฝึกฝนคนให้ทำตามระบบที่วาง ให้มีวัฒนธรรมที่ดีในงานบริการ ในเรื่องพนักงานที่เป็นคอขวดและปัญหาใหญ่ของธุรกิจบริการ ทาง7เองก็ได้ตั้งสถานศึกษา เพื่ออบรม ฝึกสอน และพัฒนาบุคคลากรของตนเองเพื่อแก้ปัญหานี้
• -เรื่องระบบโลจิสติก ในเมื่อ7ได้วางจุดยืนตนเองให้เป็นผู้กระจายสินค้าที่ใกล้บ้านและมีสินค้าที่สดใหม่ ระบบโลจิสติกจึงต้องสอดคล้องกับสต๊อกสินค้าในร้าน ทาง7ก็ได้มีการบริหารจัดการเองในส่วนคงคลังและมีการเอาท์ซอสท์ในส่วนของขนส่งเพื่อความคล่องตัวในการจัดส่งไปให้แต่ละสาขาให้เร็วที่สุด(เพื่อความสดใหม่ของสินค้าและบริหารสินค้าหน้าร้านให้เหมาะสม) และประหยัดที่สุด

• จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ในแต่ละข้อที่กล่าวไปแล้วนั้น 7เองได้มีการจัดกระบวนทัพให้มีความสอดคล้องเพื่อไม่เปิดช่องว่างให้คู่แข่งเข้ามาเจาะได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าบริษัทไหนมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีกลยุทธ์ที่ดีในแต่ละช่วงเวลา บริษัทนั้นก็จะมีขอบค่ายคูเมืองหลากหลายขั้นตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ครับ

• อำนาจการต่อรอง 

• สิ่งนี้จะไปบ่งถึงธรรมชาติของธุรกิจว่ารูปแบบเป็นอย่างไร โดยถ้าเราเอาบริษัทเป็นจุดศูนย์กลาง ฝั่งซ้ายมือคือแหล่งที่มาของสินค้าหรือวัตถุดิบ เรียกว่า เวนเดอร์ ฝั่งขวาคือแหล่งที่เรากระจายสินค้าไปให้ เรียกว่าลูกค้า บริษัทที่มีอำนาจการต่อรองที่ดีนั้น ฝั่งซ้ายมือก็ต้องเป็นเวนเดอร์รายเล็กๆที่มีผู้ขายหลายราย ส่วนเราเป็นรายใหญ่สำหรับเขา ที่สามารถกำหนดและต่อรองราคาได้ ส่วนฝั่งลูกค้าก็เช่นกัน การมีลูกค้ากระจายหลากหลายเป็นหนทางที่ดี ยิ่งถ้าเราสามารถกำหนดราคาขายได้ โดยไม่ต้องรอสอบถามผู้ซื้อ ก็ถือว่าสอบผ่าน และเราสามารถวิเคราะห์อำนาจการต่อรองอีกทางคือ วิเคราะห์แบบพลังทั้งห้าของ porter ครับ 

• -บริษัทที่สามารถครอบครองตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจะมีอำนาจการต่อรองค่อนข้างสูง อาจจะด้วยเพราะการประหยัดต่อขนาด(economy of scale) และถ้าบริษัทไหนมีอำนาจการต่อรองสูง ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนก็สูงตามครับ เหมือน7นี่คงไม่ต้องบอกว่ามีอำนาจในการต่อรองกับเวนเดอร์และลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด

• ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า

• ความจงรักภักดีต่อตราสินค้าคงหนีไม่พ้นคำว่า ความพึงพอใจ ของลูกค้า ถ้าเราสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้จ่ายได้มากเท่าไหร่ value add ก็จะมากขึ้นเท่านั้น หน้าที่ของบริษัทคือ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด 

• -ถ้าบริษัทยิ่งมีเอกลักษณ์ ลูกค้ามีความพึงพอใจมากเท่าไหร่ ความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนก็ยิ่งสูงตามครับ การกระจายร้านขายไปใกล้แหล่งชุมชนให้มากที่สุด ก็เป็นการตอบสนองสินค้าให้ตรงความต้องการลูกค้าให้มากที่สุด ทำให้7สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาเกือบต่ำที่สุด แต่สามารถขายสินค้าได้ในราคาเกือบสูงสุด

• ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 

• การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้บริษัทเติบใหญ่แต่ไม่อ้วนฉุ ถ้าบริษัทโตอย่างไม่มีคุณภาพ เช่นมียอดขายที่โตขึ้นแต่ควบคุมสิ่งต่างๆได้น้อยลง อนาคตสนิมในองค์กรก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเปิดช่องว่างให้คู่แข่งเข้ามาเจาะฐานที่มั่นได้ในที่สุด หน้าที่ของนักลงทุนคือติดตามประสิทธิภาพของบริษัทที่เราลงทุนในด้านต่างๆโดยดูจากงบการเงินที่ประกาศทุก3เดือนครับ เช่นถ้าเป็น7 ภาพใหญ่ๆที่ต้องติดตามจะมีเรื่อง ยอดขาย/พื้นที่ , กำไรขั้นต้น/พื้นที่ , ค่าใช้จ่าย/พื้นที่ และการขยายสาขาใหม่เป็นต้น

• วัฒนธรรมองค์กร

• การทำธุรกิจใดๆก็ตามจะประกอบด้วยสองสิ่งที่พึ่งพิงกันคือ ระบบและทรัพยากรบุคคล องค์กรที่ใหญ่มากขึ้น ระบบจะซับซ้อนมากขึ้น และบุคคลากรจะเพิ่มมากขึ้นตามระบบ การบริหารจัดการในเรื่องระบบและทรัพยากรบุคคลก็มีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับนโยบายของบริษัทนั้นๆ รูปแบบไหนถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม ถูกก่อร่างสร้างตัวเติบใหญ่ด้วยกันมา รูปแบบนั้นๆจะกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปในที่สุด ยิ่งนานวัน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะค่อนข้างยุ่งยาก ยุ่งเหยิงและอันตรายพอสมควร(ถ้าไม่สามารถสื่อการเปลี่ยนแปลงให้ทุกระดับได้รับทราบเป้าหมายร่วมกัน)

• ความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ได้กล่าวไปในสี่ข้อแรก(ยุทธศาสตร์บริษัท+อำนาจการต่อรอง+ความจงรักภักดีต่อตราสินค้า+ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ)จะแข็งแกร่งเพียงใด ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆว่ามีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสิ่งที่ดีต่างๆมากน้อยเพียงใด

• ข้อได้เปรียบพิเศษ

• ในบางธุรกิจการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ค่อนข้างจะยากเพราะด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นรายเก่ามีความได้เปรียบในรูปแบบต่างๆเช่น ความได้เปรียบเพราะมีสิทธิบัตร,ใบอนุญาต,สัมปทาน,ความเชี่ยวชาญพิเศษ,ทำเลที่ตั้ง ถ้าบริษัทไหนมีข้อได้เปรียบดังกล่าว การเข้ามาแบ่งแชร์รายได้ของผู้เล่นรายใหม่ก็ยิ่งยากขึ้นครับ


• การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณ

• การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณคือเรื่องที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ตัวเลขที่ต้องทำเพื่อให้เกิดสิ่งที่จับต้องได้ โดยผมจะใช้ปัจจัยเชิงปริมาณ(การวิเคราะห์งบการเงิน) เพื่อประโยชน์อยู่สองอย่างคือ

• 1.ไว้ดูว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตของบริษัทนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เช่นรูปแบบของรายได้และกำไรสิบปีที่ผ่านมามีความสม่ำเสมอหรือไม่ เข้าข่ายหุ้นเติบโต หุ้นพื้นฐาน หรือหุ้นวัฎจักร หรือNPM ROEที่ผ่านมาเป็นอย่างไร สม่ำเสมอหรือไม่ สิ่งนี้บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของกิจการในระยะยาว

• 2.ไว้คอยตรวจสอบเช็คผลประกอบการในแต่ละไตรมาสว่าตรงตามที่เราจินตนาการหรือประเมินไว้หรือไม่ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับตนเองในอดีตและคู่แข่งขันในตลาด หรือมีสัญญาณอะไรบ่งบอกถึงความถดถอยของกิจการหรือเปล่า

• การที่เราจะวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณได้ อย่างน้อยเราก็ต้องมีความรอบรู้ถึงภาษาทางทางบัญชีที่เขาเอาไว้สื่อ ในบทนี้ขั้นต้นผมจึงขออธิบายถึงค่าตัวแปรแต่ละตัวที่ผมได้ใช้ประจำในการลงทุน และการแปรความงบการเงินอย่างคร่าวๆนะครับ

• PE(PRICE/EARNINGS) 

• PE หรือ ราคา(ต่อหุ้น)/กำไร(ต่อหุ้น) เช่นราคาหุ้นในตลาดอยู่ที่5บาท กำไร4ไตรมาสย้อนหลัง(EPS)อยู่ที่1.0บาทต่อหุ้นแสดงว่าPEตัวนี้อยู่ที่5/1.0คือ5เท่า และด้วยตามทฤษฎี ถ้าเราถือหุ้นPE=5เท่า หมายความว่าเราจะคืนทุนจากการเป็นเจ้าของกิจการนี้ภาย5ปี หรือจะคิดแปลงเป็นเปอร์เซนต์= 1/5 * 100 = ผลตอบแทนที่20เปอร์เซนต์ต่อปีนั่นเอง ซึ่งดูเป็นอะไรที่ง่ายมาก หน้าที่เราเพียงเลือกลงทุนในกิจการที่PEต่ำๆ เราก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงๆแล้ว.......แต่ช้าก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป ขอบอกก่อนว่าEที่แสดงให้เราเห็นในหนังสือพิมพ์และเวปต่างๆนั้น คือผลกำไร4ไตรมาสย้อนหลัง นักลงทุนผู้ชาญฉลาด เขาจะศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีตเพื่อเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาของตัวธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาประเมินมูลค่าของกิจการจากผลกำไรในอดีต พวกเขาจะซื้อมูลค่าของกิจการในอนาคตเท่านั้น และอีกข้อที่ควรระวังคือ ผลกำไรในอดีตที่แสดงในงบนั้น ไม่ได้บ่งบอกคุณภาพของกำไรเลย เช่น กำไรนั้นอาจจะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว(ผลกำไรที่ไม่ดี) หรือเป็นผลกำไรที่ยั่งยืนคนอื่นมาแย่งไปไม่ได้ง่ายๆ(ผลกำไรที่ดี) ผมจึงคิดว่าอย่างน้อยเราต้องทำความเข้าใจกับ “รายได้&กำไร” ให้ถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้อย่างถูกต้องครับ


• รายได้ & กำไร (Revernue & Earnings) 
• บริษัททุกบริษัทมีเป้าหมายในการสร้างความมั่งคั่งหรือสร้างกำไรให้กับธุรกิจ แต่ในความเป็นจริงกำไรในรูปแบบบัญชีที่แสดงให้เราเห็นในงบเพียงไตรมาสหรือปีนั้นไม่ค่อยตรงกับความมั่งคั่งสักเท่าใดนัก เพราะในงบการเงินนั้นเป็นการสะท้อนกำไรให้เห็นตามรูปแบบบัญชีที่มีการกำหนดไว้ให้มีมาตรฐาน เพื่อการเปรียบเทียบที่ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะนำเอารายได้และกำไรบรรทัดสุดท้ายมายึดเป็นบรรทัดฐานในการซื้อขายหุ้นจึงเป็นเรื่องที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง หน้าที่เราคือต้องปรับแต่งรายการบางรายการเสียก่อน เพื่อให้เป็นกำไรที่แท้จริง และก่อนที่เราจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องรู้โครงสร้างของงบการเงินอย่างคร่าวๆกันก่อนนะครับ

• ผมชอบหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ร้านไหน?กำไรมากกว่า!” หนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพของโครงสร้างของธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบธุรกิจให้เห็นเป็นสามส่วนคือ 1.เครื่องผลิตเงิน 2.วัสดุอุปกรณ์ที่จะใส่เข้าไปในเครื่องผลิตนี้ และ3.ผลผลิตจากเครื่องนี้ จะได้ผลผลิตออกมาเป็นอะไรและเท่าไหร่ คล้ายๆกับหลักการ input process output นั่นเอง

• 1.เครื่องผลิตเงิน ในธุรกิจแต่ละประเภทจะมีต้นทุนของเครื่องผลิตเงินไม่เท่ากัน หรือแม้กระทั่งธุรกิจประเภทเดียวกัน หลายบริษัทก็มีต้นทุนในส่วนนี้ไม่เท่ากัน เราสามารถมองหาเครื่องผลิตเงินนี้ได้จากฝั่งซ้ายของงบดุลในส่วนของทรัพย์สินถาวรประเภทต่างๆ ธุรกิจที่ดีที่สุดในมุมมองของฝ่ายบัญชี คือธุรกิจที่มีต้นทุนเครื่องผลิตเงินที่น้อยที่สุด เพราะในรูปแบบบัญชีจะถือว่าต้นทุนในเรื่องนี้เป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายต้องลดลงให้ได้ เพราะเครื่องผลิตเงินเป็นต้นทุนคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปอยู่รูปอื่นได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตลาดอย่างฉับพลัน คนที่มีต้นทุนเครื่องผลิตเงินที่สูงกว่า ก็จะปรับตัวได้ยากกว่านั่นเอง ธุรกิจที่มีเครื่องผลิตเงินนี้สูงมากๆก็เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโรงกลั่น และอุตสาหกรรมหนักประเภทต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ค่อยชอบคือ ผลพลอยได้ที่ตามมาจากเครื่องผลิตเงินนี้ นั่นคือ “ค่าเสื่อม” ที่จะถูกซอยมาเป็นรายจ่ายในทุกๆไตรมาส เช่นถ้าเราซื้อเครื่องจักรนี้เป็นเงิน100ล้านบาท มีการตัดค่าเสื่อม10ปี จะมีการบันทึกเป็นรายจ่ายปีละ10ล้านบาทเป็นต้น 

• “ที่ดินเป็นสิ่งเดียวในรายการทรัพย์สินไม่หมุนเวียนที่ไม่มีค่าเสื่อม” 

• “แต่มุมมองของกลยุทธ์ จะมีทรัพย์สินบางสิ่งที่บริษัทจะต้องถือเป็นเจ้าของ เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้ในเชิงกลยุทธ์การมีต้นทุนของเครื่องผลิตเงินในบางเรื่องน่าจะเป็นผลดีกว่าไม่มี”

• 2.หมายถึงวัสดุอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในเครื่องเพื่อให้เกิดผลิตผลที่เราอยากจะได้ ตัวอย่างเช่นธุรกิจร้านอาหาร การตกแต่งร้านอาหารรวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ห้องครัว จะเป็นเครื่องผลิตเงิน ส่วนวัสดุที่เราใส่เข้าไปจะหมายถึง วัตถุดิบในการประกอบอาหารและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ถ้าเราดูที่งบดุล จะเห็นรายการพวกนี้อยู่ในส่วนของทรัพย์สินหมุนเวียนประเภทต่างๆและอีกส่วนจะไปแสดงในงบกำไรขาดทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายขายและบริหาร

• การวัดประสิทธิภาพของกิจการ ถ้าเป็นกิจการประเภทเดียวกัน เราสามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ได้จากการเปรียบเทียบต้นทุนค่าเสื่อมจากเครื่องผลิตเงินกับรายได้แล้ว เรายังสามารถดูได้จากการเปรียบเทียบทรัพย์สินหมุนเวียนกับรายได้ที่เกิดขึ้น โดยดูว่าถ้าบริษัทใช้เงินทุนน้อยกว่าในการสร้างรายได้ที่เท่ากัน ก็บ่งบอกไปถึงต้นทุนที่ต่ำกว่า เพราะสามารถหมุนรอบทรัพย์สินในส่วนนี้ได้ดีกว่านั่นเองครับ

• 3.ผลผลิตจากเครื่องผลิตเงิน ผลผลิตที่ดีที่สุดที่เราอยากได้คือเงินสด แต่ในความเป็นจริงของธรรมชาติธุรกิจแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน บริษัทไม่สามารถฝืนธรรมชาติของธุรกิจได้ ผลผลิตที่ได้มาจึงอาจจะอยู่ในรูปของ สินค้าสำเร็จรูป และ ลูกหนี้การค้า แล้วค่อยแปลงไปเป็นเงินสดอีกต่อหนึ่ง ทำให้บางธุรกิจงบการเงินดูมีกำไรดี แต่ท้ายที่สุดกิจการก็ไปไม่รอด เพราะเก็บหนี้ไม่ได้ หน้าที่ของนักลงทุน ไม่ใช่ไปปฎิเสธ ธรรมชาติของธุรกิจ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตัวธุรกิจมากกว่า ถ้าพูดถึงลูกหนี้และสินค้าคงเหลือจะอยู่ในส่วนของทรัพย์สินหมุนเวียนเช่นเดียวกัน และถ้าบริษัทไหนมีสองรายการข้างต้นเป็นสัดส่วนที่สูงในทรัพย์สินรวม หน้าที่เราคือ
• -ต้องเข้าไปดูในหมายเหตุงบการเงินที่จะบ่งบอกยอดลูกหนี้ค้างชำระว่าเกินดิวอยู่มากน้อยเพียงใด และมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้มากพอหรือเปล่า 
• -ในส่วนของสินค้าสำเร็จรูปก็เช่นเดียวกัน เราสามารถดูประสิทธิภาพของการบริหาร
• สต๊อกได้จากการนำไปเปรียบเทียบกับรายได้(เช่นเดียวกันกับวัตถุดิบ) เพราะถ้าบริษัทไหนสามารถหมุนรอบสินค้าที่ผลิตออกมาไปแปลงเป็นเงินได้เร็วกว่า บริษัทนั้นก็จะมีต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่านั่นเอง 

• จากรูปแบบการหาเงินข้างต้นจะนำมาเขียนในรูปแบบงบการเงินได้ดังนี้

• 1.งบดุล ทรัพย์สิน=หนี้สิน+ทุน 

• ทรัพย์สิน คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามี จะประกอบด้วยทรัพย์สินหมุนเวียน คือสิ่งที่ใส่เข้าไปเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมา และทรัพย์สินไม่หมุนเวียน คือเครื่องจักรผลิตเงินที่เป็นต้นทุนไม่สามารถแปลงเป็นรายได้เข้ามาได้
• หนี้สิน คือ สิ่งที่เรายืมคนอื่นมาใช้ แล้วจะผ่อนจ่ายให้เขาภายหลัง เช่นเจ้าหนี้การค้าเครื่องผลิตเงิน เจ้าหนี้การค้าวัตถุดิบที่จะใส่เข้าไปในเครื่อง หรือเจ้าหนี้เงินกู้ที่เรากู้มาเพื่อชำระเจ้าหนี้การค้า โดยเอาทรัพย์สินไปค้ำประกัน
• ทุน คือ ทรัพย์สินทั้งหมดของเราที่หักเจ้าหนี้ทั้งหลายออกไปแล้ว 

• 2.งบกำไรขาดทุน รายได้-ค่าใช้จ่าย=กำไร

• รายได้ คือ ผลผลิตที่ได้จากเครื่องผลิตเงิน(OUTPUT)
• ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนที่INPUTเข้าไปในเครื่องผลิตเงินเพื่อจะได้เงินออกมา และ ค่าเสื่อมของเครื่องผลิตเงิน
• กำไร คือ ส่วนที่เหลือจาก OUTPUT-INPUT นั่นเอง

• 3.งบกระแสเงินสด => ในเมื่อกำไรในงบกำไร/ขาดทุน จะเป็นการแสดงตัวเลขทางบัญชี แต่ไม่ใช่เงินสดที่อยู่ในมือ จึงมีการคิดงบกระแสเงินสดขึ้นมาเพื่อกระทบยอดเงินสดจริงๆที่อยู่ในมือเพื่อดูสภาพคล่องของกิจการ เช่นมีการซื้อเครื่องผลิตเงินด้วยเงินสด1ล้านบาท ตัดค่าเสื่อม10ปี ในงบกำไรขาดทุนจะมีการตัดค่าใช้จ่ายปีละ1แสนบาทตั้งแต่ปีแรกจึงถึงปีที่10 แต่งบกระแสเงินสดจะมีการตัดทางบัญชีออกไป1ล้านในปีแรก(แต่ตัดค่าใช้จ่ายในงบกำไร/ขาดทุนแสนเดียว) และทุกๆปีงบกระแสเงินสดจะมีการยกคืนกลับทางบัญชีปีละแสนจากงบกำไรขาดทุนที่ถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายไปปีละแสนเป็นต้น และในส่วนของเจ้าหนี้,ลูกหนี้ ที่บันทึกในงบกำไร/ขาดทุนแล้ว แต่ยังไม่ได้เงินสด ก็ต้องนำมาปรับให้แสดงสถานะเงินสดที่อยู่ในบริษัท เพื่อประโยชน์ในการดูสภาพคล่องของธุรกิจ

• ผมคิดว่า ถ้าเรามองเห็นธรรมชาติของธุรกิจแต่ละประเภท เราจะสามารถรู้จุดอ่อนในตัวธุรกิจ ผ่านการดูจากงบการเงินที่แสดงในทุกๆไตรมาส ทำให้เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นครับ

• รายได้และกำไรเราพอรู้คร่าวๆแล้วว่า การเกิดรายได้และกำไรในครั้งเดียวถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่ค่อยจะดี รายได้/กำไรที่ดีนั้น จะต้องมาจาก
• 1.ความสม่ำเสมอในการใช้บริการ ลูกค้ามีการใช้บริการซ้ำแล้วซ้ำอีก 
• 2.มีการกระจาย ไม่กระจุก ทั้งในฐานของลูกค้าและฐานของรายได้
• 3.ลูกค้ามีความพึงพอใจในการใช้สินค้า/บริการนั้นๆ 

• อีกมุมหนึ่ง การที่เราจะหาหุ้นเติบโต เราต้องมองหาธุรกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ในอนาคตได้อีกพอสมควร นั่นคือเราต้องมองรายละเอียดสามข้อเพิ่มเติมดังนี้

• 1.ให้มองส่วนแบ่งการตลาดว่า ธุรกิจเราเมื่อเทียบกับตลาดรวม มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่กี่เปอร์เซนต์ ถ้าเราเจอธุรกิจที่บริษัทยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่น้อย ก็ยังบ่งบอกโอกาสที่จะเติบโตโดยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากรายอื่นเข้ามา แต่ในทำนองกลับกันถ้าเรามีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก(ส่วนมากจะไม่ใช่หุ้นเติบโต แต่จะเป็นหุ้นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง) 
• 2.ให้มองความต้องการของสินค้า/บริการนั้นๆในตลาดรวมว่า มีความต้องการอีกมากเพียงใด ถ้าตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก แสดงว่าเราเจออุตสาหกรรมที่เป็นเทรนในอนาคต 

• 3.ความพร้อมของบริษัทว่าสามารถเติบโตได้ในระดับใด ในบางบริษัทไม่มีความเตรียมพร้อม หรือมีข้อจำกัดในบางเรื่องทำให้ไม่สามารถเติบโตก้าวกระโดดไปกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตได้ เช่นมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน มีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กรเป็นต้น

• ถ้าธุรกิจที่มีองค์ประกอบทั้งสามที่เปิดกว้าง โอกาสในบริษัทนี้ที่จะเติบโตก็ย่อมง่ายกว่าบริษัทที่ทั้งสามส่วนดังกล่าวเริ่มตีบตัน

• พูดถึงPEแล้วไม่พูดถึงPEG ก็คงไม่ได้ PEGคือการเอาค่าPEมาตั้งหารด้วยเปอร์เซนต์ของการเติบโตของผลกำไรในอนาคต เช่นหุ้นAตอนนี้เทรดอยู่PEที่15เท่า มีการเติบโตในอีกสามปีข้างหน้าราวๆ30เปอร์เซนต์ต่อปี หุ้นตัวนี้จะมีPEGอยู่ที่15/30=0.5 หุ้นBเทรดอยู่PEที่10เท่า คาดว่าอีก3ปีข้างหน้าจะมีการเติบโตอยู่5เปอร์เซนต์ต่อปี PEG=10/5=2เท่า ซึ่งจะเห็นว่าPEGยิ่งถูกยิ่งดี การใช้PEGเปรียบเทียบหุ้นแต่ละตัวนี้อย่างน้อยๆ
• 1.ควรจะเป็นหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่นไม่ควรเอาหุ้นพื้นฐานไปเทียบกับหุ้นฟื้นตัวเป็นต้น 
• 2.ช่วงระยะเวลาในการคำนวณการเติบโตต้องเป็นช่วงเวลาเดียวกัน เช่นไม่ควรจะประเมินการเติบโตตัวหนึ่ง1ปี อีกตัวหนึ่ง5ปี มาเปรียบเทียบกัน 
• 3.ควรจะประเมินในช่วงระยะเวลาที่พอมองออกเท่านั้น ไม่ควรยาวจนเกินไป

• P/BV(PRICE/BOOK VALUE) 

• P/BV คือ ราคา(ต่อหุ้น)/มูลค่าทางบัญชี(ต่อหุ้น) ถ้าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาP/BV=1 หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาเดียวกับมูลค่าทางบัญชีหรือราคาเดียวกับส่วนของเจ้าของ แต่อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่าราคาBVไม่ได้บ่งบอกถึงคุณภาพของผลกำไร และถ้าเราไม่สามารถเทคโอเวอร์กิจการทั้งหมดได้ การถือครองหุ้นในราคาต่ำกว่าส่วนทุน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ขาดทุนในการซื้อกิจการนั้นๆ......แต่ถ้าเราใช้P/BV เพื่อที่จะหาหุ้นเทริ์นอะราวด์ หุ้นวัฎจักร หุ้นทรัพย์สินมาก หรือ ดูเพื่อจะเอาP/BVมาเป็นส่วนเผื่อความปลอดภัย(MOS) ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ

• BV บุ๊คแวลูหรือส่วนทุนคือค่าๆเดียวกันต่างกันเพียงหน่วยนับ ถ้าเราเอาส่วนทุนมาหารจำนวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้ออกมาเป็นBV เพราะฉะนั้นค่าBVเราจึงควรเจาะเข้าไปทำความเข้าใจในรายละเอียดของทรัพย์สินและหนี้สินที่เป็นสัดส่วนใหญ่ๆของกิจการ สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินเช่น
• -ที่ดิน จะไม่มีค่าเสื่อม บริษัทส่วนมากจะบันทึกไว้ในราคาทุน ยกเว้นบริษัทที่ต้องการทำการปรับปรุงราคาทรัพย์สินใหม่(จะต้องแจ้งไว้ในหมายเหตุงบการเงิน) เพราะฉะนั้นบริษัทที่มีที่ดินมากๆในราคาที่ซื้อมานานแล้ว จะมีทรัพย์สินแฝงอยู่ในส่วนนี้พอสมควร

• -ทรัพย์สินที่ถูกซ่อนไว้.......หลายบริษัทมีทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ที่อยู่ในรูปของแบรนด์ ความจงรักภักดีของลูกค้า ซัพพลายเชน ทำเลที่ตั้ง วัฒนธรรมองค์กร ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่สามารถจับต้องได้และไม่แสดงอยู่ในงบดุล ซึ่งหลายบริษัททรัพย์สินแฝงนี้มีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ในงบดุลเสียอีก

• -บางกิจการมีลักษณะตัดค่าเสื่อมไปเร็วกว่าการใช้งานจริง เช่นธุรกิจAวางสายเคเบิลใต้ดิน ได้ตัดค่าเสื่อมสายที่6ปี ทั้งๆที่สามารถใช้งานได้ถึง10ปี หรือในทางกลับกันมีบางธุรกิจที่มีการตัดค่าเสื่อมที่ใกล้เคียงความเป็นจริง แต่ต้นทุนในการสร้างใหม่ เฟ้อขึ้นตามค่าครองชีพ ทำให้เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นทุกปี เราสามารถรู้ได้ โดยเข้าไปดูงบกระแสเงินสดในส่วนของค่าเสื่อมเทียบกับในส่วนของกิจการเพื่อการลงทุน เปรียบเทียบว่าบริษัทจะต้องลงทุนใหม่เพื่อรักษาสภาพของกิจการให้คงอยู่กับค่าเสื่อมว่าใครมีจำนวนมากกว่ากัน ถ้างบลงทุนมีมากกว่าค่าเสื่อมอยู่ต่อเนื่องหลายๆปี ทั้งๆที่รายได้ไม่เพิ่ม ก็เป็นการบ่งบอกว่าเงินลงทุนในปัจจุบันแพงกว่าในอดีต บริษัทประเภทนี้จะรักษากำไรให้เท่าเดิมได้นั้น จะต้องปรับราคาขายสินค้าหรือไปลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นให้ลดลง

• -ถ้าสัดส่วนBVไปหนักในส่วนของสินค้าคงคลัง เราควรติดตามไปดูว่ายอดขายต่อสินค้าคงคลังมากเกินความเป็นจริงหรือไม่ เช่นบริษัทAมียอดขายไตรมาสละ200ล้านบาท ในอดีตมีสต๊อกสินค้าผลิตเสร็จรอการจำหน่ายอยู่60ล้านแต่ในไตรมาสนี้มีมากถึง100ล้านบาท สัญญาณดังกล่าวอาจจะบ่งบอกถึงการถดถอยของยอดขายในอนาคต แต่ในไตรมาสนี้บริษัทก็ยังไม่อยากลดกำลังการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำเพื่อที่จะได้ขายสินค้ามีกำไร หรือ อาจจะบ่งบอกได้อีกมุมหนึ่งว่า บริษัทอาจจะมีข้อตกลงจำหน่ายสินค้าล๊อตใหญ่ให้กับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง จะเห็นได้ว่าสัญญาณหนึ่งๆอาจจะเป็นทั้งผลบวกและลบในคราวเดียวกัน หน้าที่เราคือจะต้องติดตามหาข้อมูลต่อไป อีกข้อที่ต้องติดตามถ้าสินค้าคงคลังมีสัดส่วนที่สูงผิดปรกติ คือเรื่องสินค้าสามารถหมดอายุหรือล้าสมัยได้หรือเปล่า และทางบริษัทมีการสำรองด้อยค่าทรัพย์สินไว้มากน้อยเพียงใด

• -ถ้าสัดส่วนBVไปหนักในส่วนของลูกหนี้การค้า หน้าที่เราก็ต้องไปศึกษาดูยอดหนี้คงค้างว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับใด มีการตั้งสำรองเพียงพอหรือไม่

• -ถ้าสัดส่วนBVไปหนักอยู่ในเครื่องผลิตเงิน หน้าที่เราต้องเข้าไปเช็คประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ว่าบริษัทนั้นอ้วนแต่ตัวหรือเปล่า แต่สุขภาพการเงินไม่แข็งแรง ถ้าเจอบริษัทประเภทนี้ สิ่งที่ต้องตามอย่างใกล้ชิดคือเรื่องสารกระตุ้นของกิจการ ถ้าเราเจอบริษัทลงทุนสูงในเครื่องจักรผลิตเงิน แต่ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดขึ้นมาได้ แถมมีการกู้เงินในสัดส่วนที่สูง สามสัญญาณนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเพิ่มทุนได้ในอนาคตครับ 

• -ถ้ามองในส่วนของหนี้สิน เราสามารถแยกประเภทหนี้สินได้เป็นสองประเภท คือหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยและหนี้ที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย ในรูปแบบของบัญชีนั้นการที่เรามีหนี้ในรูปแบบที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับยอดขายแล้วยิ่งสูงยิ่งดี เพราะเสมือนเราเอาเงินของเจ้าหนี้การค้ามาหมุนนั่นเอง(ผมเรียกว่าหนี้ที่ดี)แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าบริษัทไหนมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับยอดขาย ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี เพราะทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง แต่เราไม่ควรกลัวปัจจัยเหล่านี้จนเกินเหตุ จนเป็นสิ่งที่ปิดกั้นภาพใหญ่ๆของธุรกิจนะครับ เพราะหนี้สินเปรียบเสมือนเฟืองเกียร์ที่ช่วยเร่งความเร็วของรถ เกียร์ยิ่งสูงรถเราก็สามารถวิ่งได้เร็วมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงเป้าหมายก็มากขึ้นตามเช่นกัน หน้าที่เราคือเฝ้าติดตามปัจจัยความเสี่ยงเหล่านั้น เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

• GPM ,SG&A ,NPM(อัตรากำไรขั้นต้น,ค่าใช้จ่ายและบริหาร,อัตรากำไรสุทธิ)

• *อัตรากำไรขั้นต้น=กำไรขั้นต้น/ยอดขายสุทธิ* *กำไรขั้นต้น=รายได้จากการขายสินค้า-ต้นทุนของสินค้า*

• *ค่าใช้จ่ายขายและบริหาร หมายถึง ค่าใช้จ่ายทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้องกับการขายและรวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริหารงานทั้งหมด

• *อัตรากำไรสุทธิ=กำไรสุทธิ/ยอดขายสุทธิ*

• “ถ้าเราเปรียบเทียบสามค่านี้กับงบการเงินในอดีตที่ผ่านมาและเปรียบเทียบกับธุรกิจประเภทเดียวกัน เราจะสามารถเห็นถึงประสิทธิภาพของการทำกำไรของบริษัทได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว โดยธรรมชาติของธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่มีค่าทั้งสามสม่ำเสมอ ไม่เหวี่ยงขึ้นลง เพราะถ้าบริษัทไหนสามารถรักษาระดับค่าทั้งสามได้ หมายความว่าบริษัทนั้นๆมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้าตามราคาวัตถุดิบ และถ้าจะเป็นการดีที่สุดคือ GPM NPM จะค่อยๆปรับตัวขึ้น และSG&Aค่อยๆปรับตัวลดลง เนื่องจากการประหยัดของขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น”


• วอเรนเคยกล่าวไว้ในเรื่องการทำกำไรของบริษัท วอเรนจะขอเลือกธุรกิจอยู่สองประเภทคือ 

• 1.ธุรกิจที่มีNPMสูงๆในระยะยาว ธุรกิจที่มีNPMสูงๆได้ในระยะยาวจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพขอบข่ายคูเมืองที่บริษัทได้สร้างไว้ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงลูกค้าไปได้ง่ายๆ หน้าที่ของเราในข้อนี้คือ มองหาให้เจอว่าขอบข่ายที่ว่านั้นคืออะไร และเฝ้าติดตามตรวจสอบว่าขอบข่ายคูเมืองยังมีสภาพที่ดีในการกันคู่แข่งอยู่หรือเปล่า

• 2.ธุรกิจที่มีการหมุนรอบเงินทุนหมุนเวียนได้เร็วๆจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ มีตัวคูณที่มากขึ้นตามการหมุนรอบของการขาย ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทนั้นๆสูงขึ้นตาม เช่นมีร้านขายของชำสองร้าน 

• -ร้านAขายกิฟชอป มีอัตรากำไรขั้นต้นที่50เปอร์เซนต์ อัตรากำไรสุทธิที่30เปอร์เซนต์ มีการลงทุนไปกับเครื่องผลิตเงินที่3ล้านและลงทุนไปกับสินค้าอีก2ล้าน ร้านค้านี้มียอดขายต่อปีที่4ล้านบาท(อัตราการหมุนเวียนสินค้าที่2รอบต่อปี หรือประมาณ180วัน) เท่ากับมีกำไรสุทธิ1.2ล้านบาท 

• -ร้านBขายของใช้ในชีวิตประจำวัน มีอัตรากำไรขั้นต้นที่15เปอร์เซนต์ อัตรากำไรสุทธิที่10เปอร์เซนต์ มีการลงทุนเครื่องผลิตเงินที่3ล้านและลงทุนไปกับสินค้า2ล้านเหมือนร้านกิฟชอป แต่ร้านนี้สามารถสร้างยอดขายได้เดือนละ2ล้าน(อัตราการหมุนเวียนสินค้าที่1เดือนต่อรอบหรือประมาณ30วัน) เท่ากับร้านนี้มีกำไรสุทธิเดือนละ2แสนปีละ2.4ล้านบาท

• จะเห็นได้ว่า ถึงแม้นกำไรสุทธิในร้านBจะน้อยกว่าร้านAถึง3เท่า แต่กำไรสุทธิยังมากกว่า2เท่า เนื่องมาจากการหมุนรอบของเงินทุนที่Bทำได้ดีกว่าAนั่นเอง หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนคือมองหาธุรกิจที่สามารถหมุนรอบเม็ดเงินได้สูง ROEก็จะสูงตามการหมุนรอบที่มากขึ้น และถ้าบริษัทไหนสามารถหมุนรอบเงินทุนได้สูงกว่าคู่แข่งอย่างชัดเจน ก็จะบ่งบอกไปถึงว่าบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง จนอาจจะเป็นขอบข่ายคูเมืองในเรื่องของต้นทุนที่ถูกกว่า ที่ทำให้คู่แข่งเจาะฐานที่มั่นของบริษัทได้ยากขึ้น

• ROE & ROA (ผลตอบแทนต่อส่วนทุน และ ผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน)

• ค่าทั้งสองนี้เป็นสิ่งที่ผมสนใจลำดับต้นๆในการเลือกลงทุนกิจการ เพราะภาพในอดีตและปัจจุบันของพี่อาร์ทั้งสองนี้ จะสามารถบ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมือง และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการได้ระดับหนึ่งทีเดียว 

• สาเหตุที่ผมกล่าวไว้ว่า พี่อาร์ในอดีตจะสามารถบ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมืองและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ เนื่องมาจากงบการเงินในระยะยาวจะสามารถสะท้อนธรรมชาติของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งพี่อาร์ทั้งสองคือส่วนหนึ่งของงบการเงินที่ถูกแปลงค่ามาให้ดูง่ายขึ้น เราลองมาดูว่าพี่อาร์บ่งบอกอะไรเราบ้างนะครับ

• ROE(return on equity) 

• ค่านี้หาได้จากการนำกำไรสุทธิตั้งหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น(ส่วนทุน)แล้วแปลงเป็นเปอร์เซนต์ จากสูตรจะเห็นว่าค่านี้บ่งบอกถึงความสามารถของบริษัทว่าบริษัทสามารถผลิตกำไร(output)ให้ผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งค่านี้ยิ่งสูงก็ยิ่งดี อย่างเช่นวอเรนจะมองหาธุรกิจที่มีROEที่สม่ำเสมอในระยะยาวสูงกว่า15เปอร์เซนต์เท่านั้น ค่านี้สามารถบ่งบอกบางอย่างให้เรารู้คร่าวๆเพื่อไปเจาะลึกหาทรัพย์สมบัติกัน เรามาดูรายละเอียดปลีกย่อยของค่านี้กันนะครับ

• -ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEสูงสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นสิบปี สิ่งนี้จะบ่งบอกถึงความสามารถในการป้องกันคู่แข่งขันได้เป็นอย่างดี..........ถ้าเรามองหาหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นเติบโต เราต้องมองหาธุรกิจที่มีROEสูงอย่างสม่ำเสมอและถ้าจะดีที่สุดถ้าค่าROEนั้นมีทิศทางที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

• -ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEต่ำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีแล้ว สิ่งนี้อาจจะบ่งบอกว่าเราเจอบริษัทที่เข้าข่ายธุรกิจตะวันตกดิน..........ถ้าเรามองเห็นธุรกิจประเภทนี้ให้พยายามมองหาธุรกิจที่มีแนวโน้มกลับตัวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม

• -ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEขึ้นและลงเป็นลูกคลื่นเป็นรอบๆนั่นอาจจะบ่งบอกถึงธรรมชาติของธุรกิจที่เป็นโภคภัณฑ์..........จงทำความเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจที่เป็นหุ้นวัฎจักร มองหาจุดที่ROEเริ่มกลับตัวให้เราเห็น บางครั้งภาพใหญ่ๆในอดีตของROEสามารถช่วยเราให้กล้าที่จะลงทุนในช่วงที่ธุรกิจตกต่ำสุดๆได้เหมือนกัน

• -ถ้าเราเจอบริษัทที่มีROEเอาแน่เอานอนไม่ได้ กำไรสลับขาดทุนเหมือนโยนหัวก้อย จะบ่งบอกธรรมชาติของธุรกิจที่ยังหาตำแหน่งที่ดีให้กับตนเองไม่ได้หรืออาจจะไม่มีอำนาจต่อรองในการขึ้นราคาสินค้าแต่ไม่ใช่หุ้นวัฎจักร.......ถ้าเจอธุรกิจประเทศนี้ บอกได้คำเดียวว่าถ้าจะซื้อหุ้นในกลุ่มนี้วัตถุประสงค์คือการซื้อเก็งกำไร จากปัจจัยบางเรื่องที่ทำให้กำไรกระโดดเป็นบางไตรมาสหรือบางปี ต้องไม่ใช่มุมมองการลงทุนในระยะยาวในการจะเป็นเจ้าของกิจการ

• “ถ้าบริษัทไหนสามารถรักษาค่าROEที่สูงได้อย่างสม่ำเสมอ สามารถบอกกลายๆได้ถึงความสามารถในการเติบโตของบริษัทนั้น เพราะว่ากำไรที่ได้เพิ่มขึ้นมาในแต่ละปีจะมาเพิ่มอยู่ในส่วนทุน(E)ทำให้ฐานตัวหารเพิ่มมากขึ้น การที่จะให้มีค่าROEได้เท่าเดิม บริษัทมีอยู่เพียงสองวิธีคือ1.ปันผลทั้งหมดจากกำไรที่ได้มาหรือ 2.มีการเติบโตของรายได้หรือกำไรที่มากขึ้นนั่นเอง”

• “ถ้าบริษัทไหนสร้างROEได้สูงในระยะยาว บ่งบอกถึงขอบข่ายคูเมือง เพราะธุรกิจที่จะสร้างROEได้สูงหมายถึงถ้าไม่มีNPMที่สูงก็ต้องมีการหมุนเวียนของเงินทุนที่สูง การมีNPMที่สูงได้ในระยะยาวย่อมเป็นธุรกิจที่หอมหวานอย่างแน่นอน ใครๆก็อยากเข้ามาแชร์น้ำผึ้งกองนี้ การรักษาNPMที่สูงได้อย่างต่อเนื่องจึงเป็นการบอกได้อย่างกลายๆว่า บริษัทนี้ต้องมีอะไรดีๆในการป้องกันคู่แข่งอย่างแน่นอน หน้าที่ของเราคือค้นหาปัจจัยนั้นๆให้เจอ และติดตามเฝ้าดูความแข็งแกร่งนั้นๆเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ส่วนธุรกิจใดที่สามารถหมุนเวียนเงินทุนได้สูงกว่าคู่แข่ง ก็เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งนั่นก็คือความสามารถในการป้องกันคู่แข่งไปในตัวนั่นเอง หน้าที่เราก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบค่าสัญญาณต่างๆจากงบการเงินว่าบริษัทยังบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งหรือไม่

• “ค่าROEเป็นค่าที่มีเกียร์เข้ามาเป็นฟันเฟืองตัวช่วย ทำให้สามารถเร่งกำไรได้สูงมากขึ้น เพราะ ทรัพย์สิน=หนี้สิน+ทุน ค่า ROE ก็เป็นการหาทรัพย์สินที่ใช้ทุนเป็นตัวหาร แต่สามารถมีผู้ช่วยคือส่วนหนี้สินที่เพิ่มเกียร์ให้กับธุรกิจ เช่นบริษัทA B Cมีกำไรที่10บาทเท่ากัน 

• งบดุลAเป็นดังนี้ 100=20+80 บริษัทนี้มีROE=10/80*100=12.5เปอร์เซนต์
• งบดุลBเป็นดังนี้ 100=50+50 บริษัทนี้มีROE=10/50*100=20เปอร์เซนต์ 
• งบดุลCเป็นดังนี้ 100=80+20 บริษัทนี้มีROE=10/20*100=50เปอร์เซนต์

• จะเห็นได้ว่ายิ่งใช้เงินทุนตนเองน้อยเท่าไหร่ ผลตอบแทนเรายิ่งมากขึ้นเท่านั้น(เพราะเราใช้เงินคนอื่นมาหากำไรให้เรา)ถ้าตอบตามภาษาROEจะเห็นว่าบริษัทที่น่าลงทุนที่สุดคือบริษัทC แต่ช้าก่อน....หน้าที่ของเราต้องละเอียดมากกว่านั้น เราต้องมองธุรกิจให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยๆเราต้องรู้ว่าหนี้ที่ทำให้ROEสูงนั้นเป็นหนี้ที่ดีหรือหนี้ที่ไม่ดี ถ้าหนี้ที่ดีก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นหนี้ที่ไม่ดี(หนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย)เราก็ต้องมองให้ลึกขึ้นว่า หนี้ระดับนี้มีความเสี่ยงต่อธรรมชาติของธุรกิจมากน้อยเพียงใด เพราะบางครั้งการมีหนี้ที่สูงกว่า ก็ไม่ได้บอกว่ามีความเสี่ยงที่สูงกว่า เสมอไป เช่นธุรกิจสาธารณูปโภคที่มีการทำสัญญากับภาครัฐอย่างชัดเจนเช่นโรงไฟฟ้า การกู้ถึง80เปอร์เซนต์อาจจะไม่เสี่ยงเท่ากับการกู้20เปอร์เซนต์เพื่อมาสร้างเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์โดยที่ยังไม่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน”

• ROA(return on asset) ค่านี้หาได้จากการนำกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีตั้งหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมดแล้วแปลงเป็นเปอร์เซนต์ ค่านี้เป็นค่าที่ผมเอาไว้ดูประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือของกิจการ และคนสร้างสูตรนี้ขึ้นมาคงมีเหตุผลเดียวกันนี้ สูตรในการคำนวณจึงเอากำไรก่อนเสียดอกเบี้ยและภาษีมาเป็นตัวตั้งในสูตร เพราะดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลาและในแต่ละบริษัทอาจจะไม่เท่ากัน เรื่องภาษีก็เช่นเดียวกัน ในบางช่วงของธุรกิจนั้น การเสียภาษีมีข้อยกเว้นและข้อจำกัดมากมายที่ทำให้การเสียภาษีไม่ตายตัวมื่อเทียบกับกำไรก่อนภาษี ถ้าเราต้องการดูประสิทธิภาพของการบริหารจัดการจริงๆจึงไม่ควรนำสองค่านี้มาคิดรวมด้วย

• “ค่าROEมีจุดอ่อนอยู่ตรงสามารถมีผู้ช่วย(หนี้) จึงต้องเอาค่าROAมาเป็นตัวตรวจสอบอีกทอดหนึ่งว่า ROEที่แสดงอยู่นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด”

• “ค่าROAมีค่าตัวแปรคือ R และ A ผลตอบแทน(R)นี้หน้าที่เราคือต้องเข้าไปดูในส่วนของกำไรที่ได้มานั้นเป็นกำไรที่อยู่ในรูปใด(ลูกหนี้,สินค้า,เงินสด)ถ้าเป็นลูกหนี้ก็ต้องเฝ้าติดตามสัดส่วนหนี้ค้างชำระว่าผิดปรกติหรือไม่ อีกค่าตัวแปรคือทรัพย์สิน(A)เราก็ต้องเข้าไปดูในคุณภาพของทรัพย์สินเพื่อวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป(เพราะบางครั้งธุรกิจมีROAที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะประสิทธิภาพจะดีขึ้น) เช่นเคยมีบริษัทหนึ่งขายโรงพิมพ์ออกไปและทำการเช่ากลับมาแทน ทรัพย์สินจากเครื่องหายไป ค่าเสื่อมหายไป โดยมีค่าใช้จ่ายมาแทนที่ จะเห็นว่าAลดลง ทำให้ค่าROAสูงขึ้นจากในอดีต แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หมายความว่าประสิทธิภาพของบริษัทนี้สูงขึ้นจากในอดีต และอีกข้อที่ลืมไม่ได้คือเรื่องทรัพย์สินที่ถูกซ่อนไว้ ที่อยู่ในรูปของทรัพย์สินไม่มีตัวตนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้นะครับ”

• “การเปรียบเทียบROAเพื่อดูประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจะเปรียบเทียบได้เฉพาะกับธุรกิจที่เหมือนกันเท่านั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมได้ เพราะด้วยโครงสร้างทรัพย์สินในแต่ละอุตสาหกรรมไม่เหมือนกัน เช่นธุรกิจบริการรับจัดทำบัญชีย่อมมีค่าROAที่สูงเพราะธรรมชาติของธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมากๆเมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรมที่ลงทุนหลักๆไปกับเครื่องผลิตเงินเกือบทั้งหมด”

• “อย่างที่เราได้ยินวอเรนกล่าวไว้ว่า เขาชอบธุรกิจสองประเภทคือ ธุรกิจที่มีกำไรสุทธิสูงๆและธุรกิจที่มีการหมุนรอบเงินทุนได้เร็วๆ ถ้าเราตีความหมายของคำพูดนี้อีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อเราเอากำไรสุทธิคูณกับการหมุนรอบของทรัพย์สิน นั่นก็คือค่าของRนั่นเอง เพียงแต่จะเป็นค่าROAที่เอากำไรสุทธิเป็นตัวตั้งหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมด”

• “และถ้าเราแยกประเภทของธุรกิจออกตามROA เราจะสามารถแยกธุรกิจออกเป็นสี่กลุ่มดังนี้

• 1.ธุรกิจที่มีNPMสูง และ การหมุนรอบของทรัพย์สินสูง โมเดลธุรกิจที่เข้าข่ายข้อนี้ จะต้องมีจุดขาย จุดแข็ง ที่แกร่งมากๆคนอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก จุดแข็งที่ว่าอาจจะอยู่ที่แบรนด์ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ถ้าเราเจอธุรกิจที่เข้าข่ายในข้อนี้ที่มีโอกาสเติบโตสูง ขอแนะนำว่า เราน่าจะเจอเพชรเม็ดงามในการลงทุนเข้าแล้ว กลยุทธ์ในข้อนี้คือซื้อแล้วถือยาวๆ และถ้าเราจะขายก็ต่อเมื่อมูลค่าของกิจการแพงมากๆๆๆเกินพื้นฐานจริงๆ หรือจนกว่าจุดแข็งของเขาจะถูกคู่แข่งขันเจาะได้เท่านั้น

• 2.ธุรกิจที่มีNPMสูง แต่ การหมุนรอบของทรัพย์สินที่ต่ำ โมเดลธุรกิจในกลุ่มนี้มีสองประเภท 
• -ประเภทแรกเป็นธุรกิจงานบริการที่เก็บกินกำไรจากการลงทุนในทรัพย์สินของตนเอง ธุรกิจประเภทนี้มีการลงทุนในครั้งแรกค่อนข้างสูงมาก เช่น ธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล สาธารณูปโภค เป็นต้น ธุรกิจประเภทนี้จะมีจุดอ่อนเรื่องเงินลงทุนที่นำไปลงในเครื่องผลิตเงินที่ค่อนข้างสูง เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับฐานของรายได้ที่ลดลง จะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้าย แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าบริษัทไหนสามารถผลักดันธุรกิจให้มีการใช้งานเกือบเต็มความสามารถในการผลิต/บริการ ค่าROA ROEและบรรทัดสุดท้ายของกำไรจะค่อนข้างสวยมากๆ(ยกเว้นงานสาธารณูปโภคที่มีการประมูลกำหนดราคาต้นทุน ราคาผู้ซื้อ และผลกำไรไว้ล่วงหน้าแล้ว) 

• -ประเภทที่สองเป็นประเภทรับบริหารจัดการทรัพย์สินของคนอื่น และเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการบริการ เช่นธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ไฟแนนซ์ โบรกเกอร์ เป็นต้น ธุรกิจประเภทนี้จะสามารถสร้างกำไรได้สูงมากในช่วงบูมๆของธุรกิจทั้งๆที่ROAค่อนข้างจะต่ำ เพราะว่ามีเกียร์เร่งจากเงินของคนอื่นนั่นเอง แต่ในทำนองกลับกัน จุดแข็งที่เป็นตัวเร่งผลกำไรก็เป็นดาบสองคมที่เราต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน 

• 3.ธุรกิจที่มีNPMต่ำ แต่มีการหมุนรอบของทรัพย์สินที่สูง โมเดลธุรกิจในกลุ่มนี้ ส่วนมากจะเป็นงานบริการเทรดเดอร์ที่เกี่ยวกับการซื้อมาขายไป หรือเป็นธุรกิจที่รับจ้างผลิต(OEM)บางประเภท ถ้าเราเจอธุรกิจในกลุ่มนี้เราต้องเข้าไปดูอีกสองสิ่งเพิ่มเติมคือ อำนาจการต่อรอง และ ประสิทธิภาพการหมุนรอบของทรัพย์สินเมื่อเทียบกับคู่แข่ง 

• สาเหตุที่ต้องพิจารณาในเรื่องอำนาจการต่อรองของซัพพลายเชนทั้งสาย เพราะด้วยธรรมชาติของธุรกิจที่NPMต่ำ การเปลี่ยนแปลงNPMเพียงน้อยนิดอาจมีผลต่อความเป็นความตายของบริษัททีเดียว เช่นธุรกิจซื้อมาขายไปแห่งหนึ่งมีNPMที่2.0เปอร์เซนต์ แต่สามารถหมุนรอบทรัพย์สินได้สูงถึง10รอบต่อปี ทำให้บริษัทนี้มีROAคร่าวๆหลังภาษีสูงถึง20เปอร์เซนต์ จุดที่ควรสนใจเป็นพิเศษของบริษัทนี้อยู่ตรงการเพิ่ม/ลดNPMมากกว่าการหมุนรอบของทรัพย์สิน การเพิ่มกำไรขั้นต้นเพียง1เปอร์เซนต์จะส่งผลให้ทำให้บริษัทนี้มีกำไรก่อนภาษีเพิ่มขึ้นถึง50เปอร์เซนต์ แต่ในทำนองกลับกันถ้าบริษัทมีกำไรขั้นต้นลดลง1เปอร์เซนต์บริษัทก็จะมีกำไรก่อนภาษีที่ลดลงประมาณ50เปอร์เซนต์เช่นเดียวกัน เพราะด้วยฐานกำไรที่บางเฉียบนั้น จึงทำให้เราต้องใส่ใจในเรื่องของอำนาจการต่อรองราคาวัตถุดิบและอำนาจการต่อรองการขึ้นราคาสินค้าของคู่ค้าเป็นพิเศษ เพื่อการคงไว้ซึ่งกำไรบรรทัดสุดท้ายนั่นเอง

• ส่วนประสิทธิภาพการหมุนรอบของทรัพย์สินเมื่อเทียบกับคู่แข่งนั้น จะสามารถบอกถึงความแข็งแกร่งของตัวธุรกิจที่จะเป็นขอบข่ายคูเมืองป้องกันคู่แข่งเข้ามานั่นเอง

• 4.ธุรกิจที่มีNPMที่ต่ำ และ มีการหมุนรอบของทรัพย์สินที่ต่ำ โดยปรกติคุณควรมองผ่านเมื่อเจอธุรกิจประเภทนี้ เพื่อผลตอบแทนของคุณเอง นอกจากว่าคุณจะมีความขยันและมีเวลาเหลือเฟือ ก็ให้ทำความเข้าใจรู้จักทีละบริษัทว่าธุรกิจเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะถ้าเจอว่าในอดีตธุรกิจนี้มีสองต่ำเป็นช่วงๆ ในอดีตธุรกิจนี้มีNPMที่สูงกว่านี้ เราอาจจะเจอธุรกิจที่เข้าข่ายธุรกิจเทริ์นอะราวด์หรือหุ้นกลุ่มวัฎจักรก็เป็นได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘