มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 06

ภาคที่สอง แนวทางการปฎิบัติ ตามล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

• บทก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงแผนที่นำทาง พูดถึงแนวคิดที่ผมได้นำมาประยุกต์ใช้ในการลงทุนของผมเอง.....โดยส่วนตัวผมไม่ได้ปฎิเสธวิถีทางการลงทุนในแนวทางอื่นๆนะครับ เพราะทุกๆหนทางย่อมมีจุดสูงสุดในตัวมันเอง แล้วแต่ใครจะเลือกไขว่ขว้าในทางไหน

• แต่เหตุผลที่ผมได้เสนอแนวคิดในเส้นทางนี้ คงเป็นเพราะผมไม่อาจจะปฎิเสธ
• หนทางเส้นทางนี้ เพราะเส้นทางนี้ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ตัวผมเอง......7ปีในการลงทุนของผมในตลาดหลักทรัพย์ เป็น7ปีที่ตลาดได้หล่อหลอมแนวทางการลงทุนเน้นคุณค่า.......7ปีที่ผ่านมาในเส้นทางนี้ได้สร้างอิสรภาพทางการเงินให้แก่ผมและครอบครัว.....ผมจึงคิดว่าผมพร้อมแล้วที่จะพาท่านทั้งหลายไปสนุกกับการค้นหาขุมทรัพย์ในหนทางนี้ เฉกเช่นเดียวกับผมครับ

• ในบทนี้ผมจะพาท่านมาทำความเข้าใจเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น 
• -การแยกเพชรออกจากกรวดโดยการแยกประเภทของธุรกิจ
• -การดูภาพรวมโอกาสและความเสี่ยงของบริษัทต่างๆ
• -การเรียนรู้ธรรมชาติของธุรกิจ ประเภทต่างๆ
• -การวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของแต่ละบริษัท เพื่อหาโอกาสและความระมัดระวังในการถือครอง
• -การวิเคราะห์โมเดลธุรกิจเพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็ง
• -การวิเคราะห์งบการเงินเพื่อติดตามดมกลิ่นและประเมินกิจการจากงบการเงิน 
• -ความหมายของความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน และคุณภาพของรายได้และกำไร
• -มุมมองในการค้นหาหุ้นแบบล่างขึ้นบน และบนลงล่าง
• -การค้นหาขุมทรัพย์จากแนวทางล่างขึ้นบนในวิธี PE PBV ROE ROA เป็นต้น
• -การวิเคราะห์มูลค่าจาก ปัจจัยเชิงปริมาณ และ ปัจจัยเชิงคุณภาพ 
• -จังหวะเวลาในการซื้อและขายหุ้น ดูจากอะไร
• -และอื่นๆอีกมากมาย ตามที่ผมจะนึกออก และนำมาเล่าให้ฟังเป็นหัวข้อๆ......ให้ท่านไปประกอบร่างกันเอง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วนะครับ......แต่ขอแผ่นเสียงตกร่องอีกครั้งนะครับ ว่าเรื่องที่ผมจะนำมาเล่ามาเขียนในครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์หลายๆท่าน ถ้าพอมีความดีบ้าง ก็ขอยกความดีความชอบให้กับผู้ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผม......แต่ความรู้ที่ให้มา ผมได้นำมาเรียบเรียงตามความเข้าใจของผมเอง เพราะฉะนั้น ถ้าผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

• องค์ประกอบของการลงทุน
• จากที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วยสองส่วนคือ การประเมินมูลค่าของกิจการ และ จังหวะเวลาในการซื้อ/ขาย(ราคา)หุ้น......ปฐมบทเริ่มต้น ผมขอนำเอาคำถามที่ผมมักจะถูกถาม ในเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวะการซื้อขาย และการประเมินมูลค่าของกิจการ มาอารัมภบทเป็นน้ำจิ้มก่อนเข้าเนื้อหาจริงนะครับ

• -หุ้นสภาพคล่องต่ำ ควรกลัวหรือเปล่า? 

• หุ้นสภาพคล่องต่ำผมขอแยกตามความเข้าใจของผมเป็นสองประเด็น

• ประเด็นแรก คือ เป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำเพราะไม่มีหุ้นซื้อขาย เช่นหุ้น oishi scnyl เป็นต้น หุ้นประเภทนี้จำนวนหุ้นอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกือบหมดตลาดแล้ว การซื้อขายในแต่ละวันจึงแทบไม่มีออกมาหมุนเวียน การลงทุนในหุ้นประเภทนี้คงต้องทำใจ เพราะจะหวังให้สภาพคล่องมันมากขึ้น คงจะยาก
• *ดูสภาพคล่องของหุ้นได้จาก www.settrade.com ใส่ชื่อหุ้นในช่องข้อมูลหลักทรัพย์ และกดเข้าไปดูสภาพคล่องของหุ้นได้ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่(ในส่วนของ free float)


• ประเด็นที่สอง เกิดจาก ความต้องการซื้อและความต้องการขายที่คิดไม่ตรงกัน หมายความว่า คนซื้อก็อยากซื้อที่ราคาต่ำกว่าราคาในตลาด ส่วนคนขายก็อยากขายในราคาที่สูงกว่าในตลาด ราคาเลยไม่จับคู่กัน หรือคนซื้อเป็นกลุ่มที่ชอบเก็บ ต้องการเก็บไว้ให้ลูกๆหลานๆ ไม่ใช่นักเทรดเดอร์ จึงทำให้สภาพหุ้นฟันหลออยู่เสมอๆ.....จนกว่าราคาจะวิ่งไปหาจุดที่คนกลุ่มหนึ่งต้องการซื้อ/ขาย สภาพคล่องจึงจะตามมา

• เมื่อวิเคราะห์ดู ผมก็ไม่เห็นส่วนไหนเลยที่ระบุว่าหุ้นสภาพคล่องต่ำ เป็นหุ้นที่ดีหรือไม่ดี.....แล้วท่านที่ถาม กลัวอะไร?..........งั้น ผมถามใหม่ สมมุตินะสมมุติว่า....ผมมีสินทรัพย์สองชิ้นมาขายให้แก่ท่านที่ขี้กลัวเลือกซื้อได้เพียงชิ้นเดียว(ในราคา500บาทเท่ากัน) อย่างแรกคือท่านจะได้เหรียญ600บาทกลับคืนไป(ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุด) หรืออย่างที่สอง แลก500บาทกับช้าง1ตัว ที่น่าจะมีมูลค่าน่าจะหลักแสน(แต่สภาพคล่องต่ำมาก)....ท่านจะเอาสิ่งไหน.......เห็นไหมครับว่า โดยเหตุและผล เราไม่ควรจะกลัวสภาพคล่องของหุ้น แต่เราควรจะกลัวมูลค่าที่แท้จริงกับสิ่งที่เราต้องจ่ายไปเสียมากกว่า ในอดีตแรกเริ่มที่ผมลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่สูงนัก ผมมักจะชอบหุ้นสภาพคล่องต่ำด้วยซ้ำไป เพราะนั่นมักจะบอกถึง ความไม่สมดุลย์ของผู้ซื้อและผู้ขาย(แสดงว่าเรามีโอกาสซื้อหุ้นที่ถูกมากๆ แต่ต้องเลือกให้ถูกตัวนะ)และที่สำคัญคือ..ความคาดหวังในหุ้นสภาพคล่องต่ำๆนี้มักจะต่ำตามสภาพคล่องเสียด้วย

• ถึงแม้นโอกาสเจอเพชรในกองหินของหุ้นสภาพคล่องต่ำจะมีสูงกว่าหุ้นที่มีคนติดตามมากๆแล้ว........ในความเป็นจริง ความเสี่ยงก็มากกว่าเช่นกัน เพราะถ้าเราดันไปเจอช้างที่ตายแล้ว เงิน500บาทอาจจะเสียเปล่าเลยก็ได้......ผมจึงระมัดระวังในเรื่องการถือครองหุ้นสภาพคล่องต่ำมากกว่าปรกติ โดยคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราถือหุ้นสภาพคล่องต่ำจะคล้ายๆเรา อม “สเปโต*” อยู่ ถ้าเราคิดถูก เราก็มีโอกาสที่จะได้มากกว่าคนอื่นสองเท่า แต่ถ้าเราคิดผิด โอกาสเสียสองเท่าก็มีเช่นกัน เพราะเราต้องขายในราคาส่วนลดมากขึ้น ผมจึงใช้ความระมัดระวังในการเลือกถือหุ้นสภาพคล่องต่ำ 

• *สเปโต คือไพ่พิเศษในการเล่นรัมมี่ ไพ่สเปโตจะมีแต้มเหนือกว่าตัวอื่นๆถ้าได้แต้มก็ได้มาก แต่ถ้าเสียแต้มก็เสียมาก 

• ผมจะมีเกณฑ์พิจารณาซื้อหุ้นกลุ่มนี้อย่างเข้มงวดจาก 
• 1.ผมจะลงทุนเมื่อ เขาเป็นหุ้นเติบโตอย่างชัดเจน บวกกับ 
• 2.หุ้นนั้นมีราคาค่างวดถูกเกินความเป็นจริงอย่างมาก 
• ถ้าผมเจอหุ้นที่เข้าข่ายสองข้อนี้ ผมคงไม่คิดมาก พร้อมที่จะอมสเปโตครับ...........แต่ผมจะระมัดระวังอย่างมาก และจะหลีกเลี่ยงหุ้นสภาพคล่องต่ำที่ผมยังไม่รู้จริง หรือ ในอดีตเป็นหุ้นประเภทที่ผลกำไรไม่สม่ำเสมอ หรือ เป็นหุ้นวัฎจักร เพราะถ้าคุณเข้าหุ้นกลุ่มนี้โดยไม่มีส่วนเผื่อความปลอดภัยที่มากพอ เวลาเกิดอะไรขึ้นกับพื้นฐานของกิจการ คุณก็จะถูกขังคุกอยู่นานสองนานจนอยากเขกหัวตนเองย้อนหลังทีเดียวเชียวครับ 

• -การซื้อ/ขายหุ้น ควร ซื้อ/ขาย เมื่อถึงราคาในใจ หรือทะยอยซื้อ/ขาย ดี ? 

• คำถามนี้ เราคงต้องกลับมามองว่า จำนวนที่เราต้องการจะซื้อ/ขาย เมื่อเปรียบเทียบกับโวลุ่มในแต่ละวัน มันประมาณขี้เล็บหรือมันโอเวอร์โหลดมากแค่ไหน เพราะโวลุ่มมันจะส่งผลไปถึงวิธีการที่เราจะซื้อ/ขาย ที่ไม่เหมือนกัน เช่นถ้าเราต้องการซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงมากๆเช่นบ้านปู สมมุติวันนี้ตลาดเกิดถูกเทกระจาด ถึงแม้นเราจะมีราคาซื้อภายในใจ แต่เราก็ยังไม่ควรเข้าซื้อทันทีเมื่อราคาถูกเทต่ำกว่าเป้าหมายนั้นๆ เราอาจจะมองหาจังหวะในการเข้าซื้อ จากจุดที่แรงขายเริ่มหมดแล้ว หรือคาดว่าตลาดซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว แล้วค่อยเคาะขวา เพียงไม้เดียวให้มันเสร็จๆ อย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า เวลามีดตกอย่าเพิ่งเอามือไปรับนั่นเอง....แต่ทำนองกลับกัน ถ้าผมรวยพอ...ต้องการเก็บหุ้นบ้านปู1000ล้านบาท(เวอร์ดีไหมครับ ฮา.) ผมคงจะทะยอยตั้งรับหุ้นเมื่อต่ำกว่าราคาในใจ อาจจะตั้งซอยสักสิบหรือยี่สิบช่องลงไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้หวังว่าจะได้ราคาที่ต่ำที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะซื้อหุ้นจำนวนมากเมื่อเทียบกับสภาพคล่องในแต่ละวัน จงอย่าหวังว่า จะได้หุ้นในตอนที่คนทั่วไปอยากซื้อเช่นกันกับท่าน หรืออย่าคิดว่าจะรอซื้อเมื่อที่ราคาต่ำสุด เพราะตอนนั้นแรงขายคงจะเริ่มหมดแล้วเช่นกัน ในทำนองกลับกัน ท่านต้องคิดขายในช่วงที่คนอื่นอยากจะซื้อ และอย่าไปหวังว่าจะขายได้ราคาสูงสุด.......สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ ถ้าคุณจะซื้อหุ้นจำนวนไม่มาก คุณอาจจะหาจังหวะซื้อ/ขายในจุดๆเดียวได้ แต่ถ้าคุณคิดการใหญ่ หรือ พอร์ตใหญ่ คุณอย่าไปคิดว่าจะซื้อหุ้นได้ที่ราคาต่ำสุด และขายณ.จุดราคาที่สูงสุดเลยครับ....ผมว่าฝันกลางวันคงจะง่ายกว่า

• -แล้วเรื่องของช่วงเวลาในการถือครองหุ้นหล่ะ ควรถือครองยาวนานแค่ไหน? และที่เขาบอกว่าเป็น VI ไม่ควรขายจริงหรือเปล่า? 

• ส่วนตัวผมคิดว่าVIเองก็มีหลายแขนง หลายอาจารย์ ไม่ได้มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่า VIต้องถือยาว มีแต่หลักเกณฑ์สำคัญอยู่ตรงที่ ซื้อต่ำกว่ามูลค่าที่มันควรจะเป็น แสดงว่า ถ้าราคามันไปถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็นแล้ว และเราเห็นตัวอื่นที่คิดว่าให้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เราก็ขายเปลี่ยนตัวได้ครับ ไม่ผิดกฏอะไร 

• ส่วนนิสัยส่วนตัวผมนั้น ผมมักจะระบุคำตอบไว้เลยครับ ว่าจะขายเมื่อไหร่ตั้งแต่ที่ซื้อลงทุนเลยครับ แต่คำว่าเมื่อไหร่ ไม่ใช่ระยะเวลาหรือราคาที่ตายตัว แต่จะขายด้วยเหตุการณ์อย่างที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เราต้องขาย อย่างคำพูดที่ว่า “ถ้าเราซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น” 




• -ทำไมต้องมีการแยกประเภทของกิจการก่อนการประเมินมูลค่าของกิจการ?

• การที่เราจะสามารถวิเคราะห์ ทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างละเอียดนั้น ขั้นแรกเราต้องมีการ จัดกลุ่ม จัดเกรด แยกประเภท ให้กับทรัพย์สินชิ้นนั้นก่อน เฉกเช่นถ้าคุณต้องการประเมินอัญมณีก้อนหนึ่งที่ได้อยู่ในมือคุณ ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ อย่างน้อยๆคุณควรจะรู้ว่า มันคือ หินกรวด หินพลอย หรือ หินเพชร แล้วค่อยนำหินที่ว่าไปวิเคราะห์เพื่อดูขนาด ดูเนื้อ ดูน้ำ ดูตำหนิ ดูการกระจายของแสง และเปรียบเทียบคุณภาพต่างๆในกลุ่มเดียวกัน.....เราคงไม่ตีราคาอัญมณีที่มีตำหนิให้เท่ากับๆกับหินกรวดที่สวยๆใช่ไหมครับ การประเมินมูลค่าของกิจการก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อยๆเราควรรู้ภาพใหญ่ของบริษัทที่เราจะทำการวิเคราะห์ก่อนว่า.....เขาจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทใด และมีรูปแบบธุรกิจเป็นแบบใด เพื่อการประเมินขั้นละเอียดต่อไป

• -ทำไมซื้อขายต้องมาจากสาเหตุเดียวกัน ไม่เข้าใจ?

• จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราซื้อเพราะเหตุใด เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น นั่นเป็นคำกล่าวถึงมุมมองภาพใหญ่ๆของธุรกิจที่เราจะเข้าไปลงทุน เช่นเรามองว่าธุรกิจนี้เขาแข็งแกร่ง มีขอบข่ายคูเมืองชัดเจน คู่แข่งเจาะได้ยาก น่าจะเป็นการลงทุนที่ปลอดภัย หรือธุรกิจนี้มีราคาที่ถูกเกินไป บ.ยังสามารถสร้างผลกำไร แต่ราคาที่ซื้อตอนนี้เท่าๆกับเงินสดของบริษัท ลบหนี้สินทั้งหมด หรือ ตัวธุรกิจของเขาเองน่าจะโตตามอุตสาหกรรมที่ยังมีช่องว่างอีกมาก โอกาสที่จะโตได้มากกว่า30เปอร์เซนต์ต่อปีในช่วงสามถึงสี่ปีนี้ เป็นต้น 

• สิ่งที่เรากล่าวถึงว่า เราซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร เราก็ต้องขายเพราะสาเหตุนั้น หมายความว่า ถ้าเราซื้อเพราะความแข็งแกร่งของธุรกิจเขา แต่ต่อมาเราพบว่า ตลาดเปลี่ยน เราคิดผิด ตอนนี้บริษัทเพรี่ยงพร้ำให้กับคู่แข่ง เราก็ต้องไม่หลอกตนเอง ควรพิจารณาในสาเหตุที่เราซื้อในตอนนั้น และมีการประเมินมูลค่าเขาใหม่อีกครั้งหนึ่ง 

• แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้ามีเรื่องที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอื่นๆ เกิดขึ้นกับทางบริษัท แล้วเราควรอยู่เฉยๆ เช่น เราเลือกซื้อบริษัทที่แข็งแกร่ง คู่แข่งเจาะยาก แต่มารู้ทีหลังว่าผู้บริหารมีการตกแต่งบัญชี ไซฟอนเงิน เป็นผมๆก็คงจะบ๊ายบาย...ขอไปอยู่เรือลำที่ กัปตันเขาใช้เวลาควบคุมหางเสือและดูทิศทางเรือดีกว่าครับ

• ถาม-ตอบ พอหอมปากหอมคอ เรามาเริ่มเข้าเนื้อหาจริงกันดีกว่านะครับ ในภาคที่ผ่านมา ถ้าจะเปรียบก็คงจะเป็นแผนที่ใบใหญ่ ที่มีสัญลักษณ์ทิศทั้งสี่อยู่มุมกระดาษ มีเกาะแก่งต่างๆกระจายอยู่มากมาย มีรอยเส้นประเป็นเส้นนำทางที่เราต้องไป พร้อมกับ มีคำใบ้ในกระดาษเป็นระยะ และที่ขาดไม่ได้คือคำเตือน-อุปสรรคในที่ต่างๆในที่ๆเรากำลังจะพบเจอ ในภาคที่สองนี้ผมจะพาท่านไปทัวร์เกาะทั้งสี่ ที่จะมีการบอกใบ้สัญลักษณ์ให้เราไปค้นหาขุมทรัพย์กันดังนี้

• เกาะที่หนึ่ง เป็นวิธีการค้นหาหุ้นในแบบต่างๆ
• เกาะที่สอง จะบอกถึงการแยกประเภทหุ้นที่เจอ เป้าหมายคือต้องการแยกเพชรออกจากกรวด
• เกาะที่สาม จะกล่าวถึงวิธีการวิเคราะห์มูลค่าของกิจการ เพื่อที่ต้องการรู้ว่ามูลค่าเหมาะสมของเพชรเม็ดนี้ควรอยู่ที่เท่าไหร่
• เกาะที่สี่ จะกล่าวถึงวิธีการมองและกำหนดจุดซื้อตามผลตอบแทนที่เราต้องการ

• แต่ที่จริงแล้ว ผมควรจะต้องเริ่มต้นจาก การสอนให้ท่านดูเข็มทิศให้เป็น แต่ด้วยความรวบรัด และความมือใหม่ของผมในเรื่องงานเขียน ผมอาจจะบอกวิธีการต่างๆในขณะที่กำลังพาพวกท่านไปยังเกาะเป้าหมาย โดยอาจจะพูดถึงรายละเอียดของแต่ละเกาะ หรือ สอนให้ดูเข็มทิศ แล้วกระโดดไปเล่าถึงปลาหมึกยักษ์ที่เราจะต้องเจอ สุดท้ายอาจจะจบด้วยสาวผิวสองสีที่ไปพบเจอมา ยังไงคงต้องขอรบกวนให้ท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์หลงอ่านแล้ว ให้มองสิ่งที่ผมกล่าวเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งๆ ให้เอาเรื่องต่างๆที่ได้เล่าให้ฟังในแต่ละเรื่องมาประกอบร่าง สร้างแผนที่ในใจ ในแบบที่พวกท่านอยากให้เป็นแล้วกันนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘