มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 09

เกาะที่สองการจำแนกประเภทของธุรกิจ

• พอเราได้หุ้นเป้าหมายที่จะทำการบ้านต่อแล้ว ผมจะมีคำถามสามข้อหลักๆที่จะต้องรู้จากหุ้นตัวหนึ่งๆคือ

• 1.หุ้นตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มไหนจากการจำแนกประเภทของธุรกิจ(ตามปีเตอร์ ลินซ์) 

• 2.หุ้นตัวนี้มีจุดน่าสนใจอยู่ตรงไหนหรือมีตัวเร่ง(catalyst)อะไรบ้าง จุดน่าสนใจของกลุ่มหุ้นจะสัมพันธ์กับสิ่งที่น่าสนใจในกลุ่มธุรกิจ เช่น ถ้ากลุ่มหุ้นเติบโต catalyst คือเรื่อง อัตราการเติบโตในอนาคต หรือ กลุ่มหุ้นทรัพย์สินมากจุดที่น่าสนใจจะอยู่ที่ บริษัทจะปลดล๊อคทรัพย์สินออกมาหรือเปล่า หรือ กลุ่มหุ้นฟื้นตัว จุดน่าสนใจอยู่ที่การพลิกฟื้นของตัวธุรกิจว่าจะเกิดขึ้นไหม เป็นต้น

• 3.หุ้นตัวนี้มีจุดตายหรือเปล่า และจุดเสี่ยงมีอะไรบ้าง(Risk) ถ้าเราเจอหุ้นที่catalystชัดเจน ผ่านเกณฑ์ทุกอย่าง แต่บริษัทนี้มีจุดตาย เราต้องเปรียบเทียบความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเกิดเพื่อนำไปหักล้างกับภาพอันสวยหรู ถ้าความน่าจะเป็นไม่สูงมากนัก เราก็ควรลงทุน แต่ผมก็จะถือหุ้นตัวนั้นอย่างมากเพียง20-25เปอร์เซนต์ครับ เอาตัวอย่างที่ผมเคยเจอมาก็เช่นKIATครับ จุดตายของบริษัทนี้อยู่ตรงรถแก๊สระเบิดในย่านชุมชน ถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีเพียงน้อยนิด catalystค่อนข้างชัดเจนกับการรับงานที่จะมากขึ้นกับการขยายไปกับการขนแก๊สNGV กับPTTในเขตอิสานตอนบน ถ้าเขาได้งานมีโอกาสโตอีก2เท่าตัว ถึงตอนนั้นราคาหุ้นที่5บาทถือว่าถูกมาก แค่กระนั้นผมยังถือลงทุนในตัวนี้เพียง10-15เปอร์เซนต์ของพอร์ต(ผมอาจจะขี้กลัวเกินไป เพราะผมคิดว่าการรักษาเงินต้นนั้นสำคัญมากกว่าการเติบโตของพอร์ต โดยผมยึดถือคำกล่าวบทหนึ่งไว้เตือนความโลภของตนเองอยู่เสมอ คำกล่าวนี้เป็นของชาลีมังเกอร์ คู่หู ปู่บัฟเฟตต์ ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าเขารู้ว่าเขาจะไปตายที่ไหน เขาคงจะไม่ไปที่นั่น”ซึ่งผมก็ว่าจริงนะครับ

• เรื่อง การจำแนกประเภทกลุ่มธุรกิจ

• การจำแนกประเภทของธุรกิจ ในสไตล์ผมๆจะแบ่งออกเป็น2แบบครับ แบบแรก เป็นแบบคลาสสิก มาตรฐานสากล ที่ทั่วโลกยอมรับ คือ การแบ่งแบบ ปีเตอร์ ลินซ์ ท่านแบ่งการลงทุนเป็น6ประเภท ดังนี้
• 1.หุ้นโตช้า(Slow growers)
• 2.แข็งแกร่ง(Stalwarts)
• 3.หุ้นโตเร็ว(Fast growers)
• 4.หุ้นวัฎจักร(Cyclicals)
• 5.หุ้นฟื้นตัว(Turnarounds)
• 6.หุ้นทรัพย์สินมาก(Asset plays)

• ประเทศไทย เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ้านเมืองอื่นอาจจะไม่มี ผมจึงขอเพิ่มเติมอีก3ข้อจาก6เป็น 9 แบบไทยๆนะครับ เพื่อเป็นอีกมุมหนึ่งมาประกอบการตัดสินใจดังนี้
• 7.หุ้นการเมือง(Politic powers)
• 8.หุ้นปั่นแปะ(Dealer controls) 
• 9.หุ้นกลุ่มพิเศษ(Special groups)

• เรามาดูรายละเอียดของแต่ละกลุ่มกันนะครับ

• 1.กลุ่มโตช้า(Slow growers) 

• กลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวแล้ว และในหลายๆบริษัทแย่ยิ่งกว่าคือ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นตะวันตกดิน ที่กำลังมีสินค้าใหม่ๆเข้ามาทดแทน กลุ่มนี้สังเกตง่ายๆตรงที่ ภาพรวมอุตสาหกรรมมีการเติบโตน้อยกว่าหรือเท่าๆกับGDPของประเทศมาเป็นระยะเวลาหลายๆปี 
• สาเหตุหลักที่เราควรจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้คือ มีเงินปันผลที่จัดเป็นcatalystและสาเหตุเดียวกันที่เราควรจะขายหุ้นกลุ่มนี้คือ เมื่อเขามีแนวโน้มจะจ่ายปันผลลดลง จากสาเหตุรายได้/กำไร เขาเริ่มถดถอย หรือ ถ้าเขาปันผลน้อยลงเพราะบริษัทได้นำเงินปันผลไปลงทุนในรูปแบบธุรกิจอื่น.....เราก็ต้องติดตาม อาจจะดีหรือไม่ดีก็เป็นได้ เพราะผมก็เห็นหลายตัวที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ทำให้เขากลายมาเป็นหุ้นเติบโตอีกครั้งหนึ่ง หมายความว่า เราก็ต้องเปลี่ยนวิเคราะห์หุ้นตัวนี้ในมุมมองหุ้นประเภทอื่นต่อไป

• หุ้นกลุ่มนี้มีข้อดีคือ 
• -หลายๆบริษัทไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร จึงมีการจ่ายปันผลค่อนข้างสูง อาจจะปัน70-100เปอร์เซนต์ของกำไรในแต่ละปี
• -หุ้นเทรดกันที่PE PBV ต่ำ เพราะความคาดหวังของนักลงทุนไม่ค่อยมี ทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยเหวี่ยงให้ใจหายใจคว่ำ

• ส่วนข้อเสียของหุ้นกลุ่มนี้คือ
• -ส่วนมากธุรกิจจะไม่ค่อยเติบโต เราจึงควรติดตามผลประกอบการ ถ้าผลประกอบการถดถอย2-3ปีซ้อน เราควรหลีกเลี่ยง เพราะถ้าผลประกอบการตกต่ำต่อเนื่อง อนาคตเงินปันผลเราก็จะลดลง
• -ถ้าใครหวังผลที่จะเกษียณจากผลตอบแทนระยะยาวที่มากกว่า15เปอร์เซ็นต์ทบต้น/ปี หุ้นกลุ่มนี้ดูจะค่อนข้างลางเลือน ผมแนะนำให้ไปถือครองหุ้นกลุ่มอื่นดีกว่าครับ



• 2.หุ้นแข็งแกร่ง(Stalwarts) 

• หุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเติบโตในเชิงกำไรประมาณ7-10เปอร์เซนต์ต่อปี ในระยะเวลายาวนานกว่า10ปี มีแบรนด์เนมที่ติดหู ครอบครองตลาดมาอย่างยาวนาน เป็นหุ้นยอดนิยมสำหรับ กองทุน และนักลงทุนโดยทั่วไป ทำให้ PE ที่เทรดเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มนี้จะสูงกว่าตลาดอยู่เสมอๆ การซื้อหุ้นกลุ่มนี้คุณไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่คอยติดตามบทวิเคราะห์จากโบรกต่างๆ ส่วนมากผลตอบแทนของบริษัทจะไม่ค่อยต่างจากบทวิเคราะห์มากนัก เทคนิคการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ เราต้องมีเป้าหมายในใจว่าเราต้องการผลตอบแทนที่เท่าไหร่ เพื่อคำนวณหาจุดซื้อ และรอจังหวะซื้อในเวลาที่นายตลาดเกิดตกใจ เทขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมา เช่นถ้าใครลงทุนซื้อหุ้นพื้นฐานในปีที่เกิดวิกฤต เขาจะได้ผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำเสมอๆ ส่วนจุดขายของหุ้นกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกันคือ เมื่อราคาหุ้นวิ่งเกินพื้นฐาน เทรดกันในPEสูงๆเกินค่าเฉลี่ยมากๆ หรือมีเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่เราควรขายหุ้นกลุ่มนี้คือ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณที่บริษัทไม่สามารถเติบโตได้ต่อไป อัตราการเจริญเติบโตของยอดขายของบริษัทเริ่มลดลง ถึงแม้นกำไรจะสามารถทรงตัวได้ก็ตาม เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่า เขากำลังจะกลายร่างเป็นหุ้นโตช้าในอนาคต และในที่สุดPEที่เคยเทรดกันสูงกว่าตลาดโดยรวมจะเริ่มลดลงจนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด และนั่นก็อาจจะทำให้เงินคุณหายไปหลายสิบเปอร์เซนต์ทีเดียว

• -Catalyst ของหุ้นพื้นฐานคือ ความแข็งแกร่งของตัวธุรกิจ
• -Risk ของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่อง บริษัทคู่แข่งเจาะฐานที่มั่นได้ ราคาที่เทรดกันที่PEสูง เพราะความคาดหวังของผู้ซื้อที่สูงกว่าหุ้นโดยทั่วไป

• 3.หุ้นโตเร็ว(Fast growers) 

• หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ผมชอบมากที่สุดใน6กลุ่ม เพราะผลตอบแทนที่ได้ค่อนข้างสูง และถ้าผมสามารถหาหุ้นประเภทนี้ได้เจอ ผมสามารถไม่ต้องหาหุ้นไปอีกหลายๆปี และจำกัดส่วนขาดทุนของผมให้น้อยลงไปเรื่อยๆตามเวลาที่เดินไปในอนาคต แต่โอกาสที่ผมจะได้กำไร กลับมีไม่จำกัด จากการเติบโตของเขาเอง 
• เทคนิคการหาหุ้นโตเร็ว ผมมีเทคนิคหาหุ้นกลุ่มนี้อยู่3ข้อคือ
• 1-จงมองหากลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่างการตลาดอีกมาก เช่น อาจจะเป็นสินค้าใหม่ทดแทนสินค้าเก่า หรือ มองหาเทรน/เมกะเทรนในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น และมองหาอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากเทรนนั้นๆ
• 2-จงมองหาบริษัทที่เป็นอันดับต้นๆในอุตสาหกรรมนั้น และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่ามีบริษัทไหนที่เตรียมพร้อมกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น และจงลงทุนในบริษัทที่มีความพร้อมในโอกาสนั้นๆ
• 3-จงมองหาผู้บริหารที่เก่งรอบรู้ในอุตสาหกรรมตนเอง และมีไฟ มีความขยันตื่นตัวในการขยายกิจการ สุดท้ายที่ลืมไม่ได้คือ ผู้บริหารต้องเป็นกัปตันที่ซื่อสัตย์ คอยควบคุมทิศทางให้เรือมุ่งสู่เป้าหมาย มากกว่าจะมาคอยแวะตามเกาะแก่งต่างๆเพื่อที่จะจับปลาให้ตนเองอิ่มท้อง

• การซื้อหุ้นในกลุ่มนี้ ถ้าเราต้องการได้ผลตอบแทนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราควรพยายามสอดส่องหาหุ้นที่เพิ่งเริ่มจะเติบโต แต่ต้องมีรูปแบบการเติบโตให้เราเห็นบ้างแล้ว ถ้าเราเสี่ยงเข้าไปก่อนที่เขาจะมีรูปแบบที่ชัดเจน อาจจะทำให้ ผลตอบแทนการลงทุนของเราสะดุดไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การเข้าไปลงทุนในช่วงแรกๆ เราอาจจะต้องเสี่ยงเรื่องของการเพิ่มทุน หรือ เสี่ยงในเรื่องคุณภาพของการเติบโต เพราะบางครั้งการเติบโตจากภายนอกเร็วกว่าประสิทธิภาพของระบบภายในจะตามทัน อาจทำให้บริษัทโตอย่างอ้วนฉุ ไม่แข็งแรง เป็นผลให้บริษัทเติบโตแบบไม่ยั่งยืนได้

• อีกเรื่องที่ควรใส่ใจ คือเรื่องอุตสาหกรรมที่เติบโต เราต้องมองว่าการเติบโตนี้ เป็นการเติบโตแบบยั่งยืนมากน้อยเพียงใด เช่น การเติบโตของกลุ่มบริษัทนี้เป็นการเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือ เป็นการเติบโตตามรอบวัฎจักรของสินค้า หรือเป็นการเติบโตตามเทรนของผู้บริโภค เราต้องแยกประเภทอุตสาหกรรมให้ออก ว่าอุตสาหกรรมที่เรากำลังลงทุนนี้ เป็นการเติบโตในแบบใด วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเลือกหุ้นที่เป็นเมกะเทรน ที่เรามองว่าตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก หรือถ้าจะหาตัวช่วยก็พอมีจากการมองกระจกมองหลังในอดีตให้ยาวนานที่สุด ดูรายได้/ผลกำไรย้อนหลังว่ามีรูปแบบอย่างไร 
• ควรระวังในธุรกิจที่มีการเติบโตมาจากกำไรขั้นต้น กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการเติบโตที่มาจากฐานรายได้หรือฐานลูกค้าที่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีกำไรไม่สม่ำเสมอ นั่นเป็นการบ่งบอกว่า ธุรกิจที่เรากำลังดูอยู่นี้ อาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มหุ้นเติบโต แต่อยู่ในกลุ่มหุ้นวัฎจักร 

• ถ้าเราเจอหุ้นเติบโต อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน มีGPM NPM ที่สูง สิ่งที่เราควรระวังอีกเรื่องคือ มักจะมีคู่แข่งขันหน้าใหม่ เข้ามาร่วมแจมด้วยเสมอๆ เวลาเราเลือกหุ้นในประเภทนี้จึงต้องมองหาผู้นำที่มีมีขอบข่ายคูเมืองที่ชัดเจน มีจุดเด่นในตัวธุรกิจ ไม่เช่นนั้น กำไรบรรทัดสุดท้ายในอนาคตอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่เราคาดคิดไว้ก็เป็นได้

• การซื้อหุ้นในกลุ่มโตเร็วนี้ การซื้อหุ้นในบางครั้งต้องยอม ทำใจ ซื้อหุ้นในราคาหุ้นที่มีPEสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เพราะในตัวเขาเองมีcatalystหรือตัวเร่งปฎิกิริยา ของกำไร ที่จะทำให้PEในอนาคตเขาต่ำลง ผมเองมีวิธีส่วนตัวในการตัดสินใจซื้อคือ มองกำไรล่วงหน้า4ไตรมาส และระบุPEที่กลางๆของหุ้นตัวนั้นเป็นขอบเขตราคาสูงสุดที่ผมจะยอมรับได้ เช่นถ้าผมมองหุ้นตัวหนึ่งมีกำไร4ไตรมาสข้างหน้าคือ0.28บาทต่อหุ้น และPEหุ้นตัวนี้ผมให้ราคากลางๆที่12เท่า หมายความว่าราคา ณ วันนี้ที่คำนวณ ผมจะซื้อราคาหุ้นตัวนี้ไม่เกิน0.28*12=3.36บาท เป็นต้น.....และถ้าผมซื้อหุ้นตัวนี้ได้ในราคาต่ำกว่า3.36บาทมากเท่าใด หมายถึงผมได้มี MOS มากขึ้นเท่านั้น 

• กลยุทธ์ขายของหุ้นโตเร็วคือ...จงขาย “เมื่อเขาหยุดโต และกำลังจะกลายร่างเป็นหุ้นพื้นฐาน หรือ หุ้นโตช้า” โดยสังเกตจากยอดขายที่ไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร หรือ การขยายไปธุรกิจต้นน้ำหรือปลายน้ำ ไม่สวยหรูอย่างที่คิด หรือ ผู้บริหารเริ่มนำเงินไปขยายธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หรือ ช่องทางของตลาดเริ่มคับแคบลงจนน่าจะขยายตัวได้ยากแล้ว เป็นต้น และอีกกรณีคือ ผมจะขายหุ้นโตเร็วเมื่อ นายตลาดมาให้PEของหุ้นเราสูงมากๆ เช่นผมให้PEล่วงหน้า4ไตรมาสกลางๆที่12เท่า แต่นายตลาดให้ไปถึง25เท่าเป็นต้น 

• -Catalyst ในหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องการเติบโตของรายได้/กำไร
• -Risk ในหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่อง การเติบโตไม่เป็นไปตามคาด และราคาหุ้นเทรดกันที่PEสูงตามความคาดหวัง

• 4.หุ้นวัฎจักร(Cyclicals) หุ้นกลุ่มนี้เป็นหุ้นที่ผมให้ความสำคัญน้อยกว่าหุ้นโตเร็ว ทั้งๆที่ผลตอบแทนที่ได้อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ แต่สาเหตุที่ผมให้ความสำคัญน้อย อาจจะเป็นเพราะ ผมยังสามารถหาหุ้นโตเร็วในตลาดได้เป็นระยะ จึงไม่ได้มีปัญหากับการดิ้นรนหาหุ้นกลุ่มนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง......จริงๆนั่นคงเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า ฮ่าๆๆ สาเหตุจริงๆน่าจะมาจาก ขอบเขตความรอบรู้ในหุ้นกลุ่มนี้ต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านสูงมาก หุ้นกลุ่มนี้ผมขอแนะนำเฉพาะคนที่อยู่วงในของวงการอุตสาหกรรมนั้นๆที่รู้การเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด หรือไม่งั้นมีคุณก็ต้องมี IQ EQ สูงๆที่เกินค่าเฉลี่ยคนทั่วๆไปมาเล่น ต้องขยันและมีเวลาที่จะติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ต้องใช้ความสามารถค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งในเรื่องการคาดเดาอารมณ์ของนักลงทุนในตลาด

• หุ้นกลุ่มวัฎจักร ผมขอแบ่งย่อยเป็นสองประเภทคือ วัฎจักรตามสินค้าโภคภัณฑ์ กับ วัฎจักรตามสภาวะเศรษฐกิจ หรือ เรียก กลุ่มนี้ว่า พวกอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม 

• หุ้นกลุ่มแรก พวกสินค้าโภคภัณฑ์ หุ้นกลุ่มนี้จะขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มี
• value-added กับสินค้า หน้าตาสินค้าเหมือนๆกัน แตกต่างกันไม่มากพอที่จะสร้างความจงรักภักดีต่อสินค้า GPM NPM จะขึ้นกับดีมานต์ ซัพพลาย เป็นหลัก ถ้าไล่เรียงลำดับก็คงจะตั้งแต่ สินค้าธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ โรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าสินค้าเกษตร อันดับต่อมาคือ ผลพลอยได้จากสินค้ากลุ่มแรกๆ เช่น น้ำมันเครื่อง เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ และสุดท้ายของกลุ่มนี้ ที่พอมีอำนาจการต่อรองบ้างคือ ชิ้นส่วนรถยนต์ สายการบิน ขนส่งทางเรือ เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้ ถ้าใครสามารถ “ลดต้นทุนได้ต่ำที่สุด” และสามารถ “บริหารซัพพลายเชนได้สมดุลดีที่สุด” จะเป็นฝ่ายที่แข็งแกร่งที่สุด 

• หุ้นกลุ่มนี้จะสามารถแบ่งได้อีกแบบตามรอบระยะเวลาในการเกิดดับของอุตสาหกรรม การแบ่งรอบระยะเวลานี้ จะเกิดจากข้อจำกัดในการสร้างผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือ ข้อจำกัดในการสร้างเครื่องผลิตเงิน นั่นเอง ถ้ามองในมุมมองของระยะเวลาในการเกิดรอบของธุรกิจ สินค้าที่สามารถมีรอบผลิตที่เร็ว ก็จะมีรอบวงจรที่เล็กและสั้นกว่า สินค้าที่สามารถใช้เวลาในการผลิตที่นานกว่า ถ้ายกตัวอย่างให้สุดโต่ง ผมจะขอเปรียบเทียบรอบสินค้าสักห้าชนิดคือ ถั่วงอก ไก่ ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน จะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการสร้างสินค้าเพิ่มเติมจะใช้เวลาสร้างแตกต่างกัน ทำให้รอบวงจรของสินค้าถั่วงอกขาดคงไม่เกิน7วัน แต่รอบโรงกลั่นน้ำมันคงจะใช้เวลาอย่างน้อยเท่ากับการสร้างโรงกลั่นนั่นคือรอบของโรงกลั่นอาจจะใช้เวลาถึง10-15ปีในแต่ละรอบ

• หุ้นกลุ่มที่สอง พวกอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม หุ้นกลุ่มนี้จริงๆก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับดีมานต์/ซัพพลาย โดยตรง แต่มีความอ่อนไหวในรายได้และกำไร จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อ่อนไหวเพราะต้องมีการใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการตัดสินใจซื้อทรัพย์สินชิ้นนั้นๆ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น หุ้นวัฎจักรกลุ่มนี้ เราต้องติดตามความต้องการของตลาด ประกอบกับ ติดตามสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

• การแยกหุ้นกลุ่มนี้ออกจากหุ้นกลุ่มเติบโต ง่ายที่สุดคือ ดูในส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้น หุ้นกลุ่มเติบโต จะมีการเติบโตในส่วนของการกระจายสินค้าที่มากขึ้น จำนวนชิ้นที่ขาย จำนวนงานที่บริการ มีสัดส่วนโดยตรงต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น การขยับของGPM NPM จะค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหุ้นกลุ่มวัฎจักร เราจะเห็นกำไรที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดมาจาก GPM NPM ที่เปลี่ยนไป สาเหตุหนึ่งที่เราต้องแยกให้ออกว่าเขาคือหุ้นเติบโต หรือ หุ้นวัฎจักร เพราะถ้าเป็นหุ้นเติบโต เวลาที่เดินไป จะสร้างความมั่งคั่งให้กับพอร์ตของเรา หุ้นบางตัวถึงแม้นเราไม่ขาย แต่พอเขาเปลี่ยนจากหุ้นโตเร็วเป็นหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นโตช้า เงินปันผลที่ได้ในแต่ละปี อาจจะมากกว่า50เปอร์เซนต์ต่อปี จากเงินลงทุนของเราในครั้งแรก แต่ถ้าเป็นหุ้นวัฎจักร เราซื้อลงทุนมีด้วยสาเหตุเดียวคือ ส่วนต่างของราคาหุ้น หมายความว่าคุณต้องมองให้ออก ต้องซื้อตอนเริ่มขาขึ้น และต้องขายเมื่อนายตลาดกำลังคิดว่ามันกำลังเป็นขาขึ้นเต็มตัว ถ้าคุณเข้าจังหวะถูก คุณอาจจะได้300-500-1000เปอร์เซนต์ ภายใน2-3ปี แต่ถ้าคุณเข้าผิด คุณอาจจะขาดทุน80เปอร์เซนต์ได้ภายใน2-3ปี เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องหาจุดเข้าให้ดีและต้องยอมขายขาดทุนเมื่อคุณคิดผิด ผมเห็นความเข้าใจผิดของคนที่พลาดติดหุ้นในกลุ่มนี้คือ คนกลุ่มนี้เขาคาดว่าจะมีเงินปันผลที่สูงตามผลประกอบการ เขารอรับปันผลแล้วค่อยขายหุ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่า เราซื้อหุ้นกลุ่มนี้ไม่ใช่เพราะเงินปันผล แต่เราต้องการส่วนต่างราคาหุ้น

• จุดขายของหุ้นกลุ่มนี้ ค่อนข้างบอกยาก สัญญาณที่พอบอกได้ก็มี 
• -ให้ขายเมื่อเขาเร่งกำลังการผลิตเต็มที่แล้ว 
• -NPMสูงกว่าความเป็นจริงมากๆ 
• -ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ต่ำกว่าราคาspot
• -PBVสูงเกินกว่า3-4เท่า จากในอดีตที่เทรดใกล้เคียง1เท่า
• -สเปรดที่เริ่มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
• -สินค้าคงคลังที่เริ่มมากขึ้น
• “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เท่าที่ผมสังเกตุดู การดูสัญญาณอาจจะไม่ทันการเพราะบางครั้งเราอาจจะเห็นราคาหุ้นลงโดยไม่มีสาเหตุ ก่อนจะมีสัญญาณล่วงหน้าเป็นปีทีเดียว”

• -Catalystของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องNPMที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการที่มีมากขึ้นแต่ผู้ผลิตผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ
• -Riskของหุ้นกลุ่มนี้คือเรื่องการคาดการณ์รอบวัฎจักรของสินค้าและการคาดการณ์อารมณ์ของนักลงทุนในการซื้อ/ขายหุ้น เพราะบางครั้งมีการขายหุ้นจำนวนมากออกมาก่อนวัฎจักรจะกลับตัวเป็นขาลงล่วงหน้าเป็นปีทีเดียว



• 5.หุ้นฟื้นตัว(Turnarounds) หุ้นกลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมชอบรองจากหุ้นโตเร็ว เพราะ ถ้าคุณเลือกถูกตัว ผลตอบแทนที่คุณได้รับ ค่อนข้างดีทีเดียว หุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างจะคล้ายๆกับหุ้นวัฎจักร แต่ถ้าจะพูดให้ถูกคือ หุ้นวัฎจักรเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นฟื้นตัว แต่ที่แยกออกไปอยู่อีกกลุ่มเป็นเพราะ หุ้นวัฎจักรนั่นเป็นธรรมชาติของธุรกิจที่จะตกต่ำสลับฟื้นตัวเป็นรอบๆ แต่หุ้นฟื้นตัวนี้ตกต่ำอาจเป็นเพราะเกี่ยวกับพื้นฐานธุรกิจโดยตรง เช่นธุรกิจอยู่ในกลุ่มตะวันตกดิน หรือ การบริหารจัดการภายในมีรูรั่ว หรือ ความผิดพลาดของนโยบายและวัฒนธรรมองค์กรจึงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ทำให้การลงทุนในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเช่นทีเดียว แต่ความเสี่ยงในหุ้นกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เงินเราไม่งอกเงยเสียมากกว่า เพราะความคาดหวังในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ข้อดีของความเสี่ยงในหุ้นประเภทนี้คือ เราสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการเรียนรู้ศึกษาทำความรู้จักกับบริษัทให้มากที่สุด เพื่อค้นหาธุรกิจที่จะสามารถฟื้นตัวได้ในอนาคต 

• หุ้นกลุ่มนี้ผมจะแบ่งการฟื้นตัวออกเป็นกลุ่มย่อยๆเพื่อจะได้วิเคราะห์สาเหตุที่ซื้อและขายได้ถูกต้อง

• 5.1หุ้นฟื้นตัวจากต้นทุนสินค้าที่ลดลง 
• กลุ่มนี้กำไรของบริษัทจะมากขึ้นจากวัตถุดิบต้นทุนหลักๆลดราคาลงทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น หุ้นที่ฟื้นตัวด้วยสาเหตุนี้ ไม่ใช่การฟื้นที่ถาวร อาจจะเกิดเพียง1-2ไตรมาส จึงไม่ควรเอากำไรในช่วงพิเศษนี้เป็นบรรทัดฐาน ถ้าจะซื้อหุ้นฟื้นตัวจากสาเหตุนี้ มีเพียงสาเหตุเดียวคือ เพื่อเก็งกำไรรายไตรมาส 

• 5.2หุ้นฟื้นตัวจากการรูปแบบการบันทึกบัญชี 
• เป็นเพราะมาตรฐานบัญชีในฉบับปัจจุบัน ให้มีการปรับราคาสินค้าคงคลังให้เป็นราคาปัจจุบัน ทำให้ถ้าราคาสินค้าตกต่ำในปีที่ผ่านมาถูกปรับเป็นสินค้าต้นทุนต่ำไปแล้ว ปีนี้ราคาสินค้าขยับสูงขึ้น มีการขายสินค้าออกไปได้ในราคาใหม่ กำไรที่บันทึกก็มากกว่าปรกติ ถ้าเราเจอหุ้นประเภทนี้ก็ต้องคำนวณสินค้าคงคลังให้ดีๆด้วยนะครับ อย่าคิดว่านั่นคือกำไร(ขาดทุน)ปรกติ

• -รูปแบบบัญชีที่มีการตั้งสำรองไว้มากกว่าปรกติ ในรูปแบบบัญชี บริษัทสามารถตั้งสำรองค่าเผื่อต่างๆและนำไปตัดเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาสนั้นๆได้ ถ้าเราพบเห็นบริษัทที่มีการตั้งสำรองลูกหนี้/สินค้าคงคลังหรือค่าเผื่อด้อยค่าของทรัพย์สินมากผิดปรกติในงบ....ในอนาคตทรัพย์สินที่ตั้งไปนี้มีโอกาสยกคืนกลับมาบัญทึกเป็นกำไรได้ หน้าที่เราคือต้องดูให้ออกว่า กำไรที่โชว์อยู่นั้นมากกว่าหรือน้อยกว่าความเป็นจริง ถ้าบริษัทไหนมีการเก็บซ่อนกำไรไว้มากๆ ทำให้กำไรปัจจุบันดูต่ำเกินความเป็นจริง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นที่ต่ำเกินความเป็นจริง จุดนั้นเราควรติดตามและหาจังหวะในการซื้อลงทุน เพราะถ้าบริษัทไม่สำรองต่อหรือมีการยกสำรองกลับ ก็ทำให้กำไรกลับคืนสู่สภาวะปรกติ หรือมากกว่าปรกติในช่วงแรกๆ

• -รูปแบบมาตรฐานบัญชีใหม่ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆทำให้บางครั้งเกิดการปรับล้างไพ่ในรูปแบบบัญชีทีเดียว เช่นมาตรฐานในเรื่องสินทรัพย์เพื่อเช่าของห้างค้าปลีก ถ้าจะกล่าวในเรื่องนี้ก็จะยาวเกินไปขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าไปอ่านในรายละเอียดในห้องSF CPN ในร้อยคนร้อยหุ้น www.thaivi.org นะครับ

• 5.3หุ้นฟื้นตัวจากการบริหารจัดการได้ดีขึ้น บางบริษัทตกต่ำเพราะการบริหารจัดการภายในองค์กรไม่ดีพอ หรือการสื่อสารกับลูกค้าไม่ตรงตามความต้องการ ทำให้ผลประกอบการในงบการเงินดูไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่ แต่ถ้าบริษัทเหล่านั้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ อุดรูรั่ว บริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น งบการเงินก็จะฟื้นสวยตามลำดับ ถ้าเราเจอบริษัทประเภทนี้ในช่วงฟื้นตัว ผลตอบแทนที่ได้จะมากพอสมควร เนื่องจากความคาดหวังของหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างต่ำ ราคาจึงมักซื้อขายแบบแบกับดิน แต่พอนายตลาดรับรู้ผลประกอบที่ดีขึ้นตามลำดับ ของแบกับดินอาจจะนำมาขึ้นห้างได้อีกครั้งครับ

• 5.4หุ้นฟื้นตัวจากอุตสาหกรรม บางครั้งข้อสามกับข้อสี่นี้จะมาพร้อมๆกัน เราต้องแยกให้ออกว่าหุ้นที่ฟื้นจากข้อสี่นี้ ข้อสามเขาได้เปลี่ยนแปลงได้ด้วยหรือเปล่า เพราะไม่อย่างนั้น เวลาขาลงขออุตสาหกรรมอีกรอบ บริษัทอาจจะหันกลับไปตกเหวอีกครั้งก็เป็นได้ การฟื้นตัวในกลุ่มนี้เท่าที่สังเกตเห็น จะมาเป็นรอบๆคล้ายๆหุ้นกลุ่มวัฎจักร แต่ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เขาขายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะงานขายจะมีความซับซ้อนในซัพพลายเชนมากกว่า หุ้นกลุ่มนี้อาจจะมีสัดส่วนหนึ่งในสามของตลาดไทย สังเกตง่ายๆเขาจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตและรับจ้างประกอบ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าได้น้อย ทำให้หลายๆครั้งรายได้/กำไร ค่อนข้างเหวี่ยงไปตามทิศทางของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจครับ

• ส่วนเทคนิคการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ผมใช้คือ ติดตาม ดมกลิ่น ไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากรายได้/กำไร ของกิจการ ดูความพร้อมในการฟื้นตัวของเขา(โดยเฉพาะเรื่องเงิน) มองหาสาเหตุการฟื้นตัวให้เจอ แล้วทำการวิเคราะห์เหตุนั้นๆว่าจะส่งผลต่อพื้นฐานระยะยาวมากน้อยเพียงใด เพื่อทำการประเมินมูลค่าใหม่อีกครั้ง แต่ถ้ายังไม่เจอจุดกลับตัวของธุรกิจกลุ่มนี้....จงอย่าซื้อ ให้ซื้อเมื่อเจอจุดกลับตัวแล้วเท่านั้น และทะยอยซื้อตามข้อมูลใหม่ที่เราได้รับมา มั่นใจน้อย ความเสี่ยงมาก ก็ซื้อน้อย ถ้า เรามั่นใจมากขึ้น เพราะความเสี่ยงน้อยลง เราก็ซื้อมากขึ้น ส่วนจุดที่ควรขาย คือ เมื่อปัญหาคลี่คลาย รายได้/กำไร ฟื้นตัว จนนายตลาดรับรู้แล้ว.....แต่.....บางครั้ง ถ้าเราโชคดี เจอหุ้นฟื้นตัวที่มีการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และเขามีความพร้อม สามารถกลับกลายเป็นหุ้นเติบโตในอนาคต......ผมว่าให้เก็บหุ้นใส่เซฟไว้เลยครับ อย่ารีบขายเมื่อตลาดรับรู้เรื่องฟื้นตัว เพราะตลาดอาจจะยังมองไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงของเขา ที่เขาสามารถจะเติบโตในอนาคต

• -Catalystในหุ้นกลุ่มนี้คือ การฟื้นตัวของธุรกิจ
• -Riskในหุ้นกลุ่มนี้คือ การฟื้นตัวที่ไม่จีรังเป็นการฟื้นตัวชั่วครั้งชั่วคราว

• 6.กลุ่มทรัพย์สินมาก(Asset plays) กลุ่มนี้ชื่อค่อนข้างชัดเจน และการวิเคราะห์ใช้เพียงปัจจัยเชิงปริมาณ(งบการเงิน)เพียงอย่างเดียว วิธีง่ายๆของหุ้นกลุ่มนี้คือ จงมองหาหุ้นPBVต่ำๆ และไปขายเมื่อนายตลาดเริ่มมาสนใจมัน หรือที่เจอบ่อยๆในตลาดเราก็เรื่องทรัพย์สินแฝง คือทรัพย์สินแฝงที่อยู่ในรูปที่ดินเปล่า ที่ถูกบันทึกราคาทุนไว้เมื่อยี่สิบ สามสิบปีที่แล้ว ถ้ามีการขายที่ดินนั้นออกไป บางครั้งกำไรจากการขายที่ดิน มีมูลค่ามากกว่ามาร์เก็ตแคปของตลาดเสียอีก ข้อเสียของหุ้นกลุ่มนี้คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ทรัพย์สินแฝงนั้นจะถูกปลดล๊อคเมื่อไหร่ 1ปี 3ปี 5ปี หรือ10ปี ซึ่งยิ่งนานวัน ยิ่งทำให้ผลตอบแทนที่เราได้มานั้นลดน้อยลงไป
• -Catalystสำหรับหุ้นกลุ่มนี้คือ มีเบาะนิ่มๆไว้รองรับ ไม่ให้หุ้นเราตกจากที่สูง และถ้าเขาปลดล๊อคเมื่อไหร่ เราก็ได้ขึ้นลิฟต์ไปกับเขาด้วย
• -Riskในกลุ่มนี้คือ เราไม่สามารถไปทำอะไรกับผู้บริหารได้ ถ้าเขาไม่คายทรัพย์สินนั้นออกมา เราก็จะถูกขังอยู่ในลิฟท์ที่ไม่ลงแต่ไม่ขึ้น

• 7 ๘ และ เก้า

• หุ้นสามกลุ่มพิเศษที่ผมตั้งขึ้นมาประกอบการพิจารณาส่วนตัว ประกอบด้วย 
• หุ้นการเมือง/หุ้นปั่นแปะ และ หุ้นกลุ่มพิเศษ

• เราต้องยอมรับอยู่อย่างว่า วัฒนธรรมที่ไม่ดีอย่างหนึ่งในประเทศเราคือเรื่อง คอรัปชั่น และ การมีสิทธิพิเศษ ของนักการเมือง ทำให้หุ้นบางตัวในตลาดของเรา ที่เป็นหุ้นพื้นฐาน มี ขอบเขตคูเมืองที่ชัดเจน แต่กลับกลายไม่เป็นที่นิยมชมชอบของนักลงทุน เพราะอาจจะเนื่องด้วยโครงสร้างที่ต้องพึ่งพิงสัญญา หรือ สัมปทานจากภาครัฐ ทำให้มักจะมีมือที่มองไม่เห็นส่งบางท่านมาเป็นกรรมการ หรือ มักจะมีใครที่ท่านรู้ๆกันอยู่ แต่ห้ามเอ่ยนาม มาเป็นคนคอยบงการที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับสัญญาสัมปทาน หรือ ถ้าพูดถึงบริษัทนี้ เราจะนึกเห็นหน้านักการเมืองคนนั้นๆลอยเด่นเป็นสง่าเหมือนเทพเจ้าคุ้มครองบริษัทนั้นเลยทีเดียว ถ้าบริษัทใดในตลาด มีความสัมพันธ์อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วข้างต้น ผมจะแยกกลุ่มนี้ออกมาเป็นกลุ่มหุ้นการเมือง ที่มีความเสี่ยงที่เราอาจจะมองไม่เห็นในปัจจุบัน....(แต่อนาคตอาจจะสามารถทำให้บ.นี้เจ๊งได้....ฮา.)........ยังไงถ้าเจอะเจอหุ้นประเภทนี้ ผมว่าคิดเผื่อความเสี่ยงและทางหนีทีไล่ไว้ด้วยก็ดีนะครับ

• หุ้นกลุ่มต่อไปที่ผมแนะให้หลีกเลี่ยงคือ หุ้นปั่นแปะ ตลาดบ้านเรามีทั้งขาประจำที่ดูแลราคาหุ้น หรือ การประคองราคาให้อยู่ในกรอปที่ต้องการ หุ้นประเภทนี้ผมถือว่าไม่เข้าข่ายหุ้นปั่น หุ้นที่เข้าข่ายหุ้นปั่นแปะในสายตาผมคือ 
• -เป็นหุ้นที่มีการขายสตอรี่ พื้นฐานในอนาคต ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี
• -เป็นหุ้นที่เจ้ามือ และ เจ้าของกิจการ เป็นคนๆเดียวกัน หรือ ถ้าเป็นคนละคนก็เป็นเพื่อนสนิทประเภทร่วมธุรกิจนอกตลาดประเภทนี้กันมาหลายรอบแล้ว

• โอกาสที่นักลงทุนแนวVIจะพลาด ก็อาจจะพลาดตรงเรามองเห็นว่าเขามีโอกาสเป็นหุ้นฟื้นตัว หรือ หุ้นทรัพย์สินมากที่มีโอกาสจะปลดล๊อคทรัพย์สินก้อนนี้ หรือผู้บริหารพยายามขายฝันว่าจะกลายเป็นหุ้นเติบโตที่ดีในอนาคต...........ประเด็นตรงนี้ ผมมองว่า ถ้าเราไม่โลภจนเกินไป มองตามความเป็นจริง รอให้ธุรกิจเขาเคลียร์สักพักหนึ่งก่อนค่อยเข้าไปลงทุนก็ยังไม่สายครับ 

• หุ้นกลุ่มพิเศษในความหมายผม หมายถึงหุ้นที่มีความอ่อนไหวเฉพาะเรื่องราวในช่วงนั้นๆ หุ้นกลุ่มนี้เอาไว้ติดตามดมกลิ่นทั้งในแง่บวกและลบ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีกีฬาสีของนักการเมือง หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม จะเข้าข่ายกลุ่มนี้ และผมจะประเมินPEปรกติที่ต่ำลง หรือ ช่วงที่มีข่าวเรื่อง3Gมาเป็นระยะๆ ช่วงที่มีการประมูลรถไฟฟ้าสายต่างๆ ช่วงที่จะมีการประมูลโรงไฟฟ้าspp ข่าวประเภทนี้จะมีผลผลักดันราคาหุ้นในบางตัวให้มีราคาสูงขึ้น เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้ผมจะไว้ในลิสท์เพื่อจะที่บางครั้งอาจจะหาค่าขนมในยามว่าง....เท่านั้นนะครับ แต่อย่าคิดเชียวนะครับว่า....จะเอาหุ้นกลุ่มนี้เป็นอาหารจานหลัก....เพราะท่านอาจจะเหลือเงิน ได้กินแต่ของหวานก็ได้ครับ ฮา.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘