มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 10

เกาะที่สาม การประเมินมูลค่าของกิจการ


• การประเมินมูลค่าของกิจการนั้น ผมจะใช้อยู่สองแนวทางในการวิเคราะห์ คือการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพ และ การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงปริมาณ 

• เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมได้นึกไปถึงคำๆหนึ่งที่ไอส์ไตล์เคยได้กล่าวไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ผมลองมานึกถึงความเป็นจริงของผมในการเลือกลงทุนก็เช่นเดียวกัน ปัจจัยเชิงคุณภาพเปรียบเสมือนสิ่งที่ต้องจินตนาการภาพในใจของบริษัทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตัวอย่างกูรูในเรื่องนี้ที่เห็นชัดๆคือ อาจารย์ของผม ท่าน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เมื่อหลายปีก่อน ผมได้ยินท่านพูดว่าท่านไม่ค่อยได้แกะงบการเงินสักเท่าไหร่ มองแต่ภาพใหญ่ๆให้ชัดเจนก็เพียงพอแล้ว 

• และอีกหลายปีก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน ในช่วงผมเริ่มลงทุนใหม่ๆ ผมอยู่ต่างจังหวัด ผมมองว่าผมเสียเปรียบคนกรุงเทพในด้านข้อมูลข่าวสาร ไม่มีข้อมูลภายใน ไม่มีการเยี่ยมชมผู้บริหาร และคิดว่างบการเงินเป็นสิ่งที่ประกาศพร้อมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ จึงพยายามเรียนรู้ในเรื่องงบการเงินให้มากที่สุด แต่ที่ไหนได้ อาจารย์ฯของผมซึ่งอยู่ใกล้แหล่งข่าว กลับทำตัวออกจากข้อมูลข่าวสารภายใน มองข้ามงบรายไตรมาส และไม่ต้องมานั่งแกะงบให้มากความ ผมได้ยิน ผมก็เป็นงงสิครับ......จึงกลับมาทบทวนความคิดและทำความเข้าใจในสิ่งที่ท่านได้บอกไว้ และสรุปได้ว่าที่ท่านพูดอย่างนั้นเพราะท่านเน้นดูปัจจัยคุณภาพมากกว่าปัจจัยเชิงปริมาณ และที่สำคัญ ท่านจะลงทุนในกิจการที่มีภาพในใจของธุรกิจค่อนข้างชัดเจน ส่วนธุรกิจที่ท่านอ่านไม่ขาด ท่านจะยังไม่ลงทุน 

• ผมจึงสรุปเป็นแนวทางของตนเองว่า การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการลงทุนแนววีไอ เพราะคุณภาพของกิจการจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งและความสามารถในการทำกำไรในอนาคตให้แก่เรา ส่วนปัจจัยเชิงปริมาณ(งบการเงิน)เป็นสิ่งที่ผมไว้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่าบริษัทนี้มีประวัติอย่างไร และไว้คอยตรวจสอบเช็คผลประกอบการในแต่ละไตรมาสว่าตรงอย่างที่เราจินตนาการหรือประเมินไว้หรือไม่ ส่วนท่านใดสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเชิงคุณภาพได้เฉียบขาดอย่าง ดร.นิเวศน์แล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งแกะงบให้เมื่อยก้นว่ามีสัญญาณไม่ดีอะไรเกิดขึ้นกับตัวบริษัทหรือเปล่า ผมจึงสรุปในเรื่องการลงทุนว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อย่างไอส์ไตล์กล่าวเหมือนกัน แต่ถ้าใครยังจินตนาการไม่ถึง ก็อย่ามักง่ายนะครับ เรามีอาวุธสองอย่างก็ดีกว่าอย่างเดียว ควรใช้อาวุธให้ครบเครื่อง ไม่ควรทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปนะครับ

• ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ภาพใหญ่” ให้กับวารสารฉบับหนึ่ง ขอเอามาลงให้ท่านทั้งหลายได้อ่านอีกมุมหนึ่งของความคิดในเรื่องนี้นะครับ

• -ทำไมกูรูVI อย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร จึงบอกว่าไม่ต้องแกะงบมาก มองภาพใหญ่ๆเป็นพอ?

 อาจารย์นิเวศน์ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ในการคัดสรรหุ้น นักลงทุนต้องมอง “ภาพใหญ่ ” น่าคิดนะครับ!!!!!!!!! 
 ผมว่าที่ท่านกล่าวคำว่า “ภาพใหญ่” นั้น ไม่น่าจะหมายถึง macro economic หรือ ภาพรวมทางเศรษฐกิจ 
• แต่น่าจะหมายถึง “ภาพใหญ่” ในส่วนของ micro economics หรือคือ “ภาพใหญ่” โดยรวมของ “หุ้น” มากกว่าครับ
 ถ้าผมต้องการที่จะเข้าใจ “หุ้น” ตัวใดตัวหนึ่งอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผมมักจะมองดูหุ้นตัวนั้นจากมุมต่างๆ กัน พิจารณาดูทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง พลิกหาจุดกำเนิดของแต่ละส่วนอย่างถี่ถ้วน ……. มุมที่ว่ามีอะไรบ้าง ต้องมองอย่างไร ถึงจะค้นคว้าหา “ภาพใหญ่” ที่ว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมขออนุญาตมอง “ภาพใหญ่” ออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน เผื่อที่จะมองแง่มุมได้ต่างๆ กัน มีลักษณะดังต่อไปนี้ครับ 

มุมที่หนึ่ง 
ภาพใหญ่ในเรื่องของความต้องการของตนเอง โดยที่ผมจะ “ถาม” ความต้องการของตนเองให้ได้ก่อน...เช่น

• หนึ่ง “ผมต้องการผลตอบแทนในการลงทุนเท่าไหร่?” 
สอง “ในระยะเวลานานเท่าใด? ” 
สาม “ ยอมขาดทุนจากเงินลงทุนได้มากขนาดไหน? ” 

 การตั้งคำถามเหล่านี้ ก็เพื่อทำให้ผมสามารถกำหนด “ภาพใหญ่” ในเรื่องความต้องการของตนเอง กำหนดชนิดของปลาที่ต้องการ และกำหนดแหล่งที่จะไปตกปลาตัวนั้น เช่น ถ้าผมต้องการผลตอบแทนไม่สูงมาก ขอส่วนต่างราคาหุ้นรวมปันผลซักประมาณ 10% ต่อปี และต้องการถือระยะยาวซัก 20 ปี ช่วงแรกไม่เน้นเงินปันผล แต่เน้นความปลอดภัยมากๆหน่อย ผมก็เลือกหุ้นที่มี brand name แข็งแกร่ง เป็นผู้นำในตลาด มีประวัติที่ผ่านมาดีชัดเจน trend ผู้บริโภคระยะยาวน่าจะโตกว่า GDP เพราะฉะนั้นถ้าตั้งโจทย์ไว้อย่างนี้แล้ว ผมก็จะเลือกได้ง่ายขึ้น ยอมที่จะเลือกหุ้นที่มี margin of safety น้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะต้องการแลกความเสี่ยงกับราคาที่ซื้อแพงขึ้น เปรียบเสมือนเรายอมไปตกปลาในบ่อที่เขาเตรียมปลาไว้ให้แล้ว เพื่อที่ชัวร์ๆว่ายังไงปลาก็กินเบ็ดของเรา (แต่ต้องเสียค่าตกปลาหน่อยบ้าง เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่ลดลง) หุ้นประเภทนี้ เช่น TF SCC PB CPALL SAUCE BGH BHเป็นต้น 

 ส่วนใครที่ต้องการได้ผลตอบแทนสูงๆ คงจะไปเสียเงินตกในบ่อไม่ได้ ก็คงต้องไปหาปลาในแหล่งที่คนอื่นยังไม่ไปหา อย่างที่สมาชิกท่านหนึ่งในเว็บ Thaivi.org ที่ใช้ล๊อกอินว่าคุณ “ลูกอีสาน” กล่าวไว้ว่า “ จงไปหาปลาในที่ๆ มันมีปลา” 

 ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนสูงๆสัก 50% ต่อปี เราก็ควรต้องมีความกล้าที่จะไปค้นหาในที่ๆคนอื่นยังไม่ไป และบางครั้งต้องเข้าถ้ำเสือ จึงจะได้ลูกเสือ ก็แน่นอนว่าความเสี่ยงก็ต้องมากกว่าหุ้นพื้นฐานมากอยู่มากโข แต่เราก็สามารถที่จะลดความเสี่ยงให้ต่ำลงได้โดยการทำความเข้าใจกับหุ้นตัวนั้นให้มากที่สุด ในเมื่อความไม่รู้ในหุ้นตัวนั้นๆ ลดลง ความเสี่ยงก็ลดลงด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ 

• “อย่าหลอกตัวเองว่ารู้” และ “ อย่าโลภเกินความรู้” 

มุมที่สอง 
ภาพใหญ่ในเรื่องของตัวหุ้น 

 หลังจากที่ผมได้ทำความรู้จักกับตนเอง และสามารถหาคำตอบทั้ง “สามคำถาม” จากมุมที่หนึ่งได้แล้ว ต่อไป เรื่องที่จะผมจะหาหุ้นในแบบที่ผมต้องการก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่าต้องการผลตอบแทนสัก 50% ต่อปี และโดยสมมุต ส่วนตัวคุณ เป็นคนที่มีความขยันในการหาข้อมูล มีนิสัยที่ติดตามติดข่าวสารตลอด สามารถซื้อและขายหุ้นได้เร็ว(คนที่พอร์ตเล็กสามารถลงทุนในหุ้นตัวเล็กๆได้ง่ายและซื้อขายได้ง่ายกว่าคนพอร์ตใหญ่) และ ไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องถือยาวหลายๆปี อีกทั้งยังสามารถแบกรับความเสี่ยงของเงินลงทุนทั้งหมดที่ลงไป ถ้ามีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เป็นลักษณะแบบนี้ เขาคนนั้นคงมองไปหาหุ้นที่ร้อนแรงกว่าหุ้นพื้นฐานที่ “โตช้า” ครับ 

และ “ภาพใหญ่” ที่เราควรจะมองตามมาจากข้อแรก คือ ประเภทหุ้นที่สามารถให้ผลตอบแทนได้มากๆ อย่างหุ้นประเภท supergrowth หุ้น turnaround หุ้นวัฏจักร หรือหุ้น asset play ที่รอการปลดปล่อยและเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน รวมไปถึงวอร์แรนบางตัวที่คิดว่ามี upside มากพอควร หลังจากนั้น เราค่อยมามอง”ภาพใหญ่” หุ้นตัวนั้นๆอีกที 

”ภาพใหญ่” ของหุ้นโตเร็ว คืออะไร? 

คำตอบคือ “การเติบโตของผลกำไร” ครับ 

 ถ้าเป็นหุ้นลักษณะนี้ เราต้องเน้นโฟกัสของเราส่วนมากไปที่ความน่าจะเป็นทั้งแง่บวกและแง่ลบไปที่ “ผลกำไร” ของบริษัทจะหาได้ในอนาคตนั่นเอง 

และถ้าเป็นหุ้นในกลุ่ม turnaround ละครับ เราต้องโฟกัสไปที่อะไรบ้าง? 

 สิ่งที่ต้องดูในกลุ่มนี้ คือ “จุดกลับตัว” ของธุรกิจครับ เราต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวที่ทำให้รายได้และกำไรลดลงในปีที่ผ่านมาหรือไม่ หุ้นลักษณะนี้อาจจะเจอมรสุมบางอย่างในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องของราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากและทางบริษัทปรับราคาขายไม่ทัน เป็นต้น แต่ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมารองรับข่าวร้ายไปหมดแล้ว พอธุรกิจฟื้น ผลประกอบการฟื้น ราคาหุ้นก็จะฟื้นเช่นกัน 

• เมื่อผมได้ภาพใหญ่ชัดเจนแล้ว เราค่อยไปมองภาพย่อยเจาะทำความรู้จักส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ ครับ 

มุมที่สาม 
ภาพใหญ่ในจังหวะการลงทุน 
 ได้คำตอบจาก มุมที่ 1 และ มุมที่ 2 แล้วใช่ไหมครับ มีสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมอีกนิดครับ ทั้งสองมุมจะมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกันอยู่หนึ่งอย่าง สิ่งนั้นคือ “ระยะเวลา” ครับ หมายถึงระยะเวลาในการครอบครองหุ้นและจังหวะในการซื้อ-ขายหุ้น (time & timing) 

 ตัวอย่างเช่น นักลงทุนบางท่านที่มีพอร์ตที่ใหญ่มูลค่าเป็นหลายร้อนล้าน ทำให้ต้องมองหาหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงๆในการลงทุน ท่านเป็นคนไม่ชอบอะไรที่เสี่ยง มีอิสระภาพทางการเงินแล้ว ต้องการผลตอบแทนระดับ 10-15% ต่อปี ก็เพียงพอ และต้องการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวในระยะ5ปีขึ้นไป ทำให้ต้องมอง “ภาพใหญ่”เป็นแบบระยะยาวของ trend อุตสาหกรรมนั้นๆ ว่ามี “กำแพง” และ”คูเมือง”ป้องกันคู่แข่งในระยะยาวเกิน 5 ปีหรือเปล่า? (เท่ากับระยะเวลาที่ท่านต้องการลงทุน) โดยมองข้ามปัจจัยที่มีผลกระทบในแง่ลบในระยะสั้นๆ (หรือนั่นคือจังหวะในการซื้อของท่านมากกว่า) ท่านมองข้ามภาพเล็กๆในองค์ประกอบที่ไม่ค่อยมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับทิศทางแนวโน้มของธุรกิจในระยะยาว 

 ส่วนบางคนที่พอร์ตเล็กและอาจมีความต้องการผลกำไรมากกว่านั้น จึงต้องไปมองหาหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางที่สามารถเติบโตได้รวดเร็วในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ต้องมอง “ภาพใหญ่” ของผลกำไรแค่ในระยะกลางๆ 1-3 ปีเท่า ๆ กับระยะเวลาที่เราต้องการลงทุน 

 อีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่าถ้าเรารู้ว่าปีหน้ามีบริษัทหนึ่งกำไรของบริษัทจะ turnaround กำไรจะโตกว่า 5 เท่าจากปีที่ผ่านมา pe ปีหน้าอาจเหลือเพียง 2 เท่ากว่าในราคาปัจจุบัน (สมมุติว่าเป็นจุดเริ่มต้นขาขึ้นของหุ้นวัฎจักร) อย่างน้อยๆ เราคงไม่มองไปในอนาคตอีก 5 ปีว่าบริษัทจะเป็นอย่างไร หรือคงไม่ต้องไปหารายละเอียดข้อด้อยปลีกย่อยของหุ้นตัวนั้น เหมือนกับที่ประธานของ Thaivi.org พี่หมอบำรุง “สามัญชน” ท่านเคยปรารถไว้ว่า 

“ช้างก็บินได้สำหรับขาขึ้นของหุ้นวัฏจักร” 

ผมคงมองในระยะสั้นๆ ถึงแค่ปีหน้าให้ชัวร์ๆไว้ก่อน เพราะถ้าเป็นจริง ปีหน้านี้เราคงได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นตัวนี้เป็นแน่แท้ แล้วค่อยมาหาจุดขายอีกครั้งหนึ่ง 

แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า 
เรามีความสามารถในการมอง “ภาพใหญ่” ในระยะต่างๆได้ตรงและชัดเจนเพียงใด 

 เพราะถ้ายิ่งสั้น โอกาสกลับตัวยิ่งน้อย โอกาสขาดทุนมีสูงกว่า ส่วนคนที่มอง “ภาพใหญ่” ในระยะยาวอย่างเช่น อาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โอกาสขาดทุนก็แทบจะเป็นศูนย์ เนื่องจากภาพใหญ่ทั้งสามส่วนของท่านชัดเจนมาก 
• (ชัดเจนแม้นกระทั่งคนภายนอกยังมองเห็น) 

 และที่สำคัญที่สุดอาจารย์ฯ สามารถมองหา “ภาพใหญ่” ในระยะยาว ณ ตอนที่ราคาหุ้นยังไม่แพง ต้องถือว่าอาจารย์เสมือนถูกหวยได้เป็นระยะเวลานานเป็น 10 ปี ติดต่อกันทีเดียว โดยไม่ต้องไปเสียเวลาหาหุ้นตัวใหม่อีกเลย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘