มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 07

• เกาะที่หนึ่ง วิธีการค้นหาหุ้นในแบบต่างๆ

• วิธีการเลือกหาหุ้นที่จะลงทุน ก็มีอยู่หลายแนวทาง แต่ที่ผมใช้บริการอยู่เป็นประจำจะมีอยู่สองแนวทางคือ 
• 1.การหาหุ้นจากบนลงล่าง
• 2.การหาหุ้นจากล่างขึ้นบน

• 1.การหาหุ้นจากบนลงล่าง 

• เป็นการมองจากภาพใหญ่ๆ แล้ววิเคราะห์ว่าเมื่อมีเหตุนี้เกิดขึ้น จะเกิดผลตามมาอย่างไรบ้าง โดยผมจะมองเป็นสามทิศทางดังนี้

• A มองจากสภาพพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป 
• สิ่งนี้จะไปส่งผลทำให้เกิดเทรนและเมกะเทรนในอนาคต เช่น ขณะนี้ช่วงประชากรที่ได้เกิดในประเทศไทยส่วนมากกำลังเคลื่อนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งนี้ได้บ่งบอกถึงพฤติกรรมของคนไทยไปอีก10-20ปีข้างหน้าว่า....1.คนกลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพมากกว่าเดิม 2.คนกลุ่มนี้ต้องการหาสิ่งที่ตอบสนองความสุขในวัยเกษียณ เป็นต้น หรือ ในเรื่องการติดต่อสื่อสารในยุคอนาคตที่นิวมีเดียกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น จะไปส่งผลถึง1.ความต้องการในเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ตอบสนองความต้องการในเรื่องนี้(โอกาสของผู้ผลิตและขาย) 2.ส่งผลถึงเรื่องความต้องการความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร(โอกาสของผู้ให้บริการwire&wireless) 3.ส่งผลไปยังแทรฟฟิกทางด้านสายตา(eyeball)มากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ต้องปรับตัว(โอกาสของผู้บริการโฆษณา)เป็นต้น โดยปรกติ การค้นหาหุ้นในเชิงพฤติกรรมของผมนี้ เป้าหมายของผมคือหา หุ้นเติบโต ครับ

• “วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกมองภาพใหญ่ๆของเศรษฐกิจว่า ในช่วงอนาคต1ปี 3ปี 5ปี ข้างหน้านี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่จะกลายเป็นเทรน หรือเมกะเทรนในอนาคต เพื่อที่ มองหาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะเติบโตสูงในอนาคต การฝึกมองบ่อยๆครั้งจะทำให้เราคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรมคนได้ดีขึ้นเรื่อยๆครับ”

• B มองจากการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ 

• ด้วยธรรมชาติของธุรกิจมักจะมีสินค้าทดแทนหมุนเวียนเกิดๆดับๆเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การค้นหามุมมองหุ้นในประเภทนี้ อาจจะหาได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มักจะกล่าวถึง ธุรกิจใดฟุบ ธุรกิจใดฟื้น ในช่วงที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น หรืออาจจะได้เห็นข่าวที่ผู้บริหารได้ให้สัมภาษณ์ว่าแนวโน้มธุรกิจจะเป็นอย่างไร หรืออาจจะรู้จาก opportunity day หรือ 56-1 ก็เป็นได้ ข้อสังเกตในเรื่องการฟื้นของอุตสาหกรรมทั้งกลุ่มคือ ผู้บริหารแต่ละบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันจะพูดไปในทิศทางบวกคล้ายๆกัน เป้าหมายผมที่มองการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้เพื่อค้นหา หุ้นฟื้นตัว และ หุ้นวัฎจักร ครับ

• ข้อสังเกตเพิ่มเติม
• -เราต้องมองหาอุตสาหกรรมใดที่ตกต่ำมานานหลายปี เมื่อพูดถึงหุ้นกลุ่มนี้ มักจะมีเสียงบ่น..ตามมา แต่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวจากการถดถอยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะมองหาหุ้นกลุ่มฟื้นตัว
• -มองภาพใหญ่ๆ ค้นหาธุรกิจโภคภัณฑ์ในแต่ละประเภท ที่ตกต่ำมายาวนาน มองหาตัวจุดประกาย หรือ ตัวเร่งปฎิกิริยาที่จะดึงบริษัทกลุ่มนี้ขึ้นมาจากหลุม และจงมองหาหาบริษัทที่เตรียมพร้อมในโอกาสที่จะมาถึง

• C มองสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไปในทิศทางใด 

• ผมมองภาพใหญ่ๆนี้ จะเป็นการประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างคร่าวๆเพื่อความระแวดระวังในผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอีก3เดือน6เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะถ้าหุ้นที่เราลงทุนอยู่นั้นค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจ ผลกระทบที่ผมพิจารณาในเรื่องมีสองเรื่องคือ

• 1.เรื่องผลกระทบต่อ “ต้นทุน” บริษัท ที่เราจะลงทุน จะต้องดูในเรื่องต่างๆดังนี้

• -ทิศทางของดอกเบี้ยเงินกู้/เงินฝาก(ดูทิศทางจากดอกเบี้ยอ้างอิง) โดยจะประเมินความเป็นไปได้ว่า โอกาสที่ดอกเบี้ยปีนี้จะขึ้นหรือลงเท่าใด และจะกระทบกับต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทที่เราดูอยู่มากน้อยเพียงใด

• -สภาวะค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า กำหนดพอคร่าวๆให้เห็นทิศทางของโอกาส/ผลกระทบ และนโยบายของบริษัท

• -ต้นทุนของวัตถุดิบและต้นทุนการดำเนินงานว่ามีแนวโน้มจะไปในทิศทางใด มากน้อยเพียงใด โดยดูว่าบริษัทที่เราสนใจมีค่าใช้จ่ายส่วนใดเป็นส่วนใหญ่ และค่าใช้จ่ายส่วนนั้นมีแนวโน้นจะขึ้นหรือลงมากน้อยเพียงใด บริษัทจะมีการปรับตัวอย่างไร และคู่แข่งเป็นเช่นไร 

• ปัจจัยทั้งสามในเรื่องผลกระทบต่อต้นทุน ผมมักจะมองล่วงหน้าสั้นๆประมาณ1ปี และถ้ามีความกังวลในเรื่องใดเป็นพิเศษ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากต่องบการเงิน ผมมักจะนำคำถามนั้นเข้าไปถามผู้บริหารในวันประชุมผู้ถือหุ้น หรือ เมื่อมีโอกาสได้พบเจอครับ

• 2.เรื่องผลกระทบต่อ “เงินในกระเป๋าของลูกค้า” ถ้าบริษัทที่เราจะลงทุน ค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาพเศรษฐกิจหรือดัชดีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศหรือปัจจัยบางเรื่องที่กระทบความรู้สึกลูกค้าโดยตรง หน้าที่เราก็ต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่จะเกิดกับลูกค้าในปีนั้นๆประกอบ เช่นถ้ากลุ่มการท่องเที่ยว เราก็ต้องติดตามแนวโน้มกีฬาสีในประเทศ และสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มยุโรปที่เป็นลูกค้าหลัก หรือถ้าเรื่อง บ้านเพื่อที่อยู่อาศัย เราก็ต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจของบ้านเราเอง ส่วนถ้าเราลงทุนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มลูกค้าของบริษัทคือ นักลงทุนต่างชาติที่มาเปิดโรงงานในไทย เราก็ต้องรู้คร่าวๆถึงการขยายตัวของลูกค้าและแนวโน้มการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก การมองภาพใหญ่ๆในเรื่องนี้ จะคล้ายๆกับการเดา แต่จะเป็นการคาดเดาด้วยฐานข้อมูลที่มี และผมไม่ได้ต้องการภาพที่คมชัด หรืออะไรที่ต้องชัดเจน ผมเพียงต้องการรู้ตำแหน่งของบริษัทที่เราจะลงทุนอยู่ในตอนนี้ และทิศทางที่เขากำลังจะเป็นในอีก3เดือน 6เดือน หรือ1ปีข้างหน้าอย่างคร่าวๆ......

• แต่ในบางกลุ่มธุรกิจที่มีธรรมชาติของเขาเองค่อนข้างแข็งแกร่ง หรือตัวธุรกิจบางแห่งที่มีการกระจายสินค้า/บริการได้อย่างเหมาะสมแล้ว ผลกระทบเรื่องดังกล่าวต่อตัวุรกิจ อาจจะไม่มีนัยยะสำคัญสักเท่าไหร่


• พอเราได้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราคิดว่าใช่แล้ว เราจึงมาค้นหาบริษัทที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากอุตสาหกรรมที่เราคัดเลือกมา โดยถามคำถามห้าข้อดังต่อไปนี้

• 1.ดูว่าเขาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆหรือไม่
• 2.ดูข้อจำกัดของเขาว่าเขาพร้อมที่จะเติบโตไปกับกลุ่มอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด
• 3.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความขยัน(มีไฟ)พร้อมที่จะเหนื่อยหรือไม่
• 4.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความรอบรู้ เตรียมพร้อมที่จะพาองค์กรบินขึ้นฟ้าในครั้งนี้หรือไม่
• 5.พิจารณาว่า ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์ หรือ ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง ผ่านทางมูลค่าหุ้นในตลาดหรือเปล่า

• 2.การหาหุ้นจากล่างขึ้นบน 

• เป็นการมองจากภาพหรือจิ๊กซอว์เล็กๆที่เราพบเจอว่าน่าสนใจ ให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำการศึกษาต่อในภาพรวมว่าหุ้นตัวนี้น่าสนใจเพียงใด โดยจิ๊กซอว์ที่ผมใช้จะเป็นจิ๊กซอว์ง่ายๆที่มีคนสรุปมาให้เราดูอยู่แล้วเช่น
• -PE 
• -PBV 
• -ROE 
• -YIELD 
• -รูปแบบหรือความเฉพาะเจาะจงของธุรกิจ 
• -การเปรียบเทียบราคาหุ้นที่แพ้ตลาดในช่วง3เดือน 6เดือน 1ปี 
• -การหาข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์
• -ข่าวสารทางบริษัท
• -การดูอารมณ์ของนายตลาด
• -ลงตลาดสังเกตการเปลี่ยนแปลง
• -การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
• -ผู้บริหารส่งสัญญาณ
• -งานวิจัยของโบรกต่างๆ
• -เครือข่ายกัลยาณมิตร
• -ศูนย์รวมแหล่งข่าวชั้นยอด

• “P/E” (Price/Earnings)

• ผมมีความลังเลอยู่พอสมควรว่าในบทนี้จะกล่าวถึงแค่เรื่องการมองหาหุ้นในมุมมองPE หรือควรมาทำความเข้าใจอย่างละเอียดในคำว่าPEควบคู่ไปด้วยเลย สุดท้ายก็ได้บทสรุปว่า พี่พีนี้ช่างมีขอบข่ายที่กว้างใหญ่นัก การที่จะนำมากล่าวในบทนี้นั้น อาจจะทำให้พี่พีน้อยใจก็เป็นได้ บทนี้จึงขอเกริ่นคร่าวๆว่าพี่เขาคืออะไร ทำไมจึงนำมาหาหุ้นได้พอสังเขป ส่วนรายละเอียดในเรื่องต่างๆที่เหลือเช่น 
• -หุ้นแต่ละตัวทำไมจึงประเมินPEไม่เท่ากัน 
• -PEเหมาะสมในแต่ละตัวดูจากอะไร 
• -หุ้นกลุ่มไหนPEเป็นพิษ
• -PEที่ดี และPEไม่ดี เป็นอย่างไร 
• จะนำไปกล่าวในบทพี่พี(PE)กันอีกครั้งหนึ่ง

• การหาหุ้นในวิธีนี้ ช่างจะง่ายดายแบบกำปั้นทุบดิน เพราะด้วยเหตุผลที่เรารู้ๆอยู่แล้วว่าคำว่า PE เป็นตัวย่อที่แปลว่า ราคาหุ้นต่อกำไร(ของบริษัท) เช่นราคาหุ้นA=2บาทต่อหุ้น บริษัทมีกำไรต่อหุ้น(EPS)0.4บาท หมายความว่าหุ้นAมีPE 2/0.4คือ 5เท่า ส่วนบางคนก็อาจจะเอาค่ามาร์เก็ตแคป(เป็นค่าที่มาจากเอาราคาหุ้นคูณจำนวนหุ้นทั้งหมดจึงมีความหมายเดียวกันว่าเราสามารถซื้อทั้งบริษัทได้ในราคานั้น)มาคำนวณเลยก็ได้ ค่านี้จะมีแสดงในwww.settrade.com โดยเอามาร์เก็ตแคปตั้งหารด้วยกำไรสุทธิของบริษัท เช่นบริษัทAมีมาร์เก็ตแคป 5000ล้าน มีกำไรสุทธิ1000ล้าน เท่ากับ5000/1000=5เท่า

• ความง่ายของกำปั้นทุบดินคือมันง่ายจริงๆ เพียงแต่ท่านซื้อหนังสือพิมพ์หุ้นมาสักฉบับ ดูPEที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ คัดเลือกหุ้นที่มีPEต่ำสุดมาสัก30อันดับ แล้วนำมาคัดกรองหาเพชรในก้อนกรวดต่อไป จุดแข็งในเรื่องง่ายๆนี้ก็คือ หุ้นที่เราเจอมีฐานPEที่ต่ำอยู่แล้ว ถ้าในอนาคตกำไรเขาสามารถโตได้ต่อเนื่องและนายตลาดประเมินPEที่เหมาะสมเขาสูงขึ้น ราคาหุ้นก็เพิ่มเป็นสองต่อจากกำไรที่เพิ่มขึ้นและPEนายตลาดประเมินให้สูงขึ้น อย่าไปคิดว่าวีธีนี้ง่ายเกินไป เล่นหุ้นหมูขนาดนี้ ก็รวยกันไปหมดแล้ว......ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมวิธีการง่ายๆเช่นนี้ จึงยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่เสมอๆ ผมรู้แต่เพียงว่าถ้าผมเริ่มตื้อในการค้นหาหุ้นเมื่อไหร่ผมจะลองหันมาใช้วิธีนี้ และมักจะเจออะไรๆที่เซอร์ไพร์สเสมอๆครับ

• “P/BV”(Price/Book value)

• P/BV หรือ ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี BVคือส่วนของผู้ถือหุ้นหรือคือมูลค่าหุ้นตามการบัญทึกบัญชี แต่ในบทนี้เรายังจะไม่พูดถึงรายละเอียดของBVจนเกินไปเช่นเดียวกับPEนะครับ เราค่อยไปพูดคุยทำความรู้จักBVกันอีกครั้งหนึ่ง 

• การคัดเลือกหุ้นแบบsimple simple โดยP/BV ถ้าเราแปลตามตัวอักษร จะเห็นว่าถ้าเรายิ่งสามารถซื้อหุ้นในราคาP/BVที่ต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น วิธีการคัดหุ้นวิธีนี้ก็เพียงง่ายๆเหมือนเดิมเพียงแต่ท่านไปซื้อหนังสือพิมพ์หุ้น ทำการไล่เรียงและคัดเลือกหุ้นที่มีP/BVต่ำสุด(บางตัวท่านอาจจะเห็นเพียง0.2 ซึ่งหมายความว่าท่านซื้อของ1บาทในราคายี่สิบสตางค์)แล้วนำมาคัดกรองหาหุ้นที่มีโอกาสดีๆในอนาคตต่อไป หุ้นดีที่ผมมักจะเจอในการคัดเลือกวิธีนี้คือ หุ้นกลุ่มเทริ์นอะราวด์,หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมากและหุ้นกลุ่มวัฎจักรครับ

• แต่ช้าก่อนหุ้นที่P/BVต่ำๆถึงแม้จะเป็นจุดแข็ง แต่ในจุดแข็งก็มีจุดอ่อนที่แฝงอยู่เช่นกัน ผมขอฝากแนวคิดสองเรื่องที่เกี่ยวกับP/BVในโลกของตลาดทุนไว้ประกอบการพิจารณาไว้ดังนี้ 
• -นายตลาดจะมองกำไรมากกว่าราคาบุ๊คแวลู หมายความง่ายๆคือมองEมากกว่าBV ถ้าหุ้นที่เราเจอกำไรไม่กระเตื้อง กำไรสลับขาดทุน นายตลาดให้P/BVที่ถูก ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับความถูกของธุรกิจประเภทนี้ 
• -P/BVที่บ่งบอกว่าหุ้นมีความถูกแพงตามบัญชีเมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป แต่นั่นไม่ได้บ่งบอกว่าบริษัทนั้นๆประกอบกิจการมีกำไรหรือขาดทุน เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าท่านไปเจอหุ้นที่มีP/BV=0.01แล้วจะไม่มีโอกาสขาดทุนนะครับ

• “ROE”(Return On Equity) 

• ROE คือ ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือแปลแบบบ้านๆ ค่านี้คือค่าที่บอกผลตอบแทนของเงินลงทุนของเรานั่นเอง ค่านี้หาได้จากการเอากำไรสุทธิตั้งหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น เช่นบริษัทAมีกำไร200ล้าน มีส่วนทุนต้นปีอยู่ที่900ล้าน มีส่วนทุนปลายปีอยู่ที่1100ล้าน(เฉลี่ยส่วนทุนเท่ากับ1000ล้าน)=200/1000คิดเป็นเปอร์เซนต์=20เปอร์เซนต์ เป็นต้น และถ้าเรามีทางให้เลือกเช่น ถ้าบริษัทAมีROEอยู่ที่20เปอร์เซนต์ บริษัทBมีROEอยู่10เปอร์เซนต์ สมมุติว่าปัจจัยอื่นๆเหมือนกันทุกอย่าง เราต้องเลือกบริษัทAเข้าพอร์ต เพราะมีค่าROEที่สูงกว่านั่นเอง

• วิธีที่สามในการหาหุ้นเพื่อไปคัดกรองต่อคือการเลือกบริษัทที่มีROEสูงที่สุดในตลาด โดยดูค่าROEได้จากไฟล์พี่ครรชิต ไพศาล ใน www.thaivi.org มาเรียงลำดับแล้วเลือกนำมาวิเคราะห์กิจการในด้านอื่นต่อไป

• ข้อควรระวังในการกรองหุ้นที่มีROEสูงมีดังต่อไปนี้
• 1.ผลตอบแทนที่บ่งบอกของบริษัท ไม่ได้บ่งบอกถึงที่มาของกำไร เราควรปรับกำไรที่ไม่ปรกติ(คือกำไร/ขาดทุน พิเศษที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว)ออกจากงบการเงินเสียก่อน 
• 2.ไม่ควรใช้ค่าROEในกลุ่มธุรกิจที่รายได้/กำไร ไม่สม่ำเสมอ และรวมไปถึงหุ้นในกลุ่มวัฎจักร หรือถ้าอยากจะใช้จริงๆ ก็ควรเป็นค่าเฉลี่ยในระยะยาว ตั้งแต่ช่วงที่ตกต่ำจนถึงช่วงที่บูมสุดๆ
• 3.ค่าROEบ่งบอกถึงผลตอบแทนที่เราได้ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำกำไรของบริษัท บริษัทสามารถเพิ่มROEได้จากการกู้เงินมาลงทุนในสัดส่วนที่สูง(เพราะใช้เงินลงทุนมาจากการกู้) บริษัทที่มีการกู้มาลงทุนจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทที่ไม่ได้กู้มาลงทุน เราในฐานะนักลงทุนจึงควรมองค่าROA(Return On Asset)ประกอบด้วยอีกทางหนึ่ง
• 4.เมื่อได้ค่าROEในปีนั้นๆแล้วไม่ควรจะปักใจเชื่อ เราควรดูค่าROEย้อนหลังหลายๆปี ถ้าเราเจอธุรกิจที่มีROEทรงตัวในระดับสูงๆ(เกิน20เปอร์เซนต์)อย่างต่อเนื่องบ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรที่มีขอบข่ายคูเมืองระดับหนึ่งทีเดียว

• “YIELD”(เงินปันผล)

• วิธีนี้เป็นวิธีง่ายๆอีกวิธีที่ดูได้ทางหนังสือพิมพ์ ในช่องของเงินปันผลที่โชว์เป็นเปอร์เซนต์ ให้ทำการคัดเลือกบริษัทที่จ่ายปันผลเกิน10เปอร์เซนต์ในปีที่ผ่านมา และทำการศึกษาว่าในอดีตบริษัทนี้มีการปันผลเฉลี่ยให้ผู้ถือหุ้นกี่เปอร์เซนต์ของกำไรสุทธิ แล้วนำหุ้นที่ได้มาประเมินกำไรในปีปัจจุบันว่าเขาน่าจะมีกำไรที่เท่าไหร่ และจะปันผลที่เท่าไหร่ 
• ประสบการณ์ที่ผมเจอแทบทุกปีคือ ยังมีหุ้นที่ตัวเล็กๆ กำไรสม่ำเสมอ ปันผลเกือบๆ10เปอร์เซนต์ให้เห็นอยู่ เพียงแต่หุ้นประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นหุ้นโตช้า จึงไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับคนที่หวังผลตอบแทนที่สูงเกิน15เปอร์เซนต์ครับ

• “รูปแบบหรือความเฉพาะเจาะจงของธุรกิจ” 

• การมองในส่วนนี้จะเป็นการมองรูปแบบของธุรกิจว่าเขามีลักษณะพิเศษที่จะมีขอบข่ายคูเมืองป้องกันคู่แข่งไม่ให้เข้ามาในธุรกิจได้อย่างไร ตัวอย่างธุรกิจประเภทนี้เช่น 
• -การปรับปรุงระบบการบดของโรงปูนและเหมือง=LVT 
• -ธุรกิจรับซื้อเช็คในเครือเดียวกันเอง=DM
• -ธุรกิจผลิตหัวสว่านปลายเพชร=HTECH
• -ธุรกิจทำสื่อช่องทีวีดาวเทียม=NBC
• -ธุรกิจปิดป้องความเสี่ยงโดยการทำข้อตกลงร่วมพลังงานทดแทน=UAC 
• -ธุรกิจผลิตเลนซ์สายตา=TOG เป็นต้น

• การหาหุ้นในช่องทางนี้ ต้องทำการศึกษาอ่าน56-1 ใน www.set.or.th
• ส่วนมากธุรกิจกลุ่มนี้จะเป็น niche market หรือกลุ่มลูกค้าเฉพาะทาง ไม่ใช่ผลิตเพื่อตอบสนองคนหมู่มาก จึงมักจะเจอหุ้นประเภทนี้ส่วนมากในตลาดmai การยกตัวอย่างหุ้นดังกล่าวของผม ไม่ได้ต้องการสื่อว่าบริษัทดังกล่าวดีหรือไม่ดี แต่ต้องการสื่อว่า เราควรหมั่นสังเกตดูรูปแบบของธุรกิจประเภทต่างๆ เพื่อศึกษารูปแบบธุรกิจที่มีขอบข่ายคูเมืองในประเภทต่างๆครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘