มหากาพย์ ไตรภาค โดย นริศ จิระวงศ์ประภา 05

บทเรียนแนวคิดที่สี่ รู้เรารู้เขา รบร้อยบ่พ่าย

• กลยุทธ์ซุนวูในข้อนี้ ทุกๆท่านคงเคยได้ยินผ่านหูมากันมาแล้วทั้งนั้น โดยส่วนตัวผม ผมว่ากลยุทธ์นี้ค่อนข้างจะเรียบง่ายและชัดเจน วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังในมุมมองของการลงทุนนะครับ

• กลยุทธ์ในข้อนี้ ได้กล่าวไว้ว่า การรู้เรา และ การรู้เขา องค์ประกอบสองข้อนี้จะทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราต้องการ

• การรู้เรา ผมขอแบ่งการรู้เรา ออกเป็นสามประเด็น ดังนี้

• ประเด็นแรก รู้ความต้องการของตนเอง 

• ธรรมชาติที่สร้างเราขึ้นมา มีตาไว้ให้เรามองสิ่งต่างๆรอบตัว ทำให้เรามักจะสังเกตุเห็นสิ่งต่างๆรอบตัวก่อนที่จะเข้ามามองตนเอง มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เรากลับเข้ามามองภายในจิตใจ เพื่อที่จะให้เรารู้ตัวเราเองให้มากที่สุด สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ อยากให้พวกเราหันกลับมาถามตนเองก่อนการลงทุน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานและปัจจัยหลายๆอย่างไม่ที่เหมือนกัน ทั้งด้านเวลาที่มีให้กับการลงทุน หรือ อุปนิสัยใจคอว่ามีความกล้าได้กล้าเสียมากน้อยเพียงใด แม้กระทั่ง ปัจจุบันท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต้องรับผิดชอบอีกกี่ชีวิตในครอบครัว การถามตนเองก่อนที่จะลงทุน ก็เพื่อเราต้องรู้ความต้องการของเรา และเช็คความกลัวภายในจิตใจของเรา ในเวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพื่อจะเราจะได้ไม่หลงกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลาฉุกเฉิน สรุปคือถ้าที่เรามีสิ่งต่างๆในใจที่ชัดเจนแล้วนั้น เราก็จะสามารถเลือกซื้อหุ้น ให้ถูกกับความต้องการและจริตนิสัยของเราครับ

• ***การที่เรารู้ตัวเราเองว่า....ปัจจุบันเรามีฐานะการเงินระดับไหน มีความต้องการ(เป้าหมาย)เงินอยู่ที่เท่าไหร่ และ มีเวลาให้กับการลงทุนเพื่อไปหาเป้าหมายยาวนานเพียงใด สามสิ่งนี้ส่งผลถึงความคาดหวังในการลงทุนว่าเราต้องการผลตอบแทนที่เท่าไหร่ต่อปี และ ต้องหาหุ้นประเภทไหน***

• ***ถ้าเราถามตัวเราเองว่า เรามีความจำเป็นกับเงินทุนก้อนนี้มากน้อยแค่ไหน สามารถเสียได้เท่าไหร่ เพื่อที่เราจะไปบริหารพอร์ตตามความความสบายใจของเรา จะได้ไม่ตื่นกลัวขายหุ้นเวลาตลาดตกต่ำ***
• ***และท้ายที่สุด พอเรามีขอบเขต ความรอบรู้ในตัวเราอย่างชัดเจน โอกาสที่เราจะหลงตามกิเลสก็ยากขึ้นครับ***



• ประเด็นที่สอง รู้ความสามารถและข้อจำกัดของตัวเรา 

• การรอบรู้ของเรานั้น อาจารย์ปู่วอเรนเคยกล่าวไว้ว่า จงลงทุนในบริษัทที่อยู่ใน “ขอบเขตของความรอบรู้ของเรา” หมายความว่า เราควรลงทุนในสิ่งที่เรารู้ ก็จะคล้ายสิ่งที่กล่าวไปในบทที่แล้วว่าจง “อย่าโลภเกินความรู้” ขอบเขตความรอบรู้ของเรานั้น ในช่วงแรกๆของการลงทุน เราควรจะลงทุนในบริษัทที่เราคุ้นเคย เป็นธุรกิจที่ดูง่ายๆ จำกัดขอบเขตการดูที่ไม่ต้องซับซ้อน เช่นอาจจะเริ่มลงทุน จากหุ้นพื้นฐานที่มีแบรนด์เนมที่ชัดเจน และใช้เวลานั้นค่อยๆทำความรู้จักกับพื้นฐานของกิจการและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ชื่อนายตลาดที่มักจะมีอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอๆ เรายังไม่ควรโดดไปในธุรกิจโภคภัณฑ์หรือธุรกิจที่ซับซ้อนตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะประสบการณ์ทั้งในด้านธุรกิจและด้านการจัดการอารมณ์กับนายตลาดเรายังด้อยนัก การเล่นต่อจิ๊กซอว์โดยการซื้อรุ่นหกพันชิ้นมาต่อตั้งแต่ทีแรก เดี๋ยวจะหมดกำลังใจไปเสียเปล่าๆ แต่ถ้าเราใช้ทางลัดบริหารเวลาอย่างมีคุณค่า และ มีตัวช่วย นานวันเข้า ขอบเขตความรอบรู้ของเราก็จะขยายวงออกไปเรื่อยๆในธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น หรือซับซ้อนมากขึ้น ถึงเวลานั้น เมื่อเราพร้อม ความรอบรู้เรามากพอ เราก็อาจจะซื้อขายกับหุ้นบางกลุ่ม ที่มีหลายคนมองว่าเป็นความเสี่ยง แต่เรามองเห็นเป็นโอกาสที่น่าลงทุน

• มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึง คือเรื่องการแยกแยะระหว่างปัจจัยที่เราควบคุมได้ กับ ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ นักลงทุนบางท่านเข้าใจผิด ใช้เวลาส่วนมากไปมุ่งเน้นหาความจริงในสิ่งที่เกินขอบเขตความสามารถของเรา หรือที่แย่กว่าคือเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะควบคุมมันได้เลย ซึ่งผมคิดว่าเราต้องแยกแยะปัจจัยที่เราควบคุมได้และไม่ได้ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาอันมีค่าของเรา 

• ปัจจัยที่เราควบคุมได้ คือสิ่งที่มันเป็นตรรกกะพื้นฐานอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเราดู56-1 ศึกษา และ วิเคราะห์บริษัทในมุมต่างๆ สิ่งที่เราได้คือความรอบรู้ของบริษัทนั้นๆ เช่น รู้ภาพรวมอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้มีจุดอ่อน/จุดแข็งตรงไหน บริษัทมีรูปแบบและกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็นอย่างไร ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง CEOและวัฒนธรรมขององค์กรเป็นอย่างไร........นั่นคือขอบเขตความรอบรู้ของเราที่เราสามารถแลกเวลาที่เสียไปเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนของเรา ถ้าเราเรียนรู้จนกระทั่ง เสมือนหนึ่งเราสามารถมองธุรกิจนั้นๆออกในมุมของเจ้าของกิจการ เราก็น่าจะสามารถประเมินมูลค่าของกิจการออกมาได้เช่นกัน 


• แล้วสิ่งที่เกินขอบเขตความสามารถของเรา ที่เราไม่ควรไปใส่ใจมีอะไรบ้าง? 
• ในความคิดของผม ปัจจัยที่เราไม่ควรนำมาคิดมีตั้งแต่ 
• -เรื่องราคาหุ้นระยะสั้นๆที่ทำเราซื้อ/ขาย 
• -เรื่องอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน เช่น การเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น การจราจลในลิเบีย 
• -เรื่องการคาดเดาสภาวะของเศรษฐกิจโลกว่าจะไปในทิศทางไหน เช่นปัญหาค่าเงินในยูโร สภาวะเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น อมเริกา เป็นต้น

• ปัจจัยเหล่านี้ค่อนข้างจะคาดการณ์ได้ยาก และอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราทั้งสิ้น การสิ้นเปลืองเวลาไปกับการคิดเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่จะเอาคำตอบที่แน่ชัดคงจะไม่ได้ และยากจนเกินไป การมุ่งหาคำตอบเช่นนี้ นานวันไปอาจจะทำให้เราไขว้เขว หมดกำลังใจ และไม่มีประโยชน์ ส่วนในเรื่องที่เป็นเศรษฐกิจระดับมหภาค เราก็ไม่ควรใส่ใจมากจนเกินไปน็นเเเฌเ เพราะข้อจำกัดในเรื่องความครบถ้วนของข้อมูลที่เราได้รับ และสติปัญญาของเราน้อยกว่าผู้ที่เขาคอยแก้ปัญหาอยู่อย่างแน่นอน การคิดเอง เออเอง ของเรานั้น คงไม่ต่างกับการเสี่ยงทายโยนเหรียญหัวก้อยสักเท่าไหร่นัก โดยส่วนตัวผมเองจึงพยายามมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ผมควบคุมมันได้ ส่วนสิ่งที่มันยากเกินไป หรือควบคุมไม่ได้ ผมจะรับรู้เพียงคาดการณ์แบบคร่าวๆที่อาจจะมีผลกระทบต่อธุรกิจที่เราถือครอง และนำไปสอบถามผู้บริหารว่ามีวิธีจัดการกับความเสี่ยงนี้อย่างไร

• ***การไม่ยุ่งกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่หมายความว่า เราไม่ต้องสนใจกับปัจจัยเหล่านั้น เพียงแต่การสนใจ เราจะสนใจในมุมที่เราควบคุมได้ คือ การมองในลักษณะจากภายในสู่ภายนอก เช่นปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจของยุโรป เราก็ต้องมองภาพคร่าวๆว่า ถ้าค่าเงินยูโรอ่อนตัวลงไป10เปอร์เซนต์ จะกระทบอะไรกับบริษัทบ้าง บริษัทมีการนำเข้าส่งออกกับทางยุโรปมากน้อยเพียงใด จะมีผลกระทบเกี่ยวกับยอดขายและผลกำไรหรือไม่ บริษัทเตรียมตัวรับมือในเหตุการณ์นั้นอย่างไรบ้าง เป็นต้น***

• ประเด็นสุดท้าย การรู้ตัวในทุกๆขณะจะซื้อ/ขาย(การมีสติ) 

• การมีสติรู้ในขณะที่กำลังปฎิบัติหน้าที่การงาน ประเด็นนี้ผมว่าค่อนข้างสำคัญ เพราะผมเห็นหลายๆคนพลาดง่ายๆในจุดนี้ ทั้งๆที่อุตส่าห์ทำการบ้านมาเป็นแรมเดือน แรมปี ในหุ้นตัวนั้นๆ แต่ครั้นเจอนายตลาดกำลังตื่นกลัว หรือได้ยินข่าวโคมลอย-ข่าววงใน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ตกใจขายหุ้นตัวนั้นๆ โดยไม่ทันได้คิดถึงเป้าหมายอนาคตที่เรามองไว้ หรือ มีรีบซื้อหุ้น ทันทีที่มีข่าวอินไซด์ว่าจะมีการเทคโอเวอร์ หรือ การฟังข้อมูลมาว่ารายใหญ่จะเข้า โดยไม่ตัดสินใจบนเหตุและผลของพื้นฐานกิจการ การกระทำทั้งสองอย่าง เป็นการกระทำที่ขาดสติรู้ 
• วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดในเรื่องนี้คือ 

• 1.เราไม่ควรทำการซื้อ/ขายหุ้น จากข่าวทุกข่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการ

• 2.ถ้าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของกิจการ เราก็ไม่ควรทำการซื้อ/ขายหุ้น โดยที่เรายังไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป เราควรจะทำการซื้อ/ขาย ก็ต่อเมื่อ เราสามารถรู้ถึงผลกระทบที่จะทำให้พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปในทิศทางใด และมากน้อยเพียงไร 

• มาถึงตอนนี้ เราก็รู้ไปครึ่งแล้วนะครับ คราวหน้าเรามาคุยกันในเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องการรู้เขา ในเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องกว้างและลึกกว่าเรื่องแรก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและการกลยุทธ์ในการลงทุน ผมขอยกเรื่องนี้ไปบทต่อไปที่กำลังจะกล่าวถึงนะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘